ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
             [๖๙๒] ชื่อว่า อันตราย ในอุเทศว่า ปริสฺสยานํ สหิตา อฉมฺภี ดังนี้ ได้แก่
อันตราย ๒ อย่าง คือ อันตรายปรากฏ ๑ อันตรายปกปิด ๑.
             อันตรายปรากฏเป็นไฉน? ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า
โค กระบือ ช้าง งู แมงป่อง ตะขาบ พวกโจร พวกคนที่ทำกรรมแล้วหรือที่ยังไม่ได้ทำกรรม
โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคเรอ
โรคมองคร่อ โรคร้อนใน โรคผอม โรคในท้อง โรคลมวิงเวียน โรคลงแดง โรคจุกเสียด
โรคลงท้อง โรคเรื้อน ฝี โรคกลาก โรคหืด โรคลมบ้าหมู หิดด้าน หิดเปื่อย โรคคัน
ขึ้เรื้อนกวาง โรคคุดทะราด โรคลักปิดลักเปิด โรคดี โรคเบาหวาน โรคริดสีดวง โรคต่อมแดง
บานทะโรค อาพาธเกิดแต่ดี อาพาธเกิดแต่เสมหะ อาพาธเกิดแต่ลม อาพาธมีดีเป็นต้น
ประชุมกัน อาพาธเกิดเพราะฤดูแปรไป อาพาธเกิดเพราะเปลี่ยนอิริยาบถไม่เท่ากัน อาพาธเกิด
เพราะความเพียร อาพาธเกิดเพราะผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ หรือว่าสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน.
อันตรายเหล่านี้ท่านกล่าวว่า อันตรายปรากฏ.
             อันตรายปกปิดเป็นไฉน? กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาท
นิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ
ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง
ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความเมา ความ
ประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความ
เดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง. อันตรายเหล่านี้ท่านกล่าวว่า อันตรายปกปิด.
             อันตรายชื่อว่า ปริสฺสยา เพราะอรรถว่ากระไร? อรรถว่าครอบงำ. ว่าเป็นไปเพื่อ
ความเสื่อม. ว่าอกุศลธรรมทั้งหลายอยู่อาศัยในอัตภาพนั้น.
             ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าครอบงำอย่างไร? อันตรายเหล่านั้นย่อมครอบงำ ย่อมทับ
ย่อมท่วมทับ ย่อมเบียดเบียนบุคคลนั้น. ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าครอบงำอย่างนี้.
             ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างไร? อันตรายเหล่านั้น ย่อม
เป็นไปเพื่ออันตราย เพื่อความเสื่อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อ
อันตราย เพื่อความเสื่อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลายเหล่าไหน? อันตรายเหล่านั้นย่อมเป็นไปเพื่อ
อันตราย เพื่อความเสื่อมแห่งกุศลธรรมเหล่านี้ คือ ความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร
ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติโดยสมควรแก่ธรรม
ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็น
ผู้รู้จักประมาณในโภชนะ การประกอบความเพียร สติสัมปชัญญชะ ความหมั่นในการเจริญ
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมี
องค์ ๘. ชื่อว่าอันตรายเพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างนี้.
             ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าอกุศลธรรมทั้งหลายอาศัยอยู่ในอัตภาพนั้นอย่างไร? อกุศล
ธรรมอันลามกเหล่านั้น อาศัยอัตภาพ ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น. เหล่าสัตว์ผู้อาศัยโพรง ย่อม
อยู่ในโพรง เหล่าสัตว์ผู้อาศัยน้ำ ย่อมอยู่ในน้ำ เหล่าสัตว์ผู้อาศัยป่า ย่อมอยู่ในป่า เหล่าสัตว์
ที่อาศัยต้นไม้ ย่อมอยู่ที่ต้นไม้ฉันใด อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น อาศัยอัตภาพ ย่อมเกิดขึ้น
ในอัตภาพ ฉันนั้นเหมือนกัน. ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าอกุศลธรรมทั้งหลายอาศัยอยู่ใน
อัตภาพอย่างนี้.
             สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ร่วม
กับกิเลสที่เป็นอันเตวาสิก ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่เป็นอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ไม่ผาสุก. ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่เป็นอันเตวาสิก ย่อมอยู่เป็นทุกข์ไม่ผาสุกอย่างไร? ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เพราะเห็นรูปด้วยตา อกุศลธรรมอันลามกเหล่าใด ที่ดำริด้วยความระลึกถึงอันเกื้อกูล
แก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมอยู่ ย่อมซ่าน
ไปภายในจิตของภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นเราจึงกล่าวว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่เป็น
อันเตวาสิก. อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นย่อมปกครองภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้น
เราจึงกล่าวว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่เป็นอาจารย์.
             อีกประการหนึ่ง เพราะฟังเสียงด้วยหู เพราะดมกลิ่นด้วยจมูก เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น
เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ อกุศลธรรมอันลามกเหล่าใด ที่ดำริ
ด้วยความระลึก อันเกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น
ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในจิตของภิกษุนั้น. เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นเราจึงกล่าวว่า ผู้อยู่
ร่วมกับกิเลสที่เป็นอันเตวาสิก. อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมปกครองภิกษุนั้น เพราะเหตุ
ดังนี้นั้น ภิกษุนั้นเราจึงกล่าวว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่เป็นอาจารย์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ร่วม
กับกิเลสที่เป็นอันเตวาสิก ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่เป็นอาจารย์ย่อมอยู่เป็นทุกข์ไม่ผาสุกอย่างนี้แล.
ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าอกุศลธรรมทั้งหลายอาศัยอยู่ในอัตภาพนั้นแม้อย่างนี้.
             และสมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓
ประการนี้ เป็นมลทินในระหว่าง เป็นไพรีในระหว่าง เป็นศัตรูในระหว่าง เป็นผู้ฆ่าในระหว่าง
เป็นข้าศึกในระหว่าง. ๓ ประการเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลภะเป็นมลทินในระหว่าง เป็น
ไพรีในระหว่าง เป็นศัตรูในระหว่าง เป็นผู้ฆ่าในระหว่าง เป็นข้าศึกในระหว่าง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย
โทสะ ฯลฯ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมหะเป็นมลทินในระหว่าง เป็นไพรีในระหว่าง เป็นศัตรูใน
ระหว่าง เป็นข้าศึกในระหว่าง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นมลทินในระหว่าง
เป็นไพรีในระหว่าง เป็นศัตรูในระหว่าง เป็นผู้ฆ่าในระหว่าง เป็นข้าศึกในระหว่าง.
                          โลภะยังโทษอันไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด. โลภะยังจิตให้กำเริบ.
                          ภัยเกิดภายในจิต. คนพาลย่อมไม่รู้สึกถึงภัยนั้น. คนโลภย่อม
                          ไม่รู้จักอรรถ. คนโลภย่อมไม่เห็นธรรม. โลภะย่อมครอบงำนรชน
                          ในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น. โทสะยังโทษอัน
                          ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด. โทสะยังจิตให้กำเริบ. ภัยเกิดภายในจิต
                          คนพาลย่อมไม่รู้สึกถึงภัยนั้น. คนโกรธย่อมไม่รู้จักอรรถ. คน
                          โกรธย่อมไม่เห็นธรรม. โทสะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด
                          ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น. โมหะยังโทษอันไม่เป็นประโยชน์
                          ให้เกิด. โมหะยังจิตให้กำเริบ. ภัยเกิดภายในจิต. คนพาลย่อม
                          ไม่รู้สึกถึงภัยนั้น. คนหลงย่อมไม่รู้จักอรรถ. คนหลงย่อมไม่เห็น
                          ธรรม. โมหะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมี
                          ในขณะนั้น.
             ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่า อกุศลธรรมทั้งหลายอาศัยอยู่ในอัตภาพนั้นแม้อย่างนี้.
             และสมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรมหาบพิตร ธรรมอัน
กระทำอันตราย ๓ ประการแล เมื่อเกิดในภายใน ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก. ธรรมอันกระทำอันตราย ๓ ประการเป็นไฉน? ดูกรมหาบพิตร ธรรม
อันกระทำอันตราย คือ โลภะแล เมื่อเกิดขึ้นในภายใน ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความไม่ผาสุก. ดูกรมหาบพิตร ธรรมอันกระทำอันตราย คือ โทสะแล ฯลฯ.
ดูกรมหาบพิตร ธรรมอันกระทำอันตราย คือ โมหะแล เมื่อเกิดขึ้นในภายใน ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ
ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก. ดูกรมหาบพิตร ธรรมอันกระทำ
อันตราย ๓ ประการนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในภายใน ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก.
                          โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในตน ย่อมเบียดเบียนบุรุษ
                          ผู้มีจิตลามก เหมือนขุยของตนเบียดเบียนไม้ไผ่ ฉะนั้น.
             ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าอกุศลธรรมทั้งหลายอยู่อาศัยในอัตภาพนั้น แม้อย่างนี้.
             และสมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
                          ราคะ โทสะ โมหะ ความไม่ยินดี ความยินดี ความเป็นผู้
                          ขนลุกขนพอง มีอัตภาพนี้เป็นเหตุ เกิดแต่อัตภาพนี้ ความตรึก
                          ในใจตั้งขึ้นแต่อัตภาพนี้ ย่อมผูกสัตว์ไว้ เหมือนพวกเด็กๆ ผูก
                          กาไว้ ฉะนั้น.
             ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าอกุศลธรรมทั้งหลายอาศัยอยู่ในอัตภาพนั้น แม้อย่างนี้.
             คำว่า ครอบงำอันตรายทั้งหลาย ความว่า ครอบงำ คือ ไม่ยินดี ท่วมทับ บีบคั้น
กำจัด ซึ่งอันตรายทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ครอบงำอันตรายทั้งหลาย.
             คำว่า ผู้ไม่มีความหวาดเสียว ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ขลาด ไม่มีความ
หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี เป็นผู้ละความกลัวความขลาดแล้ว ปราศจากความเป็นผู้ขนลุก
ขนพองอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ครอบงำอันตรายทั้งหลาย ไม่มีความหวาดเสียว พึงเที่ยว
ไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงกล่าวว่า
                          พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น มีปกติอยู่ตามสบายในทิศ ๔ ไม่มี
                          ความขัดเคือง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ครอบงำอันตราย
                          ทั้งหลาย ไม่มีความหวาดเสียว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน
                          นอแรด ฉะนั้น.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๖๖๘๓-๖๗๘๔ หน้าที่ ๒๗๑-๒๗๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=6683&Z=6784&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=692&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=692&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=30&item=692&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=30&item=692&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=692              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30 https://84000.org/tipitaka/english/?index_30

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]