ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์
สุตตันตภาชนีย์
มาติกานิเทศ
[๖๐๐] บทว่า ในศาสนานี้ มีอธิบายว่า ในทิฏฐินี้ ในขันตินี้ ในรุจินี้ ในลัทธินี้ ในธรรมนี้ ในวินัยนี้ ในธรรมวินัยนี้ ในปาพจน์นี้ ในพรหมจรรย์นี้ ในศาสนาของพระศาสดานี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ในศาสนานี้ [๖๐๑] บทว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะสมัญญา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะปฏิญญา ชื่อว่าภิกษุ เพราะขอ ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้เข้าถึงภิกขาจาร ชื่อว่าภิกษุ เพราะทรงแผ่นผ้าที่ถูกทำลาย ชื่อว่าภิกษุ เพราะกำลังทำลายบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลาย บาปอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว ชื่อว่าภิกษุ เพราะละกิเลสโดยจำเพาะส่วน ชื่อว่า ภิกษุ เพราะละกิเลสโดยไม่จำเพาะส่วน พระเสขะ ชื่อว่าภิกษุ พระอเสขะ ชื่อว่าภิกษุ ผู้ไม่ใช่พระเสขะและไม่ใช่พระอเสขะ ชื่อว่าภิกษุ ผู้ตั้งอยู่ในธรรม อันเลิศ ชื่อว่าภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรมอันงาม ชื่อว่าภิกษุ ผู้บริสุทธิ์ผ่องใส ชื่อว่าภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรมอันเป็นสาระ ชื่อว่าภิกษุ ผู้อุปสมบทด้วยญัตติ- *จตุตถกรรมที่ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ผู้พร้อมเพียงกัน ชื่อว่าภิกษุ [๖๐๒] บทว่า ปาติโมกข์ ได้แก่ศีลอันเป็นที่อาศัย เป็นเบื้องต้น เป็นจรณะ เป็นเครื่องสำรวม เป็นเครื่องระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธาน เพื่อ ความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย บทว่า สังวร ได้แก่ การไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทั้งทางกายและทางวาจา บทว่า เป็นผู้สำรวมแล้ว มีอธิบายว่า เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว เข้าไปถึง แล้วด้วยดี เข้ามาถึงแล้ว เข้ามาถึงแล้วด้วยดี เข้าถึงแล้ว เข้าถึงแล้วด้วยดี ประกอบแล้ว ด้วยปาติโมกขสังวรนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เป็นผู้สำรวมแล้ว ด้วยปาติโมกขสังวร [๖๐๓] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ประพฤติเป็นไปอยู่ รักษาอยู่ เป็นไปอยู่ ให้เป็นไปอยู่ เที่ยวไปอยู่ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๖๐๔] บทว่า ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจาระและโคจร มีอธิบายว่า อาจาระ มีอยู่ อนาจาระ มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น อนาจาระ เป็นไฉน ความล่วงละเมิดทางกาย ความล่วงละเมิดทางวาจา ความล่วงละเมิดทั้ง ทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่า อนาจาระ ความเป็นผู้ทุศีล แม้ทั้งปวง ก็เรียกว่า อนาจาระ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย่อมเลี้ยงชีวิตด้วยการให้ไม้ไผ่ หรือด้วยการ ให้ใบไม้ หรือด้วยการให้ดอกไม้ หรือด้วยการให้ผลไม้ หรือด้วยการให้จุณ สำหรับอาบ หรือด้วยการให้ไม้ชำระฟัน หรือด้วยการพูดยกย่องเพื่อต้องการให้ เขารัก หรือด้วยการพูดทีจริงทีเล่นเสมอด้วยแกงถั่ว หรือด้วยการเป็นคนรับเลี้ยง เด็ก หรือด้วยการรับใช้ฆราวาส หรือด้วยมิจฉาอาชีวะที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่า อนาจาระ อาจาระ เป็นไฉน ความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ความไม่ล่วงละเมิดทางวาจา ความไม่ล่วง ละเมิดทั้งทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่า อาจาระ สีลสังวร แม้ทั้งปวง ก็เรียกว่า อาจาระ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย่อมไม่เลี้ยงชีวิตด้วยการให้ไม้ไผ่ ย่อมไม่เลี้ยง ชีวิตด้วยการให้ใบไม้ ย่อมไม่เลี้ยงชีวิตด้วยการให้ดอกไม้ ย่อมไม่เลี้ยงชีวิตด้วย การให้ผลไม้ ย่อมไม่เลี้ยงชีวิตด้วยการให้จุณสำหรับอาบ ย่อมไม่เลี้ยงชีวิตด้วย การให้ไม้ชำระฟัน ย่อมไม่เลี้ยงชีวิตด้วยการพูดยกย่องเพื่อต้องการให้เขารัก ย่อม ไม่เลี้ยงชีวิตด้วยการพูดทีจริงทีเล่นเสมอด้วยแกงถั่ว ย่อมไม่เลี้ยงชีวิตด้วยการเป็น คนรับเลี้ยงเด็ก ย่อมไม่เลี้ยงชีวิตด้วยการรับใช้ฆราวาส ย่อมไม่เลี้ยงชีวิตด้วย มิจฉาอาชีวะที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิอย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่า อาจาระ บทว่า โคจร มีอธิบายว่า โคจร มีอยู่ อโคจร มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น อโคจร เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เป็นผู้เที่ยวไปในสำนักของหญิงแพศยา หรือ เป็นผู้เที่ยวไปในสำนักของหญิงหม้าย หรือเป็นผู้เที่ยวไปในสำนักของสาวเทื้อ หรือเป็นผู้เที่ยวไปในสำนักของบัณเฑาะก์ หรือเป็นผู้เที่ยวไปในสำนักของภิกษุณี หรือเป็นผู้เที่ยวไปในโรงสุรา เป็นผู้คลุกคลีกับด้วยพระราชา มหาอำมาตย์ของ พระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์อันไม่สมควร ก็หรือตระกูลนั้นใด ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ไม่เป็นที่ควรจะไปมา มักด่าและ บริภาษ ใคร่แต่ความพินาศ ไม่ใคร่ต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่ใคร่ต่อ ความผาสุก ไม่ใคร่ต่อความเกษมจากโยคะ แก่พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ย่อมคบหา เข้าไปหา เข้าไปหาบ่อยๆ ซึ่งตระกูลเห็นปานนั้น นี้เรียกว่า อโคจร โคจร เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ไม่เป็นผู้เที่ยวไปในสำนักของหญิงแพศยา ไม่ เป็นผู้เที่ยวไปในสำนักของหญิงหม้าย ไม่เป็นผู้เที่ยวไปในสำนักของสาวเทื้อ ไม่ เป็นผู้เที่ยวไปในสำนักของบัณเฑาะก์ ไม่เป็นผู้เที่ยวไปในสำนักของนางภิกษุณี ไม่เป็นผู้เที่ยวไปในโรงสุรา เป็นผู้ไม่คลุกคลีกับด้วยพระราชา มหาอำมาตย์ของ พระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์อันไม่สมควร ก็หรือตระกูลนั้นใด มีศรัทธา เลื่อมใส เป็นที่ควรไปมา รุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวะ มีโยคีผู้ปฏิบัติเข้าออกอยู่เนืองๆ เป็นผู้ใคร่ต่อความเจริญ ใคร่ต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูล ใคร่ต่อความผาสุก ใคร่ต่อความเกษมจากโยคะ แก่พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ย่อมคบหา เข้าไปหา เข้าไปหาบ่อยๆ ซึ่งตระกูลเห็น ปานนั้น นี้เรียกว่า โคจร ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยอาจาระและโคจร ดังกล่าวมานี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจาระและโคจร ด้วย ประการฉะนี้ [๖๐๕] คำว่า เห็นภัยในโทษทั้งหลายอันมีประมาณน้อย มีอธิบายว่า โทษทั้งหลายอันมีประมาณน้อย เป็นไฉน โทษทั้งหลายนั้นใด มีประมาณน้อย เป็นอย่างต่ำ เป็นอย่างเบา ที่ สมมติกันว่า โทษเบา ที่พึงสำรวม ที่พึงระวัง ที่พึงกระทำด้วยจิตตุปบาท ที่ เนื่องด้วยมนสิการ เหล่านี้เรียกว่า โทษทั้งหลายอันมีประมาณน้อย ภิกษุเป็นผู้เห็นโทษ เห็นภัย เห็นความชั่วร้าย และเห็นการรื้อถอน ออกเสียให้พ้น ในโทษอันมีประมาณน้อยเหล่านี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่าเห็น ภัยในโทษทั้งหลายอันมีประมาณน้อย [๖๐๖] คำว่าสมาทานแล้วประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย มีอธิบายว่า สิกขา เป็นไฉน สิกขา ๔ คือ สิกขาของภิกษุ เรียกว่าภิกขุสิกขา สิกขาของภิกษุณี เรียกว่า ภิกขุนีสิกขา สิกขาของอุบาสก เรียกว่า อุบาสกสิกขา สิกขาของ อุบาสิกา เรียกว่า อุปาสิกาสิกขา เหล่านี้เรียกว่าสิกขา ภิกษุสมาทานสิกขาทั้งหมด ด้วยสิกขาสมาทานทั้งหมด สมาทานสิกขา ทั้งหมดมิให้เหลือ ด้วยอาการที่จะพึงประพฤติทั้งหมด แล้วประพฤติอยู่ในสิกขา เหล่านี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า สมาทานแล้วประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย [๖๐๗] บทว่า สำรวมในอินทรีย์ ๖ มีอธิบายว่า ความเป็นผู้สำรวมใน อินทรีย์ ๖ มีอยู่ ความเป็นผู้ไม่สำรวมในอินทรีย์ ๖ มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น ความเป็นผู้ไม่สำรวมในอินทรีย์ ๖ เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมเป็นผู้ถือนิมิต ถือ อนุพยัญชนะ บาปอกุศลธรรม คือ อภิชฌาและโทมนัส พึงซ่านไปตามบุคคลนี้ ผู้ไม่สำรวมจักขุนทรีย์อยู่ เพราะการไม่สำรวมจักขุนทรีย์ใดเป็นเหตุ ย่อมไม่ปฏิบัติ เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์นั้น ย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์นั้น ย่อมไม่ถึงการสำรวมใน จักขุนทรีย์นั้น ฟังเสียงด้วยโสตะแล้ว ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ฯลฯ ลิ้ม รสด้วยชิวหาแล้ว ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วย มนะแล้ว เป็นผู้ถือนิมิต ถืออนุพยัญชนะ บาปอกุศลธรรม คืออภิชฌาและ โทมนัส ซึ่งซ่านไปตามบุคคลนี้ ผู้ไม่สำรวมมนินทรีย์อยู่ เพราะการไม่สำรวม มนินทรีย์ใดเป็นเหตุ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์นั้น ย่อมไม่รักษามนินทรีย์ นั้น ย่อมไม่ถึงการสำรวมในมนินทรีย์นั้น ความไม่คุ้มครอง กิริยาที่ไม่คุ้มครอง การไม่รักษา การไม่สำรวมซึ่งอินทรีย์ ๖ เหล่านี้ อันใด นี้เรียกว่าความเป็นผู้ไม่ สำรวมในอินทรีย์ ๖ ความเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ ๖ เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ บาปอกุศลธรรม คือ อภิชฌาและโทมนัสพึงซ่านไปตาม บุคคลนี้ ผู้ไม่สำรวมจักขุนทรีย์อยู่ เพราะการไม่สำรวมจักขุนทรีย์ใดเป็นเหตุ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์นั้น ย่อมรักษาจักขุนทรีย์นั้น ย่อมถึงการสำรวม ในจักขุนทรีย์นั้น ฟังเสียงด้วยโสตะแล้ว ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ฯลฯ ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ ด้วยมนะแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ บาปอกุศลธรรม คือ อภิชฌาและโทมนัส พึงซ่านไปตามบุคคลนี้ ผู้ไม่สำรวมมนินทรีย์อยู่ เพราะการ ไม่สำรวมมนินทรีย์ใดเป็นเหตุ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์นั้น ย่อมรักษา มนินทรีย์นั้น ย่อมถึงการสำรวมในมนินทรีย์นั้น ความคุ้มครอง กิริยาที่คุ้มครอง การรักษา การสำรวม ซึ่งอินทรีย์ ๖ เหล่านี้ อันใด นี้เรียกว่า ความเป็นผู้สำรวม ในอินทรีย์ ๖ ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยความเป็นผู้สำรวม ในอินทรีย์ ๖ นี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า สำรวมในอินทรีย์ ๖ [๖๐๘] บทว่า รู้ประมาณในโภชนะ มีอธิบายว่า ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในโภชนะมีอยู่ ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะมีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ไม่พิจารณาโดยแยบคายบริโภคอาหาร เพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อให้ผิวพรรณสวยงาม เพื่อให้อ้วนพี ความเป็นผู้ไม่สันโดษ ความ เป็นผู้ไม่รู้ประมาณ การไม่พิจารณา ในโภชนะนั้น อันใด นี้เรียกว่า ความเป็น ผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ พิจารณาโดยแยบคายว่า เราบริโภคอาหาร ไม่ใช่ เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อให้ผิวพรรณสวยงาม ไม่ใช่เพื่อให้อ้วนพี เรา บริโภคอาหาร เพียงเพื่อความดำรงอยู่แห่งกายนี้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อ ระงับความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยอุบายนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่า เสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความเป็นไปแห่งชีวิตินทรีย์ ความไม่มี โทษและการอยู่โดยผาสุก จักมีแก่เรา ดังนี้ แล้วจึงบริโภคอาหาร ความสันโดษ ความรู้ประมาณ การพิจารณาในโภชนะนั้น อันใด นี้เรียกว่า ความเป็นผู้รู้ ประมาณในโภชนะ ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยความเป็นผู้รู้ประมาณ ในโภชนะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า รู้ประมาณในโภชนะ [๖๐๙] ก็ภิกษุเป็นผู้ประกอบความเพียรตลอดปฐมยามและปัจฉิมยาม เป็นอย่างไร ภิกษุในศาสนานี้ ชำระจิตให้หมดจดจากธรรมที่กั้นกางจิตไม่ให้บรรลุ ความดี ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดวัน ชำระจิตให้หมดจดจากธรรม ที่กั้นกางจิตไม่ให้บรรลุความดี ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปฐมยาม แห่งราตรี สำเร็จสีหไสยาสน์ โดยนอนตะแคงขวา วางเท้าซ้อนกัน มีสติ สัมปชัญญะ ทำสัญญาในการลุกขึ้นไว้ในใจ ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้น ชำระจิตให้หมดจดจากธรรมที่กั้นกางจิตไม่ให้บรรลุความดี ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ ประกอบความเพียรตลอดปฐมยามและปัจฉิมยาม [๖๑๐] บทว่า ความเพียรอันเป็นไปติดต่อ ได้แก่ การปรารภความ เพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ บทว่า ปัญญาอันรักษาไว้ซึ่งตน ได้แก่ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ [๖๑๑] บทว่า เจริญโพธิปักขิยธรรม มีอธิบายว่า โพธิปักขิยธรรม เป็นไฉน โพชฌงค์ ๗ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัม- *โพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขา- *สัมโพชฌงค์ ธรรมเหล่านี้ เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ภิกษุ ย่อมเสพ เจริญ ทำให้มาก ซึ่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เจริญโพธิ- *ปักขิยธรรม [๖๑๒] ก็ภิกษุเป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการก้าวไปข้างหน้าและถอยกลับ มาข้างหลัง เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการแลดูข้างหน้าและเหลียวดูข้างซ้ายข้างขวา เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการคู้อวัยวะเข้าและเหยียดอวัยวะออก เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดย ปกติในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้มรส เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ เป็นผู้รู้ชัดอยู่ โดยปกติในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง เป็นอย่างไร ภิกษุในศาสนานี้ มีสติสัมปชัญญะก้าวไปข้างหน้า มีสติสัมปชัญญะ ถอยกลับมาข้างหลัง มีสติสัมปชัญญะแลดูข้างหน้า มีสติสัมปชัญญะเหลียวดู ข้างซ้ายข้างขวา มีสติสัมปชัญญะคู้อวัยวะเข้า มีสติสัมปชัญญะเหยียดอวัยวะออก มีสติสัมปชัญญะในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร มีสติสัมปชัญญะในการกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้มรส มีสติสัมปชัญญะในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ มีสติ- *สัมปชัญญะในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง ในบทเหล่านั้น บทว่า มีสติ มีอธิบายว่า สติ เป็นไฉน สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ บทว่า มีสัมปชัญญะ มีอธิบายว่า สัมปชัญญะ เป็นไฉน ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความ กำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญา เหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนประตัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือน ศัสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญา เหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ อันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยสติและสัมปชัญญะ นี้ ด้วยประการฉะนี้ ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ ภิกษุชื่อว่า มีสติสัมปชัญญะก้าวไปข้างหน้า มี สติสัมปชัญญะถอยกลับมาข้างหลัง มีสติสัมปชัญญะแลดูข้างหน้า มีสติสัมป- *ชัญญะเหลียวดูข้างซ้ายข้างขวา มีสติสัมปชัญญะคู้อวัยวะเข้า มีสติสัมปชัญญะ เหยียดอวัยวะออก มีสติสัมปชัญญะในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร มีสติสัม- *ปชัญญะในการกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้มรส มีสติสัมปชัญญะในการถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ มีสติสัมปชัญญะในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง [๖๑๓] บทว่า สงัด มีอธิบายว่า แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ใกล้ แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่าคฤหัสถ์บรรพชิต ด้วยเหตุนั้น เสนาสนะ นั้น ชื่อว่า สงัด แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ไกล แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อน กล่น ด้วยเหล่าคฤหัสถ์บรรพชิต ด้วยเหตุนั้น เสนาสนะนั้น ชื่อว่า สงัด [๖๑๔] บทว่า เสนาสนะ ได้แก่ เสนาสนะคือเตียงบ้าง เสนาสนะ คือตั่งบ้าง เสนาสนะคือที่นอนบ้าง เสนาสนะคือหมอนบ้าง เสนาสนะคือวิหาร บ้าง เสนาสนะคือเพิงบ้าง เสนาสนะคือปราสาทบ้าง เสนาสนะคือป้อมบ้าง เสนาสนะคือโรงบ้าง เสนาสนะคือที่เร้นลับบ้าง เสนาสนะคือถ้ำบ้าง เสนาสนะ คือโคนไม้บ้าง เสนาสนะคือพุ่มไม้ไผ่บ้าง หรือภิกษุยับยั้งอยู่ในที่ใด ที่นั้นทั้งหมด ชื่อว่า เสนาสนะ [๖๑๕] บทว่า อาศัย คือ อาศัยอยู่ อาศัยอยู่ด้วยดี เข้าอยู่ เข้าพำนัก อยู่ เข้าอาศัยอยู่ เสนาสนะอันสงัดนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า อาศัย [๖๑๖] บทว่า ป่า ได้แก่บริเวณนอกเสาเขื่อนทั้งหมดนั้น [๖๑๗] บทว่า โคนไม้ เป็นต้น มีอธิบายว่า รุกขมูล คือ โคนไม้ ปัพพตะ คือ ภูเขา กันทระ คือ ซอกเขา คิริคุหา คือ ถ้ำในเขา สุสาน คือ ป่าช้า อัพโภกาส คือ ที่แจ้ง ปลาลปุญชะ คือ กองฟาง [๖๑๘] บทว่า ดง เป็นชื่อของเสนาสนะที่อยู่ไกล บทว่า ดง เป็นชื่อ ของเสนาสนะราวป่า บทว่า ดง เป็นชื่อของเสนาสนะที่น่าหวาดกลัว บทว่า ดง เป็นชื่อของเสนาสนะที่น่าหวาดหวั่น บทว่า ดง เป็นชื่อของเสนาสนะที่อยู่ปลาย- *แดน บทว่า ดง เป็นชื่อของเสนาสนะที่ไม่อยู่ใกล้หมู่มนุษย์ บทว่า ดง เป็นชื่อ ของเสนาสนะที่หาความเจริญได้ยาก [๖๑๙] บทว่า สถานที่ไม่มีเสียงรบกวน มีอธิบายว่า แม้หากเสนาสนะ ใดจะอยู่ใกล้ แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่าคฤหัสถ์บรรพชิต ด้วยเหตุ นั้น เสนาสนะนั้น ชื่อว่า ไม่มีเสียงรบกวน แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ไกล แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่าคฤหัสถ์บรรพชิต ด้วยเหตุนั้น เสนาสนะ นั้น ชื่อว่า ไม่มีเสียงรบกวน [๖๒๐] บทว่า สถานที่ไม่มีเสียงอื้ออึง มีอธิบายว่า เสนาสนะใด ไม่มีเสียงรบกวน เสนาสนะนั้น ชื่อว่า สถานที่ไม่มีเสียงอื้ออึง เสนาสนะใด ไม่มีเสียงอื้ออึง เสนาสนะนั้น ชื่อว่า สถานที่ไม่ใคร่มีผู้คนสัญจรไปมา เสนาสนะ ใด ไม่ใคร่มีผู้คนสัญจรไปมา เสนาสนะนั้น ชื่อว่า สถานที่ไม่มีคนพลุกพล่าน เสนาสนะใด ไม่มีคนพลุกพล่าน เสนาสนะนั้น ชื่อว่า สถานที่อันสมควรเป็นที่ หลีกเร้น [๖๒๑] คำว่า ไปสู่ป่าก็ตาม ไปสู่โคนไม้ก็ตาม ไปสู่เรือนว่างเปล่า ก็ตาม ได้แก่ เป็นผู้ไปสู่ป่าแล้วก็ตาม เป็นผู้ไปสู่โคนไม้แล้วก็ตาม เป็นผู้ไปสู่ เรือนว่างเปล่าแล้วก็ตาม [๖๒๒] คำว่า นั่งคู้บัลลังก์ ได้แก่เป็นผู้นั่งคู้บัลลังก์ [๖๒๓] คำว่า ตั้งให้กายตรง ได้แก่กายที่ดำรงไว้ ที่ตั้งไว้เป็นกายตรง [๖๒๔] คำว่า ตั้งสติมุ่งหน้าต่อกรรมฐาน มีอธิบายว่า สติ เป็นไฉน สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ สตินี้ อันภิกษุนั้นเข้าไปตั้งไว้แล้ว ตั้งไว้ดีแล้ว ที่ปลายจมูก หรือที่นิมิตเหนือปาก ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ตั้งสติมุ่งหน้าต่อกรรมฐาน [๖๒๕] คำว่า ละอภิชฌาในโลก มีอธิบายว่า อภิชฌา เป็นไฉน ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ ความกำหนัดนักแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า อภิชฌา โลก เป็นไฉน อุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่าโลก นี้เรียกว่า โลก อภิชฌานี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูก ทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือดแห้ง ด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุดปราศไปแล้ว ในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ละอภิชฌา ในโลกเสียได้ [๖๒๖] คำว่า ด้วยจิตที่ปราศจากอภิชฌา มีอธิบายว่า จิต เป็นไฉน จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน อันใด นี้เรียกว่า จิต จิตนี้ปราศจากอภิชฌา ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ด้วยจิตที่ปราศจากอภิชฌา [๖๒๗] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ประพฤติเป็นไปอยู่ รักษาอยู่ เป็นไปอยู่ ให้เป็นไปอยู่ เที่ยวไปอยู่ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๖๒๘] คำว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา มีอธิบายว่า อภิชฌา เป็นไฉน ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ ความกำหนัดนักแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า อภิชฌา จิต เป็นไฉน จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน อันใด นี้เรียกว่า จิต ภิกษุ ชำระจิตนี้ให้หมดจด ให้หมดจดวิเศษ ให้บริสุทธิ์ ให้พ้น ให้พ้นวิเศษ ให้หลุดพ้น จากอภิชฌานี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ชำระจิตให้ บริสุทธิ์จากอภิชฌา [๖๒๙] คำว่า ละความพยาบาทและความประทุษร้าย มีอธิบายว่า ความ พยาบาท มีอยู่ ความประทุษร้าย มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น ความพยาบาท เป็นไฉน จิตอาฆาต การกระทบกระทั่ง ความกระทบกระทั่ง ความยินร้าย ความ เคือง การขุ่นเคือง ความขุ่นเคือง ความคิดประทุษร้าย การมุ่งคิดประทุษร้าย ความมุ่งคิดประทุษร้าย ความพยาบาทแห่งจิต ความคิดประทุษร้ายแห่งใจ ความ โกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย การยินร้าย ความยินร้าย ความดุร้าย ความปากร้าย ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า พยาบาท ความประทุษร้าย เป็นไฉน ความพยาบาทอันใด ความพยาบาทอันนั้น ชื่อว่า ความประทุษร้าย ความประทุษร้ายอันใด ความประทุษร้ายอันนั้น ชื่อว่า ความพยาบาท ความพยาบาทและความประทุษร้ายนี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือดแห้งด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุดปราศไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ละความพยาบาทและความประทุษร้าย ด้วยประการฉะนี้ [๖๓๐] บทว่า มีจิตไม่พยาบาท มีอธิบายว่า จิต เป็นไฉน จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน อันใด นี้เรียกว่า จิต จิตนี้ไม่พยาบาท ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีจิตไม่พยาบาท [๖๓๑] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ ด้วย เหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๖๓๒] คำว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความพยาบาทและความประทุษร้าย มีอธิบายว่า ความพยาบาท มีอยู่ ความประทุษร้าย มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น ความพยาบาท เป็นไฉน จิตอาฆาต การกระทบกระทั่ง ความกระทบกระทั่ง ความยินร้าย ความ เคือง การขุ่นเคือง ความขุ่นเคือง ความคิดประทุษร้าย การมุ่งคิดประทุษร้าย ความมุ่งคิดประทุษร้าย ความพยาบาทแห่งจิต ความคิดประทุษร้ายแห่งใจ ความ โกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย การยินร้าย ความยินร้าย ความดุร้าย ความปากร้าย ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า ความพยาบาท ความประทุษร้าย เป็นไฉน ความพยาบาทอันใด ความพยาบาทอันนั้น ชื่อว่า ความประทุษร้าย ความประทุษร้ายอันใด ความประทุษร้ายอันนั้น ชื่อว่า ความพยาบาท จิต เป็นไฉน จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน อันใด นี้เรียกว่า จิต ภิกษุ ชำระจิตให้หมดจด ให้หมดจดวิเศษ ให้บริสุทธิ์ ให้พ้น ให้ พ้นวิเศษ ให้หลุดพ้นจากความพยาบาทและความประทุษร้ายนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความพยาบาทและความประทุษร้าย ด้วยประ การฉะนี้ [๖๓๓] คำว่า ละถีนมิทธะ ได้แล้ว มีอธิบายว่า ถีนะ มีอยู่ มิทธะ มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น ถีนะ เป็นไฉน ความไม่สมประกอบ ความไม่ควรแก่การงาน ความท้อแท้ ความท้อถอย แห่งจิต ความย่อหย่อน กิริยาที่ย่อหย่อน ภาวะที่ย่อหย่อน ความหดหู่ กิริยาที่ หดหู่ ภาวะที่หดหู่ แห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า ถีนะ มิทธะ เป็นไฉน ความไม่สมประกอบ ความไม่ควรแก่การงาน ความง่วงซึม ความ เฉื่อยชา ความซบเซา ความหาวนอน ความหลับ ความโงกง่วง ความหลับ กิริยาที่หลับ ภาวะที่หลับแห่งเจตสิก อันใด นี้เรียกว่า มิทธะ ถีนะและมิทธะนี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือด- *แห้งไปด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุดปราศไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ละถีนมิทธะ ได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้ [๖๓๔] คำว่า เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีอธิบายว่า ชื่อว่า เป็นผู้ ปราศจากถีนมิทธะ เพราะถีนมิทธะนั้นอันภิกษุนั้นสละแล้ว คายแล้ว ปล่อย แล้ว ละแล้ว สละคืนแล้ว ละแล้วและสละคืนแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ ด้วยประการฉะนี้ บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น จึง เรียกว่า อยู่ [๖๓๕] บทว่า มีอาโลกสัญญา มีอธิบายว่า สัญญา เป็นไฉน การจำ กิริยาที่จำ ความจำ อันใด นี้เรียกว่า สัญญา สัญญานี้ สว่าง เปิดเผย บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีอาโลกสัญญา [๖๓๖] บทว่า มีสติสัมปชัญญะ มีอธิบายว่า สติ เป็นไฉน สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ สัมปชัญญะ เป็นไฉน ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ อันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยสติและสัมปชัญญะ นี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีสติสัมปชัญญะ ด้วยประการฉะนี้ [๖๓๗] คำว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ มีอธิบายว่า ถีนะ มีอยู่ มิทธะ มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น ถีนะ เป็นไฉน ความไม่สมประกอบแห่งจิต ฯลฯ ภาวะที่หดหู่แห่งจิต อันใด นี้เรียก ว่า ถีนะ มิทธะ เป็นไฉน ความไม่สมประกอบ ฯลฯ ภาวะที่หลับแห่งเจตสิก อันใด นี้เรียกว่า มิทธะ จิต เป็นไฉน จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน อันใด นี้เรียกว่า จิต ภิกษุ ชำระจิตนี้ให้หมดจด ให้หมดจดวิเศษ ให้บริสุทธ์ ให้พ้น ให้ พ้นวิเศษ ให้หลุดพ้นจากถีนมิทธะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากถีนมิทธะ [๖๓๘] คำว่า ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว มีอธิบายว่า อุทธัจจะ มีอยู่ กุกกุจจะ มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น อุทธัจจะ เป็นไฉน ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความไม่สงบแห่งจิต ความวุ่นวายใจ ความพล่าน แห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า อุทธัจจะ กุกกุจจะ เป็นไฉน ความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ความสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ความสำคัญว่ามีโทษในของที่ไม่มีโทษ ความสำคัญว่า ไม่มีโทษในของที่มีโทษ ความรำคาญ กิริยาที่รำคาญ ภาวะที่รำคาญ ความเดือดร้อนใจ ความยุ่งใจ ซึ่ง มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า กุกกุจจะ อุทธัจจะและกุกกุจจะนี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไป อย่างราบคาบ ถูกทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือดแห้งด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุดปราศจากไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้ [๖๓๙] บทว่า เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีอธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน เพราะอุทธัจจกุกกุจจะนั้นอันภิกษุนั้นสละแล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละแล้ว สละคืนแล้ว ละแล้วและสละคืนแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน [๖๔๐] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ ด้วย เหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๖๔๑] บทว่า ภายใน ได้แก่เป็นภายในเฉพาะตน บทว่า มีจิตสงบ มีอธิบายว่า จิต เป็นไฉน จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน อันใด นี้เรียกว่า จิต จิตนี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ภายใน ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีจิตสงบภายใน [๖๔๒] คำว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ มีอธิบายว่า อุทธัจจะ มีอยู่ กุกกุจจะ มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น อุทธัจจะ เป็นไฉน ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความไม่สงบแห่งจิต ความวุ่นวายใจ ความพล่าน แห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า อุทธัจจะ กุกกุจจะ เป็นไฉน ความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ฯลฯ ความยุ่งใจ ซึ่งมีลักษณะเช่น ว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า กุกกุจจะ จิต เป็นไฉน จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน อันใด นี้เรียกว่า จิต ภิกษุ ชำระจิตให้หมดจด ให้หมดจดวิเศษ ให้บริสุทธิ์ ให้พ้น ให้ พ้นวิเศษ ให้หลุดพ้นจากอุทธัจจะและกุกกุจจะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ชำระ จิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ [๖๔๓] คำว่า ละวิจิกิจฉาได้แล้ว มีอธิบายว่า วิจิกิจฉา เป็นไฉน การเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ความเคลือบแคลง ความคิดเห็น ไปต่างๆ นานา ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้ ความเห็นเป็นสองแง่ ความเห็น เหมือนทางสองแพร่ง ความสงสัย ความไม่สามารถจะถือเอาโดยส่วนเดียวได้ ความคิดส่ายไป ความคิดพร่าไป ความไม่สามารถจะหยั่งลงถือเอาเป็นยุติได้ ความกระด้างแห่งจิต ความลังเลใจ อันใด นี้เรียกว่า วิจิกิจฉา วิจิกิจฉานี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือด แห้งด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุดปราศไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ละวิจิกิจฉา ได้แล้ว [๖๔๔] บทว่า เป็นผู้ข้ามเสียได้ซึ่งวิจิกิจฉา มีอธิบายว่า เป็นผู้ข้ามแล้ว ข้ามพ้นแล้ว ข้ามออกแล้วซึ่งวิจิกิจฉานี้ ถึงฝั่งแล้ว ถึงฝั่งแล้วโดยลำดับ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เป็นผู้ข้ามเสียได้ซึ่งวิจิกิจฉา [๖๔๕] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ ด้วย เหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๖๔๖] คำว่า ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลาย มีอธิบายว่า ไม่ เคลือบแคลง ไม่สงสัย ไม่มีความสงสัย หมดความสงสัย ปราศจากความ สงสัยในกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยวิจิกิจฉานี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ไม่มีความ สงสัยในกุศลธรรมทั้งหลาย [๖๔๗] คำว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา มีอธิบายว่า วิจิกิจฉา เป็นไฉน การเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ความเคลือบแคลง ฯลฯ ความ กระด้างแห่งจิต ความลังเลใจ อันใด นี้เรียกว่า วิจิกิจฉา จิต เป็นไฉน จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน อันใด นี้เรียกว่า จิต ภิกษุ ชำระจิตนี้ให้หมดจด ให้หมดจดวิเศษ ให้บริสุทธิ์ ให้พ้น ให้ พ้นวิเศษ ให้หลุดพ้นจากวิจิกิจฉานี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากวิจิกิจฉา [๖๔๘] คำว่า ละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ได้แล้ว มีอธิบายว่า นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือดแห้งด้วยดี ถูกทำให้ มีที่สุดปราศไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ได้แล้ว [๖๔๙] คำว่า เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งใจ ได้แก่นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต [๖๕๐] คำว่า ทำปัญญาให้ทราม มีอธิบายว่า ปัญญาที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น และปัญญาที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป เพราะนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ทำปัญญาให้ทราม [๖๕๑] คำว่า สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว มี อธิบายว่า กาม เป็นไฉน ฉันทะ ชื่อว่า กาม ราคะ ชื่อว่า กาม ฉันทราคะ ชื่อว่า กาม สังกัปปะ ชื่อว่า กาม ราคะ ชื่อว่า กาม สังกัปปราคะ ชื่อว่า กาม ธรรม เหล่านี้ เรียกว่า กาม อกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นไฉน กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ธรรม เหล่านี้ เรียกว่า อกุศลธรรมทั้งหลาย ภิกษุ สงัดจากกามและอกุศลธรรมเหล่านี้แล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว ด้วยประการฉะนี้ [๖๕๒] คำว่า ประกอบด้วยวิตก วิจาร มีอธิบายว่า วิตก มีอยู่ วิจาร มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น วิตก เป็นไฉน ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ อันใด นี้เรียกว่า วิตก วิจาร เป็นไฉน ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณา ความที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งดูอารมณ์อยู่เนืองๆ อันใด นี้เรียกว่า วิจาร ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยวิตกและวิจารนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ประกอบด้วยวิตก วิจาร ด้วยประการฉะนี้ [๖๕๓] บทว่า เกิดวิเวก มีอธิบายว่า ธรรมเหล่านั้น คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต เกิดแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิด เฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว ในวิเวกนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เกิดแต่วิเวก [๖๕๔] บทว่า มีปีติและสุข มีอธิบายว่า ปีติ มีอยู่ สุข มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น ปีติ เป็นไฉน ความอิ่มใจ ความปราโมทย์ ความยินดียิ่ง ความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความปีติอย่างโลดโผน ความที่จิตชื่นชมยินดี อันใด นี้เรียกว่า ปีติ สุข เป็นไฉน ความสบายทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สบาย เป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอันเกิดแต่เจโตสัมผัส อันใด นี้เรียกว่า สุข สุขนี้ สหรคต เกิดร่วม เจือปน สัมปยุต ด้วยปีตินี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีปีติและสุข [๖๕๕] บทว่า ปฐม คือ เป็นที่ ๑ ตามลำดับแห่งการนับฌานนี้ ชื่อว่า ปฐมฌาน เพราะโยคาวจรบุคคลบรรลุเป็นครั้งแรก [๖๕๖] บทว่า ฌาน ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต [๖๕๗] บทว่า บรรลุ ได้แก่ การได้ การกลับได้อีก การถึง ความ ถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุ ซึ่งปฐมฌาน [๖๕๘] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ ด้วย เหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๖๕๙] คำว่า เพราะวิตกวิจารสงบ มีอธิบายว่า วิตก มีอยู่ วิจาร มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น วิตก เป็นไฉน ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ฯลฯ สัมมาสังกัปปะ อันใด นี้เรียกว่า วิตก วิจาร เป็นไฉน ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณา ความที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งดูอารมณ์อยู่เนืองๆ อันใด นี้เรียกว่า วิจาร วิตกและวิจารนี้ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทำ ให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือดแห้ง ด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุดปราศไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เพราะวิตกวิจารสงบ ด้วยประการฉะนี้ [๖๖๐] บทว่า เป็นไปในภายใน ได้แก่เป็นของภายในเฉพาะตน บทว่า ผ่องใส ได้แก่ ศรัทธา กิริยาที่เชื่อ ความปลงใจเชื่อ ความ เลื่อมใสยิ่ง [๖๖๑] คำว่า เป็นธรรมเอกผุดขึ้นแก่ใจ ได้แก่ ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ สัมมาสมาธิ [๖๖๒] คำว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีอธิบายว่า วิตก มีอยู่ วิจาร มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น วิตก เป็นไฉน ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ฯลฯ สัมมาสังกัปปะ อันใด นี้เรียกว่า วิตก วิจาร เป็นไฉน ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณา อารมณ์ ความที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งดูอารมณ์อยู่เนืองๆ อันใด นี้เรียกว่า วิจาร วิตกและวิจารนี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้งด้วยดี ถูกทำให้ มีที่สุดปราศไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ด้วยประการฉะนี้ [๖๖๓] บทว่า เกิดแต่สมาธิ มีอธิบายว่า ธรรมเหล่านั้น คือ ความ ผ่องใส ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต เกิดแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิด เฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว ในสมาธินี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เกิดแต่สมาธิ [๖๖๔] บทว่า มีปีติและสุข มีอธิบายว่า ปีติ มีอยู่ สุข มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น ปีติ เป็นไฉน ความอิ่มใจ ความปราโมทย์ ฯลฯ ความที่จิตชื่นชมยินดี อันใด นี้เรียกว่า ปีติ สุข เป็นไฉน ความสบายทางใจ ฯลฯ กิริยาเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอันเกิดแต่ เจโตสัมผัส อันใด นี้เรียกว่า สุข สุขนี้ สหรคต เกิดร่วม เจือปน สัมปยุต ด้วยปีตินี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีปีติและสุข [๖๖๕] บทว่า ทุติยะ คือ เป็นที่ ๒ ตามลำดับแห่งการนับฌานนี้ ชื่อว่าทุติยฌาน เพราะโยคาวจรบุคคลบรรลุเป็นครั้งที่ ๒ [๖๖๖] บทว่า ฌาน ได้แก่ ความผ่องใส ปีติ สุข เอกัคคตา แห่งจิต [๖๖๗] บทว่า บรรลุ ได้แก่ การได้ การกลับได้อีก การถึง ความถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุ ซึ่งทุติยฌาน [๖๖๘] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๖๖๙] คำว่า เพราะคลายปีติได้อีกด้วย มีอธิบายว่า ปีติ เป็นไฉน ความอิ่มใจ ความปราโมทย์ ความยินดียิ่ง ความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความปีติอย่างโลดโผน ความที่จิตชื่นชมยินดี อันใด นี้เรียกว่า ปีติ ปีตินี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทำให้ พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือดแห้งด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุดปราศไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เพราะคลายปีติได้อีกด้วย [๖๗๐] บทว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีอธิบายว่า อุเบกขา เป็นไฉน ความวางเฉย กิริยาที่วางเฉย ความเพ่งเฉพาะ ความเป็นกลางแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า อุเบกขา ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยอุเบกขานี้ ด้วยเหตุ นั้น จึงเรียกว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา [๖๗๑] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๖๗๒] คำว่า มีสติสัมปชัญญะ มีอธิบายว่า ใน ๒ อย่างนั้น สติ เป็นไฉน สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ สัมปชัญญะ เป็นไฉน ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ อันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยสติและ สัมปชัญญะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีสติสัมปชัญญะ ด้วยประการฉะนี้ [๖๗๓] คำว่า เสวยสุขด้วยนามกาย มีอธิบายว่า สุข เป็นไฉน ความสบายทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอัน เกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอันเกิดแต่เจโตสัมผัส อันใด นี้เรียกว่า สุข กาย เป็นไฉน สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ นี้เรียกว่า กาย ภิกษุ ย่อมเสวยสุขนี้ ด้วยกายนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เสวยสุข ด้วยนามกาย [๖๗๔] คำว่า เป็น ฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุ มีอธิบายว่า พระอริยเจ้า เป็นไฉน พระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระอริยเจ้า พระอริยเจ้าเหล่านั้น ย่อมกล่าวสรรเสริญ แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ชัดเจน ประกาศ ซึ่งบุคคลผู้ได้บรรลุนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุ [๖๗๕] คำว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข มีอธิบายว่า อุเบกขา เป็นไฉน ความวางเฉย กิริยาที่วางเฉย ความเพ่งเฉพาะ ความเป็นกลางแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า อุเบกขา สติ เป็นไฉน สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ สุข เป็นไฉน ความสบายทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอัน เกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอันเกิดแต่เจโตสัมผัส อันใด นี้เรียกว่า สุข ภิกษุ ประกอบด้วยอุเบกขา สติ และสุขนี้ สืบเนื่องอยู่ ประพฤติ เป็นไปอยู่ รักษาอยู่ เป็นไปอยู่ ให้เป็นไปอยู่ เที่ยวไปอยู่ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ด้วยประการฉะนี้ [๖๗๖] บทว่า ตติยะ คือ เป็นที่ ๓ ตามลำดับแห่งการนับฌานนี้ ชื่อว่า ตติยฌาน เพราะโยคาวจรบุคคลบรรลุเป็นครั้งที่ ๓ [๖๗๗] บทว่า ฌาน ได้แก่ อุเบกขา สติ สัมปชัญญะ สุข เอกัคคตาแห่งจิต [๖๗๘] บทว่า บรรลุ ได้แก่ การได้ การกลับได้อีก การถึง ความถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุ ซึ่งตติยฌาน [๖๗๙] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๖๘๐] คำว่า เพราะละสุขและทุกข์ได้ มีอธิบายว่า สุข มีอยู่ ทุกข์ มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น สุข เป็นไฉน ความสบายทางกาย ความสุขทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุข อันเกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอันเกิดแต่กายสัมผัส อันใด นี้เรียกว่า สุข ทุกข์ เป็นไฉน ความไม่สบายทางกาย ความทุกข์ทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย เป็นทุกข์อันเกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์อันเกิดแต่ กายสัมผัส อันใด นี้เรียกว่า ทุกข์ สุขและทุกข์นี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือดแห้ง ด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุดปราศไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เพราะละสุขและ ทุกข์ได้ ด้วยประการฉะนี้ [๖๘๑] คำว่า เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีอธิบาย ว่า โสมนัส มีอยู่ โทมนัส มีอยู่ ใน ๒ อย่างนั้น โสมนัส เป็นไฉน ความสบายทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอัน เกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอันเกิดแต่เจโตสัมผัส อันใด นี้เรียกว่า โสมนัส โทมนัส เป็นไฉน ความไม่สบายทางใจ ความทุกข์ทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็น ทุกข์อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์อันเกิดแต่ เจโตสัมผัส อันใด นี้เรียกว่า โทมนัส โสมนัสและโทมนัสนี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่าง ราบคาบ ถูกทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำ ให้เหือดแห้งด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุดปราศไปแล้วในก่อน ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน ด้วยประการฉะนี้ [๖๘๒] บทว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีอธิบายว่า ไม่มีความสบายทางใจ ไม่มีความไม่สบายทางใจ มีแต่ความเสวยอารมณ์ที่ไม่ทุกข์ไม่สุขอันเกิดแต่ เจโตสัมผัส มีแต่กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่ทุกข์ไม่สุขอันเกิดแต่เจโตสัมผัส ด้วย เหตุนั้น จึงเรียกว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข [๖๘๓] บทว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา มีอธิบายว่า อุเบกขา เป็นไฉน ความวางเฉย กิริยาที่วางเฉย ความเพ่งเฉพาะ ความเป็นกลางแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า อุเบกขา สติ เป็นไฉน สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ สตินี้ เปิดเผย บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว เพราะอุเบกขานี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา [๖๘๔] บทว่า จตุตถะ คือ เป็นที่ ๔ ตามลำดับแห่งการนับฌานนี้ ชื่อว่า จตุตถฌาน เพราะโยคาวจรบุคคลบรรลุเป็นครั้งที่ ๔ [๖๘๕] บทว่า ฌาน ได้แก่ อุเบกขา สติ เอกัคคตาแห่งจิต [๖๘๖] บทว่า บรรลุ ได้แก่ การได้ การกลับได้อีก การถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุ ซึ่งจตุตถฌาน [๖๘๗] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๖๘๘] คำว่า เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง มี อธิบายว่า รูปสัญญา เป็นไฉน การจำ กิริยาที่จำ ความจำ ของโยคาวจรบุคคลผู้เข้ารูปาวจรสมาบัติ หรือของผู้อุปบัติในรูปภูมิ หรือของพระอรหันต์ผู้อยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม เหล่านี้ เรียกว่า รูปสัญญา ภิกษุก้าวล่วงแล้ว ข้ามแล้ว ข้ามพ้นแล้ว ซึ่งรูปสัญญาเหล่านี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง [๖๘๙] คำว่า เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา มีอธิบายว่า ปฏิฆสัญญา เป็นไฉน รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา เหล่านี้เรียกว่า ปฏิฆสัญญา ปฏิฆสัญญาเหล่านี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้ เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือดแห้งด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุดปราศไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา [๖๙๐] คำว่า เพราะไม่มนสิการซึ่งนานัตตสัญญา มีอธิบายว่า นานัตตสัญญา เป็นไฉน การจำ กิริยาที่จำ ความจำ ของบุคคลผู้ไม่เข้าสมาบัติ พรั่งพร้อมด้วย มโนธาตุ หรือพรั่งพร้อมด้วยมโนวิญญาณธาตุ เหล่านี้ เรียกว่า นานัตตสัญญา ภิกษุย่อมไม่มนสิการซึ่งนานัตตสัญญา เหล่านี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เพราะ ไม่มนสิการซึ่งนานัตตสัญญา [๖๙๑] บทว่า อากาศไม่มีที่สุด มีอธิบายว่า อากาศ เป็นไฉน อากาศ ธรรมชาติอันนับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่า ความว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง อันมหาภูตรูป ๔ ไม่ถูกต้อง แล้ว อันใด นี้เรียกว่า อากาศ ภิกษุตั้งจิตไว้ ตั้งจิตไว้ด้วยดี แผ่จิตไปไม่มีที่สุด ในอากาศนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า อากาศไม่มีที่สุด [๖๙๒] บทว่า อากาสานัญจายตนะ ได้แก่จิตและเจตสิกของผู้เข้า อากาสานัญจายตนฌาน หรือของผู้อุปบัติในอากาสานัญจายตนภูมิ หรือของพระ อรหันต์ผู้อยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม [๖๙๓] บทว่า บรรลุ ได้แก่ การได้ การกลับได้อีก การถึง ความถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุ ซึ่งอากาสานัญจายตนะ [๖๙๔] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ ด้วยเหตุ จึงเรียกว่า อยู่ [๖๙๕] คำว่า เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการ ทั้งปวง มีอธิบายว่า ภิกษุ ก้าวล่วงแล้ว ข้ามแล้ว ข้ามพ้นแล้ว ซึ่งอากาสานัญ- *จายตนะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการ ทั้งปวง [๖๙๖] คำว่า วิญญาณไม่มีที่สุด มีอธิบายว่า ภิกษุ พิจารณาอากาศ อันวิญญาณถูกต้องแล้วนั้นแล แผ่จิตไปไม่มีที่สุด ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า วิญญาณไม่มีที่สุด [๖๙๗] บทว่า วิญญาณัญจายตนะ ได้แก่จิตและเจตสิกของผู้เข้า วิญญาณัญจายตนฌาน หรือของผู้อุปบัติในวิญญาณัญจายตนภูมิ หรือของพระ อรหันต์ผู้อยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม [๖๙๘] บทว่า บรรลุ ได้แก่ การได้ การกลับได้อีก การถึง ความถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุ ซึ่งวิญญาณัญจายตนะ [๖๙๙] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๗๐๐] คำว่า เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการ ทั้งปวง มีอธิบายว่า ภิกษุ ก้าวล่วงแล้ว ข้ามแล้ว ข้ามพ้นแล้ว ซึ่งวิญญาณัญ- *จายตนะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการ ทั้งปวง [๗๐๑] คำว่า วิญญาณน้อยหนึ่งไม่มี มีอธิบายว่า ภิกษุ พิจารณา เห็นว่า วิญญาณนั้นแลไม่มี ไม่ปรากฏ อันตรธานไปน้อยหนึ่งไม่มี ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า วิญญาณน้อยหนึ่งไม่มี [๗๐๒] บทว่า อากิญจัญญายตนะ ได้แก่จิตและเจตสิกของผู้เข้า อากิญจัญญายตนฌาน หรือของผู้อุปบัติในอากิญจัญญายตนภูมิ หรือของพระอรหันต์ ผู้อยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม [๗๐๓] บทว่า บรรลุ ได้แก่ การได้ การกลับได้อีก การถึง ความถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุ ซึ่งอากิญจัญญายตนะ [๗๐๔] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๗๐๕] คำว่า เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการ ทั้งปวง มีอธิบายว่า ภิกษุ ก้าวล่วงแล้ว ข้ามแล้ว ข้ามพ้นแล้ว ซึ่งอากิญจัญ- *ญายตนะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการ ทั้งปวง [๗๐๖] บทว่า มิใช่ผู้มีสัญญาและมิใช่ผู้ไม่มีสัญญา มีอธิบายว่า ภิกษุพิจารณาอากิญจัญญายตนฌานนั้นแล โดยความสงบ เจริญสมาบัติอันมีสังขาร เหลืออยู่ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มิใช่ผู้มีสัญญาและมิใช่ผู้ไม่มีสัญญา ๑- [๗๐๗] บทว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ ได้แก่จิตและเจตสิกของผู้ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน หรือของผู้อุปบัติในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ หรือของพระอรหันต์ผู้อยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม [๗๐๘] บทว่า บรรลุ ได้แก่ การได้ การกลับได้อีก การถึง ความถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุ ซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน [๗๐๙] บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ประพฤติเป็นไปอยู่ รักษาอยู่ เป็นไปอยู่ ให้เป็นไปอยู่ เที่ยวไปอยู่ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่าอยู่
สุตตันตภาชนีย์ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ บรรทัดที่ ๗๘๗๑-๘๕๔๘ หน้าที่ ๓๔๑-๓๖๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=35&A=7871&Z=8548&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=35&item=600&items=110              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=35&item=600&items=110&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=35&item=600&items=110              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=35&item=600&items=110              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=35&i=600              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_35 https://84000.org/tipitaka/english/?index_35

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]