ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
โกสลสังยุตต์
ปฐมวรรคที่ ๑
ทหรสูตรที่ ๑
[๓๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงได้ทรงปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๓๒๓] พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า แม้พระโคดมผู้เจริญย่อมทรงปฏิญาณบ้างหรือไม่ว่า เราได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมหาบพิตร ก็พระองค์เมื่อจะตรัสโดย ชอบก็พึงตรัสถึงอาตมภาพว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอด เยี่ยม ดูกรมหาบพิตร เพราะว่าอาตมภาพได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯ [๓๒๔] พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ แม้สมณพราหมณ์บางพวก เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มี ชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือ ปูรณะกัสสป มักขลิโคศาล นิครนถ์ นาฏบุตร สัญชัย เวลัฏฐบุตร ปกุธะ กัจจายนะ อชิต เกสกัมพล ฯ สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น เมื่อถูกหม่อมฉันถามว่า ท่านทั้งหลายย่อม ปฏิญาณได้หรือว่า เราได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณดังนี้ ก็ยังไม่ปฏิญาณ ตนได้ว่า ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนพระโคดมผู้เจริญยังทรง เป็นหนุ่มโดยกำเนิดและยังทรงเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา ไฉนจึงปฏิญาณได้เล่า ฯ [๓๒๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมหาบพิตร ของ ๔ อย่าง เหล่านี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย ๔ อย่างเป็นไฉน ของ ๔ อย่างคือ ๑. กษัตริย์ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์ ๒. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก ๓. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย ๔. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังหนุ่ม ดูกรมหาบพิตร ของ ๔ อย่างเหล่านี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย ฯ [๓๒๖] พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้ จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า นรชนไม่พึงดูถูกดูหมิ่น กษัตริย์ผู้ถึงพร้อมด้วยพระชาติ มี พระชาติสูง ผู้ทรงพระยศว่ายังทรงพระเยาว์ เพราะเหตุว่า พระองค์เป็นมนุษย์ชั้นสูง ได้เสวยราชสมบัติแล้ว ทรงพระ- พิโรธขึ้น ย่อมทรงลงพระราชอาชญาอย่างหนักแก่เขาได้ ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการสบประมาทกษัตริย์ นั้นเสีย ฯ นรชนเห็นงูที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม ไม่พึงดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก (เพราะเหตุว่า) งูเป็นสัตว์มีพิษ (เดช) ย่อมเที่ยวไปด้วย รูปร่างต่างๆ งูนั้นพึงมากัด ชายหญิงผู้พลั้งเผลอในบางคราว ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการสบประมาทงู นั้นเสีย ฯ นรชนไม่พึงดูถูกดูหมิ่นไฟที่กินเชื้อมาก ลุกเป็นเปลว มี ทางดำ (ที่ๆ ไฟไหม้ไปดำ) ว่าเล็กน้อย เพราะว่าไฟนั้นได้ เชื้อแล้วก็เป็นกองไฟใหญ่ พึงลามไหม้ชายหญิงผู้พลั้งเผลอ ในบางคราว ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการ สบประมาทไฟนั้นเสีย ฯ (แต่ว่า) ป่าใดที่ถูกไฟไหม้จนดำไปแล้ว เมื่อวันคืนล่วงไปๆ พรรณหญ้าหรือต้นไม้ยังงอกขึ้นที่ป่านั้นได้ ส่วนผู้ใดถูกภิกษุ ผู้มีศีลแผดเผา ๑- ด้วยเดช บุตรธิดาและปศุสัตว์ของผู้นั้นย่อม พินาศ ทายาทของเขาก็ย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก เขาเป็นผู้ ไม่มีเผ่าพันธุ์ ย่อมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน ฯ ฉะนั้นแลบุคคลผู้เป็นบัณฑิต พิจารณาเห็นงู ไฟ กษัตริย์ผู้ ทรงยศ และภิกษุผู้มีศีล ว่าเป็นภัยแก่ตน พึงประพฤติต่อ โดยชอบทีเดียว ฯ [๓๒๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสจบลงแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง นัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มี จักษุจะได้เห็นรูป ฉันใด พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งเป็นที่ระลึก ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำ ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณคมน์จนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๒๑๕๓-๒๒๑๗ หน้าที่ ๙๗-๙๙. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=2153&Z=2217&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=15&item=322&items=6              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=15&item=322&items=6&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=15&item=322&items=6              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=15&item=322&items=6              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=322              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_15

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :