ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๖ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๖ จุลวรรค ภาค ๑
อธิกรณ์เป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤต
[๖๕๐] วิวาทาธิกรณ์เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต วิวาทาธิกรณ์เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี ฯ [๖๕๑] บรรดาวิวาทาธิกรณ์นั้น วิวาทาธิกรณ์ เป็นอกุศล เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ มีจิตเป็นอกุศล วิวาทกันว่า ๑. นี้เป็นธรรม นี้ไม่เป็นธรรม ... ๙. นี้เป็นอาบัติชั่วหยาบ นี้เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความทุ่มเถียง การกล่าว ต่างกัน การกล่าวโดยประการอื่น การพูดเพื่อความกลัดกลุ้มใจ ความหมายมั่น ในเรื่องนั้น อันใด นี้เรียกว่า วิวาทาธิกรณ์เป็นอกุศล ฯ [๖๕๒] บรรดาวิวาทาธิกรณ์นั้น วิวาทาธิกรณ์เป็นกุศล เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ มีจิตเป็นกุศล วิวาทกันว่า ๑. นี้เป็นธรรม นี้ไม่เป็นธรรม ... ๙. นี้เป็นอาบัติชั่วหยาบ นี้เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความทุ่มเถียง การกล่าว ต่างกัน การกล่าวโดยประการอื่น การพูดเพื่อความกลัดกลุ้มใจ ความหมายมั่น ในเรื่องนั้นอันใด นี้เรียกว่า วิวาทาธิกรณ์เป็นกุศล ฯ [๖๕๓] บรรดาวิวาทาธิกรณ์นั้น วิวาทาธิกรณ์เป็นอัพยากฤต เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ มีจิตเป็นอัพยากฤต วิวาทกันว่า ๑. นี้เป็นธรรม นี้ไม่เป็นธรรม ... ๙. นี้เป็นอาบัติชั่วหยาบ นี้เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความทุ่มเถียง การกล่าว ต่างกัน การกล่าวโดยประการอื่น การพูดเพื่อความกลัดกลุ้มใจ ความหมายมั่น ในเรื่องนั้น อันใด นี้เรียกว่า วิวาทาธิกรณ์เป็นอัพยากฤต ฯ [๖๕๔] อนุวาทาธิกรณ์ เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต อนุวาทาธิกรณ์ เป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี อัพยากฤตก็มี ฯ [๖๕๕] บรรดาอนุวาทาธิกรณ์นั้น อนุวาทาธิกรณ์ที่เป็นอกุศล เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีจิตเป็นอกุศล ย่อมโจทภิกษุด้วยศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ การโจท การ กล่าวหา การฟ้องร้อง การประท้วงความเป็นผู้คล้อยตาม การทำความอุตสาหะโจท การตามเพิ่มกำลังให้ ในเรื่องนั้น อันใด นี้เรียกว่า อนุวาทาธิกรณ์เป็นอกุศล ฯ [๖๕๖] บรรดาอนุวาทาธิกรณ์นั้น อนุวาทาธิกรณ์ที่เป็นกุศล เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีจิตเป็นกุศล ย่อมโจทภิกษุด้วยศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ การโจท การ กล่าวหา การฟ้องร้อง การประท้วง ความเป็นผู้คล้อยตาม การทำความอุตสาหะโจท การตามเพิ่มกำลังให้ ในเรื่องนั้น อันใด นี้เรียกว่า อนุวาทาธิกรณ์เป็นกุศล ฯ [๖๕๗] บรรดาอนุวาทาธิกรณ์นั้น อนุวาทาธิกรณ์ที่เป็นอัพยากฤต เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีจิตเป็นอัพยากฤต ย่อมโจทภิกษุด้วยศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ การโจท การ กล่าวหา การฟ้องร้อง การประท้วงความเป็นผู้คล้อยตาม การทำความอุตสาหะโจท การตามเพิ่มกำลังให้ ในเรื่องนั้น อันใด นี้เรียกว่า อนุวาทาธิกรณ์เป็นอัพยากฤต ฯ [๖๕๘] อาปัตตาธิกรณ์เป็นอกุศล อัพยากฤต อาปัตตาธิกรณ์เป็นอกุศล ก็มี อัพยากฤตก็มี อาปัตตาธิกรณ์เป็นกุศลไม่มี ฯ [๖๕๙] บรรดาอาปัตตาธิกรณ์นั้น อาปัตตาธิกรณ์ที่เป็นอกุศล เป็นไฉน ภิกษุรู้อยู่ เข้าใจอยู่ จงใจ ฝ่าฝืน ละเมิดอาบัติ ใด นี้เรียกว่า อาปัตตา- *ธิกรณ์เป็นอกุศล บรรดาอาปัตตาธิกรณ์นั้น อาปัตตาธิกรณ์ที่เป็นอัพยากฤต เป็นไฉน ภิกษุไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่จงใจ ไม่ฝ่าฝืน ละเมิดอาบัติ ใด นี้เรียกว่า อาปัตตาธิกรณ์เป็นอัพยากฤต ฯ [๖๖๐] กิจจาธิกรณ์เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต กิจจาธิกรณ์เป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี อัพยากฤตก็มี ฯ [๖๖๑] บรรดากิจจาธิกรณ์นั้น กิจจาธิกรณ์ที่เป็นอกุศล เป็นไฉน สงฆ์มีจิตเป็นอกุศล ทำกรรมอันใด คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม นี้เรียกว่า กิจจาธิกรณ์เป็นอกุศล ฯ [๖๖๒] บรรดากิจจาธิกรณ์นั้น กิจจาธิกรณ์ที่เป็นกุศล เป็นไฉน สงฆ์มี จิตเป็นกุศล ทำกรรมอันใด คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม นี้เรียกว่า กิจจาธิกรณ์เป็นกุศล ฯ [๖๖๓] บรรดากิจจาธิกรณ์นั้น กิจจาธิกรณ์ที่เป็นอัพยากฤต เป็นไฉน สงฆ์มีจิตเป็นอัพยากฤต ทำกรรมอันใด คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติ- *ยกรรม ญัตติจตุตถกรรม นี้เรียกว่า กิจจาธิกรณ์เป็นอัพยากฤต ฯ
วิวาทาธิกรณ์
[๖๖๔] วิวาท เป็นวิวาทาธิกรณ์ วิวาทไม่เป็นอธิกรณ์ อธิกรณ์ไม่เป็น วิวาท เป็นอธิกรณ์ด้วยเป็นวิวาทด้วย วิวาทเป็นวิวาทาธิกรณ์ก็มี วิวาทไม่เป็น อธิกรณ์ก็มี อธิกรณ์ไม่เป็นวิวาทก็มี เป็นอธิกรณ์ด้วยเป็นวิวาทด้วยก็มี ฯ [๖๖๕] บรรดาวิวาทนั้น วิวาทที่เป็นวิวาทาธิกรณ์ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมวิวาทกันว่า ๑. นี้เป็นธรรม นี้ไม่เป็นธรรม ... ๙. นี้เป็นอาบัติชั่วหยาบ นี้เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความทุ่มเถียง ความกล่าว ต่างกัน ความกล่าวโดยประการอื่น การพูดเพื่อความกลัดกลุ้มใจ ความหมายมั่น ในเรื่องนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิวาทเป็นวิวาทาธิกรณ์ บรรดาวิวาทนั้น วิวาทไม่เป็นอธิกรณ์ เป็นไฉน มารดาวิวาทกับบุตรบ้าง บุตรวิวาทกับมารดาบ้าง บิดาวิวาทกับบุตรบ้าง บุตรวิวาทกับบิดาบ้าง พี่ชายวิวาท กับน้องชายบ้าง พี่ชายวิวาทกับน้องหญิงบ้าง น้องหญิงวิวาทกับพี่ชายบ้าง สหาย- *วิวาทกับสหายบ้าง นี้ชื่อว่า วิวาทไม่เป็นอธิกรณ์ บรรดาวิวาทนั้น อธิกรณ์ไม่เป็นวิวาท เป็นไฉน อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์ กิจจาธิกรณ์ นี้ชื่อว่า อธิกรณ์ไม่เป็นวิวาท บรรดาวิวาทนั้น อธิกรณ์ เป็นอธิกรณ์ด้วยวิวาทด้วย เป็นไฉน วิวาทาธิกรณ์ เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นวิวาทด้วย ฯ
อนุวาทาธิกรณ์
[๖๖๖] การโจทเป็นอนุวาทาธิกรณ์ การโจทไม่เป็นอธิกรณ์ อธิกรณ์ไม่ เป็นการโจท เป็นอธิกรณ์ด้วยเป็นการโจทด้วย การโจทเป็นอนุวาทาธิกรณ์ก็มี การโจทไม่เป็นอธิกรณ์ก็มี อธิกรณ์ไม่เป็นการโจทก็มี เป็นอธิกรณ์ด้วยเป็นการโจท ด้วยก็มี ฯ [๖๖๗] บรรดาการโจทนั้น การโจทที่เป็นอนุวาทาธิกรณ์ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมโจทภิกษุด้วยศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ การโจท การกล่าวหา การฟ้องร้อง การประท้วง ความเป็นผู้คล้อยตาม การทำความอุตสาหะโจท การตามเพิ่มกำลังให้ ในเรื่องนั้น อันใด นี้ชื่อว่า การโจทเป็นอนุวาทาธิกรณ์ บรรดาการโจทนั้น การโจทที่ไม่เป็นอธิกรณ์ เป็นไฉน มารดากล่าวหาบุตรบ้าง บุตรกล่าวหามารดาบ้าง บิดากล่าวหาบุตรบ้าง บุตรกล่าวหาบิดาบ้าง พี่ชายกล่าวหาน้องชายบ้าง พี่ชายกล่าวหาน้องหญิงบ้าง น้องหญิงกล่าวหาพี่ชายบ้าง สหายกล่าวหาสหายบ้าง นี้ชื่อว่า การโจทไม่เป็นอธิกรณ์ บรรดาอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์ที่ไม่เป็นการโจท เป็นไฉน อาปัตตาธิกรณ์ กิจจาธิกรณ์ วิวาทาธิกรณ์ นี้ชื่อว่า อธิกรณ์ไม่เป็นการโจท บรรดาอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์ที่เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นการโจทด้วย เป็นไฉน อนุวาทาธิกรณ์ เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นการโจทด้วย ฯ
อาปัตตาธิกรณ์
[๖๖๘] อาบัติเป็นอาปัตตาธิกรณ์ อาบัติไม่เป็นอธิกรณ์ อธิกรณ์ไม่เป็น อาบัติ เป็นอธิกรณ์ด้วยเป็นอาบัติด้วย อาบัติเป็นอาปัตตาธิกรณ์ก็มี อาบัติไม่เป็น อธิกรณ์ก็มี อธิกรณ์ไม่เป็นอาบัติก็มี เป็นอธิกรณ์ด้วยเป็นอาบัติด้วยก็มี ฯ [๖๖๙] บรรดาอธิกรณ์นั้น อาบัติเป็นอาปัตตาธิกรณ์ เป็นไฉน อาบัติ ๕ กองเป็นอาปัตตาธิกรณ์บ้าง อาบัติ ๗ กองเป็นอาปัตตาธิกรณ์บ้าง นี้ชื่อว่า อาบัติเป็นอาปัตตาธิกรณ์ บรรดาอธิกรณ์นั้น อาบัติที่ไม่เป็นอธิกรณ์ เป็นไฉน โสดาบัติ สมาบัติ นี้ชื่อว่า อาบัติไม่เป็นอธิกรณ์ บรรดาอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์ที่ไม่เป็นอาบัติ เป็นไฉน กิจจาธิกรณ์ วิวาทาธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์ นี้ชื่อว่าอธิกรณ์ไม่เป็นอาบัติ บรรดาอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์ที่เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นอาบัติด้วย เป็นไฉน อาปัตตาธิกรณ์ เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นอาบัติด้วย ฯ
กิจจาธิกรณ์
[๖๗๐] กิจเป็นกิจจาธิกรณ์ กิจไม่เป็นอธิกรณ์ อธิกรณ์ไม่เป็นกิจ เป็นอธิกรณ์ด้วยเป็นกิจด้วย กิจเป็นกิจจาธิกรณ์ก็มี กิจไม่เป็นอธิกรณ์ก็มี อธิ- *กรณ์ไม่เป็นกิจก็มี เป็นอธิกรณ์ด้วยเป็นกิจด้วยก็มี ฯ [๖๗๑] บรรดาอธิกรณ์นั้น กิจเป็นกิจจาธิกรณ์ เป็นไฉน ความเป็นหน้าที่ ความเป็นกรณียะแห่งสงฆ์อันใด คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม นี้ชื่อว่า กิจเป็นกิจจาธิกรณ์ บรรดาอธิกรณ์นั้น กิจไม่เป็นอธิกรณ์ เป็นไฉน กิจที่จะต้องทำแก่พระอาจารย์ กิจที่จะต้องทำแก่พระอุปัชฌายะ กิจที่จะ ต้องทำแก่ภิกษุผู้เสมออุปัชฌายะ กิจที่จะต้องทำแก่ภิกษุผู้เสมอพระอาจารย์ นี้ ชื่อว่า กิจไม่เป็นอธิกรณ์ บรรดาอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์ไม่เป็นกิจ เป็นไฉน วิวาทาธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์ นี้ชื่อว่า อธิกรณ์ไม่เป็นกิจ บรรดาอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์ที่เป็นอธิกรณ์ด้วยเป็นกิจด้วย เป็นไฉน กิจ- *จาธิกรณ์ เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นกิจด้วย ฯ
วิวาทาธิกรณ์ระงับด้วยสมถะ ๒ อย่าง
[๖๗๒] วิวาทาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสมถะเท่าไร วิวาทาธิกรณ์ ย่อมระงับด้วยสมถะ ๒ คือ สัมมุขาวินัย ๑ เยภุยยสิกา ๑ บางทีวิวาทาธิกรณ์ไม่อาศัยสมถะอย่างหนึ่ง คือ เยภุยยสิกา พึงระงับด้วยสมถะ อย่างเดียว คือสัมมุขาวินัย บางทีพึงตกลงกันได้ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมวิวาทกันว่า ๑. นี้เป็นธรรม นี้ไม่เป็นธรรม ๒. นี้เป็นวินัย นี้ไม่เป็นวินัย ๓. นี้พระตถาคตเจ้าตรัสภาษิตไว้ นี้พระตถาคตเจ้าไม่ได้ตรัสภาษิตไว้ ๔. นี้พระตถาคตเจ้าทรงประพฤติมา นี้พระตถาคตเจ้าไม่ได้ทรง ประพฤติมา ๕. นี้พระตถาคตเจ้าทรงบัญญัติไว้ นี้พระตถาคตเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ ๖. นี้เป็นอาบัติ นี้ไม่เป็นอาบัติ ๗. นี้เป็นอาบัติเบา นี้เป็นอาบัติหนัก ๘. นี้เป็นอาบัติมีส่วนเหลือ นี้เป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ ๙. นี้เป็นอาบัติชั่วหยาบ นี้เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพวกนั้นสามารถระงับอธิกรณ์นั้นได้ นี้เรียก ว่า อธิกรณ์ระงับแล้ว ระงับด้วยอะไร ด้วยสัมมุขาวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้น มี อะไรบ้าง มีความพร้อมหน้าสงฆ์ ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ความพร้อมหน้าบุคคล ก็ความพร้อมหน้าสงฆ์ ในสัมมุขาวินัยนั้นอย่างไร คือ ภิกษุผู้เข้ากรรม มีจำนวนเท่าไร ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกัน นำฉันทะของผู้ควรฉันทะมา ผู้อยู่ พร้อมหน้ากันไม่คัดค้าน นี้ชื่อว่า ความพร้อมหน้าสงฆ์ในสัมมุขาวินัยนั้น ก็ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้นอย่างไร คือ อธิกรณ์นั้นระงับโดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์ใด นี้ชื่อว่า ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้น ก็ความพร้อมหน้าบุคคลในสัมมุขาวินัยนั้นอย่างไร คือ โจทก์และจำเลย ทั้งสอง เป็นคู่ต่อสู้ในคดีอยู่พร้อมหน้ากัน นี้ชื่อว่า ความพร้อมหน้าบุคคลใน สัมมุขาวินัยนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากอธิกรณ์ระงับอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้นเป็นปาจิตตีย์ ที่รื้อฟื้น ผู้ให้ฉันทะติเตียน เป็นปาจิตตีย์ที่ติเตียน [๖๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถระงับอธิกรณ์นั้น ในอาวาสนั้นได้ พวกเธอพึงไปสู่อาวาสที่มีภิกษุมากกว่า หากพวกเธอกำลังไปสู่ อาวาสนั้น สามารถระงับอธิกรณ์ได้ในระหว่างทาง นี้เรียกว่า อธิกรณ์ระงับแล้ว ระงับด้วยอะไร ด้วยสัมมุขาวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้น มีอะไรบ้าง มีความพร้อม หน้าสงฆ์ ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ความพร้อมหน้าบุคคล ก็ความพร้อมหน้าสงฆ์ ในสัมมุขาวินัยนั้นอย่างไร คือ ภิกษุผู้เข้ากรรม มีจำนวนเท่าไร ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกัน นำฉันทะของผู้ควรฉันทะมา ผู้อยู่ พร้อมหน้ากันไม่คัดค้าน นี้ชื่อว่า ความพร้อมหน้าสงฆ์ ในสัมมุขาวินัยนั้น ก็ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้นอย่างไร คือ อธิกรณ์นั้นระงับโดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์ใด นี้ชื่อว่า ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้น ก็ความพร้อมหน้าบุคคล ในสัมมุขาวินัยนั้นอย่างไร คือโจทก์และจำเลย ทั้งสอง เป็นคู่ต่อสู้ในคดีอยู่พร้อมหน้ากัน นี้ชื่อว่า ความพร้อมหน้าบุคคล ใน สัมมุขาวินัยนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอธิกรณ์ระงับอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้น เป็นปาจิตตีย์ ที่รื้อฟื้น ผู้ให้ฉันทะติเตียน เป็นปาจิตตีย์ที่ติเตียน ฯ [๖๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นกำลังไปสู่อาวาสนั้น ไม่สามารถ ระงับอธิกรณ์นั้นในระหว่างทางได้ พวกเธอไปถึงอาวาสนั้นแล้ว พึงกล่าวกะภิกษุ เจ้าถิ่นว่า ท่านทั้งหลาย อธิกรณ์นี้เกิดแล้วอย่างนี้ บังเกิดแล้วอย่างนี้ ขอโอกาส ท่านทั้งหลายจงระงับอธิกรณ์นี้โดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์ ตามวิถี ทางที่อธิกรณ์นี้จะพึงระงับด้วยดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกภิกษุเจ้าถิ่นเป็นผู้แก่กว่า พวกภิกษุอาคันตุกะ อ่อนกว่า พวกเธอพึงกล่าวกะภิกษุอาคันตุกะว่า ท่านทั้งหลาย ขอนิมนต์ท่าน ทั้งหลายจงรวมอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สักครู่หนึ่ง ตลอดเวลาที่พวกผมจะ ปรึกษากัน แต่ถ้าพวกภิกษุเจ้าถิ่นเป็นผู้อ่อนกว่า พวกภิกษุอาคันตุกะแก่กว่า พวกเธอพึงกล่าวกะภิกษุอาคันตุกะว่า ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นขอท่านทั้งหลาย จงอยู่ ณ ที่นี้สักครู่หนึ่งจนกว่าพวกผมจะปรึกษากัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกภิกษุเจ้าถิ่นกำลังปรึกษา คิดกันอย่างนี้ว่า พวกเราไม่สามารถระงับอธิกรณ์นี้โดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์ พวก เธอไม่พึงรับอธิกรณ์นั้นไว้ แต่ถ้ากำลังปรึกษา คิดกันอย่างนี้ว่า พวกเรา สามารถ ระงับอธิกรณ์นี้ได้โดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์ พวกเธอพึงกล่าวกะ พวกภิกษุอาคันตุกะว่า ท่านทั้งหลาย ถ้าพวกท่านจักแจ้งอธิกรณ์นี้ตามที่เกิดแล้ว ตามที่อุบัติแล้วแก่พวกเรา เหมือนอย่างพวกเราจักระงับอธิกรณ์นี้โดยธรรม โดย วินัย และโดยสัตถุศาสน์ฉันใด อธิกรณ์นี้จักระงับด้วยดีฉันนั้น อย่างนี้พวกเรา จึงจักรับอธิกรณ์นี้ หากพวกท่านจักไม่แจ้งอธิกรณ์นี้ตามที่เกิดแล้ว ตามที่อุบัติแล้ว แก่พวกเรา เหมือนอย่างพวกเราจักระงับอธิกรณ์นี้โดยธรรม โดยวินัย และโดย สัตถุศาสน์ ฉันใด อธิกรณ์นี้จักไม่ระงับด้วยดี ฉันนั้น พวกเราจักไม่รับอธิกรณ์นี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุเจ้าถิ่นพึงรอบคอบอย่างนี้แล้วรับอธิกรณ์นั้นไว้ พวกภิกษุอาคันตุกะนั้น พึงกล่าวกะพวกภิกษุเจ้าถิ่นว่า พวกผมจักแจ้งอธิกรณ์นี้ ตามที่เกิดแล้ว ตามที่อุบัติแล้ว แก่ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านสามารถระงับอธิกรณ์นี้ โดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์ ระหว่างเวลาเท่านี้ได้ อธิกรณ์จักระงับ ด้วยดีเช่นว่านั้น อย่างนี้ พวกผมจักมอบอธิกรณ์แก่ท่านทั้งหลาย หากท่านทั้งหลาย ไม่สามารถระงับอธิกรณ์นี้โดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์ ระหว่างเวลา เท่านี้ได้ อธิกรณ์จักไม่ระงับด้วยดีเช่นว่านั้น พวกผมจักไม่มอบอธิกรณ์นี้แก่ท่าน ทั้งหลาย พวกผมนี้แหละจักเป็นเจ้าของอธิกรณ์นี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุอาคันตุกะพึงรอบคอบอย่างนี้ แล้วจึงมอบ อธิกรณ์นั้นแก่พวกภิกษุเจ้าถิ่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นสามารถระงับอธิกรณ์นั้นได้ นี้เรียกว่า อธิกรณ์ระงับดีแล้ว ระงับด้วยอะไร ด้วยสัมมุขาวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้น มี อะไรบ้าง มีความพร้อมหน้าสงฆ์ ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ความพร้อมหน้าบุคคล ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอธิกรณ์ระงับแล้วอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้น เป็นปาจิตตีย์ ที่รื้อฟื้น ผู้ให้ฉันทะติเตียน เป็นปาจิตตีย์ที่ติเตียน ฯ
อุพพาหิกวิธี
[๖๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นวินิจฉัยอธิกรณ์นั้นอยู่ มีเสียงเซ็งแซ่เกิดขึ้นและไม่ทราบความแห่งถ้อยคำที่กล่าวแล้วนั้น เราอนุญาตให้ ระงับอธิกรณ์เห็นปานนี้ด้วยอุพพาหิกวิธี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณ ๑๐ ประการ สงฆ์พึงสมมติด้วยอุพพาหิกวิธี
องค์คุณ ๑๐ ประการ
๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกข์สังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและ โคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย ๒. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใดไพเราะ ใน เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ย่อมสรรเสริญพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ ธรรมทั้งหลายเห็นปานนี้ ย่อมเป็น อันเธอสดับมาก ทรงไว้ สั่งสมด้วยวาจา เข้าไปเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีแล้ว ด้วยทิฐิ ๓. จำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดีโดยพิสดาร จำแนกดี สวดดี วินิจฉัย ถูกต้องโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ ๔. เป็นผู้ตั้งมั่นในพระวินัย ไม่คลอนแคลน ๕. เป็นผู้อาจชี้แจงให้คู่ต่อสู้ในอธิกรณ์ยินยอม เข้าใจ เพ่งเห็น เลื่อมใส ๖. เป็นผู้ฉลาดเพื่อยังอธิกรณ์อันเกิดขึ้นให้ระงับ ๗. รู้อธิกรณ์ ๘. รู้เหตุเกิดอธิกรณ์ ๙. รู้ความระงับแห่งอธิกรณ์ ๑๐. รู้ทางระงับอธิกรณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณ ๑๐ นี้ ด้วยอุพพาหิกวิธี ฯ [๖๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ พึงขอร้องภิกษุ ก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติย- *กรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมมติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราวินิจฉัยอธิกรณ์นี้ อยู่ มีเสียงเซ็งแซ่เกิดขึ้นและไม่ทราบอรรถแห่งถ้อยคำที่กล่าวแล้วนั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ด้วย มี มีชื่อนี้ด้วย เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ ด้วยอุพพาหิกวิธี นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราวินิจฉัยอธิกรณ์ นี้อยู่ มีเสียงเซ็งแซ่เกิดขึ้น และไม่ทราบความแห่งถ้อยคำที่กล่าว แล้วนั้น สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ ด้วยอุพพาหิกวิธี การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย เพื่อระงับ อธิกรณ์นี้ ด้วยอุพพาหิกวิธี ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ภิกษุมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย อันสงฆ์สมมติแล้ว เพื่อระงับ อธิกรณ์นี้ ด้วยอุพพาหิกวิธี ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรง ความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ฯ [๖๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นสามารถระงับอธิกรณ์นั้น ด้วยอุพพาหิกวิธี นี้เรียกว่า อธิกรณ์ระงับแล้ว ระงับด้วยอะไร ด้วยสัมมุขาวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้นมีอะไรบ้าง มีความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ความพร้อมหน้าบุคคล ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอธิกรณ์ระงับแล้วอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้น เป็นปาจิตตีย์ ที่รื้อฟื้น ฯ [๖๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นวินิจฉัยอธิกรณ์นั้นอยู่ ในบริษัทนั้นพึงมีภิกษุธรรมกถึก เธอจำสูตรไม่ได้เลย จำวิภังค์แห่งสูตรก็ไม่ได้ เธอไม่ได้สังเกตใจความ ย่อมค้านใจความตามเค้าพยัญชนะ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นทราบด้วยคณะญัตติ ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาคณะญัตติ
ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้เป็นธรรมกถึก เธอจำสูตรไม่ได้เลย จำวิภังค์แห่งสูตรก็ไม่ได้ เธอไม่ได้สังเกต ใจความ ย่อมค้านใจความตามเค้าพยัญชนะ ถ้าความพร้อมพรั่งของ ท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว พวกเราพึงขับภิกษุมีชื่อนี้ให้ออกไป แล้วที่ เหลือพึงระงับอธิกรณ์นี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นขับภิกษุนั้นออกไปแล้วสามารถระงับ อธิกรณ์นั้นได้ นี้เรียกว่า อธิกรณ์ระงับแล้ว ระงับด้วยอะไร ด้วยสัมมุขาวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้นมีอะไรบ้าง มีความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ความพร้อมหน้าบุคคล ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากอธิกรณ์ระงับแล้วอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้น เป็น ปาจิตตีย์ที่รื้อฟื้น ฯ [๖๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นวินิจฉัยอธิกรณ์นั้นอยู่ ในบริษัทนั้นพึงมีภิกษุธรรมกถึก เธอจำสูตรได้ แต่จำวิภังค์แห่งสูตรไม่ได้เลย เธอไม่สังเกตใจความ ย่อมค้านใจความตามเค้าพยัญชนะ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นทราบด้วยคณะญัตติว่าดังนี้:-
กรรมวาจาคณะญัตติ
ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้เป็นธรรมกถึก เธอจำสูตรได้ แต่จำวิภังค์แห่งสูตรไม่ได้เลย เธอไม่สังเกตใจความ ย่อมค้านใจความตามเค้าพยัญชนะ ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้ง หลายถึงที่แล้ว พวกเราพึงขับภิกษุมีชื่อนี้ให้ออกไป แล้วที่เหลือพึง ระงับอธิกรณ์นี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นขับภิกษุนั้นออกไปแล้ว สามารถระงับ อธิกรณ์นั้นได้ นี้เรียกว่า อธิกรณ์ระงับแล้ว ระงับด้วยอะไร ด้วยสัมมุขาวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้นมีอะไรบ้าง มีความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ความพร้อมหน้าบุคคล ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากอธิกรณ์ระงับแล้วอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้นเป็นปาจิตตีย์ ที่รื้อฟื้น ฯ [๖๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถระงับอธิกรณ์นั้น ด้วยอุพพาหิกวิธี พวกเธอพึงมอบอธิกรณ์นั้นแก่สงฆ์ว่า ท่านเจ้าข้า พวกข้าพเจ้า ไม่สามารถระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี ขอสงฆ์นั่นแหละจงระงับอธิกรณ์นี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ระงับอธิกรณ์เห็นปานนี้ด้วยเยภุยยสิกา พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณ ๕ ให้เป็นผู้ให้จับสลาก คือ ๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ ๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง ๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย ๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ ๕. พึงรู้จักสลากที่จับแล้วและยังไม่จับ ก็แล สงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ พึงขอร้องภิกษุก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมมติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้ให้จับสลาก นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้ เป็นผู้ให้จับสลาก การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้ให้จับสลาก ชอบแก่ ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ภิกษุมีชื่อนี้อันสงฆ์สมมติแล้ว ให้เป็นผู้ให้จับสลาก ชอบแก่ สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ภิกษุผู้ให้จับสลากนั้น พึงให้ภิกษุทั้งหลายจับสลาก ภิกษุพวกธรรมวาที มากกว่า ย่อมกล่าวฉันใด พึงระงับอธิกรณ์นั้น ฉันนั้น นี้เรียกว่า อธิกรณ์ระงับ แล้ว ระงับด้วยอะไร ด้วยสัมมุขาวินัย และเยภุยยสิกา ในสัมมุขาวินัยนั้นมี อะไรบ้าง มีความพร้อมหน้าสงฆ์ ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ความพร้อมหน้าบุคคล ก็ความพร้อมหน้าสงฆ์ ในสัมมุขาวินัยนั้นอย่างไร คือ ภิกษุผู้เข้ากรรม มีจำนวนเท่าไร ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกัน นำฉันทะของผู้ควรฉันทะมา ผู้อยู่ พร้อมหน้ากันไม่คัดค้าน นี้ชื่อว่าความพร้อมหน้าสงฆ์ ในสัมมุขาวินัยนั้น ก็ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้นอย่างไร คือ อธิกรณ์นั้นระงับโดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์ใด นี้ชื่อว่า ความ พร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้น ก็ความพร้อมหน้าบุคคล ในสัมมุขาวินัยนั้นอย่างไร คือโจทก์และจำเลย ทั้งสอง เป็นคู่ต่อสู้ในคดีอยู่พร้อมหน้ากัน นี้ชื่อว่าความพร้อมหน้าบุคคล ใน สัมมุขาวินัยนั้น ก็ในเยภุยยสิกานั้นมีอะไรบ้าง มีกิริยา ความกระทำ ความเข้าไป ความ เข้าไปเฉพาะ ความรับรอง ความไม่คัดค้านกรรมในเยภุยยสิกาอันใด นี้มีใน เยภุยยสิกานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากอธิกรณ์ระงับอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้นเป็นปาจิตตีย์ที่ รื้อฟื้น ผู้ให้ฉันทะติเตียน เป็นปาจิตตีย์ที่ติเตียน ฯ
วิธีจับสลาก ๓ วิธี
[๖๘๑] โดยสมัยนั้นแล อธิกรณ์เกิดแล้วอย่างนี้ อุบัติแล้วอย่างนี้ ใน พระนครสาวัตถี จึงภิกษุเหล่านั้นไม่พอใจด้วยการระงับอธิกรณ์ของสงฆ์ ใน พระนครสาวัตถี ได้ทราบข่าวว่า ในอาวาสโน้น มีพระเถระอยู่หลายรูป เป็นผู้ คงแก่เรียน ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นลัชชี มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา หากพระเถระเหล่านั้นพึงระงับ อธิกรณ์นี้โดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์ อย่างนี้อธิกรณ์นี้พึงระงับด้วย ดี จึงไปสู่อาวาสนั้น แล้วเรียนกะพระเถระพวกนั้นว่า ท่านเจ้าข้า อธิกรณ์นี้ เกิดแล้วอย่างนี้ อุบัติแล้วอย่างนี้ ขอโอกาส ขอรับ ขอพระเถระทั้งหลายจงระงับ อธิกรณ์นี้ โดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์ ตามวิถีทางที่อธิกรณ์นี้พึง ระงับด้วยดี จึงพระเถระพวกนั้นช่วยระงับอธิกรณ์นั้นแล้ว เหมือนอย่างที่สงฆ์ใน พระนครสาวัตถีระงับแล้ว ตามวิธีที่ระงับด้วยดีแล้วฉะนั้น ครั้งนั้น ภิกษุผู้ไม่ยินดี ไม่พอใจด้วยการระงับอธิกรณ์ของสงฆ์ในพระนครสาวัตถีนั้น ไม่พอใจด้วยการ ระงับอธิกรณ์ของพระเถระมากรูป ได้ทราบข่าวว่า ในอาวาสโน้น มีพระเถระอยู่ ๓ รูป ... มีพระเถระอยู่ ๒ รูป ... มีพระเถระอยู่รูปเดียว เป็นผู้คงแก่เรียน ชำนาญ ในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา เป็น ลัชชี มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา หากพระเถระนั้นพึงระงับอธิกรณ์นี้โดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์ อย่างนี้ อธิกรณ์นี้พึงระงับด้วยดี จึงไปสู่อาวาส นั้น แล้วเรียนกะพระเถระนั้นว่า ท่านขอรับ อธิกรณ์นี้เกิดแล้วอย่างนี้ อุบัติ แล้วอย่างนี้ ขอโอกาส ขอรับ ขอพระเถระจงระงับอธิกรณ์นี้ โดยธรรม โดย วินัย และโดยสัตถุศาสน์ ตามวิถีทางที่อธิกรณ์นี้จะพึงระงับด้วยดี จึงพระเถระนั้นช่วยระงับอธิกรณ์นั้นแล้ว เหมือนอย่างที่สงฆ์ในพระนคร สาวัตถีระงับแล้ว เหมือนอย่างที่พระเถระมากรูประงับแล้ว เหมือนอย่างที่พระเถระ ๓ รูประงับแล้ว และเหมือนอย่างที่พระเถระ ๒ รูประงับแล้ว ตามวิธีที่ระงับด้วย ดีแล้ว ฉะนั้น ครั้งนั้น ภิกษุผู้ที่ไม่พอใจด้วยการระงับอธิกรณ์ของสงฆ์ในพระนครสาวัตถี ไม่พอใจด้วยการระงับอธิกรณ์ของพระเถระมากรูป ไม่พอใจด้วยการระงับอธิกรณ์ ของพระเถระ ๓ รูป ไม่พอใจด้วยการระงับอธิกรณ์ของพระเถระ ๒ รูป ไม่พอใจ ด้วยการระงับอธิกรณ์ของพระเถระรูปเดียว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อธิกรณ์ที่พิจารณาแล้วนั้นเป็นอันสงบระงับดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวิธีจับสลาก ๓ อย่าง คือ ปกปิด ๑ กระซิบบอก ๑ เปิดเผย ๑ ตามความยินยอมของภิกษุพวกนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิธีจับสลากปกปิด เป็นไฉน ภิกษุผู้ให้จับสลากนั้น พึงทำสลากให้มีสี และไม่มีสี แล้วเข้าไปหา ภิกษุทีละรูปๆ แล้วแนะนำอย่างนี้ว่า นี้สลากของผู้กล่าวอย่างนี้ นี้สลากของผู้ กล่าวอย่างนี้ ท่านจงจับสลากที่ชอบใจ เมื่อภิกษุนั้นจับแล้ว พึงแนะนำว่า ท่าน อย่าแสดงแก่ใครๆ ถ้ารู้ว่าอธรรมวาทีมากกว่า พึงบอกว่า สลากจับไม่ดี แล้ว ให้จับใหม่ ถ้ารู้ว่าธรรมวาทีมากกว่า พึงประกาศว่า สลากจับดีแล้ว ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย วิธีจับสลากปกปิดเป็นอย่างนี้แหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิธีจับสลากกระซิบบอก เป็นไฉน ภิกษุผู้ให้จับสลากนั้น พึงกระซิบบอกที่ใกล้หูของภิกษุแต่ละรูปๆ ว่า นี้ สลากของผู้กล่าวอย่างนี้ นี้สลากของผู้กล่าวอย่างนี้ ท่านจงจับสลากที่ชอบใจ เมื่อภิกษุนั้นจับแล้ว พึงแนะนำว่า ท่านอย่าบอกแก่ใครๆ ถ้ารู้ว่า อธรรมวาที มากกว่า พึงบอกว่า สลากจับไม่ดี แล้วให้จับใหม่ ถ้ารู้ว่าธรรมวาทีมากกว่า พึงประกาศว่า สลากจับดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิธีจับสลากกระซิบบอกเป็น อย่างนี้แหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิธีจับสลากเปิดเผย เป็นไฉน ถ้ารู้ว่าธรรมวาทีมากกว่า พึงให้จับสลากเปิดเผย อย่างแจ่มแจ้ง วิธีจับ สลากเปิดเผยเป็นอย่างนี้แหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิธีจับสลาก ๓ อย่างนี้แล ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๖ บรรทัดที่ ๘๙๔๘-๙๓๒๙ หน้าที่ ๓๗๘-๓๙๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=6&A=8948&Z=9329&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=6&item=650&items=32              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=6&item=650&items=32&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=6&item=650&items=32              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=6&item=650&items=32              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=6&i=650              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_6 https://84000.org/tipitaka/english/?index_6

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]