อภิธรรมภาชนีย์
อัฏฐังคิกวาร
[๕๘๐] มรรคมีองค์ ๘ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา
๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ
๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ
๘. สัมมาสมาธิ
ในธรรมเหล่านั้น มรรคมีองค์ ๘ เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ เจริญโลกุตตรฌาน อันเป็นเครื่องนำออกไปจากโลก
ให้เข้าสู่นิพพาน เพื่อประหาณทิฏฐิ เพื่อบรรลุปฐมภูมิ สงัดจากกาม สงัดจาก
อกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตก วิจาร มีปีติและสุข
อันเกิดแต่วิเวก เป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา อยู่ ในสมัยใด มรรคมีองค์ ๘
คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ย่อมมี ในสมัยนั้น
[๕๘๑] ในมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาทิฏฐิ เป็นไฉน
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ๑- ความไม่หลง ความวิจัยธรรม ความ
เห็นชอบ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด
นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
[๕๘๒] สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน
ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ ความที่จิตแนบแน่นอยู่ใน
อารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ความดำริ
ชอบ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
[๕๘๓] สัมมาวาจา เป็นไฉน
การงด การเว้น การเลิกละ เจตนาเครื่องเว้น จากวจีทุจริต ๔ กิริยาไม่
ทำ การไม่ทำ การไม่ล่วงละเมิด การไม่ล้ำเขต การกำจัด ต้นเหตุวจีทุจริต ๔
วาจาชอบ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด นี้เรียกว่า สัมมาวาจา
[๕๘๔] สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน
การงด การเว้น การเลิกละ เจตนาเครื่องเว้น จากกายทุจริต ๓ กิริยา
ไม่ทำ การไม่ทำ การไม่ล่วงละเมิด การไม่ล้ำเขต การกำจัด ต้นเหตุกายทุจริต ๓
การงานชอบ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด นี้เรียกว่า
สัมมากัมมันตะ
[๕๘๕] สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน
การงด การเว้น การเลิกละ เจตนาเครื่องเว้น จากมิจฉาอาชีวะ
กิริยาไม่ทำ การไม่ทำ การไม่ล่วงละเมิด การไม่ล้ำเขต การกำจัด ต้นเหตุ
มิจฉาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด
นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ
@๑. ความที่ ฯลฯ พึงดูในธรรมสังคณีปกรณ์ ข้อ ๒๑๖ เป็นลำดับไป
[๕๘๖] สัมมาวายามะ เป็นไฉน
การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ ความพยายามชอบ วิริยสัมโพชฌงค์
อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ
[๕๘๗] สัมมาสติ เป็นไฉน
สติ ความตามระลึก ฯลฯ ความระลึกชอบ สติสัมโพชฌงค์ อันเป็น
องค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด นี้เรียกว่า สัมมาสติ
[๕๘๘] สัมมาสมาธิ เป็นไฉน
ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ สมาธิสัมโพชฌงค์ อันเป็น
องค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า ธรรมที่สัมป-
*ยุตด้วยมรรคมีองค์ ๘
เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ บรรทัดที่ ๗๕๕๙-๗๖๐๙ หน้าที่ ๓๒๗-๓๒๙.
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=35&A=7559&Z=7609&pagebreak=0
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=35&item=580&items=9
อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :-
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=35&item=580&items=9&mode=bracket
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :-
https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=35&item=580&items=9
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :-
https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=35&item=580&items=9
ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :-
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=35&i=580
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕
https://84000.org/tipitaka/read/?index_35
https://84000.org/tipitaka/english/?index_35
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖.
บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙.
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]