ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
ทรงเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร
เสด็จพระนครราชคฤห์ครั้งแรก
[๕๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไป โดยมรรคาอันจะไปสู่พระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑๐๐๐ รูป ล้วนเป็นปุราณชฎิล. เสด็จจาริกโดยลำดับถึงพระนครราชคฤห์แล้ว. ทราบว่า พระองค์ ประทับอยู่ใต้ต้นไทรชื่อสุประดิษฐเจดีย์ ในสวนตาลหนุ่ม เขตพระนครราชคฤห์นั้น. [๕๗] พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ได้ทรงสดับข่าวถนัดแน่ว่า พระสมณโคดม ศากยบุตรทรงผนวชจากศากยตระกูล เสด็จพระนครราชคฤห์โดยลำดับ ประทับอยู่ใต้ต้นไทร ชื่อสุประดิษฐเจดีย์ ในสวนตาลหนุ่ม เขตพระนครราชคฤห์ ก็แลพระกิตติศัพท์อันงามของท่าน พระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรง เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี ทรงทราบโลก ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพ และมนุษย์ ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรง ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น เป็นความดี. หลังจากนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงแวดล้อมด้วยพราหมณ์คหบดีชาว มคธ ๑๒ นหุต เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ส่วนพราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุต นั้นแล บางพวก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มี พระภาค ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประคองอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง บางพวกประกาศนามและโคตรในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้งนั้น พราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุตนั้นได้มี ความดำริว่า พระมหาสมณะประพฤติพรหมจรรย์ในท่านอุรุเวลกัสสป หรือว่าท่านอุรุเวลกัสสป ประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความดำริในใจของ พราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุตนั้น ด้วยพระทัยของพระองค์ ได้ตรัสกะท่านพระอุรุเวลกัสสป ด้วยพระคาถาว่า ดังนี้:- ดูกรท่านผู้อยู่ในอุรุเวลามานาน เคยเป็นอาจารย์สั่งสอนหมู่ชฎิลผู้ผอม เพราะกำลังพรต ท่านเห็นเหตุอะไร จึงยอมละเพลิงเสียเล่า? ดูกรกัสสป เราถามเนื้อความนี้กะท่าน ท่านละเพลิงที่บูชาเสียทำไมเล่า? ท่านพระอุรุเวลกัสสปทูลตอบว่า ยัญทั้งหลายกล่าวยกย่องรูปเสียงและรสที่น่าปรารถนา และสตรีทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้ารู้ว่านั่นเป็นมลทินในอุปธิทั้งหลายแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงไม่ ยินดี ในการเซ่นสรวง ในการบูชา. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรกัสสป ก็ใจของท่านไม่ยินดีแล้วในอารมณ์ คือรูป เสียงและรสเหล่านั้น ดูกรกัสสป ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ใจของท่านยินดีในสิ่งไรเล่า ในเทวโลก หรือมนุษยโลก ท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา? ท่านพระอุรุเวลกัสสปทูลตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นทางอันสงบ ไม่มีอุปธิ ไม่มีกังวล ไม่ติดอยู่ในกามภพ ไม่มีภาวะเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ธรรมที่ผู้อื่นแนะให้บรรลุ เพราะฉะนั้น จึงไม่ ยินดีในการเซ่นสรวง ในการบูชา [๕๘] ลำดับนั้น ท่านพระอุรุเวลกัสสปลุกจากอาสนะ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ซบ เศียรลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก, พระผู้มีพระภาคเป็น พระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พราหมณ์คหบดีชาวมคธ ทั้ง ๑๒ นหุต นั้น ได้มีความเข้าใจว่า ท่านพระ อุรุเวลกัสสปประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความ ปริวิตกแห่งจิตของพราหมณ์คหบดีชาวมคธทั้ง ๑๒ นหุตนั้น ด้วยพระทัยของพระองค์แล้ว ทรง แสดงอนุปุพพิกถา คือทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้า หมองของกามทั้งหลายและอานิสงส์ในความออกจากกาม. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวก เขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศ พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๑ นหุต ซึ่งมีพระเจ้า พิมพิสารเป็นประมุข ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น. พราหมณ์คหบดีอีก ๑ นหุต แสดงตนเป็นอุบาสก. [๕๙] ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ได้ทรงเห็นธรรมแล้ว ได้ทรงบรรลุ ธรรมแล้ว ได้ทรงรู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว ทรงมีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ทรงถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องทรงเชื่อผู้อื่นในคำสอน ของพระศาสดา ได้ทูลพระวาจานี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ครั้งก่อน เมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร ได้มีความปรารถนา ๕ อย่าง บัดนี้ ความปรารถนา ๕ อย่างนั้น ของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว.
ความปรารถนา ๕ อย่าง
๑. ครั้งก่อน เมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร ได้มีความปรารถนาว่า ไฉนหนอ ชน ทั้งหลายพึงอภิเษกเราในราชสมบัติดังนี้ นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ ๑ บัดนี้ ความปรารถนานั้น ของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ๒. ขอพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พึงเสด็จมาสู่แว่นแคว้นของหม่อมฉันนั้น นี้เป็น ความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ ๒ บัดนี้ ความปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ๓. ขอหม่อมฉันพึงได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นี้เป็นความปรารถนาของ หม่อมฉันประการที่ ๓ บัดนี้ ความปรารถนานั้น ของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ๔. ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน นี้เป็นความปรารถนา ของหม่อมฉันประการที่ ๔ บัดนี้ความปรารถนานั้น ของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ๕. ขอหม่อมฉันพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นี้เป็นความปรารถนา ของหม่อมฉันประการที่ ๕ บัดนี้ ความปรารถนานั้น ของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า พระพุทธเจ้าข้า ครั้งก่อนหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร ได้มีความปรารถนา ๕ อย่างนี้ บัดนี้ความปรารถนา ๕ อย่างนั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิต ของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีป ในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ หม่อมฉันนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงทรงรับภัตตาหารของ หม่อมฉัน ในวันพรุ่งนี้. พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ. ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชทรงทราบ การรับนิมนต์ของพระผู้มีพระภาคแล้ว เสด็จลุกจากที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงทำ ประทักษิณแล้วเสด็จกลับไป. [๖๐] หลังจากนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช รับสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยว ของฉันอันประณีตโดยผ่านราตรีนั้น แล้วให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรง อันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จพระพุทธดำเนินสู่พระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ จำนวน ๑๐๐๐ รูป ล้วนปุราณชฎิล. [๖๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ท้าวสักกะจอมทวยเทพทรงนิรมิตเพศเป็นมาณพ เสด็จพระ ดำเนินนำหน้าภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พลางขับคาถาเหล่านี้ ว่าดังนี้:-
คาถาสดุดีพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาค มีพระฉวีเสมอด้วยลิ่มทองสิงคี ทรงฝึก อินทรีย์แล้ว ทรงพ้นวิเศษแล้ว เสด็จประเวศสู่พระนคร ราชคฤห์พร้อมด้วยพระปุราณชฎิลทั้งหลาย ผู้ฝึกอินทรีย์ แล้ว ผู้พ้นวิเศษแล้ว. พระผู้มีพระภาค มีพระฉวีเสมอด้วยลิ่มทองสิงคี ทรงพ้น แล้ว ทรงพ้นวิเศษแล้ว เสด็จประเวศสู่พระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยพระปุราณชฎิลทั้งหลาย ผู้พ้นแล้ว ผู้พ้นวิเศษ แล้ว. พระผู้มีพระภาคมีพระฉวีเสมอด้วยลิ่มทองสิงคี ทรงข้ามแล้ว ทรงพ้นวิเศษแล้ว เสด็จประเวศสู่พระนคร ราชคฤห์ พร้อมด้วยพระปุราณชฎิลทั้งหลาย ผู้พ้นแล้ว ผู้พ้นวิเศษแล้ว. พระผู้มีพระภาค มีพระฉวีเสมอด้วยลิ่มทองสิงคี ทรงสงบ แล้ว ทรงพ้นวิเศษแล้ว เสด็จประเวศสู่พระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยพระปุราณชฎิลทั้งหลาย ผู้สงบแล้ว ผู้พ้นวิเศษ แล้ว. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงมีอริยวาสธรรม ๑๐ ประการ เป็นเครื่องอยู่ ทรงประกอบด้วยพระกำลัง ๑๐ ทรงทราบ ธรรม คือ กรรมบถ ๑๐ และทรงประกอบด้วยธรรมอันเป็น องค์ของพระอเสขะ ๑๐ มีภิกษุบริวารพันหนึ่ง เสด็จ ประเวศสู่พระนครราชคฤห์ [๖๒] ประชาชนได้เห็นท้าวสักกะจอมทวยเทพแล้วพากันกล่าวอย่างนี้ว่า พ่อหนุ่มนี้ มีรูปงามยิ่งนัก น่าดูนัก น่าชมนัก พ่อหนุ่มนี้ของใครหนอ. เมื่อประชาชนกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมทวยเทพได้กล่าวตอบประชาชนพวกนั้นด้วยคาถา ว่าดังนี้:- พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดเป็นนักปราชญ์ ทรงฝึกอินทรีย์ ทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ผ่องแผ้วหาบุคคลเปรียบมิได้ ไกลจาก กิเลส เสด็จไปดีแล้วในโลก ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น.
ทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆิกาวาส
[๖๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้า พิมพิสารจอมเสนามาคธราช ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวายพร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์. จึงพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ จนให้พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ห้ามภัตแล้ว จึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ท้าวเธอได้ทรง พระราชดำริว่า พระผู้มีพระภาคพึงประทับอยู่ ณ ที่ไหนดีหนอ ซึ่งจะเป็นสถานที่ไม่ไกล ไม่ใกล้ จากบ้านนัก สะดวกด้วยการคมนาคม ควรที่ประชาชนผู้ต้องประสงค์จะเข้าไปเฝ้าได้ กลางวัน ไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด เสียงไม่กึกก้อง ปราศจากลมแต่ชนที่เดินเข้าออก ควรเป็น ที่ประกอบกิจของผู้ต้องการที่สงัด และควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย. แล้วได้ทรงพระราช ดำริต่อไปว่า สวนเวฬุวันของเรานี้แล ไม่ไกลไม่ใกล้จากบ้านนัก สะดวกด้วยการคมนาคม ควรที่ ประชาชนผู้ต้องประสงค์จะพึงเข้าไปเฝ้าได้ กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด เสียงไม่ กึกก้อง ปราศจากลมแต่ชนที่เข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการที่สงัด และควร เป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย ผิฉะนั้น เราพึงถวายสวนเวฬุวันแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุข ดังนี้. ลำดับนั้น จึงทรงจับพระสุวรรณภิงคาร ทรงหลั่งน้ำน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาค ด้วยพระราชดำรัสว่า หม่อมฉันถวายสวนเวฬุวันนั่นแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคทรงรับอารามแล้ว. และทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ. ต่อมา พระองค์ทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาราม.
ทรงเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร จบ.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๒๑๖-๑๓๕๗ หน้าที่ ๕๐-๕๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=1216&Z=1357&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=4&item=56&items=8              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=4&item=56&items=8&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=4&item=56&items=8              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=4&item=56&items=8              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=56              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4 https://84000.org/tipitaka/english/?index_4

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]