ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
             [๔๔๕] 	เราขอบอกอัญญาวิโมกข์ อันมีอุเบกขาและสติหมดจดดี
                          มีความตรึกประกอบด้วยธรรม แล่นไปข้างหน้า เป็นเครื่อง
                          ทำลายอวิชชา.
             [๔๔๖] ความวางเฉย กิริยาที่วางเฉย ความเพิกเฉย ความสงบแห่งจิต ความที่จิต
เลื่อมใส ความที่จิตเป็นกลางด้วยจตุตถฌาน ชื่ออุเบกขา ในอุเทศว่า อุเปกฺขาสติสํสุทฺธํ ดังนี้.
ความระลึก ความตามระลึก ฯลฯ ความระลึกชอบ เพราะปรารภถึงอุเบกขาในจตุตถฌาน ชื่อว่า
สติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อุเบกขา และสติ.
             คำว่า หมดจดดี ความว่า อุเบกขาและสติในจตุตถฌานเป็นความหมดจด หมดจดดี
ขาวรอบ ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความ
ไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีอุเบกขาและสติ หมดจดดี.
             [๔๔๗] ความดำริชอบ ตรัสว่า ความตรึกประกอบด้วยธรรม ในคำว่า ธมฺมตกฺกปุเรชวํ
ดังนี้. ความตรึกประกอบด้วยธรรมนั้น มีในเบื้องต้น มีข้างหน้าเป็นประธานแห่งอัญญาวิโมกข์
แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้จึงชื่อว่า มีความตรึกประกอบด้วยธรรมแล่นไปข้างหน้า.
             อีกอย่างหนึ่ง สัมมาทิฏฐิ ตรัสว่า ความตรึกประกอบด้วยธรรม. สัมมาทิฏฐินั้นมีใน
เบื้องต้น มีข้างหน้า เป็นประธานแห่งอัญญาวิโมกข์ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ จึงชื่อว่า มีความตรึก
ประกอบด้วยธรรมแล่นไปข้างหน้า.
             อีกอย่างหนึ่ง วิปัสสนาในกาลเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งมรรค ๔ ตรัสว่า ความตรึกประกอบ
ด้วยธรรม. วิปัสสนานั้น มีในเบื้องต้นมีข้างหน้า เป็นประธานแห่งอัญญาวิโมกข์ แม้ด้วยเหตุ
อย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า มีความตรึกประกอบด้วยธรรมแล่นไปข้างหน้า.
             [๔๔๘] อรหัตวิโมกข์ ตรัสว่า อัญญาวิโมกข์ ในอุเทศว่า อญฺญาวิโมกฺขํ สํพฺรูมิ
ดังนี้ เราขอบอก ... ขอประกาศซึ่งอรหัตวิโมกข์ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า เราขอบอกอัญญาวิโมกข์.
             [๔๔๙] ความไม่รู้ในทุกข์ ฯลฯ อวิชชาเป็นดังลิ่มสลัก ความหลง อกุศลมูล ชื่อว่า
อวิชชา ในอุเทศว่า อวิชฺชาย ปเภทนํ ดังนี้.
             คำว่า เป็นเครื่องทำลายอวิชชา ความว่า เป็นเครื่องทุบ ต่อย เครื่องทำลาย เครื่องละ
เครื่องสงบ เครื่องสละคืน เครื่องระงับ ซึ่งอวิชชา เป็นอมตนิพพาน เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า
เป็นเครื่องทำลายอวิชชา. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          เราขอบอก อัญญาวิโมกข์อันมีอุเบกขาและสติ หมดจดดี
                          มีความตรึกประกอบด้วยธรรมแล่นไปข้างหน้า เป็นเครื่อง
                          ทำลายอวิชชา.
             [๔๕๐] 	โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้? อะไรเล่าเป็นเครื่อง
                          เที่ยวไปของโลกนั้น? พระองค์ตรัสว่า นิพพาน เพราะละ
                          อะไรเสียได้?
             [๔๕๑] คำว่า โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้ ความว่า อะไรเป็นเครื่องประกอบ
เครื่องคล้องไว้ เครื่องผูก เครื่องพัวพัน เครื่องมัวหมอง ของโลก? โลกอันอะไรประกอบไว้
ประกอบทั่ว เหนี่ยวรั้ง ยึดไว้ คล้องไว้ เกี่ยวไว้ พัวพันไว้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า โลกมี
อะไรเป็นเครื่องประกอบไว้.
             [๔๕๒] คำว่า อะไรเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น ความว่า อะไรเป็นเครื่องสัญจร
เที่ยวไป ท่องเที่ยวไป ของโลกนั้น? โลกย่อมสัญจรไป เที่ยวไป ท่องเที่ยวไป ด้วยอะไร?
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อะไรเล่าเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น?
             [๔๕๓] คำว่า พระองค์ตรัสว่า นิพพาน เพราะละอะไรเสียได้ ความว่า พระองค์
ย่อมตรัส ย่อมบอก ย่อมเล่า ย่อมกล่าว แสดง บัญญัติว่า นิพพาน เพราะละ สงบ สละคืน
ระงับ อะไรเสียได้? เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระองค์ตรัสว่า นิพพาน เพราะละอะไรเสียได้?
เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า
                          โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้? อะไรเล่าเป็นเครื่อง
                          เที่ยวไปของโลกนั้น? พระองค์ตรัสว่า นิพพาน เพราะละ
                          อะไรเสียได้?
             [๔๕๔] 	โลกมีความเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้. วิตก เป็นเครื่อง
                          เที่ยวไปของโลกนั้น. เรากล่าวว่า นิพพาน เพราะละตัณหา
                          เสียได้.
             [๔๕๕] ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ตรัสว่า ความเพลิน
ในอุเทศว่า นนฺทิสญฺโญชโน โลโก ดังนี้. ความเพลินเป็นเครื่องประกอบ เครื่องคล้องไว้
เครื่องผูก เครื่องมัวหมองของโลก. โลกอันความเพลินนี้ประกอบไว้ ประกอบทั่ว เหนี่ยวรั้ง
ผูกไว้ คล้องไว้ เกี่ยวไว้ พันไว้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า โลกมีความเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้.
             [๔๕๖] วิตก ๙ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก วิตกถึงญาติ วิตกถึงชนบท
วิตกถึงเทวดา วิตกอันปฏิสังยุตด้วยความเอ็นดูผู้อื่น วิตกอันปฏิสังยุตด้วยลาภ สักการะ และ
สรรเสริญ วิตกอันปฏิสังยุตด้วยความไม่อยากให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน เหล่านี้เรียกว่าวิตก ๙ ชื่อว่า
วิตก ในอุเทศว่า วิตกฺกสฺส วิจารณา ดังนี้. วิตก ๙ อย่างนี้เป็นเครื่องสัญจรไป เที่ยวไป
ท่องเที่ยวไป ของโลกนั้น. โลกนั้นย่อมสัญจร เที่ยวไป ท่องเที่ยวไป ด้วยวิตก ๙ อย่างนี้.
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น.
             [๔๕๗] รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา
ชื่อว่า ตัณหา ในอุเทศว่า ตณฺหาย วิปฺปหาเนน นิมฺมานํ อิติ วุจฺจติ ดังนี้.
             คำว่า เรากล่าวว่า นิพพาน เพราะละตัณหาเสียได้ ความว่า เราย่อมกล่าว ย่อมบอก
เล่า ขาน แสดง บัญญัติว่า นิพพาน เพราะละ สงบ สละคืน ระงับตัณหาเสียได้ เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า เรากล่าวว่า นิพพาน เพราะละตัณหาเสียได้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
                          โลกมีความเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้. วิตกเป็นเครื่อง
                          เที่ยวไปของโลกนั้น. เรากล่าวว่า นิพพาน เพราะละตัณหา
                          เสียได้.
             [๔๕๘] 	เมื่อโลกมีสติอย่างไรเที่ยวไป วิญญาณจึงดับ? พวกข้าพระองค์
                          มาแล้วเพื่อทูลถาม พระผู้มีพระภาค. พวกข้าพระองค์จะขอฟัง
                          พระดำรัสนั้นของพระองค์.
             [๔๕๙] คำว่า เมื่อโลกมีสติอย่างไรเที่ยวไป ความว่า เมื่อโลกมีสติสัมปชัญญะอย่างไร
เที่ยวไป เที่ยวไปทั่ว ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา. เพราะฉะนั้น จึง
ชื่อว่า เมื่อโลกมีสติอย่างไรเที่ยวไป?
             [๔๖๐] คำว่า วิญญาณจึงดับ ความว่า วิญญาณดับ สงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับ
ไป. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วิญญาณจึงดับ.
             [๔๖๑] คำว่า พวกข้าพระองค์มาแล้วเพื่อจะทูลถามพระผู้มีพระภาค ความว่า พวก
ข้าพระองค์มาแล้ว คือ มาถึง เข้ามาถึง มาประชุมกับพระองค์เพื่อจะทูลถาม คือ เพื่อสอบถาม
ทูล ขอ ทูลเชื้อเชิญ ซึ่งพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว คือ ขอให้ทรงประสาท เพราะฉะนั้น จึง
ชื่อว่า พวกข้าพระองค์มาแล้วเพื่อจะทูลถามพระผู้มีพระภาค.
             [๔๖๒] คำว่า พวกข้าพระองค์จะขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์ ความว่า พวก
ข้าพระองค์จะขอฟัง ศึกษา ทรงจำ เข้าไป กำหนดพระดำรัส ถ้อยคำ ทางถ้อยคำ เทศนา
อนุสนธิ ของพระองค์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พวกข้าพระองค์จะขอฟังพระดำรัส ของพระองค์
เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า
                          เมื่อโลกมีสติอย่างไรเที่ยวไป วิญญาณจึงดับ? พวกข้าพระองค์
                          มาแล้วเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค. พวกข้าพระองค์จะขอฟัง
                          พระดำรัสนั้นของพระองค์.
             [๔๖๓] 	เมื่อโลกไม่เพลิดเพลินเวทนาภายในและภายนอก เป็นผู้มีสติ
                          อย่างนี้เที่ยวไป วิญญาณจึงดับ.
             [๔๖๔] คำว่า เมื่อโลกไม่เพลิดเพลินเวทนาภายในและภายนอก ความว่า เมื่อโลก
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายในภายในอยู่ ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ตั้งอยู่ด้วยความ
ติดใจเวทนา คือ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความเพลิดเพลิน
ความพร่ำถึง ความติดใจ ความถือไว้ ความจับต้อง ความถือมั่น. เมื่อโลกเป็นผู้พิจารณาเห็น
เวทนาในเวทนาทั้งหลายในภายนอกอยู่ เมื่อโลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายทั้งภายใน
และภายนอกอยู่ เมื่อโลกพิจารณาเห็นธรรมคือ ความเกิดขึ้นในเวทนาทั้งหลายในภายในอยู่
เมื่อโลกพิจารณาเห็นธรรมคือ ความเสื่อมไปในเวทนาทั้งหลายในภายในอยู่ เมื่อโลกพิจารณาเห็น
ธรรมคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในเวทนาทั้งหลายในภายในอยู่ เมื่อโลกพิจารณาเห็นธรรม
คือความเกิดขึ้นในเวทนาทั้งหลายในภายนอกอยู่ เมื่อโลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมไปใน
เวทนาทั้งหลายในภายนอกอยู่ เมื่อโลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปใน
เวทนาทั้งหลายในภายนอกอยู่ เมื่อโลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในเวทนาทั้งหลายทั้ง
ภายในและภายนอกอยู่ เมื่อโลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมไปในเวทนาทั้งหลายทั้งภายใน
และภายนอกอยู่ เมื่อโลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในเวทนาทั้งหลาย
ทั้งภายในและภายนอกอยู่ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ตั้งอยู่ด้วยความติดใจซึ่งเวทนา คือ
ย่อมละ ย่อมบรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งความเพลิดเพลิน ความพร่ำถึง ความ
ติดใจ ความถือไว้ ความจับต้อง ความถือมั่น. เมื่อโลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
ด้วยอาการ ๑๒ นี้ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ตั้งอยู่ด้วยความติดใจซึ่งเวทนา ฯลฯ ให้
ถึงความไม่มีซึ่งความเพลิดเพลิน ความพร่ำถึง ความติดใจ.
             อีกอย่างหนึ่ง เมื่อโลกพิจารณาเห็นเวทนาโดยความไม่เที่ยง ย่อมไม่เพลิดเพลิน ... เมื่อ
โลกพิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็น
ความลำบาก เป็นอาพาธ ฯลฯ โดยไม่มีอุบาย เครื่องสลัดออก ย่อมไม่เพลิดเพลิน ... เมื่อโลก
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายโดยอาการ ๔๒ นี้อยู่ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่
ตั้งอยู่ด้วยความติดใจเวทนา คือ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งความ
เพลิดเพลิน ความพร่ำถึง ความติดใจ ความถือไว้ ความจับต้อง ความถือมั่น เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า เมื่อโลกไม่เพลิดเพลินเวทนาในภายในและภายนอก.
             [๔๖๕] คำว่า เป็นผู้มีสติอย่างนี้เที่ยวไป ความว่า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอย่างนี้
เที่ยวไป คือ เที่ยวไปทั่ว ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า เป็นผู้มีสติอย่างนี้เที่ยวไป.
             [๔๖๖] คำว่า วิญญาณจึงดับ ความว่า วิญญาณอันสหรคตด้วยปุญญาภิสังขาร วิญญาณ
อันสหรคตด้วยอปุญญาภิสังขาร วิญญาณอันสหรคตด้วยอเนญชาภิสังขาร ย่อมดับ สงบ ถึงความ
ตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วิญญาณจึงดับ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
                          เมื่อโลกไม่เพลิดเพลินเวทนาในภายในและภายนอก เป็นผู้
                          มีสติอย่างนี้เที่ยวไป วิญญาณจึงดับ.
             พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของ
ข้าพระองค์. ข้าพระองค์เป็นสาวก ฉะนี้แล.
จบ อุทยมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๓.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๔๑๓๑-๔๒๕๗ หน้าที่ ๑๖๘-๑๗๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=4131&Z=4257&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=445&items=22              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=445&items=22&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=30&item=445&items=22              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=30&item=445&items=22              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=445              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30 https://84000.org/tipitaka/english/?index_30

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]