ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
อุปปาเทตัพพานุปาเทตัพพธรรมสูตร
[๑๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรให้เกิดขึ้นและธรรม ที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็ธรรมที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นเป็นไฉน การฆ่าสัตว์ ฯลฯ ความเห็นผิด นี้เรียกว่าธรรมที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรให้เกิดขึ้นเป็น ไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ความเห็นชอบ นี้เรียกว่าธรรมที่ควรให้ เกิดขึ้น ฯ
จบสูตรที่ ๕
อาเสวิตัพพานาเสวิตัพพธรรมสูตร
[๑๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรเสพและธรรมที่ไม่ ควรเสพแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุ เหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ไม่เสพเป็นไฉน การฆ่าสัตว์ ฯลฯ ความเห็นผิด นี้เรียกว่าธรรมที่ ไม่ควรเสพ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรเสพเป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่า สัตว์ ฯลฯ ความเห็นชอบ นี้เรียกว่าธรรมที่ควรเสพ ฯ
จบสูตรที่ ๖
ภาเวตัพพาภาเวตัพพธรรมสูตร
[๑๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรให้เจริญและธรรมที่ไม่ ควรให้เจริญแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็ธรรมที่ไม่ควรให้เจริญเป็นไฉน การฆ่าสัตว์ ฯลฯ ความเห็นผิด นี้เรียกว่าธรรมที่ไม่ควรให้เจริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรให้เจริญเป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ความเห็นชอบ นี้เรียกว่าธรรมที่ควรให้เจริญ ฯ
จบสูตรที่ ๗
พหุลีกาตัพพาพหุลีกาตัพพธรรมสูตร
[๑๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรทำให้มาก และ ธรรมที่ไม่ควรทำให้มาก แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เรา จักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ไม่ควรทำให้มากเป็นไฉน การฆ่าสัตว์ ฯลฯ ความ เห็นผิด นี้เรียกว่าธรรมที่ไม่ควรทำให้มาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรทำให้ มากเป็นไฉน การเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ความเห็นชอบ นี้เรียกว่าธรรมที่ควร ทำให้มาก ฯ
จบสูตรที่ ๘
อนุสสริตัพพานนุสสริตัพพธรรมสูตร
[๑๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรระลึกและธรรมที่ไม่ ควรระลึกแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุ เหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ไม่ควรระลึกเป็นไฉน การฆ่าสัตว์ ฯลฯ ความเห็นผิด นี้เรียกว่าธรรม ที่ไม่ควรระลึก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรระลึกเป็นไฉน การงดเว้นจากการ ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ความเห็นชอบ นี้เรียกว่าธรรมที่ควรระลึก ฯ
จบสูตรที่ ๙
สัจฉิกาตัพพาสัจฉิกาตัพพธรรมสูตร
[๑๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรทำให้แจ้งและธรรม ที่ไม่ควรทำให้แจ้งแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็ธรรมที่ไม่ควรทำให้แจ้งเป็นไฉน การฆ่าสัตว์ ฯลฯ ความเห็นผิด นี้เรียกว่าธรรมที่ไม่ควรทำให้แจ้ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรทำให้แจ้งเป็น ไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ความเห็นชอบ นี้เรียกว่าธรรมที่ควร ทำให้แจ้ง ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบเสฏฐวรรคที่ ๔
-----------------------------------------------------
เสวิตัพพาเสวิตัพพวรรคที่ ๕
[๑๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ไม่ควรเสพ ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ มีความอยากได้ของผู้อื่น ๑ มีจิตปองร้าย ๑ มีความเห็นผิด ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ไม่ควรเสพ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ควรเสพ ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ จากการลักทรัพย์ ๑ จากการประพฤติ ผิดในกาม ๑ จากการพูดเท็จ ๑ จากการพูดส่อเสียด ๑ จากการพูดคำหยาบ ๑ จากการพูดเพ้อเจ้อ ๑ ไม่อยากได้ของผู้อื่น ๑ มีจิตไม่คิดปองร้าย ๑ มีความเห็น ชอบ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ควรเสพ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ไม่ควรคบ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ควรคบ ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ไม่ควร เข้าไปนั่งใกล้ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ ควรบูชา ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็น ผู้ควรบูชา ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ ควรสรรเสริญ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรสรรเสริญ ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ ควรเคารพ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรเคารพ ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ ควรยำเกรง ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรยำเกรง ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ ควรให้ยินดี ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรให้ยินดี ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมไม่ บริสุทธิ์ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อม บริสุทธิ์ ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมครอบงำ มานะไม่ได้ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมครอบงำมานะได้ ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมไม่ เจริญด้วยปัญญา ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมเจริญด้วยปัญญา ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อม ประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้ ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูด คำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ มีความอยากได้ของผู้อื่น ๑ มีจิตคิดปองร้าย ๑ มี ความเห็นผิด ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมประสพสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมประสพบุญเป็นอันมาก ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ จากการลักทรัพย์ ๑ จากการประพฤติผิด ในกาม ๑ จากการพูดเท็จ ๑ จากการพูดส่อเสียด ๑ จากการพูดคำหยาบ ๑ จากการพูดเพ้อเจ้อ ๑ ไม่อยากได้ของผู้อื่น ๑ มีจิตไม่คิดปองร้าย ๑ มีความเห็น ชอบ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อม ประสพบุญเป็นอันมาก ฯ
จบเสวิตัพพาเสวิตัพพวรรคที่ ๕
จบจตุตถปัณณาสก์ที่ ๔
-----------------------------------------------------
ปัญจมปัณณาสก์ที่ ๕
ปฐมวรรคที่ ๑
ยถาภตสูตร
[๑๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ ธรรม ๑๐ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือชุ่มด้วยโลหิต ตั้งอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ที่มีชีวิต ทั้งปวง ๑ เป็นคนลักทรัพย์ ถือเอาวัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่ง ผู้อื่นของบุคคลอื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย ๑ เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ถึงความประพฤติล่วงในสตรีที่มารดารักษา บิดารักษา พี่ชายน้องชายรักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติรักษา ธรรม รักษา ผู้มีสามี ผู้มีอาชญาโดยรอบ โดยที่สุดแม้สตรีผู้ที่บุรุษคล้องแล้วด้วย พวงมาลัย ๑ เป็นผู้พูดเท็จ คือ เขาอยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ใน ท่ามกลางเสนา หรือในท่ามกลางราชสกุล ถูกผู้อื่นนำไปเป็นพยานซักถามว่า มา เถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใดจงพูดสิ่งนั้น ดังนี้ บุคคลผู้นั้นเมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ หรือเมื่อรู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น หรือเมื่อเห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุ เห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการดังนี้ ๑ เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังข้าง นี้แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังข้างโน้นมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลาย คนหมู่โน้น ยุยงคนทั้งหลายผู้สามัคคีกันให้แตกกัน หรือส่งเสริมคนผู้แตกกันแล้ว ชอบความแยกกัน ยินดีความแยกกัน เพลิดเพลินในความแยกกัน กล่าวแต่คำ ที่ทำให้แยกกัน ๑ เป็นผู้พูดคำหยาบ คือกล่าววาจาหยาบช้า กล้าแข็งเดือดร้อนผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ ๑ เป็นพูดเพ้อเจ้อ คือ กล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง กล่าวไม่อิงอรรถ กล่าวไม่อิงธรรม กล่าวไม่อิง วินัย กล่าววาจาที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ โดยกาลอันไม่ควร ๑ เป็นผู้อยากได้ของผู้อื่น คือ อยากได้วัตถุเป็น อุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่น ของบุคคลอื่นว่า ไฉนหนอ วัตถุเป็น อุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นพึงเป็นของเรา ดังนี้ ๑ เป็น ผู้มีจิตคิดปองร้าย คือ มีความดำริในใจอันชั่วร้ายว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จง ถูกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศ หรืออย่าได้เป็นแล้ว ดังนี้ ๑ เป็นผู้มีความ เห็นผิด คือ มีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล การ บูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดย ชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และปรโลกให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ย่อมไม่มีในโลก ดังนี้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของ ที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ถูก เชิญมาประดิษฐานไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่นำมาประดิษฐานไว้ ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ละการลักทรัพย์ งดเว้น จากการลักทรัพย์ ไม่ถือเอาวัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของ บุคคลอื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ด้วยจิตเป็นขโมย ๑ ละการ ประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือไม่ถึงความประพฤติล่วง ในสตรีที่มารดารักษา บิดารักษา พี่ชายน้องชายรักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติ รักษา ธรรมรักษา มีสามี มีอาชญาโดยรอบโดยที่สุดแม้สตรีที่บุรุษคล้องแล้ว ด้วยพวงมาลัย ๑ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ในท่ามกลางเสนา หรือในท่ามกลางราชสกุล ถูกผู้อื่นนำ ไปเป็นพยานซักถามว่า มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใดจงพูดสิ่งนั้น บุคคลนั้น เมื่อไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่าไม่เห็น หรือ เมื่อเห็นก็บอกว่าเห็น ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุ ของผู้อื่นบ้าง หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการฉะนี้ ๑ ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด คือ ฟังข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้เพื่อทำลายคนหมู่โน้น สมานคนที่แตกร้าวกันบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันบ้าง ชอบคนผู้พร้อม เพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าววาจาที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน ด้วยประการฉะนี้ ๑ ละคำหยาบ เว้นขาดจาก คำหยาบ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ ๑ ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร ๑ ไม่อยากได้ ของผู้อื่น คือ ไม่อยากได้วัตถุเป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจของผู้ อื่นว่า ไฉนหนอ วัตถุที่เป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของ บุคคลอื่นพึงเป็นของเรา ดังนี้ ๑ เป็นผู้ไม่มีจิตคิดปองร้าย คือ ไม่มีความดำริ ในใจอันชั่วร้ายว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความมุ่งร้ายกัน ไม่มี ทุกข์ มีสุขรักษาตนเถิด ดังนี้ ๑ เป็นผู้มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นไม่ วิปริตว่า ทานที่บุคคลให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบาก แห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ ทั้งหลายผู้เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำ โลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ ดังนี้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้ถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เชิญมาประดิษฐานไว้ ฯ
จบสูตรที่ ๑
มาตุคามสูตร
[๑๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ ธรรม ๑๐ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคามบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็น ผู้มีความเห็นผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ นี้แล เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ถูก เชิญมาประดิษฐานไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เชิญมาประดิษฐานไว้ ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคามบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาด จากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคามผู้ ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้ถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เชิญมาประดิษฐานไว้ ฯ
จบสูตรที่ ๒
อุปาสิกาสูตรที่ ๑
[๑๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ ธรรม ๑๐ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นผู้ มีความเห็นผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้ แล เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ ถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เชิญมาประดิษฐานไว้ ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้น ขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกา ผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้ถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เชิญมาประดิษฐานไว้ ฯ
จบสูตรที่ ๓
อุปาสิกาสูตรที่ ๒
[๑๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่แกล้วกล้าอยู่ครองเรือน ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นผู้มีความเห็นผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่แกล้วกล้าอยู่ครองเรือน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการเป็นผู้ แกล้วกล้าอยู่ครองเรือน ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกา บางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้ แกล้วกล้าอยู่ครองเรือน ฯ
จบสูตรที่ ๔
ธรรมปริยายสูตร
[๑๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความ กระเสือกกระสนแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรม เป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ เป็น กรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือ ชุ่มด้วยโลหิต ตั้งอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ที่มีชีวิต ทั้งปวง บุคคลนั้นย่อมกระเสือกกระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม ของเขาคด วจีกรรมของเขาก็คด มโนกรรมของเขาคด คติของเขาก็คด อุบัติของเขาก็คด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ นรกอันมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดดิรัจฉานอันมีปรกติกระเสือกกระสน ของบุคคลผู้มีคติคด ผู้มีอุบัติอันคด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำเนิดดิรัจฉานมีปรกติกระเสือกกระสนนั้นเป็นไฉน คือ งู แมงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ทั้งหลาย ผู้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้อื่นๆ ที่เห็นมนุษย์แล้วย่อม กระเสือกกระสน ดูกรภิกษุทั้งหลาย การอุบัติของสัตว์ย่อมมีเพราะกรรมอันมีแล้ว ด้วยประการดังนี้แล คือ เขาย่อมอุบัติด้วยกรรมที่เขาทำ ผัสสะอันเป็นวิบาก ย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้รับผลของกรรม ด้วยประการฉะนี้ ฯ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ลักทรัพย์ ... เป็นผู้ประพฤติผิด ในกาม ... เป็นผู้พูดเท็จ ... เป็นผู้พูดส่อเสียด ... เป็นผู้พูดคำหยาบ ... เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ ... เป็นผู้อยากได้ของผู้อื่น ... เป็นผู้คิดปองร้าย ... เป็น ผู้มีความเห็นผิด คือมีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวง ไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลก หน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนิน ไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ไม่มีในโลก ดังนี้ บุคคลนั้นย่อมกระเสือก กระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรมของเขาคด วจีกรรมของเขาก็คด มโนกรรมของเขาก็คด คติของเขาก็คด การอุบัติของเขาก็คด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ นรกอันมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอันมีปรกติกระเสือกกระสน ของบุคคลผู้มีคติอันคด ผู้มีการอุบัติอันคด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอันมีปรกติกระเสือก กระสนนั้นเป็นไฉน คือ งู แมงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้อื่นๆ ที่เห็น มนุษย์แล้วย่อมกระเสือกกระสน ดูกรภิกษุทั้งหลาย การอุบัติของสัตว์ย่อมมี เพราะกรรมอันมีแล้วด้วยประการดังนี้แล คือ เขาย่อมอุบัติด้วยกรรมที่เขาทำ ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้รับผลของกรรม ด้วยประการฉะนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นผู้ รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่ง อาศัย ทำกรรมอันใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผล ของกรรมนั้นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ บุคคลนั้นย่อมไม่กระเสือก กระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรมของเขาตรง วจีกรรมของเขาก็ตรง มโนกรรมของเขาก็ตรง คติของเขาก็ตรง การอุบัติของเขาก็ตรง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ของบุคคลผู้มีคติอันตรง ผู้มีการ อุบัติอันตรง คือสัตว์ทั้งหลายผู้มีสุขโดยส่วนเดียว หรือสกุลที่สูงๆ คือสกุล- *กษัตริย์มหาศาล สกุลพราหมณ์มหาศาล หรือ สกุลคฤหบดีมหาศาล อันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินทองมาก มีเครื่องอุปกรณ์แห่งทรัพย์เครื่อง ปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย การอุบัติของสัตว์ ย่อมมีเพราะกรรมอันมีแล้ว ด้วยประการดังนี้แล คือ สัตว์นั้นย่อมอุบัติด้วยกรรม ที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากทั้งหลายย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรม ด้วยประการฉะนี้ ฯ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ... ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ... ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ... ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ... ละ คำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ ... ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูด เพ้อเจ้อ ... เป็นผู้ไม่อยากได้ของผู้อื่น ... เป็นผู้มีจิตไม่คิดปองร้าย ... เป็น ผู้มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวง มีผล การบูชามีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นอุปปาติกะมีอยู่ สมณพราหมณ์ผู้ดำเนิน ไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ในโลก ดังนี้ บุคคลนั้น ย่อมไม่ กระเสือกกระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรมของเขาตรง วจีกรรม ของเขาก็ตรง มโนกรรมของเขาก็ตรง คติของเขาก็ตรง การอุบัติของเขาก็ตรง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ของบุคคลผู้มี คติตรง ผู้มีการอุบัติตรง คือ สัตว์ทั้งหลายผู้มีสุขโดยส่วนเดียว หรือสกุลที่สูงๆ คือสกุลกษัตริย์มหาศาล สกุลพราหมณ์มหาศาล หรือสกุลคฤหบดีมหาศาล อันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินทองมาก มีเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ มาก การอุบัติของสัตว์ย่อมมีเพราะกรรมอันมีแล้วด้วยประการดังนี้แล คือ เขา ย่อมอุบัติด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากทั้งหลายย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติ แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรม ด้วย ประการฉะนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนเป็นผู้รับผล ของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมอันใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งกระเสือกกระสนเป็นดังนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑
กรรมสูตรที่ ๑
[๑๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่ง กรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นแล อันสัตว์ผู้ทำพึงได้เสวยในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียะ) ในอัตภาพถัดไป (อุปปัชชเวทนียะ) หรือในอัตภาพต่อๆ ไป (อปราปรเวทนียะ) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวการทำที่สุดทุกข์ แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ในข้อนั้น ความวิบัติอันเป็นโทษแห่ง การงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์ เป็นวิบาก ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจ เป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ความวิบัติอันเป็นโทษแห่ง การงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์ เป็นวิบาก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นแห่งโทษการงานทางกาย ๓ อย่าง มี ความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างไร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ผู้หยาบช้า มีมือชุ่มด้วยโลหิต ตั้งอยู่ ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิตทั้งปวง ๑ เป็นผู้ลักทรัพย์ คือถือเอาวัตถุอันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่น ซึ่งอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย ๑ เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่มารดารักษา บิดารักษา พี่ชายน้องชายรักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติรักษา ธรรมรักษา ผู้มีสามี ผู้มีอาชญาโดยรอบ โดยที่สุดแม้สตรีผู้มีบุรุษคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความ วิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์ เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างไร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พูดเท็จ คือ เขาอยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ในท่ามกลางเสนา หรือในท่ามกลางแห่งราชสกุล ถูกผู้อื่นนำ ไปเป็นพยานซักถามว่า มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใดจงพูดสิ่งนั้น บุคคลนั้น เมื่อไม่รู้กล่าวว่ารู้ หรือเมื่อรู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น หรือเมื่อเห็น ก็กล่าวว่าไม่เห็น เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่ อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการดังนี้ ๑ เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังข้างนี้แล้วไป บอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลาย คนหมู่โน้น ยุยงคนทั้งหลายผู้สามัคคีกันให้แตกกัน หรือส่งเสริมคนทั้งหลาย ผู้แตกกันแล้ว ชอบความแยกกัน ยินดีความแยกกัน เพลิดเพลินในความแยกกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้แยกกัน ๑ เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ กล่าววาจาที่หยาบคาย กล้าแข็ง เดือดร้อนผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ ๑ เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ กล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย กล่าววาจาที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบ ด้วยประโยชน์ โดยกาลอันไม่ควร ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษ แห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มี ทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มี ความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างไร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้อยากได้ของผู้อื่น คือ อยากได้วัตถุอัน เป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นว่า ไฉนหนอวัตถุ อันเป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นพึงเป็นของเรา ดังนี้ ๑ เป็นผู้มีจิตคิดปองร้าย คือ มีความดำริในใจอันชั่วร้ายว่า ขอสัตว์เหล่านี้ จงถูกฆ่า จงถูกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศ หรืออย่าได้เป็นแล้ว ดังนี้ ๑ เป็น ผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นอันวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การเซ่น สรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณ- *พราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และปรโลกให้แจ้งชัดด้วย ปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม ไม่มีในโลก ดังนี้ ๑ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็น อกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทาง วาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล หรือเพราะเหตุแห่งความวิบัติอันเป็น โทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแก้วมณี ๔ เหลี่ยมที่บุคคลโยนขึ้น ข้างบน ตกลงมาทางเหลี่ยมใดๆ ก็ย่อมตั้งอยู่ตามเหลี่ยมที่ตั้งลงมานั้นนั่นเอง ฉันใด สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะ เหตุแห่งความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็น อกุศล เพราะเหตุแห่งความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมี ความตั้งใจเป็นอกุศล หรือเพราะเหตุแห่งความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรมที่ สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นแล ย่อมเกิดในปัจจุบัน ในอัตภาพถัดไป หรือในอัตภาพต่อๆ ไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวการทำที่ สุดทุกข์แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น สมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก สมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อม มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก สมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจ เป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจ เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล บางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง ๑ ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ถือเอาวัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์ เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่น อันอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย ๑ ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิด ในกาม ไม่ถึงความประพฤติล่วงในสตรีที่มารดารักษา บิดารักษา พี่ชายน้องชาย รักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติรักษา ธรรมรักษา มีสามี มีอาชญาโดยรอบ โดยที่สุดแม้สตรีที่บุรุษคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมบัติแห่ง การงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจ เป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เขาอยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ในท่ามกลางอำมาตย์ หรือในท่ามกลางราชสกุล ถูกผู้อื่นนำไปเป็นพยานซักถามว่า มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใดจงกล่าวสิ่งนั้น บุคคลนั้นเมื่อไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่าไม่เห็น หรือเมื่อเห็นก็บอกว่าเห็น ไม่เป็นผู้พูดเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุ แห่งผู้อื่นบ้าง หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ๑ ละคำส่อเสียด เว้น ขาดจากคำส่อเสียด ไม่ฟังข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือ ฟังข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น เป็นผู้สมานคนที่แตกกัน แล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่สามัคคีกันแล้ว ชอบคนที่พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้ พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าววาจาที่ทำให้คนพร้อม เพรียงกัน ๑ ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ ๑ ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ อิงธรรม อิงวินัย พูดแต่คำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมี ความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจ เป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล บางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่อยากได้ของผู้อื่น ไม่อยากได้วัตถุอันเป็นอุปกรณ์แก่ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นว่า ไฉนหนอ วัตถุที่เป็นอุปกรณ์แก่ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นพึงเป็นของเรา ดังนี้ ๑ เป็นผู้ไม่มีจิต คิดปองร้าย ไม่มีความดำริในใจอันชั่วร้ายว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มี ความมุ่งร้ายกัน ไม่มีทุกข์ มีสุขรักษาตนเถิด ดังนี้ ๑ เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผล วิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีอยู่ โลกหน้ามีอยู่ มารดามีอยู่ บิดามีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นอุปปาติกะมีอยู่ สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตามมีอยู่ในโลก ดังนี้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมบัติแห่งการงาน ทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งสมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล เพราะเหตุแห่งสมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล หรือ เพราะเหตุแห่งสมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแก้วมณี ๔ เหลี่ยม ที่บุคคลโยนขึ้น ข้างบน ตกลงมาทางเหลี่ยมใดๆ ก็ย่อมตั้งอยู่ตามเหลี่ยมที่ตั้งลงมานั้นเอง ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะ เหตุแห่งสมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล เพราะเหตุ แห่งสมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล หรือเพราะ เหตุแห่งสมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล ฉันนั้น เหมือนกันแล ฯ
จบสูตรที่ ๖
กรรมสูตรที่ ๒
[๑๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดกรรม ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นแล อันสัตว์ผู้ทำพึงได้เสวยในปัจจุบัน ในอัตภาพถัดไป หรือในอัตภาพต่อๆ ไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อม ไม่กล่าวการทำที่สุดทุกข์แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจ เป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ความวิบัติอันเป็นโทษแห่ง การงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มี ทุกข์เป็นวิบาก ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจ เป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้พูดเท็จ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้อยากได้ของผู้อื่น ฯลฯ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็น อกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทาง วาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล หรือเพราะเหตุแห่งความวิบัติอันเป็น โทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรมที่ สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้น อันสัตว์ผู้ทำพึงได้เสวยในปัจจุบัน ใน อัตภาพถัดไป หรือในอัตภาพต่อๆ ไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่ กล่าวการทำที่สุดทุกข์แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นสมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุข เป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก สมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจ เป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก สมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจ เป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล บางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจ เป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล บางคนในโลกนี้ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจ เป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่อยากได้ของผู้อื่น ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมบัติ แห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุข เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งสมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล เพราะเหตุแห่งสมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล หรือ เพราะเหตุแห่งสมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล ฯ
จบสูตรที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ บรรทัดที่ ๖๖๕๖-๗๑๔๕ หน้าที่ ๒๘๙-๓๑๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=24&A=6656&Z=7145&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=24&item=182&items=14              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=24&item=182&items=14&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=24&item=182&items=14              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=24&item=182&items=14              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=182              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_24 https://84000.org/tipitaka/english/?index_24

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]