ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๔. โปตลิยสูตร
เรื่องโปตลิยคฤหบดี
[๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ในอังคุตตราปชนบท ในนิคม ของชาว อังคุตตราปะ ชื่อว่าอาปณะ. ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังอาปณนิคม. ครั้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในอาปณนิคมแล้วภายหลังภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว เสด็จเข้าไปยังไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง เพื่อทรงพักกลางวัน เสด็จถึง ไพรสณฑ์นั้นแล้ว ประทับนั่งพักกลางวัน ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง แม้โปตลิยคฤหบดี มีผ้านุ่งผ้าห่ม สมบูรณ์ ถือร่มสวมรองเท้า เดินเที่ยวไปมาเป็นการพักผ่อนอยู่ เข้าไปยังไพรสณฑ์นั้นแล้ว ครั้นถึงไพรสณฑ์นั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. [๓๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะโปตลิยคฤหบดีผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกร คฤหบดี อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ เชิญนั่งเถิด. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โปตลิยคฤหบดีโกรธ น้อยใจว่า พระสมณโคดมตรัสเรียกเราด้วยคำว่า คฤหบดี แล้วได้นิ่งเสีย. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะโปตลิยคฤหบดีครั้งที่ ๒ ว่า ดูกรคฤหบดี อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ เชิญนั่งเถิด. โปตลิยคฤหบดีโกรธ น้อยใจว่า พระสมณโคดมตรัสเรียกเราด้วยคำว่า คฤหบดี ได้นิ่งเสียเป็นครั้งที่ ๒. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะโปตลิยคฤหบดีเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ดูกรคฤหบดี อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ เชิญนั่งเถิด. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โปตลิยคฤหบดี โกรธ น้อยใจว่า พระสมณโคดมตรัสเรียกเราด้วยคำว่า คฤหบดี แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม พระดำรัสที่พระองค์ตรัสเรียกข้าพเจ้าด้วยคำว่า คฤหบดีนั้น ไม่เหมาะ ไม่ควรเลย. พ. ดูกรคฤหบดี ก็อาการของท่าน เพศของท่าน เครื่องหมายของท่านเหล่านั้น เหมือน คฤหบดีทั้งนั้น. โป. จริงเช่นนั้น ท่านพระโคดม ก็แต่ว่าการงานทั้งปวง ข้าพเจ้าห้ามเสียแล้ว โวหาร ทั้งปวง ข้าพเจ้าตัดขาดแล้ว. ดูกรคฤหบดี ก็การงานทั้งปวง ท่านห้ามเสียแล้ว โวหารทั้งปวง ท่านตัดขาดแล้ว อย่างไรเล่า? ท่านพระโคดม ขอประทานโอกาส สิ่งใดของข้าพเจ้าที่มี เป็นทรัพย์ก็ดี เป็นข้าวเปลือก ก็ดี เป็นเงินก็ดี เป็นทองก็ดี สิ่งนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้ามอบให้เป็นมฤดกแก่บุตรทั้งหลาย ข้าพเจ้า มิได้สอน มิได้ว่าเขาในสิ่งนั้นๆ ข้าพเจ้ามีอาหารและเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างยิ่งอยู่ ท่านพระโคดม การงานทั้งปวงข้าพเจ้าห้ามเสียแล้ว โวหารทั้งปวง ข้าพเจ้าตัดขาดแล้ว ด้วยประการอย่างนี้แล. ดูกรคฤหบดี ท่านกล่าวการตัดขาดโวหาร เป็นอย่างหนึ่ง ส่วนการตัดขาดโวหารในวินัย ของพระอริยะ เป็นอีกอย่างหนึ่ง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะอย่างไรเล่า ดีละ พระองค์ ผู้เจริญ การตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะ มีอยู่ ด้วยประการใด ขอพระผู้มีพระภาคจงทรง แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า ด้วยประการนั้นเถิด. ดูกรคฤหบดี ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. โปตลิยคฤหบดีทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว.
เครื่องตัดโวหาร ๘ ประการ
[๓๘] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี ธรรม ๘ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อ ตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะ ๘ ประการเป็นไฉน? คือ ปาณาติบาต พึงละได้เพราะอาศัย การไม่ฆ่าสัตว์ อทินนาทาน พึงละได้เพราะอาศัยการถือเอาแต่ของที่เขาให้ มุสาวาท พึงละได้ เพราะอาศัยวาจาสัตย์ ปิสุณาวาจา พึงละได้เพราะอาศัยวาจาไม่ส่อเสียด ความโลภด้วยสามารถ ความกำหนัด พึงละได้เพราะอาศัยความไม่โลภด้วยสามารถความกำหนัด ความโกรธด้วยสามารถ แห่งการนินทา พึงละได้เพราะความไม่โกรธด้วยสามารถแห่งการนินทา ความคับแค้นด้วยความ สามารถแห่งความโกรธ พึงละได้เพราะอาศัยความไม่คับแค้นด้วยสามารถความโกรธ ความดูหมิ่น ท่านพึงละได้เพราะอาศัยความไม่ดูหมิ่นท่าน ดูกรคฤหบดี ธรรม ๘ ประการนี้แล เรากล่าวโดยย่อ ยังมิได้จำแนกโดยพิสดาร ย่อมเป็นไปเพื่อตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ธรรม ๘ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อ มิได้ทรงจำแนก โดยพิสดาร ย่อมเป็นไปเพื่อตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะ ดีละ พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ ผู้มีพระภาคทรงอาศัยความกรุณาจำแนกธรรม ๘ ประการนี้ โดยพิสดารแก่ข้าพเจ้าเถิด. ดูกรคฤหบดี ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. โปตลิยคฤหบดีทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว. [๓๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี ก็คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า ปาณาติบาต พึงละได้เพราะอาศัยการไม่ฆ่าสัตว์ เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร? ดูกรคฤหบดี อริยสาวกใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงทำปาณาติบาตเพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เรา ปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น อนึ่ง เราพึงทำปาณาติบาต แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้ เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย วิญญูชนพิจารณาแล้ว พึงติเตียนได้ เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย ปาณาติบาตนี้นั่นแหละ เป็นตัว สังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใด พึงเกิดขึ้น เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลงดเว้นจากปาณาติบาตแล้ว อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและ กระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี คำที่กล่าวดังนี้ว่า ปาณาติบาต พึงละได้เพราะอาศัยการ ไม่ฆ่าสัตว์ เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้. [๔๐] ก็คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า อทินนาทานพึงละได้ เพราะอาศัยการถือเอาแต่ของที่ เขาให้ เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร? ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็น ดังนี้ว่า เราพึงถือเอาของที่เขามิได้ให้ เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัด สังโยชน์เหล่านั้น อนึ่ง เราพึงถือเอาของที่เขามิได้ให้ แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้ เพราะ อทินนาทานเป็นปัจจัย วิญญูชนพิจารณาแล้ว พึงติเตียนได้ เพราะอทินนาทานเป็นปัจจัย เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะอทินนาทานเป็นปัจจัย อทินนาทานนี้นั้นแหละ เป็นตัว สังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้น และกระวนกระวายเหล่าใด พึงเกิดขึ้น เพราะอทินนาทานเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลงดเว้นจากอทินนาทานแล้ว อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้น และกระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า อทินนาทานพึงละได้ เพราะอาศัย การถือเอาแต่ของที่เขาให้ เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้. [๔๑] ก็คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า มุสาวาทพึงละได้ เพราะอาศัยวาจาสัตย์ เรากล่าวเพราะ อาศัยอะไร? ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงกล่าวมุสา เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น อนึ่ง เราพึงกล่าวมุสา แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้ เพราะมุสาวาทเป็นปัจจัย วิญญูชนพิจารณาแล้วพึงติเตียนได้ เพราะ มุสาวาทเป็นปัจจัย เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะมุสาวาทเป็นปัจจัย มุสาวาทนี้ นั่นแหละเป็นตัวสังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวาย เหล่าใดพึงเกิดขึ้นเพราะมุสาวาทเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลเว้นจากมุสาวาทแล้ว อาสวะที่เป็นเหตุ คับแค้นและกระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า มุสาพึงละได้ เพราะอาศัย วาจาสัตย์ เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้. [๔๒] ก็คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า ปิสุณาวาจาพึงละได้ เพราะอาศัยวาจาไม่ส่อเสียด เรา กล่าวเพราะอาศัยอะไร? ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เรา พึงกล่าววาจาส่อเสียด เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์ เหล่านั้น อนึ่ง เราพึงกล่าววาจาส่อเสียด แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้ เพราะวาจาส่อเสียดเป็น ปัจจัย วิญญูชนพิจารณาแล้ว พึงติเตียนได้ เพราะวาจาส่อเสียดเป็นปัจจัย เมื่อตายไป ทุคติ เป็นอันหวังได้ เพราะวาจาส่อเสียดเป็นปัจจัย ปิสุณาวาจานี้นั่นแหละ เป็นตัวสังโยชน์ เป็น ตัวนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใด พึงเกิดขึ้นเพราะวาจา ส่อเสียดเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลงดเว้นจากวาจาส่อเสียดแล้ว อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและ กระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า ปิสุณาวาจาพึงละได้ เพราะอาศัยวาจา ไม่ส่อเสียด เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้. [๔๓] ก็คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความโลภด้วยสามารถความกำหนัด พึงละได้ เพราะ อาศัยความไม่โลภด้วยสามารถความกำหนัด เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร? ดูกรคฤหบดี อริยสาวก ในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงมีความโลภด้วยสามารถความกำหนัด เพราะเหตุ สังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละเพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น อนึ่ง เราพึงมีความโลภด้วยสามารถ ความกำหนัด แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้ เพราะความโลภด้วยสามารถแห่งความกำหนัดเป็น ปัจจัย วิญญูชนพิจารณาแล้วพึงติเตียนได้ เพราะความโลภด้วยสามารถแห่งความกำหนัดเป็น ปัจจัย เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะความโลภด้วยสามารถความกำหนัดเป็นปัจจัย ความโลภด้วยสามารถความกำหนัดนี้นั่นแหละ เป็นตัวสังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะ ที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใด พึงเกิดขึ้นเพราะความโลภด้วยสามารถความกำหนัด เป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่โลภด้วยสามารถความกำหนัด อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวน กระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความโลภด้วยสามารถความกำหนัด พึงละได้ เพราะอาศัยความไม่โลภด้วยสามารถความกำหนัด เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้. [๔๔] ก็คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความโกรธด้วยความสามารถแห่งการนินทา พึงละได้ เพราะอาศัยความไม่โกรธด้วยสามารถแห่งการนินทา คำนี้เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร? ดูกร คฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงโกรธด้วยสามารถแห่งการ นินทา เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น อนึ่ง เราพึงโกรธด้วยสามารถแห่งการนินทา แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้ เพราะความโกรธด้วยสามารถ แห่งการนินทาเป็นปัจจัย วิญญูชนพิจารณาแล้วพึงติเตียนได้ เพราะความโกรธด้วยสามารถแห่ง การนินทาเป็นปัจจัย เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะความโกรธด้วยสามารถแห่งการ นินทาเป็นปัจจัย ความโกรธด้วยสามารถแห่งการนินทานั่นแหละ เป็นตัวสังโยชน์ เป็นตัว นิวรณ์ อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใด พึงเกิดขึ้น เพราะความโกรธ ด้วยสามารถแห่งการนินทาเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่โกรธด้วยสามารถแห่งการนินทา อาสวะที่ เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความโกรธด้วย สามารถแห่งการนินทา พึงละได้ เพราะอาศัยความไม่โกรธด้วยสามารถแห่งการนินทา เรากล่าว เพราะอาศัยข้อนี้. [๔๕] คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความคับแค้นด้วยสามารถความโกรธ พึงละได้ เพราะ อาศัยความไม่คับแค้นด้วยสามารถความโกรธ เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร? ดูกรคฤหบดี อริยสาวก ในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงคับแค้นด้วยสามารถความโกรธ เพราะเหตุแห่ง สังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น อนึ่ง เราพึงคับแค้นด้วยสามารถ ความโกรธ แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้ เพราะความคับแค้นด้วยสามารถแห่งความโกรธเป็น ปัจจัย วิญญูชนพิจารณาแล้ว พึงติเตียนได้ เพราะความคับแค้นด้วยสามารถแห่งความโกรธเป็น ปัจจัย เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะความคับแค้นด้วยสามารถแห่งความโกรธเป็น ปัจจัย ความคับแค้นด้วยสามารถแห่งความโกรธนี้นั่นแหละ เป็นตัวสังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใด พึงเกิดขึ้น เพราะความคับแค้นด้วย สามารถความโกรธเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่คับแค้นด้วยสามารถความโกรธ อาสวะที่เป็นเหตุ คับแค้นและกระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความคับแค้นด้วยสามารถ ความโกรธ พึงละได้ เพราะอาศัยความไม่คับแค้นด้วยสามารถความโกรธ เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้. [๔๖] คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความดูหมิ่นท่าน พึงละได้ เพราะอาศัยความไม่ดูหมิ่นท่าน เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร? ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงดูหมิ่นท่าน เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น อนึ่ง เราพึงดูหมิ่นท่าน แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้ เพราะความดูหมิ่นท่านเป็นปัจจัย วิญญูชน พิจารณาแล้วพึงติเตียนตนได้ เพราะความดูหมิ่นท่านเป็นปัจจัย เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะความดูหมิ่นท่านเป็นปัจจัย ความดูหมิ่นท่านนี้นั่นแหละ เป็นตัวสังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใดพึงเกิดขึ้น เพราะความดูหมิ่นท่านเป็น ปัจจัย เมื่อบุคคลไม่ดูหมิ่นท่าน อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี คำที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความดูหมิ่นท่าน พึงละได้ เพราะอาศัยความไม่ดูหมิ่นท่าน เรากล่าวเพราะ อาศัยข้อนี้. ดูกรคฤหบดี ธรรม ๘ ประการที่เรากล่าวโดยย่อ ไม่ได้จำแนกโดยพิสดาร ย่อมเป็น ไปเพื่อละ เพื่อตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะนั้น เหล่านี้แล ดูกรคฤหบดี แต่เพียงเท่านี้ จะได้ชื่อว่าเป็นการตัดขาดโวหารทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่างโดยประการทั้งปวง ในวินัยของพระอริยะ หามิได้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ก็อย่างไรเล่า จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการ ตัดขาดโวหารทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ในวินัยของพระอริยะ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ก็การตัดขาดโวหารทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ในวินัยของพระอริยะ มีด้วยประการใด ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า ด้วยประการนั้นเถิด. ดูกรคฤหบดี ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว โปตลิยคฤหบดีทูลรับ พระผู้มีพระภาคแล้ว.
อุปมากาม ๗ ข้อ
[๔๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนสุนัข อันความเพลียเพราะความหิวเบียดเบียนแล้ว พึงเข้าไปยืนอยู่ใกล้เขียงของนายโคฆาต นาย โคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ฉลาด พึงโยนร่างกระดูกที่เชือดชำแหละออกจนหมดเนื้อแล้ว เปื้อนแต่เลือดไปยังสุนัข ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สุนัขนั้น แทะร่างกระดูกที่เชือดชำแหละออกจนหมดเนื้อ เปื้อนแต่เลือด จะพึงบำบัดความเพลียเพราะความ หิวได้บ้างหรือ? ไม่ได้เลยพระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเป็นร่างกระดูกที่เชือดชำแหละ ออกจนหมดเนื้อ เปื้อนแต่เลือด และสุนัขนั้นพึงมีแต่ส่วนแห่งความเหน็ดเหนื่อยคับแค้นเท่านั้น. ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มี พระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยร่างกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขา ที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความ เป็นอารมณ์เดียวอันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้. [๔๘] ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนแร้งก็ดี นกตะกรุมก็ดี เหยี่ยวก็ดี พาชิ้นเนื้อบินไป แร้งทั้งหลาย นกตะกรุมทั้งหลาย หรือเหยี่ยวทั้งหลาย จะพึงโผเข้ารุมจิกแย่งชิ้นเนื้อนั้น ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าแร้ง นกตะกรุม หรือเหยี่ยวตัวนั้น ไม่รีบ ปล่อยชิ้นเนื้อนั้นเสีย มันจะถึงตายหรือทุกข์ปางตายเพราะชิ้นเนื้อนั้นเป็นเหตุ? อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ. ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มี พระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขา ที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัย ความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือ มิได้. [๔๙] ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงถือคบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วแล้ว เดินทวนลม ไป ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าบุรุษนั้นไม่รีบปล่อยคบเพลิงหญ้า อันไฟติดทั่วนั้นเสีย คบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วนั้น พึงไหม้มือ ไหม้แขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่ แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้นจะถึงตายหรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะคบเพลิงนั้นเป็นเหตุ? อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ. ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มี- *พระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยคบเพลิงหญ้า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษ อย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาด ซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือ มิได้. [๕๐] ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วย ถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว ปราศจากควัน บุรุษผู้รักชีวิต ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงมา บุรุษมีกำลังสองคนช่วยกันจับแขนบุรุษนั้นข้างละคน ฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงน้อมกายเข้าไปด้วยคิดเห็นว่า อย่างนี้ๆ บ้างหรือ? ไม่เป็นเช่นนั้น พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุรุษนั้นรู้ว่า เราจักตกลง ยังหลุมถ่านเพลิงนี้ จักถึงตาย หรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะการตกลงยังหลุมถ่านเพลิงเป็นเหตุ. ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มี- *พระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษ อย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาด ซึ่งอุเบกขา ที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์ เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้. [๕๑] ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ ภาคพื้นอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ บุรุษนั้นตื่นขึ้นแล้ว ไม่พึงเห็นอะไร ฉันใด ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขา ที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัย ความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวงหาส่วนเหลือ มิได้. [๕๒] ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงยืมโภคสมบัติ คือ แก้วมณีและกุณฑล อย่างดีบรรทุกยานไป เขาแวดล้อมด้วยทรัพย์สมบัติที่ตนยืมมา พึงเดินไปภายในตลาด คนเห็น เขาเข้าแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ บุรุษผู้นี้มีโภคสมบัติหนอ ได้ยินว่าชนทั้งหลาย ผู้มีโภคสมบัติ ย่อมใช้สอยโภคสมบัติอย่างนี้ ดังนี้ พวกเจ้าของพึงพบบุรุษนั้น ณ ที่ใดๆ พึงนำเอาของของตนคืนไปในที่นั้นๆ ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จะสมควรหรือหนอ เพื่อความที่บุรุษนั้นจะเป็นอย่างอื่นไป? ไม่เป็นเช่นนั้น พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเจ้าของย่อมจะนำเอาของ ของตนคืนไปได้. ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยของยืม มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษ อย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาด ซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือ มิได้. [๕๓] ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนราวป่าใหญ่ ในที่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม ต้นไม้ ในราวป่านั้น พึงมีผลรสอร่อย ทั้งมีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว บุรุษ ผู้ต้องการผลไม้ พึงเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้น เห็นต้นไม้อันมีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้น สักผลเดียว แต่เรารู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงขึ้นต้นไม้นี้แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาขึ้นต้นไม้นั้นแล้ว กินจนอิ่ม และห่อพกไว้ ลำดับนั้น บุรุษคนที่สองต้องการผลไม้ถือขวาน อันคมเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้นแล้ว เห็นต้นไม้ มีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงตัดต้นไม้นี้แต่โคนต้น แล้วกินพออิ่ม และห่อพก ไปบ้าง เขาพึงตัดต้นไม้นั้นแต่โคนต้น ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษคนโน้นซึ่งขึ้นต้นไม้ก่อนนั้น ถ้าแลเขาไม่รีบลง ต้นไม้นั้นจะพึงล้มลง หักมือ หักเท้า หรือ หักอวัยวะน้อยใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้นพึงถึงตายหรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะ ต้นไม้นั้นล้มเป็นเหตุ? เป็นอย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ. ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขา ที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัย ความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.
วิชชา ๓
[๕๔] ดูกรคฤหบดี อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มี ธรรมอื่นยิ่งกว่านี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมากคือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด วิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้. ดูกรคฤหบดี อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีธรรมอื่น ยิ่งกว่านี้แหละ เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณ ทราม ได้ดี ตกยากด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไป ตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อม เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วย ประการฉะนี้. ดูกรคฤหบดี อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีธรรมอื่น ยิ่งกว่านี้แหละ เธอทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่.
โปตลิยคฤหบดีแสดงตนเป็นอุบาสก
[๕๕] ดูกรคฤหบดี ด้วยอาการเพียงเท่านี้แล ชื่อว่าเป็นการตัดขาดโวหารทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ในวินัยของพระอริยะ ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นการตัดขาดโวหารทั้งสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ในวินัย ของอริยะเห็นปานนี้ ในตนบ้างหรือหนอ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าก็กระไรๆ อยู่ การตัดขาดโวหารทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ในวินัยของพระอริยะ อันใด ข้าพเจ้ายังห่างไกลจากการตัดขาดโวหารทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ในวินัยของพระอริยะ อันนั้น เพราะเมื่อก่อนพวกข้าพเจ้าได้ สำคัญพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้รู้ทั่วถึง ได้คบหาพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ผู้ไม่รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้อันบุคคลผู้รู้เหตุผลพึงคบหา ได้เทิดทูนพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึง ไว้ในฐานะของผู้รู้ทั่วถึง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่พวกข้าพเจ้าได้สำคัญภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้ไม่รู้ทั่วถึง ได้คบหาภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้อันบุคคลผู้ไม่รู้เหตุผลพึงคบหา ได้ตั้ง ภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะของผู้ไม่รู้ทั่วถึง แต่บัดนี้ พวกข้าพเจ้าจักรู้พวกอัญญเดียรถีย์- ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้ไม่รู้ทั่วถึง จักคบหาพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้ อันบุคคลผู้ไม่รู้เหตุผลพึงคบหา จักตั้งพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะของผู้ไม่รู้ ทั่วถึง พวกข้าพเจ้าจักรู้ภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้รู้ทั่วถึง จักคบหาภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้อันบุคคลผู้รู้เหตุผลพึงคบหา จักเทิดทูนภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะของผู้รู้ทั่วถึง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคได้ยังความรักสมณะในหมู่สมณะ ได้ยังความเลื่อมใสสมณะ ในหมู่สมณะ ได้ยังความเคารพสมณะในหมู่สมณะ ให้เกิดแก่ข้าพเจ้าแล้วหนอ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศ ธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึง สรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.
จบ โปตลิยสูตร ที่ ๔.
-----------------------------------------------------
๕. ชีวกสูตร
เรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์
[๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เขตพระนคร ราชคฤห์. ครั้งนั้นแล หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระ สมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดม ทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่า กล่าว ตรงกับที่พระผู้มีพระภาคตรัส ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำอันไม่เป็นจริง ชื่อว่ายืนยัน ธรรมอันสมควรแก่ธรรม การกล่าวและกล่าวตามที่ชอบธรรม จะไม่ถึงข้อติเตียนละหรือ?
เนื้อที่ไม่ควรบริโภค และควรบริโภค ๓ อย่าง
[๕๗] พ. ดูกรชีวก ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้ ชนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงกับที่เรากล่าวหามิได้ ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริง ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า ไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน เนื้อที่ตนรังเกียจ ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ นี้แล ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล.
การแผ่เมตตา
[๕๘] ดูกรชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจ ประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง อยู่ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าโดยความมีตนทั่วไปใน ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี เข้าไปหาเธอแล้วนิมนต์ด้วยภัต เพื่อให้ฉัน ในวันรุ่งขึ้น ดูกรชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ ก็รับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้น นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะ ที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดำริ ว่า ดีหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีต ดังนี้ ย่อมไม่มี แก่เธอ แม้ความดำริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอัน ประณีตเช่นนี้ แม้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาตนั้น มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องถอนตน บริโภคอยู่ ดูกรชีวก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนว่า ในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียน ทั้งสองฝ่าย บ้างหรือ? ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า. ดูกรชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ? อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหมมี ปกติอยู่ด้วยเมตตา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเป็นองค์พยาน ปรากฏแล้ว ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา. ดูกรชีวก บุคคลพึงมีความพยาบาท เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิด ต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้ เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ และโมหะ เป็นต้นนี้.
การแผ่กรุณา มุทิตา อุเบกขา
[๕๙] ดูกรชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจ ประกอบด้วยกรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าโดยความมีตนทั่วไปในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน คฤหบดีหรือ บุตรคฤหบดีเข้าไปหาเธอ แล้วนิมนต์ด้วยภัต เพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น ดูกรชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ ย่อมรับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้นนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดำริว่า ดีหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีต ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เธอ แม้ ความดำริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีตนี้ แม้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาตนั้น มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องถอนตน บริโภคอยู่ ดูกรชีวก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนว่า ในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย บ้างหรือ? ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า. ดูกรชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ? อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหม มีปกติอยู่ด้วยอุเบกขา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเป็นองค์พยาน ปรากฏแล้ว ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีปกติอยู่ด้วยอุเบกขา. ดูกรชีวก บุคคลพึงมีความเบียดเบียน มีความไม่ยินดี มีความกระทบกระทั่งเพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละแล้วมีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้ เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้.
ทำบุญได้บาปด้วยเหตุ ๕ ประการ
[๖๐] ดูกรชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสพบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ ชื่อโน้นมา ดังนี้ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๑ นี้ สัตว์นั้น เมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์ โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วย เหตุประการที่ ๒ นี้ ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่ บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๓ นี้ สัตว์นั้นเมื่อเขากำลังฆ่าย่อมเสวยทุกข์ โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๔ นี้ ผู้นั้นย่อมยังตถาคตและสาวก ตถาคต ให้ยินดีด้วยเนื้อเป็นอกัปปิยะ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ประการที่ ๕ นี้ ดูกรชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อมประสพบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้. [๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายย่อมฉันอาหารอันไม่มีโทษหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง นัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอ พระผู้มีพระภาคทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.
จบ ชีวกสูตร ที่ ๕.
-----------------------------------------------------
๖. อุปาลิวาทสูตร
เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์
[๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน ใกล้เมืองนาลันทา. สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตรอาศัยอยู่ ณ เมืองนาลันทาพร้อมด้วยบริษัทนิครนถ์เป็นอันมาก ครั้งนั้นแล. นิครนถ์ชื่อว่าทีฆตปัสสี เที่ยวบิณฑบาตไปในเมืองนาลันทา เวลาภายหลังภัต กลับจาก บิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ กะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูกรทีฆตปัสสี อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ ก็จงนั่งเถิด เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
กรรม ๓ ของนิครนถ์นาฏบุตร
[๖๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูกรทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม ไว้เท่าไร? ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ทูลว่า ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตร จะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้ เป็นอาจิณหามิได้ ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า ทัณฑะๆ ดังนี้แล เป็น อาจิณ. พ. ดูกรทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำบาปกรรม ในการ เป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร? ที. ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป แห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายทัณฑะ ๑ วจีทัณฑะ ๑ มโนทัณฑะ ๑. ดูกรตปัสสี ก็กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง หรือ? ท่านพระโคดม กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง. ดูกรตปัสสี ก็บรรดาทัณฑะ ๓ ประการนี้ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน เหล่านี้ ทัณฑะไหน คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะ ที่นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่ามี โทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม? ท่านพระโคดม บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่าง ต่างกันเหล่านี้ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า กายทัณฑะมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ใน การเป็นไปแห่งบาปกรรม จะบัญญัติวจีทัณฑะ มโนทัณฑะ ว่ามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะ หามิได้. ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ? ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าว่ากายทัณฑะ. ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ? ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ. ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ? ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ. พระผู้มีพระภาคทรงให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ยืนยันในเรื่องที่พูดนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการ ฉะนี้. [๖๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กราบทูลถามพระผู้มี พระภาคว่า ท่านพระโคดม พระองค์เล่าย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป แห่งบาปกรรมไว้เท่าไร? ดูกรตปัสสี ตถาคตจะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้เป็นอาจิณ. ท่านพระโคดม ก็พระองค์ย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่ง บาปกรรม ไว้เท่าไร? ดูกรตปัสสี เราย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑. พระโคดม ก็กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่งมิใช่หรือ? ดูกรตปัสสี กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง. ท่านพระโคดม ก็บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน เหล่านี้ กรรมไหน คือ กายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมที่พระองค์บัญญัติว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม? ดูกรตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน เหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม เราจะบัญญัติกายกรรม วจีกรรมว่ามีโทษมากเหมือนมโนกรรมหามิได้. ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ? ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม. ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ? ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม. ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ? ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยันในเรื่องที่ตรัสนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการ ฉะนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่. [๖๕] ก็สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั่งอยู่พร้อมด้วยคิหิบริษัทเป็นอันมาก ผู้มีความเขลา มีอุบาลิคฤหบดีเป็นประมุข. ได้เห็นทีฆตปัสสีนิครนถ์มาแต่ไกล ได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูกรตปัสสี ดูเถอะ ท่านมาจากไหนแต่ยังวันเทียวหนอ? ทีฆตปัสสีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากสำนักพระโคดมนี้เอง. นิ. ดูกรตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมเรื่องอะไรบ้างหรือ? ที. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาบ้าง. ดูกรตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาอย่างไร? ลำดับนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์บอกเรื่องการเจรจาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคจนหมดสิ้น แก่นิครนถ์นาฏบุตร. เมื่อทีฆตปัสสีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์นาฏบุตรได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ ว่า ดูกรตปัสสี ดีละๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีนิครนถ์พยากรณ์แก่พระสมณโคดม ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ำทราม จะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกาย- *ทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่. [๖๖] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดีได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตร ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้วๆ ข้อที่ท่านทีฆตปัสสีพยากรณ์แก่พระสมณโคดม ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ำทรามจะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำ บาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะ ไม่ ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม ถ้า พระสมณโคดมจักยืนยันแก่ข้าพเจ้า เหมือนอย่างที่ยืนยันกับท่านตปัสสีไซร้ ข้าพเจ้าจักฉุดกระชาก ลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษมีกำลังพึงจับแกะมีขนยาวที่ขนแล้ว ฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักฉุดกระชากลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษมีกำลังผู้ทำการงานโรงสุรา พึงทิ้งกระสอบเครื่องประกอบสุราใหญ่ไว้ในห้วงน้ำลึกแล้ว จับที่มุมฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักขจัด ขยี้ บด ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณ- *โคดม เหมือนบุรุษที่มีกำลังเป็นนักเลงสุรา พึงจับถ้วยสุราที่หูถ้วยแล้ว พลิกลง พลิกขึ้น ไสไป ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นดังเล่นล้างเปลือกป่าน กะพระสมณโคดม เหมือนช้างแก่อายุ ๖๐ ปี ลงไปยังสระลึกเล่นล้างเปลือกป่าน ฉะนั้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะ ในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม. นิ. ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม ดูกรคฤหบดี เราก็ได้ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม. [๖๗] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวกะนิครนถ์- *นาฏบุตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้า ไม่ชอบใจเลย ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของ พวกอัญญเดียรถีย์. นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่ อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดม เป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๓ ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่ อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดม เป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม. [๖๘] อุบาลีคฤหบดีรับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ลุกจากอาสนะไหว้นิครนถ์นาฏบุตร ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้มา ณ ที่นี้หรือ? พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า ดูกรคฤหบดี ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้มา ณ ที่นี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัยเรื่องอะไรๆ กับทีฆตปัสสีนิครนถ์ บ้างหรือ? ดูกรคฤหบดี เราได้เจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์บ้าง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์อย่างไรบ้าง? ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสบอกเรื่องการเจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์จน หมดสิ้นแก่อุบาลีคฤหบดี. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสบอกอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดีได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้วๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีพยากรณ์ แก่พระผู้มีพระภาคนั้น ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของพระศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะ อันต่ำทรามนั้นจะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะนี้ อันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่. ดูกรคฤหบดี ถ้าแลท่านจะพึงมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน เราทั้งสองพึงเจรจาปราศรัยกันได้ ในเรื่องนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจักมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัย กันในเรื่องนี้เถิด.
พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามปัญหากรรม ๓
[๖๙] ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญในความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้เป็นคน อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ห้ามน้ำเย็น ดื่มแต่น้ำร้อน เมื่อเขาไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติความเกิดของนิครนถ์ผู้นี้ในที่ไหนเล่า? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่ นิครนถ์นั้นย่อมเกิดในเทวดาจำพวกนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะนิครนถ์ผู้นั้นเป็นผู้มีใจเกาะเกี่ยวทำกาละ. ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับ คำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจาต่อกัน ของเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้นกายทัณฑะเท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรมในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษ มากเหมือนกายทัณฑะไม่. [๗๐] ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้พึงเป็นผู้ สำรวมด้วยการสังวรโดยส่วน ๔ คือห้ามน้ำทั้งปวง ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งปวง กำจัดบาป ด้วยการห้ามบาปทั้งปวง อันการห้ามบาปทั้งปวงถูกต้องแล้ว เมื่อเขาก้าวไป ถอยกลับ ย่อมถึง การฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ เป็นอันมาก ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติวิบากเช่นไรแก่นิครนถ์ ผู้นี้? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรม อันเป็นไปโดยไม่จงใจว่ามี โทษมากเลย. ดูกรคฤหบดี ก็ถ้าจงใจเล่า? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นกรรมมีโทษมาก. ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนไหน? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนมโนทัณฑะ. ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อน กับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น กายทัณฑะเท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่. ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บ้านนาลันทานี้เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็น บ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น? อย่างนั้น พระเจ้าข้า บ้านนาลันทา เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น. ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ในบ้านนาลันทานี้ พึงมีบุรุษคนหนึ่ง เงื้อดาบมา เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้อ อันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้อ อันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้หรือ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษ ๑๐ คนก็ดี ๒๐ คนก็ดี ๓๐ คนก็ดี ๔๐ คนก็ดี ๕๐ คนก็ดี ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อ อันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึงได้ พระเจ้าข้า บุรุษผู้ต่ำทรามคนเดียว จะงาม อะไรเล่า. ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความ เป็นผู้ชำนาญในทางจิต พึงมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจคิดประทุษร้ายดวงเดียว ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น จะสามารถ ทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือหนอ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บ้านนาลันทา ๑๐ บ้านก็ดี ๒๐ บ้านก็ดี ๓๐ บ้านก็ดี ๔๐ บ้านก็ดี ๕๐ บ้านก็ดี สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น สามารถจะทำให้ เป็นเถ้าได้ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่ง บ้านนาลันทาอันต่ำทรามบ้านเดียวจะงามอะไรเล่า. ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อน กับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริงถึงอย่างนั้น กายทัณฑะเท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่. ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาแล้วหรือ? อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว. ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร เกิดเป็นป่าไปเพราะเหตุอะไร? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปนั้น เพราะใจประทุษร้าย อันพวกเทวดาทำเพื่อฤาษี. ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อน กับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.
อุบาลีคฤหบดีแสดงตนเป็นอุบาสก
[๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคด้วยข้ออุปมา ข้อแรก แต่ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะฟังปฏิภาณการพยากรณ์ปัญหาอันวิจิตร ของพระผู้มีพระภาค นี้ ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงยังแกล้งทำเป็นดุจถือตรงกันข้ามอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือน บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนที่หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้น เหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระ ภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ ตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป. [๗๒] ดูกรคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ การที่มนุษย์ผู้มีชื่อเสียง เช่นท่านใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำเป็นความดี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุที่พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกร คฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ การที่มนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นท่านใคร่ครวญเสียก่อน แล้วจึงทำเป็นความดีนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคมากขึ้น ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ด้วยว่าพวกอัญญเดียรถีย์ได้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวกแล้ว จะพึงยกธงปฏากเที่ยวไปตลอด บ้านนาลันทาทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเหตุจะได้รู้กันว่า อุบาลีคฤหบดี ถึงความเป็นสาวกของพวกเราดังนี้ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้ว จึงทำ ด้วยว่ามนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นท่าน ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำเป็นความดี ดังนี้ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ เป็นครั้งที่ ๒ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป. [๗๓] ดูกรคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านพึง สำคัญบิณฑบาตอันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านพึงสำคัญบิณฑบาต อันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึงนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาค มากขึ้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ควรให้ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่คนเหล่าอื่น ควรให้ทานแก่สาวกทั้งหลายของเราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของผู้อื่น ทานที่บุคคลให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่บุคคลให้แก่สาวก ของผู้อื่นไม่มีผลมาก แต่ความจริง พระผู้มีพระภาคยังทรงชักชวนข้าพระพุทธเจ้าในการให้ทาน แม้ในพวกนิครนถ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่าข้าพระพุทธเจ้าจักทราบกาลอันควรในการให้ทาน นี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ เป็นครั้ง ที่ ๓ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป.
ทรงแสดงอนุบุพพิกถา
[๗๔] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสอนุบุพพิกถาแก่อุบาลีคฤหบดีคือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ำทราม เศร้าหมอง อานิสงส์ในเนกขัมมะ เมื่อใดพระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบอุบาลีคฤหบดีว่ามีจิตควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส เมื่อนั้น จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้น แสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากดำ ควรได้รับน้ำย้อมด้วยดี ฉันใด ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่อุบาลี คฤหบดีที่อาสนะนั้นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความ ดับไปเป็นธรรมดา ฉันนั้นเหมือนกัน. ลำดับนั้น อุบาลีคฤหบดีมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันบรรลุแล้ว มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงมั่นแล้ว ข้ามวิจิกิจฉาแล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลาไป ณ บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่จะต้องทำมาก. ดูกรคฤหบดี ท่านจงรู้กาลอันสมควร ณ บัดนี้เถิด. [๗๕] ครั้งนั้นแล อุบาลีคฤหบดีชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจาก อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ แล้วเข้าไปยังนิเวศน์ของตน เรียกนายประตูมา ว่า ดูกรนายประตูผู้สหาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ และเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาค เพื่อสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้านิครนถ์คนใดคนหนึ่งมา ท่านพึงว่ากะนิครนถ์คนนั้นอย่างนี้ว่า จงหยุดท่านผู้เจริญ อย่า เข้าไปเลยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ท่าน ปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ ท่านเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาค สาวกของ พระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีความต้องการด้วยอาหาร ท่านจงหยุดอยู่ที่นี่แหละ ชนทั้งหลายจักนำมาเพื่อท่านในที่นี้ นายประตูรับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว. [๗๖] ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ฟังข่าวว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณ- *โคดมแล้ว ลำดับนั้น จึงเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวนี้มาว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม แล้ว. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า ได้ฟังข่าวนี้มาว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวนี้มาว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้. ที. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป เพียงจะทราบว่าอุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความ เป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว หรือหาไม่? นิ. ดูกรตปัสสี ท่านจงไป จงรู้ว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระ สมณโคดม หรือหาไม่?
ห้ามพวกเดียรถีย์เข้าบ้าน
[๗๗] ครั้งนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์ จึงเข้าไปยังนิเวศน์ของอุบาลีคฤหบดี นายประตู ได้เห็นทีฆตปัสสีนิครนถ์มาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วจึงกล่าวว่า จงหยุดเถิดท่านผู้เจริญ อย่าเข้า มาเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ท่านปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์เปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาคและสาวกของ พระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีความต้องการอาหาร จงหยุดอยู่ที่นี้แหละ ชนทั้งหลายจักนำมาเพื่อท่าน ณ ที่นี้. ทีฆตปัสสีกล่าวว่า ผู้มีอายุ เรายังไม่ต้องการอาหารดอก แล้วกลับจากที่นั้น เข้าไปหา นิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็น สาวกของพระโคดมนั้น เป็นความจริงทีเดียว ข้าพเจ้าไม่ได้คำที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้อที่อุบาลี คฤหบดีพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็น คนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ ดังนี้ จากท่าน ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีของท่านถูกพระสมณโคดม กลับใจด้วยมายาอันเป็นเครื่องกลับใจ เสียแล้ว. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีเข้า ถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น เป็นความจริงทีเดียว ข้าพเจ้าไม่ได้คำที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่าพระ- *สมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ ดังนี้ จากท่าน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีของท่านถูกพระสมณโคดมกลับใจ ด้วยมายาอันเป็นเครื่อง กลับใจเสียแล้ว. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ และกล่าวต่อไปว่า เอาเถอะ ตปัสสี เราจะไปเพียงจะรู้เองทีเดียวว่า อุบาลี คฤหบดี เข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมจริงหรือไม่? [๗๘] ลำดับนั้น นิครนถ์นาฏบุตร พร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก เข้าไปยัง นิเวศน์ของอุบาลีคฤหบดี นายประตูได้เห็นนิครนถ์นาฏบุตรมาแต่ไกล ได้กล่าวว่า จงหยุดเถิด ท่านผู้เจริญ อย่าเข้ามา ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระ- *สมณโคดมแล้ว ท่านปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์แล้ว ท่านเปิดประตูเพื่อ พระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านต้องการอาหาร จงหยุดอยู่ที่นี่แหละ ชนทั้งหลายจักนำมาเพื่อท่าน ณ ที่นี้. นิ. นายประตูผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหาอุบาลีคฤหบดี แล้วจงกล่าว อย่างนี้ว่า นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก มายืนอยู่ที่ซุ้มประตูข้างนอก เขาอยากจะพบท่าน นายประตูรับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว เข้าไปหาอุบาลีคฤหบดี แล้วได้เรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก มายืนอยู่ที่ซุ้มประตู ข้างนอก เขาอยากจะพบท่าน. อุ. ดูกรนายประตูผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงปูลาดอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลาง. นายประตูรับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว ปูลาดอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลาง แล้วเข้าไปหาอุบาลีคฤหบดี แล้วได้เรียนว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปูอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลางแล้ว ท่านย่อมสำคัญกาล อันควร ณ บัดนี้. ลำดับนั้น อุบาลีคฤหบดี เข้าไปยังศาลาประตูกลาง แล้วนั่งบนอาสนะอันเลิศ ประเสริฐอุดม และประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้นเสียเอง แล้วเรียกนายประตูมาว่า นายประตู ผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตร จงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ว่า เชิญท่านเข้าไปเถิด ถ้าท่านจำนง. นายประตูรับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว เข้าไปนิครนถ์นาฏบุตร แล้วได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เชิญท่านเข้าไปเถิด ถ้าท่านจำนง. ลำดับนั้น นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็น อันมาก เข้าไปยังศาลาประตูกลาง. [๗๙] ครั้งนั้นแล ได้ยินว่า แต่ก่อนอุบาลีคฤหบดีเห็นนาฏบุตรมาแต่ไกลเท่าใด แล้ว ต้อนรับแต่ที่เท่านั้น เอาผ้าห่มกวาดอาสนะที่เลิศ ประเสริฐอุดม และประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้น แล้วกำหนดให้นั่ง บัดนี้ ท่านอุบาลีคฤหบดีนั่งบนอาสนะที่เลิศ ประเสริฐ อุดม และประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้นเสียเอง แล้วได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า ท่านคฤหบดีผู้เจริญ อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านหวังเชิญนั่งเถิด. เมื่ออุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์นาฏบุตรได้กล่าวว่า ท่าน เป็นบ้าเสียแล้วหรือ คฤหบดี ท่านเป็นคนเขลาเสียแล้วหรือ คฤหบดี ท่านกล่าวว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะแก่พระสมณโคดม ครั้นไปแล้ว กลับถูกวาทะดุจไม้ขื่อ อันใหญ่สวมมาแล้วหรือ ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษผู้นำอัณฑะไป ถูกควักอัณฑะออก กลับมา ฉันใด ดูกรคฤหบดี อนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษนำดวงตาไป ถูกควักดวงตากลับมา ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านก็ฉันนั้นแล กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะ แก่พระสมณโคดม ครั้นไปแล้ว กลับถูกวาทะดุจไม้ขื่ออันใหญ่สวมมาแล้ว ท่านถูกพระสมณ- *โคดมกลับใจ ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้วหรือ.
มายาเครื่องกลับใจ
[๘๐] อุ. ท่านผู้เจริญ มายาอันเป็นเครื่องกลับใจนี้ดี ท่านผู้เจริญ มายาอันนี้เป็น เครื่องกลับใจนี้งาม ท่านผู้เจริญ ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้าจะพึงกลับใจได้ด้วยมายา เครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รัก ของข้าพเจ้า สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้ากษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่อง กลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่กษัตริย์แม้ทั้งปวง สิ้น กาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าพราหมณ์ทั้งปวงจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้น จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่พราหมณ์แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าแพศย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่แพศย์แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญแม้ถ้าศูทรทั้งปวงจะพึง กลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ศูทร แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ จะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้น จะพึงเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แก่ หมู่สัตว์พร้อมสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจักทำอุปมาแก่ท่าน วิญญูชนบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้อรรถแห่งภาษิตได้ แม้ด้วยการ เปรียบเทียบ. [๘๑] ท่านผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว นางมาณวิกาสาว เป็นภริยาของพราหมณ์แก่ ผู้เฒ่าผู้ใหญ่คนหนึ่ง มีครรภ์ใกล้จะคลอด. ครั้งนั้น นางมาณวิกานั้นได้กล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปซื้อลูกวานรจากตลาดมาไว้ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเรา ท่านผู้เจริญ. เมื่อนางมาณวิกากล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์นั้นได้กล่าวว่า นางผู้เจริญ จงรอจนกว่าเธอจะคลอด เสียก่อนเถิด ถ้าเธอคลอดลูกเป็นชาย ฉันจักซื้อลูกวานรตัวผู้จากตลาดมาให้เธอ จักได้เป็น เพื่อนเล่นของลูกชายของเธอ แต่ถ้าเธอคลอดลูกเป็นหญิง ฉันจักซื้อลูกวานรตัวเมียจากตลาด มาให้เธอ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกหญิงของเธอ. ท่านผู้เจริญ นางมาณวิกานั้นได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปซื้อ ลูกวานรจากตลาดมาไว้ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเรา ท่านผู้เจริญ. พราหมณ์ก็ได้กล่าวเป็น ครั้งที่ ๒ ว่า นางผู้เจริญ จงรอจนกว่าเธอจะคลอดเสียก่อนเถิด ถ้าเธอคลอดลูกเป็นชาย ฉันจักซื้อลูกวานรตัวผู้จากตลาดมาให้เธอ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกชายของเธอ แต่ถ้าเธอ คลอดลูกเป็นผู้หญิง ฉันจักซื้อลูกวานรตัวเมียจากตลาดมาให้เธอ เพื่อจักได้เป็นเพื่อนเล่นของ ลูกหญิงของเธอ. ท่านผู้เจริญ นางมาณวิกาได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปซื้อ ลูกวานรจากตลาดมาไว้ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเรา ท่านผู้เจริญ. ลำดับนั้น พราหมณ์ผู้นั้น กำหนัดมาก มีจิตปฏิพัทธ์ในนางมาณวิกานั้น จึงซื้อลูกวานรมาจากตลาด แล้วได้กล่าวว่า นางผู้เจริญ ฉันซื้อลูกวานรจากตลาดมาให้เธอแล้ว จักเป็นเพื่อนเล่นของลูกเธอ. เมื่อพราหมณ์ กล่าวอย่างนี้แล้ว นางมาณวิกานั้นได้กล่าวว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไป จงอุ้มลูกวานรตัวนี้ เข้าไปหาบุตรช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อม แล้วจงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยากจะให้ท่านย้อมลูกวานรตัวนี้ให้เป็นสีน้ำย้อม ให้น้ำย้อมจับดี ทุบแล้วทุบอีกให้เกลี้ยงดี ทั้งสองข้าง. ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นกำหนัดมาก มีจิตปฏิพัทธ์ในนางมาณวิกานั้น จึงอุ้มลูกวานร เข้าไปหาบุตรช่างย้อม ผู้ชำนาญการย้อม แล้วได้กล่าวว่า แน่ะเพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยาก จะให้ท่านย้อมลูกวานรนี้ให้เป็นสีน้ำย้อม ให้น้ำย้อมจับดี ทุบแล้วทุบอีกให้เกลี้ยงดีทั้งสองข้าง. เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ บุตรช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อมได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ลูกวานรของ ท่านตัวนี้ ควรแต่จะย้อมเท่านั้น แต่ไม่ควรจะทุบ ไม่ควรจะขัดสี ฉันใด. ท่านผู้เจริญ วาทะของนิครนถ์ผู้เขลา ก็ฉันนั้น ควรเป็นที่ยินดีของคนเขลาเท่านั้น ไม่ควรเป็นที่ยินดี ไม่ควรซักไซ้ ไม่ควรพิจารณาของบัณฑิตทั้งหลาย. ท่านผู้เจริญ ครั้นสมัยต่อมา พราหมณ์นั้นถือคู่ผ้าใหม่เข้าไปหาบุตรช่างย้อม ผู้ชำนาญ การย้อม แล้วได้กล่าวว่า แน่ะเพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยากจะให้ท่านย้อมคู่ผ้าใหม่นี้ให้เป็น สีน้ำย้อม ให้น้ำย้อมจับดี ทุบแล้วทุบอีกให้เกลี้ยงดีทั้งสองข้าง. เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว บุตรช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อมได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ คู่ผ้าใหม่ของท่านนี้ ควรจะย้อม ควรจะทุบ ควรจะขัดสี ฉันใด. ท่านผู้เจริญ วาทะของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็ฉันนั้น ควรเป็นที่ยินดีของบัณฑิตทั้งหลายเท่านั้น แต่ไม่ควรซักไซ้ และไม่ควรพิจารณาของ คนเขลาทั้งหลาย. นิ. ดูกรคฤหบดี บริษัทพร้อมทั้งพระราชา รู้จักท่านอย่างนี้ว่า อุบาลีคฤหบดีเป็นสาวก ของนิครนถ์นาฏบุตร ดังนี้ เราทั้งหลายจะทรงจำท่านว่าเป็นสาวกของใครเล่า?
อุบาลีคฤหบดีประกาศตนเป็นสาวก
[๘๒] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดี ลุกจากอาสนะ ทำผ้าห่ม เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตร ว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟังพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ข้าพเจ้าเป็นสาวก ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นนักปราชญ์ ปราศจากโมหะ ทรงทำลายกิเลสเครื่องตรึงใจ ได้ ทรงชำนะมาร ไม่มีทุกข์ มีจิตเสมอด้วยดี มีมารยาทอันเจริญ มีพระปัญญาดี ทรงข้าม กิเลสอันปราศจากความเสมอได้ ปราศจากมลทิน ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ไม่มี ความสงสัย มีพระทัยดี ทรงคายโลกามิสได้แล้ว ทรงบันเทิง ทรงมีสมณธรรมอันทำสำเร็จแล้ว ทรงเกิดเป็นมนุษย์ มีพระสรีระเป็นที่สุด เป็นพระไม่มีผู้เปรียบได้ ปราศจากธุลี ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ไม่มีความสงสัย ทรงเฉียบแหลม ทรงแนะนำสัตว์ เป็นสารถี อันประเสริฐ ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า มีธรรมอันงามหมดความเคลือบแคลง ทรงทำแสงสว่าง ทรงตัดมานะเสียได้ ทรงมีพระวิริยะ ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้องอาจ ไม่มีใคร ประมาณได้ มีพระคุณลึกซึ้ง บรรลุถึงญาณ ทรงทำความเกษม ทรงมีพระญาณ ทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงสำรวมพระองค์ดี ทรงล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้อง ผู้พ้นแล้ว ข้าพเจ้าเป็นสาวกของ พระผู้มีพระภาค ผู้ประเสริฐ ทรงมีเสนาสนะอันสงัด มีสังโยชน์สิ้นแล้ว ผู้พ้นแล้ว ทรงมี พระปัญญาเครื่องคิดอ่าน ทรงมีพระญาณเครื่องรู้ ผู้ลดธงคือมานะเสียได้ ปราศจากราคะ ผู้ฝึกแล้ว ผู้ไม่มีธรรมเครื่องหน่วง ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระฤาษีที่ ๗ ผู้ไม่ลวงโลก ทรงไตรวิชชา เป็นสัตว์ประเสริฐ ทรงล้างกิเลสแล้ว ทรงฉลาด ประสมอักษร ให้เป็นบทคาถา ทรงระงับแล้ว มีพระญาณอันรู้แล้ว ทรงให้ธรรมทานก่อนทั้งหมด ทรงสามารถ ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอริยะ มีพระองค์อบรมแล้ว ทรงบรรลุคุณ ที่ควรบรรลุ ทรงแสดงอรรถให้พิสดาร ทรงมีสติ ทรงเห็นแจ้ง ไม่ทรงยุบลง ไม่ทรงฟูขึ้น ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงบรรลุความเป็นผู้ชำนาญ ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้เสด็จไปดี ทรงมีฌาน ไม่ทรงปล่อยจิตไปตาม ทรงบริสุทธิ์ ไม่ทรงสะดุ้ง ปราศจากความกลัว สงัดทั่ว ทรงบรรลุธรรมอันเลิศ ทรงข้ามได้เอง ทรงยังสัตว์อื่นให้ข้ามได้ ข้าพเจ้าเป็นสาวกของ พระผู้มีพระภาค ผู้สงบแล้ว มีพระปัญญากว้างใหญ่เสมอด้วยแผ่นดิน มีพระปัญญาใหญ่หลวง ปราศจากโลภ ทรงดำเนินปฏิปทาเหมือนพระพุทธเจ้าในปางก่อน เสด็จไปดีแล้ว ไม่มีบุคคล เปรียบ ไม่มีผู้เสมอเหมือน ทรงแกล้วกล้า ผู้ละเอียดสุขุม ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ตัดตัณหาได้ขาด ทรงตื่นอยู่ ปราศจากควัน ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาได้ ผู้ควรรับการบูชา ทรงได้พระนามว่ายักขะ ๑- เป็นอุดมบุคคล มีพระคุณไม่มีใครชั่งได้ เป็นผู้ใหญ่ ทรงถึงยศอย่าง ยอดเยี่ยม. [๘๓] นิ. ดูกรคฤหบดี ท่านประมวลถ้อยคำสำหรับพรรณนาคุณของพระสมณโคดม ไว้แต่เมื่อไร? อุ. ดูกรท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนช่างดอกไม้ หรือลูกมือช่างดอกไม้คนขยัน พึง ร้อยกรองดอกไม้ต่างๆ กองใหญ่ ให้เป็นพวงมาลาอันวิจิตรได้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ก็ฉันนั้น ทรงมีพระคุณควรพรรณนาเป็นอเนก ทรงมีพระคุณควรพรรณนาตั้งหลายร้อย ก็ใครจัก ไม่ทำการพรรณนาพระคุณของพระองค์ผู้ควรพรรณนาพระคุณได้เล่า. ครั้นเมื่อนิครนถ์นาฏบุตรทนดูสักการะของพระผู้มีพระภาคไม่ได้ โลหิตอันอุ่นได้พลุ่ง ออกจากปากในที่นั้นเอง ดังนี้แล.
จบ อุปาลิวาทสูตร ที่ ๖.
-----------------------------------------------------
@๑. เพราะแสดงอานุภาพได้ หรือเพราะไม่ปรากฏพระองค์.
๗. กุกกุโรวาทสูตร
เรื่องปุณณโกลิยบุตรและเสนิยะอเจละ
[๘๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ในโกลิยชนบท ทรงทำนิคมของชาวโกลิยะ ชื่อว่าหลิททวสนะให้เป็นโคจรคาม. ครั้งนั้นปุณณโกลิยบุตรผู้ประพฤติวัตรดังโค และเสนิยะ- *อเจละ ผู้ประพฤติวัตรดังสุนัข เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วปุณณโกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตรดังโค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ฝ่ายเสนิยะอเจละ ผู้ประพฤติวัตรดังสุนัข ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว ก็คุ้ยเขี่ยดุจสุนัขแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ปุณณโกลิยบุตรผู้ประพฤติวัตรดังโค ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเสนิยะอเจละนี้ ประพฤติวัตรดังสุนัข ทำกรรมยากที่ผู้อื่นจะทำได้ บริโภคโภชนะที่วางไว้ ณ พื้นดิน เขาสมาทานกุกกุรวัตรนั้นอย่าง บริบูรณ์ สิ้นกาลนาน คติของเขาจะเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร? พระผู้มีพระภาค ตรัสห้ามว่า อย่าเลย ปุณณะ จงงดข้อนี้เสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนี้เลย. ปุณณโกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตรดังโค ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เสนิยะอเจละ ประพฤติวัตรดังสุนัข ทำกรรมยากที่ผู้อื่นจะทำได้ บริโภคโภชนะที่วางไว้ ณ พื้นดิน เขาสมาทานกุกกุรวัตรนั้นอย่างบริบูรณ์สิ้นกาลนาน คติของเขาจะเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขา จะเป็นอย่างไร? พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย ปุณณะ จงงดข้อนี้เสียเถิด อย่าถามเรา ถึงข้อนี้เลย. ปุณณโกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตรดังโค ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เสนิยะอเจละ ประพฤติวัตรดังสุนัข ทำกรรมยากที่ผู้อื่นจะทำได้ บริโภคโภชนะที่วางไว้ ณ พื้นดิน เขาสมาทานกุกกุรวัตรนั้นอย่างบริบูรณ์สิ้นกาลนาน คติของเขา จักเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจักเป็นอย่างไร? [๘๕] พ. ดูกรปุณณะ เราไม่ได้จากท่านเป็นแน่ซึ่งคำนี้ว่า อย่าเลยปุณณะ จงงดข้อนั้น เสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนั้นเลย ดังนี้ แต่เราจักพยากรณ์แก่ท่าน ดูกรปุณณะ บุคคลบางคน ในโลกนี้บำเพ็ญกุกกุรวัตร บำเพ็ญปกติของสุนัข บำเพ็ญกิริยาการของสุนัขให้บริบูรณ์ ไม่ขาด สาย ครั้นแล้วเมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสุนัข อนึ่ง ถ้าเขามีความเห็น อย่างนี้ว่า เราจักเป็นเทวดาหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นผิด ดูกรปุณณะ เรากล่าวคติของผู้เห็นผิดว่ามี ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดูกรปุณณะ กุกกุรวัตรเมื่อถึงพร้อม ย่อมนำเข้า ถึงความเป็นสหายของสุนัข เมื่อวิบัติย่อมนำเข้าถึงนรก ด้วยประการฉะนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว เสนิยะอเจละ ผู้ประพฤติวัตรดังสุนัข ร้องไห้น้ำตาไหล.
คติของผู้ประพฤติวัตรดังโค
[๘๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะปุณณโกลิยบุตรประพฤติวัตรดังโคว่า ดูกร ปุณณะ เราไม่ได้คำนี้จากท่านว่า อย่าเลยปุณณะ จงงดข้อนั้นเสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนั้นเลย ดังนี้ เสนิยะอเจละทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามิได้ร้องไห้ถึงการพยากรณ์นั้น ที่พระผู้มี พระภาคตรัสกะข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าได้สมาทานกุกกุรวัตรนี้อย่างบริบูรณ์มาช้านานแล้ว ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ปุณณโกลิยบุตร ประพฤติวัตรดังโค เขาสมาทานโควัตรนั้นอย่างบริบูรณ์มา ช้านาน คติของเขาจะเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร? อย่าเลย เสนิยะ จงงดข้อนั้นเสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนั้นเลย. เสนิยะอเจละทูลถามพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งที่ ๒ ... เป็นครั้งที่ ๓ ว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปุณณโกลิยบุตรนี้ ประพฤติวัตรดังโค เขาสมาทานโควัตรนั้นอย่างบริบูรณ์มาช้านาน คติของเขา จะเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร? ดูกรเสนิยะ เราไม่ได้จากท่านเป็นแน่ซึ่งคำนี้ว่า อย่าเลยเสนิยะ จงงดข้อนั้นเสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนั้นเลย ดังนี้ แต่เราจักพยากรณ์แก่ท่าน ดูกรเสนิยะ บุคคลบางคนในโลกนี้ บำเพ็ญโควัตร บำเพ็ญปกติของโค บำเพ็ญกิริยาการของโคอย่างบริบูรณ์ ไม่ขาดสาย ครั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของโค อนึ่ง ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า เราจักเป็นเทวดา หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วย ศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ ความเห็นของเขานั้น เป็นความเห็นผิด ดูกรเสนิยะ เรากล่าวคติของผู้เห็นผิดว่ามี ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดูกรเสนิยะ โควัตรเมื่อถึงพร้อม ย่อมนำเข้าถึงความเป็นสหายของโค เมื่อวิบัติ ย่อมนำเข้าถึงนรก ด้วยประการฉะนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปุณณโกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตรดังโค ร้องไห้น้ำตาไหล. [๘๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเสนิยะอเจละ ผู้ประพฤติวัตรดังสุนัขว่า ดูกรเสนิยะ เราไม่ได้คำนี้จากท่านว่า อย่าเลยเสนิยะ จงงดข้อนั้นเสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนั้น เลย ดังนี้. ปุณณโกลิยบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามิได้ร้องไห้ถึงการพยากรณ์นั้น ที่พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าสมาทานโควัตรนี้อย่างบริบูรณ์มาช้านาน ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงสามารถแสดง ธรรมโดยประการที่ให้ข้าพเจ้าพึงละโควัตรนี้ได้ และเสนิยะอเจละผู้ประพฤติวัตรดังสุนัข พึงละ กุกกุรวัตรนั้นได้. ดูกรปุณณะ ถ้ากระนั้น ท่านจงฟัง จงมนสิการให้ดี เราจักกล่าว ปุณณโกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตรดังโค ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว.
กรรมดำกรรมขาว ๔
[๘๘] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรปุณณะ กรรม ๔ ประการนี้ เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน ดูกรปุณณะ กรรมดำมีวิบากดำมีอยู่ กรรมขาวมีวิบากขาวมีอยู่ กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว มีอยู่ กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมมีอยู่ ดูกรปุณณะ ก็กรรมดำ มีวิบากดำ เป็นไฉน ดูกรปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขาร อันมีความทุกข์ ประมวลวจีสังขาร อันมีความทุกข์ ประมวลมโนสังขาร อันมีความทุกข์ ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึง โลกอันมีความทุกข์ ผัสสะอันประกอบด้วยทุกข์ ย่อมถูกต้อง เขาผู้เข้าถึงโลกอันมีทุกข์ เขาอัน ผัสสะประกอบด้วยทุกข์ถูกต้อง ย่อมเสวยเวทนาอันประกอบด้วยทุกข์ อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ดุจสัตว์นรก ฉะนั้น ดูกรปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใด ไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว ดูกรปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าวว่า สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้ เรากล่าวว่ากรรมดำมีวิบากดำ. ดูกรปุณณะ ก็กรรมขาว มีวิบากขาว เป็นไฉน ดูกรปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ประมวลวจีสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ประมวลมโนสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ ผัสสะอันไม่มีความทุกข์ ย่อมถูกต้อง เขาผู้เข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ เขาอันผัสสะไม่มีความทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อม เสวยเวทนาอันไม่มีความทุกข์ เป็นสุขโดยส่วนเดียวดุจเทพชั้นสุภกิณหะ ฉะนั้น ดูกรปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว ดูกรปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าว สัตว์มีกรรมเป็น ทายาท ข้อนี้ เรากล่าวว่า กรรมขาว มีวิบากขาว. ดูกรปุณณะ ก็กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวเป็นไฉน ดูกรปุณณะ บุคคลบางคน ในโลกนี้ ประมวลกายสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ประมวลวจีสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ประมวลมโนสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์ บ้าง ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ผัสสะอันมีความทุกข์ บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ย่อมถูกต้องเขา ผู้เข้าถึงโลก อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง เขาอันผัสสะที่มีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันมีความทุกข์ บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง มีทั้งสุขและทุกข์ระคนกัน ดุจพวกมนุษย์ เทพบางเหล่า และสัตว์ วินิบาตบางเหล่า ฉะนั้น ดูกรปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว ดูกรปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าวว่า สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้เรากล่าวว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว. ดูกรปุณณะ ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมนั้น เป็นไฉน ดูกรปุณณะ บรรดากรรม ๓ ประการนั้น เจตนาเพื่อละกรรมดำ มีวิบากดำ เจตนาเพื่อ ละกรรมขาว มีวิบากขาว เจตนาเพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวนั้นเสีย ข้อนี้ เรากล่าวว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ดูกรปุณณะ กรรม ๔ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม.
ปุณณโกลิยบุตรแสดงตนเป็นอุบาสก
[๘๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปุณณโกลิยบุตรผู้ประพฤติวัตรดังโค ได้กราบ ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศ ธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
เสนิยะอเจละขอบรรพชาอุปสมบท
เสนิยะอเจละ ผู้ประพฤติวัตรดังสุนัขได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้น เหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี- *พระภาค. ดูกรเสนิยะ ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังการบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้น ต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือนก่อน ต่อล่วง ๔ เดือน ภิกษุทั้งหลาย มีจิตอันอัญญเดียรถีย์ให้ยินดีแล้ว จึงจะให้บรรพชาอุปสมบทเพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่า เราทราบความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้.
ติตถิยปริวาส
[๙๐] เส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์มาก่อน หวังการบรรพชา อุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ ต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือนก่อน ต่อล่วง ๔ เดือน ภิกษุมีจิตอัน อัญญเดียรถีย์ให้ยินดีแล้ว จึงให้บรรพชาอุปสมบทเพื่อความเป็นภิกษุไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ ปริวาสถึง ๔ ปี ต่อล่วง ๔ ปี ภิกษุทั้งหลายมีจิตอันข้าพระองค์ให้ยินดีแล้ว จึงให้ข้าพระองค์ บรรพชาอุปสมบทเพื่อความเป็นภิกษุเถิด. เสนิยะอเจละผู้ประพฤติกุกกุรวัตร ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้ว เมื่อท่านเสนิยะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความ เพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานนัก ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตร ทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ท่านเสนิยะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ ทั้งหลาย ดังนี้แล.
จบ กุกกุโรวาทสูตร ที่ ๗.
-----------------------------------------------------
๘. อภัยราชกุมารสูตร
เรื่องอภัยราชกุมาร
[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนคร ราชคฤห์. ครั้งนั้น พระราชกุมารพระนามว่า อภัย เสด็จเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ทรง อภิวาทนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. [๙๒] นิครนถ์นาฏบุตรได้ทูลอภัยราชกุมารว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์ ทรงยกวาทะแก่พระสมณโคดม เมื่อพระองค์ทรงยกวาทะแก่พระสมณโคดมอย่างนี้แล้ว กิตติศัพท์ อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า อภัยราชกุมารทรงยกวาทะแก่สมณโคดมผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก อย่างนี้. อภัยราชกุมารตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์ มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ ได้อย่างไร? นิครนถ์นาฏบุตรทูลว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม ถึงที่ประทับ แล้วจงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึง ตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นบ้างหรือหนอ ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรราชกุมาร ตถาคตพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจ ของคนอื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็น อย่างนั้น การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า เพราะแม้ปุถุชนก็พึงกล่าววาจาอันไม่ เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์ อย่างนี้ว่า ดูกรราชกุมาร ตถาคตไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น อย่างไร พระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตต์ว่า เทวทัตต์จักเกิดในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง เป็นผู้อันใครๆ เยียวยาไม่ได้ ดังนี้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตต์ โกรธ เสียใจ ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ บุรุษนั้น จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น ถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย. อภัยราชกุมารรับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะทรงอภิวาทนิครนถ์นาฏบุตร ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ทรงแหงนดูพระอาทิตย์ทรงพระดำริว่า วันนี้มิใช่กาล จะยกวาทะแก่พระผู้มีพระภาค วันพรุ่งนี้เถิด เราจักยกวาทะแก่พระผู้มีพระภาคในนิเวศน์ของเรา ดังนี้ แล้วจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคมีพระองค์ เป็นที่ ๔ จงทรงรับภัตตาหารของหม่อมฉัน เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วย ดุษณีภาพ ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้วเสด็จลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เสด็จหลีกไป ครั้งนั้น พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอภัยราชกุมาร ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงอังคาสพระผู้มีพระภาคด้วย ขาทนียะโภชนียะอันประณีต ให้อิ่มหนำเพียงพอด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง เมื่อพระผู้มีพระภาค เสวยเสร็จ ทรงชักพระหัตถ์จากบาตรแล้ว อภัยราชกุมารทรงถืออาสนะต่ำอันหนึ่งประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
วาจาไม่เป็นที่รัก
[๙๓] อภัยราชกุมารประทับ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจา อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น บ้างหรือหนอ. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราชกุมาร ในปัญหาข้อนี้ จะวิสัชนาโดยส่วนเดียวมิได้. อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว. พ. ดูกรราชกุมาร เหตุไฉนพระองค์จึงตรัสอย่างนี้เล่า? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส หม่อมฉันเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นิครนถ์นาฏบุตรได้บอกว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จไป ยกวาทะแก่พระสมณโคดมเถิด เมื่อพระองค์ยกวาทะแก่พระสมณโคดมอย่างนี้ กิตติศัพท์อันงาม ของพระองค์จักระบือไปว่า อภัยราชกุมารยกวาทะแก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่างนี้ เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้ หม่อมฉันได้ถามว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะ แก่พระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ได้อย่างไร นิครนถ์นาฏบุตรตอบว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วจงทูลถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น บ้างหรือหนอ ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกร ราชกุมาร ตถาคตพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึง ทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น การกระทำของพระองค์ จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า เพราะแม้ปุถุชนก็กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น แต่ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรราชกุมาร ตถาคตไม่พึงกล่าววาจา อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูล พระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น อย่างไรพระองค์จึงทรงพยากรณ์ เทวทัตต์ว่า เทวทัตต์จักเกิดในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง เป็นผู้อันใครๆ เยียวยา ไม่ได้ ดังนี้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตต์โกรธ เสียใจ ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ บุรุษนั้นจะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น ถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว ไม่อาจกลืนเข้า จะไม่อาจคายออกได้เลย.
วาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์
[๙๔] สมัยนั้นแล เด็กอ่อนเพียงได้แต่นอน นั่งอยู่บนตักของอภัยราชกุมาร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะอภัยราชกุมารว่า ดูกรราชกุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้ากุมารนี้อาศัยความเผลอของพระองค์ หรือของหญิงพี่เลี้ยง พึงนำไม้หรือก้อนกรวดมาใส่ในปาก พระองค์จะพึงทำเด็กนั้นอย่างไร? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะพึงนำออกเสีย ถ้าหม่อมฉันไม่อาจจะนำออกได้แต่ ทีแรก หม่อมฉันก็จะเอามือซ้ายประคองศีรษะแล้วงอนิ้วมือขวาควักไม้หรือก้อนกรวดแม้พร้อม ด้วยเลือดออกเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดูในกุมาร. ดูกรราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบ ด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่ จะพยากรณ์วาจานั้น ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้น เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ ตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย.
พุทธปฏิภาณ
[๙๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้ บัณฑิตก็ดี สมณะผู้บัณฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้วเข้ามาเฝ้าทูลถามพระตถาคต การพยากรณ์ปัญหา ของบัณฑิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงตรึกด้วยพระหฤทัยไว้ก่อนว่า บัณฑิตทั้งหลายจักเข้ามา เฝ้าเราแล้วทูลถามอย่างนี้ เราอันบัณฑิตเหล่านั้นทูลถามอย่างนี้แล้ว จักพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่า พยากรณ์นั้นมาปรากฏแจ่มแจ้งกะพระตถาคตโดยทันที. ดูกรราชกุมาร ถ้าอย่างนั้น ในข้อนี้ อาตมภาพจักกลับถามพระองค์บ้าง ข้อนี้ควรแก่ พระองค์อย่างใด พระองค์พึงพยากรณ์ข้อนั้นอย่างนั้น ดูกรราชกุมาร พระองค์จะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์เป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถหรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ. พ. ดูกรราชกุมาร พระองค์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ชนทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระองค์ แล้วพึงทูลถามอย่างนี้ว่า ส่วนน้อยใหญ่ของรถอันนี้ ชื่ออะไร การพยากรณ์ปัญหาของชนเหล่านั้น พระองค์พึงตรึกด้วยใจไว้ก่อนว่า ชนทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้ว จักถามอย่างนี้ เราอันชนเหล่านั้น ถามอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่าการพยากรณ์นั้นพึงแจ่มแจ้งกะพระองค์โดยทันที? อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะหม่อมฉันเป็นทหารรถ รู้จักดี ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ ของรถ ส่วนน้อยใหญ่ของรถทั้งหมด หม่อมฉันทราบดีแล้ว ฉะนั้น การพยากรณ์ปัญหานั้น แจ่มแจ้งกะหม่อมฉันโดยทันทีทีเดียว. ฉันนั้นเหมือนกันแล ราชกุมาร กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้ บัณฑิตก็ดี สมณะผู้บัณฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้วจักเข้ามาถามตถาคต การพยากรณ์ปัญหานั้น ย่อม แจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่ธรรมธาตุนั้น ตถาคตแทงตลอด ดีแล้ว การพยากรณ์ปัญหานั้น จึงแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที.
อภัยราชกุมารแสดงตนเป็นอุบาสก
[๙๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อภัยราชกุมารได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีป ในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรม โดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.
จบ อภัยราชกุมารสูตร ที่ ๘.
-----------------------------------------------------
๙. พหุเวทนิยสูตร
เรื่องช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ
[๙๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เชตวนาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขต พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น นายช่างไม้ชื่อ ปัญจกังคะ เข้าไปหาท่านพระอุทายี นมัสการแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
กถาว่าด้วยเวทนา
[๙๘] นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวกะท่านพระ อุทายีว่า ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้เท่าไร ท่านพระอุทายีตอบว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูกร คฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้แล. ป. ข้าแต่ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาค ตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มี พระภาคตรัสไว้ในสุขอันสงบ อันประณีตแล้ว. ท่านพระอุทายีได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนา ไว้ ๒ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้แล. นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะก็ได้กล่าวยืนคำเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่านพระอุทายี พระผู้มี พระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขอันสงบ อันประณีตแล้ว. ท่านพระอุทายีได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนา ไว้ ๒ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้แล. นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในสุขอันสงบ อันประณีตแล้ว. ท่านพระอุทายีไม่สามารถจะให้นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะยินยอมได้ นายช่างไม้ชื่อปัญจะ- *กังคะก็ไม่สามารถจะให้ท่านพระอุทายียินยอมได้. [๙๙] ท่านพระอานนท์ได้สดับถ้อยคำเจรจาของท่านพระอุทายีกับนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ท่านพระอานนท์นั่งแล้ว ณ ส่วนที่สุดข้างหนึ่งแล ได้กราบทูลถ้อยคำเจรจาของท่านพระอุทายีกับ นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค. เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรอานนท์ นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะไม่ยอมตามบรรยายอันมีอยู่ของ พระอุทายี และพระอุทายีก็ไม่ยอมตามบรรยายอันมีอยู่ของนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ดูกรอานนท์ แม้เวทนา ๒ เราได้กล่าวโดยปริยาย ถึงเวทนา ๓ เวทนา ๔ เวทนา ๕ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖ เวทนา ๑๐๘ เราก็กล่าวแล้วโดยปริยาย ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดย ปริยายอย่างนี้แล ผู้ใดไม่รู้ตามด้วยดี ไม่สำคัญตามด้วยดี ไม่ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกัน ในธรรมที่เราแสดงโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักบาดหมาง ทะเลาะวิวาททิ่มแทงกันแลกันด้วยหอกคือปากอยู่ ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยาย อย่างนี้ ผู้ใดรู้ตามด้วยดี สำคัญตามด้วยดี ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกัน ใน ธรรมที่แสดงโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักพร้อมเพรียง บันเทิง ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมระคนกับน้ำ แลดูกันด้วยสายตาเป็นที่รักอยู่.
กามคุณ ๕
[๑๐๐] ดูกรอานนท์ กามคุณ ๕ นี้เป็นไฉน คือ รูปอันจะพึงรู้ด้วยจักษุอันสัตว์ปรารถนา ใคร่ พอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงอันจะพึงรู้โดยโสต ... กลิ่นอันจะพึงรู้ด้วยฆานะ ... รสอันจะพึงรู้ด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้ด้วยกาย อันสัตว์ ปรารถนา ใคร่ พอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูกรอานนท์ นี้แลกามคุณ ๕ สุขโสมนัสอันใดย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ นี้ สุขและโสมนัสนี้ เรากล่าวว่ากามสุข.
สุขในรูปฌานและอรูปฌาน
[๑๐๑] ดูกรอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรม วินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำ ของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดี ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและ ประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรม วินัยนี้มีอุเบกขา มีสติมีสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่น ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัส ก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีต กว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญา ได้โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วง อากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่า สุขนี้. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า หน่อยหนึ่งไม่มี เพราะล่วง วิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นอันดียิ่งกว่าและประณีตกว่า สุขนี้. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการ ทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้. [๑๐๒] ดูกรอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรอานนท์ เพราะสุขอื่น ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง อยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้. ดูกรอานนท์ ข้อที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมตรัส สัญญาเวทยิตนิโรธไว้แล้ว แต่บัญญัติลงในสุข ข้อนี้นั้นจะเป็นไฉนเล่า ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไรเล่า ดังนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรอานนท์ อัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ท่านควรจะกล่าว ตอบว่า ดูกรอาวุโส พระผู้มีพระภาคจะทรงหมายสุขเวทนาอย่างเดียว แล้วบัญญัติไว้ในสุขหา มิได้ แต่บุคคลได้สุขในที่ใดๆ พระตถาคตย่อมบัญญัติที่นั้นๆ ไว้ในสุข. พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ชื่นชมยินดีพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ พหุเวทนิยสูตร ที่ ๙.
-----------------------------------------------------
๑๐. อปัณณกสูตร
เรื่องพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลา
[๑๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จถึงพราหมณคามนามว่าศาลา ของชนชาวโกศล. พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาได้ สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตรผู้เจริญ เสด็จออกผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกมาใน โกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จถึงบ้านศาลาแล้ว. ก็กิตติศัพท์อันงามแห่ง พระโคดมผู้เจริญนั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามใน ท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนี้ ย่อมเป็นความดี. ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางพวกถวาย บังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
อปัณณกธรรม
[๑๐๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาผู้นั่งเรียบร้อยแล้ว ว่า ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ศาสดาคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ชอบใจของท่านทั้งหลาย เป็นที่ให้ ท่านทั้งหลายได้ศรัทธาอันมีเหตุ มีอยู่หรือ? พราหมณ์และคฤหบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศาสดาคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็น ที่ชอบใจของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นที่ให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ศรัทธาอันมีเหตุ หามีไม่. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่ได้ศาสดาที่ชอบใจ พึงสมาทาน อปัณณกธรรมนี้แล้วประพฤติ ด้วยว่าอปัณณกธรรมที่ท่านทั้งหลายสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว จักเป็น ไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ท่านทั้งหลายสิ้นกาลนาน ดูกรพราหมณ์และคฤหบดี ทั้งหลาย ก็อปัณณกธรรมนั้นเป็นไฉน?
วาทะที่เป็นข้าศึกกัน
[๑๐๕] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบาก แห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี อุปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้รู้ทั่ว ไม่มีในโลก ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น เขากล่าวอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การ บวงสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำชั่วทำดีมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี อุปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และ โลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้รู้ทั่ว มีอยู่ในโลก ดูกรพราหมณ์และ คฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณพราหมณ์เหล่านี้ มีวาทะเป็น ข้าศึกโดยตรงต่อกันและกันมิใช่หรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า. [๑๐๖] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์สองพวกนั้น สมณ- *พราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี อุปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้า ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้รู้ทั่ว ไม่มีในโลกดังนี้ เป็นอันหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แล้วประพฤติข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่าน สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม ไม่เห็น อานิสงส์ในเนกขัมมะเป็นคุณฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรม. ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่า โลกหน้าไม่มี ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ. ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขาดำริว่า โลกหน้าไม่มี ความดำริของเขานั้นเป็นมิจฉาสังกัปปะ. ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขากล่าววาจาว่า โลกหน้าไม่มี วาจาของเขานั้นเป็นมิจฉาวาจา. ก็โลกหน้ามีอยู่จริง เขากล่าวว่า โลกหน้าไม่มี ผู้นี้ย่อมทำตน เป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ผู้รู้แจ้งโลกหน้า. ก็โลกหน้ามีอยู่จริง เขายังผู้อื่นให้เข้าใจว่า โลกหน้าไม่มี การให้ผู้อื่นเข้าใจของเขานั้นเป็นการให้เข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม และเขายังจะยกตนข่มผู้อื่น ด้วยการให้ผู้อื่นเข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรมนั้นด้วย. เขาละคุณ คือ เป็นคนมีศีลแล้ว ตั้งไว้เฉพาะ แต่โทษ คือ ความเป็นคนทุศีลไว้ก่อนเทียว ด้วยประการฉะนี้. อกุศลธรรมอันลามก เป็นอเนก เหล่านี้ คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยะ การให้ผู้อื่น เข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมี เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ด้วยประการ ฉะนี้.
อปัณณกธรรมที่ถือไว้ชั่ว
[๑๐๗] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น บุรุษ ผู้รู้แจ้งย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ถ้าโลกหน้าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักทำตนให้สวัสดีได้ ถ้าโลกหน้ามี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก. อนึ่ง โลกหน้าอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จงเป็นคำจริง เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ เป็นผู้อันวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า เป็นบุรุษบุคคลทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาท. ถ้าโลกหน้ามีจริง ความยึดถือของท่านบุรุษ บุคคลนี้ ปราชัยในโลกทั้งสอง คือในปัจจุบัน ถูกวิญญูชนติเตียน เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยประการฉะนี้. อปัณณกธรรมนี้ ที่ผู้นั้นถือไว้ชั่ว สมาทานชั่ว ย่อม แผ่ไปโดยส่วนเดียว ย่อมละเหตุแห่งกุศลเสีย ด้วยประการฉะนี้. [๑๐๘] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณ- *พราหมณ์เหล่าใด มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่บุคคลให้แล้วมีผล ฯลฯ สมณพราหมณ์ ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้ชัดแจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง. แล้วประกาศ ให้รู้ทั่ว มีอยู่ในโลก สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นอกุศลธรรมทั้ง ๓ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จักสมาทานกุศลธรรมทั้ง ๓ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แล้วประพฤติ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นเห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง แห่งอกุศลธรรม เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรม. ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่า โลกหน้ามีอยู่ ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นชอบ. ก็โลกหน้ามีจริง เขาดำริว่า โลกหน้ามีจริง ความดำริของเขานั้นเป็นความดำริชอบ. ก็โลกหน้า มีจริง เขากล่าวว่าโลกหน้ามีจริง วาจาของเขานั้นเป็นวาจาชอบ. ก็โลกหน้ามีจริง เขากล่าวว่า โลกหน้ามีจริง ชื่อว่าไม่ทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ ผู้รู้แจ้งโลกหน้า. ก็โลกหน้ามีจริง เขาให้ผู้อื่นเข้าใจว่า โลกหน้ามีจริง การให้ผู้อื่นเข้าใจของเขานั้น เป็นการให้ผู้อื่นเข้าใจโดย สัทธรรม และเขาย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยการที่ให้ผู้อื่นเข้าใจโดยสัทธรรมนั้นด้วย. เขาละ โทษ คือ ความเป็นคนทุศีล ตั้งไว้เฉพาะแต่คุณ คือ ความเป็นคนมีศีลไว้ก่อนเทียว ด้วยประการ ฉะนี้. กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ความไม่เป็น ข้าศึกต่อพระอริยะ การให้ผู้อื่น เข้าใจโดยสัทธรรม การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่น ย่อมมี เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.
อปัณณกธรรมที่บุคคลถือไว้ดี
[๑๐๙] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น บุรุษ ผู้รู้แจ้ง ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ถ้าโลกหน้ามีอยู่จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์. อนึ่ง โลกหน้าอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จงเป็นคำจริง เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลผู้นี้ ก็เป็นผู้อันวิญญูชนสรรเสริญในปัจจุบันว่า เป็นบุรุษบุคคลมีศีล มีสัมมาทิฏฐิ เป็นอัตถิกวาท ถ้าโลกหน้ามีจริง ความยึดถือของท่านบุรุษบุคคลนี้ อย่างนี้ เป็นความมีชัยในโลกทั้งสอง คือในปัจจุบันวิญญูชนสรรเสริญ เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ ด้วยประการฉะนี้. อปัณณกธรรมที่ผู้นั้นถือไว้ดี สมาทานดีนี้ ย่อมแผ่ไปโดยส่วนสอง ย่อมละเหตุแห่งอกุศลเสีย ด้วยประการฉะนี้.
วาทะเป็นข้าศึกกัน
[๑๑๐] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นเผาผลาญ ทำสัตว์ให้เศร้าโศกเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ทำสัตว์ให้เศร้าโศก ทำสัตว์ ให้ลำบากเอง หรือใช้ผู้อื่นทำสัตว์ให้ลำบาก ทำสัตว์ให้ดิ้นรนเอง หรือให้ผู้อื่นทำสัตว์ให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ลักทรัพย์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ลัก ตัดช่อง ปล้นใหญ่ ทำการ ปล้นเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ในทางเปลี่ยว คบหาภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ บาปที่บุคคลทำอยู่ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นอันทำ แม้หากผู้ใดพึงทำสัตว์ในแผ่นดินนี้ ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกัน ให้เป็น กองเนื้อกองเดียวกัน ด้วยจักรมีคมโดยรอบเช่นคมมีดโกน บาปซึ่งมีการทำสัตว์ให้เป็นลานเนื้อ แห่งเดียวกันเป็นเหตุ ย่อมไม่มี ไม่มีบาปมาถึง ถึงแม้บุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าสัตว์เองหรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ตัดเองหรือใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเองหรือใช้ผู้อื่นให้เผาผลาญ บาปซึ่งมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มี ไม่มีบาปมาถึง ถึงแม้บุคคลพึงไปยังฝั่งซ้าย แห่งแม่น้ำคงคา ให้ทานเองหรือใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเองหรือใช้ผู้อื่นให้บูชา บุญอันมีการให้ทาน เป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มี บุญย่อมไม่มีมาถึง บุญย่อมไม่มี บุญย่อมไม่มาถึง เพราะการให้ เพราะการข่มใจ เพราะความสำรวม เพราะกล่าวคำสัตย์. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น เขากล่าวอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเองหรือใช้ผู้อื่นให้ทำ ตัดเองหรือใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเองหรือใช้ผู้อื่นให้เผาผลาญ ทำสัตว์ให้เศร้าโศกเอง หรือให้ผู้อื่นให้ทำสัตว์ให้เศร้าโศก ทำสัตว์ให้ลำบากเอง หรือให้ผู้อื่น ให้ทำสัตว์ให้ลำบาก ทำสัตว์ให้ดิ้นรนเอง หรือให้ผู้อื่นให้ทำสัตว์ให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์เอง หรือ ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ลักทรัพย์เอง หรือใช้ให้ผู้อื่นลักทรัพย์ ตัดช่อง ปล้นใหญ่ ทำการปล้นเรือน หลังเดียว ซุ่มอยู่ในทางเปลี่ยว คบหาภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ บาปที่บุคคลทำอยู่ ย่อมชื่อว่าเป็น อันทำ แม้หากผู้ใดพึงทำสัตว์ในแผ่นดินนี้ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อกองเดียว กัน ด้วยจักรมีคมโดยรอบเช่นคมมีดโกน บาปซึ่งมีการทำสัตว์ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกันเป็นเหตุ ย่อมมี บาปย่อมมีมาถึง ถึงแม้บุคคลนั้นจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่น ให้ฆ่า ตัดเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเอง หรือใช้ผู้อื่นให้เผาผลาญ บาปซึ่งมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมมี บาปย่อมมีมาถึง ถึงแม้บุคคลพึงไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้ทานเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญอันมีการให้ทานเป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมมี บุญย่อมมีมาถึง บุญย่อมมี บุญย่อมมีมาถึง เพราะการให้ทาน เพราะการฝึกฝน เพราะความสำรวม เพราะกล่าวคำสัตย์. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน สมณพราหมณ์เหล่านี้ มีวาทะเป็นข้าศึกแก่กันและกันโดยตรงมิใช่หรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ความเห็นที่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ
[๑๑๑] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณ- *พราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเองหรือใช้ผู้อื่นให้ทำ ตัดเอง หรือ ใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเอง หรือให้ผู้อื่นให้เผาผลาญ ทำสัตว์ให้เศร้าโศกเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ ทำสัตว์ให้เศร้าโศก ทำสัตว์ให้ลำบากเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ทำสัตว์ให้ลำบาก ทำสัตว์ให้ดิ้นรนเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ทำสัตว์ให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ลักทรัพย์เอง หรือใช้ผู้อื่น ให้ลัก ตัดช่อง ปล้นใหญ่ ทำการปล้นในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ในทางเปลี่ยว คบหาภรรยาของ ผู้อื่น พูดเท็จ บาปที่บุคคลทำอยู่ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นอันทำ ถึงหากผู้ใดพึงทำสัตว์ในแผ่นดินนี้ ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อกองเดียวกัน ด้วยจักรมีคมโดยรอบเช่นคมมีดโกน บาปซึ่งมีการทำสัตว์ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกันเป็นเหตุ ย่อมไม่มี ไม่มีบาปมาถึง ถึงแม้บุคคล จะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ตัดเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเอง หรือใช้ผู้อื่นให้เผาผลาญ บาปซึ่งมีการฆ่าสัตว์เป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มี ไม่มี บาปมาถึง ถึงแม้บุคคลพึงไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้ทานเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง หรือใช้ผู้อื่นให้บูชา บุญอันมีการให้ทานเป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มี บุญย่อมไม่มีมาถึง บุญย่อม ไม่มี บุญไม่มีมาถึง เพราะการให้ เพราะการข่มใจ เพราะความสำรวม เพราะกล่าวคำสัตย์ ดังนี้. สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวังข้อนี้ได้คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แล้วประพฤติ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรมฝ่ายขวาแห่ง กุศลธรรม. ก็ความทำมีอยู่ แต่ผู้นั้นมีความเห็นว่า ความทำไม่มี ความเห็นของเขานั้นเป็น ความเห็นผิด. ก็ความทำมีอยู่ ผู้นั้นดำริว่าความทำไม่มี ความดำริของเขานั้น เป็นความดำริผิด. ก็ความทำมีอยู่ ผู้นั้นกล่าววาจาว่าความทำไม่มี วาจาของเขานั้นเป็นมิจฉาวาจา. ก็ความทำมีอยู่ ผู้นั้นกล่าวว่าความทำไม่มี ผู้นี้ย่อมทำตนให้เป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ ผู้มีวาทะว่า กรรมที่บุคคล ทำอยู่ เป็นอันทำ. ก็ความทำมีอยู่ ผู้นั้นให้บุคคลอื่นสำคัญผิดว่าความทำไม่มี การที่ให้ผู้อื่น สำคัญผิดของเขานั้น เป็นการให้ผู้อื่นสำคัญผิดโดยไม่ชอบธรรม และเพราะการที่ให้ผู้อื่นสำคัญผิด โดยไม่เป็นธรรมนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่น. เขาละคุณคือความเป็นผู้มีศีล ตั้งไว้แต่โทษ คือ ความเป็นผู้ทุศีลขึ้นก่อนทีเดียว ด้วยประการฉะนี้. ส่วนอกุศลธรรมอันลามกเป็นอเนกเหล่านี้ คือ ความเห็นผิด ความดำริผิด วาจาผิด ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยะ กิริยาที่ให้ผู้อื่นสำคัญผิด โดยไม่ชอบธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมี เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ด้วยประการ ฉะนี้.
อปัณณกธรรมที่ถือไว้ชั่ว
[๑๑๒] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น บุรุษ ผู้รู้แจ้งย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ถ้าแลความทำไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักทำตนให้เป็นผู้มีความสวัสดีได้. ถ้าแลความทำมีอยู่ เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อ ตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. อนึ่ง ความทำอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์ เหล่านั้นจงเป็นคำจริง เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ ย่อมถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบัน ว่า เป็นบุรุษบุคคลทุศีล มีความเห็นผิด มีวาทะว่า กรรมที่บุคคลทำอยู่ไม่เป็นอันทำ. ถ้าแล ความทำมีอยู่จริง ความยึดถือของท่านบุรุษบุคคลนี้ อย่างนี้ เป็นความปราชัยในโลกทั้งสอง คือ ในปัจจุบัน วิญญูชนติเตียน เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลถือไว้ชั่ว สมาทานชั่วอย่างนี้ ย่อมแผ่ไปโดยส่วนเดียว ย่อมละเหตุแห่งกุศลเสีย.
ความเห็นที่ไม่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ
[๑๑๓] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณ- *พราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ทำ ตัดเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเอง หรือใช้ผู้อื่นให้เผาผลาญ ทำสัตว์ให้เศร้าโศกเอง หรือใช้ผู้อื่น ให้ทำสัตว์ให้เศร้าโศก ทำสัตว์ให้ลำบากเอง หรือใช้ผู้อื่นทำสัตว์ให้ลำบาก ทำสัตว์ให้ดิ้นรนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำสัตว์ให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ลักทรัพย์ ตัดช่อง ปล้นใหญ่ ทำการปล้นในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ในทางเปลี่ยว คบหาภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ บาปที่บุคคล ทำอยู่ ย่อมชื่อว่าเป็นอันทำ แม้หากผู้ใดพึงทำสัตว์ในแผ่นดินนี้ ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อกองเดียวกัน ด้วยจักรมีคมโดยรอบเช่นคมมีดโกน บาปอันมีกรรมทำสัตว์ให้เป็น ลานเนื้อแห่งเดียวกันเป็นเหตุ ย่อมมี บาปย่อมมีมาถึง แม้บุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ตัดเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเอง หรือใช้ผู้อื่นให้เผาผลาญ บาปอันมีการฆ่าสัตว์เป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมมี บาปย่อมมีมาถึง ถ้าแม้บุคคลจะพึงไปยังฝั่งซ้าย แห่งแม่น้ำคงคา ให้ทานเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง หรือใช้ผู้อื่นให้บูชา บุญอันมีการให้ ทานเป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมมี บุญย่อมมีมาถึง บุญย่อมมี บุญย่อมมีมาถึง เพราะการให้ เพราะ การข่มใจ เพราะความสำรวม เพราะกล่าวคำสัตย์ ดังนี้. สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวัง ข้อนี้ คือ จักเว้นอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จักสมาทาน กุศล ๓ ประการนี้ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แล้วประพฤติ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง แห่งอกุศลธรรม ย่อมเห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรมฝ่ายขาว แห่งกุศลธรรม. ก็ความทำมีอยู่จริง และ เขามีความเห็นว่า ความทำมีอยู่ ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นชอบ ความทำมีอยู่จริง ผู้นั้น ดำริว่า ความทำมีอยู่ ความดำริของเขานั้นเป็นความดำริชอบ. ก็ความทำมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าว วาจาว่า ความทำมีอยู่ วาจาของเขานั้นเป็นวาจาชอบ. ก็ความทำมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าวว่า ความทำ มีอยู่ ผู้นี้ย่อมไม่ทำตนให้เป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ผู้มีวาทะว่ากรรมที่บุคคลทำอยู่เป็นอันทำ. ก็ ความทำมีอยู่จริง ผู้นั้นให้ผู้อื่นสำคัญว่าความทำมีอยู่ การที่ให้ผู้อื่นสำคัญของเขานั้น เป็นกิริยา ที่ให้สำคัญโดยชอบธรรม และเพราะการที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยชอบธรรมนั้น เขาย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น. เขาละโทษคือความเป็นผู้ทุศีล ตั้งไว้แต่คุณ คือความเป็นผู้มีศีลก่อนทีเดียว ด้วย ประการฉะนี้. และกุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ ความไม่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ การที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยธรรม การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่น ย่อมมี เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้แล.
อปัณณกธรรมที่ถือไว้ดี
[๑๑๔] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น บุรุษ ผู้รู้แจ้งย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ถ้าแลความทำมีอยู่จริง ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักเข้าถึง สุคติ โลก สวรรค์. หากความทำอย่าได้มี คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จงเป็นคำจริง และ เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ ย่อมเป็นผู้อันวิญญูชนสรรเสริญในปัจจุบันว่า เป็นบุรุษ บุคคลมีศีล มีความเห็นชอบ มีวาทะว่า กรรมที่บุคคลทำอยู่เป็นอันทำ ดังนี้. ถ้าแลความทำมี อยู่จริง ความยึดถือของท่านบุรุษบุคคลนี้อย่างนี้ เป็นความชนะในโลกทั้ง ๒ คือ ในปัจจุบัน วิญญูชนสรรเสริญ เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์. อปัณณกธรรมที่บุคคลนั้นถือดี สมาทานดี อย่างนี้ ย่อมแผ่ไปโดยส่วน ๒ ย่อมละเหตุแห่งอกุศลเสีย.
วาทะที่เป็นข้าศึกกัน
[๑๑๕] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองเอง เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์เอง กำลังไม่มี ความเพียรไม่มี เรี่ยวแรงของ บุรุษไม่มี ความบากบั่นของบุรุษไม่มี สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร เป็นแต่แปรปรวนไปโดยความแยก ความผสม และ ตามภาวะ ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖ ๑- เท่านั้น ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น เขากล่าว อย่างนี้ว่า เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย จึงเศร้าหมอง เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย จึงบริสุทธิ์ กำลังมีอยู่ ความเพียรมีอยู่ เรี่ยวแรงของบุรุษมีอยู่ ความบากบั่นของบุรุษมีอยู่ สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง มีอำนาจ มีกำลัง มีความเพียร แปรปรวนไปโดยความแยก ความผสม และตามภาวะ ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖ เท่านั้น ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณพราหมณ์เหล่านี้มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกันมิใช่หรือ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ความเห็นที่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ
[๑๑๖] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์นั้น สมณ- *พราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มีเพื่อความเศร้าหมองของ สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองเอง เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์เอง กำลังไม่มี ความเพียรไม่มี เรี่ยวแรงของบุรุษไม่มี ความบากบั่นของบุรุษไม่มี สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร แปรปรวนไป โดยความแยก ความผสม และตามภาวะ ย่อมเสวยสุข และทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖ เท่านั้น @๑. อภิชาติ ๖ คือ กัณหาภิชาติ นีลาภิชาติ โลหิตาภิชาติ หลิททาภิชาติ สุกกาภิชาติ ปรมสุกกาภิชาติ สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวังข้อนี้ คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แล้วประพฤติ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรม ฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรม. ก็เหตุมีอยู่จริง แต่ผู้นั้นมีความเห็นว่า เหตุไม่มี ความเห็นของเขานั้น เป็นความเห็นผิด. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นดำริว่าเหตุไม่มี ความดำริของเขานั้นเป็นความดำริผิด. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าววาจาว่า เหตุไม่มี วาจาของเขานั้นเป็นวาจาผิด. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าวว่าเหตุไม่มี ผู้นี้ย่อมทำตนให้เป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ผู้กล่าวเหตุ. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นให้ผู้อื่นสำคัญผิดว่าเหตุไม่มี การให้ผู้อื่นสำคัญของเขานั้น เป็นกิริยาที่ให้สำคัญโดยไม่ ชอบธรรม และเพราะการที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยไม่ชอบธรรมนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่น. เขาละคุณ คือความเป็นผู้มีศีล ตั้งไว้แต่โทษ คือความเป็นผู้ทุศีลขึ้นก่อนทีเดียว ด้วยประการฉะนี้. อกุศลธรรมอันลามก เป็นอเนกเหล่านี้ คือ ความเห็นผิด ความดำริผิด วาจาผิด ความเป็น ข้าศึกต่อพระอริยะ การที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยไม่ชอบธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมีเพราะ มิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.
อปัณณกธรรมที่ถือไว้ชั่ว
[๑๑๗] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์นั้น บุรุษผู้รู้แจ้ง ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ถ้าแลว่าเหตุไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักทำตนให้มีความสวัสดีได้ ถ้าเหตุมีอยู่จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. อนึ่ง หากเหตุอย่ามีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์นั้น จงเป็นคำจริง ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ อันวิญญูชนพึงติเตียนได้ในปัจจุบันว่า เป็นบุรุษบุคคลทุศีล มีความเห็นผิด มีวาทะว่าหาเหตุมิได้. ถ้าแลเหตุมีอยู่จริง ความยึดถือ ของท่านบุรุษบุคคลนี้ อย่างนี้ เป็นความปราชัยในโลกทั้งสอง คือ ในปัจจุบัน วิญญูชนติเตียน เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นถือชั่ว สมาทานชั่ว อย่างนี้ ย่อมแผ่ไปโดยส่วนเดียว ย่อมละเหตุแห่งกุศลเสีย.
ความเห็นที่ไม่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ
[๑๑๘] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์นั้น สมณพราหมณ์ ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองเอง เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความบริสุทธิ์ของ สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์เอง กำลังมีอยู่ ความเพียรมีอยู่ เรี่ยวแรงของบุรุษมีอยู่ ความบากบั่นของบุรุษมีอยู่ สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง มีอำนาจ มีกำลัง มีความเพียร แปรปรวนไปโดยความแยก ความผสม และตามภาวะ ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖ เท่านั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จักสมาทานกุศลกรรม ๓ ประการนี้ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แล้วประพฤติ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของอกุศลธรรม ย่อมเห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรมฝ่ายขาว แห่งกุศลธรรม. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้น มีความเห็นว่า เหตุมี ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นชอบ. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นดำริว่า เหตุมี ความดำริของเขานั้น เป็นความดำริชอบ. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าววาจาว่า เหตุมี วาจาของเขานั้นเป็นวาจาชอบ. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าวว่า เหตุมี ผู้นี้ย่อมไม่ทำตนให้เป็นข้าศึก ต่อพระอรหันต์ผู้มีวาทะว่า เหตุมี. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นให้ผู้อื่นสำคัญว่า มีเหตุ การที่ให้ผู้อื่น สำคัญของเขานั้น เป็นการที่ให้สำคัญโดยชอบธรรม และเพราะการที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยชอบธรรม นั้น เขาย่อมไม่ยกตน ย่อมไม่ข่มผู้อื่น. เขาละโทษ คือความเป็นผู้ทุศีล ตั้งไว้เฉพาะแต่ความ เป็นผู้มีศีลก่อนทีเดียว ด้วยประการฉะนี้. กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ ความไม่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ การที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยชอบธรรม การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่น ย่อมมี เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัยด้วยประการฉะนี้.
อปัณณกธรรมที่ถือไว้ดี
[๑๑๙] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์นั้น บุรุษผู้เป็น วิญญูย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ถ้าเหตุมีอยู่จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์. ก็ถ้าเหตุอย่าได้มีจริง วาจาของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นจงเป็น คำสัตย์ ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ ย่อมเป็นผู้อันวิญญูชนสรรเสริญในปัจจุบันว่า เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล มีความเห็นชอบ มีวาทะว่ามีเหตุ. และถ้าเหตุมีอยู่จริง ความยึดถือของ ท่านบุรุษบุคคลนี้ อย่างนี้ เป็นความชนะในโลกทั้งสอง คือ ในปัจจุบัน ย่อมเป็นผู้อันวิญญูชน สรรเสริญ เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์. อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นยึดถือดี สมาทานดี อย่างนี้ ย่อมแผ่ไปโดยส่วน ๒ ย่อมละเหตุแห่งอกุศลเสีย.
วาทะว่าอรูปพรหมไม่มี
[๑๒๐] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์ พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า อรูปพรหมย่อมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ เป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์พวกนั้น เขากล่าวอย่างนี้ว่า อรูปพรหมมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณพราหมณ์ เหล่านี้มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกันมิใช่หรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์นั้น บุรุษผู้เป็นวิญญู ย่อมเห็นตระหนักดังนี้ว่า ข้อที่ว่าท่านสมณพราหมณ์มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า อรูปพรหมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เราไม่เห็น แม้ข้อที่ว่า ท่านสมณพราหมณ์ มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า อรูปพรหมมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เราไม่รู้ ส่วนเราเองเล่า เมื่อไม่รู้ เมื่อไม่เห็น จะพึงถือเอาโดยส่วนเดียวแล้วกล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ข้อนั้นพึงเป็นการสมควรแก่เราหามิได้ ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้มีความเห็น อย่างนี้ว่า อรูปพรหมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดา ที่มีรูป สำเร็จด้วยใจ ซึ่งไม่เป็นความผิด นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า อรูปพรหมมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูปสำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิด นี้เป็นฐานะที่จะ มีได้ อนึ่งการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การตัวต่อตัว การกล่าวส่อเสียดและมุสาวาท ซึ่งมีรูปเป็นเหตุ ย่อมปรากฏ แต่ข้อนี้ ย่อมไม่มี ในอรูปพรหม ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้. บุรุษผู้เป็นวิญญูนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทแห่งรูปอย่างเดียว.
วาทะว่าความดับแห่งภพไม่มี
[๑๒๑] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์ พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพ ไม่มีด้วยอาการทั้งปวง. สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น เขากล่าวอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่ ด้วยอาการทั้งปวง. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณพราหมณ์เหล่านี้ มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกันมิใช่หรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น บุรุษผู้เป็นวิญญู ย่อมเห็นตระหนักดังนี้ว่า ข้อที่ท่านสมณพราหมณ์มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความ ดับสนิทแห่งภพไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เราไม่เห็นแม้ข้อที่ท่านสมณพราหมณ์มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เราไม่รู้ ส่วนเราเองเล่า เมื่อไม่รู้ เมื่อไม่เห็น จะพึงถือเอาโดยส่วนเดียว แล้วกล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ข้อนั้นพึงเป็นการสมควรแก่เราหามิได้ ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มี ความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจัก เกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิดนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ อนึ่ง ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่ ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักปรินิพพานในปัจจุบันนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้. ความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพ ไม่มีด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมเป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ต่อธรรมเครื่องประกอบ สัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมเครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมเครื่องสยบ ใกล้ต่อธรรมเครื่องถือมั่น ส่วนความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่ง ภพมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมอันไม่เป็นไปกับด้วยราคะ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่ธรรม ประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องสยบ ใกล้ ต่อธรรมอันไม่เป็นเครื่องยึดมั่น บุรุษผู้เป็นวิญญูนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมปฏิบัติ เพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทแห่งภพเท่านั้น.
บุคคล ๔ จำพวก
[๑๒๒] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวาย ในการทำตนให้เดือดร้อน. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อนและประกอบการขวนขวายในการทำตน ให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนและประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อนและไม่ประกอบความขวนขวายใน การทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนและไม่ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็น ผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันเทียว. [๑๒๓] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบ ความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อนเป็นไฉน? ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนเปลือย ทอดทิ้งมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาให้ ไม่ยินดีภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่ยินดีภิกษาที่เขานิมนต์ ไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากปาก กระเช้า ไม่รับภิกษาคร่อมธรณีประตู ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้ ไม่รับภิกษาคร่อมสาก ไม่รับ ภิกษาของคน ๒ คนที่กำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กำลัง ให้ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับภิกษาใน ที่ที่เขาเลี้ยงสุนัข ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำหมักดอง เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๒ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๓ หลัง เยียวยา อัตภาพด้วยข้าว ๓ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๔ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๔ คำบ้าง รับภิกษา ที่เรือน ๕ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๕ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๖ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วย ข้าว ๖ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วย ภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ๓ ใบบ้าง ๔ ใบบ้าง ๕ ใบบ้าง ๖ ใบบ้าง ๗ ใบบ้าง กิน อาหารที่เก็บค้างไว้วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ๔ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๖ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมาตลอดกึ่งเดือนแม้เช่นนี้ ด้วยประการฉะนี้ เขาเป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าว เป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีข้าวไหม้เป็น ภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภค ผลไม้หล่น เยียวยาอัตภาพ. เขาทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอกรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผม และหนวด คือ ประกอบความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืน คือ ห้ามอาสนะ เป็นผู้กระโหย่ง คือ ประกอบความเพียรในการกระโหย่ง (คือ เดินกระโหย่งเหยียบพื้นไม่เต็มเท้า บ้าง) เป็นผู้นอนบนหนาม คือ สำเร็จการนอนบนหนามบ้าง เป็นผู้อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือ ประกอบการขวนขวายในการลงน้ำบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการทำให้กายเดือดร้อน เร่าร้อนหลายอย่างเห็นปานนี้อยู่ ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความ ขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อนเป็นไฉน? ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ฆ่าแพะเลี้ยงชีวิต ฆ่าสุกร เลี้ยงชีวิต ฆ่านกเลี้ยงชีวิต ฆ่าเนื้อเลี้ยงชีวิต เป็นคนเหี้ยมโหด เป็นคนฆ่าปลา เป็นโจร เป็น คนฆ่าโจร เป็นคนปกครองเรือนจำ หรือบุคคลเหล่าอื่นบางพวกเป็นผู้ทำการงานอันทารุณ ดูกร พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความ ขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความ ขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนเป็นไฉน? ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มูรธาภิเษกแล้วก็ดี เป็นพราหมณ์มหาศาลก็ดี พระราชาหรือพราหมณ์นั้นโปรดให้ทำโรงที่ บูชายัญขึ้นใหม่ทางด้านบูรพาแห่งพระนคร แล้วทรงจำเริญพระเกศาและพระมัสสุ ทรงนุ่ง หนังเสือทั้งเล็บ ทรงทาพระกายด้วยเนยใสและน้ำมันงา ทรงเกาพระปฤษฎางค์ด้วยเขามฤค เข้า ไปยังโรงที่บูชายัญใหม่ พร้อมด้วยพระมเหสีและพราหมณ์ปุโรหิต บรรทมบนพื้นดินอันมิได้ ลาดด้วยเครื่องลาด ทาด้วยโคมัยสด น้ำนมในเต้าที่หนึ่ง แห่งโคแม่ลูกอ่อนตัวเดียวมีเท่าใด พระราชาทรงเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมเท่านั้น น้ำนมในเต้าที่ ๒ มีเท่าใด พระมเหสีทรงเยียวยา อัตภาพด้วยน้ำนมเท่านั้น น้ำนมในเต้าที่ ๓ มีเท่าใด พราหมณ์ปุโรหิตย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย น้ำนมเท่านั้น น้ำนมในเต้าที่ ๔ มีเท่าใด ก็บูชาไฟด้วยน้ำนมเท่านั้น ลูกโคเยียวยาอัตภาพ ด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชาหรือพราหมณ์นั้นตรัสอย่างนี้ว่า เพื่อต้องการบูชายัญ จงฆ่าโค ผู้ประมาณเท่านี้ ลูกโคผู้ประมาณเท่านี้ ลูกโคเมียประมาณเท่านี้ แพะประมาณเท่านี้ แกะ ประมาณเท่านี้ ม้าประมาณเท่านี้ จงตัดต้นไม้ประมาณเท่านี้ เพื่อต้องการทำเป็นเสายัญ จงเกี่ยว หญ้าประมาณเท่านี้ เพื่อต้องการลาดพื้น ชนเหล่าใดที่เป็นทาสก็ดี เป็นคนใช้ก็ดี เป็นกรรมกร ก็ดี ของพระราชาหรือพราหมณ์นั้น ชนเหล่านั้นถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม มีน้ำตานองหน้า ร้องไห้ทำการงานตามกำหนด ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ ทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็บุคคลไม่เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อนและไม่ประกอบ ความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนและไม่ประกอบความขวนขวาย ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันทีเดียว เป็นไฉน? ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้ จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้นทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้ แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์แล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทาง ปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวช เป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต. เขาบวชอย่างนี้แล้ว ถึงพร้อมด้วยสิกขาและอาชีพเสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย ๑. ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มี ความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่. ๒. ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่ เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่. ๓. ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน. ๔. ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำ เป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก. ๕. ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตก ร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อม เพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้ คนพร้อมเพรียงกัน. ๖. ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ. ๗. ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิง อรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร. ๘. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม. ๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล. ๑๐. เธอเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศล. ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ ตบแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ของหอม และ เครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว. ๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่. ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและรับเงิน. ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ. ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ. ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี. ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส. ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ. ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร. ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา. ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน. ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้. ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อและการขาย. ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วย เครื่องตวงวัด. ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง. ๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก. เธอเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็น ภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาต เป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง. ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ เธอฟังเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่น ด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ แล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อ ว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้ เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน. ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง. ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติและสัมปชัญญะ อันเป็นอริยะเช่นนี้ แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติ ไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากความเพ่งเล็ง ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์ แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือ พยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความ เคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา. ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งใจ อันทำปัญญาให้ทุรพลได้ แล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่ วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มี วิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปิติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบ ชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด วิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วไม่มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอัน มาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้. ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของ สัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม กรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น มิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้. ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา. เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี. ดูกรพราหมณ์คฤหบดีทั้งหลาย บุคคลนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบ ความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุขมีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันเทียว.
พราหมณ์และคฤหบดีแสดงตนเป็นอุบาสก
[๑๒๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์คฤหบดีและชาวบ้านศาลาทั้งหลาย ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คน หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ ขอถึงท่าน พระโคดม พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้า ทั้งหลายว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล.
จบ อปัณณกสูตร ที่ ๑๐.
จบ คหปติวรรค ที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กันทรกสูตร ๒. อัฏฐกนาครสูตร ๓. เสขปฏิปทาสูตร ๔. โปตลิยสูตร ๕. ชีวกสูตร ๖. อุปาลิวาทสูตร ๗. กุกกุโรวาทสูตร ๘. อภัยราชกุมารสูตร ๙. พหุเวทนิยสูตร ๑๐. อปัณณกสูตร
-----------------------------------------------------
ภิกขุวรรค
๑. จูฬราหุโลวาทสูตร
เรื่องพระราหุล
[๑๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขต พระนครราชคฤห์. ก็สมัยนั้นแล ท่านพระราหุลอยู่ ณ ปราสาทชื่อว่าอัมพลัฏฐิกา. ครั้งนั้น เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นอยู่แล้ว เสด็จเข้าไปยังอัมพลัฏฐิกาปราสาทที่ท่าน พระราหุลอยู่. ท่านพระราหุลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงปูลาดอาสนะและตั้งน้ำ สำหรับล้างพระบาทไว้. พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แล้วทรงล้างพระบาท. ท่านพระราหุลถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. [๑๒๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเหลือน้ำไว้ในภาชนะน้ำหน่อยหนึ่ง แล้วตรัสกะ ท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล เธอเห็นน้ำเหลือหน่อยหนึ่งอยู่ในภาชนะน้ำนี้หรือ? ท่านพระราหุลกราบทูลว่า เห็นพระเจ้าข้า. ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็มีน้อย เหมือนกันฉะนั้น. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเทน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่งนั้นเสีย แล้วตรัสกะท่านพระราหุล ว่า ดูกรราหุล เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเทเสียแล้วหรือ? รา. เห็น พระเจ้าข้า. พ. ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็น ของที่เขาทิ้งเสียแล้วเหมือนกันฉะนั้น. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำที่คว่ำนี้หรือ? เห็น พระเจ้าข้า. ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของที่ เขาคว่ำเสียแล้วเหมือนกันฉะนั้น. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหงายภาชนะน้ำนั้นขึ้น แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำอันว่างเปล่านี้หรือ? เห็น พระเจ้าข้า. ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของ ว่างเปล่าเหมือนกันฉะนั้น. [๑๒๗] ดูกรราหุล เปรียบเหมือนช้างต้น มีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม ช้างนั้นเข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหู ทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น. เพราะการที่ช้างรักษา แต่งวงนั้น ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ช้างต้นนี้แลมีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญ ยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม เข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น ชีวิตชื่อว่า อันช้างต้นยังไม่ยอมสละแล. ดูกรราหุล เมื่อใดแลช้างต้นมีงาอันงอนงามเป็นพาหนะที่เจริญ ยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม เข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหู ทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง. เพราะการที่ช้างทำกรรมด้วยงวงนั้น ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ก็ช้างต้นนี้แลมีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม เข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลัง ทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง ชีวิตชื่อว่าอันช้างต้นยอมสละแล้ว บัดนี้ไม่มีอะไร ที่ช้างต้นจะพึงทำไม่ได้ ฉันใด. ดูกรราหุล เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสา ทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูกรราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล. [๑๒๘] ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แว่นมีประโยชน์อย่างไร? มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า. ฉันนั้นเหมือนกันแล ราหุล บุคคลควรพิจารณาเสียก่อน แล้วจึงทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ.
กรรม ๓
[๑๒๙] ดูกรราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมนั้นเธอพึงพิจารณา เสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมนี้ใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียน ตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ดูกรราหุล ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อ เบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนี้ เธอไม่พึงทำด้วยกายโดยส่วนเดียว. แต่ถ้าเมื่อเธอ พิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ไม่พึงเป็นไป เพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนั้น เธอพึงทำด้วยกาย. แม้เมื่อเธอกำลัง ทำกรรมด้วยกาย เธอก็พึงพิจารณากายกรรมนั้นแหละว่า เรากำลังทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรม ของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียน ทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไป เพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกกายกรรมเห็นปานนั้น เสีย. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและ ผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเพิ่มกายกรรม เห็นปานนั้น. ดูกรราหุล แม้เธอทำกรรมด้วยกายแล้ว เธอก็พึงพิจารณากายกรรมนั้นแหละว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อ เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็น กำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกายกรรมใด กายกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อ เบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กายกรรมเห็นปานนั้น เธอพึงแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้น ในพระศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งหลายผู้วิญญู แล้วพึงสำรวมต่อไป. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรม ใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ดังนี้ไซร้ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ ศึกษาในกุศลธรรมทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ด้วยกายกรรม นั้นแหละ. [๑๓๐] ดูกรราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา เธอพึงพิจารณาวจีกรรมนั้น เสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์ เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำ กรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอไม่ควรทำโดยส่วนเดียว. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อ เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นผลดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอควรทำ. ดูกรราหุล แม้เมื่อเธอกำลังทำกรรม ด้วยวาจา เธอก็พึงพิจารณาวจีกรรมนั้นแหละว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น บ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกวจีกรรมเห็นปานนั้นเสีย. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อ เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเพิ่มวจีกรรมเห็นปานนั้น. ดูกรราหุล แม้เธอทำกรรมด้วยวาจา แล้ว เธอก็พึงพิจารณาวจีกรรมนั้นแหละว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียน ตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอพึงแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้น ในพระศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้วิญญู ครั้นแล้วพึงสำรวมต่อไป. แต่ ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมไม่ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ ศึกษาในกุศลธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยวจีกรรมนั้นแหละ. [๑๓๑] ดูกรราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ เธอพึงพิจารณามโนกรรมนั้น เสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียน ตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะ ทำกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ดังนี้ไซร้ มโนกรรมเห็นปานนี้ เธอไม่ควรทำโดยส่วนเดียว. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ มโนกรรมเห็นปานนั้น เธอควรทำ. ดูกรราหุล แม้เมื่อเธอกำลังทำกรรม ใดด้วยใจ เธอก็พึงพิจารณามโนกรรมนั้นแหละว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์ เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกมโนกรรมเห็นปานนั้นเสีย. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเพิ่มมโนกรรมเห็นปานนั้น. ดูกรราหุล แม้เธอ ทำกรรมใดด้วยใจแล้ว เธอก็พึงพิจารณามโนกรรมนั้นแหละว่า เราได้ทำกรรมใดด้วยใจแล้ว มโนกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียน ทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำได้แล้วซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ย่อมเป็น ไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงกระดาก ละอาย เกลียดในมโนกรรมเห็นปานนั้น ครั้นแล้วพึงสำรวมต่อไป. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อ เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ ศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวัน และกลางคืน อยู่ด้วยมโนกรรมนั้นแหละ. [๑๓๒] ดูกรราหุล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ได้ชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้นพิจารณาๆ อย่างนี้นั่นเอง แล้วจึง ชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม. แม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอนาคตกาล จักชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ก็จักพิจารณาๆ อย่างนี้นั่นเอง แล้วจึงชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม. ถึงสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่งในปัจจุบัน กำลังชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอยู่ สมณะหรือพราหมณ์ ทั้งหมดนั้น ก็พิจารณาๆ อย่างนี้นั่นเอง แล้วจึงชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม. เพราะ เหตุนั้นแหละ ราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักพิจารณาๆ แล้วจึงชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ดูกรราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ จูฬราหุโลวาทสูตร ที่ ๑.
-----------------------------------------------------
๒. มหาราหุโลวาทสูตร
เรื่องพระราหุล
[๑๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคครองอันตราวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังนครสาวัตถีเวลาเช้า. แม้ท่านพระราหุลก็ครอง อันตรวาสก แล้วถือบาตรและจีวรตามพระผู้มีพระภาคไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงผินพระพักตร์ไปรับสั่งกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียด ก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งปวงนี้ เธอพึงเห็นด้วยปัญญา อันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้. พระราหุลทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค รูปเท่านั้นหรือ ข้าแต่พระสุคต รูปเท่านั้น หรือ? พ. ดูกรราหุล ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ. [๑๓๔] ครั้งนั้น ท่านพระราหุลคิดว่า วันนี้ ใครหนออันพระผู้มีพระภาคทรงโอวาท ด้วยโอวาทในที่เฉพาะพระพักตร์แล้วจักเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตเล่า ดังนี้แล้ว กลับจากที่นั้นแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง. ท่านพระสารีบุตรได้เห็น ท่านพระราหุลผู้นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้ว บอกกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล ท่านจงเจริญอานาปานสติเถิด ด้วยว่า อานาปานสติภาวนา ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก. ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระราหุลออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์?
ธาตุ ๕
[๑๓๕] ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นภายใน อาศัยตนเป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าปฐวีธาตุเป็นภายใน. ก็ปฐวีธาตุ เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุเหมือนกัน. ปฐวีธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในปฐวีธาตุ. [๑๓๖] ดูกรราหุล ก็อาโปธาตุเป็นไฉน? อาโปธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี. ก็อาโปธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอาโป มีลักษณะเอิบอาบ อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นอาโป มีลักษณะเอิบอาบ อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าอาโปธาตุเป็นภายใน. ก็อาโปธาตุ เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด อาโปธาตุนั้นเป็นอาโปธาตุเหมือนกัน. อาโปธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ ตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นอาโปธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในอาโปธาตุ. [๑๓๗] ดูกรราหุล ก็เตโชธาตุเป็นไฉน? เตโชธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี. ก็เตโชธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อน อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกาย ให้กระวนกระวาย และไฟที่เผาอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ให้ย่อยไปโดยชอบ หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายในอาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อน อันกรรมและกิเลสเข้า ไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าเตโชธาตุ เป็นภายใน. ก็เตโชธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด เตโชธาตุนั้นเป็นเตโชธาตุเหมือนกัน. เตโชธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็น จริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็น เตโชธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ จิตย่อม คลายกำหนัดในเตโชธาตุ. [๑๓๘] ดูกรราหุล วาโยธาตุเป็นไฉน? วาโยธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี. ก็วาโยธาตุเป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นวาโย มีลักษณะพัดไปมา อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นวาโย พัดไปมา อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าวาโยธาตุเป็นภายใน. ก็ วาโยธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด วาโยธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุเหมือนกัน. วาโยธาตุ นั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในวาโยธาตุ. [๑๓๙] ดูกรราหุล ก็อากาสธาตุเป็นไฉน? อากาสธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอก ก็มี. อากาสธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตนเป็นอากาศ มีลักษณะว่าง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องคอสำหรับกลืนอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และช่องสำหรับถ่ายอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ออกเบื้องล่าง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอากาศ มีลักษณะว่าง ไม่ทึบ มีลักษณะ ไม่ทึบเป็นช่อง มีลักษณะเป็นช่อง อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายใน อันกรรมและกิเลส เข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าอากาสธาตุ เป็นภายใน. ก็อากาสธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด อากาสธาตุนั้น เป็นอากาศธาตุเหมือนกัน. อากาสธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคล เห็นอากาสธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอากาสธาตุ จิต ย่อมคลายกำหนัดในอากาสธาตุ.
ภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕
[๑๔๐] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อ เธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จัก ไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือ เกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอ เจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ ครอบงำจิตได้. [๑๔๑] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอ ด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะ อันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. [๑๔๒] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนา เสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนไฟที่เผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลาย บ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอ จงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็น ที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. [๑๔๓] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนา เสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอ ได้ ดูกรราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้น ก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้น เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วย ลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. [๑๔๔] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนา เสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
การเจริญภาวนาธรรม ๖ อย่าง
[๑๔๕] ดูกรราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้. เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละ วิหิงสาได้. เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติได้. เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะได้. เธอจง เจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้. เธอจงเจริญอนิจจสัญญา ภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้.
อานาปานสติภาวนา
[๑๔๖] ดูกรราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคล เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่. ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่? ดูกรราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติ หายใจออก มีสติหายใจเข้า. เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว. เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียก ว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจออก ย่อม สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ย่อม สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อม สำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียก ว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจาก ราคะหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก ย่อมสำเหนียก ว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ สละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า. ดูกรราหุล อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ดูกรราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ครั้งสุดท้าย อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป หาเป็น อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้ดังนี้. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ มหาราหุโลวาทสูตร ที่ ๒.
-----------------------------------------------------
๓. จูฬมาลุงโกยวาทสูตร
เรื่องพระมาลุงกยบุตรดำริถึงมิจฉาทิฏฐิ ๑๐
[๑๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระมาลุงกยบุตรไปในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริ แห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ข้อที่พระผู้มี- *พระภาคไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จัก ลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์.
พระมาลุงกยบุตรทูลบอกความปริวิตก
[๑๔๘] ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระมาลุงกยบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มี- *พระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์ ไปในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรง พยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรง พยากรณ์ ฯลฯ เราจักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกเที่ยง ขอจง ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่าโลกเที่ยง ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า โลกไม่เที่ยง ขอจง ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่าโลกไม่เที่ยง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่าโลกเที่ยงหรือ โลกไม่เที่ยง เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกมีที่สุด ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า โลกมีที่สุด ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า โลกไม่มีที่สุด ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า โลกไม่มี ที่สุด ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่าโลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ถ้าพระผู้มี- *พระภาคทรงทราบว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ทรงรู้ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ไม่เห็น. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ขอจงทรงพยากรณ์ แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปไม่มีอยู่ เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ขอจงทรงพยากรณ์ แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า สัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น. [๑๔๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาลุงกยบุตร เราได้พูดไว้อย่างนี้กะเธอหรือว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด เราจักพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ แก่เธอ ฯลฯ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า. ก็หรือว่า ท่านได้พูดไว้กะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติ พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ฯลฯ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า. ดูกรมาลุงกยบุตร ได้ยินว่า เรามิได้พูดไว้กะเธอดังนี้ว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ ในเราเถิด เราจักพยากรณ์แก่เธอ ฯลฯ ได้ยินว่า แม้เธอก็มิได้พูดไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาค จักทรงพยากรณ์แก่ ข้าพระองค์ ฯลฯ ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอเป็นอะไร ๑- จะมาทวงกะใครเล่า?
เปรียบคนที่ถูกลูกศร
[๑๕๐] ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดแลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรง พยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ตถาคต ไม่พึงพยากรณ์ข้อนั้นเลย และบุคคลนั้นพึงทำกาละไปโดยแท้. ดูกรมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือน บุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตรอมาตย์ ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้น พึงไปหา นายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า. บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษ ผู้ยิงเรานั้นว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร ... มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ ... สูงต่ำหรือปานกลาง ... ดำขาวหรือผิวสองสี ... อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้น เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้น @๑. ไม่ใช่ผู้ขอร้อง หรือผู้ถูกขอร้อง เป็นชนิดมีแหล่งหรือเกาทัณฑ์ ... สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอผิวไม้ไผ่ เอ็น ป่านหรือ เยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก หางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้น เขาเสียบด้วย ขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูงหรือนกชื่อว่า สิถิลหนุ (คางหย่อน) ... เกาทัณฑ์นั้น เขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่างหรือลิง ... ลูกธนูที่ยิงเรานั้น เป็นชนิดอะไร ดังนี้ เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น ดูกรมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้ บุรุษนั้นพึงทำกาละไป ฉันใด ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาค จักไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ นั้น ฯลฯ แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มี- *พระภาคเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้ บุคคลนั้นพึงทำกาละไป ฉันนั้น. [๑๕๑] ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกเที่ยง ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกไม่เที่ยง ดังนี้ จักไม่มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า โลกเที่ยง หรือว่า โลกไม่เที่ยงอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความ เพิกถอนชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสในปัจจุบัน. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด ดังนี้ จักได้มีการอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกไม่มีที่สุด ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด หรือว่า โลกไม่มีที่สุดอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความ เพิกถอนชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาสในปัจจุบัน. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดังนี้ จักได้มีการ ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่ ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่งอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมี อยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอนชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ในปัจจุบัน. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็มิใช่อย่างนั้น. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ดังนี้ จักได้มีการอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปไม่มีอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอน ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ในปัจจุบัน. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่ ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่ ดังนี้ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอน ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสในปัจจุบัน.
ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์และไม่ทรงพยากรณ์
[๑๕๒] ดูกรมาลุงกยบุตร เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่ พยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ โดยความ เป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด. ดูกรมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์ ดูกรมาลุงกยบุตร ทิฏฐิว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพ อย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ ก็หามิได้ ดังนี้ เราไม่พยากรณ์. ดูกรมาลุงกยบุตร ก็เพราะเหตุไร ข้อนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อ นิพพาน เหตุนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ข้อนั้น. ดูกรมาลุงกยบุตร อะไรเล่า ที่เราพยากรณ์ ดูกร มาลุงกยบุตร ความเห็นว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความ ดับทุกข์ ดังนี้ เราพยากรณ์. ก็เพราะเหตุไร เราจึงพยากรณ์ข้อนั้น เพราะข้อนั้น ประกอบด้วย ประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อ ความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงพยากรณ์ ข้อนั้น. เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ โดยความเป็นปัญหา ที่เราไม่พยากรณ์ และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตร ยินดีชื่นชม พระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ จูฬมาลุงโกฺยวาทสูตร ที่ ๓.
-----------------------------------------------------
๔. มหามาลุงโกฺยวาทสูตร
ทรงโปรดพระมาลุงกยะและพระอานนท์
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
[๑๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่เราแสดงแล้วได้หรือไม่? เมื่อ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว. ดูกรมาลุงกยบุตร ก็เธอจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่เราแสดงแล้วว่าอย่างไร? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อย่างนี้. [๑๕๔] ดูกรมาลุงกยบุตร เธอจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เหล่านี้ ที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ แก่ใครหนอ? ดูกรมาลุงกยบุตร นักบวช พวกอัญญเดียรถีย์จักโต้เถียง ด้วยคำโต้เถียง อันเปรียบด้วยเด็กนี้ได้ มิใช่หรือว่า แม้แต่ความคิดว่า กายของตน ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เด็ก กุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่ ก็สักกายทิฏฐิจักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน ส่วนสักกายทิฏฐิ อันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น แม้แต่ความคิดว่า ธรรมทั้งหลายดังนี้ ย่อมไม่มี แก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่ ก็ความสงสัยในธรรมทั้งหลาย จักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน ส่วนวิจิกิจฉาอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น แม้แต่ความคิดว่า ศีลทั้งหลาย ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่ สีลัพพตปรามาสในศีลทั้งหลาย จักเกิดขึ้น แก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน ส่วนสีลัพพตปรามาสอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น แม้แต่ความคิดว่า กามทั้งหลาย ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนยังนอนหงายอยู่ ก็กามฉันทะ ในกามทั้งหลายจักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน ส่วนกามราคะอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตาม แก่เด็กนั้น แม้แต่ความคิดว่า สัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่ ก็ความพยาบาท ในสัตว์ทั้งหลายจักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน ส่วนพยาบาทอันเป็นอนุสัย เท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น ดูกรมาลุงกยบุตร นักบวช พวกอัญญเดียรถีย์จักโต้เถียง ด้วยคำโต้เถียงอันเปรียบด้วยเด็กอ่อนนี้ได้มิใช่หรือ? เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่าน พระอานนท์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เวลานี้เป็นกาลสมควร ข้าแต่ พระสุคต เวลานี้เป็นกาลสมควรที่พระผู้มีพระภาคพึงทรงแสดงโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ภิกษุ ทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้. ดูกรอานนท์ ถ้ากระนั้น เธอจงฟัง จงมนสิการให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระอานนท์ทูลรับ พระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า.
อุบายเครื่องละสังโยชน์
[๑๕๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรอานนท์ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้ เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่เห็น สัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ มีจิตอันสักกายทิฏฐิ กลุ้มรุมแล้ว อันสักกายทิฏฐิครอบงำแล้วอยู่ และเมื่อสักกายทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบาย เป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง สักกายทิฏฐินั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้น บรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ปุถุชนนั้นมีจิตอันวิจิกิจฉากลุ้มรุมแล้ว อัน วิจิกิจฉาครอบงำแล้วอยู่ และเมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ ตามความเป็นจริง วิจิกิจฉานั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็น โอรัมภาคิยสังโยชน์. ปุถุชนนั้นมีจิตอันสีลัพพตปรามาสกลุ้มรุมแล้ว อันสีลัพพตปรามาส ครอบงำแล้วอยู่ และเมื่อสีลัพพตปรามาสเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสีย ได้ตามความเป็นจริง สีลัพพตปรามาสนั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้วชื่อว่า เป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ปุถุชนนั้นมีจิตอันกามราคะกลุ้มรุมแล้ว อันกามราคะครอบงำแล้วอยู่ และเมื่อกามราคะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง กาม ราคะนั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์. ปุถุชน นั้นมีจิตอันพยาบาทกลุ้มรุมแล้ว อันพยาบาทครอบงำแล้วอยู่ และเมื่อพยาบาทเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง พยาบาทนั้นก็เป็นของมีกำลัง อัน ปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าโอรัมภาคิยสังโยชน์. ดูกรอานนท์ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยะ เป็นผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะดีแล้ว ได้ เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษดีแล้ว มีจิตอัน สักกายทิฏฐิกลุ้มรุมไม่ได้ อันสักกายทิฏฐิครอบงำไม่ได้อยู่ และเมื่อสักกายทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง สักกายทิฏฐิพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวก นั้นย่อมละได้ อริยสาวกนั้นมีจิตอันวิจิกิจฉากลุ้มรุมไม่ได้ อันวิจิกิจฉาครอบงำไม่ได้อยู่ และ เมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง วิจิกิจฉาพร้อม ทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้. อริยสาวกนั้นมีจิตอันสีลัพพตปรามาสกลุ้มรุมไม่ได้ อัน สีลัพพตปรามาสย่อมครอบงำไม่ได้อยู่ และเมื่อสีลัพพตปรามาสเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็น เครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง สีลัพพตปรามาสพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อม ละได้. อริยสาวกนั้นมีจิตอันกามราคะกลุ้มรุมไม่ได้ อันกามราคะครอบงำไม่ได้อยู่ และเมื่อ กามราคะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง กามราคะพร้อมทั้ง อนุสัยอันอริยสาวกนั้นย่อมละได้. อริยสาวกนั้นมีจิตอันพยาบาทกลุ้มรุมไม่ได้ อันพยาบาท ครอบงำไม่ได้อยู่ และเมื่อพยาบาทเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความ เป็นจริง พยาบาทพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้.
มรรคปฏิปทาเครื่องละสังโยชน์
[๑๕๖] ดูกรอานนท์ ข้อที่ว่า บุคคลจักไม่อาศัยมรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภา- *คิยสังโยชน์ ๕ แล้วจักรู้ จักเห็น หรือจักละ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้น ไม่เป็นฐานะที่จะ มีได้. ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนข้อที่ว่า ไม่ถากเปลือก ไม่ถากกระพี้ของต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้น มีแก่น แล้วจักถากแก่นนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด ข้อที่ว่า บุคคลจักไม่อาศัยมรรคปฏิปทา ที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว จักรู้ จักเห็น หรือจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้นก็ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้น. ดูกรอานนท์ ข้อที่ว่า บุคคลอาศัยมรรคปฏิปทาอันเป็นไป เพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว จักรู้ จักเห็น และจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ นั้นได้ เป็น ฐานะที่จะมีได้. ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนข้อที่ว่า ถากเปลือก ถากกระพี้ของต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้น มีแก่น แล้วจึงถากแก่นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด ข้อที่ว่า บุคคลอาศัยมรรคปฏิปทา อันเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว จักรู้ จักเห็น หรือจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้น ก็เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้น. ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคาน้ำเต็มเปี่ยมเสมอ ขอบฝั่ง กาก้มลงดื่มได้ ครั้งนั้น บุรุษผู้มีกำลังน้อย พึงมาด้วย หวังว่า เราจักว่ายตัดขวาง กระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ดังนี้เขาจะไม่อาจว่าย ตัดขวางกระแสน้ำ แห่งแม่น้ำคงคา ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ ฉันใด เมื่อธรรมอันผู้แสดงๆ อยู่แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เพื่อ ดับความเห็นว่า กายของตน จิตของผู้นั้นไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่มั่นคง ไม่พ้น ฉันนั้น เหมือนกัน. บุรุษผู้มีกำลังน้อยนั้น ฉันใด พึงเห็นบุคคลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา น้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง กาก้มลงดื่มได้ ครั้งนั้นบุรุษมีกำลัง พึงมาด้วย หวังว่า เราจักว่ายตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ ไปให้ถึงโดยสวัสดี ดังนี้ เขาอาจจะ ว่ายตัดขวางกระแสแห่งแม่น้ำคงคา ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ ฉันใด ดูกรอานนท์ เมื่อธรรม อันผู้แสดงๆ อยู่แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเพื่อดับความเห็นว่า กายของตน จิตของตน จิตของผู้นั้นแล่นไป เลื่อมใส มั่นคง พ้น ฉันนั้นเหมือนกันแล. บุรุษมีกำลังนั้นฉันใด พึงเห็นบุคคลเหล่านั้น ฉันนั้น เหมือนกัน.
รูปฌาน ๔
[๑๕๗] ดูกรอานนท์ มรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เป็นไฉน? ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมเพราะอุปธิวิเวก เพราะละ อกุศลธรรมได้ เพราะระงับความคร้านกายได้โดยประการทั้งปวง บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในภายในสมาบัตินั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็น ดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของมิใช่ตัวตน. เธอย่อมเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้น ครั้นเธอเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปในอมตธาตุว่า ธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบสังขาร ทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิท เป็นที่ดับกิเลส และกองทุกข์ดังนี้. เธอตั้งอยู่ในวิปัสสนา อันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นั้น ย่อม บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมเป็นโอปปาติกะ ๑- จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะ ความยินดี ความเพลิดเพลินในธรรมนั้น และเพราะสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ ดูกร- *อานนท์ มรรคแม้นี้แล ปฏิปทาแม้นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕. ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่. ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุข ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข. ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. เธอพิจารณา เห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในภายในสมาบัตินั้น ฯลฯ เพื่อละสังโยชน์
อรูปฌาน
[๑๕๘] ดูกรอานนท์ ภิกษุบรรลุ อากาสานัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า อากาศ ไม่มีที่สุด เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา และเพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้นคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่ง มีอยู่ในฌานนั้นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของไม่มีตัวตน. เธอให้จิตดำเนินไปด้วย ธรรมเหล่านั้น ครั้นให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตเข้าหาธาตุอันเป็นอมตะว่า นั้นมีอยู่ นั่นประณีต คือสงบสังขารทั้งปวง สละคืนอุปธิทั้งปวง สิ้นตัณหา ปราศจากราคะ ดับสนิท นิพพาน เธอตั้งอยู่ในฌานนั้น ย่อมบรรลุการสิ้นอาสวะ ถ้าไม่บรรลุ จะเป็นโอปปาติกะ @ พระอนาคามี ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ด้วยความเพลิดเพลินในธรรมนั้น ด้วยความยินดีในธรรมนั้นแล ดูกรอานนท์ มรรคแม้นี้ ปฏิปทานี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ดูกรอานนท์ ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุดอยู่. เธอพิจารณาธรรมเหล่านั้น คือเวทนา ซึ่งมีอยู่ในฌานนั้น ฯลฯ เพื่อละสังโยชน์. อานนท์ ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุก้าวล่วง วิญญาณัญจายตนะ บรรลุอากิญจัญญายตนะด้วยมนสิการว่า หน่อยหนึ่งย่อมไม่มีอยู่. เธอพิจารณา เห็นธรรมเหล่านั้น คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในอรูปฌานนั้น โดยความ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า ไม่มีตัวตน. เธอให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตเข้าหาธรรมธาตุอันเป็นอมตะว่า นั่นมีอยู่ นั่นประณีต คือการสงบสังขารทั้งปวง การสละคืนอุปธิทั้งปวง ตัณหักขยะ วิราคะ นิโรธ นิพพาน ดังนี้. เธอตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนะนั้น ย่อมถึงการสิ้นอาสวะ ถ้าไม่ถึงการสิ้นอาสวะ จะเป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสิ้นโอรัมภาคิย- *สังโยชน์ ๕ เพราะความเพลิดเพลินในธรรม เพราะความยินดีในธรรมนั้นนั่นแล. ดูกรอานนท์ มรรคปฏิปทานี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ [๑๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ามรรคนี้ ปฏิปทานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิย- *สังโยชน์ ๕ เมื่อเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร ภิกษุบางพวกในพระศาสนานี้ จึงเป็นเจโตวิมุติ บางพวกเป็นปัญญาวิมุติเล่า. ดูกรอานนท์ ในเรื่องนี้ เรากล่าวความต่างกันแห่งอินทรีย์ ของภิกษุเหล่านั้น. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ มหามาลุงโกฺยวาทสูตร ที่ ๔.
-----------------------------------------------------
๕. ภัททาลิสูตร
คุณแห่งการฉันอาหารหนเดียว
[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาก่อนภัต ครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่ สำราญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงมา จงฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวเถิด ด้วยว่า เมื่อเธอทั้งหลายฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มี โรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ.
พระภัททาลิฉันอาหารหนเดียวไม่ได้
[๑๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวได้ เพราะ เมื่อข้าพระองค์ฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน. ดูกรภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่ง แล้วนำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้ แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้นได้ เพราะเมื่อ ข้าพระองค์ฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้น จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน. ครั้งนั้นแล ท่าน พระภัททาลิประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังจะทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา. ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิไม่ได้ให้ตนประสบพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคตลอดไตรมาสนั้นทั้งหมด เหมือนภิกษุอื่นผู้ไม่ทำความบริบูรณ์ในสิกขาในพระ ศาสนาของพระศาสดาฉะนั้น.
พระภัททาลิขอขมาพระพุทธเจ้า
[๑๖๒] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันช่วยกันทำจีวรกรรมสำหรับพระผู้มีพระภาค ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคมีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จเที่ยวจาริกไปโดยล่วงไตรมาส. ครั้งนั้น ท่านพระภัททาลิเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ โดยปราศรัยกับภิกษุเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวว่า ดูกรภัททาลิผู้มีอายุ จีวรกรรมนี้แล ภิกษุทั้งหลายช่วยกันทำสำหรับพระผู้มีพระภาค ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคมี จีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จเที่ยวจาริกไปโดยล่วงไตรมาส. ดูกรภัททาลิผู้มีอายุ เราขอเตือน ท่าน จงมนสิการความผิดนี้ให้ดีเถิด ความกระทำที่ยากกว่าอย่าได้มีแก่ท่านในภายหลังเลย. ท่านพระภัททาลิรับคำของภิกษุเหล่านั้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกอบความไม่อุตสาหะ ขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ขอพระผู้มีพระภาคจงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด. [๑๖๓] ดูกรภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์ สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ดูกรภัททาลิ แม้เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใน พระนครสาวัตถี แม้พระผู้มีพระภาคจักทรงทราบเราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอ ต้องแทงตลอดว่า ภิกษุมากรูปด้วยกันเข้าจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้ภิกษุเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริสุทธิ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็ มิได้แทงตลอดแล้ว. ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า ภิกษุณีมากด้วยกันเข้าจำพรรษา อยู่ในพระนครสาวัตถี แม้ภิกษุณีเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ในศาสนาของพระศาสดา ดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว. ดูกรภัททาลิ เหตุที่ เธอต้องแทงตลอดว่า อุบาสกมากด้วยกันอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้อุบาสกเหล่านั้นจักรู้เรา ว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์สิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้ แทงตลอดแล้ว. ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า อุบาสิกามากด้วยกันอาศัยอยู่ใน พระนครสาวัตถี แม้อุบาสิกาเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาใน ศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว. แม้เหตุที่เธอต้องแทงตลอด ว่าสมณพราหมณ์ต่างลัทธิมากด้วยกันเข้าอยู่กาลฝนในพระนครสาวัตถี แม้สมณพราหมณ์เหล่านั้น จักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิสาวกของพระสมณโคดม เป็นพระเถระองค์หนึ่ง ไม่ทำให้บริบูรณ์ใน สิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อ ภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับโทษของ ข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษเพื่อความสำรวมต่อไปเถิด. [๑๖๔] ดูกรภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความอุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลัง สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ดูกรภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็น อริยบุคคลชื่ออุภโตภาควิมุต เราพึงกล่าวแก่ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุ เราจะก้าวไปในหล่ม ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงก้าวไป หรือพึงน้อมกายไปด้วยอาการอื่น หรือพึงกล่าวปฏิเสธบ้างหรือ? ไม่มีเลย พระเจ้าข้า. ดูกรภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นอริยบุคคลชื่อ ปัญญาวิมุต เป็นอริยบุคคลชื่อกายสักขี เป็นอริยบุคคลชื่อทิฏฐิปัตตะ เป็นอริยบุคคลชื่อ สัทธาวิมุต เป็นอริยบุคคลชื่อธรรมานุสารี เป็นอริยบุคคลชื่อสัทธานุสารี เราพึงกล่าวกะ ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุ เราจะก้าวไปในหล่มดังนี้ ภิกษุนั้นพึงก้าวไป หรือพึงน้อมกายไป ด้วยอาการอื่น หรือพึงกล่าวปฏิเสธบ้างหรือ? ไม่มีเลย พระเจ้าข้า. ดูกรภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในสมัยนั้น เธอเป็นพระอริยบุคคล ชื่อว่าอุภโตภาควิมุต ปัญญาวิมุต กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุต ธรรมานุสารี หรือ สัทธานุสารี บ้างหรือหนอ? มิได้เป็นเลย พระเจ้าข้า. ดูกรภัททาลิ ในสมัยนั้น เธอยังเป็นคนว่าง คนเปล่า คนผิดมิใช่หรือ? เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรง บัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี พระภาคจงทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด. [๑๖๕] ดูกรภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อ ภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม เราจึงรับโทษของเธอนั้น ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม ถึงความ สำรวมต่อไปนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ.
ผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา
[๑๖๖] ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาใน ศาสนาของพระศาสดา เธอมีความดำริอย่างนี้ว่า ถ้ากระไร เราพึงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟางเถิด บางทีเราพึงทำให้แจ้งซึ่ง คุณวิเศษ คือ ความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ดังนี้. เธอเสพ เสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เมื่อเธอหลีกออกอยู่ด้วยประการนั้น พระศาสดาก็ทรงติเตียนได้ เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลาย ใคร่ครวญแล้วก็ติเตียนได้ เทวดาก็ติเตียนได้ แม้ตนเองก็ติเตียนตนได้ เธออันพระศาสดา ติเตียนบ้าง เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายติเตียนบ้าง เทวดาติเตียนบ้าง ตนเองติเตียนตนบ้าง ก็ไม่ทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ คือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของ พระศาสดา.
ผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา
[๑๖๗] ดูกรภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา เธอมีความดำริอย่างนี้ว่า ถ้ากระไรเราพึงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง บางทีเราพึงทำให้แจ้ง ซึ่งคุณวิเศษ คือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ ดังนี้. เธอเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เมื่อเธอหลีกออกอยู่ด้วยประการนั้น แม้พระศาสดาก็ไม่ทรงติเตียน แม้เพื่อนพรหมจรรย์ ผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วก็ไม่ติเตียน แม้เทวดาก็ไม่ติเตียน แม้ตนเองก็ติเตียนตนไม่ได้ เธอ แม้อันพระศาสดาไม่ทรงติเตียน แม้เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายไม่ติเตียน แม้เทวดาไม่ติเตียน แม้ตนเองติเตียนตนไม่ได้ ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งคุณวิเศษ คือ ความรู้ความเห็นของพระอริยะ ผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์. ภิกษุนั้นเธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน ศาสดาไม่ทรงติเตียน แม้เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายไม่ติเตียน แม้เทวดาไม่ติเตียน แม้ตนเองติเตียนตนไม่ได้ ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งคุณวิเศษคือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์. ภิกษุนั้นสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา. ดูกรภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของ พระศาสดา. ดูกรภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ในศาสนาของพระศาสดา. ดูกรภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ข้อนั้นเพราะ เหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา.
ญาณ ๓
[๑๖๘] ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ. เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด วิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตร อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียง เท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตร อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุ เพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้น เป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา. ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของ สัตว์ทั้งหลาย. เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณ ทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็น ไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้เพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในพระศาสนาของ พระศาสดา. ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ. ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุ ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย สำหรับภิกษุทั้งหลายจะข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในพระธรรม วินัยนี้แล้วทำเป็นเหตุ ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย สำหรับภิกษุทั้งหลายจะไม่ข่มแล้วข่มเล่า ซึ่งภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ แล้วทำเป็นเหตุ?
การระงับอธิกรณ์
[๑๖๙] ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วย อาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอาถ้อยคำ ในภายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ทำขนให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตาม ความพอใจของสงฆ์. ดูกรภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่ายากนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลาย ว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอาถ้อยคำในกายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อมให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ทำขน ให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์นี้ไม่พึงระงับโดยเร็วฉะนั้น เถิด ด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภัททาลิ ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่ อธิกรณ์นี้จะไม่ระงับโดยเร็วฉะนั้น. ดูกรภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำใน ภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทำขนให้ตก ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดูกรภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ภิกษุนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ประพฤติฝ่าฝืนอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความ โกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทำขนให้ตก ประพฤติ ถอนตนออก กล่าวว่าข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะพึงระงับโดยเร็วฉะนั้นเถิด ด้วยประการ อย่างนี้ ดูกรภัททาลิ ภิกษุทั้งหลายย่อมพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะระงับ ได้โดยเร็วฉะนั้น. [๑๗๐] ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มาก ด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอา ถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ไม่ประพฤติชอบ ไม่ทำขนให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจ ของสงฆ์. ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่ายากนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลาย ว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืน ประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอาถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความ ขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ทำขนให้ตก ไม่ประพฤติ ถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย จงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์จะไม่พึงระงับโดยเร็วฉะนั้นเถิด ด้วย ประการอย่างนี้. ดูกรภัททาลิ ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะ ไม่ระงับโดยเร็วฉะนั้น. ดูกรภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วย อาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำ ในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทำขนให้ตก ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่าข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์. ดูกรภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ภิกษุนี้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อม ไม่ประพฤติฝ่าฝืนอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทำขนให้ตก ประพฤติ ถอนตนออก กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์นี้พึงระงับได้โดยเร็วฉะนั้นเถิด ด้วยประการ อย่างนี้. ดูกรภัททาลิ ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะระงับ ได้โดยเร็วฉะนั้น. [๑๗๑] ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ นำชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ. ดูกรภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้นำชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้นำ ชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ ถ้าเราทั้งหลายจักข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุ นี้แล้วให้ทำเหตุ ด้วยความตั้งใจว่า ศรัทธาพอประมาณ ความรักพอประมาณ ของเธอนั้น อย่าเสื่อมไปจากเธอเลย. ดูกรภัททาลิ เปรียบเหมือนชนผู้เป็นมิตรอำมาตย์ญาติสายโลหิตของ บุรุษผู้มีนัยน์ตาข้างเดียว พึงรักษานัยน์ตาข้างเดียวนั้นไว้ ด้วยความตั้งใจว่า นัยน์ตาข้างเดียว ของเขานั้น อย่าได้เสื่อมไปจากเขาเลย ฉันใด ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น นำชีวิตไปด้วยความศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ. ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้นำชีวิตไป ด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้ มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้นำชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ ถ้าเราทั้งหลาย จักข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุนี้แล้วให้ทำเหตุ ด้วยความตั้งใจว่า ศรัทธาพอประมาณ ความรัก พอประมาณ ของเธออย่าได้เสื่อมไปจากเธอเลย. ดูกรภัททาลิ นี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย สำหรับ ภิกษุทั้งหลายที่จะข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้แล้วให้ทำเหตุ อนึ่ง นี้เป็นเหตุ เป็น ปัจจัย สำหรับภิกษุทั้งหลายที่จะไม่ข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้แล้วให้ทำเหตุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่เมื่อก่อน ได้มีสิกขาบท น้อยนักเทียว แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตผลเป็นอันมาก และอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่เดี๋ยวนี้ ได้มีสิกขาบทเป็นอันมาก แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตผลน้อยนัก.
อาสวัฏฐานิยธรรม
[๑๗๒] ดูกรภัททาลิ ข้อนี้เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายกำลังเสื่อม พระสัทธรรม กำลังอันตรธาน สิกขาบทมีอยู่มากมาย แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตผลน้อยนัก. พระศาสดายังไม่ ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ตราบเท่าที่อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้. ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าปรากฏขึ้นในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ เมื่อนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความ เป็นหมู่ใหญ่. ต่อเมื่อใด สงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ เมื่อนั้นอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงจะ ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อ กำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น. อาสวัฏฐานิยมธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าสงฆ์ที่ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ ... ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ ... ยังไม่ถึงความ เป็นพหูสูต ... ยังไม่ถึงความเป็นรัตตัญญู ต่อเมื่อใด สงฆ์เป็นผู้ถึงความเป็นรัตตัญญู เมื่อนั้น อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติ สิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น. [๑๗๓] ดูกรภัททาลิ ณ สมัยที่เราแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วยอาชาไนยหนุ่ม แก่เธอ ทั้งหลาย ณ สมัยนั้น เธอทั้งหลาย ได้มีอยู่น้อย เธอยังระลึกถึงธรรมปริยายนั้นได้อยู่หรือ? ข้าพระองค์ระลึกถึงธรรมปริยายข้อนั้นไม่ได้ พระเจ้าข้า. ดูกรภัททาลิ ในการระลึกไม่ได้นั้น เธออาศัยอะไรเป็นเหตุเล่า? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์นั้นมิได้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของ พระศาสดา เป็นเวลานานเป็นแน่ พระเจ้าข้า. ดูกรภัททาลิ ความเป็นผู้ไม่ทำให้บริสุทธิ์ในสิกขานี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย หามิได้ แต่ เรากำหนดใจด้วยใจ รู้เธอมานานแล้วว่า โมฆบุรุษนี้ เมื่อเราแสดงธรรมอยู่ ไม่ต้องการ ไม่ใส่ใจ ไม่รวบรวมด้วยใจทั้งปวง ไม่เงี่ยโสตลงฟังธรรม แต่เราก็จักแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วย ม้าอาชาไนยหนุ่มแก่เธอ เธอจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ท่านพระภัททาลิทูลรับ พระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ธรรม ๑๐ ประการ
[๑๗๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภัททาลิ เปรียบเหมือนนายสารถีฝึกม้าคนขยัน ได้ม้าอาชาไนยตัวงามมาแล้ว ครั้งแรกทีเดียว ฝึกให้รู้เหตุในการใส่บังเหียน. เมื่อนายสารถีฝึก ให้มันรู้เหตุในการใส่บังเหียน ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการ ยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึกฉะนั้น. มันจะสงบลงได้ในการ พยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ ในการที่ม้าอาชาไนย ตัวงามสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดย ลำดับ. นายสารถีฝึกม้า จึงฝึกให้มันรู้เหตุยิ่งขึ้นไป ในการเทียมแอก เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้ เหตุในการเทียมแอก ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการ ยังมีอยู่ ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึกฉะนั้น. มันจะสงบลงได้ ในการ พยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ ในการที่ม้าอาชาไนย ตัวงามสงบลงได้ ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดย ลำดับ. นายสารถีผู้ฝึกม้าจึงฝึกให้มันรู้เหตุยิ่งขึ้นไป ในการก้าวย่าง ๑- ในการวิ่งเป็นวงกลม ๒- ใน การจรดกีบ ๓- ในการวิ่ง ในประโยชน์ต่อเสียงร้อง ในการฝึกไม่ให้ตื่นตกใจ เพราะเสียงกึกก้อง ต่างๆ ในการเป็นม้ามีคุณที่พระราชาพึงรู้ ในวงศ์พญาม้า ในความว่องไวชั้นเยี่ยม ในการเป็น ม้าชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าควรแก่คำอ่อนหวานชั้นเยี่ยม เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุ ในการ ว่องไวชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าควรแก่คำอ่อนหวานชั้นเยี่ยม ความประพฤติ เป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการ ยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถี ฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึกฉะนั้น. มันย่อมสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้ เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ. ในการที่ม้าอาชาไนยตัวงามสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ สารถีผู้ฝึกม้าย่อมเพิ่มให้ซึ่ง เหตุเป็นที่ตั้งแห่งคุณและเหตุเป็นที่ตั้งแห่งพละยิ่งขึ้นไป. ดูกรภัททาลิ ม้าอาชาไนยตัวงาม ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นพาหนะควรแก่พระราชา เป็นพาหนะสำหรับใช้สอย ของพระราชา นับได้ว่าเป็นองค์ของพระราชาฉันใด ดูกรภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็น ผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญยิ่งกว่า ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกรภัททาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุติ อันเป็นของ พระอเสขะ ดูกรภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรแก่อัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก ไม่มี นาบุญอื่นยิ่งไปกว่าดังนี้. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว. ท่านพระภัททาลิชื่นชมยินดี พระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ ภัททาลิสูตร ที่ ๕.
-----------------------------------------------------
@๑. ในการยกและวางเท้าทั้ง ๔ ครั้งเดียวกัน ๒. ในการสามารถให้คนนั่งบนหลัง เก็บอาวุธที่ตก @ภาคพื้นได้ ๓. ในการประสงค์จะให้เดินเบา ไม่ให้ข้าศึกได้ยินเสียงฝีเท้า.
๖. ลฑุกิโกปมสูตร
เรื่องพระอุทายี
[๑๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในอังคุตตราปชนบท มีนิคมของชาวอังคุตตราปะ ชื่ออาปนะ เป็นโคจรคาม. ครั้งนั้น เวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังอาปนนิคม. ครั้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในอาปนนิคมแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เสด็จเข้าไปยังไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง เพื่อประทับพักกลางวันที่โคนต้นไม้ แห่งหนึ่ง. เวลาเช้าวันนั้น แม้ท่านพระอุทายีก็นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาต ยังอาปนนิคม. ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในอาปนนิคมแล้ว เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังไพรสณฑ์นั้น เพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงไพรสณฑ์นั้นแล้ว นั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้ แห่งหนึ่ง. ครั้งนั้น เมื่อท่านพระอุทายีอยู่ในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ พระผู้มี- *พระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำ กุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ. ลำดับนั้น เวลาเย็น ท่านพระอุทายีออกจาก ที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง. [๑๗๖] ท่านพระอุทายีนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์อยู่ในที่ลับ เร้นอยู่ ได้เกิดความ ดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลาย ออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เรา ทั้งหลายหนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเมื่อก่อน ข้าพระองค์เคยฉันได้ทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาลในกลางวัน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้มีสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือน เธอทั้งหลายจงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาล ในเวลากลางวันนั้นเสียเถิด ดังนี้. ข้าพระองค์นั้นมีความน้อยใจ มีความเสียใจ คฤหบดีทั้งหลายผู้มีศรัทธา จะให้ของควรเคี้ยว ของควรบริโภคอันประณีต ในเวลาวิกาลในกลางวัน แก่เราทั้งหลาย แม้อันใด พระผู้มีพระภาค ตรัสการละอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น เมื่อเห็นกะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัว ในพระผู้มีพระภาค จึงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในกลางวันนั้นเสีย ด้วยประการอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น ย่อมฉันในเวลาเย็น และเวลาเช้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้มีสมัยที่ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือน เธอทั้งหลาย จงละเว้นการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในราตรีนั้นเสียเถิด ดังนี้ ข้าพระองค์นั้น มีความน้อยใจ มีความเสียใจว่า ความที่ภัตทั้งสองนี้ของเราทั้งหลาย เป็นของปรุงประณีตกว่าอันใด พระผู้มี- *พระภาคตรัสการละอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว พระสุคตตรัสการสละคืนอันนั้นของเรา ทั้งหลายเสียแล้ว. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว บุรุษคนใดได้ของสมควรจะแกงมา ในกลางวัน จึงบอกภริยาอย่างนี้ว่า เอาเถิด จงเก็บสิ่งนี้ไว้ เราทั้งหมดเทียว จักบริโภคพร้อมกัน ในเวลาเย็น อะไรๆ ทั้งหมดที่สำหรับจะปรุงกิน ย่อมมีรสในเวลากลางคืน กลางวันมีรสน้อย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น เห็นกะความรัก ความเคารพ ความละอาย และ ความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงพากันละการบริโภคโภชนะในเวลาวิกาลในราตรีนั้นเสีย ด้วยประการอย่างนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุทั้งหลายเที่ยวไปบิณฑบาต ในเวลามืดค่ำ ย่อมเข้าไปในบ่อน้ำครำบ้าง ลงไปในหลุมโสโครกบ้าง บุกเข้าไปยังป่าหนามบ้าง เหยียบขึ้นไปบนแม่โคกำลังหลับบ้าง พบกับโจรผู้ทำโจรกรรมแล้วบ้าง ยังไม่ได้ทำโจรกรรมบ้าง มาตุคามย่อมชักชวนภิกษุเหล่านั้นด้วยอสัทธรรมบ้าง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตในเวลามืดค่ำ หญิงคนหนึ่งล้างภาชนะอยู่ ได้เห็นข้าพระองค์โดย แสงฟ้าแลบ แล้วตกใจกลัว ร้องเสียงดังว่า ความไม่เจริญได้มีแก่เราแล้ว ปีศาจจะมากินเรา หนอ. เมื่อหญิงนั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ข้าพระองค์ได้พูดกะหญิงนั้นว่า ไม่ใช่ปีศาจดอกน้องหญิง เป็นภิกษุยืนเพื่อบิณฑบาต ดังนี้. หญิงนั้นกล่าวว่า บิดาของภิกษุตายเสียแล้ว มารดาของภิกษุ ตายเสียแล้ว ดูกรภิกษุ ท่านเอามีดสำหรับเชือดโคที่คมเชือดท้องเสีย ยังจะดีกว่า การที่ท่าน เที่ยวบิณฑบาตในเวลาค่ำมืดเพราะเหตุแห่งท้องเช่นนั้น ไม่ดีเลย ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงเรื่องนั้นอยู่ มีความคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุ แห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุ แห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมาก ของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เรา ทั้งหลายหนอ.
อุปมาด้วยนกนางมูลไถ
[๑๗๗] ก็อย่างนั้นแลอุทายี โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า จงละโทษสิ่งนี้เสียเถิด เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า ทำไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเพียง เล็กน้อยนี้เล่า พระสมณะนี้ ช่างขัดเกลาหนักไป เขาจึงไม่ละโทษนั้นด้วย ไม่เข้าไปตั้งความยำเกรง ในเราด้วย ดูกรอุทายี อนึ่งโทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขานั้น ย่อมเป็น เครื่องผูกอันมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่. ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนนกนางมูลไถ ถูกผูกไว้ด้วยเครื่องผูกคือเถาวัลย์หัวด้วน ย่อมรอเวลาที่จะฆ่า หรือเวลาที่จะถูกมัดหรือเวลาตาย ในที่นั้นเอง ฉันใด ดูกรอุทายี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เครื่องดักคือเถาวัลย์หัวด้วน สำหรับเขาใช้ดักนกนางมูลไถ ซึ่งมันรอเวลาที่จะถูกฆ่า หรือเวลา ที่จะถูกมัด หรือเวลาตายนั้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่น ดังนี้ ผู้นั้นเมื่อกล่าว ชื่อว่าพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ? ไม่ชอบ พระเจ้าข้า เครื่องดักคือเถาวัลย์หัวด้วน สำหรับเขาใช้ดักนกนางมูลไถ ซึ่งมัน รอเวลาที่จะถูกฆ่า หรือเวลาที่จะถูกมัด หรือเวลาตายในที่นั้นนั่นแล เป็นเครื่องผูกมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ พระเจ้าข้า. ดูกรอุทายี โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น เมื่อเรากล่าวว่าจงละโทษนี้เสียเถิด เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า ทำไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อยนี้เล่า พระสมณะนี้ ช่างขัดเกลาหนักไป เขาจึงไม่ละโทษนั้นด้วย ไม่เข้าไปตั้งความยำเกรงในเราด้วย ดูกรอุทายี อนึ่ง โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขานั้น เป็นเครื่องผูกมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่.
อุปมาด้วยช้างต้น
[๑๗๘] ดูกรอุทายี ส่วนกุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า จงละโทษนี้ เสียเถิด เขากล่าวอย่างนี้ว่า ก็ทำไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเล็กน้อยเพียงที่ควรละนี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสให้เราทั้งหลายละ ซึ่งพระสุคตตรัสให้เราทั้งหลายสละคืนเล่า เขาย่อม ละโทษนั้นด้วย เข้าไปตั้งความยำเกรงในเราด้วย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดผู้ใคร่ในสิกขา ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละโทษนั้นแล้ว มีความขวนขวายน้อย มีขนตก เยียวยาชีวิตด้วยของที่ ผู้อื่นให้ มีใจเป็นดุจมฤคอยู่ โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุเหล่านั้น ย่อมเป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร. ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนช้างต้น มีงาอันงอนงาม เป็น ราชพาหนะอันประเสริฐ เคยเข้าสงคราม ควาญช้างผูกด้วยเชือกเป็นเครื่องผูกอันมั่น พอเอี้ยวกาย ไปหน่อยหนึ่ง ก็ทำเครื่องผูกนั้นให้ขาดหมด ทำลายหมด แล้วหลีกไปได้ตามปรารถนา ฉันใด ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ช้างต้นนั้น มีงาอันงอนงาม เป็นราชพาหนะอันประเสริฐ เคยเข้าสงคราม ควาญช้างผูกด้วยเชือกเป็นเครื่องผูกอันมั่นเหล่าใด พอเอี้ยวกายไปหน่อยหนึ่ง ก็ทำเครื่องผูก เหล่านั้นให้ขาดหมด ทำลายหมด แล้วหลีกไปได้ตามปรารถนา เครื่องผูกที่เขาผูกช้างต้นนั้น เป็นเครื่องผูกมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ ดังนี้ ผู้นั้นเมื่อกล่าว ชื่อว่าพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ? ไม่ชอบ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช้างต้นนั้น มีงาอันงอนงาม เป็นราชพาหนะ อันประเสริฐ เคยเข้าสงคราม เขาผูกด้วยเชือกเป็นเครื่องผูกมั่น พอเอี้ยวกายไปหน่อยหนึ่ง ก็ทำเครื่องผูกเหล่านั้นให้ขาดหมด ทำลายหมด แล้วหลีกไปได้ตามความปรารถนา เครื่องผูก ช้างต้นนั้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร พระเจ้าข้า. ดูกรอุทายี กุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น เมื่อเรากล่าวว่า จงละโทษนี้ เสียเถิด เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า ทำไมจะต้องว่ากล่าวเพราะโทษเพียงเล็กน้อยที่ควรละนี้ ซึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสให้เราทั้งหลายละ ซึ่งพระสุคตตรัสให้เราทั้งหลายสละคืนด้วยเล่า ดังนี้ เขาละโทษนั้นด้วย เข้าไปตั้งความยำเกรงในเราด้วย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดผู้ใคร่ในสิกขา ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละโทษนั้นแล้วเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย มีขนตก เยียวยาชีวิตด้วยของ ที่ผู้อื่นให้ มีใจเป็นดุจมฤคอยู่ ดูกรอุทายี โทษเพียงเล็กน้อยที่ควรละของภิกษุเหล่านั้น เป็น เครื่องผูกไม่มีกำลัง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร.
อุปมาด้วยคนจน
[๑๗๙] ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนบุรุษคนจน ไม่มีอะไรเป็นของตน ไม่ใช่คนมั่งคั่ง เขามีเรือนเล็กๆ หลังหนึ่ง มีเครื่องมุงบังและเครื่องผูกหลุดลุ่ย ต้องคอยไล่กา มีรูปไม่งาม มีแคร่อันหนึ่ง หลุดลุ่ย มีรูปไม่งาม มีข้าวเปลือกและพืชสำหรับหว่านประจำปีหม้อหนึ่ง ไม่ใช่ เป็นพันธุ์อย่างดี มีภรรยาคนหนึ่งไม่สวย เขาเห็นภิกษุผู้อยู่ในอาราม มีมือและเท้าล้างดีแล้ว ฉันโภชนะอันเจริญใจ นั่งอยู่ในที่อันร่มเย็น ประกอบในอธิจิต. เขาพึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ความเป็นสมณะเป็นสุขหนอ ดูกรท่านผู้เจริญ ความเป็นสมณะไม่มีโรคหนอ เราควรจะปลงผมและหนวดแล้วนุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตบ้างหนอ. แต่เขาไม่ อาจละเรือนเล็กหลังหนึ่ง มีเครื่องมุงบังและเครื่องผูกอันหลุดลุ่ย ที่ต้องคอยไล่กา มีรูปไม่งาม มีแคร่อันหนึ่งที่หลุดลุ่ย ไม่งาม ละแคร่อันหนึ่งที่หลุดลุ่ย มีรูปไม่งาม ละข้าวเปลือกและพืช สำหรับหว่านประจำปีหม้อหนึ่ง ไม่ใช่พันธุ์อย่างดี และภรรยาคนหนึ่งไม่สวย แล้วปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตได้. ดูกรอุทายี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนั้นถูกเขาผูกด้วยเครื่องผูกเหล่านั้น ไม่อาจละเรือนเล็กๆ หลังหนึ่ง ซึ่งมีเครื่องมุงบัง และเครื่องผูกหลุดลุ่ย ที่ต้องคอยไล่กา มีรูปไม่งาม ละแคร่อันหนึ่งที่หลุดลุ่ย ไม่งาม ละ ข้าวเปลือกและพืชสำหรับหว่านประจำปีหม้อหนึ่ง ไม่ใช่พันธุ์อย่างดี ละภรรยาคนหนึ่ง ไม่ สวย แล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตได้. ก็เครื่องผูกของเขา นั้นเป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร ดังนี้ ผู้นั้นเมื่อกล่าวชื่อว่า พึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ? ไม่ชอบ พระเจ้าข้า บุรุษนั้นถูกเขาผูกด้วยเครื่องผูกเหล่าใด แล้วไม่อาจละเรือนเล็กๆ หลังหนึ่ง มีเครื่องมุงบังและเครื่องผูกอันหลุดลุ่ย ที่ต้องคอยไล่กา มีรูปไม่งาม ละแคร่ อันหนึ่งอันหลุดลุ่ย ไม่งาม ละข้าวเปลือกและพืชสำหรับหว่านประจำปีหม้อหนึ่ง ไม่ใช่พันธุ์ อย่างดี ละภรรยาคนหนึ่ง ไม่สวย แล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็น บรรพชิตได้ เครื่องผูกของเขานั้นเป็นเครื่องผูกมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือน ท่อนไม้ใหญ่ พระเจ้าข้า. ดูกรอุทายี โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเรากล่าวว่า จงละ โทษนี้เสียเถิด เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า ก็ทำไมจะต้องว่ากล่าว เพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อย นี้ด้วยเล่า พระสมณะนี้ช่างขัดเกลาหนักไป เขาไม่ละโทษนั้นด้วย ไม่เข้าไปตั้งความยำเกรง ในเราด้วย ดูกรอุทายี อนึ่ง โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขานั้น ย่อมเป็น เครื่องผูกมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่.
อุปมาด้วยคนมั่งมี
[๑๘๐] ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มี โภคะมาก สะสมทองหลายร้อยแท่ง สะสมข้าวเปลือก นา ที่ดิน ภรรยา ทาส ทาสี ไว้เป็น อันมาก เขาเห็นภิกษุผู้อยู่ในอาราม มีมือและเท้าล้างดีแล้ว ฉันโภชนะอันเจริญใจ นั่งอยู่ในที่ อันร่มเย็น ประกอบในอธิจิต. เขาพึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ความเป็นสมณะเป็น สุขหนอ ท่านผู้เจริญ ความเป็นสมณะไม่มีโรคหนอ เราควรจะปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้า กาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตบ้างหนอ เขาอาจละทองหลายร้อยแท่ง ละข้าวเปลือก นา ที่ดิน ภรรยา ทาส ทาสี เป็นอันมาก แล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวช เป็นบรรพชิตได้. ดูกรอุทายี ผู้ใดพึงกล่าวว่า เครื่องผูกที่เป็นเครื่องผูกคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ซึ่งเขาอาจละทองหลายร้อยแท่ง ละข้าวเปลือก นา ที่ดิน ภรรยา ทาส ทาสี เป็นอันมาก แล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น เป็นเครื่องผูกมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ ดังนี้ ผู้นั้น เมื่อกล่าวชื่อว่าพึงกล่าวโดยชอบ หรือหนอ? ไม่ชอบ พระเจ้าข้า เครื่องผูกที่เป็นเครื่องผูกคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ซึ่งอาจละทอง หลายร้อยแท่ง ละข้าวเปลือก นา ที่ดิน ภรรยา ทาส ทาสี เป็นอันมาก แล้วปลงผมและ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร พระเจ้าข้า. ดูกรอุทายี กุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเรากล่าวว่า จงละ โทษนี้เสียเถิด เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า ก็ทำไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อย ซึ่งควรละนี้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสให้เราทั้งหลายละ ที่พระสุคตตรัสให้เราทั้งหลายสละคืน ด้วยเล่า กุลบุตรเหล่านั้นย่อมละโทษนั้นด้วย เข้าไปตั้งความยำเกรงในเราด้วย ภิกษุทั้งหลาย เหล่าใดผู้ใคร่ในสิกขา ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละโทษนั้นแล้ว เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย มี ขนตก เยียวยาชีวิตด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจเป็นดุจมฤคอยู่ ดูกรอุทายี โทษเพียงเล็กน้อยของ ภิกษุเหล่านั้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร.
บุคคล ๔ จำพวก
[๑๘๑] ดูกรอุทายี บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน? ดูกร อุทายี บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ แต่ความดำริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ ผู้นั้นยังรับเอา ความดำรินั้นไว้ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความไม่มี เราเรียกบุคคลนี้แลว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ไม่ใช่ผู้อันกิเลสคลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็น ของต่างกันในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว. ดูกรอุทายี บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความ ดำริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ แต่ผู้นั้นไม่รับเอาความดำริเหล่านั้นไว้ ละได้ บรรเทาได้ ทำให้สิ้นสุดได้ ให้ถึงความไม่มีได้ แม้บุคคลผู้นี้ เราก็กล่าวว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ไม่ใช่ผู้อันกิเลสคลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว. ดูกรอุทายี บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความ ดำริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ เพราะความหลงลืมแห่งสติในบางครั้งบางคราว ความดำริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยัง ครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ ความบังเกิดแห่งสติช้าไป ที่จริงเขาละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความดำรินั้นฉับพลัน. ดูกรอุทายี เปรียบเหมือน บุรุษเอาหยาดน้ำสองหยาด หรือสามหยาด หยาดลงในกระทะเหล็กอันร้อนอยู่ตลอดวัน หยาด น้ำตกลงช้าไป ความจริงหยาดน้ำถึงความสิ้นไปแห้งไปนั้นเร็วกว่า ฉันใด ดูกรอุทายี บุคคล บางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้น เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความดำริแล่นไป อัน ประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ เพราะความหลง ลืมแห่งสติในบางครั้งบางคราว ความบังเกิดแห่งสติช้าไป ที่จริงเขาละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความดำรินั้นฉับพลัน ถึงบุคคลนี้เราก็กล่าวว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ มิใช่ ผู้อันกิเลสคลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว. ดูกรอุทายี ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ว่าเบญจขันธ์อันชื่อว่าอุปธิเป็นมูลแห่งทุกข์ ครั้นรู้ ดังนี้แล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปธิ แล้วน้อมจิตไปในนิพพานเป็นที่สิ้นอุปธิ บุคคลนี้เรากล่าวว่า ผู้อัน กิเลสคลายแล้ว มิใช่ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของ ต่างกันในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว. ดูกรอุทายี บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก.
ว่าด้วยกามคุณ ๕
[๑๘๒] ดูกรอุทายี กามคุณห้าเหล่านี้ กามคุณห้าเป็นไฉน คือรูปอันพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ที่สัตว์ปรารถนารักใคร่ชอบใจ เป็นสิ่งที่น่ารัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงอันพึงรู้แจ้งด้วยโสต ... กลิ่นอันพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ ... รสอันพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะอันพึงรู้แจ้งด้วยกาย ... ที่สัตว์ปรารถนารักใคร่ชอบใจ เป็นสิ่งที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. กามคุณห้านี้แล. ดูกรอุทายี ความสุขโสมนัสที่เกิดเพราะอาศัยกามคุณ ห้านี้ เรากล่าวว่ากามสุข ความสุขไม่สะอาด ความสุขของปุถุชน ไม่ใช่สุขของพระอริยะ อันบุคคลไม่ควรเสพ ไม่ควรให้เกิดมี ไม่ควรทำให้มาก ควรกลัวแต่สุขนั้น. [๑๘๓] ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิด แต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุ ตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข บรรลุ จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ฌานทั้งสี่นี้เรากล่าวว่า ความสุขเกิดแต่ความออกจากกาม ความสุข เกิดแต่ความสงัด ความสุขเกิดแต่ความสงบ ความสุขเกิดแต่ความสัมโพธิ อันบุคคลควรเสพ ควรให้เกิดมี ควรทำให้มาก ไม่ควรกลัวแต่สุขนั้น ดังนี้. [๑๘๔] ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. ดูกรอุทายี ปฐมฌานเรากล่าวว่ายัง หวั่นไหว ก็ในปฐมฌานนั้น ยังมีอะไรหวั่นไหว ข้อที่วิตกและวิจารยังไม่ดับในปฐมฌานนี้ เป็น ความหวั่นไหวในปฐมฌานนั้น. ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใส แห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและ สุขเกิดแต่สมาธิอยู่. ดูกรอุทายี แม้ทุติยฌานนี้ เราก็กล่าวว่ายังหวั่นไหว ก็ในทุติยฌานนั้น ยังมีอะไรหวั่นไหว ข้อที่ปีติและสุขยังไม่ดับในทุติยฌานนี้ เป็นความหวั่นไหวในทุติยฌานนั้น. ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะ ปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข. ดูกรอุทายี แม้ตติยฌานนี้ เราก็กล่าวว่ายังหวั่นไหว ก็ในตติยฌานนั้นยังมีอะไร หวั่นไหว ข้อที่อุเบกขาและสุขยังไม่ดับในตติยฌานนี้ เป็นความหวั่นไหวในตติยฌานนั้น. ดูกร อุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และ ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. จตุตถฌานนี้ เรากล่าวว่า ไม่หวั่นไหว.
ว่าด้วยการละรูปฌานและอรูปฌาน
[๑๘๕] ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. ปฐมฌานนี้เรากล่าวว่า ไม่ควรทำความ อาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงปฐมฌานนั้น ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรม เอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้เป็น ธรรมเครื่องก้าวล่วงปฐมฌานนั้น. ดูกรอุทายี แม้ทุติยฌานนี้เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงทุติยฌานนั้น ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงทุติยฌานนั้น. ดูกรอุทายี แม้ตติยฌานนี้เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำความ อาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงตติยฌานนั้น ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และ ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วง ตติยฌานนั้น. ดูกรอุทายี แม้จตุตถฌานนี้เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลาย จงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงจตุตถฌานนั้น ดูกรอุทายี ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วยบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญา ได้โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาอยู่ นี้เป็นธรรม เครื่องก้าวล่วงจตุตถฌานนั้น. ดูกรอุทายี แม้อากาสานัญจายตนฌานนั้น เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำ ความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากาสา- *นัญจายตนฌานนั้น ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้เป็นธรรม เครื่องก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานนั้น. ดูกรอุทายี แม้วิญญาณัญจายตนฌานนี้ เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วง วิญญาณัญจายตนฌานนั้น ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วย บริกรรมว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้เป็นธรรม เครื่องก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานนั้น. แม้อากิญจัญญายตนฌานนั้น เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำ ความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากิญ- *จัญญายตนฌานนั้น ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะ ล่วงอากิญจัญญายตนฌานได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌาน นั้น. แม้เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ดูกร อุทายี ที่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น. เรากล่าว การละกระทั่งเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ด้วยประการฉะนี้แล. ดูกรอุทายี เธอเห็นหรือหนอ ซึ่งสังโยชน์ละเอียดก็ดี หยาบก็ดีนั้น ที่เรามิได้กล่าวถึงการละนั้น? ไม่เห็นเลย พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. ท่านพระอุทายียินดีชื่นชมพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ ลฑุกิโกปมสูตร ที่ ๖.
-----------------------------------------------------
๗. จาตุมสูตร
เรื่องพระอาคันตุกะพูดเสียงดัง
[๑๘๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อามลกีวัน ใกล้บ้านจาตุมา. ก็สมัยนั้น ภิกษุ ประมาณห้าร้อยรูป มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นหัวหน้าไปถึงจาตุมคาม เพื่อเฝ้า พระผู้มีพระภาค. ก็ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตร และจีวร เป็นผู้มีเสียงสูง มีเสียงดัง. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์ มาว่า ดูกรอานนท์ ผู้ที่เสียงสูง เสียงดังนั้น เป็นใคร ราวกะชาวประมงแย่งปลากัน? ท่านพระอานนท์ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณห้าร้อยนั้น มีพระ สารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นหัวหน้า มาถึงจาตุมคาม เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุ ผู้อาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ เป็นผู้มีเสียงสูง มีเสียงดัง. ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงไปเรียกพวกภิกษุมาตามคำของเราว่า พระศาสดาตรัสเรียก ท่านทั้งหลาย. ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่พัก ได้ กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์ แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมีเสียงสูง มีเสียงดัง ราวกะชาวประมงแย่งปลากัน เพราะเหตุอะไรหนอ? พวกภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณห้าร้อยนั้น มีพระสารีบุตร และโมคคัลลานะเป็นหัวหน้า มาถึงจาตุมคามเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุผู้อาคันตุกะเหล่านี้นั้น ปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงมีเสียงสูง เสียงดัง พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพากันไป เราประณามพวกเธอ พวกเธอไม่ควรอยู่ใน สำนักเรา. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เก็บอาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกไปแล้ว. [๑๘๗] ก็สมัยนั้น พวกเจ้าศากยะชาวเมืองจาตุมาประชุมกันอยู่ที่เรือนรับแขก ด้วย กรณียะบางอย่าง. ได้เห็นภิกษุเหล่านั้นมาแต่ไกล ครั้นแล้ว จึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นจนถึง ที่ใกล้ ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูเถิดท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะพากันไปไหนเล่า? ภ. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์ถูกพระผู้มีพระภาคทรงประณามแล้ว. ส. ข้าแต่ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงนั่งอยู่ครู่หนึ่ง แม้ไฉน ข้าพเจ้าทั้งหลายพึงอาจให้พระผู้มีพระภาคทรงเลื่อมใสได้. ภิกษุเหล่านั้นรับคำพวกเจ้าศากยะ ชาวเมืองจาตุมาแล้ว. ลำดับนั้น พวกศากยะชาวเมืองจาตุมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาคจงรับสั่งกะภิกษุสงฆ์เถิด ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาค ทรงอนุเคราะห์ในกาลก่อนเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็น ผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนเมื่อพืชที่ยังอ่อน ไม่ได้น้ำ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไป ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้น ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนเมื่อลูกโคอ่อนไม่เห็นแม่ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไปฉันใด ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาคจงรับสั่ง กะภิกษุสงฆ์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในกาลก่อนเถิด.
พรหมอาราธนาพระพุทธเจ้า
[๑๘๘] ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมทราบพระพุทธดำริแห่งพระทัยของพระผู้มี- *พระภาคด้วยใจของตนแล้ว หายไปในพรหมโลก มาปรากฏตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขนที่เหยียดเข้า ฉะนั้น. ครั้นแล้ว ทำผ้าห่ม เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาค จงรับสั่ง กะภิกษุสงฆ์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในกาลก่อนเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุ สงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุ เหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนพืชที่ยังอ่อนไม่ได้น้ำ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไป ฉันใด ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปร- *ปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนเมื่อลูกโคอ่อนไม่เห็นแม่ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไป ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรง ชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาคจงรับสั่งกะภิกษุสงฆ์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ ในกาลก่อนเถิด. เจ้าศากยะชาวเมืองจาตุมา และท้าวสหัมบดีพรหม ได้สามารถทูลให้พระผู้มี- *พระภาคทรงเลื่อมใส ด้วยคำวิงวอนเปรียบด้วยข้าวกล้าอ่อน และด้วยคำวิงวอนเปรียบด้วย ลูกโคอ่อน ฉะนี้แล.
พระอาคันตุกะเข้าเฝ้า
[๑๘๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ จึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรท่านผู้ มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงถือเอาบาตรและจีวรเถิด พระผู้มีพระภาค อันเจ้าศากยะชาวเมืองจาตุมา และท้าวสหัมบดีพรหมทรงให้เลื่อมใสแล้ว ด้วยคำวิงวอนเปรียบ ด้วยข้าวกล้าอ่อน และด้วยคำวิงวอนเปรียบด้วยลูกโคอ่อน. ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหา- *โมคคัลลานะแล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถือบาตรและจีวร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับท่าน พระสารีบุตรผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกรสารีบุตร เมื่อเราประณามภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของเธอได้มีอย่างไร? ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประณาม ภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของข้าพระองค์ได้มีอย่างนี้ว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคจักทรงมีความขวนขวายน้อย ประกอบตามธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่ แม้เราทั้งหลายก็จักมีความขวนขวายน้อย ประกอบตามธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่ในบัดนี้. ดูกรสารีบุตร เธอจงรอก่อน ดูกรสารีบุตร เธอจงรอก่อน ดูกรสารีบุตร เธออย่าพึงให้จิต เห็นปานนี้เกิดขึ้นอีกเลย. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานะมาว่า ดูกรโมคคัลลานะ เมื่อเราประณามภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของเธอได้มีอย่างไร? ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงประณามภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของข้าพระองค์ได้มีอย่างนี้ว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคจักทรงมีความ ขวนขวายน้อย ประกอบตามธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่ เรา และท่านพระสารีบุตร จักช่วยกันปกครองภิกษุสงฆ์ในบัดนี้. ดีละ โมคคัลลานะ ความจริงเรา หรือสารีบุตรและโมคคัลลานะเท่านั้น พึงปกครอง ภิกษุสงฆ์.
ภัย ๔ อย่าง
[๑๙๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ อย่างนี้ เมื่อบุคคลกำลังลงน้ำ พึงหวังได้ ภัย ๔ อย่างเป็นไฉน คือภัยเพราะคลื่น ภัย เพราะจระเข้ ภัยเพราะน้ำวน ภัยเพราะปลาร้าย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ อย่างนี้แล เมื่อบุคคล กำลังลงน้ำ พึงหวังได้ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ อย่างนี้ก็ฉันนั้น เมื่อบุคคลบางคน ในโลกนี้ ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้ พึงหวังได้ ภัย ๔ อย่างเป็นไฉน คือ ภัยเพราะ คลื่น ภัยเพราะจระเข้ ภัยเพราะน้ำวน ภัยเพราะปลาร้าย. [๑๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภัยเพราะคลื่นเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคน ในโลกนี้ มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ ท่วมทับแล้ว ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏได้ เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ย่อมตักเตือนสั่งสอนกุลบุตรนั้น ผู้บวชแล้วอย่างนั้นว่า ท่านพึงก้าวไปอย่างนี้ ท่านพึงถอยกลับ อย่างนี้ ท่านพึงแลอย่างนี้ ท่านพึงเหลียวอย่างนี้ ท่านพึงคู้เข้าอย่างนี้ ท่านพึงเหยียดออกอย่างนี้ ท่านพึงทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวรอย่างนี้ กุลบุตรนั้นย่อมมีความดำริอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็น คฤหัสถ์ ย่อมตักเตือนบ้าง สั่งสอนบ้าง ซึ่งคนอื่น ก็ภิกษุเหล่านี้ เพียงคราวบุตรคราวหลาน ของเรา ยังมาสำคัญการที่จะพึงตักเตือนพร่ำสอนเรา เขาจึงบอกคืนสิกขาสึกไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้นี้เรากล่าวว่า กลัวแต่ภัยเพราะคลื่น แล้วบอกคืนสิกขาสึกไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า ภัยเพราะคลื่นนี้ เป็นชื่อของความคับใจด้วยสามารถความโกรธ. [๑๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภัยเพราะจระเข้เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคน ในโลกนี้ มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ ท่วมทับแล้ว ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏได้ เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ย่อมตักเตือนสั่งสอนกุลบุตรผู้บวชแล้วอย่างนั้นว่า สิ่งนี้ท่านควรเคี้ยวกิน สิ่งนี้ท่านไม่ควร เคี้ยวกิน สิ่งนี้ท่านควรฉัน สิ่งนี้ท่านไม่ควรฉัน สิ่งนี้ท่านควรลิ้ม สิ่งนี้ท่านไม่ควรลิ้ม สิ่งนี้ ท่านควรดื่ม สิ่งนี้ท่านไม่ควรดื่ม สิ่งเป็นกัปปิยะท่านควรเคี้ยวกิน สิ่งเป็นอกัปปิยะท่านไม่ควร เคี้ยวกิน สิ่งเป็นกัปปิยะท่านควรฉัน สิ่งเป็นอกัปปิยะท่านไม่ควรฉัน สิ่งเป็นกัปปิยะท่านควรลิ้ม สิ่งเป็นอกัปปิยะท่านไม่ควรลิ้ม สิ่งเป็นกัปปิยะท่านควรดื่ม สิ่งเป็นอกัปปิยะท่านไม่ควรดื่ม ท่าน ควรเคี้ยวกินในกาล ท่านไม่ควรเคี้ยวกินในวิกาล ท่านควรฉันในกาล ท่านไม่ควรฉันในวิกาล ท่านควรลิ้มในกาล ท่านไม่ควรลิ้มในวิกาล ท่านควรดื่มในกาล ท่านไม่ควรดื่มในวิกาล ดังนี้ กุลบุตรนั้นย่อมมีความดำริอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ ปรารถนาจะเคี้ยวกินสิ่งใดก็เคี้ยวกิน สิ่งนั้นได้ ไม่ปรารถนาจะเคี้ยวกินสิ่งใด ก็ไม่เคี้ยวกินสิ่งนั้นได้ ปรารถนาจะบริโภคสิ่งใด ก็บริโภคสิ่งนั้นได้ ไม่ปรารถนาจะบริโภคสิ่งใด ก็ไม่บริโภคสิ่งนั้นได้ ปรารถนาจะลิ้มสิ่งใด ก็ลิ้มสิ่งนั้นได้ ไม่ปรารภจะลิ้มสิ่งใด ก็ไม่ลิ้มสิ่งนั้นได้ ปรารถนาจะดื่มสิ่งใด ก็ดื่มสิ่งนั้นได้ ไม่ปรารถนาจะดื่มสิ่งใด ก็ไม่ดื่มสิ่งนั้นได้ จะเคี้ยวกินสิ่งเป็นกัปปิยะก็ได้ จะเคี้ยวกินสิ่งเป็น อกัปปิยะก็ได้ จะบริโภคสิ่งเป็นกัปปิยะก็ได้ จะบริโภคสิ่งเป็นอกัปปิยะก็ได้ จะลิ้มสิ่งเป็น กัปปิยะก็ได้ จะลิ้มสิ่งเป็นอกัปปิยะก็ได้ จะดื่มสิ่งเป็นกัปปิยะก็ได้ จะดื่มสิ่งเป็นอกัปปิยะก็ได้ จะเคี้ยวกินในกาลก็ได้ จะเคี้ยวกินในวิกาลก็ได้ จะบริโภคในกาลก็ได้ จะบริโภคในวิกาลก็ได้ จะลิ้มในกาลก็ได้ จะลิ้มในวิกาลก็ได้ จะดื่มในกาลก็ได้ จะดื่มในวิกาลก็ได้ ก็คฤหบดีทั้งหลาย ผู้มีศรัทธา ย่อมให้ของควรเคี้ยว ของควรบริโภคอันประณีตในวิกาลเวลากลางวัน อันใด แก่เรา ทั้งหลาย ชะรอยภิกษุเหล่านั้นจะทำการห้ามปากในสิ่งนั้นเสีย ดังนี้ เขาจึงบอกคืนสิกขาสึกไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้นี้เรากล่าวว่า กลัวแต่ภัยเพราะจระเข้ บอกคืนสิกขาสึกไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าภัยเพราะจระเข้นี้ เป็นชื่อของความเป็นผู้เห็นแก่ท้อง. [๑๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภัยเพราะน้ำวนเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคน ในโลกนี้ มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ ท่วมทับแล้ว ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏได้ เขาบวชแล้วอย่างนี้ เวลาเช้านุ่งสบงแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่ดำรงสติ ไม่สำรวมอินทรีย์เลย เขาเห็นคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ผู้เอิบอิ่มพร้อมพรั่งบำเรอ อยู่ด้วยกามคุณห้า ในบ้านหรือนิคมนั้น เขามีความคิดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้เอิบอิ่มพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยกามคุณห้า สมบัติก็มีอยู่ในสกุล เราสามารถจะบริโภคสมบัติ และทำบุญได้ ดังนี้ เขาจึงบอกคืนสิกขาสึกไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้นี้เรากล่าวว่า ผู้กลัวต่อภัยเพราะน้ำวน บอกคืนสิกขาสึกไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าภัยเพราะน้ำวนนี้ เป็นชื่อแห่งกามคุณห้า. [๑๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภัยเพราะปลาร้ายเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตร บางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ครอบงำแล้ว เป็นผู้อัน ทุกข์ท่วมทับแล้ว ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏได้ เขาบวชแล้วอย่างนี้ เวลาเช้านุ่งสบงแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่ดำรงสติ ไม่สำรวมอินทรีย์เลย เขาย่อมเห็นมาตุคามผู้นุ่งผ้าไม่ดี หรือห่มผ้าไม่ดีในบ้าน หรือนิคมนั้น เพราะเหตุมาตุคามผู้นุ่งผ้าไม่ดี หรือห่มผ้าไม่ดี ความกำหนัดย่อมตามกำจัดจิต ของกุลบุตรนั้น เขามีจิตอันความกำหนัดตามกำจัดแล้ว จึงบอกคืนสิกขาสึกไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้นี้เรากล่าวว่า กลัวแต่ภัยเพราะปลาร้ายบอกคืนสิกขาสึกไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าภัย เพราะปลาร้ายนี้ เป็นชื่อแห่งมาตุคาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ อย่างนี้แล เมื่อบุคคลบางคน ในโลกนี้ ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้ พึงหวังได้. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล้วแล.
จบ จาตุมสูตร ที่ ๗.
-----------------------------------------------------
๘. นฬกปานสูตร
เรื่องกุลบุตรผู้มีชื่อเสียงบวช
[๑๙๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในป่าไม้ทองกวาว เขตบ้านนฬกปานะ ในโกศล ชนบท. ก็สมัยนั้น กุลบุตรมีชื่อเสียงมากด้วยกัน คือ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระภัททิยะ ท่านพระกิมพิละ ท่านพระภัคคุ ท่านพระโกณฑัญญะ ท่านพระเรวัตตะ ท่านพระอานนท์ และกุลบุตรที่มีชื่อเสียงอื่นๆ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตอุทิศเฉพาะพระผู้มีพระภาค. ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีหมู่ภิกษุแวดล้อมประทับนั่งอยู่ในที่แจ้ง. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภกุลบุตรทั้งหลาย ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตอุทิศเฉพาะเราเหล่านั้น ยังยินดีในพรหมจรรย์อยู่หรือ? ภิกษุ เหล่านั้นได้พากันนิ่งอยู่. แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคก็ทรงปรารภกุลบุตร ทั้งหลาย ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธาออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต อุทิศเฉพาะเราเหล่านั้น ยังยินดีในพรหมจรรย์อยู่หรือ? แม้ครั้งที่สาม ภิกษุ เหล่านั้นก็ได้พากันนิ่งอยู่. [๑๙๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริอย่างนี้ว่า อย่ากระนั้นเลย เราพึงถาม กุลบุตรเหล่านั้นเองเถิด ครั้นแล้วได้ตรัสเรียกท่านพระอนุรุทธ์มาว่า ดูกรอนุรุทธะ ภัททิยะ กิมพิละ ภัคคุ โกณฑัญญะ เรวัตตะ และอานนท์ เธอทั้งหลายยังยินดีในพรหมจรรย์อยู่หรือ? ท่านพระอนุรุทธะเป็นต้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายยังยินดี ในการประพฤติพรหมจรรย์. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ดีละๆ ข้อที่เธอทั้งหลายยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์นี้แล เป็นการสมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา เธอ ทั้งหลายประกอบด้วยปฐมวัย กำลังเจริญเป็นหนุ่มแน่น ผมดำสนิท ควรบริโภคกาม ยังออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ ก็เธอทั้งหลายนั้น มิใช่ผู้ทำความผิดต่อพระราชา มิใช่ผู้ถูกโจรคอย ตามจับ มิใช่ผู้อันหนี้บีบคั้น มิใช่ผู้เดือดร้อนเพราะภัย และมิใช่ผู้ถูกอาชีพบีบคั้นแล้ว เธอ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เธอทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพราะศรัทธาด้วย ความคิดอย่างนี้ว่า เออก็ เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ท่วมทับแล้ว ทำไฉน การทำ ที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏได้ ดังนี้มิใช่หรือ? อย่างนี้ พระเจ้าข้า. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ก็กิจอะไรเล่า ที่กุลบุตรผู้บวชอย่างนี้แล้วพึงทำ ดูกรอนุรุทธะ ทั้งหลาย บุคคลยังไม่เป็นผู้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข หรือสุขอื่น ที่สงบกว่านั้น. แม้อภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ วิจิกิจฉา อุทธัจจกุกกุจจะ อรติ ความเป็น ผู้เกียจคร้าน ย่อมครอบงำจิตของบุคคลนั้นตั้งอยู่ได้ บุคคลนั้นก็หาสงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม บรรลุปีติและสุขหรือสุขอื่นที่สงบกว่านั้นไม่. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย บุคคลใด เป็นผู้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข หรือสุขอื่นที่สงบกว่านั้นได้. แม้อภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ วิจิกิจฉา อุทธัจจกุกกุจจะ อรติ แม้ความเป็นผู้เกียจคร้าน ก็ไม่ครอบงำจิตของบุคคลนั้นตั้งอยู่ได้ บุคคลนั้นก็สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปีติ และสุข หรือสุขอื่นที่สงบกว่านั้นได้.
ว่าด้วยเรื่องอาสวะ
[๑๙๗] ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะว่ากระไรในเราว่า อาสวะเหล่าใด นำมาซึ่งความเศร้าหมอง นำมาซึ่งภพใหม่ เป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งความเกิดความแก่และความตายต่อไป อาสวะเหล่านั้น ตถาคตยังละไม่ได้ เพราะ เหตุนั้น ตถาคตพิจารณาแล้วจึงเสพของบางอย่าง พิจารณาแล้วจึงอดกลั้นของบางอย่าง พิจารณา แล้วจึงเว้นของบางอย่าง พิจารณาแล้วจึงบรรเทาของบางอย่าง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายมิได้ว่าอะไรในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า อาสวะ เหล่าใด อันนำมาซึ่งความเศร้าหมอง นำมาซึ่งภพใหม่ เป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งความเกิด ความแก่ และความตายต่อไป อาสวะเหล่านั้น พระตถาคตยังละไม่ได้ เพราะเหตุนั้น พระตถาคตพิจารณาแล้วจึงเสพของบางอย่าง พิจารณา แล้วจึงอดกลั้นของบางอย่าง พิจารณาแล้วจึงเว้นของบางอย่าง พิจารณาแล้วจึงบรรเทาของ บางอย่าง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้กล่าวในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า อาสวะเหล่าใด นำมาซึ่งความเศร้าหมอง นำมาซึ่งภพใหม่ เป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งความเกิด ความแก่ และความตายต่อไป อาสวะเหล่านั้นพระ- *ตถาคตละได้แล้ว เพราะเหตุนั้น พระตถาคตพิจารณาแล้วจึงเสพของบางอย่าง พิจารณาแล้วจึง อดกลั้นของบางอย่าง พิจารณาแล้วจึงเว้นของบางอย่าง พิจารณาแล้วจึงบรรเทาของบางอย่าง ดังนี้. ดีละๆ อนุรุทธะทั้งหลาย อาสวะเหล่าใดนำมาซึ่งความเศร้าหมอง นำมาซึ่งภพใหม่ เป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งความเกิด ความแก่ และ ความตายต่อไป อาสวะเหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาล ยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย เปรียบเหมือน ต้นตาลยอดด้วน ไม่ควรจะงอกอีกได้ ฉันใด อาสวะทั้งหลายอันนำมาซึ่งความเศร้าหมอง นำมา ซึ่งภพใหม่ เป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งความเกิด ความแก่ และความตายต่อไป ก็ฉันนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจ ตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ตถาคตพิจารณาแล้วจึง เสพของบางอย่าง พิจารณาแล้วจึงอดกลั้นของบางอย่าง พิจารณาแล้วจึงเว้นของบางอย่าง พิจารณาแล้วจึงบรรเทาของบางอย่าง. [๑๙๘] ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ตถาคตเห็นอำนาจ ประโยชน์อะไรอยู่ จึงพยากรณ์สาวกทั้งหลายผู้ทำกาละล่วงลับไปแล้วในภพที่เกิดทั้งหลายว่า สาวกชื่อโน้นเกิดในภพโน้น สาวกชื่อโน้นเกิดในภพโน้น ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นแบบแผน มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งพาอาศัย ดีละ พระเจ้าข้า ขอ เนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาค แล้วจักทรงไว้. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ตถาคตจะพยากรณ์สาวกทั้งหลายผู้ทำกาละล่วงลับไปแล้ว ในภพ ที่เกิดทั้งหลายว่า สาวกชื่อโน้นเกิดในภพโน้น สาวกชื่อโน้นเกิดในภพโน้น ดังนี้ เพื่อให้คน พิศวงก็หามิได้ เพื่อเกลี้ยกล่อมคนก็หามิได้ เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและความสรรเสริญ ก็หามิได้ ด้วยความประสงค์ว่า คนจงรู้จักเราด้วยเหตุนี้ก็หามิได้. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา มีความยินดีมาก มีความปราโมทย์มาก มีอยู่ กุลบุตรเหล่านั้นได้ฟังคำ พยากรณ์นั้นแล้ว จะน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง ข้อนั้นจะมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่กุลบุตรเหล่านั้นสิ้นกาลนาน.
ความอยู่ผาสุกของภิกษุ
[๑๙๙] ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ได้ฟังว่า ภิกษุชื่อนี้ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ดำรงอยู่ในอรหัตตผล. ก็ท่านนั้นเป็นผู้อันภิกษุนั้นได้เห็นเอง หรือได้ยินมาว่า ท่านนั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้น เป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษแล้ว อย่างนี้บ้าง. ภิกษุนั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของภิกษุนั้น จะน้อมจิต เข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมีได้แก่ภิกษุ แม้ด้วยประการฉะนี้แล. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ได้ฟังว่า ภิกษุชื่อ นี้ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นผู้ผุดเกิดขึ้น จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ห้าสิ้นไป ก็ท่านนั้นเป็นผู้อัน ภิกษุนั้นได้เห็นเองหรือได้ยินมาว่า ท่านนั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีธรรม อย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้บ้าง. ภิกษุนั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และ ปัญญา ของภิกษุนั้น จะน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมีได้แก่ภิกษุ แม้ด้วยประการฉะนี้แล. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ได้ฟังว่า ภิกษุชื่อนี้ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นพระ สกทาคามี จักมายังโลกนี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะสังโยชน์สามสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ และโมหะ เบาบาง ก็ท่านนั้นเป็นผู้อันภิกษุนั้นได้เห็นเองหรือได้ยิน มาว่า ท่านนั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้ มีปัญญาอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษแล้ว อย่างนี้บ้าง. ภิกษุนั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของภิกษุนั้น จะน้อมจิต เข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมีได้แก่ภิกษุ แม้ด้วยประการฉะนี้แล. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้ฟังว่า ภิกษุชื่อนี้ทำกาละ แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า เพราะสังโยชน์สามสิ้นไป ถ้าท่านนั้นเป็นผู้อันภิกษุนั้นได้เห็นเอง หรือได้ยินมาว่า ท่านนั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้น เป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้บ้าง ว่าท่านเป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษ อย่างนี้บ้าง. ภิกษุนั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของภิกษุนั้น จะน้อมจิต เข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมีได้แก่ภิกษุ แม้ ด้วยประการฉะนี้แล.
ความอยู่ผาสุกของภิกษุณี
[๒๐๐] ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ภิกษุณีในธรรมวินัยนี้ได้ฟังว่า ภิกษุณีชื่อนี้ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ดำรงอยู่ในอรหัตตผล ก็น้องหญิงนั้นเป็นผู้อันภิกษุณีนั้นได้ เห็นเองหรือได้ยินมาว่า น้องหญิงนั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีธรรม อย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้ บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้บ้าง. ภิกษุณีนั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของภิกษุณีนั้น จะน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกรอนุรุทธะ ทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมีได้แก่ภิกษุณี แม้ด้วยประการฉะนี้แล. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ภิกษุณีในธรรมวินัยนี้ได้ฟังมาว่า ภิกษุณีชื่อนี้ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นผู้ผุดเกิดขึ้น จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัม- *ภาคิยสังโยชน์ห้าสิ้นไป ก็น้องหญิงนั้นเป็นผู้อันภิกษุณีนั้นได้เห็นเองหรือได้ยินมาว่า น้องหญิง นั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มี ปัญญาอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษ แล้วอย่างนี้บ้าง. ภิกษุณีนั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของภิกษุณีนั้น จะน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมี ได้แก่ภิกษุ แม้ด้วยประการฉะนี้แล. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ภิกษุณีในธรรมวินัยนี้ได้ฟังมาว่า ภิกษุณีชื่อนี้ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นพระสกทาคามี จักกลับมายัง โลกนี้เพียงคราวเดียว แล้วทำที่สุดทุกข์ได้เพราะสังโยชน์สามสิ้นไป เพราะราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง ก็น้องหญิงนั้นเป็นผู้อันภิกษุณีนั้นได้เห็นเองหรือได้ยินมาว่า น้องหญิงนั้นเป็นผู้มีศีล อย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้บ้าง. ภิกษุณีนั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของภิกษุณีนั้น จะน้อมจิตเข้าไป เพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมีได้แก่ภิกษุณี แม้ด้วย ประการฉะนี้. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ภิกษุณีในธรรมวินัยนี้ได้ฟังมาว่า ภิกษุณีชื่อนี้ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า เพราะสังโยชน์สามสิ้นไป ก็น้องหญิงนั้นเป็นผู้อันภิกษุณีนั้นได้ เห็นเองหรือได้ยินมาว่า น้องหญิงนั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีธรรมอย่างนี้ บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้บ้างว่า น้องหญิงนั้นเป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้บ้าง. ภิกษุณีนั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของภิกษุณีนั้น จะน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมีได้แก่ภิกษุณี แม้ด้วยประการฉะนี้แล.
ความอยู่ผาสุกของอุบาสก
[๒๐๑] ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย อุบาสกในธรรมวินัยนี้ได้ฟังมาว่า อุบาสกชื่อนี้ทำกาละ แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นผู้ผุดเกิดขึ้น จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับ จากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ห้าสิ้นไป ก็ท่านนั้นเป็นผู้อันอุบาสกนั้นได้ เห็นเองหรือได้ยินมา ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านเป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้ พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้บ้าง. อุบาสกนั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของ อุบาสกนั้น จะน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ความอยู่สำราญ ย่อมมีได้แก่อุบาสก แม้ด้วยประการฉะนี้. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย อุบาสกในธรรมวินัยนี้ได้ฟัง มาว่า อุบาสกชื่อนี้ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นพระสกทาคามี จักกลับมา ยังโลกนี้เพียงคราวเดียว แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะสังโยชน์สามสิ้นไป เพราะราคะ โทสะ และโมหะ เบาบาง ก็ท่านนั้นเป็นผู้อันอุบาสกนั้นได้เห็นเองหรือได้ยินมา ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีศีล อย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็น ผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้บ้าง. อุบาสกนั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะและปัญญาของอุบาสกนั้น จะน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกร อนุรุทธะทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมีได้แก่อุบาสก แม้ด้วยประการฉะนี้แล. ดูกรอนุรุทธะ ทั้งหลาย อุบาสกในธรรมวินัยนี้ได้ฟังมาว่า อุบาสกชื่อนี้ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ ว่า เป็นพระโสดาบันมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า เพราะ สังโยชน์สามสิ้นไป ก็ท่านนั้นเป็นผู้อันอุบาสกนั้นได้เห็นเองหรือได้ยินมาว่า ท่านนั้นเป็นผู้มีศีล อย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้น เป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าท่านนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้บ้าง. อุบาสกนั้นเมื่อระลึกถึง ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของอุบาสกนั้น จะน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น บ้าง. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมีได้แก่อุบาสก แม้ด้วยประการฉะนี้แล.
ความอยู่ผาสุกของอุบาสิกา
[๒๐๒] ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ได้ฟังมาว่า อุบาสิกาชื่อนี้ทำ กาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นผู้ผุดเกิดขึ้น จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่ กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ห้าสิ้นไป ก็น้องหญิงนั้นเป็นผู้อัน อุบาสิกานั้นได้เห็นเองหรือได้ยินมาว่า น้องหญิงนั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็น ผู้มีธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีวิหารธรรม อย่างนี้แล้ว ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้บ้าง. อุบาสกนั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของอุบาสิกานั้น จะน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกร อนุรุทธะทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมีได้แก่อุบาสิกา แม้ด้วยประการฉะนี้แล ดูกรอนุรุทธะ ทั้งหลาย อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ได้ฟังมาว่า อุบาสกชื่อนี้ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรง พยากรณ์ว่า เป็นพระสกทาคามี จักกลับมายังโลกนี้เพียงคราวเดียว แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะ สังโยชน์สามสิ้นไป เพราะราคะ โทสะ และโมหะ เบาบาง ก็น้องหญิงนั้นเป็นผู้อันอุบาสิกา นั้นได้เห็นเองหรือได้ยินมาว่า น้องหญิงนั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีธรรม อย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้ บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้บ้าง. อุบาสิกานั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของอุบาสิกานั้น จะน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกรอนุรุทธะ ทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมีได้แก่อุบาสิกา แม้ด้วยประการฉะนี้แล. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ได้ฟังมาว่า อุบาสิกาชื่อนี้ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า เพราะ สังโยชน์สามสิ้นไป ก็น้องหญิงนั้นเป็นผู้อันอุบาสิกานั้นได้เห็นเองหรือได้ยินมาว่า น้องหญิง นั้นเป็นผู้มีศีลอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีปัญญา อย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้มีวิหารธรรมอย่างนี้บ้าง ว่าน้องหญิงนั้นเป็นผู้พ้นวิเศษแล้ว อย่างนี้บ้าง. อุบาสิกานั้นเมื่อระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของอุบาสิกานั้น จะน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ความอยู่สำราญย่อมมีได้แก่ อุบาสิกา แม้ด้วยประการฉะนี้แล. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ตถาคตย่อมพยากรณ์สาวกทั้งหลาย ผู้ทำกาละไปแล้ว ในภพที่เกิดทั้งหลายว่า สาวกชื่อโน้นเกิดแล้วในภพโน้น สาวกชื่อโน้นเกิด แล้วในภพโน้น ดังนี้ เพื่อให้คนพิศวงก็หามิได้ เพื่อเกลี้ยกล่อมคนก็หามิได้ เพื่ออานิสงส์คือ ลาภสักการะและความสรรเสริญก็หามิได้ ด้วยความประสงค์ว่า คนจงรู้จักเราด้วยเหตุนี้ก็หามิได้. ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย กุลบุตรทั้งหลายผู้มีศรัทธา มีความยินดีมาก มีปราโมทย์มาก มีอยู่ กุลบุตรเหล่านั้นได้ฟังคำพยากรณ์นั้นแล้ว จะน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง ข้อนั้น ย่อมมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่กุลบุตรเหล่านั้นสิ้นกาลนาน. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอนุรุทธะยินดี ชื่นชม พระภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.
จบ นฬกปานสูตร ที่ ๘.
-----------------------------------------------------
๙. โคลิสสานิสูตร
ว่าด้วยอรัญญิกธุดงค์
[๒๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขต พระนครราชคฤห์. ก็สมัยนั้น ภิกษุชื่อโคลิสสานิ เป็นผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ มีมารยาท หยาบคาย มานั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ด้วยกรณียกิจบางอย่าง. [๒๐๔] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรปรารภโคลิสสานิภิกษุ จึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้ มีความเคารพยำเกรง ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อ ไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ไม่เคารพยำเกรง ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จะมีผู้ว่าภิกษุ นั้นได้ว่า ท่านนี้ใดไม่เป็นผู้เคารพยำเกรง ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จะเป็นประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ ดังนี้ เพราะฉะนั้นอันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้มี ความเคารพยำเกรง ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย. [๒๐๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ใน สงฆ์ ควรเป็นผู้ฉลาดในที่นั่งด้วยดีดังนี้ว่า เราจักไม่นั่งเบียดภิกษุผู้เถระ และจักไม่ห้าม อาสนะภิกษุผู้นวกะ. ถ้าภิกษุสมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปในสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่เป็นผู้ฉลาด ในที่นั่ง จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดไม่รู้จักธรรม แม้เพียงอภิสมาจาริกวัตร จะมีประโยชน์ อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุ นั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควร เป็นผู้ฉลาดในที่นั่ง. [๒๐๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเข้าบ้านให้เช้านัก ไม่ควรกลับให้สายนัก. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เข้าบ้านเช้านัก กลับมาสายนัก จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเข้าบ้านเช้านัก กลับมาสายนัก จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่ แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงไม่ควรเข้าบ้านให้เช้านัก ไม่ควรกลับให้สายนัก. [๒๐๗] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรถึงความเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัต ในเวลาหลังภัต. ถ้าภิกษุผู้สมาทาน อรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ถึงความเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัต ในเวลาหลังภัต จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่าการเที่ยวไปในเวลาวิกาล อันท่านผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์นี้ ผู้อยู่เสรีในป่าแต่ผู้เดียว ทำไว้มากแน่ อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ก็จะกล่าวทักท้วงเธอผู้ไปสู่สงฆ์ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงไม่ควรเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัต ในเวลาหลังภัต. [๒๐๘] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ความคะนองกาย คะนองวาจา อันท่าน ผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์นี้ผู้อยู่เสรีในป่าแต่ผู้เดียว ทำไว้มากแน่ อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ก็จะ กล่าวทักท้วงเธอผู้ไปสู่สงฆ์ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงไม่ควรเป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา. [๒๐๙] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์ อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไป สู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น. [๒๑๐] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้ว่าง่าย มีกัลยาณมิตร. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ว่ายาก มีปาปมิตร จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเป็นผู้ว่ายาก มีปาปมิตร จะมีประโยชน์ อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้น ได้ดังนี้ เพราะฉะนั้นภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงควรเป็นผู้ว่าง่าย มีกัลยาณมิตร. [๒๑๑] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ไม่เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดไม่เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย. [๒๑๒] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้รู้ประมาณ ในโภชนะ. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้ใดเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทาน อรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ. [๒๑๓] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้ประกอบ ความเพียรเป็นเครื่องตื่นเนืองๆ. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้ไม่ประกอบความเพียร เป็นเครื่องตื่นเนืองๆ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเป็นผู้ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น เนืองๆ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แต่ท่านผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้ประกอบ ความเพียรเป็นเครื่องตื่นเนืองๆ. [๒๑๔] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้ปรารภ ความเพียร. ถ้าภิกษุสมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้เกียจคร้าน จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ ใดเป็นผู้เกียจคร้าน จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์ อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควร เป็นผู้ปรารภความเพียร. [๒๑๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีสติตั้งมั่น. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มี สติฟั่นเฟือน จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่ แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์จึงควรเป็นผู้มี สติตั้งมั่น. [๒๑๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้ ไม่มีจิตตั้งมั่น จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้มี จิตตั้งมั่น. [๒๑๗] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีปัญญา ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้มีปัญญาทราม จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้มีปัญญาทราม จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้มีปัญญา. [๒๑๘] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียร ในอภิธรรม ในอภิวินัย เพราะคนผู้ถามปัญหา ในอภิธรรมและในอภิวินัย กะภิกษุผู้สมาทาน อรัญญิกธุดงค์มีอยู่. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ถูกถามปัญหา ในอภิธรรม ในอภิวินัยแล้ว จะให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จไม่ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้ถูกถามปัญหา ในอภิธรรม ในอภิวินัยแล้ว ยังความประสงค์ของเขาให้สำเร็จไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรทำความเพียร ในอภิธรรม ในอภิวินัย. [๒๑๙] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรใน วิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติ. เพราะคนผู้ถามในวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติมีอยู่. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ถูกถามปัญหาในวิโมกข์ อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติแล้ว ให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จไม่ได้ จะมีผู้ว่า ภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้ถูกถามปัญหาในวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติแล้ว ยังความประสงค์ของเขาให้สำเร็จไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่ง สมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทาน อรัญญิกธุดงค์ จึงควรทำความเพียรไว้ในวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติ. [๒๒๐] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียร ในอุตตริมนุสสธรรม. เพราะคนผู้ถามปัญหา ในอุตตริมนุสสธรรมกะภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ มีอยู่ ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ถูกถามปัญหาในอุตตริมนุสสธรรมแล้ว ให้ความประสงค์ ของเขาสำเร็จไม่ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้บวชเพื่อประโยชน์แห่งคุณวิเศษอันใด ไม่รู้จักประโยชน์แห่งคุณวิเศษอันนั้นจะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ซึ่ง สมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทาน อรัญญิกธุดงค์จึงควรทำความเพียรในอุตตริมนุสสธรรม. [๒๒๑] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามว่า ดูกรท่านพระสารีบุตรผู้มีอายุ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์เท่านั้นหรือที่ควรสมาทานธรรม เหล่านี้ประพฤติ หรือแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน ก็ควรสมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรโมคคัลลานะ แม้ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ยังควร สมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ จะกล่าวไปไยถึงภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้านเล่า.
จบ โคลิสสานิสูตร ที่ ๙.
-----------------------------------------------------
๑๐. กีฏาคิริสูตร
คุณของการฉันอาหารน้อย
[๒๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในกาสีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราฉันโภชนะ เว้นการ ฉันในราตรีเสียทีเดียว และเมื่อเราฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสีย ย่อมรู้คุณคือความเป็น ผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ แม้ท่านทั้งหลายก็จงมา ฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสียเถิด ก็เมื่อเธอทั้งหลายฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสีย จักรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะฉันอาหารในเวลาวิกาล
[๒๒๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสร็จเที่ยวจาริกไปในกาสีชนบทโดยลำดับ เสด็จ ถึงนิคมของชนชาวกาสีอันชื่อว่า กีฏาคิรี. ได้ยินว่า ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคม ของชนชาวกาสีอันชื่อว่ากีฏาคิรี. ก็โดยสมัยนั้น มีภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะเป็น เจ้าอาวาสอยู่ในกีฏาคิรีนิคม. ครั้งนั้น ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปหาอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุ ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี ย่อมรู้คุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ ดูกรผู้มี อายุทั้งหลาย แม้ท่านทั้งหลายก็จงมาฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสียเถิด เมื่อท่านทั้งหลาย ฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี ก็จักรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้ กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ. เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอัสสชิและภิกษุปุนัพพสุกะ ได้กล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน เมื่อเราเหล่านั้นฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน ก็ย่อม รู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ เราเหล่านั้นจักละคุณที่ตนเห็นเอง แล้ววิ่งไปตามคุณอันอ้างกาลทำไม เราทั้งหลายจักฉันทั้ง เวลาเย็น เวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน. [๒๒๔] เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะให้อัสสชิภิกษุปุนัพพสุกภิกษุยินยอมได้ จึงเข้า ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานโอกาส ข้าพระองค์ ทั้งหลายเข้าไปหาอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรี เมื่อพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรี ย่อมรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ แม้ท่านทั้งหลายก็จงฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสียเถิด ก็เมื่อท่าน ทั้งหลายฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี รู้จักคุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว อัสสชิภิกษุ และปุนัพพสุกภิกษุได้กล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน เมื่อเราทั้งหลายนั้นฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน ย่อมรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และสำราญ เราเหล่านั้นจักละคุณที่ตนเห็นเอง แล้ววิ่งไปตามคุณอันอ้างกาลทำไม เราทั้งหลาย จักฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่สามารถจะให้อัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุยินยอมได้ จึงกราบทูล เนื้อความนี้แด่พระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาว่า ดูกรภิกษุ เธอจงไปเรียกอัสสชิ ภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุตามคำของเราว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย ภิกษุนั้นทูลรับต่อ พระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย. อัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุรับต่อภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มี พระภาคได้ตรัสกับอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ภิกษุเป็นอันมาก เข้าไปหาเธอทั้งสองแล้วกล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี เมื่อพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี ย่อมรู้คุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และสำราญ แม้ท่านทั้งหลาย ก็จงมาฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสียเถิด เมื่อท่านทั้งหลายฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี จักรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญดังนี้ ได้ยินว่าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เธอทั้งสองได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เราทั้งหลายฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน เมื่อเราทั้งหลายนั้น ฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน ย่อมรู้คุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ เราเหล่านั้น จักละคุณที่ตนเห็นเอง แล้ววิ่งไปตามคุณที่อ้างกาลทำไม เราทั้งหลายจักฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน ดังนี้ จริงหรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พระพุทธเจ้าแสดงเวทนา ๓
[๒๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สุข ทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์ มิใช่สุข อกุศลธรรมของบุคคลนั้น ย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้หรือหนอ? ไม่อย่างนั้น พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคล บางคนในโลกนี้เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ส่วน เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรม ย่อมเจริญ เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยทุกข์เวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ส่วนบุคคลในโลกนี้เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยอทุกขมสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรม ย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ส่วนเมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยอทุกขมสุขเวทนาเห็น ปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ มิใช่หรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า. [๒๒๖] ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยสุขเวทนาเห็น ปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ดังนี้ นี่จักเป็นข้อที่เราไม่ได้รู้แล้ว ไม่ได้ เห็นแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เมื่อเราไม่รู้อย่างนี้ จะพึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละสุขเวทนาเห็นปานนี้เสียเถิด ดังนี้ ข้อนี้จักได้สมควรแก่เราแล หรือ? ไม่สมควร พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ดังนี้ นี่เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละสุขเวทนาเห็นปานนี้เสียเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรม ย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ นี่จักเป็นข้อที่เราไม่ได้รู้แล้ว ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ทราบ แล้ว ไม่ได้ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เมื่อเราไม่รู้อย่างนี้จะพึงกล่าวว่า เธอ ทั้งหลายจงเข้าถึงสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด ดังนี้ ข้อนี้จักได้สมควรแก่เราแลหรือ? ไม่สมควร พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลก เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ นี่เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเข้าถึงสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด. [๒๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยทุกขเวทนาเห็น ปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ดังนี้ นี่จักเป็นข้อที่เราไม่ได้รู้แล้ว ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เมื่อเราไม่รู้ อย่างนี้ จะพึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละทุกขเวทนาเห็นปานนี้เสียเถิด ดังนี้ ข้อนี้จักได้สมควร แก่เราแลหรือ? ไม่สมควร พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้ อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ดังนี้ นี่เรารู้แล้วเห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้ แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละทุกขเวทนาเห็นปานนี้ เสียเถิด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ นี่จักเป็นข้อที่เราไม่ได้รู้แล้ว ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เมื่อเราไม่รู้อย่างนี้จะพึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเข้าถึงทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด ข้อนี้จักได้สมควรแก่เราแลหรือ? ไม่สมควร พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ นี่เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเข้าถึงทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด. [๒๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยอทุกขมสุขเวทนา เห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ดังนี้ นี่จักเป็นข้อที่เราไม่ได้รู้แล้ว ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เมื่อเราไม่รู้ อย่างนี้จะพึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละอทุกขมสุขเวทนาเห็นปานนี้เสียเถิด ดังนี้ ข้อนี่จักได้ สมควรแก่เราแลหรือ? ไม่สมควร พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยอทุกขมสุขเวทนา เห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ดังนี้ นี่เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้นเราจึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละอทุกมสุขเวทนา เห็นปานนี้เสียเถิด ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยอทุกข- *มสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ นี่จักเป็นข้อที่เรา ไม่ได้รู้แล้ว ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เมื่อเราไม่รู้อย่างนี้ จะพึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเข้าถึงอทุกมสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด ดังนี้ ข้อนี้จักได้สมควรแก่เราแลหรือ? ไม่สมควร พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยอทุกขมสุขเวทนา เห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ นี่เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้นเราจึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเข้าถึงอทุกขมสุขเวทนา เห็นปานนี้อยู่เถิด. [๒๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาทย่อมมีแก่ ภิกษุทั้งปวง ดังนี้ไม่ อนึ่ง เราหากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ไม่มีแก่ภิกษุทั้งปวง ดังนี้ไม่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษ แล้ว เพราะรู้โดยชอบ เราย่อมกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ไม่มีแก่ภิกษุเห็นปานนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุเหล่านั้นได้ทำกรณียกิจเสร็จแล้วด้วยความไม่ประมาท และภิกษุ เหล่านั้นเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดยังเป็นพระเสขะ ยังไม่ บรรลุถึงความเต็มปรารถนา ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันตขีณาสพ ยังปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษม จากโยคะ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่าอยู่ เราย่อมกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาทย่อมมี แก่ภิกษุเห็นปานนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุเหล่านี้ เช่นนี้ว่า ไฉนท่านเหล่านี้ เมื่อเสพเสนาสนะอันสมควร คบหากัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่กุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดังนี้ จึงกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุเห็นปานนั้น.
บุคคล ๗ จำพวก
[๒๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๗ จำพวกเป็นไฉน คืออุภโตภาควิมุตบุคคล ๑ ปัญญาวิมุตบุคคล ๑ กายสักขีบุคคล ๑ ทิฏฐิปัตตบุคคล ๑ สัทธา วิมุตบุคคล ๑ ธัมมานุสารีบุคคล ๑ สัทธานุสารีบุคคล ๑. [๒๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุภโตภาควิมุตบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล บางคนในโลกนี้ ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมาบัติล่วงรูปสมบัติ ด้วยกายอยู่ และ อาสวะทั้งหลายของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา บุคคลนี้เรากล่าวว่า อุภโตภาค วิมุตบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมไม่มีแก่ ภิกษุนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ภิกษุนั้นทำเสร็จแล้ว และ ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะประมาท. [๒๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปัญญาวิมุตบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล บางคนในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมบัติล่วงรูปสมบัติด้วยกายอยู่ แต่ อาสวะทั้งหลายของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้ เรากล่าวว่าปัญญาวิมุตบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมไม่มีแก่ภิกษุแม้นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ภิกษุนั้น ทำเสร็จแล้ว และภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะประมาท. [๒๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กายสักขีบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคน ในโลกนี้ ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมบัติล่วงรูปสมาบัติด้วยกายอยู่ และอาสวะ บางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา บุคคลนี้เรากล่าวว่ากายสักขีบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ไฉน ท่านผู้นี้ เมื่อเสพเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำซึ่งที่สุด พรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่าที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการ ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองได้ในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ดังนี้ เราจึงกล่าวว่า กิจที่ ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้ [๒๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิปัตตบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคน ในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมาบัติล่วงรูปสมบัติด้วยกายอยู่ แต่อาสวะ บางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา อนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่ตถาคต ประกาศแล้ว เป็นธรรมอันผู้นั้นเห็นแจ้งด้วยปัญญาประพฤติดีแล้ว บุคคลนี้เรากล่าวว่า ทิฏฐิปัตต- *บุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุแม้นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ไฉนท่านผู้นี้ เสพเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มี ธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ ดังนี้ เราจึงกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความ ไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้ [๒๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัทธาวิมุตบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล บางคนในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมบัติล่วงรูปสมาบัติด้วยกายอยู่ แต่ อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา อนึ่ง ความเชื่อในพระตถาคต ของผู้นั้นตั้งมั่นแล้ว มีรากหยั่งลงมั่นแล้ว บุคคลนี้เรากล่าวว่าสัทธาวิมุตบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่ากิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุแม้นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรา เห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ไฉนท่านผู้นี้เสพเสนาสนะอันสมควร คบหา- *กัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ ดังนี้จึงกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๖๖๐-๔๑๖๕ หน้าที่ ๓๐-๑๘๐. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=660&Z=4165&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=13&item=36&items=724              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=13&item=36&items=724&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=13&item=36&items=724              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=13&item=36&items=724              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=36              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_13

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :