ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
[๑๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาป- *สถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ในพระนครราชคฤห์ มีบุรุษเป็น โรคเรื้อนชื่อว่าสุปปพุทธะ เป็นมนุษย์ขัดสน กำพร้า ยากไร้ ก็สมัย นั้นแล พระผู้มีพระภาคแวดล้อมไปด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ สุปปพุทธกุฏฐิได้เห็นหมู่มหาชนประชุมกันแต่ที่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้มีความดำริ ว่าหมู่มหาชนจะแบ่งของควรเคี้ยว หรือของควรบริโภคอะไรๆ ให้ในที่นี้แน่แท้ ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปหาหมู่มหาชน เราพึงได้ของควรเคี้ยวหรือควรบริโภคใน หมู่มหาชนนี้เป็นแน่ ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิได้เข้าไปหาหมู่มหาชนนั้นแล้ว ได้เห็นพระผู้มีพระภาคแวดล้อมด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า หมู่มหาชนคงไม่แบ่งของควรเคี้ยวหรือของควรบริโภค อะไรๆ ให้ในที่นี้ พระสมณะโคดมนี้ทรงแสดงธรรมอยู่ในบริษัท ถ้ากระไร แม้ เราก็พึงฟังธรรม เขานั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งในบริษัทนั้นเอง ด้วยคิดว่า แม้เราก็จักฟังธรรม ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดใจของบริษัททุก หมู่เหล่าด้วยพระทัยแล้ว ได้ทรงกระทำไว้ในพระทัยว่า ในบริษัทนี้ ใครหนอ แลควรจะรู้แจ้งธรรม พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นสุปปพุทธกุฏฐินั่งอยู่ในบริษัทนั้น ครั้นแล้วได้ทรงพระดำริว่า ในบริษัทนี้ บุรุษนี้แลควรจะรู้แจ้งธรรม พระองค์ ทรงปรารภสุปปพุทธกุฏฐิตรัสอนุปุพพิกถาคือ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ำทรามเศร้าหมอง และทรงประกาศอานิสงส์ในเนกขัมมะ เมื่อใด พระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบว่าสุปปพุทธกุฏฐิมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เฟื่องฟู ผ่องใส เมื่อนั้น พระองค์ทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้า ทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรม- *จักษุปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่สุปปพุทธกุฏฐิในที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา เหมือนผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมด้วยดีฉะนั้น ฯ [๑๑๓] ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันบรรลุ แล้ว มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งถึงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง บรรลุถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เชื่อต่อผู้อื่นใน ศาสนาของพระศาสดา ลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย บังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตาม ประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่ วันนี้เป็นต้นไป ฯ ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มี- *พระภาค ลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล แม่โคลูกอ่อนชนสุปปพุทธกุฏฐิผู้หลีกไปไม่นานให้ล้มลง ปลงเสีย จากชีวิต ลำดับนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุปปพุทธกุฏฐิอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้ สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว กระทำกาละ คติของเขาเป็น อย่างไร ภพหน้าของเขาเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุปปพุทธกุฏฐิเป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และ ไม่เบียดเบียนเราให้ลำบากเพราะธรรมเป็นเหตุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุปปพุทธกุฏฐิ เป็นพระโสดาบัน เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งสาม มีความไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ฯ [๑๑๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระ- *ผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ สุปปพุทธกุฏฐิเป็นมนุษย์ขัดสน กำพร้า ยากไร้ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีแล้ว สุปปพุทธกุฏฐิเป็นเศรษฐีบุตรอยู่ในกรุง- *ราชคฤห์นี้แล เขาออกไปยังภูมิเป็นที่เล่นในสวน ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่าตครสิขีกำลังเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนคร ครั้นแล้วเขาดำริว่า ใครนี่ เป็นโรคเรื้อนเที่ยวไปอยู่ เขาถ่มน้ำลายแล้วหลีกไปข้างเบื้องซ้าย เขาหมกไหม้ อยู่ในนรกสิ้นปีเป็นอันมาก สิ้นร้อยปี สิ้นพันปี สิ้นแสนปีเป็นอันมาก เพราะ ผลแห่งกรรมนั้นยังเหลืออยู่ เขาจึงได้เป็นมนุษย์ขัดสน กำพร้า ยากไร้ อยู่ใน กรุงราชคฤห์นี้แล เขาอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว สมาทานศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ครั้นอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วสมาทาน ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็น ผู้เข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาย่อมไพโรจน์ล่วงเทวดา เหล่าอื่นในชั้นดาวดึงส์นั้นด้วยวรรณะและด้วยยศ ฯ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่ง อุทานนี้ในเวลานั้นว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงละเว้นบาปทั้งหลายในสัตว์โลก เหมือน บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อทางอื่นที่จะก้าวไปมีอยู่ ย่อมหลีกที่อันไม่ ราบเรียบเสียฉะนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๓

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๒๙๐๐-๒๙๗๐ หน้าที่ ๑๒๖-๑๒๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=2900&Z=2970&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=25&item=112&items=3              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=25&item=112&items=3&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=25&item=112&items=3              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=25&item=112&items=3              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=112              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]