ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
ปุณณกปัญหาที่ ๓
[๔๒๗] ปุณณกมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ไม่มี ความหวั่นไหว ผู้ทรงเห็นรากเหง้ากุศลและอกุศล สัตว์ ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ เป็นอันมาก อาศัยอะไร จึงบูชายัญแก่เทวดา ทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ดูกรปุณณกะ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นอันมากใน โลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ ปรารถนาความเป็น มนุษย์เป็นต้น อาศัยของมีชรา จึงบูชายัญแก่เทวดา ทั้งหลาย ฯ ป. สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นอันมาก ในโลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ บูชายัญแก่เทวดา ทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ สัตว์ทั้งหลายผู้ เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น เป็นคนไม่ประมาทในยัญ ข้ามพ้น ชาติและชราได้บ้างแลหรือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ ข้าพระองค์เถิด ฯ พ. ดูกรปุณณกะ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น ย่อม มุ่งหวัง ย่อมชมเชย ย่อมปรารถนา ย่อมบูชา ย่อมรำพัน ถึงกาม ก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่า สัตว์เหล่านั้นประกอบ การบูชา ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติและชรา ไปได้ ฯ ป. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ถ้าหากว่าสัตว์เหล่านั้นผู้ประกอบการ บูชา ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้ด้วยยัญญวิธีทั้งหลายไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามพ้น ชาติและชราไปได้ในบัดนี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ ข้าพระองค์เถิด ฯ พ. ดูกรปุณณกะ ผู้ใดไม่มีความหวั่นไหว (ดิ้นรน) ในโลก ไหนๆ เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก ผู้นั้นสงบแล้ว ไม่มีความประพฤติชั่วอันจะทำให้มัวหมอง ดุจควันไฟ ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต หาความ (ปรารถนา) หวังมิได้ เรากล่าวว่า ผู้นั้นข้ามพ้นชาติและชราไปได้ แล้ว ฯ
จบปุณณกมาณวกปัญหาที่ ๓
เมตตคูปัญหาที่ ๔
[๔๒๘] เมตตคูมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอ พระองค์จงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์ ย่อมสำคัญพระองค์ว่าทรงถึงเวท มีจิตอันอบรมแล้ว ความ ทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นอันมาก มีมาแล้วแต่ อะไร ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเมตตคู ท่านได้ถามเราถึงเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เราจะบอกเหตุ นั้นแก่ท่านตามที่รู้ ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็น อันมาก ย่อมเกิดเพราะอุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดไม่รู้แจ้งย่อมกระทำ อุปธิ ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะ ฉะนั้น เมื่อบุคคลมารู้ชัด เห็นชาติว่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่พึงกระทำอุปธิ ฯ ม. ข้าพระองค์ได้ทูลถามความข้อใด พระองค์ก็ทรงแสดงความ ข้อนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้ออื่นอีก ขอเชิญพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นเถิด นักปราชญ์ ทั้งหลายย่อมข้ามโอฆะ คือ ชาติ ชรา โสกะและปริเทวะ ได้อย่างไรหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ขอพระองค์จง ตรัสพยากรณ์ธรรมอันเป็นเครื่องข้ามโอฆะให้สำเร็จประโยชน์ แก่ข้าพระองค์เถิด เพราะว่าธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัด แล้วด้วยประการนั้น ฯ พ. ดูกรเมตตคู เราจักแสดงธรรมแก่ท่านในธรรมที่เราได้เห็น แล้ว เป็นธรรมประจักษ์แก่ตนที่บุคคลทราบชัดแล้ว พึง เป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ ม. ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ก็ข้าพระองค์ยินดีอย่าง ยิ่ง ซึ่งธรรมอันสูงสุดที่บุคคลทราบชัดแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก เสียได้ ฯ พ. ดูกรเมตตคู ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้อง บน (คืออนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) และแม้ใน ส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) จงบรรเทาความ เพลิดเพลินและความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณ (ของท่าน) จะไม่พึงตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ได้รู้แจ้งแล้วเที่ยวไปอยู่ ละความ ถือมั่นว่าของเราได้แล้ว พึงละทุกข์ คือ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะในอัตภาพนี้เสีย ฯ ม. ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่งซึ่งพระวาจานี้ ของพระองค์ผู้แสวงหา คุณอันใหญ่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้โคตมโคตร ธรรมอัน ไม่มีอุปธิพระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว พระองค์ทรงละทุกข์ได้ แน่แล้ว เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งชัดแล้วด้วยประการ นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์พึงทรงสั่งสอนชน เหล่าใดไม่หยุดยั้ง แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้เป็นแน่ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงได้มา ถวายบังคมพระองค์ ด้วยคิดว่า แม้ไฉน พระผู้มีพระภาค พึงทรงสั่งสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนเถิด ฯ พ. ท่านพึงรู้ผู้ใดว่าเป็นพราหมณ์ผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแลข้ามโอฆะนี้ได้แน่แล้ว ผู้ นั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้ไม่มีตะปู คือ กิเลส ไม่มีความ สงสัย นรชนนั้นรู้แจ้งแล้วแล เป็นผู้ถึงเวทในศาสนานี้ สละ ธรรมเป็นเครื่องข้องนี้ในภพน้อยและภพใหญ่ (ในภพและ มิใช่ภพ) เสียได้แล้ว เป็นผู้มีตัณหาปราศไปแล้ว ไม่มี กิเลสอันกระทบจิต หาความหวังมิได้ เรากล่าวว่าผู้นั้นข้าม ชาติและชราได้แล้ว ฯ
จบเมตตคูมาณวกปัญหาที่ ๔
โธตกปัญหาที่ ๕
[๔๒๙] โธตกมาณพได้ทูลถามปัญหาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอ พระองค์จงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าแต่ พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ข้าพระองค์ปรารถนาอย่างยิ่ง ซึ่งพระวาจาของพระองค์ ข้าพระองค์ได้ฟังพระสุรเสียงของ พระองค์แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตน ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรโธตกะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงมีปัญญารักษาตน มีสติกระทำความเพียร ในศาสนานี้เถิด ท่านจงฟังเสียงแต่สำนักของเรานี้แล้ว พึง ศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตนเถิด ฯ ธ. ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์หากังวลมิได้ ทรงยัง พระกายให้เป็นไปอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ข้าแต่ พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอ ถวายบังคมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ขอพระองค์ จงทรงปลดเปลื้องข้าพระองค์เสียจากความสงสัยเถิด ฯ พ. ดูกรโธตกะ เราจักไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องใครๆ ผู้ยังมี ความสงสัยในโลกให้พ้นไปได้ ก็ท่านรู้ทั่วถึงธรรมอัน ประเสริฐอยู่ จะข้ามโอฆะนี้ได้ด้วยอาการอย่างนี้ ฯ ธ. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพรหม ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาสั่ง สอนธรรมเป็นที่สงัดกิเลส ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง และ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาสั่งสอนไม่ให้ข้าพระองค์ขัดข้องอยู่ เหมือนอากาศเถิด ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้นี่แหละ จะพึงเป็น ผู้ไม่อาศัยแอบอิงเที่ยวไป ฯ พ. ดูกรโธตกะ เราจักแสดงธรรมเครื่องระงับกิเลสแก่ท่าน ใน ธรรมที่เราได้เห็นแล้วเป็นธรรมประจักษ์แก่ตน ที่บุคคลได้รู้ แจ้งแล้วเป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ ธ. ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ก็ข้าพระองค์ยินดี อย่างยิ่ง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องระงับกิเลสอันสูงสุด ที่บุคคลได้ รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปใน อารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ พ. ดูกรโธตกะ ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในส่วน เบื้องบน (คืออนาคต) ทั้งในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) แม้ ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) ท่านรู้แจ้งสิ่ง นั้นว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลก อย่างนี้แล้ว อย่าได้ทำ ตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย ฯ
จบโธตกมาณวกปัญหาที่ ๕
อุปสีวปัญหาที่ ๖
[๔๓๐] อุปสีวมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ข้าพระองค์ผู้เดียวไม่อาศัยธรรมหรือ บุคคลอะไรแล้ว ไม่สามารถจะข้ามห้วงน้ำใหญ่คือกิเลสได้ ข้าแต่พระองค์ผู้สมันตจักษุ ขอพระองค์จงตรัสบอกที่หน่วง เหนี่ยว อันข้าพระองค์พึงอาศัยข้ามห้วงน้ำคือกิเลสนี้ แก่ ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรอุปสีวะ ท่านจงเป็นผู้มีสติ เพ่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ อาศัยอารมณ์ ว่า ไม่มี ดังนี้แล้วข้ามห้วงน้ำคือกิเลสเสียเถิด ท่านจงละกาม ทั้งหลายเสีย เป็นผู้เว้นจากความสงสัย เห็นธรรมเป็นที่สิ้น ไปแห่งตัณหาให้แจ่มแจ้งทั้งกลางวันกลางคืนเถิด ฯ อุ. ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวงละสมาบัติอื่น เสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจลงในสัญญา วิโมกข์ (คืออากิญจัญญายตนสมาบัติ ธรรมเปลื้องสัญญา) เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญ- ญายตนพรหมโลกนั้นแลหรือ ฯ พ. ดูกรอุปสีวะ ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวง ละสมาบัติอื่นเสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจ ลงในสัญญาวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหวพึงตั้ง อยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น ฯ อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักษุ ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึง ตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นสิ้นปีแม้มากไซร้ ผู้ นั้นพึงพ้นจากทุกข์ต่างๆ ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น แหละ พึงเป็นผู้เยือกเย็น หรือว่าวิญญาณของผู้เช่นนั้น พึง เกิดเพื่อถือปฏิสนธิอีก ฯ พ. ดูกรอุปสีวะ มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ เปรียบเหมือนเปลวไฟอันถูกกำลังลมพัดไป แล้ว ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ ฉะนั้น ฯ อุ. ท่านผู้นั้นถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านผู้นั้นไม่มีหรือว่าท่านผู้นั้น เป็นผู้ไม่มีโรค ด้วยความเป็นผู้เที่ยง ข้าแต่พระองค์ผู้ เป็นมุนี ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์ความข้อนั้นให้สำเร็จ ประโยชน์แก่ข้าพระองค์เถิด เพราะว่าธรรมนั้นพระองค์ ทรงรู้แจ้งแล้วด้วยประการนั้น ฯ พ. ดูกรอุปสีวะ ท่านผู้ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่มีประมาณ ชน ทั้งหลายจะพึงกล่าวท่านผู้นั้นด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นใด กิเลส มีราคะเป็นต้นนั้นของท่านไม่มี เมื่อธรรม (มีขันธ์เป็นต้น) ทั้งปวง ท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งหมด ก็เป็นอันท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว ฯ
จบอุปสีวมาณวกปัญหาที่ ๖
นันทปัญหาที่ ๗
[๔๓๑] นันทมาณพผู้ทูลถามปัญหาว่า ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก ชนทั้งหลาย กล่าวบุคคลว่าเป็นมุนีนี้นั้น ด้วยอาการอย่างไรหนอ ชน ทั้งหลายกล่าวบุคคลผู้ประกอบด้วยญาณ หรือผู้ประกอบ ด้วยความเป็นอยู่ ว่าเป็นมุนี ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรนันทะ ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวบุคคลว่าเป็นมุนี ด้วย ความเห็น ด้วยความสดับ หรือด้วยความรู้ (ด้วยศีลและ วัตร) ชนเหล่าใดกำจัดเสนามารให้พินาศแล้ว ไม่มีความ ทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวไปอยู่ เรากล่าวชนเหล่านั้นว่า เป็นมุนี ฯ น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วย ศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่อง บริสุทธิ์ ข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างหรือไม่ ข้าแต่พระ ผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พ. ดูกรนันทะ สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าว ความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีล และพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น ตาม ที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้ ฯ น. สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการ เห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่น ข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ถ้าพระองค์ ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นข้ามโอฆะไม่ได้แล้ว ข้าแต่พระ องค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและ มนุษยโลก ข้ามพ้นชาติและชราได้แล้วในบัดนี้ ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระ องค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พ. ดูกรนันทะ เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมดอันชาติ และชราหุ้มห่อไว้แล้ว แต่เรากล่าวว่า คนเหล่าใดในโลก นี้ ละเสียซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี เสียงที่ได้ฟังแล้วก็ดี อารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมด ก็ดี ละเสียซึ่งมงคลตื่นข่าวเป็นต้น เป็นอันมากทั้งหมด ก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่า นั้นแลข้ามโอฆะได้แล้ว ฯ น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้โคดม ข้าพระองค์ยินดียิ่งซึ่งพระ ดำรัสของพระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ธรรมอันไม่มีอุปธิ พระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า คน เหล่าใดในโลกนี้ ละเสียซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี เสียงที่ ได้ฟังแล้วก็ดี อารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีลและ พรตทั้งหมดก็ดี ละเสียซึ่งมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากทั้ง หมดก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่านั้น ข้ามโอฆะได้แล้ว ฉะนี้แล ฯ
จบนันทมาณวกปัญหาที่ ๗

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๑๑๐๒๒-๑๑๒๔๓ หน้าที่ ๔๗๖-๔๘๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=11022&Z=11243&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=25&item=427&items=5              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=25&item=427&items=5&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=25&item=427&items=5              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=25&item=427&items=5              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=427              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]