ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
สาริปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖
ว่าด้วยกระแสเสียงของพระพุทธเจ้าประกอบด้วยองค์ ๘
[๘๘๑] (ท่านพระสารีบุตรกล่าวดังนี้ว่า) พระศาสดาผู้มีพระกระแสเสียงอัน ไพเราะ เสด็จจากภพดุสิต มาสู่ความเป็นพระคณาจารย์อย่างนี้ ก่อน แต่นี้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเลย ทั้งไม่เคยได้ยินต่อใครๆ เลย. [๘๘๒] คำว่า ก่อนแต่นี้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเลย ความว่า ในกาลก่อนแต่นี้ พระผู้ มีพระภาคพระองค์นั้น ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นด้วยจักษุนี้ ด้วยอัตภาพนี้เลย. คือ พระผู้มีพระภาค ทรงจำพรรษาที่บัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ ณ ควงไม้ปาริจฉัตตกะ (ต้นทองหลาง) ในภพดาวดึงส์ อันหมู่เทวดาห้อมล้อมเสด็จลงสู่สังกัสสนคร โดยบันไดอันสำเร็จด้วยแก้วมณีในท่ามกลาง ใน กาลนั้น ข้าพเจ้าเว้นความเห็นครั้งนี้ ไม่เคยเห็นในกาลก่อนเลย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ก่อนแต่นี้ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเลย. [๘๘๓] บทว่า อิติ ในคำว่า ท่านพระสารีบุตรกล่าวดังนี้ว่า เป็นบทสนธิ เป็นบท อุปสรรค เป็นบทปทปูรณะ เป็นศัพท์ประชุมอักขระ เป็นศัพท์สละสลวยด้วยพยัญชนะ เป็น ลำดับบท. คำว่า อายสฺมา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าวด้วยความเคารพ เป็นเครื่องกล่าวเป็นไปกับด้วยความเคารพ เป็นเครื่องกล่าวเป็นไปกับด้วยความยำเกรง. คำว่า สารีบุตร เป็นนาม เป็นเครื่องนับ เป็นเครื่องหมาย เป็นบัญญัติ เป็นโวหาร เป็นชื่อ เป็น ความตั้งชื่อ เป็นความทรงชื่อ เป็นเครื่องกล่าวถึง เป็นเครื่องแสดงความหมาย เป็นเครื่อง กล่าวเฉพาะ แห่งพระเถระนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านพระสารีบุตรกล่าวดังนี้ว่า. [๘๘๔] ศัพท์ว่า น ในคำว่า ทั้งไม่เคยได้ยินต่อใครๆ เลย เป็นปฏิเสธ. ศัพท์ว่า อุท เป็นบทสนธิ เป็นบทอุปสรรค เป็นบทปทปูรณะ เป็นศัพท์ประชุมอักขระ เป็นศัพท์ สละสลวยด้วยพยัญชนะ เป็นลำดับบท. คำว่า ต่อใครๆ คือ ต่อใครๆ ที่เป็นกษัตริย์ เป็น พราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา หรือเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทั้งไม่เคยได้ยินต่อใครๆ เลย. [๘๘๕] คำว่า พระศาสดาผู้มีพระกระแสเสียงอันไพเราะอย่างนี้ ความว่า พระศาสดา มีพระกระแสเสียงอันไพเราะ คือ มีพระกระแสเสียงอันเสนาะ มีพระกระแสเสียงเป็นที่ตั้ง แห่งความรัก มีพระกระแสเสียงดูดดื่มหทัย มีพระกระแสเสียงเพราะดังเสียงนกการเวก. เสียง อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมเปล่งออกจากพระโอฐแห่งพระผู้มีพระภาคนั้น คือ เป็น เสียงไม่ขัดข้อง ๑ เป็นเสียงผู้ฟังทราบได้ง่าย ๑ เป็นเสียงไพเราะ ๑ เป็นเสียงน่าฟัง ๑ เป็น เสียงกลมกล่อม ๑ เป็นเสียงไม่แปร่ง ๑ เป็นเสียงลึก ๑ เป็นเสียงก้องกังวาล ๑. เมื่อใด พระผู้มีพระภาคนั้น จะทรงยังบริษัทให้ทราบด้วยเสียง เมื่อนั้น เสียงของพระผู้มีพระภาคนั้น ย่อมไม่ออกไปนอกบริษัท. ก็พระผู้มีพระภาคนั้น มีเสียงเหมือนเสียงพรหม มีเสียงดังเสียงนก การเวก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีพระกระแสเสียงอันไพเราะอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคผู้นำ พวก ชื่อว่า พระศาสดา. บุคคลผู้นำพวก ย่อมนำพวกให้ข้ามทางกันดาร คือ ให้ข้าม ข้าม ขึ้น ข้ามออก ข้ามพ้น ซึ่งทางกันดารแต่โจร ทางกันดารแต่สัตว์ร้าย ทางกันดารแต่ที่อดอยาก ทางกันดารแต่ที่ไม่มีน้ำ ให้ถึงพร้อมซึ่งภูมิภาคอันเกษม ฉันใด พระผู้มีพระภาคผู้นำพวก ย่อม ยังสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามกันดาร คือ ให้ข้าม ข้ามขึ้น ข้ามออก ข้ามพ้น ซึ่งกันดารแต่ชาติ กันดารแต่พยาธิ กันดารแต่มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส กันดาร แต่ราคะ กันดารแต่โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลสและทุจริต รกชัฏคือราคะ รกชัฏคือ โทสะ โมหะ มานะและทิฏฐิ รกชัฏคือกิเลส ให้ถึงพร้อมซึ่งอมตนิพพานอันเป็นส่วนเกษม ฉันนั้นเหมือนกัน แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่า ผู้นำพวก. อนึ่ง พระผู้มี พระภาคเป็นผู้นำ ผู้แนะนำ ผู้นำเนืองๆ ผู้ให้รู้ดี ผู้ให้พินิจ ผู้เพ่งดู ผู้ให้เสื่อมใส แม้ด้วย เหตุอย่างนี้ดังนี้ พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่า ผู้นำพวก. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ยังมรรคที่ยัง ไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ทรงยังมรรคที่ยังไม่เกิดพร้อมให้เกิดพร้อม ผู้ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงทราบมรรค ทรงรู้แจ้งมรรค ทรงฉลาดในมรรค. ก็แหละในบัดนี้ สาวกทั้งหลายของพระผู้มี พระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ดำเนินตามมรรคอยู่ เป็นผู้ประกอบศีลาทิคุณในภายหลัง แม้ด้วย เหตุอย่างนี้ดังนี้ พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่า ผู้นำพวก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระศาสดาผู้มี พระกระแสเสียงอันไพเราะอย่างนี้.
ว่าด้วยพระพุทธเจ้าเป็นพระคณาจารย์
[๘๘๖] คำว่า เสด็จจากภพดุสิตมาสู่ความเป็นพระคณาจารย์ ความว่า พระผู้มี พระภาคทรงจุติจากชั้นดุสิต ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ลงสู่พระครรภ์พระมารดา แม้ด้วยเหตุ อย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เสด็จจากภพดุสิตมาสู่ความเป็นพระคณาจารย์. อีกอย่างหนึ่ง พวก เทวดาท่านกล่าวว่า ดุสิต. เทวดาเหล่านั้นยินดี พอใจ ชอบใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส ว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จจากดุสิตเทวโลกมาสู่ความเป็นพระคณาจารย์ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เสด็จจากภพดุสิตมาสู่ความเป็นพระคณาจารย์. อีกอย่างหนึ่ง พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่าน กล่าวว่า ดุสิต. พระอรหันต์เหล่านั้นยินดี พอใจ ชอบใจ มีความดำริบริบูรณ์ว่า พระผู้มี พระภาคเสด็จมาสู่ความเป็นพระคณาจารย์แห่งพระอรหันต์ทั้งหลาย แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อ ว่า เสด็จจากภพดุสิตมาสู่ความเป็นพระคณาจารย์. คำว่า คณี ความว่า มีคณะ. พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นคณี เพราะอรรถว่า เป็นพระคณาจารย์. เพราะอรรถว่า เป็นพระศาสดาของคณะ. เพราะอรรถว่า พระองค์ทรงบริหารคณะ. เพราะอรรถว่า พระองค์ตรัสสอนคณะ. เพราะอรรถ ว่า พระองค์ทรงพร่ำสอนคณะ. เพราะอรรถว่า พระองค์มีความองค์อาจเสด็จเข้าไปสู่คณะ. เพราะอรรถว่า คณะย่อมตั้งใจฟังต่อพระองค์ เงี่ยโสตลงฟัง เข้าไปตั้งจิตเพื่อความรู้. เพราะ อรรถว่า พระองค์ทรงยังคณะให้ออกจากอกุศล ให้ตั้งอยู่ในกุศล เป็นคณาจารย์ของคณะภิกษุ เป็นคณาจารย์ของคณะภิกษุณี เป็นคณาจารย์ของคณะอุบาสก เป็นคณาจารย์คณะอุบาสิกา เป็น คณาจารย์ของคณะพระราชา เป็นคณาจารย์ของคณะกษัตริย์ เป็นคณาจารย์ของคณะพราหมณ์ เป็นคณาจารย์ของคณะแพศย์ เป็นคณาจารย์ของคณะศูทร เป็นคณาจารย์ของคณะเทวดา เป็น คณาจารย์ของคณะพรหม. พระศาสดาเป็นผู้มีหมู่ มีคณะ เป็นพระคณาจารย์ เสด็จมา เข้าไป เข้าไปพร้อม ถึงพร้อมแล้ว ซึ่งสังกัสสนคร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เสด็จจากภพดุสิตมาสู่ความ เป็นพระคณาจารย์. เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า (ท่านพระสารีบุตรกล่าวดังนี้ว่า) พระศาสดาผู้มีพระกระแสเสียงอัน ไพเราะ เสด็จจากภพดุสิต มาสู่ความเป็นพระคณาจารย์อย่างนี้ ก่อน แต่นี้ข้าพเจ้าไม่เคยเห็น ทั้งไม่เคยได้ยินต่อใครๆ เลย. [๘๘๗] พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ ย่อมปรากฏเด่นชัดแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก พระองค์ทรงกำจัดมืดทั้งปวง เป็นบุคคลผู้เอก บรรลุแล้วซึ่งความยินดี. [๘๘๘] คำว่า แก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก ความว่า แก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แก่หมู่สัตว์พร้อมสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แก่โลก พร้อมทั้งเทวโลก.
ว่าด้วยพระพุทธเจ้าปรากฏแก่เทวดาและมนุษย์
[๘๘๙] คำว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ ย่อมปรากฏเด่นชัด ความว่า พวกเทวดา ย่อมเห็นพระผู้มีพระภาคประทับแสดงธรรมอยู่ที่บัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ ณ ควงไม้ปาริฉัตตกะ ใน ภพดาวดึงส์ ฉันใด พวกมนุษย์ก็ย่อมเห็นฉันนั้น. พวกมนุษย์ย่อมเห็นฉันใด พวกเทวดาก็ย่อม เห็นฉันนั้น. พระผู้มีพระภาคย่อมปรากฏแก่พวกเทวดาฉันใด ก็ย่อมปรากฏแก่พวกมนุษย์ฉันนั้น. พระผู้มีพระภาคย่อมปรากฏแก่มนุษย์ฉันใด ก็ย่อมปรากฏแก่พวกเทวดาฉันนั้น แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏเด่นชัด. อีกอย่างหนึ่ง ท่านสมณพราหมณ์ บางพวกมิได้ฝึกตน ก็ปรากฏโดยเพศแห่งบุคคลผู้ฝึกตน มิได้สงบ ก็ปรากฏโดยเพศแห่งบุคคล ผู้สงบ มิได้ระงับ ก็ปรากฏโดยเพศแห่งบุคคลผู้ระงับ มิได้ดับ ก็ปรากฏโดยเพศแห่งบุคคลผู้ดับ. สมจริงดังภาษิตว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ไม่บริสุทธิ์ ณ ภายใน งามแต่ภายนอก เป็นผู้ อันบริวารห้อมล้อมเที่ยวไปในโลก เหมือนหม้อน้ำทำด้วยดินหุ้มทองคำ และเหมือนเหรียญมาสกโลหะชุบทองคำฉะนั้น. พระผู้มีพระภาคย่อมไม่ปรากฏแม้อย่างนั้น. พระผู้มีพระภาคทรงฝึกพระองค์แล้ว ย่อม ปรากฏโดยเพศแห่งพระพุทธเจ้าผู้ฝึกแล้ว ทรงสงบแล้ว ย่อมปรากฏโดยเพศแห่งพระพุทธเจ้า ผู้สงบแล้ว ทรงระงับแล้ว ย่อมปรากฏโดยเพศแห่งพระพุทธเจ้าผู้ระงับแล้ว ทรงดับแล้ว ย่อม ปรากฏโดยเพศแห่งพระพุทธเจ้าผู้ดับแล้ว โดยความจริง โดยเป็นจริง โดยถ่องแท้ โดยความ เป็นจริง โดยไม่วิปริต โดยสภาพ. ก็พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้เป็นพระพุทธเจ้า มีพระอิริยาบถ มิได้กำเริบ ทรงสมบูรณ์ด้วยปณิธิ (ความปรารถนา) แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า พระผู้มี พระภาคผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏเด่นชัด. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีพระเกียรติอันบริสุทธิ์ ทรงเพรียบพร้อมด้วยพระเกียรติยศและความสรรเสริญเป็นเช่นนี้ เช่นนั้น และอย่างยิ่ง ใน ภพนาค ภพครุฑ ภพยักษ์ ภพอสูร ภพคนธรรพ์ ภพมหาราช ภพอินทร์ ภพพรหม แม้ด้วย เหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏเด่นชัด. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มี พระภาคทรงประกอบด้วยพละ ๑๐ ย่อมปรากฏ ประจักษ์ รู้ได้ด้วยเวสารัชชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ เดชธรรม พลธรรม คุณธรรม วิริยะ ปัญญา. สมจริงดังที่ตรัส ไว้ว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมปรากฏในที่ไกล เหมือนภูเขาหิมวันต์ ฉะนั้น อสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏในที่นี้ เหมือนลูกศรที่ยิงไปในกลางคืน ฉะนั้น. แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏเด่นชัด.
ว่าด้วยจักษุ ๕ ประการ
คำว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ ความว่า พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุ ด้วยจักษุ ๕ ประการ คือ มีพระจักษุแม้ด้วยมังสจักษุ ๑ มีพระจักษุแม้ด้วยทิพยจักษุ ๑ มีพระจักษุแม้ด้วย ปัญญาจักษุ ๑ มีพระจักษุแม้ด้วยพุทธจักษุ ๑ มีพระจักษุแม้ด้วยสมันตจักษุ ๑. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยมังสจักษุอย่าง? สี ๕ อย่าง คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีดำ และสีขาว ย่อมปรากฏมีอยู่ในมังสจักษุของพระผู้มีพระภาค. ขนพระเนตรของ พระผู้มีพระภาคตั้งอยู่ในที่ใด ที่นั้นมีสีเขียว เขียวสนิท น่าชม น่าดู เหมือนดอกผักตบ. ต่อจากที่ นั้นมีสีเหลือง เหลืองนวล สีเหมือนทองคำ น่าชมน่าดู เหมือนดอกกรรณิการ์. ขอบเบ้า พระเนตรทั้ง ๒ ของพระผู้มีพระภาค มีสีแดง แดงงาม น่าชม น่าดู เหมือนสีปีกแมลงทับ. ที่ท่ามกลางพระเนตรมีสีดำ ดำงาม ไม่หมองมัว ใสสนิท น่าชม น่าดู เหมือนสีสมอดำ (อิฐแก่ไฟ). ต่อจากที่นั้นมีสีขาว ขาวงาม เปล่งปลั่ง ขาวนวล น่าชม น่าดู เหมือนสีดาว ประกายพฤกษ์. พระผู้มีพระภาคมีพระมังสจักษุนั้นเป็นปกติเนื่องในพระวรกาย เกิดเฉพาะด้วย สุจริตกรรมในภพก่อน ทรงเห็นตลอดโยชน์หนึ่งโดยรอบ ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน. แม้เมื่อใด มีมือประกอบด้วยองค์ ๔ คือ พระอาทิตย์อัสดงคต ๑ วันอุโบสถมีในกาฬปักษ์ ๑ แนวป่าทึบ ๑ ก้อนอกาลเมฆใหญ่ตั้งขึ้น ๑. เมื่อนั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงเห็นตลอดโยชน์หนึ่งโดยรอบในที่มืด อันประกอบด้วยองค์ ๔ แม้เห็นปานนี้. ที่หลุมก็ดี บานประตูก็ดี กำแพงก็ดี ภูเขาก็ดี กอไม้ ก็ดี เถาวัลย์ก็ดี เป็นเครื่องบังการเห็นรูปทั้งหลาย ย่อมไม่มี. หากว่า บุคคลพึงเอางาเมล็ดหนึ่ง ทำเป็นเครื่องหมายใส่ลงในเกวียนบรรทุกงา พระผู้มีพระภาคก็พึงทรงหยิบเอาเมล็ดงานั้นแหละขึ้น ได้. พระมังสจักษุเป็นปกติของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ ด้วยมังสจักษุอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยทิพยจักษุอย่างไร? พระผู้มีพระภาคย่อมทรงเห็นหมู่ สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วย ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ หนอ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึด ถือการทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์ เหล่านี้ ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ พระผู้มีพระภาค ย่อมทรงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ และทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วย ประการดังนี้. ก็พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงพระประสงค์ ก็พึงทรงเห็นแม้โลกธาตุหนึ่ง แม้โลกธาตุ ๒ แม้โลกธาตุ ๓ แม้โลกธาตุ ๔ แม้โลกธาตุ ๕ แม้โลกธาตุ ๑๐ แม้โลกธาตุ ๒๐ แม้โลกธาตุ ๓๐ แม้โลกธาตุ ๔๐ แม้โลกธาตุ ๕๐ แม้โลกธาตุพันหนึ่งเป็นส่วนเล็ก แม้โลกธาตุสองพันเป็น ส่วนกลาง แม้โลกธาตุสามพัน แม้โลกธาตุหลายพัน. พระผู้มีพระภาค ทรงพระประสงค์เท่าใด ก็พึงทรงเห็นเท่านั้น. ทิพยจักษุของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุ แม้ด้วยทิพยจักษุอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยปัญญาจักษุอย่างไร? พระผู้มีพระภาคทรงมีปัญญามาก มีปัญญากว้างขวาง มีปัญญารื่นเริง มีปัญญาแล่นไป มีปัญญาคมกล้า มีปัญญาชำแรกกิเลส ทรงฉลาดในประเภทปัญญา มีญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ทรงบรรลุเวสารัชชญาณ ๔ ทรงทสพลญาณ ทรงเป็นบุรุษองอาจ ทรงเป็นบุรุษสีหะ ทรงเป็นบุรุษนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษนำธุระไปเป็นปกติ มีพระญาณหาที่สุดมิได้ มีพระเดชหาที่สุดมิได้ มีพระยศหา ที่สุดมิได้ ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีปัญญาเป็นทรัพย์ ทรงเป็นผู้นำ ทรงนำไปโดย วิเศษ นำเนืองๆ ให้รู้จักประโยชน์ ให้เพ่งพิจารณาให้เห็นประโยชน์ ให้แล่นไปด้วยปสาทะ. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงเป็นผู้ให้มรรคที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น ทรงให้มรรคที่ยังไม่เกิด พร้อมให้เกิดขึ้นพร้อมผู้ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงรู้ซึ่งมรรค ทรงทราบซึ่งมรรค ทรง ฉลาดในมรรค. ก็แหละในบัดนี้ สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ ดำเนินตามมรรคอยู่ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลาทิคุณในภายหลัง. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม มีพรหมธรรม ผู้ตรัสบอก ผู้ตรัสบอกโดยประการ เป็นผู้นำออกซึ่งอรรถ ทรงประทานอมตธรรม ทรงเป็นธรรม สามี เป็นพระตถาคต. สิ่งที่ไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงทราบ ไม่ทรงทำให้แจ่มแจ้ง ไม่ทรงถูก ต้องด้วยปัญญา ย่อมไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น. ธรรมทั้งปวงรวมทั้งอดีต อนาคตและ ปัจจุบัน ย่อมมาสู่คลองในมุขคือพระญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้วโดยอาการทั้งปวง. ชื่อ ว่าประโยชน์ที่ควรแนะนำทุกๆ อย่าง อันชนควรรู้ มีอยู่คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้ง ๒ อย่าง ประโยชน์มีในชาตินี้ ประโยชน์มีในชาติหน้า ประโยชน์ตื้น ประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับ ประโยชน์ที่ปกปิด ประโยชน์ที่ควรแนะนำ ประโยชน์ที่บัณฑิตแนะนำไปแล้ว ประโยชน์ที่ไม่มีโทษ ประโยชน์ไม่มีกิเลส ประโยชน์อันผ่องแผ้ว ประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปรอบในภายในพระพุทธญาณ. พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว มีพระญาณ ไม่ขัดข้องในอดีต มีพระญาณไม่ขัดข้องในอนาคต มีพระญาณไม่ขัดข้องในปัจจุบัน. กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทั้งหมด ย่อมเป็นไปตามพระญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว. บทธรรม ที่ควรแนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น พระญาณเท่าใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็เท่านั้น พระญาณ มีส่วนสุดรอบแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำ บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีส่วนสุดรอบแห่งพระญาณ พระ ญาณไม่เป็นไปรอบเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็ไม่เกินพระญาณไป ธรรมเหล่านั้นมีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน. เมื่อชั้นผะอบสองชั้นปิดกันสนิทพอดี ชั้นผะอบข้างล่างก็ไม่เกินชั้นผะอบข้างบน ชั้นผะอบข้างบนก็ไม่เกินชั้นผะอบข้างล่าง ชั้นผะอบ ทั้ง ๒ นั้นมีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน ฉันใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็ดี พระ ญาณก็ดี ของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว มีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน บทธรรม ที่ควรแนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น พระญาณเท่าใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็เท่านั้น พระ ญาณมีส่วนสุดรอบแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำ บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีส่วนสุดรอบแห่งพระ ญาณ พระญาณไม่เป็นไปเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็ไม่เกินพระ ญาณ ธรรมเหล่านั้น มีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน ฉันนั้นเหมือนกัน. พระญาณ ของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปรอบในธรรมทั้งปวง. ธรรมทั้งปวงเนื่องด้วยความนึก เนื่องด้วยความหวัง เนื่องด้วยมนสิการ เนื่องด้วยจิตตุบาท ของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว. พระ ญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปรอบในสัตว์ทั้งปวง. พระผู้มีพระภาคย่อมทรง ทราบอัธยาศัย อนุสัย จริต อธิมุติ แห่งสัตว์ทั้งปวง ย่อมทรงทราบเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสธุลีน้อย ในปัญญาจักษุ มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการ ทราม ผู้ควรแนะนำได้โดยง่าย ผู้แนะนำได้โดยยาก เป็นภัพพสัตว์ เป็นอภัพพสัตว์ โลก พร้อม ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็น ไปรอบในภายในพระพุทธญาณ. ปลาและเต่าทุกชนิด โดยที่สุดรวมทั้งปลาติมิ ปลาติมังคละ และปลาติมิติมิงคละ ย่อมเป็นไปรอบในภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปรอบในภายในพระพุทธ ญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน. นกทุกชนิด โดยที่สุดรวมทั้งครุฑเวนไตยโคตร ย่อมเป็นไปรอบใน ประเทศอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวกทั้งหลายผู้เสมอด้วยพระสารีบุตรโดยปัญญา ย่อมเป็นไป รอบในประเทศแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน. พระพุทธญาณย่อมแผ่ปกคลุมปัญญาของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตั้งอยู่. พวกบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะมีปัญญา ละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูยิงขนหางทรายแม่น เที่ยวไปดุจทำลายทิฏฐิของผู้ อื่นด้วยปัญญาของตน บัณฑิตเหล่านั้น ปรุงแต่งปัญหาแล้วเข้ามาเฝ้าพระตถาคต ทูลถามปัญหา เหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาคตรัสย้อนถามและตรัสแก้แล้ว เป็นปัญหามีเหตุที่ทรงแสดงออกและ ทรงสลัดออก. บัณฑิตเหล่านั้นเลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงไพโรจน์ยิ่ง ด้วยพระปัญญาในที่นั้นโดยแท้แล พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยปัญญาจักษุอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยพุทธจักษุอย่างไร? พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรวจดู สัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลสธุลีมาก ในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ควรแนะนำได้โดย ง่าย ผู้แนะนำได้โดยยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่. ในกอบัวเขียว ในกอ บัวแดง หรือในกอบัวขาว ดอกอุบล ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บางดอกเกิดในน้ำ เจริญ ในน้ำ ขึ้นตามน้ำ จมอยู่ในน้ำ อันน้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางดอกเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ตั้งอยู่ เสมอน้ำ บางดอกเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ โผล่ขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด แม้ฉันใด พระผู้มีพระภาค เมื่อทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพระพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลส ธุลีมากในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้แนะนำได้โดย ง่าย ผู้แนะนำได้โดยยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน. พระ ผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า บุคคลนี้เป็นราคจริต บุคคลนี้เป็นโทสจริต บุคคลนี้เป็นโมหจริต บุคคลนี้เป็นวิตักกจริต บุคคลนี้เป็นศรัทธาจริต บุคคลนี้เป็นญาณจริต. พระผู้มีพระภาคย่อม ตรัสบอกอสุภกถาแก่บุคคลผู้เป็นราคจริต. ย่อมตรัสบอกเมตตาภาวนาแก่บุคคลผู้เป็นโทสจริต. ทรงแนะนำบุคคลผู้เป็นโมหจริตให้ตั้งอยู่ในการเรียน ในการไต่ถาม ในการฟังธรรมตามกาลอัน ควร ในการสนทนาธรรมตามกาลอันควร ในการอยู่ร่วมกับครู. ย่อมตรัสบอกอานาปาณสติแก่ บุคคลผู้เป็นวิตักกจริต. ย่อมตรัสบอกพระสูตรอันเป็นนิมิตดี ความตรัสรู้ดีแห่งพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม ความปฏิบัติดีแห่งพระสงฆ์ และศีลทั้งหลายของตน อันเป็นที่ ตั้งแห่งความเลื่อมใส แก่บุคคลผู้เป็นศรัทธาจริต. ย่อมตรัสบอกธรรมอันเป็นนิมิตแห่งวิปัสสนา ซึ่งมีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์ มีอาการเป็นอนัตตา แก่บุคคลผู้เป็นญาณจริต. สมจริงดังประพันธ์คาถาว่า บุรุษยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลา พึงเห็นหมู่ชนโดยรอบ ฉันใด ข้าแต่พระผู้ มีพระภาคผู้มีพระปัญญาดี มีจักษุโดยรอบพระองค์ มีความโศกไป ปราศจากแล้ว ทรงขึ้นสู่ปราสาทอันสำเร็จด้วยธรรม ขอจงทรงตรวจ ดูหมู่ชนผู้อาเกียรณ์ด้วยความโศก ถูกชาติและชราครอบงำ ฉันนั้น. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยพุทธจักษุอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยสมันตจักษุอย่างไร? พระสัพพัญญุตญาณ เรียกว่า สมันตจักษุ. พระผู้มีพระภาคไปใกล้ ไปใกล้ดีแล้ว เข้าถึง เข้าถึงดีแล้ว เข้าไปถึงดีแล้ว ประกอบแล้วด้วยพระสัพพัญญุตญาณ. สมจริงดังประพันธ์คาถาว่า สิ่งอะไรๆ ในไตรโลกธาตุนี้ อันปัญญาจักษุของพระตถาคตนั้นไม่เห็น แล้ว ย่อมไม่มี อนึ่ง ธรรมชาติอะไรๆ อันพระพุทธญาณไม่รู้แจ้ง แล้วและที่ไม่พึงรู้ ย่อมไม่มี ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่ พระตถาคต ทรงทราบแล้วซึ่งธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด เพราะเหตุนั้น พระ ตถาคต จึงชื่อว่าผู้มีสมันตจักษุ. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยสมันตจักษุอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏเด่นชัด. [๘๙๐] คำว่า ทรงกำจัดมืดทั้งปวง ความว่า ทรงบรรเทา กำจัด ทำให้สิ้นไป ให้ถึง ความไม่มี ซึ่งความมืดเพราะราคะ ความมืดเพราะโทสะ ความมืดเพราะโมหะ ความมืดเพราะมานะ ความมืดเพราะทิฏฐิ ความมืดเพราะกิเลส ความมืดเพราะทุจริตทั้งปวงอันทำให้เป็นคนบอด ทำไม่ให้มีจักษุ ทำไม่ให้มีญาณอันดับปัญญา เป็นไปในฝ่ายแห่งความลำบาก ไม่ให้เป็นไปเพื่อ นิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทรงกำจัดมืดทั้งปวง.
พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลผู้เอก
[๘๙๑] คำว่า เป็นบุคคลเอก ทรงบรรลุแล้วซึ่งความยินดี ความว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะส่วนแห่งบรรพชา ทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะเป็นผู้ไม่มีเพื่อน ทรงเป็น บุคคลผู้เอกเพราะความละตัณหา ทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะอรรถว่า เป็นผู้ปราศจากราคะโดย ส่วนเดียว ทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะอรรถว่า เป็นผู้ปราศจากโทสะโดยส่วนเดียว ทรงเป็นบุคคล ผู้เอกเพราะอรรถว่าเป็นผู้ปราศจากโมหะโดยส่วนเดียว ทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะอรรถว่า เป็นผู้ ไม่มีกิเลสโดยส่วนเดียว ทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะอรรถว่า เป็นผู้เสด็จไปตามเอกายนมรรค ทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะอรรถว่า เป็นผู้เดียวตรัสรู้ซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอก เพราะส่วนแห่งบรรพชาอย่างไร? พระผู้มีพระภาค ยังทรงหนุ่มฉกรรจ์ มีพระเกศาดำสนิท ยังหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระมารดาและพระบิดา ไม่ทรงปรารถนาให้ผนวช มีพระพักตร์ชุ่มด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงรำพันอยู่ ทรงสละหมู่ พระญาติ ทรงตัดความกังวลในยศทั้งหมด ทรงตัดความกังวลในพระโอรสพระชายา ทรงตัด ความกังวลในพระญาติ ทรงตัดความกังวลในมิตรอำมาตย์ ทรงตัดกังวลในการสั่งสม ทรงปลง พระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสายะเสด็จออกผนวช ถึงความเป็นผู้ไม่มีกังวลเสด็จเที่ยว ไป ยับยั้งอยู่ พักผ่อน ประพฤติ รักษา บำรุง เยียวยา ลำพังพระองค์เดียว พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะส่วนแห่งบรรพชาอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะไม่มีเพื่อนอย่างไร? พระองค์ทรงผนวชแล้ว อย่างนี้ พระองค์เดียว ซ่องเสพเสนาสนะเป็นป่าและป่าใหญ่น้อยอันสงัด มีเสียงน้อย ไม่มี เสียงกึกก้อง ปราศจากชนผู้สัญจรไปมา ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่วิเวก พระองค์ ทรงพระดำเนินพระองค์เดียว ประทับยืนพระองค์เดียว ประทับนั่งพระองค์เดียว ทรงบรรทม พระองค์เดียว เสด็จเข้าบ้านเพื่อทรงบิณฑบาตพระองค์เดียว เสด็จออกไปพระองค์เดียว ประทับ อยู่ในที่ลับพระองค์เดียว ทรงอธิษฐานจงกรมพระองค์เดียว ทรงเที่ยวไป ยับยั้งอยู่ พักผ่อน ประพฤติ รักษา บำรุง เยียวยา ลำพังพระองค์เดียว พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะ ไม่มีเพื่อนอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอก เพราะความละตัณหาอย่างไร? พระผู้มีพระภาค นั้นเป็นพระองค์เดียว ไม่มีเพื่อนอย่างนี้ ไม่ทรงประมาท มีความเพียร มีพระทัยเด็ดเดี่ยว ทรงตั้ง พระมหาปธานอยู่ที่ควงโพธิพฤกษ์ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงกำจัดมารทั้งเสนามารที่ไม่ให้มหาชน พ้นไป เป็นเผ่าพันธุ์ผู้ประมาท ทรงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไปซึ่งตัณหาเพียงดังข่ายอันให้แล่นไป ให้เกาะเกี่ยวอารมณ์อยู่. สมจริงดังประพันธ์คาถาว่า บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อน แล่นไปสู่ความเป็นอย่างนี้และความเป็นอย่างอื่น ตลอดกาลนาน ไม่ล่วงพ้นสงสารไปได้ ภิกษุรู้จักโทษนี้ รู้จักตัณหาเป็น แดนเกิดแห่งทุกข์ จึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่มีความยึดถือ มีสติ พึงเว้นรอบ. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะความละตัณหาอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอกพระอรรถว่า เป็นผู้ปราศจากราคะโดยส่วนเดียว อย่างไร? พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะอรรถว่า เป็นผู้ปราศจากราคะโดยส่วนเดียว เพราะอรรถว่า ทรงละราคะเสียแล้ว. ทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะอรรถว่า เป็นผู้ปราศจากโทสะโดย ส่วนเดียว เพราะทรงละโทสะเสียแล้ว. ทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะอรรถว่า เป็นผู้ปราศจาก โมหะโดยส่วนเดียว เพราะทรงละโมหะเสียแล้ว. ทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะอรรถว่า เป็นผู้ ไม่มีกิเลสโดยส่วนเดียว เพราะทรงละกิเลสทั้งหลายเสียแล้ว. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะอรรถว่า เป็นผู้เสด็จไปตามเอกายนมรรค อย่างไร? สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรค มีองค์ ๘ เรียกว่า เอกายนมรรค (ธรรมเป็นหนทางเป็นที่ไปแห่งบุคคลผู้เดียว). สมจริงดังประพันธ์คาถาว่า พระผู้มีพระภาค ผู้เห็นธรรมเป็นส่วนสุดแห่งความสิ้นชาติ ผู้ทรง อนุเคราะห์ด้วยพระทัยเกื้อกูล ย่อมทรงทราบมรรคเป็นที่ไปแห่งบุคคล ผู้เดียว บัณฑิตทั้งหลายได้ข้ามก่อนแล้ว จักข้าม และย่อมข้ามซึ่งโอฆะ ด้วยมรรคนั้น. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะอรรถว่า เป็นผู้เสด็จไปตามเอกายนมรรคอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอกเพราะอรรถว่า เป็นผู้เดียวตรัสรู้ซึ่งสัมมาสัมโพธิ- *ญาณอันยอดเยี่ยมอย่างไร? ญาณ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วิมังสา วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ ในมรรค ๔ เรียกว่า โพธิ. ด้วยโพธิญาณนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ตรัสรู้ว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ตรัสรู้ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ตรัสรู้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯลฯ ตรัสรู้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและ มรณะ ตรัสรู้ว่า เพราะอวิชชาดับ สังขาร จึงดับ ฯลฯ เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ตรัสรู้ว่า นี้ทุกข์ ตรัสรู้ว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ตรัสรู้ว่า นี้ความดับทุกข์ ตรัสรู้ว่า นี้ปฏิปทาให้ถึง ความดับทุกข์ ตรัสรู้ว่า เหล่านี้อาสวะ ตรัสรู้ว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ตรัสรู้ว่า นี้ความดับอาสวะ ตรัสรู้ว่า นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับอาสวะ ตรัสรู้ว่า ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ตรัสรู้ว่า ธรรมเหล่านี้ ควรกำหนดรู้ ตรัสรู้ว่า ธรรมเหล่านี้ควรละ ตรัสรู้ว่า ธรรมเหล่านี้ควรให้เจริญ ตรัสรู้ว่า ธรรม เหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ตรัสรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่ง ผัสสายตนะ ๖ ตรัสรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตรัสรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งมหาภูตรูป ๔ ตรัสรู้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ ตามตรัสรู้ ตรัสรู้เฉพาะ ตรัสรู้พร้อม ตรัสรู้ชอบ ทรงบรรลุ ทรงได้เฉพาะ ทรงถูกต้อง ทรงทำให้แจ้ง ซึ่งธรรมที่ควรตรัสรู้ ควรตรัสรู้เฉพาะ ควรตรัสรู้พร้อม ควรบรรลุ ควรถูกต้อง ควรทำให้แจ้งทั้งปวงด้วยโพธิญาณนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอก เพราะ อรรถว่า เป็นผู้เดียวตรัสรู้ซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมอย่างนี้. คำว่า ซึ่งความยินดี ในคำว่า บรรลุแล้วซึ่งความยินดี ความว่า พระผู้มีพระภาคทรง บรรลุ ทรงถึงเฉพาะ ทรงถูกต้อง ทรงทำให้แจ้ง ซึ่งความยินดี ในเนกขัมมะ ความยินดีใน ความสงัด ความยินดีในความสงบ ความยินดีในสัมโพธิญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นบุคคล ผู้เอก บรรลุแล้วซึ่งความยินดี. เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ ย่อมปรากฏเด่นชัดแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก พระผู้มีพระภาคนั้นทรงกำจัดมืดทั้งปวง เป็นบุคคลผู้เอก บรรลุแล้วซึ่ง ความยินดี. [๘๙๒] เรามีความประสงค์ด้วยปัญหา จึงมาถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไม่ อาศัย ผู้คงที่ ผู้ไม่หลอกลวง ผู้มาเป็นพระคณาจารย์ของคนหมู่มาก ซึ่งเนื่องในศาสนานี้.
ว่าด้วยพระนามว่าพุทธะ
[๘๙๓] ชื่อว่า พุทธะ ในคำว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไม่อาศัย ผู้คงที่ คือ พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู ไม่มีใครเป็นอาจารย์ ตรัสรู้ซึ่งสัจจะทั้งหลายเอง ในธรรม ทั้งหลายอันพระองค์ไม่เคยสดับมาก่อน ทรงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญในเพราะความตรัสรู้นั้น และทรงถึงความเป็นผู้ชำนาญในพลธรรมทั้งหลาย. คำว่า พุทฺโธ ชื่อว่า เป็นพระพุทธเจ้า พระอรรถว่าอะไร? ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะอรรถว่า ตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย. เพราะอรรถว่า ให้หมู่สัตว์ตรัสรู้. เพราะเป็นพระสัพพัญญ. เพราะเป็นผู้เห็นธรรมทั้งปวง. เพราะเป็นผู้ทรงรู้ยิ่ง เพราะเป็นผู้เบิกบาน. เพราะเป็นผู้สิ้นอาสวะ. เพราะเป็นผู้ไม่มีอุปกิเลส. เพราะอรรถว่า เป็นผู้ ปราศจากราคะโดยส่วนเดียว. เพราะอรรถว่า เป็นผู้ปราศจากโทสะโดยส่วนเดียว. เพราะอรรถว่า เป็นผู้ปราศจากโมหะโดยส่วนเดียว. เพราะอรรถว่า เป็นผู้ไม่มีกิเลสโดยส่วนเดียว. เพราะอรรถ ว่า เป็นผู้เสด็จไปตามเอกายนมรรค. เพราะอรรถว่า เป็นผู้เดียวตรัสรู้ซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยม. ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะเว้นจากความไม่รู้ เพราะได้เฉพาะความรู้ พระนามว่า พุทฺโธนี้ พระมารดา พระบิดา พระภาคา พระภคินี มิตร อำมาตย์ พระญาติสาโลหิต สมณะ พราหมณ์ เทวดา มิได้เฉลิมให้ พระนามว่า พุทฺโธ นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามมีใน อรหัตผลในลำดับแห่งอรหัตมรรค) เป็นสัจฉิกาบัญญัติ (บัญญัติที่เกิดเพราะทำแจ่มแจ้งซึ่ง พระอรหัตผลและธรรมทั้งปวง) พร้อมด้วยการทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ คงแห่งโพธิพฤกษ์ ของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น. [๘๙๔] ความอาศัย ในคำว่า ไม่อาศัย มี ๒ อย่าง คือ ความอาศัยด้วยตัณหา ๑ ความอาศัยด้วยทิฏฐิ ๑. ความอาศัยด้วยตัณหาเป็นไฉน? วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือเอาว่าของเรา ด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ความยึดถือว่าของเรา ซึ่งวัตถุมีประมาณเท่านั้นว่า สิ่งนี้ของเรา สิ่งนั้นของเรา สิ่งมีประมาณเท่านี้ของเรา สิ่งของของ เรามีประมาณเท่านี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แว่นแคว้น ชนบท ฉาง คลัง เป็นของของเรา ความยึดถือว่าเป็นของเรา แม้ซึ่งแผ่นดินใหญ่ทั้งสิ้นด้วย สามารถแห่งตัณหา ตลอดถึงตัณหาวิปริต ๑๐๘ นี้ ชื่อว่าความอาศัยด้วยตัณหา.
ว่าด้วยทิฏฐิ
ความอาศัยด้วยทิฏฐิเป็นไฉน? สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ อันตคา- *หิกาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ทิฏฐิ ความไปคือทิฏฐิ รกเรี้ยวคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือ ทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องประกอบคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความยึดมั่น ความ ยึดถือ ทางผิด คลองผิด ความเป็นผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือโดยแสวงหาผิด ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือว่าแน่นอน ว่าจริงในสิ่งที่ไม่จริง อันใด เห็นปานนี้ และทิฏฐิ ๖๒ มีประมาณเท่าใด นี้ชื่อว่า ความอาศัยด้วยทิฏฐิ. พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงละความอาศัยด้วยตัณหา สละคือความอาศัยด้วยทิฏฐิ เพราะทรงละความอาศัยด้วยตัณหา สละคืนความอาศัยด้วยทิฏฐิ. พระผู้มีพระภาคจึงไม่อาศัย ไม่อิงอาศัย ไม่พัวพัน ไม่เข้าถึง ไม่ติดใจ ไม่น้อมใจถึง เป็นผู้ทรงออกไป สละ พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องซึ่ง จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (ธรรมารมณ์) สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลาน- *ปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ อดีต อนาคต ปัจจุบัน รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ทรงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลส อยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ไม่อาศัย.
ว่าด้วยผู้คงที่โดยอาการ ๕
[๘๙๕] คำว่า ผู้คงที่ ความว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่า เป็นผู้คงที่โดยอาการ ๕ คือ เป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ๑ เป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่าสละแล้ว ๑ เป็นผู้คงที่ เพราะอรรถว่า ข้ามแล้ว ๑ เป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่า พ้นแล้ว ๑ เป็นผู้คงที่เพราะทรงแสดงออก ซึ่งธรรมนั้นๆ ๑. พระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ อย่างไร? พระผู้มีพระภาค เป็นผู้คงที่แม้ในลาภ แม้ในความเสื่อมลาภ แม้ในยศ แม้ในความเสื่อมยศ แม้ในสรรเสริญ แม้ในนินทา แม้ในสุข แม้ในทุกข์. หากว่าชนทั้งหลายพึงลูบไล้ พระพาหาข้างหนึ่งแห่งพระผู้ มีพระภาคด้วยเครื่องหอม พึงถากพระพาหาข้างหนึ่งด้วยมีด. พระผู้มีพระภาคย่อมไม่ทรงมีความ ยินร้ายในการถากด้วยมีดโน้น. พระผู้มีพระภาคทรงละความยินดีและความยินร้ายเสียแล้ว ทรง ล่วงเลยความดีใจและความเสียใจแล้ว ทรงก้าวล่วงความพอใจและความพิโรธเสียแล้ว. พระผู้มี พระภาคชื่อว่าเป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์อย่างนี้. พระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่า สละแล้วอย่างไร? พระผู้มีพระภาคทรง สละ คาย ปล่อย ละ สละคืนราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวน กระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุศลาภิสังขารทั้งปวง พระผู้มี พระภาคชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่า สละแล้ว อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่า ข้ามแล้วอย่างไร? พระผู้มีพระภาคทรงข้าม คือ ข้ามขึ้น ก้าวล่วง ก้าวล่วงด้วยดี ล่วงเลยแล้ว ซึ่งกามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชา- *โอฆะ และคลองแห่งสงสารทั้งปวง. พระผู้มีพระภาคนั้นทรงอยู่จบแล้ว ทรงประพฤติจรณะ แล้ว ดำเนินถึงทางไกลแล้ว ดำเนินถึงทิศแล้ว ดำเนินถึงที่สุดแล้ว ทรงรักษาพรหมจรรย์แล้ว ทรงบรรลุอุดมทิฏฐิแล้ว เจริญมรรคแล้ว ละกิเลสแล้ว มีการแทงตลอดมิได้กำเริบ มีนิโรธอัน ทำให้แจ้งแล้ว. พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดรู้ทุกข์ ทรงละสมุทัย ทรงเจริญมรรค ทรงทำให้แจ่ม แจ้งซึ่งนิโรธ ทรงรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ทรงกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ทรงละธรรมที่ควรละ ทรงเจริญธรรมที่ควรเจริญ ทรงทำให้แจ่มแจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ่มแจ้ง. พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงถอนอวิชชาอันเป็นดุจลิ่มสลักออกแล้ว ทรงเรี่ยวรายกรรมอันเป็นดังคูเสียแล้ว ทรงถอน ตัณหาเป็นดังเสาระเนียดขึ้นแล้ว ไม่มีสังโยชน์เป็นบานประตู เป็นผู้ไกลจากกิเลสเป็นข้าศึก มีมานะเป็นดุจธงอันตกไปแล้ว ทรงปลงภาระเสียแล้ว มีโยคกิเลสมิได้เกี่ยวข้อง มีองค์ ๕ อันละเสียแล้ว ประกอบด้วยองค์ ๖ มีสติเป็นธรรมเอกเครื่องรักษา มีธรรมเป็นเครื่องอาศัย ๔ มีทิฏฐิสัจจะเฉพาะอย่างหนึ่งอันทรงบรรเทาเสียแล้ว มีการแสวงหาอันชอบไม่ย่อหย่อนอัน ประเสริฐ มีความดำริมิได้ขุ่นมัว มีกายสังขารอันระงับแล้ว มีจิตพ้นดีแล้ว มีปัญญาพ้นดีแล้ว เป็นผู้มีความบริบูรณ์ มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว เป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ถึงความบรรลุเป็น อย่างยิ่ง. พระผู้มีพระภาคนั้นมิได้ก่อ มิได้กำจัด กำจัดดำรงอยู่แล้ว มิได้ละ มิได้ถือมั่น ละแล้วดำรงอยู่ มิได้เย็บ มิได้ยก เย็บแล้วดำรงอยู่ มิได้ดับ มิได้ให้ลุก ดับแล้วดำรงอยู่ ดำรงอยู่เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณ- *ทัศนขันธ์ เป็นอเสขะ แทงตลอดอริยสัจแล้วดำรงอยู่ ก้าวล่วงตัณหาอย่างนี้แล้วจึงดำรงอยู่ ดับไฟกิเลสแล้วดำรงอยู่ ดำรงอยู่เพราะไม่ต้องไป ยึดถือเอายอดชัย แล้วดำรงอยู่ ดำรงอยู่ใน ความซ่องเสพวิมุติ ดำรงอยู่ด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาอันบริสุทธิ์ ดำรงอยู่ด้วย ความบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดำรงอยู่ในความเป็นผู้ไม่แข็งกระด้างด้วยตัณหา ทิฏฐิ มานะ อัน บริสุทธิ์ ดำรงอยู่เพราะเป็นผู้หลุดพ้น ดำรงอยู่เพราะเป็นผู้สันโดษ ดำรงอยู่ในส่วนสุดรอบแห่ง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ ดำรงอยู่ในภพอันมีในที่สุด ดำรงอยู่ในอัตภาพอันมีในที่สุด ทรงไว้ซึ่งร่างกายมีในที่สุด. สมจริงดังประพันธ์คาถาว่า พระผู้มีพระภาคนั้น มีภพนี้เป็นที่สุด มีอัตภาพนี้เป็นทีหลังมิได้มีชาติ มรณะและสงสาร ไม่มีภพใหม่. พระผู้มีพระภาคชื่อว่าคงที่เพราะอรรถว่า ข้ามแล้ว อย่างนี้. พระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่า พ้นแล้วอย่างไร? พระทัยของพระผู้มี พระภาคพ้นแล้ว พ้นวิเศษ พ้นดีแล้ว จากราคะ โทสะ โมหะ. ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุศลาภิสังขารทั้งปวง พระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่า พ้นแล้ว อย่างนี้. พระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะทรงแสดงออกซึ่งธรรมนั้นๆ อย่างไร? พระผู้มี พระภาคชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะทรงแสดงออกว่า เป็นผู้มีศีล ในเมื่อศีลมีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะทรงแสดงออกว่า เป็นผู้มีศรัทธา ในเมื่อศรัทธามีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะทรงแสดง ออกว่า เป็นผู้มีวิริยะ ในเมื่อวิริยะมีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะทรงแสดงออกว่า เป็นผู้มีสติ ในเมื่อสติมีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะทรงแสดงออกว่า เป็นผู้มีสมาธิ ในเมื่อสมาธิมีอยู่. ชื่อว่า เป็นผู้คงที่เพราะทรงแสดงออกว่า เป็นผู้มีปัญญา ในเมื่อปัญญามีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะทรง แสดงออกว่า เป็นผู้มีวิชชา ๓ ในเมื่อวิชชามีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะทรงแสดงออกว่า เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ในเมื่ออภิญญามีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะทรงแสดงออกว่า เป็นผู้มีพละ ๑๐ ในเมื่อพละมีอยู่. พระผู้มีพระภาคชื่อว่า เป็นผู้คงที่เพราะทรงแสดงออกซึ่งธรรมนั้นๆ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไม่อาศัย ผู้คงที่.
ว่าด้วยวัตถุแห่งความหลอกลวง ๓ อย่าง
[๘๙๖] ชื่อว่า ผู้ไม่ทรงหลอกลวง ในคำว่า ผู้ไม่หลอกลวง ผู้มาเป็นพระคณาจารย์ มีอธิบายว่า วัตถุแห่งความหลอกลวง ๓ อย่าง คือ วัตถุแห่งความหลอกลวงกล่าวด้วยการซ่อง เสพปัจจัย ๑ วัตถุแห่งความหลอกลวงกล่าวด้วยอิริยาบถ ๑ วัตถุแห่งความหลอกลวงกล่าวด้วย การพูดเลียบเคียง ๑. วัตถุแห่งความหลอกลวงกล่าวด้วยการซ่องเสพปัจจัยเป็นไฉน? พวกคฤหบดีในโลกนี้ ย่อมนิมนต์ภิกษุด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร. ภิกษุนั้นมีความ ปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำ มีความต้องการด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร อาศัยความเป็นผู้อยากได้มาก ย่อมบอกคืนจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร. พูดอย่างนี้ว่า ประโยชน์อะไรแก่สมณะด้วยจีวรมีค่ามาก การที่ สมณะเที่ยวเลือกเก็บผ้าเก่าจากป่าช้า กองหยากเยื่อหรือร้านตลาด แล้วทำสังฆาฏิใช้ เป็นการ สมควร ประโยชน์อะไรแก่สมณะด้วยบิณฑบาตมีค่ามาก การที่สมณะสำเร็จความเป็นอยู่ ด้วย ก้อนข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้ง โดยความประพฤติแสวงหา เป็นการสมควร ประโยชน์อะไรแก่ สมณะด้วยเสนาสนะมีค่ามาก การที่สมณะอยู่โคนต้นไม้ อยู่ที่ป่าช้าหรืออยู่ที่แจ้ง เป็นการสมควร ประโยชน์อะไรแก่สมณะด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมีค่ามาก การที่สมณะพึงทำยาด้วยน้ำมูตรเน่า หรือชิ้นลูกสมอ เป็นการสมควร ภิกษุนั้นอาศัยความเป็นผู้อยากได้มาก จึงทรงจีวรที่เศร้าหมอง ฉันบิณฑบาตที่เศร้าหมอง ซ่องเสพเสนาสนะที่เศร้าหมอง และฉันคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่ เศร้าหมอง. พวกคฤหบดีเห็นภิกษุนั้นแล้ว ย่อมทราบอย่างนี้ว่าสมณะนี้เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะปรารภความเพียร มีวาทะกำจัดกิเลส ก็ยิ่งนิมนต์เธอ ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร. ภิกษุนั้นก็กล่าวว่า เพราะประจวบด้วย เหตุ ๓ ประการ กุลบุตรผู้มีศรัทธา ก็ประสบบุญมาก คือ เพราะประจวบด้วยศรัทธา ๑ เพราะประ- *จวบด้วยไทยธรรม ๑ เพราะประจวบด้วยทักขิไณยบุคคล ๑ ท่านทั้งหลายมีศรัทธานี้อยู่ มีไทยธรรม นี้อยู่ ทั้งอาตมาก็เป็นปฏิคาหก (ผู้ทักขิไณยบุคคล) ถ้าอาตมาจักไม่รับ ท่านทั้งหลายก็จักเสื่อม จากบุญไป อาตมาไม่มีความต้องการด้วยปัจจัยนี้ ก็แต่ว่าอาตมาจะรับด้วยความอนุเคราะห์ท่าน ทั้งหลาย จำเดิมแต่นั้น ภิกษุนั้นก็รับจีวรมาก รับบิณฑบาตมาก รับเสนาสนะมาก รับคิลาน- *ปัจจัยเภสัชบริขารมาก. ความทำหน้ายู่ยี่ ความเป็นผู้มีหน้ายู่ยี่ ความหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ความเป็นผู้หลอกลวง เห็นปานนี้ เรียกว่าวัตถุแห่งความหลอกลวงกล่าวด้วยการซ่องเสพปัจจัย. วัตถุแห่งความหลอกลวงกล่าวด้วยอิริยาบถเป็นไฉน? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำ มีความประสงค์ในการยกย่อง คิดว่า ประชุมชน จักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้ จึงสำรวมการเดิน สำรวมการยืน สำรวมการนั่ง สำรวมการนอน ย่อมตั้งสติเดิน ตั้งสติยืน ตั้งสตินั่ง ตั้งสตินอน ทำเหมือนภิกษุมีสมาธิเดิน ทำเหมือนภิกษุมี สมาธิยืน ทำเหมือนภิกษุมีสมาธินั่ง ทำเหมือนภิกษุมีสมาธินอน และทำเหมือนภิกษุที่เจริญ อาปาถกฌาน (เจริญฌานต่อหน้าพวกมนุษย์). การตั้งใจทำ การทำ การดำรงอิริยาบถ ความ ทำหน้ายู่ยี่ ความเป็นผู้มีหน้ายู่ยี่ ความหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ความเป็นผู้หลอกลวง เห็นปานนี้ เรียกว่า วัตถุแห่งความหลอกลวงกล่าวด้วยอิริยาบถ. วัตถุแห่งความหลอกลวงกล่าวด้วยการพูดเลียบเคียงเป็นไฉน? ภิกษุบางรูปในธรรม วินัยนี้ มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำ มีความประสงค์ในการยกย่อง คิดว่า ประชุมชนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้ จึงกล่าววาจาอิงอริยธรรม คือ พูดว่า สมณะใดทรง จีวรอย่างนี้ สมณะนั้นมีศักดิ์มาก สมณะใดทรงบาตรอย่างนี้ ... ทรงภาชนะโลหะอย่างนี้ ... ทรง ธรรมกรกอย่างนี้ ... ทรงผ้ากรองน้ำอย่างนี้ ... ถือลูกกุญแจอย่างนี้ ... สวมรองเท้าอย่างนี้ ... ใช้ ประคดสำหรับคาดกายอย่างนี้ ... ใช้สายโยกบาตรอย่างนี้ สมณะนั้นมีศักดิ์มาก. พูดว่า สมณะ ใดมีอุปัชฌายะอย่างนี้ มีอาจารย์อย่างนี้ ... มีพวกร่วมอุปัชฌายะอย่างนี้ ... มีพวกร่วมอาจารย์ อย่างนี้ ... มีมิตรอย่างนี้ ... มีพวกอย่างนี้ ... มีพวกที่คบกันมาอย่างนี้ ... มีสหายอย่างนี้ ... สมณะนั้นมีศักดิ์มาก. พูดว่า สมณะใดอยู่ในวิหารเช่นนี้ ... อยู่ในเรือนมีหลังคาแถบเดียวอย่าง นี้ ... อยู่ในปราสาทอย่างนี้ ... อยู่ในเรือนมีหลังคาโล้นอย่างนี้ ... อยู่ในถ้ำอย่างนี้ ... อยู่ในที่ เร้นอย่างนี้ ... อยู่ในกุฎีอย่างนี้ ... อยู่ในเรือนยอดอย่างนี้ ... อยู่ในซุ้มประตูอย่างนี้ ... อยู่ใน โรงกลมอย่างนี้ ... อยู่ในโรงที่พัก (ปะรำ) อย่างนี้ ... อยู่ในศาลาที่ประชุมอย่างนี้ ... อยู่ใน มณฑปอย่างนี้ ... อยู่ที่โคนต้นไม้อย่างนี้ ... สมณะนั้นมีศักดิ์มาก. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้วาง หน้าเฉยเมย ทำหน้ายู่ยี่ หลอกลวง ปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง อันผู้อื่นสรรเสริญ ด้วยความ ที่ตนวางหน้าว่า สมณะนี้ได้วิหารสมบัติอันมีอยู่เห็นปานนี้ ภิกษุนั้น ย่อมกล่าวถ้อยคำเช่นนั้น อันปฏิสังยุตด้วยโลกุตรธรรม และนิพพาน อันลึกลับ สุขุม ละเอียด ปิดบัง. ความทำหน้า ยู่ยี่ ความเป็นผู้มีหน้ายู่ยี่ ความหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ความเป็นผู้หลอกลวง เห็นปาน นี้ เรียกว่า วัตถุแห่งความหลอกลวงกล่าวด้วยการพูดเลียบเคียง. วัตถุแห่งความหลอกลวง ๓ อย่างนี้ อันพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะเหตุนั้น พระผู้มี พระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว จึงชื่อว่าผู้ไม่หลอกลวง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ไม่หลอกลวง.
ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระคณาจารย์
[๘๙๗] คำว่า ผู้มาเป็นพระคณาจารย์ ความว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่า คณีเพราะ อรรถว่า มีคณะ. พระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นคณีพระอรรถว่า เป็นพระคณาจารย์. ชื่อว่าเป็น คณีเพราะอรรถว่า เป็นพระศาสดาของคณะ ชื่อว่าเป็นคณีเพราะอรรถว่า พระองค์ทรงบริหาร คณะ ชื่อว่าเป็นคณีเพราะอรรถว่า พระองค์ตรัสสอนคณะ. ชื่อว่าเป็นคณีเพราะอรรถว่า พระ องค์ทรงพร่ำสอนคณะ. ชื่อว่าเป็นคณีเพราะอรรถว่า พระองค์มีความองอาจเสด็จเข้าไปสู่คณะ ชื่อว่าเป็นคณีเพราะอรรถว่า คณะย่อมฟังด้วยดีต่อพระองค์ เงี่ยโสตลงฟัง เข้าไปตั้งจิตเพื่อ ความรู้. ชื่อว่าเป็นคณีเพราะอรรถว่า พระองค์ยังคณะให้ออกจากอกุศล ให้ตั้งอยู่เฉพาะใน กุศล ชื่อว่าเป็นคณีของคณะภิกษุ. ชื่อว่าเป็นคณีของคณะภิกษุณี. ชื่อว่าเป็นคณีของคณะ อุบาสก. ชื่อว่าเป็นคณีของคณะอุบาสิกา. ชื่อว่าเป็นคณีของคณะพระราชา. ชื่อว่าเป็นคณีของ คณะกษัตริย์. ชื่อว่าเป็นคณีของคณะพราหมณ์. ชื่อว่าเป็นคณีของคณะแพศย์. ชื่อว่าเป็นคณี ของคณะศูทร. ชื่อว่าเป็นคณีของคณะเทวดา. ชื่อว่าเป็นคณีของคณะพรหม. พระผู้มีพระภาค เป็นผู้มีหมู่ มีคณะเป็นพระคณาจารย์เสด็จมา เข้ามา เข้ามาพร้อม ถึงพร้อมแล้วซึ่งสังกัสส- *นคร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ไม่หลอกลวง ผู้มาเป็นพระคณาจารย์. [๘๙๘] คำว่า ของคนหมู่มาก ในคำว่า ของคนหมู่มากซึ่งเนื่องในศาสนานี้ ความว่า ของกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา มนุษย์ เป็นอันมาก. คำว่า เนื่อง คือ เป็นผู้เนื่อง มีความประพฤติเนื่องกัน เป็นผู้บำรุง เป็นศิษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ของคนหมู่มากซึ่งเนื่องในศาสนานี้. [๘๙๙] คำว่า เรามีความประสงค์ด้วยปัญหาจึงมา ความว่า เราเป็นผู้มีความประสงค์ ด้วยปัญหามาแล้ว คือ เรามีความประสงค์เพื่อจะทูลถามปัญหามาแล้ว เรามีความประสงค์เพื่อ จะฟังปัญหามาแล้ว แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เรามีความประสงค์ด้วยปัญหาจึงมา. อีก อย่างหนึ่ง ความมา ความก้าวไปเฉพาะ ความเข้าไปหา ความเข้าไปนั่งใกล้ พึงมีแก่ชน ทั้งหลาย ผู้มีความต้องการด้วยปัญหา ผู้ถามปัญหา ผู้ประสงค์เพื่อจะฟังปัญหา แม้ด้วยเหตุ อย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เรามีความประสงค์ด้วยปัญหาจึงมา. อีกอย่างหนึ่ง อาคม (สูตร) แห่งปัญหาของพระองค์มีอยู่ พระองค์เป็นผู้สามารถจะตรัสถาม กล่าวแก้กับข้าพระองค์ ข้อนี้ จงเป็นภาระของพระองค์ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เรามีความประสงค์ด้วยปัญหาจึงมา เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์มีความประสงค์ด้วยปัญหา จึงมาถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไม่อาศัย ผู้คงที่ ผู้ไม่หลอกลวง ผู้มาเป็นพระคณาจารย์ของคนหมู่ มากซึ่งเนื่องในศาสนานี้. [๙๐๐] เมื่อภิกษุเกลียดอยู่ ซ่องเสพที่นั่งอันว่างเปล่า รุกขมูล สุสาน หรือที่ นั่งในถ้ำแห่งบรรพตทั้งหลาย
ว่าด้วยปฏิปทาของภิกษุ
[๙๐๑] คำว่า เมื่อภิกษุ ในคำว่า เมื่อภิกษุเกลียดอยู่ ความว่า เมื่อภิกษุที่เป็น กัลยาณปุถุชน หรือที่เป็นเสขชน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อภิกษุ. คำว่า เกลียดอยู่ คือ เกลียด อึดอัด ระอา เบื่อหน่าย ด้วยชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ทุกข์ในนรก ทุกข์ในดิรัจฉานกำเนิด ทุกข์ในเปรตวิสัย ทุกข์ในมนุษย์ ทุกข์มีความเกิดในครรภ์เป็นมูล ทุกข์มีความตั้งอยู่ในครรภ์เป็นมูล ทุกข์มีความคลอดจากครรภ์ เป็นมูล ทุกข์ที่ติดตามสัตว์ผู้เกิด ทุกข์อันเนื่องแต่ผู้อื่นแห่งสัตว์ผู้เกิด ทุกข์เกิดแต่ความ ขวนขวายของตน ทุกข์เกิดแต่ความขวนขวายของผู้อื่น ทุกข์ที่เกิดแต่ทุกขเวทนา (ทุกขเวทนา มีในกายและใจ) ทุกข์เกิดแต่สังขาร ทุกข์เกิดแต่ความแปรปรวน ทุกข์เพราะโรคจักษุ ทุกข์ เพราะโรคหู ทุกข์เพราะโรคจมูก ทุกข์เพราะโรคลิ้น ทุกข์เพราะโรคกาย ทุกข์เพราะโรคศีรษะ ทุกข์เพราะโรคในหู ทุกข์เพราะโรคปาก ทุกข์เพราะโรคจากฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคหูด โรคละลอก โรคคุดทะราด โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาต อาพาธเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธ เกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ทุกข์เกิดแต่ความสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ทุกข์เพราะมารดาตาย ทุกข์เพราะบิดาตาย ทุกข์เพราะพี่ชายน้องชายตาย ทุกข์เพราะพี่หญิงน้องหญิงตาย ทุกข์เพราะบุตรตาย ทุกข์เพราะธิดาตาย ทุกข์เพราะความ ฉิบหายแห่งญาติ ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่งโภคทรัพย์ ทุกข์เพราะความฉิบหายอันเกิดแต่โรค ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่งศีล ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่งทิฏฐิ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อ ภิกษุเกลียดอยู่ [๙๐๒] คำว่า ซ่องเสพที่นั่งอันว่างเปล่า ความว่า ที่ใดเป็นที่นั่ง คือ เตียง ตั่ง ฟูก เสื่อ ท่อนหนัง เครื่องลาดด้วยหญ้า เครื่องลาดด้วยใบไม้ เครื่องลาดด้วยฟาง ที่นั้น เรียกว่าที่นั่ง. ที่นั่งนั้น ว่าง เปล่า สงัด เงียบจากการเห็นรูปไม่เป็นที่สบาย ว่าง เปล่า สงัด เงียบจากการได้ยินเสียงไม่เป็นที่สบาย ฯลฯ ว่าง เปล่า สงัด เงียบจากเบญจกามคุณ ไม่เป็นที่สบาย เมื่อภิกษุซ่องเสพ ซ่องเสพเสมอ เสพอาศัย ซ่องเสพเฉพาะที่นั่งนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อภิกษุซ่องเสพที่นั่งอันว่างเปล่า [๙๐๓] คำว่า รุกขมูล สุสาน ความว่า รุกขมูล คือโคนต้นไม้ สุสานคือป่าช้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า รุกขมูล สุสาน. [๙๐๔] คำว่า หรือที่นั่งในถ้ำแห่งบรรพตทั้งหลาย ความว่า บรรพต คือภูเขา กันทระคือซอก คิริคุหาคือถ้ำในภูเขา ท้องภูเขาแห่งภูเขาทั้งหลาย เรียกว่า ระหว่างภูเขา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า หรือที่นั่งในถ้ำแห่งบรรพตทั้งหลาย. เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระ จึงทูลถามว่า เมื่อภิกษุเกลียดอยู่ ซ่องเสพที่นั่งอันว่างเปล่า รุกขมูล สุสาน หรือ ที่นั่งในถ้ำแห่งบรรพตทั้งหลาย [๙๐๕] ในที่นอนทั้งหลายอันสูงและต่ำ ภิกษุร้องอยู่ เพราะในที่นั้นมีอารมณ์ อันน่าหวาดเสียว อันเป็นเหตุให้ภิกษุไม่พึงหวั่นไหว ในที่นอนที่นั่ง อันไม่มีเสียงกึกก้อง
ว่าด้วยที่นอนสูงต่ำ
[๙๐๖] คำว่า อันสูงและต่ำ ในคำว่า ในที่นอนอันสูงและต่ำ ความว่า สูงและต่ำ คือ เลวประณีต ดีและชั่ว. เสนาสนะ คือ วิหาร เรือนมีหลังคาแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ เรียกว่า ที่นอน ในคำว่า ในที่นอนทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ในที่ นอนทั้งหลายอันสูงและต่ำ [๙๐๗] คำว่า ร้องอยู่ ในคำว่า ภิกษุร้องอยู่ เพราะในที่นั้นมีอารมณ์อันน่าหวาด เสียว ความว่า ภิกษุร้อง เรียก บันลือ ออกเสียงอยู่. อีกอย่างหนึ่ง ความว่า อารมณ์อัน น่าหวาดเสียว มีเท่าไร มีอย่างไร มีประมาณเท่าไร มีกำหนดเท่าไร มีมากเท่าไร. ชื่อว่า อารมณ์น่าหวาดเสียวเหล่านั้น คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า โค กระบือ ช้าง งู แมงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ทำกรรมชั่ว หรือคนที่เตรียมทำกรรมชั่ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุร้องอยู่ เพราะในที่นั้นมีอารมณ์อันน่าหวาดเสียว. [๙๐๘] คำว่า อารมณ์อันน่าหวาดเสียว ในคำว่า อันเป็นเหตุให้ภิกษุไม่พึงหวั่นไหว ความว่า ภิกษุเห็นหรือได้ยินแล้วซึ่งอารมณ์อันน่าหวาดกลัวเหล่าใด อันเป็นเหตุให้ภิกษุไม่พึง หวั่นไหว ไม่สะทกสะท้าน ไม่ครั่นคร้าม ไม่สะดุ้ง ไม่หวาดเสียว ไม่ตกใจ ไม่กลัว ไม่ถึง ความสยดสยอง ไม่พึงเป็นผู้ขลาด ไม่ขยาด ไม่หวาดหวั่น ไม่หนี ละความกลัวความหวาดเสียว ปราศจากขนลุกชูชัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อันเป็นเหตุให้ภิกษุไม่พึงหวั่นไหว. [๙๐๙] คำว่า ในที่นอนที่นั่งอื่นไม่เสียงกึกก้อง ความว่า ในเสนาสนะอันมีเสียงน้อย ปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากชนผู้สัญจรไปมา เป็นที่ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่ การหลีกเร้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ในที่นอนที่นั่งอันไม่มีเสียงกึกก้อง. เพราะเหตุนั้น พระ- *สารีบุตรเถระจึงทูลถามว่า ในที่นอนทั้งหลายอันสูงและต่ำ ภิกษุร้องอยู่ เพราะในที่นั้นมีอารมณ์ อันน่าหวาดเสียว อันเป็นเหตุให้ภิกษุไม่พึงหวั่นไหวในที่นอนที่นั่ง อันไม่มีเสียงกึกก้อง. [๙๑๐] เมื่อภิกษุไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป ภิกษุพึงปราบปรามอันตรายเหล่าใด ในที่ นอนที่นั่งอันสงัด อันตรายเหล่านั้นมีเท่าไรในโลก.
ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
[๙๑๑] คำว่า มีเท่าไร ในคำว่า อันตรายเหล่านั้นมีเท่าไรในโลก ความว่า มีเท่าไร มีประมาณเท่าไร มีกำหนดเท่าไร มีมากเท่าไร. ชื่อว่าอันตราย ได้แก่อันตราย ๒ อย่าง คือ อันตรายปรากฏ ๑ อันตรายปกปิด ๑. อันตรายปรากฏเป็นไฉน? ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า โค กระบือ ช้าง งู แมงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ทำกรรมชั่ว คนที่เตรียมทำกรรมชั่ว โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้ พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคหูด โรคละลอก โรคคุดทะราด โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็น สมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาต อาพาธเกิด แต่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวด ปัสสาวะ ความสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน อันตรายเหล่านี้ เรียกว่า อันตรายปรากฏ. อันตรายปกปิดเป็นไฉน? กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาท นิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่คุณท่าน ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา โอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลา- *ภิสังขารทั้งปวง อันตรายเหล่านี้เรียกว่าอันตรายปกปิด. ที่ชื่อว่า อันตราย เพราะอรรถว่ากระไร จึงชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่า ครอบงำ. จึงชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อม. จึงชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่ แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย. เพราะอรรถว่า ครอบงำอย่างไร? จึงชื่อว่าอันตราย อันตรายเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยี ซึ่งบุคคลนั้น. เพราะอรรถว่า ครอบงำอย่างนี้ จึงชื่อว่า อันตราย. เพราะอรรถว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างไร? จึงชื่อว่าอันตราย อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย. อันตรายเหล่านั้นย่อมเป็น ไป เพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมเหล่าไหน? อันตรายเหล่านั้นย่อมเป็นไป เพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้ คือ ความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความทำให้บริบูรณ์ในศีล ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ความประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญ สติปัฏฐาน ๔ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญสัมมัปปธาน ๔ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญอิทธิบาท ๔ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญอินทรีย์ ๕ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญพละ ๕ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญโพชฌงค์ ๗ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ อันตรายเหล่านั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธาน ไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้. เพราะอรรถว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างนี้ จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างไรๆ จึงชื่อว่าอันตราย อกุศล- *ธรรมอันลามกเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น อยู่อาศัยในอัตภาพ เปรียบเหมือนเหล่าสัตว์ ที่อาศัยรูย่อมอยู่ในรู ที่อาศัยน้ำย่อมอยู่ในน้ำ ที่อาศัยป่าย่อมอยู่ในป่า ที่อาศัยต้นไม้ย่อมอยู่ที่ ต้นไม้ ฉันใด อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น อยู่อาศัยในอัตภาพ ฉันนั้น ฉะนั้น เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายแม้อย่างนี้ จึงชื่อว่าอันตราย. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่ อาศัยในภายใน อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบากไม่ผาสุก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุ ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบากไม่ผาสุกอย่าง ไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอันลามก มีความดำริอันซ่านไปในอารมณ์ อันเกื้อกูลแก่ สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมอันลามก เหล่านั้น ย่อมอยู่ซ่านไปในภายในแห่งภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า ผู้อยู่ ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมกลุ้มรุมภิกษุนั้น เพราะ เหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน. อีกประการหนึ่ง อกุศลธรรมอันลามก มีความดำริอันซ่านไปในอารมณ์ ยันเกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดแก่ภิกษุ เพราะได้ยินเสียง ด้วยหู ... เพราะสูดกลิ่นด้วยจมูก ... เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น ... เพราะได้ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมอยู่ซ่านไปในภายในแห่งภิกษุ นั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน อกุศลธรรม อันลามกเหล่านั้น ย่อมกลุ้มรุมภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลส ที่ฟุ้งซ่าน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน ผู้อยู่ร่วมกับกิเลส ที่ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบากไม่ผาสุก อย่างนี้แล เพราะฉะนั้น เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่ง อกุศลธรรมทั้งหลายแม้อย่างนี้ จึงชื่อว่าอันตราย. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ เป็นมลทิน ในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูใน ภายใน ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ โลภะ เป็นมลทินในภายใน ... เป็นศัตรูในภายใน โทสะ เป็นมลทินในภายใน ... เป็นศัตรูในภายใน โมหะ เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายใน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาต ในภายใน เป็นศัตรูในภายใน. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า โลภะยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด โลภะยังจิตให้กำเริบ โลภะเป็น ภัยเกิดในภายใน พาลชนย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น. คนผู้โลภย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้โลภย่อมไม่เห็นธรรม ความโลภครอบงำนรชนในขณะใด ความ มืดตื้นย่อมมีในขณะนั้น โทสะยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด โทสะ ยังจิตให้กำเริบ โทสะเป็นภัยเกิดในภายใน พาลชนย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น. คนผู้โกรธย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้โกรธย่อมไม่เห็นธรรม ความโกรธ ครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น. โมหะยังสิ่งที่ ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด โมหะยังจิตให้กำเริบ โมหะเป็นภัยเกิดในภาย ใน พาลชนย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น. คนผู้หลงย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้หลงย่อม ไม่เห็นธรรม ความหลงครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมี ในขณะนั้น. เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลทั้งหลายแม้อย่างนี้ จึงชื่อว่า อันตราย. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรมหาบพิตร ธรรม ๓ ประการแลเมื่อเกิด ขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ โลภะเมื่อเกิดขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก โทสะเมื่อเกิดขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อม เกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก โมหะเมื่อเกิดขึ้นในภายใน แห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก ดูกรมหาบพิตร ธรรม ๓ ประการนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้วจึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า โลภะ โทสะ และโมหะ เกิดขึ้นในตน ย่อมกำจัดบุรุษ ผู้มีจิตลามก เหมือนขุยไผ่กำจัดไม้ไผ่ฉะนั้น. เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายแม้อย่างนี้ จึงชื่อว่าอันตราย. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ราคะ และโทสะมีอัตภาพนี้เป็นเหตุ เกิดแต่อัตภาพนี้ ไม่ยินดีกุศล ยินดีแต่กามคุณ ทำให้ขนลุกขนพอง บาปวิตกในใจตั้งขึ้นแต่อัตภาพนี้ แล้วผูกจิตไว้ เหมือนพวกเด็นผูกกาไว้ที่ข้อเท้า ฉะนั้น. เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายแม้อย่างนี้ จึงชื่อว่าอันตราย. คำว่า ในโลก คือ ในมนุษยโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อันตรายเหล่านั้นมีเท่าไรในโลก.
ว่าด้วยทิศที่ไม่เคยไป (อมตนิพพาน)
[๙๑๒] คำว่า เมื่อภิกษุไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป ความว่า อมตนิพพาน คือความสงบ สังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอกความดับ ความออกจาก ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เรียกว่าทิศที่ไม่เคยไป. ทิศที่ยังไม่เคยไปโดยกาลยืดยาวนี้ ชื่อว่าทิศที่ ไม่เคยไป. บุคคลพึงประคองภาชนะน้ำมันอันเต็มเสมอขอบปากมิได้มีส่วนเหลือ ฉันใด พระ โยคาวจรเมื่อปรารถนาทิศที่ยังไม่เคยไป ก็พึงรักษาจิตของตนเนืองๆ ฉันนั้น. เมื่อภิกษุไป ดำเนิน ไป ก้าวไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อภิกษุไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป. [๙๑๓] คำว่า ภิกษุพึงปราบปรามอันตรายเหล่าใด ความว่า ภิกษุพึงปราบปราม ครอบงำ จำกัด ขับไล่ ย่ำยีอันตรายเหล่าใด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุพึงปราบปรามอันตราย เหล่าใด. [๙๑๔] คำว่า ในที่นอนที่นั่งอันสงัด ความว่า ในที่นอนที่นั่งอันสงัดเป็นที่สุด ส่วนสุด ส่วนสุดรอบ เป็นส่วนสุดแห่งภูเขาหิน เป็นส่วนสุดแห่งป่า เป็นส่วนสุดแห่งน้ำหรือเป็นส่วน สุดแห่งแม่น้ำ เป็นสถานที่เขาไม่ไถ ไม่หว่าน ไม่เป็นอุปาจารแห่งพวกมนุษย์ล่วงเลยหมู่ชน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ในที่นอนที่นั่งอันสงัด. เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงทูลถามว่า เมื่อภิกษุไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป ภิกษุพึงปราบปรามอันตรายเหล่าใด ในที่ นอนที่นั่งอันสงัด อันตรายเหล่านั้นมีเท่าไรในโลก. [๙๑๕] เมื่อภิกษุอบรมตนอยู่ เธอพึงเป็นผู้มีคลองแห่งถ้อยคำอย่างไร? พึงเป็น ผู้มีโคจรในศาสนานี้อย่างไร? พึงเป็นผู้มีศีลและวัตรอย่างไร? [๙๑๖] คำว่า เธอพึงเป็นผู้มีคลองแห่งถ้อยคำอย่างไร? ความว่า พระเถระย่อมทูล ถามถึงความบริสุทธิ์แห่งวาจาว่า ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ประกอบด้วยคลองแห่งถ้อยคำเช่นไร คือด้วย คลองแห่งถ้อยคำที่ดำรงไว้อย่างไร มีชนิดอย่างไร มีส่วนเปรียบอย่างไร?
ว่าด้วยความบริสุทธิ์แห่งวาจา
ความบริสุทธิ์แห่งวาจาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละมุสวาท เป็นผู้เว้นขาดจาก มุสาวาท คือ พูดจริง ดำรงคำจริง มีถ้อยคำมั่นคง มีถ้อยคำเชื่อถือได้ ไม่พูดให้เคลื่อนคลาด แก่โลก ละปิสุณาวาจา เป็นผู้เว้นขาดจากปิสุณาวาจา คือฟังจากข้างนี้แล้ว ไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้ว ไม่มาบอกคนหมู่นี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น เป็นผู้สมานคนที่แตกกันบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันบ้าง มีความพร้อมเพรียงเป็นที่มายินดี ยินดีในบุคคลที่พร้อมเพรียงกัน มีความเพลิดเพลินในบุคคลที่พร้อมเพรียงกัน กล่าววาจา ที่ทำให้เขาพร้อมเพรียงกับด้วยประการดังนี้ ละผรุสวาจา เป็นผู้เว้นขาดจากผรุสวาจา คือ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ อันไพเราะโสต เป็นที่ตั้งแห่งความรัก หยั่งลงถึงหทัย เป็นคำของชาวเมือง ที่คนหมู่มากพอใจ ชอบใจ ละสัมผัปปลาปะ เป็นผู้เว้นขาดจากสัมผัปปลาปะ คือ พูดโดยกาลควร พูดจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย กล่าววาจาเป็นหลักฐานมีที่อ้างอิง มีส่วนสุด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลควร เป็นผู้ประกอบด้วยวจีสุจริต ๔ กล่าววาจาปราศจากโทษ ๔ งด เว้น เว้นขาด ออก สงัด พ้นขาด ไม่ประกอบด้วยติรัจฉานกถา ๓๒ ประการ เป็นผู้ มีจิตปราศจากเขตแดนกิเลสอยู่ ย่อมกล่าว กถาวัตถุ ๑๐ อย่าง คือ อัปปิจฉากถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณ ทัสนกถา ย่อมกล่าวสติปัฏฐานกถา สัมมัปปธานกถา อิทธิบาทกถา อินทรียกถา พลกถา โพชฌงคกถา มรรคกถา ผลกถา นิพพานกถา เป็นผู้ประกอบสำรวม สำรวมเฉพาะ คุ้มครอง ปกครอง รักษา ระวัง ด้วยวาจา นี้ชื่อว่าความบริสุทธิ์แห่งวาจา. ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วย ความบริสุทธิ์แห่งวาจาเช่นนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เธอพึงเป็นผู้มีคลองแห่งถ้อยคำอย่างไร? [๙๑๗] คำว่า เธอพึงเป็นผู้มีโคจรในศาสนานี้อย่างไร? ความว่า พระเถระ ย่อมทูลถาม ถึงโคจรว่า ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ประกอบด้วยโคจรเช่นไร คือ ด้วยโคจรที่ดำรงไว้อย่างไร มีชนิด อย่างไร มีส่วนเปรียบอย่างไร? อโคจรมีอยู่โคจรมีอยู่
ว่าด้วยอโคจร
อโคจรเป็นไฉน? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้ มีหญิงหม้ายเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีสาวเทื้อเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีบัณเทาะก์เป็นโคจรบ้าง เป็นผู้ มีภิกษุณีเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีโรงสุราเป็นโคจรบ้าง อยู่คลุกคลีด้วยพวกพระราชา พวกมหา- *อำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกของเดียรถีย์ ด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์อัน ไม่สมควร อนึ่ง สกุลบางแห่งไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ไม่เป็นดุจบ่อน้ำ มักด่า มักบริภาษ มุ่งความเสื่อม มุ่งสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล มุ่งความไม่สบาย มุ่งความไม่ปลอดโปร่ง จากโยคกิเลส แก่พวกภิกษุ พวกภิกษุณี พวกอุบาสก พวกอุบาสิกา ภิกษุย่อมซ่องเสพ คบหา ติดต่อกับสกุลเห็นปานนั้น นี้เรียกว่าอโคจร. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน เป็นผู้ไม่สำรวมเดินไป คือ แลดูช้าง แลดูม้า แลดูรถ แลดูพลเดินเท้า แลดูสตรี แลดูบุรุษ แลดูกุมาร แลดูกุมารี แลดูร้านตลาด แลดูหน้ามุขเรือน แลดูข้างบน แลดูข้างล่าง แลดูทิศน้อยทิศใหญ่เดินไป แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็น รูปด้วยจักษุแล้ว ถือนิมิต ถืออนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่ สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อม ไม่รักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความไม่สำรวมในจักขุนทรีย์ ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ถือ นิมิต ถืออนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็น เหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อมไม่รักษามนินทรีย์ ย่อม ถึงความไม่สำรวมในมนินทรีย์ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร. อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า ท่าน สมณพราหมณ์บางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่ กุศลเห็นปานนี้ คือการฟ้อน การขับ การประโคม มหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย เพลงปรบมือ ฆ้อง ระนาด หนัง เพลงขอทาน ไต่ราว การเล่นหน้าศพ ชนช้าง แข่งม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ ชนนกกระทา รำกระบี่กระบอง ชกมวย มวย ปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ ท่านสมณพราหมณ์บางพวก ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร. แม้กามคุณ ๕ ก็ชื่อว่าอโคจร. สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าเที่ยวไป ในแดนอื่นซึ่งเป็นอโคจร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนอื่นซึ่งเป็นอโคจร มารจักได้ช่อง ได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลายก็แดนอื่นซึ่งเป็นอโคจรของภิกษุ คืออะไร คือ กามคุณ ๕ กามคุณ ๕ เป็นไฉน? คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา พอใจ ชอบใจ รักใคร่ ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วย จมูก รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา พอใจ ชอบใจ รักใคร่ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่าแดนอื่น เป็นอโคจรของภิกษุ. แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร. โคจรเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มี หญิงหม้ายเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีสาวเทื้อเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร ไม่เป็นผู้มี ภิกษุณีเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีโรงสุราเป็นโคจร ไม่อยู่คลุกคลีด้วยพวกพระราชา พวกมหาอำมาตย์ ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกของเดียรถีย์ ด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์อันไม่สมควร อนึ่ง สกุลบางแห่งมีศรัทธาเลื่อมใส เป็นดุจบ่อน้ำ รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นที่เดิน สวนกันเข้าออกแห่งภิกษุผู้แสวงหา มุ่งความเจริญ มุ่งประโยชน์เกื้อกูล มุ่งความสบาย มุ่ง ความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส แก่พวกภิกษุ พวกภิกษุณี พวกอุบาสก พวกอุบาสิกา ภิกษุ ย่อมซ่องเสพ คบหา ติดต่อกับสกุลเห็นปานนั้น นี้เรียกว่าโคจร. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน ย่อมเป็นผู้สำรวมเดินไป คือ ไม่แลดูช้าง ไม่แลดูม้า ไม่แลดู รถ ไม่แลดูพลเดินเท้า ฯลฯ ไม่แลดูทิศน้อยทิศใหญ่ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ฯลฯ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร. อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า ท่านสมณพราหมณ์บางพวกฉันโภชนะ ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ไม่ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับ การประโคม ฯลฯ กองทัพ ภิกษุเป็นผู้เว้นขาดจากการขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศลเห็นปานนี้ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร. แม้สติปัฏฐาน ๔ ก็ชื่อว่าโคจร. สมจริงตามที่พระ ผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็น โคจร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจร มาร ย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แดนเป็นของบิดาของตน ซึ่งเป็นโคจรของ ภิกษุคืออะไร คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกอยู่ เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย เป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิต เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า แดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจรของภิกษุ. แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร. ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วยโคจรเช่นนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเป็น ผู้มีโคจรในศาสนานี้อย่างไร.
ว่าด้วยศีลและวัตร
[๙๑๘] คำว่า พึงเป็นผู้มีศีลและวัตรอย่างไร? ความว่า พระเถระย่อมทูลถามถึง ความบริสุทธิ์แห่งศีลและวัตรว่า ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ประกอบด้วยศีลและวัตรอย่างไร คือ ด้วยศีล และวัตรที่ดำรงไว้อย่างไร มีชนิดอย่างไร มีส่วนเปรียบอย่างไร. ความบริสุทธิ์แห่งศีลและวัตรเป็นไฉน? บางแห่งเป็นศีลและเป็นวัตร บางแห่งเป็น วัตรแต่ไม่เป็นศีล. ศีลและเป็นวัตรเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวม ด้วยความสำรวม ในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ความสำรวม ความระวัง ความไม่ก้าวล่วงในสิกขาบท ทั้งหลายนั้น นี่เป็นศีล. ความสมาทาน ชื่อว่าเป็นวัตร. เพราะอรรถว่า สำรวม จึงชื่อว่า ศีล. เพราะอรรถว่า สมาทาน จึงชื่อว่า วัตร. นี้เรียกว่าศีลและวัตร. เป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีลเป็นไฉน? ธุดงค์ ๘ คือ อารัญญิกังคธุดงค์ ๑ ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ๑ ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ๑ เตจีวริกังคธุดงค์ ๑ สปทานจาริกังคธุดงค์ ๑ ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ๑ เนสัชชิกังคธุดงค์ ๑ ยถาสันตติกังคธุดงค์ ๑ นี้เรียกว่าเป็นวัตร แต่ไม่เป็นศีล. แม้การ สมาทานความเพียร ก็เรียกว่าเป็นวัตร ไม่เป็นศีล กล่าวคือ พระมหาสัตว์ทรงประคองตั้ง พระทัยว่าจงเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ผลใดอันบุรุษพึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วย ความบากบั่นของบุรุษ การไม่บรรลุผลนั้นแล้วหยุดความเพียรเสียจักไม่มี ดังนี้ แม้การสมาทาน ความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตร ไม่เป็นศีล. ภิกษุประคองตั้งจิตว่า เมื่อลูกศรคือตัณหาเรายังถอนไม่ได้แล้ว เราจักไม่กิน จักไม่ดื่ม จักไม่ ออกจากวิหาร ทั้งจักไม่เอนข้าง [ไม่นอน] ดังนี้. แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตร ไม่เป็นศีล. พระมหาสัตว์ทรง ประคองตั้งพระทัยว่า เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้จนตลอดเวลาที่จิตของเราจักไม่หลุดพ้นจาก อาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตร ไม่เป็นศีล. ภิกษุประคองตั้งจิตว่า จิตของเราจักไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เพียงใด เราจักไม่ลุกขึ้นจากอาสนะนี้เพียงนั้น จิตของเราจักยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นเพียงใด เราจักไม่ลงจากที่จงกรม จักไม่ออกจากวิหาร จักไม่ออกจากเรือนมี หลังคาแถบเดียว จักไม่ออกจากปราสาท จักไม่ออกจากเรือนโล้น จักไม่ออกจากเพิง จักไม่ ออกจากถ้ำ จักไม่ออกจากกุฏิ จักไม่ออกจากเรือนยอด จักไม่ออกจากป้อม จักไม่ออกจาก โรงกรม จักไม่ออกจากเรือนที่มีเครื่องกั้น จักไม่ออกจากศาลาที่บำรุง จักไม่ออกจากมณฑป จักไม่ออกจากโคนต้นไม้ เพียงนั้น ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็น วัตร ไม่เป็นศีล. ภิกษุประคองตั้งจิตว่า ในเวลาเช้านี้แหละ เราจักนำมา จักนำมาพร้อม จักบรรลุ จักถูกต้อง จักทำให้แจ้ง ซึ่งอริยธรรม ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตร ไม่เป็นศีล. ภิกษุปวะคองตั้งจิตว่า ในเวลาเที่ยงนี้แหละ ในเวลาเย็นนี้แหละ ในกาลก่อนภัตนี้แหละ ในกาลภายหลังภัตนี้แหละ ในยามต้นนี้แหละ ในยามหลังนี้แหละ ในฤดูร้อนนี้แหละ ในตอนวัยต้นนี้แหละ ในตอนวัยกลางนี้แหละ ในตอนวัยหลังนี้แหละ เราจักนำมา จักนำมาพร้อม จักบรรลุ จักถูกต้อง จำทำให้แจ้งซึ่งอริยธรรม ดังนี้ แม้การสมาทาน ความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตร ไม่เป็นศีล. นี้ชื่อว่าความบริสุทธิ์แห่งศีลและวัตร. ภิกษุ พึงเป็นผู้ประกอบด้วยความบริสุทธิ์แห่งศีลและวัตรเช่นนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เธอพึงเป็นผู้มี ศีลและวัตรอย่างไร?
ว่าด้วยการอบรมตน
[๙๑๙] คำว่า อบรมตนอยู่ ในคำว่า เมื่อภิกษุอบรมตนอยู่ ความว่า ปรารภความเพียร มีความเพียรแรงกล้า มีความบากบั่นมั่นคง มิได้ปลงฉันทะ มิได้ทอดธุระ ในธรรมทั้งหลายฝ่าย กุศล. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ส่งตนไป คือ ตนอันภิกษุส่งไปในอรหัตผลอันเป็นประโยชน์ของตน ในอริยมรรค ในลักษณะ ในเหตุ ในฐานะ และอฐานะ คือ ส่งตนไปว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ส่งตนไปว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ส่งตนไปว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ส่งตนไปว่า เพราะ อวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ฯลฯ ส่งตนไปว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ ส่งตนไป ว่า เพราะอวิชชาดับสังขารจึงดับ ฯลฯ ส่งตนไปว่า เพราะชาติดับชราและมรณะจึงดับ ส่งตน ไปว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ ส่งตนไปว่า นี้ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับทุกข์ ส่งตนไปว่า เหล่านี้อาสวะ ฯลฯ ส่งตนไปว่า นี้ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับอาสวะ ส่งตนไปว่า ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ฯลฯ ธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ส่งตนไปถึงความเกิด ความดับ คุณโทษ และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งผัสสายตะ ๖ ส่งตนไปถึงความเกิด ความดับ คุณโทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่ง อุปาทานขันธ์ ๕ แห่งมหาภูตรูป ๔ ส่งตนไปว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา. คำว่า เมื่อภิกษุ ความว่า เมื่อภิกษุที่เป็นกัลยาณปุถุชน หรือเมื่อ ภิกษุที่เป็นพระเสขะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อภิกษุอบรมตนอยู่. เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตร เถระจึงทูลถามว่า เมื่อภิกษุอบรมตนอยู่ เธอพึงเป็นผู้มีคลองแห่งถ้อยคำอย่างไร? พึงเป็น ผู้มีโคจรในศาสนานี้อย่างไร? พึงเป็นผู้มีศีลและวัตรอย่างไร? [๙๒๐] ภิกษุนั้นสมาทานสิกขาอะไร? จึงเป็นผู้มีสมาธิ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น มีปัญญารักษาตน มีสติ พึงกำจัดมลทินของตน เหมือนช่างทองกำจัด มลทินแห่งทอง ฉะนั้น.
ว่าด้วยสมาทานสิกขา ๓
[๙๒๑] คำว่า ภิกษุนั้นสมาทานสิกขาอะไร? ความว่า ภิกษุนั้นถือเอา สมาทาน ยึดถือ ยึดมั่น ถือมั่น ซึ่งสิกขาอะไร? เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นสมาทานสิกขาอะไร?. คำว่า มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ในคำว่า จึงเป็นผู้มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น มีปัญญารักษาตน มีสติ ความว่า มีจิตมีอารมณ์เดียว มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจไม่ถูกอารมณ์ร้ายกระทบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น. คำว่า มีปัญญารักษาตน ความว่า มีปัญญารักษาตน เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีความรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาทำลายกิเลส. คำว่า มีสติ ความว่า มีสติ ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ ภิกษุเมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเห็นกายในกาย ก็ชื่อว่ามีสติ เมื่อ เจริญสติปัฏฐานพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ก็ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณา เห็นจิตในจิต ก็ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ก็ชื่อว่ามีสติ. ภิกษุนั้น เรียกว่าสติ. พระเถระย่อมทูลถามถึงอธิศีลสิกขาด้วยคำว่า ภิกษุนั้น สมาทานสิกขา อะไร? ทูลถามถึงอธิจิตสิกขาด้วยคำว่า มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ทูลถามถึงอธิปัญญาสิกขา ด้วยคำว่า มีปัญญารักษาตน. ทูลถามถึงความบริสุทธิ์แห่งสติด้วยคำว่า มีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นสมาทานสิกขาอะไร? จึงเป็นผู้มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น มีปัญญารักษาตน มีสติ.
ว่าด้วยการกำจัดมลทิน
[๙๒๒] คำว่า พึงกำจัดมลทินของตน เหมือนช่างทอง กำจัดมลทินแห่งทอง ฉะนั้น ความว่า คนทำทอง เรียกว่าช่างทอง. ทองคำเรียกว่าทอง. ช่างทองย่อมเป่า ไล่ กำจัดมลทิน อย่างหยาบแห่งทองบ้าง เป่า ไล่ กำจัด มลทินอย่างกลาง แห่งทองบ้าง เป่า ไล่ กำจัด มลทินอย่างละเอียดแห่งทองบ้าง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งกิเลสอย่างหยาบของตนบ้าง ซึ่งกิเลสอย่างกลาง ของตนบ้าง ซึ่งกิเลสอย่างละเอียดของตนบ้าง. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งมลทินคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต ของตน อันทำให้เป็นคนบอด ทำให้ไม่มีจักษุ ทำให้ไม่มีญาณ อันดับปัญญา อันเป็นไปในฝ่ายแห่งทุกข์ไม่ให้เป็นไปเพื่อนิพพาน. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งมิจฉาทิฏฐิ ด้วยสัมมาทิฏฐิ ซึ่งมิจฉา- *สังกัปปะ ด้วยสัมมาสังกัปปะ ซึ่งมิจฉาวาจา ด้วยสัมมาวาจา ซึ่งมิจฉากัมมันตะ ด้วยสัมมา- *กัมมันตะ ซึ่งมิจฉาอาชีวะ ด้วยสัมมาอาชีวะ ซึ่งมิจฉาวายามะ ด้วยสัมมาวายามะ ซึ่งมิจฉาสติ ด้วยสัมมาสติ ซึ่งมิจฉาสมาธิ ด้วยสัมมาสมาธิ ซึ่งมิจฉาญาณ ด้วยสัมมาญาณ ซึ่งมิจฉาวิมุติ ด้วยสัมมาวิมุติ. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุ ย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความ ไม่มี ซึ่งกิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความ เดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงกำจัด มลทินของตน เหมือนช่างทองกำจัดมลทินแห่งทองฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระ จึงทูลถามว่า ภิกษุนั้นสมาทานสิกขาอะไร? จึงเป็นผู้มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น มีปัญญารักษาตน มีสติ พึงกำจัดมลทินของตน เหมือนช่างทองกำจัด มลทินแห่งทอง ฉะนั้น. [๙๒๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้ว่า ดูกรสารีบุตร) เราจะกล่าวซึ่งความ ผาสุกและธรรมตามสมควรนั้น ของภิกษุผู้เกลียด ผู้ซ่องเสพ ที่นั่ง และที่นอนอันสงัด ผู้ปรารถนาสัมโพธิแก่ท่าน ตามที่รู้.
ว่าด้วยความผาสุก
[๙๒๔] คำว่า ผู้เกลียด ในคำว่า ความผาสุก ... ของ ภิกษุผู้เกลียด ความว่า ผู้เกลียด ผู้อึดอัด ผู้เอือมระอา ด้วยชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ฯลฯ ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่งทิฏฐิ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้เกลียด. คำว่า ความผาสุก ความว่า เราจักบอกความผาสุก คือ ความอยู่เป็นผาสุก ความอยู่เป็นผาสุกเป็นไฉน? ความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ความทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ความประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพานและปฏิปทาเครื่องให้ถึงนิพพาน นี้ชื่อว่าความอยู่เป็นผาสุก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความผาสุก ... ของภิกษุผู้เกลียด.
อธิบายคำว่า ภควา
[๙๒๕] คำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้ว่า ดูกรสารีบุตร ความว่า พระผู้มี พระภาคตรัสเรียกพระเถระนั้นโดยชื่อ. คำว่า ภควา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความเคารพ. อีกอย่าง หนึ่ง คำว่า ชื่อว่า ภควา เพราะอรรถว่า ทรงทำลายราคะ ทรงทำลายโทสะ ทรงทำลายโมหะ ทรงทำลายมานะ ทรงทำลายทิฏฐิ ทรงทำลายเสี้ยนหนาม ทรงทำลายกิเลส. เพราะอรรถว่า ทรง จำแนก ทรงจำแนกวิเศษ ทรงจำแนกเฉพาะ ซึ่งธรรมรัตนะ. เพราะอรรถว่า ทรงทำที่สุดแห่งภพ ทั้งหลาย. เพราะอรรถว่า มีพระกายอันอบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มี ปัญญาอันอบรมแล้ว. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงซ่องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าละเมาะและป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย ปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากคนผู้สัญจรไปมา เป็นที่ควรทำกรรมลับ ของมนุษย์ สมควรแก่วิเวก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วน แห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่ง อธิศีล อธีจิต อธิปัญญา อันมีอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภคว. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔ อรูปสมาบัติ ๔ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมี ส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ ๘ (ฌานเป็นที่ตั้งแห่งความครอบงำอารมณ์) อนุปุพพวิหาร- *สมาบัติ ๙ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณสมาบัติ ๑๐ อานาปานสติสมาธิ อสุภสมาบัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมี ส่วนแห่งตถาคตพลญาณ ๑๐ เวสารัชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. พระนามว่า ภควา นี้ พระมารดา พระบิดา พระภาดา พระภคินี มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต สมณพราหมณ์ เทวดา มิได้เฉลิมให้ พระนามว่า ภควา นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามมีในอรหัตผลในลำดับแห่งอรหัตมรรค) เป็นสัจฉิกา บัญญัติ พร้อมด้วยการทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงโพธิฤกษ์ ของพระผู้มีพระภาค ทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้ว่า ดูกรสารีบุตร. [๙๒๖] คำว่า ผู้ซ่องเสพที่นั่งและที่นอนอันสงัด ความว่า ที่ใดเป็นที่นั่ง คือ เตียง ตั่ง ฟูก เสื่อ ท่อนหนัง เครื่องลาดด้วยหญ้า เครื่องลาดด้วยใบไม้ เครื่องลาดด้วยฟาง เรียกว่าที่นั่ง. เสนาสนะ คือ วิหาร เรือนมีหลังคาแถบเดียว ปราสาท เรือนมีหลังคาโล้น ถ้ำ เรียกว่าที่นอน ที่นอนและที่นั่งอันสงัด ว่าง เงียบ สงัด จากการเห็นรูปไม่เป็นที่สบาย จากการได้ยินเสียงไม่เป็นที่สบาย ฯลฯ อันสงัด ว่าง เงียบสงัด จากเบญจกามคุณอันไม่เป็น ที่สบายผู้ซ่องเสพ อาศัยซ่องเสพ ซ่องเสพเสมอ ซ่องเสพเฉพาะ ซึ่งที่นอนและที่นั่งอันสงัด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ซ่องเสพที่นั่งและที่นอนอันสงัด.
ว่าด้วยสัมโพธิและธรรมอันควรแก่สัมโพธิ
[๙๒๗] คำว่า ผู้ปรารถนาสัมโพธิ ... และซึ่งธรรมอันสมควร ความว่า ญาณ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ ในมรรค ๔ เรียกว่า สัมโพธิ. ผู้ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้ ปรารถนาเพื่อจะตามตรัสรู้ ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้เฉพาะ ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้พร้อม ปรารถนาเพื่อจะบรรลุ ปรารถนา เพื่อจะถูกต้อง ปรารถนาเพื่อจะทำให้แจ้ง ซึ่งสัมโพธินั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ปรารถนา สัมโพธิ. คำว่า ซึ่งธรรมอันสมควร ความว่า ธรรมอันสมควรต่อโพธิเป็นไฉน? ความปฏิบัติ ชอบ ความปฏิบัติอันสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ความเป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ความประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ ตื่น สติสัมปชัญญะ ธรรมเหล่านี้ เรียกว่า ธรรมอันสมควรต่อโพธิ. อีกอย่างหนึ่ง วิปัสสนา ในส่วนเบื้องต้นแห่งมรรค ๔ เรียกว่า ธรรมอันสมควรต่อโพธิ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ ปรารถนาสัมโพธิ และซึ่งธรรมตามสมควร [๙๒๘] คำว่า นั้น ในคำว่า เราจักกล่าว ... นั้น แก่ท่าน ตามที่รู้ ความว่า ธรรม อันสมควรแก่โพธิ. คำว่า เราจักกล่าว ความว่า จักบอกกล่าว ชี้แจง แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ประกาศ. คำว่า ตามที่รู้ คือ เรารู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอด อย่างไร? จักกล่าวซึ่งธรรมที่ประจักษ์แก่ตน อันตนรู้ยิ่งเอง มิใช่โดยต้องเชื่อต่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้ เป็นดังนี้ ธรรมนี้เป็นดังนี้ มิใช่โดยอ้างตำรา มิใช่โดยนึกเดาเอาเอง มิใช่โดยคาดคะเนเอาเอง มิใช่โดยตรึกตามอาการ มิใช่โดยเห็นว่าควรแก่ลัทธิของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราจักกล่าว ... นั้นแก่ท่าน ตามที่รู้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้ว่า ดูกรสารีบุตร) เราจักกล่าวซึ่งความ ผาสุก และธรรมตามสมควรนั้น ของภิกษุผู้เกลียด ผู้ซ่องเสพที่นั่ง และที่นอนอันสงัด ผู้ปรารถนาสัมโพธิแก่ท่าน ตามที่รู้. [๙๒๙] ภิกษุผู้เป็นธีรชน มีสติ ประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบ ไม่พึงกลัว ต่อภัย ๕ ประการ คือ ตัวเหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน สัมผัสแต่มนุษย์ และภัยแต่สัตว์สี่เท้า.
ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นธีรชน
[๙๓๐] คำว่า ผู้เป็นธีรชน ในคำ ผู้เป็นธีรชน ... ไม่พึงกลัวต่อภัย ๕ ประการ ความว่า ผู้เป็นธีรชน เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มี ปัญญาทำลายกิเลส ไม่พึงกลัว ไม่พึงสะดุ้ง ไม่พึงหวาดเสียวไม่พึงครั่นคร้าม ไม่พึงถึงความ สยดสยอง ต่อภัย ๕ ประการ คือ เป็นผู้ไม่ขลาด ไม่ครั่นคร้าม ไม่หวาดเสียว ไม่หนี เป็น ผู้ละ ความกลัวความขลาดเสียแล้ว ปราศจากความเป็นผู้มีขนลุกอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ เป็นธีรชน ... ไม่พึงกลัวต่อภัย ๕ ประการ. [๙๓๑] คำว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุ ... มีสติ ประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบ คือ ภิกษุที่เป็นกัลยาณปุถุชน หรือภิกษุที่เป็นพระเสขะ คำว่า มีสติ ความว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ เมื่อเจริญสติปัฏฐานคือพิจารณาเห็นกายในกาย ก็ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติ ปัฏฐานคือพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ก็ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานคือพิจารณา เห็นจิตในจิต ก็ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานคือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ก็ชื่อว่า มีสติ ภิกษุนั้นท่านเรียกว่า เป็นผู้มีสติ. ธรรมเป็นส่วนสุดรอบในคำว่า ประพฤติธรรมเป็น ส่วนสุดรอบ มี ๔ ประการ คือ ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือ ศีลสังวร ๑ ธรรมเป็นส่วนสุด รอบคืออินทรียสังวร ๑ ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตา ๑ ธรรมเป็นส่วนสุด รอบคือชาคริยานุโยค ๑. ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือศีลสังวรเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวม อยู่ในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณ น้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย พิจารณาถึงความเสีย ณ ภายใน ชื่อว่าประพฤติ ในธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือศีลสังวร ณ ภายใน มิได้ทำลายศีลอันเป็นเขตแดน นี้ชื่อว่า ธรรม เป็นส่วนสุดรอบคือศีลสังวร. ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคืออินทรียสังวรเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุ แล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยกาย รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติ เพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและ โทมนัสครอบงำนั้น ย่อมรักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ พิจารณาอาทิตต- *ปริยายเทศนา ชื่อว่าประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบคืออินทรียสังวรในภายใน มิได้ทำลาย อินทรียสังวรอันเป็นเขตแดน นี้ชื่อว่าธรรมเป็นส่วนสุดรอบคืออินทรียสังวร. ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณา โดยอุบายอันแยบคายแล้ว ฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อความตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อจะให้กายนี้เป็นไป เพื่อเว้นความลำบาก แห่งกายนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะบำบัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนา ใหม่เกิดขึ้น และความดำเนินของเรา ความที่เราไม่มีโทษ ความอยู่สบายของเราจักมี ดังนี้ อย่างเดียวเท่านั้น พิจารณาอาหารเปรียบด้วยน้ำมันสำหรับหยอดเพลาเกวียน ผ้าสำหรับปิดแผล และเนื้อบุตร (ของคนที่เดินทางกันดาร) ชื่อว่าประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัต- *ตัญญุตา ย่อมไม่ทำลายโภชเนมัตตัญญุตาอันเป็นเขตแดนในภายใน นี้ชื่อว่า ธรรมเป็นส่วนสุด รอบ คือโภชเนมัตตัญญุตา. ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยคเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้ บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกั้นกาง ด้วยการเดิน การนั่งตลอดวัน ย่อมชำระจิตให้ บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกั้นกาง ด้วยการเดินการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี ย่อม สำเร็จสีหไสยา (นอนอย่างราชสีห์) โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ใส่ใจถึงสัญญาในความลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกั้นกาง ด้วยการเดิน การนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี พิจารณา ถึงความอยู่แห่งบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ ชื่อว่าประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยค ในภายใน ย่อมไม่ทำลายชาคริยานุโยคอันเป็นเขตแดน นี้ชื่อว่า ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือ ชาคริยานุโยค เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ ... มีสติ ประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบ.
ลักษณะตัวเหลือบเป็นต้น
[๙๓๒] แมลงมีตาเหลือง เรียกว่าเหลือบ ในคำว่า ตัวเหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์ เลื้อยคลาน. แมลงวันแม้ทั้งปวง เรียกว่าสัตว์ไต่ตอม. เหตุไรแมลงวันแม้ทั้งปวง จึงเรียกว่า สัตว์ไต่ตอม. สัตว์เหล่านั้น ย่อมบิน ตอม กัดกิน เหตุนั้น จึงเรียกว่า สัตว์ไต่ตอม. งูทั้งหลาย เรียกว่า สัตว์เลื้อยคลาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ตัวเหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน. [๙๓๓] คำว่า สัมผัสแต่มนุษย์ และภัยแต่สัตว์ ๔ เท้า ความว่า พวกโจร คนที่ทำ กรรมชั่ว หรือคนที่เตรียมทำกรรมชั่ว เรียกว่า สัมผัสแต่มนุษย์. มนุษย์เหล่านั้น พึงถามปัญหาบ้าง พึงยกวาทะกะภิกษุบ้าง พึงด่า ค่อนว่า แช่ง เสียดสี เบียดเบียน ยำยี กดขี่ ข่มเหง ฆ่า เข้าไปฆ่า หรือทำความพยายาม ฆ่า ความกระทบกระทั่งแต่มนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สัมผัส แต่มนุษย์. คำว่า ภัยแต่สัตว์ ๔ เท้า ความว่า ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า โค กระบือ ช้าง. สัตว์ ๔ เท้าเหล่านั้น พึงย่ำยี กัดกิน เบียดเบียน รังแก กดขี่ ข่มเหง ฆ่า เข้าไปฆ่า ทำความพยายามฆ่าภิกษุ ความกระทบกระทั่งแต่สัตว์ ๔ เท้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ภัยแต่สัตว์ ๔ เท้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัมผัสแต่มนุษย์และภัยแต่สัตว์ ๔ เท้า. เพราะ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุผู้เป็นธีรชน มีสติ ประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบ ไม่พึงกลัวภัย ๕ ประการ คือ ตัวเหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน สัมผัสแต่ มนุษย์ และภัยแต่สัตว์ ๔ เท้า. [๙๓๔] ภิกษุไม่พึงหวาดเสียวแม้ต่อคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่น แม้เห็นอารมณ์อัน ให้เกิดความขลาดมากของคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่นนั้น ก็ไม่พึงหวาดเสียว อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้แสวงหากุศล พึงย่ำยีอันตรายอื่นๆ.
ว่าด้วยสหธรรมิก
[๙๓๕] คำว่า ภิกษุไม่พึงหวาดเสียวแม้ต่อคนที่ทั้งอยู่ในธรรมอื่น แม้เห็นอารมณ์อันให้ เกิดความขลาดมาก ของคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่นนั้น ก็ไม่พึงหวาดเสียว ความว่า เว้นสหธรรมิกชน ๗ จำพวก (คือภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา) คนเหล่าใด เหล่าหนึ่งผู้ไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ไม่เลื่อมใสในพระธรรม ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ เรียกว่า คนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่น. คนพวกนั้นถามปัญหาบ้าง พึงยกวาทะกะภิกษุบ้าง พึงด่า ค่อนว่า แช่ง เสียดสี เบียดเบียน ย่ำยี กดขี่ ข่มเหง ฆ่า เข้าไปฆ่า ทำความพยายามฆ่า ภิกษุเห็นหรือได้ ยินอารมณ์อันให้เกิดความขลาดเป็นอันมากของคนเหล่านั้นแล้ว ไม่พึงหวั่นไหวสะทกสะท้าน ไม่พึงสะดุ้งดิ้นรนหวาดเสียวครั่นคร้าม ไม่พึงกลัว ไม่พึงถึงความสยดสยอง คือ เป็นผู้ไม่ขลาด ไม่ครั่นคร้าม ไม่หวาดเสียว ไม่หนีไป เป็นผู้ละความกลัว ความขลาดเสียแล้ว ปราศจาก ความเป็นผู้มีขนลุกอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงหวาดเสียวแม้ต่อคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่น แม้เห็นอารมณ์อันให้เกิดความขลาดมากของคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่นนั้น ก็ไม่พึงหวาดเสียว.
อันตราย ๒ อย่าง
[๙๓๖] คำว่า อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้ตามแสวงหากุศล พึงย่ำยีอันตรายอื่น ความว่า อนึ่ง อันตรายแม้เหล่าอื่น อันภิกษุทั้งหลายผู้ตามแสวงหากุศล พึงย่ำยี ครอบงำ ข่มขี่ กำจัด ขับไล่ มีอยู่. ชื่อว่าอันตราย ได้แก่อันตราย ๒ อย่าง คือ อันตรายที่ปรากฏ ๑ อันตรายที่ปกปิด ๑ ฯลฯ เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายแม้อย่างนี้ ชื่อว่าอันตราย. คำว่า ภิกษุ ทั้งหลายผู้ตามแสวงหากุศล ความว่า อันตรายทั้งหลายอันผู้แสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งความ ปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และปฏิปทาเครื่องให้ถึงนิพพาน พึงย่ำยี ครอบงำ ข่มขี่ กำจัด ขับไล่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้ตามแสวงหากุศล พึงย่ำยีอันตรายอื่น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุไม่พึงหวาดเสียวแม้ต่อคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่น แม้เห็นอารมณ์อันให้ เกิดความขลาดมากของคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่นนั้น ก็ไม่พึงหวาดเสียว อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้ตามแสวงหากุศล พึงย่ำยีอันตรายอื่น. [๙๓๗] ภิกษุถูกผัสสะคือโรคและความหิวกระทบแล้ว พึงอดทนความหนาว และความร้อน ภิกษุนั้นอันผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้วโดยอาการมาก อย่าง เป็นผู้ไม่เปิดโอกาส พึงทำความบากบั่น คือความเพียรให้มั่นไว้. [๙๓๘] คำว่า ภิกษุถูกผัสสะคือโรคและความหิวกระทบแล้ว ความว่า ความกระทบ คือโรค เรียกว่า ผัสสะคือโรค. ภิกษุเป็นผู้อันผัสสะคือโรคกระทบ ถูกต้อง ตั้งลง ครอบงำ คือ เป็นผู้อันโรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย ฯลฯ สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานกระทบเข้า ถูกต้อง ตั้งลง ครอบงำแล้ว. ความอยากกิน เรียกว่าความหิว. ภิกษุเป็นผู้อันความหิวกระทบเข้า ถูกต้อง ตั้งลง ครอบงำแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ ถูกผัสสะคือโรคและความหิวกระทบแล้ว.
ความหนาวมีด้วยเหตุ ๒ อย่าง
[๙๓๙] คำว่า ความหนาว ในคำว่า พึงอดทนความหนาวและความร้อน ความว่า ความหนาวย่อมมีด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ความหนาวย่อมมีด้วยสามารถแห่งอาโปธาตุภายในกำเริบ ๑ ความหนาวย่อมมีด้วยสามารถแห่งฤดูภายนอก ๑. คำว่า ความร้อน ความว่า ความร้อนย่อมมี ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ความร้อนย่อมมีด้วยสามารถแห่งเตโชธาตุภายในกำเริบ ๑ ความร้อนย่อม มีด้วยสามารถแห่งฤดูภายนอก ๑. คำว่า พึงอดทนความหนาวและความร้อน ความว่า ภิกษุพึง เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน พึงเป็นผู้มีปกติอดกลั้นต่อทางถ้อยคำที่เขากล่าวชั่ว มาร้าย และ ทุกขเวทนาอันเกิดขึ้นในสรีระที่กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สบาย ไม่ชอบใจ สามารถนำชีวิตไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงอดทนความหนาวและความร้อน. [๙๔๐] คำว่า ภิกษุนั้นอันผัสสะเหล่านั้น ในคำว่า ภิกษุนั้นอันผัสสะเหล่านั้นกระทบ แล้วโดยอาการมากอย่าง เป็นผู้ไม่เปิดโอกาส ความว่า ภิกษุนั้น เป็นผู้อันผัสสะคือโรค ความหิว ความหนาว และความร้อนกระทบเข้า ถูกต้อง ตั้งลง ครอบงำแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้น อันผัสสะเหล่านั้นกระทบเข้าแล้ว. คำว่า โดยอาการมากอย่าง ความว่า กระทบเข้า ถูกต้อง ตั้งลง ครอบงำ โดยอาการมีชนิดเป็นอเนก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้น อันผัสสะ เหล่านั้นกระทบเข้าแล้วโดยอาการมากอย่าง. คำว่า เป็นผู้ไม่เปิดโอกาส ความว่า ย่อมไม่ทำโอกาส แก่วิญญาณอันสหรคตด้วยอภิสังขาร แม้เพราะเหตุดังนี้ จึงชื่อว่า ไม่เปิดโอกาส. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุย่อมไม่ทำโอกาสแก่กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แม้เพราะเหตุดังนี้ จึงชื่อว่า ไม่เปิด โอกาส เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้น อันผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้วโดยอาการมากอย่าง เป็นผู้ไม่เปิดโอกาส.
ว่าด้วยการทำความบากบั่น
[๙๔๑] คำว่า พึงทำความบากบั่นคือความเพียรให้มั่นไว้ ความว่า ความปรารภความ เพียร ความก้าวหน้าไป ความบากบั่น ความดำเนินไป ความพยายาม ความอุตสาหะ ความหมั่น ความไม่ถอยหลัง ความออกแรง ความตั้งไว้ ความบากบั่นคือไม่ย่อหย่อน ความไม่ปลงฉันทะ ความไม่ทอดธุระ ความประคองธุระ วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ ที่เป็นไปทาง จิต เรียกว่า ความบากบั่นคือความเพียร. ภิกษุพึงทำความบากบั่นคือความเพียรให้มั่นไว้ คือ พึง เป็นผู้สมาทานมั่น มีสมาทานตั้งลงมั่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงทำความบากบั่นคือความเพียร ให้มั่นไว้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุถูกผัสสะคือโรคและความหิวกระทบแล้ว พึงอดทนความหนาว และความร้อน ภิกษุนั้น อันผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้วโดยอาการ มากอย่าง เป็นผู้ไม่เปิดโอกาส พึงทำความบากบั่นคือความเพียรให้ มั่นไว้. [๙๔๒] ภิกษุไม่พึงทำความเป็นขโมย ไม่พึงพูดเท็จ พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งที่ สะดุ้งและผู้มั่นคง เมื่อใด ภิกษุพึงรู้ความขุ่นใจ เมื่อนั้น พึงบรรเทา เสียด้วยมนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ. [๙๔๓] คำว่า ภิกษุไม่พึงทำความเป็นขโมย ในคำว่า ภิกษุไม่พึงทำความเป็นขโมย ไม่พึงพูดเท็จ ความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอทินนาทาน เป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เขาให้ หวังได้แต่ของที่เขาให้ พึงเป็นผู้มีจิตไม่เป็นขโมยเป็นจิตสะอาดอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงทำความเป็นขโมย. คำว่า ไม่พึงพูดเท็จ ความว่า ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท คือ พูดจริง ดำรงคำสัตว์ มีถ้อยคำมั่นคงเชื่อถือได้ ไม่พูดให้เคลื่อนคลาดแก่โลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงทำความเป็นขโมย ไม่พึงพูดเท็จ.
การแผ่เมตตา
[๙๔๔] ชื่อว่าเมตตา ในคำว่า พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งที่สะดุ้งและผู้มั่นคง คือ ความ ไมตรี กิริยาที่รัก ความเป็นผู้มีความรัก ความเอ็นดู กิริยาที่เอ็นดู ความเป็นผู้เอ็นดู ความ แสวงหาประโยชน์ ความอนุเคราะห์ ความไม่พยาบาท ความไม่ปองร้าย ความไม่โกรธ กุศลมูล. สัตว์เหล่าใดยังละตัณหาอันทำให้สะดุ้งไม่ได้ และยังละความกลัวและความขลาดไม่ได้ สัตว์ เหล่านั้นชื่อว่าผู้สะดุ้ง. เพราะเหตุอะไร สัตว์เหล่านั้น จึงเรียกว่าผู้สะดุ้ง สัตว์เหล่านั้น ย่อม สะดุ้งหวาดเสียว ครั่นคร้าม กลัวถึงความสยดสยอง เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงเรียกว่า ผู้สะดุ้ง. สัตว์เหล่าใดละตัณหาอันทำให้สะดุ้งได้แล้ว และละความกลัวและความขลาดได้แล้ว สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าผู้มั่นคง. เพราะเหตุไร สัตว์เหล่านั้นจึงเรียกว่าผู้มั่นคง. สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่ สะดุ้ง ไม่หวาดเสียว ไม่ครั่นคร้ามไม่กลัว ไม่ถึงความสยดสยอง เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้น จึงเรียกว่าผู้มั่นคง. คำว่า พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งที่สะดุ้งและผู้มั่นคง ความว่า พึงถูกต้อง พึงแผ่เมตตา คือ พึงเป็นผู้มิจิตสหรคตด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่พยายาม แผ่ไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงแผ่เมตตา ไปยังสัตว์ทั้งที่สะดุ้งและผู้มั่นคง.
คำว่าใจมีชื่อต่างๆ
[๙๔๕] คำว่า เมื่อใด ในคำว่า เมื่อใด ภิกษุพึงรู้ความขุ่นใจ ความว่า ในกาลใด. คำว่า ใจ คือ จิต ใจ มานัส หทัย บัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุอันเกิดแต่ผัสสะเป็นต้นนั้น. จิตเป็นธรรมชาติขุ่นมัว เศร้าหมอง ยุ่ง วุ่น หวั่นไหว หมุนไป ไม่สงบ เพราะกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความหัวดื้อ ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อน ทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง. คำว่า เมื่อใด ภิกษุพึงรู้ความขุ่นใด ความว่า ภิกษุพึงรู้ รู้ทั่ว รู้วิเศษ รู้วิเศษเฉพาะ แทงตลอดความที่จิตขุ่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อใด ภิกษุพึงรู้ความ ขุ่นใจ.
บรรเทาความขุ่นใจด้วยมนสิการ
[๙๔๖] ผู้ให้สัตว์ตาย ผู้มีกรรมดำ เป็นผู้ใหญ่ ผู้ให้สัตว์ถึงความตาย ผู้ไม่ให้สัตว์ พ้นไป ผู้เป็นเผ่าพันธ์แห่งผู้ประมาท ชื่อว่าผู้มีกรรมดำ ในคำว่า เมื่อนั้น พึงบรรเทาเสียด้วย มนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ. คำว่า เมื่อนั้น พึงบรรเทาเสียด้วยมนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ. คำว่า พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีด้วยมนสิ- *การว่า นี่เป็นฝักฝ่ายผู้มีกรรมดำ เป็นฝักฝ่ายมาร เป็นบ่วงมาร เป็นเบ็ดมาร เป็นเหยื่อมาร เป็น วิสัยมาร เป็นเครื่องให้เดือดร้อนของมาร เป็นอาหารมาร เป็นเครื่องผูกของมาร แม้ด้วยเหตุ อย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เมื่อนั้น พึงบรรเทาเสียด้วยมนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ. อีกอย่างหนึ่ง พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ความไม่มี ด้วยมนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายผู้มี กรรมดำ เป็นฝักฝ่ายมาร เป็นฝักฝ่ายอกุศล เป็นเครื่องให้เกิดทุกข์ เป็นสภาพมีวิบากเป็นทุกข์ เป็นเหตุให้เป็นไปในนรก เป็นเหตุให้เป็นไปในกำเนิดดิรัจฉาน เป็นเหตุให้เป็นไปในเปรตวิสัย แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เมื่อนั้น พึงบรรเทาเสียด้วยมนสิกาว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้ มีกรรมดำ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุไม่พึงทำความเป็นขโมย ไม่พึงพูดเท็จ พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งที่ สะดุ้งและผู้มั่นคง เมื่อใด ภิกษุพึงรู้ความขุ่นใจ เมื่อนั้น พึงบรรเทา เสียด้วยมนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ. [๙๔๗] ภิกษุไม่พึงลุอำนาจแห่งความโกรธและความดูหมิ่น พึงขุดรากความโกรธ และความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่ อนึ่ง ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและที่ เกลียดชังเสียโดยแท้.
ความโกรธและความดูหมิ่น
[๙๔๘] ชื่อว่า ความโกรธ ในคำว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น คือ ความอาฆาต ความมุ่งร้าย ฯลฯ ความเป็นผู้ดุร้าย ความเพาะวาจาชั่ว ความไม่แช่มชื่นแห่ง จิต. ชื่อว่า ความดูหมิ่น คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมดูหมิ่นผู้อื่น โดยชาติบ้าง โดยโคตร บ้าง ฯลฯ โดยวัตถุอื่นๆ บ้าง. คำว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น ความว่า ไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น คือ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่ง ความโกรธและความดูหมิ่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น.
รากของความโกรธและความดูหมิ่น
[๙๔๙] รากแห่งความโกรธ ในคำว่า พึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นนั้นดำรง อยู่เป็นไฉน? อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิมานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ (แต่ละอย่าง) เป็นรากแห่งความโกรธ. รากแห่งความดูหมิ่นเป็นไฉน? อวิชชา อโยนิโสมน- *สิการ อัสมิมานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ (แต่ละอย่าง) เป็นรากแห่งความดูหมิ่น. คำว่า พึงขุดรากความโกรธ และความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่ ความว่า พึงขุด รื้อ ถอน ฉุด กระชาก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งรากความโกรธและความดูหมิ่นเสีย ดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่.
ว่าด้วยที่รัก ๒ อย่าง
[๙๕๐] บทว่า อถ ในคำว่า อนึ่ง ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและที่เกลียดชังเสีย โดยแท้ เป็นบทสนธิ เป็นบทอุปสรรค เป็นบทปทปูรณะ เป็นศัพท์ประชุมอักขระ เป็นศัพท์ สละสลวยด้วยพยัญชนะ เป็นลำดับบท. ชื่อว่าที่รัก ได้แก่ ที่รัก ๒ อย่าง คือ สัตว์ ๑ สังขาร ๑. สัตว์เป็นที่รักเป็นไฉน? สัตว์ในโลกนี้เป็นผู้ปรารถนาความเจริญ ปรารถนาประโยชน์ เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส แก่บุคคลนั้น คือ เป็นมารดา บิดา พี่ชายน้องชาย พี่หญิงน้องหญิง บุตร ธิดา มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต (ผู้สืบสาย) สัตว์เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นที่รัก. สังขารเป็นที่รักเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ สังขารเหล่านี้ชื่อว่าเป็นที่รัก. ชื่อว่าที่เกลียดชัง ได้แก่ ที่เกลียด ชัง ๒ อย่าง คือ สัตว์ ๑ สังขาร ๑ สัตว์เป็นที่เกลียดชังเป็นไฉน? สัตว์ในโลกนี้ เป็นผู้ ไม่ปรารถนาความเจริญ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่ปลอดโปร่งจากโยคกิเลส ปรารถนาจะปลงเสียจากชีวิต แก่บุคคลนั้น สัตว์ เหล่านี้ชื่อว่า เป็นที่เกลียดชัง. สังขารเป็นที่เกลียดชังเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันไม่เป็นที่ชอบใจ สังขารเหล่านี้ชื่อว่า เป็นที่เกลียดชัง. คำว่า โดยแท้ เป็น คำกล่าวโดยส่วนเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความสงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความเคลือบแคลง เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองส่วน เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองอย่าง เป็นคำกล่าวมิได้รวมกัน เป็นคำ กล่าวไม่ผิด. คำว่า โดยแท้นี้ เป็นคำกล่าวกำหนดแน่. คำว่า อนึ่ง ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบ ที่รักและที่เกลียดชังเสียโดยแท้ ความว่า ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบ เมื่อย่ำยีก็พึงย่ำยีซึ่งที่รัก และที่เกลียดชัง ที่ยินดีและยินร้าย สุขและทุกข์ โสมนัสและโทมนัส อิฏฐารมณ์และ อนิฏฐารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อนึ่ง ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและที่เกลียดชังเสีย โดยแท้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจแห่งความโกรธและความดูหมิ่น พึงขุดรากความ โกรธและความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่ อนึ่ง ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและ ที่เกลียดชังเสียโดยแท้. [๙๕๑] ภิกษุทำปัญญาไว้เบื้องหน้า มีปีติงาม พึงข่มอันตรายเหล่านั้น พึง ปราบความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด พึงปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่ง ความรำพัน ๔ อย่าง.
ว่าด้วยการทำปัญญาไว้เบื้องหน้าและมีปีติงาม
[๙๕๒] ชื่อว่า ปัญญา ในคำว่า ภิกษุทำปัญญาไว้เบื้องหน้า มีปีติงาม ได้แก่ ความรู้ ทั่ว ความรู้ชัด ความเลือกเฟ้น ความเลือกเฟ้นทั่ว ความเลือกเฟ้นธรรม ฯลฯ อโมหะ ธรรมวิจยะ สัมมาทิฏฐิ. คำว่า ทำปัญญาไว้เบื้องหน้า ความว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ทำปัญญาไว้เบื้องหน้าประพฤติ เป็นผู้มีปัญญาเป็นธงชัย มีปัญญาเป็นยอดธง มีปัญญาเป็นใหญ่ มีความเลือกเฟ้นมาก มีความเลือกเฟ้นทั่วมาก มีปัญญาเครื่องเห็นมาก มีความเสาะหามาก อยู่ด้วยความเป็นผู้ทำให้แจ่มแจ้ง ประพฤติด้วยปัญญา มีปัญญามาก ตระหนักอยู่ด้วยปัญญา เอนไปในปัญญา โอนไปในปัญญา โน้มไปในปัญญา น้อมไปในปัญญา มีปัญญานั้นเป็นใหญ่ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า ทำปัญญาไว้เบื้องหน้า. อนึ่ง ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ว่า เดิน เมื่อ ยืนก็รู้ว่า ยืน เมื่อนั่งก็รู้ว่า นั่ง หรือเมื่อนอนก็รู้ว่า นอน หรือว่ากายของเธอตั้งอยู่อย่าง ใดๆ ภิกษุนั้นก็รู้กายนั้นอย่างนั้นๆ แม้เพราะเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า ทำปัญญาไว้เบื้อง หน้า. อนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ทำความรู้สึกตัวในการ แล ในการเหลียว ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ทำความรู้สึกตัวในการครอง สังฆาฏิ บาตรและจีวร ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ทำความรู้สึก ตัวในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า ทำปัญญาไว้เบื้องหน้า. คำว่า มีปีติงาม ความว่า ปีติ ปราโมทย์ ที่เกิดขึ้นด้วยความสามารถแห่งพุทธานุสสติ ชื่อว่าปีติงาม ปีติ ปราโมทย์ ที่เกิดขึ้นด้วยสามารถธรรมานุสสติ ... สังฆานุสสติ ... สีลานุสสติ ... จาคานุสสติ ... เทวตานุสสติ ... อานาปาณสติ ... มรณานุสสติ ... กายคตาสติ ... อุปสมานุสสติ ชื่อว่าปีติ งาม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุทำปัญญาไว้เบื้องหน้า มีปีติงาม.
ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
[๙๕๓] ชื่อว่า อันตราย ในคำว่า พึงข่มอันตรายเหล่านั้น ได้แก่ อันตราย ๒ อย่าง คือ อันตรายปรากฏ ๑ อันตรายปกปิด ๑ ฯลฯ อันตรายเหล่านี้ชื่อว่าอันตรายปรากฏ ฯลฯ อันตรายเหล่านี้ชื่อว่าอันตรายที่ปกปิด ฯลฯ เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย แม้อย่างนี้ จึงชื่อว่า อันตราย. คำว่า พึงข่มอันตรายเหล่านั้น ความว่า พึงข่ม ปราบปราม ครอบงำ กำจัด ย่ำยี ซึ่งอันตรายเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงข่มอันตรายเหล่านั้น เสีย. [๙๕๔] ชื่อว่า ความไม่ยินดี ในคำว่า พึงปราบความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด คือ ความไม่ยินดี ความไม่ชอบใจ ความไม่ยินดียิ่ง ความไม่ยินดีเฉพาะ ความเบื่อ ความระอา. คำว่า ในที่นอนอันสงัด ความว่า พึงปราบ ข่ม ครอบงำ กำจัด ย่ำยี ซึ่งความไม่ยินดีใน เสนาสนะอันสงัด หรือในธรรมทั้งหลาย อันเป็นอธิกุศลอื่นๆ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึง ปราบความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด. [๙๕๕] คำว่า พึงปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความรำพัน ๔ อย่าง ความว่า พึงปราบ ข่ม ครอบงำ กำจัด ย่ำยี ซึ่งธรรมอันเป็นเหตุแห่งความรำพัน ๔ อย่าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อ ว่า พึงปราบธรรมอันเป็นเหตุแห่งความรำพัน ๔ อย่าง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสว่า ภิกษุทำปัญญาไว้เบื้องหน้า มีปีติงาม พึงข่มอันตรายเหล่านั้น พึงปราบ ความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด พึงปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความ รำพัน ๔ อย่าง. [๙๕๖] เราจักฉันอะไร? เราจักฉันที่ไหน? วันนี้เรานอนลำบากหนอ พรุ่งนี้ เราจักนอนที่ไหน? ภิกษุผู้เสขะ พึงบำบัดเสียซึ่งวิตกเหล่านี้อันเป็นที่ ตั้งแห่งความรำพัน พึงเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป.
ว่าด้วยความวิตกอันเป็นที่ตั้งความรำพัน
[๙๕๗] คำว่า เราจักฉันอะไร? ในคำว่า เราจักฉันอะไร? เราจักฉันที่ไหน? ความว่า เราจักฉันอะไร คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา หรือเนื้อ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราจักฉันอะไร คำว่า เราจักฉันที่ไหน ความว่า เราจักฉันที่ไหน คือ ในสกุล กษัตริย์ สกุลพราหมณ์ สกุลแพศย์ หรือสกุลศูทร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราจักฉันอะไร เราจักฉันที่ไหน. [๙๕๘] คำว่า วันนี้เรานอนลำบากหนอ พรุ่งนี้เราจักนอนที่ไหน? ความว่า คืนนี้ เรานอนลำบากบนแผ่นกระดาน บนเสื่อ บนท่อนหนัง บนเครื่องลาดด้วยหญ้า บนเครื่อง ลาดด้วยใบไม้ หรือบนเครื่องลาดด้วยฟาง คืนพรุ่งนี้ เราจักนอนสบายที่ไหน คือ ที่เตียง ที่ตั่ง ที่ฟูก ที่หมอน ที่วิหาร ที่เรือนมีหลังคาแถบเดียว ที่ปราสาท ที่เรือนมีหลังคาโล้น หรือ ที่ถ้ำ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วันนี้เรานอนลำบากหนอ พรุ่งนี้เราจักนอนที่ไหน [๙๕๙] คำว่า ซึ่งวิตกเหล่านี้อันเป็นที่ตั้งแห่งความรำพัน ความว่า ซึ่งวิตกอันปฏิสังยุต ด้วยบิณฑบาต ๒ อย่าง ซึ่งวิตกอันปฏิสังยุตด้วยเสนาสนะ ๒ อย่าง อันเป็นที่ตั้งแห่งความ รำพัน คือ เป็นฐานแห่งความปรับทุกข์ เป็นมูลฐานแห่งความรำพัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ซึ่งวิตกเหล่านี้อันเป็นที่ตั้งแห่งความรำพัน.
อธิบายคำว่าเสขะและคำว่าศึกษา
[๙๖๐] ชื่อว่า เสขะ ในคำว่า ภิกษุผู้เสขะพึงบำบัดเสีย พึงเป็นผู้ไม่มีกังวล ท่องเที่ยวไป ความว่า เพราะเหตุไรจึงเรียกว่า เสขะ เพราะศึกษา จึงชื่อว่า เสขะ. ศึกษา อะไร? ศึกษาอธิศีลบ้าง ศึกษาอธิจิตบ้าง ศึกษาอธิปัญญาบ้าง. อธิศีลสิกขาเป็นไฉน ฯลฯ นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา. ภิกษุคำนึงถึงสิกขา สมมตินี้ ก็ชื่อว่าศึกษา รู้ก็ชื่อว่าศึกษา เห็นก็ชือ ว่าศึกษา พิจารณาก็ชื่อว่าศึกษา ตั้งจิตก็ชื่อว่าศึกษา น้อมใจไปด้วยศรัทธาก็ชื่อว่าศึกษา ประคอง ความเพียรก็ชื่อว่าศึกษา เข้าไปตั้งสติก็ชื่อว่าศึกษา ตั้งจิตไว้ก็ชื่อว่าศึกษา รู้ชัดด้วยปัญญาก็ชื่อ ว่าศึกษา รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งก็ชื่อว่าศึกษา กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ก็ชื่อว่าศึกษา ละธรรม ที่ควรละก็ชื่อว่าศึกษา ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งก็ชื่อว่าศึกษา เจริญธรรมที่ควรเจริญก็ชื่อ ว่าศึกษา คือ ย่อมประพฤติเอื้อเฟื้อ ย่อมประพฤติเอื้อเฟื้อด้วยดี ย่อมสมาทานศึกษา เพราะ เหตุนั้น จึงเรียกว่า เสขะ. ภิกษุผู้เสขะศึกษาแม้อธิศีล แม้อธิจิต แม้อธิปัญญา เพื่อบำบัด กำจัด ละเว้น สงบ สละคืน ระงับเสีย ภิกษุผู้เสขะเมื่อนึกถึงสิกขา ๓ นี้ก็พึงศึกษา เมื่อรู้ ก็พึงศึกษา ฯลฯ เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งก็พึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อด้วยดี สมาทานประพฤติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุผู้เสขะพึงบำบัดเสีย.
ว่าด้วยการเที่ยวไปอย่างไม่มีกังวล
[๙๖๑] คำว่า พึงเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป ความว่า ภิกษุเป็นผู้มีกังวลท่องเที่ยว ไปอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ประกอบด้วยความกังวลสกุล ด้วยความกังวลคณะ ด้วยความกังวลอาวาส ด้วยความกังวลจีวร ด้วยความกังวลบิณฑบาต ด้วยความกังวลเสนาสนะ ด้วยความกังวลคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุเป็นผู้มีกังวลท่องเที่ยวไปอย่างนี้. ภิกษุเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไปอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้ประกอบด้วย ความกังวลสกุล ไม่เป็นผู้ประกอบด้วยความกังวลคณะ อาวาส จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไปอย่างนี้. สมจริงดังภาษิตว่า ภิกษุทั้งหลายไปมคธรัฐ ไปโกศลรัฐ มีอยู่ ภิกษุที่ไปมคธรัฐบางพวก เที่ยวไปต่างหมู่ แต่วัชชีภูมิ เป็นผู้ไม่มีกังวลอยู่ ความเที่ยวไปให้ ประโยชน์สำเร็จ ความเที่ยวไปดีให้ประโยชน์สำเร็จ ความเป็นผู้ไม่มี กังวลอยู่ ให้ประโยชน์สำเร็จทุกเมื่อ การถามถึงประโยชน์เป็นกรรม ของผู้ขยัน นั่นเป็นความเสมอกันแห่งความไม่กังวล ดังนี้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุผู้เสขะพึงบำบัดเสีย พึงเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป. เพราะ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เราจักฉันอะไร? เราจักฉันที่ไหน? วันนี้เรานอนลำบากหนอ พรุ่งนี้เราจักนอนที่ไหน? ภิกษุผู้เสขะพึงบำบัดเสียซึ่งวิตกเหล่านี้ อัน เป็นที่ตั้งแห่งความรำพัน พึงเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป. [๙๖๒] ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้ ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาล พึงรู้จัก ประมาณเพื่อสันโดษ ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวม เที่ยวไปในบ้าน แม้ถูกเขาด่า ก็ไม่ควรกล่าววาจาหยาบ.
ว่าด้วยได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยธรรม
[๙๖๓] ชื่อว่า อาหาร ในคำว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาล คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ. ชื่อว่า เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าด้ายเจือไหม. คำว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาล ความว่า ภิกษุนั้นได้จีวรและบิณฑบาต มิใช่ได้ด้วยการหลอกลวง มิใช่ได้ด้วยการพูดเลียบ เคียง มิใช่ได้ด้วยการบอกใบ้ มิใช่ได้ด้วยความกำจัดคุณเขา มิใช่ได้ด้วยการแสวงหาลาภด้วย ลาภ มิใช่ได้ด้วยการให้ฟืน มิใช่ได้ด้วยการให้ไม้ไผ่ มิใช่ได้ด้วยการให้ใบไม้ มิใช่ได้ด้วยการ ให้ดอกไม้ มิใช่ได้ด้วยการให้ผลไม้ มิใช่ได้ด้วยการให้เครื่องอาบน้ำ มิใช่ได้ด้วยการให้จุรณ มิใช่ได้ด้วยการให้ดินเหนียว มิใช่ได้ด้วยการให้ไม้สีฟัน มิใช่ได้ด้วยการให้น้ำบ้วนปาก มิใช่ ได้ด้วยคำพูดมุ่งให้เขารักตน มิใช่ได้ด้วยถ้อยคำเหลวไหลดังแกงถั่ว มิใช่ได้ด้วยกิริยาประจบเขา มิใช่ได้ด้วยความเป็นผู้นั่งบนตั่ง (ด้วยความตีสนิทเขา) มิใช่ได้ด้วยวิชาดูพื้นที่ มิใช่ได้ด้วย ดิรัจฉานวิชา มิใช่ได้ด้วยอังควิชา (รู้จักลักษณะดีร้ายของหญิงชาย) มิใช่ได้ด้วยนักขัตวิชา (รู้ฤกษ์ยาม) มิใช่ได้ด้วยการเดินเป็นทูต มิใช่ได้ด้วยความเป็นผู้รับใช้ มิใช่ได้ด้วยความเป็นผู้ เดินสาส์น มิใช่ได้ด้วยเวชกรรม มิใช่ได้ด้วยนวกรรม มิใช่ได้ด้วยการให้ก้อนข้าวและก้อน ข้าวตอบแทน มิใช่ได้ด้วยการให้และการเพิ่มให้ ได้รับได้เฉพาะ โดยธรรมสม่ำเสมอ เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาล.
ความรู้จักประมาณ ๒ อย่าง
[๙๖๔] คำว่า ภิกษุนั้นพึงรู้จักประมาณ ในคำว่า ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้ ... พึงรู้จัก ประมาณเพื่อสันโดษ ความว่า รู้จักประมาณโดยเหตุ ๒ อย่าง คือ รู้จักประมาณโดยการรับ ๑ รู้จักประมาณโดยการบริโภค ๑. ภิกษุรู้จักประมาณโดยการรับอย่างไร? เมื่อทายกถวายสิ่งของแม้น้อย ภิกษุก็รับเพื่อความ เอ็นดูแก่สกุล เพื่อความรักษาสกุล เพื่ออนุเคราะห์แก่สกุล เมื่อทายกถวายสิ่งของแม้มาก ภิกษุ รับจีวรพอบริหารกาย รับบิณฑบาตพอบริหารท้อง ภิกษุรู้จักประมาณโดยการรับอย่างนี้. ภิกษุรู้จักประมาณโดยการบริโภคอย่างไร? ภิกษุพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึง ใช้จีวร เพื่อบำบัดความหนาว เพื่อบำบัดความร้อน เพื่อบำบัดสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เสือกคลาน เพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ เป็นกำหนดเท่านั้น. ภิกษุพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงฉันบิณฑบาต ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อเมา ไม่ฉัน เพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อความดำรงกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไป เพื่อเว้นความ ลำบากแห่งกายนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะบำบัดเวทนาเก่า จักไม่ ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความเป็นไปสะดวก ความไม่มีโทษ ความผาสุกจักมีแก่เรา ดังนี้ เป็น กำหนดเท่านั้น. ภิกษุพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงเสพเสนาสนะ เพื่อบำบัดความหนาว เพื่อบำบัดความร้อน เพื่อบำบัดสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เสือกคลาน เพื่อ ความบรรเทาอันตรายอันเกิดแต่ฤดู เพื่อความยินดีในความหลีกเร้น เป็นกำหนดเท่านั้น. ภิกษุ พิจารณาโดยอุบายอันแคบคายแล้วจึงใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพื่อบำบัดทุกขเวทนาอันเกิด เพราะธาตุกำเริบ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว เพื่อความไม่ลำบากเป็นอย่างยิ่ง เป็นกำหนดเท่านั้น ภิกษุรู้จัก ประมาณโดยการบริโภคอย่างนี้. คำว่า ภิกษุนั้นพึงรู้จักประมาณ คือ รู้ รู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอดซึ่งประมาณ โดยเหตุ ๒ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นพึงรู้จักประมาณ. [๙๖๕] คำว่า ในธรรมวินัยนี้ ... เพื่อสันโดษ ความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ สันโดษด้วยจีวร และกล่าวคุณแห่งความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ทั้งไม่ถึงความแสวงหา ผิดอันไม่สมควรเพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ได้จีวรก็ไม่สะดุ้ง และได้จีวรแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดทุกข์ บริโภคอยู่ ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความ สันโดษ ด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้สึกตัว มีสติ ในจีวรสันโดษนั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้ดำรงอยู่ในวงศ์ของพระอริยะที่ทราบกันว่าเป็นวงศ์เลิศ อันมีมาแต่โบราณ. อีกประการหนึ่ง ภิกษุสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และกล่าวคุณแห่ง ความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ทั้งไม่ถึงความแสวงหาผิดอันไม่สมควรเพราะเหตุแห่ง บิณฑบาต ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่สะดุ้ง และได้บิณฑบาตแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดทุกข์ บริโภคอยู่ ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความสันโดษ ด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้สึกตัว มีสติ ในบิณฑบาตสันโดษนั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้ดำรงอยู่ในวงศ์ของพระอริยะที่ทราบกันว่าเป็นวงศ์ เลิศ อันมีมาแต่โบราณ. อีกประการหนึ่ง ภิกษุสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และกล่าวคุณ แห่งความสันโดษด้วยเสนาสนะ ทั้งไม่ถึงความแสวงหาผิดอันไม่สมควรเพราะเหตุแห่งเสนาสนะ ไม่ได้เสนาสนะก็ไม่สะดุ้ง และได้เสนาสนะแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดทุกข์ บริโภคอยู่ ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความสันโดษ ด้วยเสนาสนะ ตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้สึกตัว มีสติ ในเสนาสนะสันโดษ นั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้ดำรงอยู่ในวงศ์แห่งพระอริยะที่ทราบกันว่าเป็นวงศ์เลิศ อันมีมาแต่ โบราณ. อีกประการหนึ่ง ภิกษุสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ และกล่าวคุณ แห่งความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ทั้งไม่ถึงความแสวงหาผิดอันไม่ สมควรเพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารก็ไม่สะดุ้ง ได้คิลาน- *ปัจจัยเภสัชบริขารแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดทุกข์ บริโภคอยู่ ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้สึกตัว มีสติ ในคิลานปัจจัยเภสัชบริขารสันโดษนั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้ดำรงอยู่ในวงศ์แห่งพระอริยะ ที่ทราบกันว่าเป็นวงศ์เลิศ อันมีมาแต่ โบราณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้ ... พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ.
ว่าด้วยการสำรวม
[๙๖๖] คำว่า ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัยเหล่านั้น ในคำว่า ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัย เหล่านั้น เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในบ้าน ความว่า สำรวม คุ้มครอง รักษา ระวัง ในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัย เหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุนั้นสำรวม คุ้มครอง รักษา ระวังในอายตนะทั้งหลาย แม้ด้วยเหตุ อย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัยเหล่านั้น. คำว่า เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในบ้าน ความว่า เป็นผู้สำรวม ระวัง ระวังเฉพาะ คุ้มครอง ครอบครอง รักษา สังวร เที่ยวไปในบ้าน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในบ้าน.
ว่าด้วยการไม่ด่าตอบคนที่ด่า
[๙๖๗] คำว่า แม้ถูกเขาด่าก็ไม่ควรกล่าววาจาหยาบ ความว่า ถูกเขาด่า แช่ง ดูหมิ่น เสียดสี ติเตียน ค่อนว่าเข้าแล้ว ไม่พึงกล่าวตอบผู้ที่กล่าว ไม่พึงด่าตอบผู้ที่ด่า ไม่พึงแช่งตอบ ผู้ที่แช่ง ไม่พึงหมายมั่นตอบผู้ที่หมายมั่น ด้วยถ้อยคำหยาบ กระด้าง ไม่ควรทำความทะเลาะ ไม่ควรทำความหมายมั่น ไม่ควรทำความแก่งแย่ง ไม่ควรทำความวิวาท ไม่ควรทำความทุ่มเถียง พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความทะเลาะ ความหมายมั่น ความแก่งแย่ง ความ วิวาท ความทุ่มเถียง พึงเป็นผู้งด เว้น เว้นขาด ออก สลัดออก ปล่อยเสีย ไม่เกี่ยวข้องซึ่ง ความทะเลาะ ความหมายมั่น ความแก่งแย่ง ความวิวาทและความทุ่มเถียง พึงเป็นผู้มีจิต ปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แม้ถูกเขาด่าก็ไม่ควรกล่าววาจาหยาบ. เพราะ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้ ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาล พึงรู้จัก ประมาณเพื่อสันโดษ ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวม เที่ยวไปในบ้าน แม้ถูกเขาด่าก็ไม่ควรกล่าววาจาหยาบ. [๙๖๘] ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมจักษุ ไม่พึงเป็นผู้โลเลเพราะเท้า พึงเป็นผู้ขวนขวาย ในฌาน พึงเป็นผู้ตื่นอยู่มาก พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขามีจิตตั้งมั่น และ พึงเข้าไปตัดความตรึกธรรมที่อาศัยอยู่แห่งความตรึก และความรำคาญ.
ว่าด้วยการสำรวมจักษุ
[๙๖๙] พึงทราบอธิบายในคำว่า พึงเป็นผู้สำรวมจักษุ ไม่พึงเป็นผู้โลเลเพราะเท้า ดังต่อไปนี้ ภิกษุเป็นผู้ทอดจักษุไปอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้โลเลเพราะจักษุ ประกอบด้วยความเป็นผู้โลเลเพราะจักษุ คิดว่า เราพึงเห็นรูปที่ยังไม่ได้เห็น พึงผ่านเลยรูปที่ได้ เห็นแล้ว ดังนี้ จึงเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเที่ยวไปนาน ซึ่งความเที่ยวไปไม่แน่นอน เพื่อเห็นรูป จากอารามนี้ไปยังอารามโน้น จากสวนนี้ไปยังสวนโน้น จากบ้านนี้ไปยังบ้านโน้น จากนิคมนี้ไปยังนิคมโน้น จากนครนี้ไปยังนครโน้น จากแคว้นนี้ไปยังแคว้นโน้น จากชนบทนี้ไปยัง ชนบทโน้น ภิกษุเป็นผู้ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตาม ถนนไม่สำรวมเดินไป เดินแลดูกองพลช้าง แลดูกองพลม้า แลดูกองพลรถ แลดูกองพลเดินเท้า แลดูพวกสตรี แลดูพวกบุรุษ แลดูพวกกุมาร แลดูพวกกุมารี แลดูร้านตลาด แลดูหน้ามุขเรือน แลดูข้างบน แลดูข้างล่าง แลดูทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุเป็นผู้ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ถือนิมิต ถืออนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติ เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อ ไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อมไม่ รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุเป็นผู้ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้. อนึ่ง เหมือน อย่างว่า ท่านสมณพราหมณ์จำพวกหนึ่ง ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ขวนขวายดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับ การประโคม มหรสพมีการรำเป็นต้น การเล่นนิยาย เพลงปรบมือ ฆ้อง ระนาด หนัง เพลง ขอทาน ไต่ราว การเล่นหน้าศพ ชนช้าง แข่งม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ ชนนกกระทา รำกระบี่กระบอง ชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ ภิกษุเป็นผู้ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้. ภิกษุเป็นผู้ไม่ทอดจักษุอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้โลเลเพราะจักษุ ไม่ ประกอบด้วยความเป็นผู้โลเลเพราะจักษุ ไม่คิดว่า เราพึงเห็นรูปที่ยังไม่ได้เห็น พึงผ่านเลยรูปที่ ได้เห็นแล้วดังนี้ เป็นผู้ไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเที่ยวไปนาน ซึ่งความเที่ยวไปไม่แน่นอน เพื่อเห็นรูป จากอารามนี้ไปยังอารามโน้น ... จากชนบทนี้ไปยังชนบทโน้น ภิกษุไม่เป็นผู้ทอดจักษุ ไปแม้อย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามทาง ย่อมสำรวมเดินไป ไม่เดินแลดูกองพลช้าง ฯลฯ ไม่แลดูทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุเป็นผู้ไม่ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ฯลฯ ย่อมถึงความ สำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุไม่เป็นผู้ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้. อนึ่ง เหมือนอย่างว่า ท่านสมณ- *พราหมณ์จำพวกหนึ่ง ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ฯลฯ กองทัพ ภิกษุเว้นขาดจากการ ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ ภิกษุไม่เป็นผู้ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมจักษุ.
ว่าด้วยไม่โลเลเพราะเท้า
[๙๗๐] พึงทราบอธิบายในคำว่า ไม่พึงเป็นผู้โลเลเพราะเท้า ดังต่อไปนี้ ภิกษุเป็นผู้ โลเลเพราะเท้าอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้โลเลเพราะเท้า ประกอบด้วยความ เป็นผู้โลเลเพราะเท้า คือ เป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเที่ยวไปนาน ซึ่งความเที่ยวไปไม่ แน่นอน จากอารามนี้ไปยังอารามโน้น ฯลฯ ภิกษุเป็นผู้โลเลเพราะเท้าแม้อย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้โลเลเพราะเท้า ประกอบด้วยความเป็นผู้โลเลเพราะเท้า ในภายในแห่งสังฆาราม ไม่ใช่ เดินไปเพราะเหตุแห่งประโยชน์ ไม่ใช่เดินไปเพราะเหตุแห่งการให้ทำ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่ สงบ จากบริเวณนี้ไปยังบริเวณโน้น ฯลฯ พูดเรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ ภิกษุเป็นผู้โลเลเพราะเท้าแม้อย่างนี้. คำว่า ไม่เป็นผู้โลเลเพราะเท้า ความว่า ภิกษุพึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความเป็นผู้โลเลเพราะเท้า คือ พึงเป็นผู้งดเว้น เว้น เว้นขาด ออก สละ พ้นไป ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งความเป็นผู้โลเลเพราะเท้า พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลส อยู่ พึงเป็นผู้ชอบในความสงัด ยินดีในความสงัด ขวนขวายในความสงบจิต ณ ภายใน ไม่ เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่ในเรือนว่างเปล่า เป็นผู้มีฌาน ยินดี ในฌาน ขวนขวายในความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นผู้หนักอยู่ในประโยชน์ของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมจักษุ ไม่พึงเป็นผู้โลเลเพราะเท้า.
ว่าด้วยผู้ขวนขวายในฌาน
[๙๗๑] คำว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ในคำว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็น ผู้ตื่นอยู่มาก ความว่า เป็นผู้ขวนขวายในฌานด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ เป็นผู้ประกอบ ประกอบ ทั่ว ประกอบโดยเอื้อเฟื้อ มาประกอบด้วยดี เพื่อความเกิดขึ้นแห่งปฐมฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อ ความเกิดขึ้นแห่งทุติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อความเกิดขึ้นแห่งตติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเพื่อ ความเกิดขึ้นแห่งจตุตถฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เป็นผู้ขวนขวาย ในฌาน. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุซ่องเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งปฐมฌานที่เกิดขึ้นแล้ว ทุติยฌานที่ เกิดขึ้นแล้ว ตติยฌานที่เกิดขึ้นแล้ว หรือจตุตถฌานที่เกิดขึ้นแล้ว แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึง ชื่อว่า เป็นผู้ขวนขวายในฌาน. คำว่า เป็นผู้ตื่นอยู่มาก ความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชำระ จิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเป็นเครื่องกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากธรรมเป็นเครื่องกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่ง ตลอดปฐมยามแห่งราตรี ย่อมสำเร็จสีห- *ไสยา (นอนอย่างราชสีห์) โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ใส่ใจถึง สัญญาในการลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรม เป็นเครื่องกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็นผู้ตื่นอยู่มาก.
ว่าด้วยอุเบกขา
[๙๗๒] ความเพิกเฉย กิริยาที่เพิกเฉย กิริยาที่เพิกเฉยยิ่ง ความที่จิตสงบ ความที่ จิตระงับ ความที่จิตเป็นกลาง ในจตุตถฌาน ชื่อว่า อุเบกขา ในคำว่า พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น. ความหยุด ความนิ่ง ความแน่วแน่ ความไม่กวัดแกว่ง ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ความที่ใจไม่กวัดแกว่ง ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ชื่อว่า ความเป็นผู้ มีจิตตั้งมั่น. คำว่า พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขามีจิตตั้งมั่น ความว่า ปรารภอุเบกขาในจตุตถฌาน เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจอันอะไรๆ ไม่ให้กวัดแกว่งได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขามีจิตตั้งมั่น.
ว่าด้วยความตรึก ๙ อย่าง
[๙๗๓] ชื่อว่า ความตรึก ในคำว่า พึงเข้าไปตัดความตรึก ธรรมเป็นที่อาศัยอยู่แห่ง ความตรึก และความรำคาญ ได้แก่ ความตรึก ๙ อย่าง คือ ความตรึกในกาม ความตรึกใน ความพยาบาท ความตรึกในความเบียดเบียน ความตรึกถึงญาติ ความตรึกถึงชนบท ความตรึก ถึงเทพเจ้า ความตรึกอันปฏิสังยุตด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น ความตรึกอันปฏิสังยุตด้วยลาภ สักการะและความสรรเสริญ ความตรึกอันปฏิสังยุตด้วยความไม่ถูกดูหมิ่น เหล่านี้เรียกว่า ความตรึก ๙ อย่าง. กามสัญญาเป็นที่อาศัยอยู่แห่งกามวิตก พยาบาทสัญญาเป็นที่อาศัยอยู่แห่ง พยาบาทวิตก วิหิงสาสัญญาเป็นที่อาศัยอยู่แห่งวิหิงสาวิตก. อีกอย่างหนึ่ง อวิชชา อโยนิโส มนสิการ อัสมิมานะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะเป็นที่อาศัยอยู่แห่งความตรึก คือ ความดำริทั้งหลาย. ชื่อว่า ความรำคาญ คือ ความรำคาญมือบ้าง ความรำคาญเท้าบ้าง ความรำคาญมือและเท้าบ้าง ความ สำคัญในสิ่งไม่ควรว่าควร ความสำคัญในสิ่งควรว่าไม่ควร ความสำคัญในสิ่งไม่มีโทษว่ามีโทษ ความ สำคัญในสิ่งมีโทษว่าไม่มีโทษ ความรำคาญ กิริยาที่รำคาญ ความเป็นผู้รำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจเห็นปานนี้ เรียกว่า ความรำคาญ. อีกอย่างหนึ่ง ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะกระทำและไม่กระทำ. ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะกระทำและเพราะไม่ กระทำอย่างไร? ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นว่า เราทำกาย ทุจริต เราไม่ได้ทำกายสุจริต เราทำวจีทุจริต เราไม่ได้ทำวจีสุจริต เราทำมโนทุจริต เราไม่ได้ ทำมโนสุจริต เราทำปาณาติบาต เราไม่ได้ทำเจตนาเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาต เราทำอทินนา- *ทาน เราไม่ได้ทำเจตนาเครื่องงดเว้นจากอทินนาทาน เราทำกาเมสุมิจฉาจาร เราไม่ได้ทำเจตนา เครื่องงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เราทำมุสาวาท เราไม่ได้ทำเจตนาเครื่องงดเว้นจากมุสาวาท เรา ทำปิสุณาวาจา เราไม่ได้ทำเจตนาเครื่องงดเว้นจากปิสุณาวาจา เราทำผรุสวาจา เราไม่ได้ทำเจตนา เครื่องงดเว้นจากผรุสวาจา เราทำสัมผัปปลาปะ เราไม่ได้ทำเจตนาเครื่องงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ เราทำอภิชฌา เราไม่ได้ทำอนภิชฌา เราทำพยาบาท เราไม่ได้ทำอัพยาบาท เราทำมิจฉาทิฏฐิ เราไม่ได้ทำสัมมาทิฏฐิ ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะกระทำ และเพราะไม่กระทำอย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อม เกิดขึ้นว่า เราเป็นผู้ไม่ทำความบริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ เราเป็นผู้ไม่หมั่นประกอบในความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ เรา เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เราไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ เราไม่ได้เจริญสัมมัปปธาน ๔ เราไม่ได้เจริญอิทธิบาท ๔ เราไม่ได้เจริญอินทรีย์ ๕ เราไม่ได้เจริญพละ ๕ เราไม่ได้เจริญโพชฌงค์ ๗ เราไม่ได้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เราไม่ได้กำหนดรู้ทุกข์ เราไม่ได้ละสมุทัย เราไม่ได้เจริญมรรค เราไม่ได้ทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ. คำว่า พึงเข้าไปตัดความตรึก ธรรมเป็นที่อาศัยอยู่แห่งความตรึก และ ความรำคาญ ความว่า ภิกษุพึงเข้าไปตัด ตัดขาด ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความตรึก ธรรมเป็นที่อาศัยอยู่แห่งความตรึกและความรำคาญ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเข้า ไปตัดความตรึก ธรรมเป็นที่อาศัยอยู่แห่งความตรึก และความรำคาญ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มี พระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมจักษุ ไม่พึงเป็นผู้โลเลเพราะเท้า พึงเป็นผู้ขวนขวาย ในฌาน พึงเป็นผู้ตื่นอยู่มาก พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น และพึงเข้าไปตัดความตรึก ธรรมเป็นที่อาศัยอยู่แห่งความตรึก และความ รำคาญ. [๙๗๔] ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติชอบใจ พึงทำลายความเป็นผู้ กระด้างในสพรหมจารีทั้งหลาย พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล ไม่พึงเปล่ง วาจาเกินขอบเขต ไม่พึงคิดเพื่อธรรมคือการว่ากล่าวซึ่งชน.
ว่าด้วยการยินดีในการตักเตือน
[๙๗๕] คำว่า ถูกตักเตือน ในคำว่า ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติชอบใจ ความว่า พระอุปัชฌายะ พระอาจารย์ พระเถระปูนอุปัชฌายะ พระเถระปูนอาจารย์ มิตรผู้เคย เห็นกัน ผู้ที่เคยคบกันมา หรือสหาย ตักเตือนว่า ท่านผู้มีอายุ กรรมนี้ไม่ควรแก่ท่าน กรรมนี้ยัง ไม่ถึงแก่ท่าน กรรมนี้ไม่เหมาะแก่ท่าน กรรมนี้ไม่งดงามแก่ท่าน ภิกษุผู้ถูกตักเตือนนั้น พึงเข้า ไปตั้งสติยินดี ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา อยากได้ ประสงค์ ปรารถนา รักใคร่ ติดใจ ซึ่งความตักเตือนนั้น. เหมือนสตรีหรือบุรุษที่เป็นสาวเป็นหนุ่ม กำลังเจริญ ชอบแต่งตัว อาบน้ำ ดำเกล้าแล้ว ได้พวงมาลัยดอกบัวก็ดี พวงมาลัยดอกมะลิก็ดี พวงมาลัยดอกลำดวนก็ดี รับด้วยมือ ทั้ง ๒ แล้ว เอาวางไว้บนศีรษะ ซึ่งเป็นอวัยวะสูงสุด พึงยินดี ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา อยากได้ ประสงค์ ปรารถนา รักใคร่ ติดใจ ฉันใด ภิกษุผู้ถูกตักเตือนนั้น พึงเข้าไปตั้งสติ ยินดี ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา อยากได้ ประสงค์ ปรารถนา รักใคร่ ติดใจ ซึ่งความ ตักเตือนนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า บุคคลพึงเห็นผู้ใด ผู้แสดงโทษ กล่าวข่มขี่ มีปัญญาว่า เป็นเหมือน บุคคลผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบหาบุคคลเช่นนั้น ผู้เป็นบัณฑิต เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น มีแต่คุณอันประเสริฐ ไม่มีโทษลามกเลย บุคคล พึงกล่าวสอน พึงพร่ำสอน และพึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษ บุคคล นั้นเป็นที่รักของพวกสัตบุรุษเท่านั้น เป็นที่ชังของพวกอสัตบุรุษ ดังนี้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติชอบใจ. [๙๗๖] ชื่อว่า สพรหมจารี ในคำว่า พึงทำลายความเป็นผู้กระด้างในสพรหมจารี ทั้งหลาย คือ บุคคลที่มีกรรมเป็นอันเดียวกัน มีอุเทศเป็นอันเดียวกัน มีสิกขาเสมอกัน. คำว่า พึงทำลายความเป็นผู้กระด้างในสพรหมจารีทั้งหลาย ความว่า พึงทำลายความเป็นผู้มีจิตอันความ โกรธกระทบเข้าแล้ว ความเป็นผู้มีจิตกระด้างในสพรหมจารีทั้งหลาย คือ พึงทำลายความกระด้าง แห่งจิตทั้ง ๕ พึงทำลายความกระด้างแห่งจิตทั้ง ๓ พึงทุบ ทำลาย กำจัด ซึ่งความกระด้างเพราะ ราคะ ความกระด้างเพราะโทสะ ความกระด้างเพราะโมหะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงทำลาย ความเป็นผู้กระด้างในสพรหมจารีทั้งหลาย.
ว่าด้วยขอบเขตการเปล่งวาจา ๒ อย่าง
[๙๗๗] คำว่า พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต ความว่า พึงเปล่ง วาจาอันเกิดขึ้นแต่ญาณ คือ พึงเปล่ง เปล่งออก เปล่งออกดี ซึ่งวาจาอันประกอบด้วยอรรถ อันประกอบด้วยธรรม ซึ่งเป็นวาจาประกอบด้วยประโยชน์ มีที่อ้างอิง มีที่สุด ตามกาลควร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล. ชื่อว่าขอบเขต ใจคำว่า ไม่พึงเปล่งวาจา เกินขอบเขต ได้แก่ ขอบเขต ๒ อย่าง คือ ขอบเขตกาล ๑ ขอบเขตศีล ๑. ขอบเขตกาลเป็นไฉน? ภิกษุไม่พึงกล่าววาจาล่วงเกินกาล ไม่พึงกล่าววาจาล่วงเกินเวลา ไม่พึงกล่าววาจาล่วงเกินกาลและเวลา ไม่พึงกล่าววาจาที่ยังไม่ถึงกาล ไม่พึงกล่าววาจาที่ยังไม่ถึง เวลา ไม่พึงกล่าววาจาที่ยังไม่ถึงกาลและเวลา. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ก็ผู้ใด เมื่อยังไม่ถึงกาลอันควร ย่อมกล่าววาจาเกินเวลา ผู้นั้นย่อมถูกฆ่า นอนอยู่ เหมือนลูกของนางนกดุเหว่าที่นางกาเลี้ยงไว้ ฉะนั้น ดังนี้. นี้ชื่อว่า ขอบเขตกาล. ขอบเขตศีลเป็นไฉน? บุคคลผู้กำหนัดไม่ควรกล่าววาจา ผู้โกรธเคืองไม่ควรกล่าววาจา ผู้หลงไม่ควรกล่าววาจา แลไม่ควรกล่าว บอก พูด แสดง แถลง ซึ่งมุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ นี้ชื่อว่า ขอบเขตศีล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต.
ไม่ควรคิดที่จะว่าเขาด้วยศีลวิบัติ
[๙๗๘] ชื่อว่า ชน ในคำว่า ไม่พึงคิดเพื่อธรรมคือการว่ากล่าวซึ่งชน คือ บุคคลที่ เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา เป็น มนุษย์. ภิกษุไม่พึงคิด คือ ไม่พึงยังความคิดให้เกิดขึ้น ไม่พึงยังความดำริแห่งจิตให้เกิดขึ้น ไม่พึงยังมนสิการให้เกิดขึ้น เพื่อการกล่าว การค่อนว่า การนินทา การติเตียน การไม่สรรเสริญ การไม่พรรณนาคุณแห่งชน ด้วยศีลวิบัติ ด้วยอาจารวิบัติ ด้วยทิฏฐิวิบัติ หรือด้วยอาชีววิบัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงคิดเพื่อธรรมคือการว่ากล่าวซึ่งชน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสว่า ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติชอบใจ พึงทำลายความเป็นผู้ กระด้างในสพรหมจารีทั้งหลาย พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล ไม่พึงเปล่ง วาจาเกินขอบเขต ไม่พึงคิดเพื่อธรรมคือการกล่าวว่าซึ่งชน. [๙๗๙] ลำดับต่อไป ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษา เพื่อกำจัดราคะเหล่าใด ราคะ เหล่านั้น เป็นธุลี ๕ ประการในโลก พึงปราบปราม ราคะในรูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ.
ว่าด้วยธุลี ๕ ประการ
[๙๘๐] บทว่า อถ ในคำว่า ลำดับต่อไป ... ราคะเหล่านั้น เป็นธุลี ๕ ประการในโลก เป็นบทสนธิ เป็นบทอุปสรรค เป็นบทปทปูรณะ เป็นศัพท์ประชุมอักขระ เป็นศัพท์สละสลวย ด้วยพยัญชนะ เป็นลำดับบท. คำว่า ธุลี ๕ ประการ คือ ราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น ราคะในรส ราคะในโผฏฐัพพะ. อนึ่ง ได้แก่ ราคะดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ราคะเรากล่าวว่าเป็นธุลี มิได้กล่าวละอองว่าเป็นธุลี คำว่า ธุลี เป็นชื่อ ของราคะ บัณฑิตทั้งหลายนั้นละธุลีนี้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาแห่งพระ- พุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี โทสะเรากล่าวว่าเป็นธุลี มิได้กล่าวละอองว่าเป็น ธุลี คำว่า ธุลีเป็นชื่อของโทสะ บัณฑิตทั้งหลายนั้นละธุลีนี้แล้ว ย่อม อยู่ในศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี โมหะเรากล่าวว่าเป็นธุลี มิได้กล่าวละอองว่าเป็นธุลี คำว่า ธุลี เป็นชื่อของโมหะ บัณฑิตทั้ง หลายนั้นละธุลีนี้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี. คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ลำดับต่อไป ... ราคะเหล่านั้นเป็นธุลี ๕ ประการในโลก. [๙๘๑] คำว่า ราคะเหล่าใด ในคำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด ความว่า ราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น ราคะในรส ราคะในโผฏฐัพพะ. คำว่า เป็นผู้ มีสติ ความว่า ความระลึก ความระลึกถึง ความระลึกเฉพาะ สติความระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค นี้เรียกว่า สติ. ภิกษุเป็นผู้ถึง เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ไปใกล้ ไปใกล้พร้อม ประกอบด้วยสตินี้ ภิกษุนั้นเรียกว่า มีสติ. สิกขา ในคำว่า พึงศึกษามี ๓ อย่าง คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา อธิศีลสิกขาเป็นไฉน ฯลฯ นี้ชื่อว่า อธิปัญญาสิกขา. คำว่า พึงเป็นผู้มีสติศึกษา เพื่อกำจัดราคะเหล่าใด ความว่า บุคคลผู้มีสติ พึงศึกษาแม้อธิศีล ศึกษาแม้อธิจิต ศึกษาแม้ อธิปัญญา เพื่อกำจัด เพื่อกำจัดเฉพาะ เพื่อละ เพื่อสงบ เพื่อสละคืน เพื่อระงับ ซึ่งราคะ เหล่าใด คือ ราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น ราคะในรส ราคะในโผฏฐัพพะ นึกถึงอยู่ ชื่อว่าพึงศึกษาสิกขา ๓ นี้ รู้ก็ชื่อว่าพึงศึกษา ฯลฯ ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ก็ชื่อว่า พึงศึกษา พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อด้วยดี สมาทาน ประพฤติไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด. [๙๘๒] คำว่า พึงปราบปรามราคะเหล่านั้น คือ ราคะในรูป เสียง กลิ่น รส และ ผัสสะ ความว่า พึงปราบ ปราบปราม ครอบงำ ครอบงำเฉพาะ กำจัด ย่ำยี ซึ่งราคะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงปราบปรามราคะเหล่านั้น คือ ราคะในรูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ลำดับต่อไป ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด ราคะ เหล่านั้นเป็นธุลี ๕ ประการในโลก ภิกษุพึงปราบปรามราคะเหล่านั้น คือ ราคะในรูป เสียง กลิ่น รส และ ผัสสะ. [๙๘๓] ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตพ้นวิเศษดีแล้ว พึงกำจัดฉันทะในธรรมเหล่านั้น ภิกษุนั้น เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล เป็นผู้มีจิตเป็น ธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืดเสีย พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้. [๙๘๔] คำว่า เหล่านั้น ในคำว่า พึงกำจัดฉันทะในธรรมเหล่านั้น ความว่า ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ. ชื่อว่าฉันทะ คือ ความพอใจ ในกาม ความกำหนัดในกาม ความ เพลินในกาม ความปรารถนาในกาม ความเสน่หาในกาม ความเร่าร้อนในกาม ความหลง ในกาม ความติดใจในกาม กามโอฆะ กามโยคะ กามุปาทาน กามฉันทนิวรณ์ในกามทั้งหลาย คำว่า พึงกำจัดฉันทะในธรรมเหล่านั้น ความว่า พึงกำจัด กำจัดเฉพาะ ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งฉันทะในธรรมเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงกำจัดฉันทะในธรรม เหล่านั้น. [๙๘๕] ชื่อว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตพ้นวิเศษดีแล้ว คือ ภิกษุผู้เป็น กัลยาณปุถุชน หรือภิกษุผู้เสขะ. คำว่า มีสติ ความว่า ความระลึก ความระลึกถึง ฯลฯ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายมรรค นี้เรียกว่า สติ. ภิกษุเป็นผู้เข้าถึง ฯลฯ ประกอบด้วย สตินี้ ภิกษุนั้นเรียกว่ามีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ. คำว่า เป็นผู้มีจิตพ้นวิเศษ ดีแล้ว ความว่า จิตของภิกษุผู้เข้าปฐมฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากนิวรณ์ทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้เข้าทุติยฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากวิตกและวิจาร จิตของภิกษุผู้เข้าตติย- *ฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากปีติ จิตของภิกษุผู้เข้าจตุตถฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดี แล้วจากสุขและทุกข์ จิตของภิกษุผู้เข้าอากาสานัญจายตนฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจาก รูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา จิตของภิกษุผู้เข้าวิญญาณัญจายตนฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากอากาสานัญจายตนสัญญา จิตของภิกษุผู้เข้าอากิญจัญญายตนฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากวิญญาณัญจายตนสัญญา จิตของภิกษุผู้เข้าเนวสัญญานาสัญญายตฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากอากิญจัญญายตนสัญญา จิตของพระโสดาบัน พ้น พ้นวิเศษ พ้น วิเศษดีแล้วจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพัตตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และจาก เหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียวกันกับวิจิกิจฉาเป็นต้นนั้น จิตของพระสกทาคามี พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากกามราคานุสัย ปฏิฆานุสัยอย่างหยาบ และจากเหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียว กันกับกามราคานุสัยเป็นต้นนั้น จิตของพระอนาคามี พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากกาม- *ราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ จากกามราคานุสัย ปฏิฆานุสัยส่วนละเอียด และจากเหล่ากิเลส ที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียวกันกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น จิตของพระอรหันต์ พ้น พ้นวิเศษ พ้น วิเศษดีแล้วจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชา- *นุสัย เหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียวกันกับรูปราคะเป็นต้นนั้น และจากสรรพนิมิตภายนอก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตพ้นวิเศษดีแล้ว.
ว่าด้วยจิตที่เป็นกาลของสมถะและวิปัสสนา
[๙๘๖] คำว่า ตามกาล ในคำว่า ภิกษุนั้น เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตาม กาล ความว่า เมื่อจิตฟุ้งซ่านเป็นกาลของสมถะ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นกาลของวิปัสสนา. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า โยคีผู้ใด ย่อมประคองจิตในกาล ย่อมข่มจิตในกาลอื่น ย่อมให้จิต รื่นเริงโดยกาล ย่อมตั้งจิตไว้ในกาล ย่อมวางเฉยในกาล โยคีผู้นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในกาล ความประคองจิตควรมีในกาลไหน? ความข่ม จิตควรมีในกาลไหน? กาลเป็นที่ให้จิตรื่นเริงควรมีในกาลไหน? และ กาลของสมถะเป็นกาลเช่นไร? บัณฑิตย่อมแสดงกาลเป็นที่วางเฉย แห่งจิตของโยคีบุคคลอย่างไร? เมื่อจิตของโยคีบุคคลย่อหย่อน เป็นกาล ที่ควรประคองไว้ เมื่อจิตของโยคีบุคคลฟุ้งซ่านเป็นกาลที่ควรข่มไว้ โยคี บุคคลพึงยังจิตที่ถึงความไม่แช่มชื่นให้รื่นเริงในกาลนั้น จิตเป็น ธรรมชาติรื่นเริงไม่ย่อหย่อน ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมมีในกาลใด กาลนั้นเป็น กาลของสมถะ ใจพึงยินดีในภายใน โดยอุบายนั้นนั่นแหละ จิตเป็น ธรรมชาติตั้งมั่น ย่อมมีในกาลใด ในกาลนั้น โยคีบุคคลพึงวางเฉย ไว้ซึ่งจิตที่ตั้งมั่นแล้วด้วยปัญญา ธีรชนผู้รู้แจ้งกาล ทราบกาล ฉลาด ในกาลพึงกำหนดอารมณ์อันเป็นนิมิตของจิต ตลอดกาล ตามกาล อย่างนี้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้น ... ตามกาล. คำว่า เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบ ความว่า เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็น ธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบ. [๙๘๗] คำว่า มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ในคำว่า เป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น พึง กำจัดความมืด พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้ ความว่า เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจไม่กวัดแกว่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น. คำว่า ภิกษุนั้นพึงกำจัด ความมืด ความว่า พึงขจัด กำจัด ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความมืดคือ ราคะ ความมืดคือโทสะ ความมืดคือโมหะ ความมืดคือมานะ ความมืดคือทิฏฐิ ความมืดคือกิเลส ความมืดคือทุจริต อันทำให้บอด ทำให้ไม่มีจักษุ ทำให้ไม่มีญาณ ดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายความลำบาก ไม่ให้เป็นไปเพื่อนิพพาน. คำว่า ภควา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความเคารพ. อีกอย่างหนึ่ง. ชื่อว่า ภควา เพราะอรรถว่า ผู้ทำลายราคะ ทำลายโทสะ ทำลายโมหะ ทำลายมานะ ทำลายทิฏฐิ ทำลาย เสี้ยนหนาม ทำลายกิเลส. เพราะอรรถว่า ทรงจำแนก ทรงแจกแจง ทรงจำแนกเฉพาะซึ่ง ธรรมรัตนะ. เพราะอรรถว่า ทรงทำที่สุดแห่งภพทั้งหลาย. เพราะอรรถว่า มีพระกายอันทรง อบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันอบรมแล้ว. อนึ่ง พระผู้มี พระภาคทรงซ่องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าละเมาะและป่าทึบอันสงัด มีเสียงน้อย ปราศจากเสียง กึกก้อง ปราศจากชนผู้สัญจรไปมา เป็นที่ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออก เร้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มี พระภาคทรงมีส่วนแห่งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อันมีอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔ อรูป สมาบัติ ๔ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ ๘ อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงมีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณสมาบัติ ๑๐ อานาปาณสติสมาธิ อสุภสมาบัติ เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ ๑๐ เวสารัชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. พระนามว่า ภควา นี้ พระมารดา พระบิดา พระภาดา พระภคินี มิตร อำมาตย์ พระญาติสาโลหิต สมณพราหมณ์ เทวดา มิได้ เฉลิมให้ พระนามว่า ภควา นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามมีในอรหัตผลในลำดับแห่ง อรหัตมรรค) เป็นสัจฉิกาบัญญัติ พร้อมด้วยการทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงโพธิพฤกษ์ ของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตพ้นวิเศษแล้ว พึงกำจัดฉันทะในธรรมเหล่านั้น ภิกษุนั้น เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล เป็นผู้มีจิตเป็น ธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้ ฉะนี้แล.
จบ สารีปุตตนิทเทสที่ ๑๖.
จบ สุตตนิทเทส ๑๖ นิทเทสในอัฏฐกวรรค.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๑๐๑๓๗-๑๑๗๗๗ หน้าที่ ๔๒๖-๔๙๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=10137&Z=11777&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=881&items=107              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=881&items=107&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=29&item=881&items=107              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=29&item=881&items=107              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=881              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]