ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
             [๗๘๘] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัส
                          ก่อนๆ แล้ว ได้อุเบกขาและสมถะอันหมดจดวิเศษแล้ว
                          พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๗๘๙] คำว่า ละสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัสก่อนๆ แล้ว ความว่า พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส
โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ละสุข ทุกข์
โสมนัสและโทมนัสก่อนๆ แล้ว.
             [๗๙๐] ความวางเฉย กิริยาที่วางเฉย กิริยาที่หยุดเฉย ความที่จิตระงับ ความที่จิต
เป็นกลาง ในจตุตถฌาน ชื่อว่า อุเบกขา ในอุเทศว่า ลทฺธานุเปกฺขํ สมถํ วิสุทฺธํ ดังนี้.
             ความตั้งอยู่ ความดำรงอยู่ ความหยุดอยู่ ความไม่ส่าย ความไม่ฟุ้งแห่งจิต ความ
แน่วแน่ ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ชื่อว่าสมถะ.
             อุเบกขาในจตุตถฌาน และสมถะเป็นความหมดจด เป็นความหมดจดวิเศษ เป็นความ
ขาวผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น
ถึงความไม่หวั่นไหว.
             คำว่า ได้อุเบกขาและสมถะอันหมดจดวิเศษ ความว่า ได้ ได้แล้วซึ่งอุเบกขาในจตุตถฌาน
และสมถะ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ได้อุเบกขาและสมถะอันหมดจดวิเศษ พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ละสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัส
                          ก่อนๆ แล้ว ได้อุเบกขาและสมถะอันหมดจดวิเศษแล้ว
                          พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๗๙๑] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ปรารภความเพียร เพื่อถึงปรมัตถ-
                          ประโยชน์ มีจิตมิได้ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน
                          มีความพยายามมั่นคง เข้าถึงด้วยเรี่ยวแรงและกำลัง พึง
                          เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๗๙๒] อมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้น
ตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ท่านกล่าวว่า
ปรมัตถประโยชน์ ในอุเทศว่า อารทฺธวิริโย ปรมตฺถปตฺติยา ดังนี้.
             พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นปรารภความเพียร เพื่อถึง คือ เพื่อได้ เพื่อได้เฉพาะ เพื่อ
บรรลุ เพื่อถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งปรมัตถประโยชน์ มีเรี่ยวแรง มีความบากบั่นมั่นคง เพื่อ
ละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า
ปรารภความเพียรเพื่อถึงปรมัตถประโยชน์.
             [๗๙๓] คำว่า มีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน ความว่า พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้
อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์
เพื่อความเจริญบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า มีจิตไม่ย่อหย่อน
มีความประพฤติไม่เกียจคร้านด้วยอาการอย่างนี้.
             อีกอย่างหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า เนื้อและเลือดจงเหือดแห้ง
ไป จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เรายังไม่ได้บรรลุอิฐผลที่การกบุคคลจะพึง
บรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่น
ของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเลย. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความ
ประพฤติไม่เกียจคร้าน แม้ด้วยอาการอย่างนี้. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า
เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้ ตราบเท่าเวลาที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน แม้ด้วยอาการ
อย่างนี้. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า
                          เราจักไม่กิน จักไม่ดื่ม ไม่ออกจากวิหารและจักไม่เอนข้าง
                          ลงนอน เมื่อยังถอนลูกศรคือตัณหาไม่ได้.
             พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน แม้
ด้วยอาการอย่างนี้. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า เราจะไม่ลุกจากอาสนะนี้
ตราบเท่าเวลาที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. พระปัจเจกสัมพุทธ-
*เจ้านั้น ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน แม้ด้วยอาการอย่างนี้. พระ-
*ปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า เราจักไม่ลงจากที่จงกรมนี้ จักไม่ออกจากวิหารนี้
จักไม่ออกจากเพิงนี้ จักไม่ออกจากปราสาทนี้ จักไม่ออกจากเรือนโล้นนี้ จักไม่ออกจากถ้ำนี้
จักไม่ออกจากที่เร้นนี้ จักไม่ออกจากกระท่อมนี้ จักไม่ออกจากเรือนยอดนี้ จักไม่ออกจากไม้
แคร่นี้. จักไม่ออกจากโรงนี้ จักไม่ออกจากที่พักนี้ จักไม่ออกจากหอฉันนี้ จักไม่ออกจาก
มณฑปนี้ จักไม่ออกจากโคนไม้นี้ ตราบเท่าเวลาที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่
ถือมั่น. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน
แม้ด้วยอาการอย่างนี้. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า ในเช้าวันนี้นี่แหละ
เราจักนำมา จักนำมาด้วยดี จักบรรลุ จักถูกต้อง จักทำให้แจ้งซึ่งอริยธรรม. พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน แม้ด้วยอาการอย่างนี้.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า ในเที่ยงวันนี้นี่แหละ ในเย็นวันนี้นี่แหละ
ในเวลาก่อนอาหารวันนี้นี่แหละ ในเวลาหลังอาหารวันนี้นี่แหละ ในยามต้นนี้แหละ ในยาม
กลางนี้แหละ ในยามหลังนี้แหละ ในข้างแรมนี้แหละ ในข้างขึ้นนี้แหละ ในฤดูฝนนี้แหละ
ในฤดูหนาวนี้แหละ ในฤดูร้อนนี้แหละ ในตอนวัยต้นนี้แหละ ในตอนวัยกลางนี้แหละ ใน
ตอนวัยหลังนี้แหละ เราจักนำมา จักนำมาด้วยดี จักบรรลุ จักถูกต้อง จักทำให้แจ้งซึ่ง
อริยธรรม พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน
แม้ด้วยอาการอย่างนี้.
             [๗๙๔] คำว่า มีความพยายามมั่นคง ในอุเทศว่า ทฬฺหนิกฺกโม ถามพลูปปนฺโน ดังนี้
ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั่นมีสมาทานมั่น มีสมาทานแน่วแน่ ในกุศลธรรมทั้งหลาย คือ
ในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต การแจกทาน การสมาทานศีล การรักษาอุโบสถ ความ
เป็นผู้เกื้อกูลแก่มารดา ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่บิดา ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่สมณะ ความเป็นผู้
เกื้อกูลแก่พราหมณ์ ความประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในกุศลธรรมอื่นๆ ที่ยิ่งขึ้นไป
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีความพยายามมั่นคง.
             คำว่า เข้าถึงด้วยเรี่ยวแรงและกำลัง ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เข้าไป
เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยเรี่ยวแรง กำลัง ความเพียร
ความบากบั่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีความพยายาม มั่นคง มีความเข้าถึงด้วยเรี่ยวแรงและกำลัง
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ปรารภความเพียร เพื่อถึงปรมัตถ-
                          ประโยชน์ มีจิตมิได้ย่อหย่อน มีความประพฤติมิได้
                          เกียจคร้าน มีความพยายามมั่นคง เข้าถึงด้วยเรี่ยวแรงและ
                          กำลัง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๗๙๕] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ไม่ละวิเวกและฌาน ประพฤติธรรม
                          สมควร ในธรรมทั้งหลายเป็นนิตย์ พิจารณาเห็นโทษในภพ
                          ทั้งหลาย พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๗๙๖] คำว่า ไม่ละวิเวกและฌาน ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ชอบ
วิเวก ยินดีในวิเวก ประกอบความสงบจิต ณ ภายในเนืองๆ ไม่ห่างจากฌาน ไม่ละฌาน คือ
ประกอบ ประกอบทั่ว ประกอบพร้อม หมั่นประกอบ หมั่นประกอบพร้อม เพื่อความเกิดขึ้น
แห่งปฐมฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อความเกิดขึ้นแห่งทุติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อความเกิดขึ้นแห่ง
ตติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจตุตถฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงชื่อว่า ไม่ละฌานด้วยอาการอย่างนี้.
             อีกอย่างหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมทำให้มาก ซึ่ง
ปฐมฌานที่เกิดขึ้นแล้ว ทุติยฌานที่เกิดขึ้นแล้ว ตติยฌานที่เกิดขึ้นแล้ว หรือจตุตถฌานที่เกิดขึ้น
แล้ว เพราะฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงชื่อว่า ไม่ละฌานแม้ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ไม่ละวิเวกและฌาน.
             [๗๙๗] สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านกล่าวว่า ธรรมในอุเทศว่า
ธมฺเมสุ นิจฺจํ อนุธมฺมจารี ดังนี้.
             ธรรมอันสมควรเป็นไฉน? ความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็น
ข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความเป็นผู้ทำให้
บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้ประมาณใน
โภชนะ ความประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ เหล่านี้ท่านกล่าวว่า ธรรม
อันสมควร.
             คำว่า ประพฤติธรรมอันสมควรในธรรมทั้งหลายเป็นนิตย์ ความว่า พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น ประพฤติ ปฏิบัติ ดำเนิน เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา ในธรรมทั้งหลาย
ตลอดกาลเป็นนิตย์ คือ ติดต่อเนืองๆ ต่อลำดับไม่สับสน เนื่องกันกระทบกัน เหมือนละลอกน้ำ
เป็นคลื่นสืบต่อกระทบเนื่องกันไป ในเวลาก่อนอาหาร ในเวลาหลังอาหาร ในยามต้น ในยาม
กลาง ในยามหลัง ในข้างแรม ในข้างขึ้น ในฤดูฝน ในฤดูหนาว ในฤดูร้อน ในตอนวัยต้น
ในตอนวัยกลาง ในตอนวัยหลัง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ประพฤติธรรมอันสมควรในธรรมทั้งหลาย
ตลอดกาลเป็นนิตย์.
             [๗๙๘] คำว่า พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลาย ความว่า พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลาย
ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลายพึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระ-
*ปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไม่ละวิเวกและฌาน ประพฤติธรรม
                          สมควร ในธรรมทั้งหลายเป็นนิตย์ พิจารณาเห็นโทษในภพ
                          ทั้งหลาย พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๗๙๙] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท
                          ไม่โง่เขลา มีสุตะ มีสติ มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว มีธรรม
                          อันแน่นอน มีความเพียร พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
                          ฉะนั้น.
             [๘๐๐] รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา
ชื่อว่า ตัณหา ในอุเทศว่า ตณฺหกฺขยํ ปตฺถยํ อปฺปมตฺโต ดังนี้.
             คำว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา ความว่า ปรารถนา จำนง ประสงค์ซึ่งความสิ้นราคะ
ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ความสิ้นคติ ความสิ้นอุปบัติ ความสิ้นปฏิสนธิ ความสิ้นภพ
ความสิ้นสงสาร ความสิ้นวัฏฏะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา.
             คำว่า ไม่ประมาท ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ทำโดยเอื้อเฟื้อ ทำโดยติดต่อ
ฯลฯ ไม่ประมาทในกุศลธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ปรารถนา ความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท.
             [๘๐๑] คำว่า ไม่โง่เขลา ในอุเทศว่า อเนลมูโค สุตฺวา สติมา ดังนี้ ความว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเป็นเครื่องรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง
มีปัญญาทำลายกิเลส เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่โง่เขลา.
             คำว่า มีสุตะ ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นพหุสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ
คือ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรม
ทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ประกาศ
พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีสุตะ.
             คำว่า มีสติ ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติรอบคอบ
อย่างยิ่ง ระลึกถึงกิจที่ทำและคำที่พูดแล้ว แม้นานได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่โง่เขลา มีสุตะ
มีสติ.
             [๘๐๒] ญาณ ปัญญา ความรู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
ท่านกล่าวว่า สังขตธรรม ในอุเทศว่า สงฺขตธมฺโม นิยโต ปธานวา ดังนี้.
             คำว่า มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นมีธรรมอันนับพร้อม
แล้ว มีธรรมอันรู้แล้ว มีธรรมอันเทียบเคียงแล้ว มีธรรมอันพิจารณาแล้ว มีธรรมอันเป็นแจ้งแล้ว
มีธรรมแจ่มแจ้งแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา.
             อีกอย่างหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นพิจารณาขันธ์แล้ว พิจารณาธาตุแล้ว พิจารณา
อายตนะแล้ว พิจารณาคติแล้ว พิจารณาอุปบัติแล้ว พิจารณาปฏิสนธิแล้ว พิจารณาภพแล้ว
พิจารณาสังขารแล้ว พิจารณาวัฏฏะแล้ว.
             อีกอย่างหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตั้งอยู่ในขันธ์เป็นที่สุด ในธาตุเป็นที่สุด ในอายตนะ
เป็นที่สุด ในคติเป็นที่สุด ในอุปบัติเป็นที่สุด ในปฏิสนธิเป็นที่สุด ในภพเป็นที่สุด ในสงสาร
เป็นที่สุด ในวัฏฏะเป็นที่สุด ในสังขารเป็นที่สุด ในภพที่สุด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทรงไว้
ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด.
                          พระขีณาสพใดมีภพเป็นที่สุด มีอัตภาพ มีสงสารคือชาติ
                          ชราและมรณะ ครั้งหลังสุด พระขีณาสพนั้นไม่มีในภพ
                          ใหม่.
             เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว.
             อริยมรรค ๔ ท่านกล่าวว่า ธรรมอันแน่นอน ในคำว่า นิยโต นี้ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ประกอบด้วยอริยมรรค ๔ ชื่อว่ามีธรรมอันแน่นอน คือ ถึงพร้อม ถูกต้อง ทำให้แจ้ง ซึ่งนิยาม-
*ธรรมด้วยอริยมรรคทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีธรรมอันแน่นอน.
             ความเพียร ความปรารภความเพียร ความก้าวหน้า ความบากบั่น ความหมั่น ความ
เป็นผู้มีความหมั่น เรี่ยวแรง ความพยายามแห่งจิต ความบากบั่นอันไม่ย่อหย่อน ความเป็น
ผู้ไม่ทอดฉันทะ ความเป็นผู้ไม่ทอดธุระ ความประคองธุระ วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ
สัมมาวายามะ ท่านกล่าวว่า ปธาน ในคำว่า ปธานวา.
             พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง
เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยความเพียรนี้ เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงชื่อว่า
มีความเพียร. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว มีธรรมอันแน่นอน มีความเพียร
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท
                          ไม่โง่เขลา มีสุตะ มีสติ มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว มีธรรม
                          อันแน่นอน มีความเพียร พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
                          ฉะนั้น.
             [๘๐๓] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ไม่สะดุ้งในเพราะเสียงเหมือนสีหะ
                          ไม่ข้อง เหมือนลมไม่ติดที่ตาข่าย ไม่ติดอยู่ เหมือนดอก
                          บัวอันน้ำไม่ติด พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๘๐๔] คำว่า ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง เหมือนสีหะ ความว่า สีหมฤคราชไม่หวาดหวั่น
ไม่ครั่นคร้าน ไม่สะทกสะท้าน ไม่ตกใจ ไม่สยดสยอง ไม่สะดุ้ง ไม่ขลาด ไม่พรั่นพรึง ไม่
หวาดเสียว ไม่หนีไปในเพราะเสียงทั้งหลาย ฉันใด แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็ฉันนั้น เป็นผู้
ไม่หวาดหวั่น ไม่ครั่นคร้าม ไม่สะทกสะท้าน ไม่ตกใจ ไม่สยดสยอง ไม่สะดุ้ง ไม่ขลาด
ไม่มีความพรั่นพรึง ไม่หวาดเสียว ไม่หนี ละความกลัวความขลาดแล้ว ปราศจากขนลุกขนพอง
อยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง เหมือนสีหะ.
             [๘๐๕] ลมทิศตะวันออก ลมทิศตะวันตก ลมทิศเหนือ ลมทิศใต้ ลมมีธุลี ลมเย็น
ลมร้อน ลมน้อย ลมมาก ลมพัดตามกาล ลมหัวด้วน ลมแต่ปีกนก ลมแต่ครุฑ ลมแต่
ใบตาล ลมแต่พัด ชื่อว่า ลม ในอุเทศว่า วาโตว ชาลมฺหิ อสชฺชมาโน ดังนี้.
             ข่ายที่ทำด้วยด้าย ท่านกล่าวว่า ชาละ. ลมไม่ข้อง ไม่ติด ไม่ขัด ไม่เกาะที่ตาข่าย
ฉันใด ข่าย ๒ อย่าง คือ ข่ายตัณหา ๑ ข่ายทิฏฐิ ๑. ฯลฯ ชื่อว่าข่ายตัณหา. นี้ชื่อว่าข่ายทิฏฐิ.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละข่ายตัณหา สละคืนข่ายทิฏฐิแล้ว. เพราะละข่ายตัณหา เพราะสละ
คืนข่ายทิฏฐิแล้ว พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงไม่ข้อง ไม่ติด ไม่ขัด ไม่เกาะ ในรูป เสียง ฯลฯ
ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ และธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้ง เป็นผู้ออกไป
สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง มีใจอันทำให้ปราศจากเขตแดนอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน.
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่ข้อง เหมือนลมไม่ข้องอยู่ที่ตาข่าย.
             [๘๐๖] ดอกบัว ท่านกล่าวว่า ปทุมํ ในอุเทศว่า ปทุมํ ว โตเยน อลิมฺปมาโน ดังนี้.
น้ำท่านกล่าวว่า โตยะ. ดอกปทุมอันน้ำย่อมไม่ติด ไม่เอิบอาบ ไม่ซึมซาบ ฉันใด. ความติด ๒
อย่าง คือ ความติดด้วยตัณหา ๑ ความติดด้วยทิฏฐิ ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความติดด้วยตัณหา. ฯลฯ
นี้ชื่อว่าความติดด้วยทิฏฐิ. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละความติดด้วยตัณหา สละคืนความติดด้วย
ทิฏฐิเสียแล้ว. เพราะละความติดด้วยตัณหา เพราะสละคืนความติดด้วยทิฏฐิ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
นั้นจึงไม่ติด ไม่เข้าไปติด ไม่ฉาบ ไม่เข้าไปฉาบ ในรูป เสียง ฯลฯ ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่
ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ และธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้ง เป็นผู้ออกไป สลัดออก หลุดพ้น ไม่
เกี่ยวข้อง มีใจอันทำให้ปราศจากเขตแดนอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่
ติดเหมือนดอกบัวอันน้ำไม่ติด พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระ-
*ปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไม่สะดุ้งในเพราะเสียง เหมือนสีหะ
                          ไม่ข้อง เหมือนลมไม่ติดตาข่าย ไม่ติดเหมือนดอกบัวอัน
                          น้ำไม่ติด พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๘๐๗] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ามีปัญญาเป็นกำลัง ข่มขี่ครอบงำสัตว์
                          ทั้งหลายเที่ยวไป เหมือนสีหราช มีเขี้ยวเป็นกำลัง ปราบ
                          ปรามครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป ฉะนั้น. พระปัจเจก-
                          สัมพุทธเจ้านั้น พึงเสพซึ่งเสนาสนะอันสงัด พึงเที่ยวไป
                          ผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๘๐๘] คำว่า เหมือนสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ปราบปรามครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป
ความว่า สีหมฤคราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง คือ มีเขี้ยวเป็นอาวุธ ข่มขี่ ครอบงำ ปราบปราม กำจัด ย่ำยี
ซึ่งสัตว์ดิรัจฉานทั้งปวง เที่ยวไป ท่องเที่ยวไป ดำเนิน เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา ฉันใด
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีปัญญาเป็นกำลัง คือ มีปัญญาเป็นอาวุธ ข่มขี่
ครอบงำ ปราบปราม กำจัด ย่ำยี ซึ่งสัตว์ทั้งปวงด้วยปัญญาเที่ยวไป ท่องเที่ยวไป ดำเนินไป
เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ปราบปราม
ครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป.
             [๘๐๙] คำว่า พึงเสพเสนาสนะอันสงัด ความว่า สีหมฤคราชเข้าไปสู่ราวป่าอันสงัด
เที่ยวไป ท่องเที่ยวไป ดำเนินไป เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา ฉันใด แม้พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ซ่องเสพเสนาสนะอันเป็นป่ารกชัฏ สงัด เงียบสงัด ไม่มีเสียง
กึกก้อง ปราศจากคนสัญจรไปมา ควรแก่การทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้น.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านบิณฑบาตผู้เดียว
กลับผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวเที่ยวไป ท่องเที่ยวไป ดำเนิน
ไป เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเสพเสนาสนะอันสงัด พึง
เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ามีปัญญาเป็นกำลัง ข่มขี่ ครอบงำสัตว์
                          ทั้งหลายเที่ยวไป เหมือนสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ปราบ
                          ปรามครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป ฉะนั้น พระปัจเจก-
                          สัมพุทธเจ้านั้น พึงเสพเสนาสนะอันสงัด พึงเที่ยวไปผู้เดียว
                          เหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๘๑๐] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ซ่องเสพเมตตา กรุณา มุทิตาและ
                          อุเบกขาอันเป็นวิมุติ ตลอดเวลา อันสัตว์โลกทั้งมวลมิได้
                          เกลียดชัง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๘๑๑] คำว่า ซ่องเสพเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอันเป็นวิมุติ ตลอดเวลา
ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นมีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศที่หนึ่งอยู่ ทิศที่สอง
ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หา
ประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นมีใจประกอบด้วย
กรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่หนึ่งอยู่ ทิศที่
สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่
หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ซ่องเสพเมตตา
กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอันเป็นวิมุติ ตลอดเวลา.
             [๘๑๒] พึงทราบวินิจฉัยในข้อว่า อันสัตว์โลกทั้งมวลมิได้เกลียดชังดังต่อไปนี้ เพราะ
เป็นผู้เจริญเมตตาเป็นต้น สัตว์ทั้งหลายในทิศตะวันออกจึงไม่เกลียดชัง สัตว์ทั้งหลายในทิศ
ตะวันตก ในทิศเหนือ ในทิศใต้ ในทิศอาคเนย์ ในทิศพายัพ ในทิศอีสาน ในทิศหรดี ใน
ทิศเบื้องล่าง ในทิศเบื้องบน ในทิศน้อยทิศใหญ่ทั้ง ๑๐ ทิศ ไม่เกลียดชัง.
             คำว่า อันสัตว์โลกทั้งมวลมิได้เกลียดชัง ความว่า อันสัตว์โลกทั้งหมดมิได้เกลียด มิได้
โกรธ มิได้เสียดสี มิได้กระทบกระทั่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อันสัตว์โลกทั้งมวลมิได้เกลียดชัง
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ซ่องเสพเมตตา กรุณา มุทิตา และ
                          อุเบกขาอันเป็นวิมุติ ตลอดเวลา อันสัตว์โลกทั้งมวลมิได้
                          เกลียดชัง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๘๑๓] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละแล้วซึ่งราคะ โทสะ โมหะ ทำลาย
                          เสียแล้วซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต พึง
                          เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๘๑๔] ความกำหนัด ความกำหนัดหนัก ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ชื่อว่า
ราคะ ในอุเทศว่า ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ ดังนี้. จิตอาฆาต ฯลฯ ความเป็นผู้ดุร้าย
ความแค้นใจจนถึงน้ำตาไหล ความไม่พอใจ ชื่อว่า โทสะ. ความไม่รู้ทุกข์ ฯลฯ อวิชชา
เป็นบ่วง ความหลงใหล อกุศลมูล ชื่อว่า โมหะ. คำว่า ละแล้วซึ่งราคะ โทสะ และโมหะ
ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละ สละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง
ซึ่งราคะ โทสะ และโมหะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ละแล้วซึ่งราคะ โทสะ และโมหะ.
             [๘๑๕] สังโยชน์ ในอุเทศว่า ทำลายเสียแล้วซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย ดังนี้ มี ๑๐ ประการ
คือ กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ ฯลฯ อวิชชาสังโยชน์. คำว่า ทำลายเสียแล้วซึ่งสังโยชน์
ทั้งหลาย ความว่า ทำลาย ทำลายทั่ว ทำลายพร้อม ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความ
ไม่มีในภายหลัง ซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทำลายเสียแล้วซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย.
             [๘๑๖] คำว่า ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นไม่หวาด-
*เสียว ไม่หวาดหวั่น ไม่ครั่นคร้าม ไม่สะดุ้ง ไม่ตกใจ ไม่สยดสยอง ไม่พรั่น ไม่กลัว ไม่
สะทกสะท้าน ไม่หนี ละความกลัวความขลาดแล้ว ปราศจากขนลุกขนพอง ในเวลาสิ้นสุด
ชีวิต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละแล้วซึ่งราคะ โทสะ โมหะ ทำลาย
                          เสียแล้วซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต พึง
                          เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๘๑๗] 	มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ จึงจะคบหาสมาคมด้วย.
                          มิตรในวันนี้ไม่มีเหตุหาได้ยาก. มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่ง
                          ประโยชน์ตน เป็นคนไม่สะอาด. (เพราะฉะนั้น) พึง
                          เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๘๑๘] คำว่า มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ จึงจะคบหาสมาคมด้วย ความว่า
มิตรทั้งหลายมีประโยชน์ตนเป็นเหตุ มีประโยชน์ผู้อื่นเป็นเหตุ มีประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเป็นเหตุ
มีประโยชน์ในปัจจุบันเป็นเหตุ มีประโยชน์ในสัมปรายภพเป็นเหตุ มีประโยชน์อย่างยิ่งเป็นเหตุ
จึงจะคบหา สมคบ เสพ สมาคมด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ
จึงจะคบหาสมาคมด้วย.
             [๘๑๙] มิตร ในอุเทศว่า มิตรในวันนี้ ไม่มีเหตุหาได้ยาก มี ๒ จำพวก คือ มิตร-
*คฤหัสถ์ ๑ มิตรบรรพชิต ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่ามิตรคฤหัสถ์. ฯลฯ นี้ชื่อว่ามิตรบรรพชิต. คำว่า มิตร
ในวันนี้ ไม่มีเหตุหาได้ยาก ความว่า มิตร ๒ จำพวกนี้ ไม่มีการณะ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย
หาได้ยาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มิตรในวันนี้ ไม่มีเหตุหาได้ยาก.
             [๘๒๐] คำว่า มีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ในอุเทศว่า อตฺตตฺถปญฺญา อสุจี มนุสฺสา
ดังนี้ ความว่า มนุษย์ทั้งหลายย่อมคบ สมคบ เสพ เสพด้วย ซ่องเสพ เอื้อเฟื้อ ประพฤติ
เอื้อเฟื้อ เข้านั่งใกล้ ไต่ถาม สอบถาม เพื่อประโยชน์ตน เพราะเหตุแห่งตน เพราะปัจจัย
แห่งตน เพราะการณะแห่งตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีปัญญามุ่งประโยชน์ตน.
             คำว่า มนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่สะอาด ความว่า มนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้ประกอบด้วย
กายกรรมอันไม่สะอาด วจีกรรมอันไม่สะอาด มโนกรรมอันไม่สะอาด ปาณาติบาตอันไม่สะอาด
อทินนาทานอันไม่สะอาด กาเมสุมิจฉาจารอันไม่สะอาด มุสาวาทอันไม่สะอาด ปิสุณาวาจาอัน
ไม่สะอาด ผรุสวาจาอันไม่สะอาด สัมผัปปลาปะอันไม่สะอาด อภิชฌาอันไม่สะอาด พยาบาท
อันไม่สะอาด มิจฉาทิฏฐิอันไม่สะอาด เจตนาอันไม่สะอาด ความปรารถนาอันไม่สะอาด ความ
ตั้งใจอันไม่สะอาด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ไม่สะอาด คือ เป็นคนเลว เลวลง เป็นคน
ทราม ต่ำช้า ลามก ชั่วช้า ชาติชั่ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตน
เป็นคนไม่สะอาด.
             [๘๒๑] คำว่า ผู้เดียว ในอุเทศว่า เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป ดังนี้ ฯลฯ. จริยา
(การเที่ยวไป) ในคำว่า จเร ดังนี้ มี ๘ อย่าง ฯลฯ. ชื่อว่าพึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ จึงคบหาสมาคมด้วย.
                          มิตรในวันนี้ไม่มีเหตุ หาได้ยาก. มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่ง
                          ประโยชน์ตน เป็นคนไม่สะอาด. (เพราะฉะนั้น) พึงเที่ยว
                          ไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
จบ ขัคควิสาณสุตตนิทเทส.
-----------------------------------------------------
ก็แหละนิทเทสแห่งพราหมณ์ผู้ถึงฝั่งในศาสนา ๑๖ คนนี้ คือ อชิตพราหมณ์ ๑ ติสสเมตเตยยพราหมณ์ ๑ ปุณเณก- พราหมณ์ ๑ เมตตคูพราหมณ์ ๑ โธตกพราหมณ์ ๑ อุปสีวพราหมณ์ ๑ นันทพราหมณ์ ๑ เหมกพราหมณ์ ๑ โตเทยยพราหมณ์ ๑ กัปปพราหมณ์ ๑ ชตุกัณณีพราหมณ์ ผู้เป็นบัณฑิต ๑ ภัทราวุธพราหมณ์ ๑ อุทยพราหมณ์ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราชพราหมณ์ผู้นักปราชญ์ ๑ ปิงคิยพราหมณ์ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ๑ รวมเป็น ๑๖ นิทเทส และในปารายนวรรคนั้น ยังมีขัคควิสาณสุตตนิทเทสอีก ๑ นิทเทส ๒ อย่างควรรู้ บริบูรณ์ ท่านลิขิตไว้เรียบร้อยดี.
จบ สุตตนิทเทสบริบูรณ์.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๗๘๔๙-๘๑๖๕ หน้าที่ ๓๑๘-๓๓๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=7849&Z=8165&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=788&items=34              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=788&items=34&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=30&item=788&items=34              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=30&item=788&items=34              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=788              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30 https://84000.org/tipitaka/english/?index_30

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]