บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
ฉบับภาษาไทย บาลีอักษรไทย บาลีอักษรโรมัน |
๔. โสณทัณฑสูตร [๑๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในอังคชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงนครจัมปา ได้ยินว่า สมัยนั้นพระองค์ประทับอยู่ใกล้ขอบสระโบกขรณี คัคครา ในนครจัมปา.ว่าด้วยพุทธคุณ [๑๗๙] สมัยนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะ ครองนครจัมปาซึ่งคับคั่งด้วยประชาชนและหมู่ สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหารซึ่งเป็นราชสมบัติอันพระเจ้าแผ่นดิน มคธจอมเสนา พระนามว่าพิมพิสาร พระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นส่วนพรหมไทย พราหมณ์ และคฤหบดีชาวนครจัมปาได้สดับข่าวว่าพระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จ จาริกไปในอังคชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงนครจัมปา ประทับ อยู่ใกล้ขอบสระโบกขรณีคัคครา ในนครจัมปา กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนก พระธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญา อันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็น การดีแล ดังนี้ ครั้งนั้นพราหมณ์และคฤหบดีชาวนครจัมปา ออกจากนครจัมปา รวมกันเป็นหมู่ๆ พากันไปยังสระโบกขรณีคัคครา.ว่าด้วยคุณของโสณทัณฑพราหมณ์ [๑๘๐] สมัยนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะพักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้นบน ได้เห็น พราหมณ์และคฤหบดีชาวนครจัมปา ออกจากนครจัมปา รวมกันเป็นหมู่ๆ พากันไปยังสระโบก ขรณีคัคครา จึงเรียกนักการมาถามว่า พ่อนักการ พราหมณ์และคฤหบดีชาวนครจัมปาออกจาก นครจัมปา รวมกันเป็นหมู่ๆ พากันไปยังสระโบกขรณีคัคคราทำไมกัน. นักการ. มีเรื่องอยู่ ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดมศากยบุตรทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกไปในอังคชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงนครจัมปา ประทับอยู่ใกล้ขอบสระโบกขรณีคัคครา ในนครจัมปา กิตติศัพท์อันงามของพระองค์ขจรไปแล้ว อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่น ยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นพากันไปเฝ้าท่านพระโคดมพระองค์นั้น. โสณทัณฑะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปหาเขาแล้ว บอกเขาอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงรอก่อน ท่านพราหมณ์โสณทัณฑะจะไปเฝ้าสมณโคดมด้วย. นักการรับคำ แล้วไปหาพราหมณ์และคฤหบดีชาวนครจัมปา แล้วบอกตามคำสั่งว่า ท่าน ทั้งหลาย พราหมณ์โสณทัณฑะสั่งว่า ขอท่านทั้งหลายจงรอก่อนท่านพราหมณ์โสณทัณฑะจะไปเฝ้า ด้วย. [๑๘๑] สมัยนั้น พวกพราหมณ์ต่างเมืองประมาณ ๕๐๐ คน มาพักอยู่ในนครจัมปาด้วย กรณียกิจบางอย่าง เขาได้ทราบว่า พราหมณ์โสณทัณฑะจะไปเฝ้าพระสมณโคดม จึงพากันเข้าไป หาแล้วถามว่า ได้ทราบว่าท่านจะไปเฝ้าพระสมณโคดมจริงหรือ? โสณทัณฑะ เราคิดว่าจะไป. พวกพราหมณ์. อย่าเลยท่านโสณทัณฑะ ท่านไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าท่านไป ท่านจะเสียเกียรติยศ เกียรติยศของพระสมณโคดมจักรุ่งเรืองด้วยเหตุนี้แหละ ท่านจึงไม่ควรไป พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่าน อนึ่งท่านเป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึง ชาติเพราะเหตุนี้ ท่านจึงไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหา ท่าน อนึ่งท่านเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มากมีโภคสมบัติมาก ... อนึ่งท่านเป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะพร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาส เป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ ... อนึ่งท่านมีรูปงาม น่าดูน่าเลื่อมใส กอปรด้วยผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีพรรณคล้ายพรหม มีรูปร่าง คล้ายพรหมน่าดูน่าชมไม่น้อย ... อนึ่งท่านเป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน ... อนึ่ง ท่านเป็นผู้มีวาจาไพเราะ มีสำเนียงไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองสละสลวยหาโทษมิได้ ให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความได้ชัด ... อนึ่งท่านเป็นอาจารย์และปาจารย์ของชนหมู่มาก สอนมนต์มาณพ ถึง ๓๐๐ คน มาณพเป็นอันมาก ต่างทิศต่างชนบทผู้ต้องการมนต์ ใคร่จะมาเรียนมนต์ในสำนัก ของท่านพากันมา ... อนึ่งท่านเป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ ส่วน พระสมณโคดมเป็นคนหนุ่ม และบวชแต่ยังหนุ่ม ... อนึ่งท่านเป็นผู้อันพระเจ้าแผ่นดินมคธ จอม เสนา พระนามว่าพิมพิสาร ทรงสักการะเคารพนับถือบูชานอบน้อม ... อนึ่งท่านเป็นผู้อันพราหมณ์ โปกขรสาติสักการะเคารพนับถือบูชานอบน้อม ... อนึ่งท่านครองนครจัมปา ซึ่งคับคั่งด้วยประชาชน และหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชสมบัติอันพระเจ้า แผ่นดินมคธ จอมเสนา พระนามว่าพิมพิสาร พระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นส่วนพรหมไทย เพราะเหตุนี้แหละ ท่านจึงไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหา ท่านดังนี้.ว่าด้วยพุทธคุณ [๑๘๒] เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์โสณทัณฑะได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ขอพวกท่านจงฟังข้าพเจ้าบ้าง เรานี้แหละควรไปเฝ้าท่านพระโคดมพระองค์นั้น ท่าน พระโคดมไม่ควรจะเสด็จมาหา ได้ยินว่าพระสมณโคดมเป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายพระมารดาและ พระบิดา มีพระครรภ์เป็นที่ทรงถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียน ได้ด้วยอ้างถึงพระชาติ เพราะเหตุนี้แหละ ท่านพระโคดมจึงไม่ควรจะเสด็จมาหาเรา ที่ถูกเรา นี้แหละควรไปเฝ้าพระองค์ท่าน ได้ยินว่าพระสมณโคดมทรงละพระญาติหมู่ใหญ่ออกทรงผนวช ... ทรงสละเงินทองเป็นอันมาก ทั้งที่อยู่ในพื้นดิน ทั้งที่อยู่ในอากาศ ออกทรงผนวช ... พระองค์ กำลังหนุ่มแน่น มีพระเกศาดำสนิท ทรงพระเจริญด้วยปฐมวัย เสด็จออกทรงผนวชเป็นบรรพชิต ... เมื่อพระมารดาและพระบิดาไม่ทรงปรารถนาให้ทรงผนวช มีพระพักตร์อาบด้วยน้ำพระเนตรทรง กันแสงอยู่ พระองค์ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกทรง ผนวชเป็นบรรพชิต ... พระองค์มีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส กอปรด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่อง ยิ่งนัก มีพระพรรณคล้ายพรหม มีพระรูปคล้ายพรหม น่าดูน่าชมไม่น้อย ... พระองค์เป็นผู้มีศีล มีศีลประเสริฐ มีศีลเป็นกุศล ประกอบด้วยศีลเป็นกุศล ... พระองค์มีพระวาจาไพเราะ มีพระ สำเนียงไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของเมืองสละสลวยหาโทษมิได้ ให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความได้ชัด ... พระองค์เป็นอาจารย์และปาจารย์ของคนหมู่มาก ... พระองค์สิ้นกามราคะแล้ว เลิกประดับตบแต่ง แล้ว ... พระองค์เป็นกรรมวาที เป็นกิริยวาที ไม่ทรงมุ่งร้ายแก่พวกพราหมณ์ ... พระองค์ทรง ผนวชจากสกุลสูง คือสกุลกษัตริย์อันไม่เจือปน ... พระองค์ทรงผนวชจากสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์ มาก มีโภคสมบัติมาก ... ชนต่างรัฐต่างชนบทพากันมาทูลถามปัญหาพระองค์ ... เทวดาหลายพัน มอบชีวิตถึงพระองค์เป็นสรณะ ... พระกิตติศัพท์อันงามของพระองค์ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้ เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วย วิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้วทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็น ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ดังนี้ ... พระองค์ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ... พระองค์มีปรกติกล่าวเชื้อเชิญ เจรจา ผูกไมตรีช่างปราศรัย พระพักตร์ไม่สยิว เบิกบาน มีปรกติตรัสก่อน ... พระองค์เป็นผู้อัน บริษัท ๔ สักการะเคารพนับถือบูชานอบน้อม ... เทวดาและมนุษย์เป็นอันมากเลื่อมใสพระองค์ ยิ่งนัก ... พระองค์ทรงพำนักอยู่ในบ้านหรือนิคมใด ในบ้านหรือนิคมนั้น อมนุษย์ไม่เบียดเบียน มนุษย์ ... พระองค์ทรงเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ และทรงเป็นคณาจารย์ได้รับยกย่องว่า เป็นยอดของ เจ้าลัทธิเป็นอันมาก สมณพราหมณ์เหล่านี้รุ่งเรืองยศด้วยประการใดๆ แต่พระสมณโคดม ไม่อย่างนั้นที่แท้พระสมณโคดมรุ่งเรืองพระยศด้วยวิชชาและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม ... พระเจ้า แผ่นดินมคธ จอมเสนา พระนามว่าพิมพิสาร พร้อมทั้งพระโอรสและพระมเหสี ทั้งราชบริษัท และอำมาตย์ ทรงมอบชีวิตถึงพระองค์เป็นสรณะ ... พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งพระโอรส และพระมเหสี ทั้งราชบริษัทและอำมาตย์ ทรงมอบชีวิตถึงพระองค์เป็นสรณะ ... พราหมณ์ โปกขรสาติพร้อมทั้งบุตรและภริยา ทั้งบริษัทและอำมาตย์ มอบชีวิตถึงพระองค์เป็นสรณะ ... พระองค์เป็นผู้อันพระเจ้าแผ่นดินมคธ จอมเสนา พระนามว่าพิมพิสาร ทรงสักการะเคารพนับถือ บูชานอบน้อม ... พระองค์เป็นผู้อันพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสักการะเคารพนับถือบูชานอบน้อม ... พระองค์เป็นผู้อันพราหมณ์โปกขรสาติ สักการะเคารพนับถือบูชานอบน้อม ... พระองค์เสด็จถึง นครจัมปา ประทับอยู่ ณ ขอบสระโบกขรณีคัคคราในนครจัมปา ท่านทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่งมาสู่เขตบ้านของเรา ท่านเหล่านั้นจัดว่าเป็นแขกของเรา และเป็นแขกอันเรา ควรสักการะเคารพนับถือบูชานอบน้อม พระสมณโคดมเสด็จถึงนครจัมปา ประทับอยู่ ณ ขอบสระ โบกขรณีคัคคราในนครจัมปา พระองค์ก็ทรงเป็นแขกของพวกเรา และเป็นแขกที่พวกเราควร สักการะเคารพนับถือบูชานอบน้อม เพราะเหตุนี้แหละ พระองค์จึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา ที่ถูก เราต่างหากควรจะไปเฝ้าพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าทราบพระคุณของท่านพระโคดมเพียงเท่านี้ แต่ท่าน พระโคดมไม่ใช่มีพระคุณเพียงเท่านี้ ความจริงพระองค์ท่านมีพระคุณหาประมาณมิได้. [๑๘๓] เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า ท่านโสณทัณฑะกล่าวชมพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากท่านพระโคดมพระองค์นั้นจะประทับ อยู่ไกลจากที่นี้ตั้งร้อยโยชน์ ก็ควรแท้ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะไปเฝ้า แม้จะต้องนำเสบียงไปก็ควร พราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราทั้งหมดจักไปเฝ้าพระสมณโคดม ลำดับนั้นพราหมณ์โสณทัณฑะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ ไปถึงสระโบกขรณีคัคครา เมื่อ ผ่านพ้นราวป่าไปแล้ว ได้เกิดปริวิตกขึ้นอย่างนี้ว่า ถ้าเราจะถามปัญหากะพระสมณโคดม หาก พระองค์จะพึงตรัสกะเราอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่านไม่ควรถามอย่างนั้น ที่ถูกควรจะถาม อย่างนี้ ดังนี้ บริษัทนี้จะพึงดูหมิ่นเราได้ด้วยเหตุนั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่อาจถามปัญหาโดยแยบคายกะพระสมณโคดมได้ ผู้ที่ถูกบริษัทดูหมิ่นพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็พึงเสื่อมโภคสมบัติ เพราะได้ยศเราจึงมีโภคสมบัติ ถ้าพระสมณโคดมจะพึงตรัสถาม ปัญหาเรา และเราแก้ไม่ถูกพระทัย ถ้าพระองค์จะพึงตรัสกะเราอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ ท่านไม่ควรแก้อย่างนั้น ที่ถูกควรจะแก้อย่างนี้ ดังนี้ บริษัทนี้จะพึงดูหมิ่นเราได้ด้วยเหตุนั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่อาจแก้ปัญหาให้ถูกพระทัยพระสมณโคดมได้ ผู้ที่ถูกบริษัทดูหมิ่นพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็พึงเสื่อมโภคสมบัติ เพราะได้ยศเราจึงมีโภคสมบัติ อนึ่ง เราเข้ามาใกล้ถึงเพียงนี้แล้วยังมิได้เฝ้าพระสมณโคดมจะกลับเสีย บริษัทนี้จะพึงดูหมิ่นเรา ได้ด้วยเหตุนั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด กระด้างด้วยมานะ เป็นคนขลาด ไม่อาจเข้าเฝ้าพระสมณโคดมได้ เข้ามาใกล้ถึงเพียงนี้แล้ว ยังไม่ทันเฝ้าพระสมณโคดม ไฉนจึง กลับเสีย ผู้ที่ถูกบริษัทดูหมิ่นพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็พึงเสื่อมโภคสมบัติ เพราะได้ยศเราจึงมี โภคสมบัติ. [๑๘๔] ลำดับนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายพราหมณ์และคฤหบดีชาวนครจัมปา บางพวกก็ถวายอภิวาท บางพวกก็ปราศรัย บางพวกก็ ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตร บางพวกก็นิ่งอยู่ แล้วต่าง ก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งๆ ได้ยินว่า ในขณะนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะนั่งครุ่นคิดถึงแต่เรื่อง นั้นว่า ถ้าเราจะพึงถามปัญหากะพระสมณโคดม หากพระองค์จะพึงตรัสกะเราอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่านไม่ควรถามอย่างนั้น ที่ถูกควรจะถามอย่างนี้ ดังนี้ บริษัทนี้จะพึงดูหมิ่นเราได้ด้วย เหตุนั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่อาจถามปัญหาโดยแยบคายกะพระ- *สมณโคดมได้ ผู้ที่ถูกบริษัทดูหมิ่นพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศ ก็พึงเสื่อมโภคสมบัติ เพราะได้ยศ เราจึงมีโภคสมบัติ ถ้าพระสมณโคดมจะพึงตรัสถามปัญหาเรา ถ้าเราแก้ไม่ถูกพระทัย ถ้าพระองค์ จะพึงตรัสกะเราอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่านไม่ควรแก้อย่างนั้น ที่ถูกควรจะแก้อย่างนี้ ดังนี้ บริษัทนี้จะพึงดูหมิ่นเราได้ด้วยเหตุนั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่อาจแก้ปัญหาให้ถูกพระทัยพระสมณโคดมได้ ผู้ที่ถูกบริษัทดูหมิ่นพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็พึง เสื่อมโภคสมบัติ เพราะได้ยศเราจึงมีโภคสมบัติ ถ้ากระไร ขอพระสมณโคดมพึงตรัสถามปัญหา เราในเรื่องไตรวิชาอันเป็นของอาจารย์เรา เราจะพึงแก้ให้ถูกพระทัยของพระองค์ได้เป็นแน่. [๑๘๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดในใจของพราหมณ์โสณทัณฑะด้วย พระหฤทัย แล้วทรงดำริว่า พราหมณ์โสณทัณฑะนี้ลำบากใจตัวเองอยู่ ถ้ากระไร เราพึงถาม ปัญหาเขาในเรื่องไตรวิชาอันเป็นของอาจารย์เขา ต่อแต่นั้น จึงได้ตรัสถามพราหมณ์โสณทัณฑะว่า ดูกรพราหมณ์ บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์เท่าไร พวกพราหมณ์จึงบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อ เขาจะกล่าวว่าเราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาทด้วย พราหมณ์ โสณทัณฑะดำริว่า เราได้ประสงค์จำนงหมายปรารถนาไว้แล้วว่า ถ้ากระไร ขอพระสมณโคดม พึงตรัสถามปัญหาเรา ในเรื่องไตรวิชาอันเป็นของอาจารย์เรา เราจะพึงแก้ให้ถูกพระทัยของพระองค์ ได้เป็นแน่นั้น เผอิญพระองค์ก็ตรัสถามปัญหาเรา ในเรื่องไตรวิชาอันเป็นของอาจารย์เรา เราจัก แก้ปัญหาให้ถูกพระทัยได้เป็นแน่ทีเดียว.พราหมณ์บัญญัติ [๑๘๖] ลำดับนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะจึงเผยอกายขึ้นเหลียวดูบริษัท แล้วกราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ พวกพราหมณ์ ย่อมบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาทด้วย ๕ ประการเป็นไฉน? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลผู้เป็นพราหมณ์ ในโลกนี้ ๑. เป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ. ๒. เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญ ในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ. ๓. เป็นผู้มีรูปงาม น่าดูน่าเลื่อมใส กอปรด้วยผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีพรรณคล้าย พรหม มีรูปร่างคล้ายพรหม น่าดูน่าชมไม่น้อย. ๔. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน. ๕. เป็นบัณฑิต มีปัญญาเป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พวกพราหมณ์ย่อมบัญญัติ ว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึง มุสาวาทด้วย. [๑๘๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ บรรดาองค์ทั้ง ๕ เหล่านี้ ยกเสียองค์ หนึ่งแล้ว บุคคลประกอบด้วยองค์เพียง ๔ อาจจะบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขา จะกล่าวว่า เราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาทด้วย? พราหมณ์ โสณทัณฑะทูลว่า ได้ พระโคดมผู้เจริญ บรรดาองค์ทั้ง ๕ เหล่านี้ ยกวรรณะเสียก็ได้ เพราะ วรรณะจักทำอะไรได้ ด้วยเหตุว่าบุคคลผู้เป็นพราหมณ์ ๑. เป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ. ๒. เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญ ในคัมภีร์ โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ. ๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน. ๔. เป็นบัณฑิต มีปัญญาเป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของพวกปฏิคาหก ผู้รับบูชาด้วยกัน. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลประกอบด้วยองค์ ๔ เหล่านี้แล พวกพราหมณ์ย่อมบัญญัติ ว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้อง มุสาวาทด้วย. [๑๘๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ บรรดาองค์ ๔ เหล่านี้ ยกเสียองค์หนึ่ง แล้ว บุคคลประกอบด้วยองค์เพียง ๓ อาจบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะ กล่าวว่า เราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาทด้วย? พราหมณ์โสณทัณฑะ ทูลว่า ได้ พระโคดมผู้เจริญ บรรดาองค์ ๔ เหล่านี้ จะยกมนต์เสียก็ได้ เพราะมนต์จักทำอะไรได้ ด้วยเหตุว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์. ๑. เป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ. ๒. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน. ๓. เป็นบัณฑิต มีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ เหล่านี้แล พวกพราหมณ์ย่อม บัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาทด้วย. [๑๘๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ บรรดาองค์ ๓ เหล่านี้ ยกเสียองค์หนึ่ง แล้ว บุคคลประกอบด้วยองค์เพียง ๒ อาจจะบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะ กล่าวว่าเราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาทด้วย? พราหมณ์โสณทัณฑะ ทูลว่า ได้ พระโคดมผู้เจริญ บรรดาองค์ ๓ เหล่านี้ ยกชาติเสียก็ได้ เพราะชาติจักทำอะไรได้ ด้วยเหตุว่าบุคคลผู้เป็นพราหมณ์. ๑. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน. ๒. เป็นบัณฑิต มีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลประกอบด้วยองค์ ๒ เหล่านี้แล พวกพราหมณ์ย่อม บัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เราเป็นพราหมณ์ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้อง ถึงมุสาวาทด้วย. [๑๙๐] เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะทูลอย่างนี้แล้ว พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า ท่าน โสณทัณฑะอย่าได้กล่าวอย่างนั้นเลย ท่านโสณทัณฑะอย่าได้กล่าวอย่างนั้นเลย ท่านโสณทัณฑะ กล่าวลบหลู่วรรณะ กล่าวลบหลู่มนต์ กล่าวลบหลู่ชาติ กล่าวคล้อยตามวาทะของพระสมณโคดม ถ่ายเดียวเท่านั้น. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า ถ้าพวกท่านคิด อย่างนี้ว่า พราหมณ์โสณทัณฑะอ่อนการศึกษา พูดไม่ดี มีปัญญาทราม และไม่สามารถจะ โต้ตอบกับพระสมณโคดมในเรื่องนี้ได้ พราหมณ์โสณทัณฑะก็จงหยุดเสีย พวกท่านจงพูดกับเรา เถิด แต่ถ้าพวกท่านคิดอย่างนี้ว่า พราหมณ์โสณทัณฑะเป็นผู้พหูสูต พูดดีเป็นบัณฑิต และ สามารถจะโต้ตอบกับพระสมณโคดมในเรื่องนี้ได้ พวกท่านจงหยุดเสีย พราหมณ์โสณทัณฑะ จงโต้ตอบกับเรา. [๑๙๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์โสณทัณฑะได้กราบทูลว่า ขอ พระโคดมผู้เจริญทรงหยุดเถิด ขอพระโคดมผู้เจริญทรงนิ่งเสียเถิด ข้าพระองค์เองจักโต้ตอบเขา โดยชอบแก่เหตุ แล้วจึงกล่าวกะพราหมณ์พวกนั้นว่า ท่านทั้งหลาย อย่าได้กล่าวอย่างนี้ๆ ว่า ท่านพราหมณ์โสณทัณฑะ กล่าวลบหลู่วรรณะ กล่าวลบหลู่มนต์ กล่าวลบหลู่ชาติ กล่าวคล้อยตาม วาทะของพระสมณโคดมถ่ายเดียวอย่างนี้เลย ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวลบหลู่วรรณะ หรือมนต์หรือชาติเลย.ว่าด้วยคุณของมาณพอังคกะ [๑๙๒] สมัยนั้น อังคกะมาณพหลานของพราหมณ์โสณทัณฑะ นั่งอยู่ในบริษัทนั้นด้วย พราหมณ์โสณทัณฑะได้กล่าวกะพราหมณ์พวกนั้นว่า ท่านทั้งหลาย นี้อังคกะมาณพหลานของ ข้าพเจ้า พวกท่านเห็นหรือไม่ พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า เห็นแล้วท่าน พราหมณ์โสณทัณฑะ กล่าวต่อไปว่า อังคกะมาณพเป็นคนมีรูปงาม น่าดูน่าเลื่อมใส กอปรด้วยผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีพรรณคล้ายพรหม มีรูปร่างคล้ายพรหม น่าดูน่าชมไม่น้อย ในบริษัทนี้ยกพระสมณโคดมเสีย ไม่มีใครมีวรรณเสมอ อังคกะมาณพเลย อังคกะมาณพเป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจ ตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ ข้าพเจ้าเป็นผู้ บอกมนต์แก่เธอ เธอเป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาบิดามีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ ด้วยอ้างถึงชาติ ข้าพเจ้ารู้จักมารดาบิดา ของเธอ ถึงอังคกะมาณพจะพึงฆ่าสัตว์บ้าง จะพึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้บ้าง จะพึง คบหาภริยาของบุคคลอื่นบ้าง จะพึงกล่าวเท็จบ้าง จะพึงดื่มน้ำเมาบ้าง ในเวลานี้ ในฐานะเช่นนี้ วรรณะจักทำอะไรได้ มนต์จักทำอะไรได้ และชาติจักทำอะไรได้ ด้วยเหตุว่าบุคคลผู้เป็นพราหมณ์ เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน และเป็นบัณฑิต มีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ เหล่านี้แล พวกพราหมณ์จะบัญญัติว่า เป็นพราหมณ์ก็ได้ และเมื่อเขาจะกล่าวว่าเราเป็นพราหมณ์ ก็จะพึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึง มุสาวาทด้วย. [๑๙๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ บรรดาองค์ ๒ นี้ ยกเสียองค์หนึ่งแล้ว บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์เพียง ๑ อาจจะบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาทด้วย พราหมณ์โสณทัณฑะทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อนี้ไม่ได้ เพราะว่าปัญญาอันศีลชำระให้บริสุทธิ์ และศีลอันปัญญา ชำระให้บริสุทธิ์ ศีลมีในบุคคลใด ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น ปัญญามีในบุคคลใด ศีลก็มีในบุคคลนั้น ปัญญาเป็นของบุคคลผู้มีศีล ศีลเป็นของบุคคลผู้มีปัญญา และนักปราชญ์ย่อมกล่าวศีลกับปัญญาว่า เป็นยอดในโลก เหมือนบุคคลล้างมือด้วยมือ หรือล้างเท้าด้วยเท้าฉะนั้น. [๑๙๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ปัญญาอันศีลชำระให้บริสุทธิ์ ศีลอันปัญญาชำระให้บริสุทธิ์ ศีลมีในบุคคลใด ปัญญาก็มีใน บุคคลนั้น ปัญญามีในบุคคลใด ศีลก็มีในบุคคลนั้น ปัญญาเป็นของบุคคลผู้มีศีล ศีลเป็นของ บุคคลผู้มีปัญญา และนักปราชญ์ย่อมกล่าวศีลกับปัญญาว่าเป็นยอดในโลก เหมือนบุคคลล้างมือ ด้วยมือ หรือล้างเท้าด้วยเท้าฉะนั้น ดูกรพราหมณ์ ศีลนั้นเป็นไฉน ปัญญานั้นเป็นไฉน พราหมณ์โสณทัณฑะทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกข้าพระองค์มีความรู้เท่านี้เอง เมื่อ เนื้อความมีเช่นไร ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งแด่พระโคดมผู้เจริญเองเถิด. [๑๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักกล่าว พราหมณ์โสณทัณฑะรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธ- *พจน์นี้กะพราหมณ์โสณทัณฑะนั้นว่า ดูกรพราหมณ์ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้วย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วสำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษ เพียงเล็กน้อยสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วย กายกรรม วจีกรรม ที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ.----------------------------------------------------- จุลศีล ดูกรพราหมณ์ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล? ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่ เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็น กิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็น หลักฐานควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกมาข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้น แตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคน ผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาล อันควร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๘. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม. ๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล. ๑๐. เธอเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคนดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศล. ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมและ เครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว. ๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่. ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน. ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ. ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ. ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี. ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส. ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ. ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร. ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา. ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน. ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้. ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย. ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วย เครื่องตวงวัด. ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง. ๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.จบจุลศีล. ----------------------------------------------------- มัชฌิมศีล ๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคาม เห็นปานนี้ คือ พืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด เป็นที่ ครบห้า แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เห็น ปานนี้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่องประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคน จัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนม้า ชนช้าง ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่นอย่าง ที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่น หมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อย เล่นเขียน ทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งนอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เห็นปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาด ที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อ ดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้าย มีสีหะและเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่อง ลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาด หลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ ชื่ออชินะอันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดี ทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย ประกอบการประดับตกแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เห็นปานนี้ คืออบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะ ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบติรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่อง เบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ แม้ข้อนี้ก็เป็น ศีลของเธอประการหนึ่ง. ๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เห็นปานนี้ เช่นว่า ท่าน ไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านรู้จักทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าว ก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อนี้ท่านเคยช่ำชองมา ผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้น จงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เห็นปานนี้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ ในที่โน้นมา ดังนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.จบมัชฌิมศีล ----------------------------------------------------- มหาศีล ๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่น เวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธี ซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำ พลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็น หมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะศาสตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็น ปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายใน จักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายใน จักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชา ภายในจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาว นักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทร- *คราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาต จักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผล เป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผล เป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์ พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธออีกประการหนึ่ง. ดูกรพราหมณ์ ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย เพราะ ศีลสังวรนั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัย แต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น ฉันใด ดูกรพราหมณ์ ภิกษุก็ฉันนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะศีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้ เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน ดูกรพราหมณ์ ด้วยประการดังกล่าวดังนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยศีล แม้นี้แหละ คือศีลนั้น.จบมหาศีล ----------------------------------------------------- วิชชา ๘ วิปัสสนาญาณ ภิกษุบรรลุปฐมฌาน ... บรรลุทุติยฌาน ... บรรลุตติยฌาน ... บรรลุจตุตถฌานอยู่ เธอนั่ง แผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงนั่งคลุมตัวตลอด ศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขาที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูกรพราหมณ์ ภิกษุนั้นเมื่อจิต เป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มิอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัย เนื่องอยู่ในกายนี้ ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียวเหลืองแดง ขาวหรือนวลร้อยอยู่ในนั้น บุรุษผู้มีจักษุจะพึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณาเห็นว่า แก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียวเหลืองแดงขาวหรือนวลร้อยอยู่ในแก้วไพฑูรย์นั้น ฉันใด ภิกษุก็ ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่ การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสะ เธอย่อมรู้ชัด อย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วย ข้าวสุกและขนมสดไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลาย และกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญา ของเธอประการหนึ่ง.มโนมยิทธิญาณ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือ นิรมิตกายอื่นจากกายนี้มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้หญ้าปล้อง นี้ไส้ หญ้าปล้องอย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่ง ก็แต่ไส้ชักออกจากหญ้าปล้องนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักดาบออกจากฝัก เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่ง ก็แต่ดาบชักออกจากฝักนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงชักงูออกจากคราบ เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้งู นี้คราบ งูอย่างหนึ่ง คราบอย่างหนึ่ง ก็แต่งูชักออกจากคราบนั่นเอง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ เธอย่อม โน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือ นิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะ น้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอ ประการหนึ่ง.อิทธิวิธิญาณ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธี หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ใน แผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจ ทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือของช่างหม้อ ผู้ฉลาด เมื่อนวดดินดีแล้วต้องการภาชนะชนิดใดๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้องการเครื่องงา ชนิดใดๆ พึงทำเครื่องงาชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือ ของช่างทองผู้ฉลาด เมื่อหลอมทองดีแล้วต้องการทองรูปพรรณชนิดใดๆ พึงทำทองรูปพรรณ ชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อม โน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.ทิพยโสตญาณ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อม ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล เขาจะได้ยินเสียงกลองบ้าง เสียงตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงเปิงมางบ้าง เขาจะพึงเข้าใจว่าเสียง กลองดังนี้บ้าง เสียงตะโพนดังนี้บ้าง เสียงสังข์ดังนี้บ้าง เสียงบัณเฑาะว์ดังนี้บ้าง เสียงเปิงมาง ดังนี้บ้าง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสต อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.เจโตปริยญาณ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อม กำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจาก ราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจาก โทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่า จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็น มหรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็น สมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกอันบริสุทธิ์ สะอาด หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝ ก็จะพึงว่า หน้าไม่มีไฝ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโต- *ปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือ จิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มี จิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติ บ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตร อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุ เพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็น อันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงจากบ้านของตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้นกลับมาบ้าน ของตนตามเดิม เขาจะพึงระลึกได้อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้นเราได้ ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เราได้จากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านโน้น แม้ในบ้านนั้นเราก็ได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรา กลับจากบ้านนั้น มาสู่บ้านของตนตามเดิม ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสน ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหาร อย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิด ในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.จุตูปปาตญาณ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์ เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการ กระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็น สัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้ เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ ณ ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนคร บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังสัญจรเป็นแถวอยู่ในถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนครบ้าง เขาจะพึงรู้ว่า คน เหล่านี้เข้าไปสู่เรือน เหล่านี้ออกจากเรือน เหล่านี้สัญจรเป็นแถวอยู่ในถนน เหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนคร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยการทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อม เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่งอาสวักขยญาณ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยาน ย่อมรู้ชัดตาม ความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้น แล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขาใสสะอาดไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุ ยืนอยู่บนขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้ กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดบ้าง ในสระนั้น ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิต เป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธ คามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จาก อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อนี้ก็เป็น ปัญญาของเธอประการหนึ่ง ดูกรพราหมณ์ นี้แลคือปัญญานั้น.โสณทัณฑพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก [๑๙๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์โสณทัณฑะได้กราบทูลคำนี้ กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทาง แก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาค ทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญข้าพระองค์ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึง ขอพระโคดมผู้เจริญจงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระโคดมผู้เจริญทรงรับภัตตาหาร ของข้าพระองค์เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ แล้ว ลำดับนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณ แล้วกลับไป.อธิบายของโสณทัณฑพราหมณ์ [๑๙๗] ครั้นล่วงราตรีนั้นแล้ว พราหมณ์โสณทัณฑะให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอัน- *ประณีตในนิเวศน์ของตนเสร็จแล้ว ให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่ง แล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของพราหมณ์โสณทัณฑะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์แล้ว ประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาจัดไว้ จึงพราหมณ์โสณทัณฑะได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุข ด้วยของเคี้ยว ของฉันอันประณีตให้อิ่มหนำด้วยมือของตนเสร็จแล้ว. [๑๙๘] ครั้งนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะทราบว่าพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว วาง พระหัตถ์จากบาตรแล้ว จึงถือเอาอาสนะต่ำกว่า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์กำลังอยู่ในท่ามกลางบริษัทจะพึงลุกจากอาสนะถวายอภิวาท พระโคดมผู้เจริญ บริษัทนั้นจะพึงดูหมิ่นข้าพระองค์ด้วยเหตุนั้นได้ ผู้ที่ถูกบริษัทดูหมิ่นพึง เสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศพึงเสื่อมโภคสมบัติ เพราะได้ยศ ข้าพระองค์จึงมีโภคสมบัติ ข้าแต่พระ โคดมผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์กำลังอยู่ในท่ามกลางบริษัทจะพึงประคองอัญชลี ขอพระโคดม ผู้เจริญจงเข้าพระทัยว่า แทนการลุกจากอาสนะ ถ้าข้าพระองค์กำลังอยู่ในท่ามกลางบริษัทจะพึง เปลื้องผ้าโพกออก ขอพระโคดมผู้เจริญจงเข้าพระทัยว่า แทนการอภิวาทด้วยเศียร ถ้าข้าพระองค์ กำลังไปในยานจะพึงลงจากยานแล้วถวายอภิวาทพระโคดม บริษัทนั้นจะพึงดูหมิ่นข้าพระองค์ ด้วยเหตุนั้นได้ ผู้ที่ถูกบริษัทดูหมิ่นพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศ พึงเสื่อมโภคสมบัติ เพราะได้ยศ ข้าพระองค์จึงมีโภคสมบัติ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์กำลังไปในยานจะพึงยกปฏักขึ้น ขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงเข้าพระทัยว่า แทนการลงจากยานของข้าพระองค์ ถ้าข้าพระองค์กำลังไป ในยานจะพึงลดร่มขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงเข้าพระทัยว่า แทนการอภิวาทด้วยเศียรของข้าพระองค์ ดังนี้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงยังพราหมณ์โสณทัณฑะให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเสด็จกลับ ดังนี้แล.จบโสณทัณฑสูตร ที่ ๔. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ บรรทัดที่ ๒๘๓๓-๓๔๗๗ หน้าที่ ๑๑๘-๑๔๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=9&A=2833&Z=3477&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=9&item=178&items=21 อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=9&item=178&items=21&mode=bracket อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=9&item=178&items=21 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=9&item=178&items=21 ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=178 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_9 https://84000.org/tipitaka/english/?index_9
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]