ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๒๕
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์-จริยาปิฎก
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อปทาน
ภัททาลิวรรคที่ ๔๒
ภัททาลิเถราปทานที่ ๑
ว่าด้วยผลแห่งการสร้างมณฑป
[๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สุเมธะ ผู้เลิศ ประกอบด้วย พระกรุณา เป็นมุนี ปรารถนาความวิเวก เลิศกว่าโลก ได้เสด็จเข้า ไปยังป่าหิมพานต์ ครั้นแล้ว พระสุเมธสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้นำโลก ประเสริฐกว่าบุรุษ ได้ประทับนั่งขัดสมาธิ พระพุทธเจ้าผู้นำโลก พระนามว่าสุเมธะผู้สูงสุดกว่าบุรุษ พระองค์ประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ ๗ คืน ๗ วัน เราถือหาบเข้าไปกลางป่า ณ ที่นั้นเราได้เห็นพระสัมมา สัมพุทธเจ้าผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ครั้งนั้น เราจับไม้กวาด กวาดอาศรม ปักไม้สี่อันทำเป็นมณฑป เราเอาดอกรังมามุงมณฑป เราเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส โสมนัส ได้ถวายบังคมพระผู้นำโลกแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ที่ชนทั้งหลายกล่าวกันว่า มีปัญญาดังแผ่นดิน มีพระปัญญาดี ประทับนั่ง ณ ท่ามกลาง พระภิกษุสงฆ์ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ เทวดาทั้งปวงทราบว่า พระพุทธเจ้าจะเปล่งวาจา จึงพากันมาประชุมด้วยคิดว่า พระพุทธ เจ้าผู้ประเสริฐสุด มีพระจักษุ จะทรงแสดงพระธรรมเทศนา โดยไม่ต้องสงสัย พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ผู้สมควรรับ เครื่องบูชา ประทับนั่งในหมู่เทวดา ได้ตรัสพระคาถาดังต่อไปนี้ ผู้ใดทรงมณฑป มีดอกรังเป็นเครื่องมุงแก่เราตลอด ๗ วัน เราพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ผู้นั้นเกิดเป็นเทวดา หรือมนุษย์ จักเป็นผู้มีผิวพรรณเหมือนทองคำจักมีโภคทรัพย์ ล้นเหลือบริโภคกาม ช้างมาตังคะ ๖ หมื่นเชือกประดับด้วยเครื่อง อาภรณ์ทุกชนิด รัดประคน และพานหน้าพานหลังล้วนทองกอปร ด้วยเครื่องประดับศีรษะและข่ายทอง มีนายหัตถาจารย์ผู้มีมือถือหอก ซัดและขอ ขึ้นขี่ประจำ จักมาสู่ที่บำรุงผู้นั้นทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ผู้นี้จักเป็นผู้อันช้างเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว รื่นรมย์อยู่ สินธพอาชาไนย โดยกำเนิด ๖ หมื่นม้า ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่างเป็น พาหนะว่องไว มีอัสวาจารย์ผู้สวมเกราะถือธนู ขึ้นขี่ประจำ จัก แวดล้อมอยู่เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา รถ ๖ หมื่นคัน ประดับด้วยสรรพาลังการ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองบ้าง ด้วยหนังเสือ โคร่งบ้าง มีธงปักหน้ารถ มีคนขับถือธนูสวมเกราะขึ้นประจำ จัก แวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา บ้าน ๖ หมื่นบริบูรณ์ ด้วยเครื่องใช้ทุกสิ่ง มีทรัพย์และข้าวเปลือกล้นเหลือ บริบูรณ์ดีทุก ประการ จักมีปรากฏอยู่ทุกเมื่อ นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เสนาสี่เหล่า คือ กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ จักแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็น นิตย์ นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัปที่ ๑,๘๐๐ ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ ในเทวโลก จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ครั้ง และจักรเสวย ราชสมบัติในเทวโลก ๓๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอัน ไพบูลย์โดยคณนานับไม่ถ้วน ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ พระศาสดามีพระ นามว่า โคดม ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกากราชจักเสด็จอุบัติ ขึ้นในโลก ข้าพระองค์เป็นทายาทในธรรมของพระองค์ท่าน เป็น โอรสอันธรรมนิรมิตแล้ว กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มี อาสวะอยู่ ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (แต่กัปนี้) ข้าพระองค์ได้เห็นพระศาสดา ผู้นำโลก ในระหว่างนี้ ข้าพระองค์ได้แสวงหาอมตบท การที่ข้าพระ องค์รู้ศาสนธรรมนี้ เป็นลาภของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ดีแล้ว วิชชา ๓ ข้าพระองค์บรรลุแล้วโดยลำดับ พระพุทธศาสนา ข้าพระ- องค์ทำเสร็จแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ข้าพระองค์ขอ นอบน้อมแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่าบุรุษ ข้าพระองค์ ได้บรรลุอมตบท เพราะกล่าวสดุดีพระพุทธญาณ ข้าพระองค์เข้า ในถิ่นกำเนิดใดๆ คือ จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ย่อมเป็นผู้มีความสุข ในที่ทุกสถาน นี้เป็นผลในการที่ข้าพระองค์กล่าวสดุดีพระพุทธญาณ นี้เป็นการเกิดครั้งหลังของข้าพระองค์ ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่ ข้าพระองค์ตัดกิเลสเครื่องผูก ดังช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มี อาสวะอยู่ ข้าพระองค์เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมด แล้ว ตัดกิเลสเครื่องผูก ดังช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การที่ข้าพระองค์ได้มาในสำนักพระพุทธเจ้าของข้าพระองค์นี้ เป็น การมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ ข้าพระองค์บรรลุแล้วโดยลำดับ พระ- พุทธศาสนา ข้าพระองค์ได้ทำเสร็จแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพระองค์ได้ทำให้แจ้ง แล้ว พระพุทธศาสนาข้าพระองค์ได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระภัททาลิเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ ภัททาลิเถราปทาน.
เอกฉัตติยเถราปทานที่ ๒
ว่าด้วยผลแห่งการกางเศวตฉัตรถวายพระพุทธเจ้า
[๒] ข้าพระองค์ได้สร้างอาศรมซึ่งมีทรายสีขาวสะอาดเกลื่อนกล่นใกล้แม่ น้ำจันทภาคา และได้สร้างบรรณศาลาไว้ แม่น้ำจันทภาคานั้น เป็นแม่น้ำที่มีฝั่งลาด มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ สมบูรณ์ด้วยปลา และเต่า อันจระเข้เสพอาศัย หมี นกยูง เสือเหลือง นกการะเวก และนกสาลิกา ร่ำร้องอยู่ทุกเวลา ช่วยทำอาศรมของข้าพระองค์ให้ งดงาม นกดุเหว่าเสียงหวาน และหงส์มีเสียงเสนาะ ร้องอยู่ใกล้ อาศรมนั้น ช่วยทำอาศรมของข้าพระองค์ให้งดงาม ราชสีห์ เสือ โคร่ง หมู นกยาง หมาป่า และหมาไน บันลือเสียงอยู่ที่ช่องเขา ช่วยทำอาศรมของข้าพระองค์ให้งดงาม เนื้อทราย กวาง หมาจิ้งจอก สุกร มีมาก บันลือเสียงอยู่ที่ช่องเขา ช่วยทำอาศรมของข้าพระองค์ ให้งดงาม ต้นราชพฤกษ์ ต้นจำปา ไม้แคฝอย ไม้ยางทราย ไม้ อุโลก และต้นอโศก ช่วยทำอาศรมของข้าพระองค์ให้งดงาม ต้นปรู ต้นคัทเค้า ต้นตีนเป็ด เถาตำลึง ต้นคนทีสอ ไม้กรรณิการ์ ออกดอกอยู่ใกล้อาศรมของข้าพระองค์ ไม้กากะทิง ต้นรัง และ ต้นสน บัวขาว ดอกบานสะพรั่ง ใกล้อาศรมนั้น กลิ่นหอมฟุ้ง ไป ช่วยทำอาศรมของข้าพระองค์ให้งดงาม และที่ใกล้อาศรมนั้นมี ไม้โพธิไม้ประดู่ ไม้สะท้อน ต้นรัง และไม้ประยงค์ ดอกบานสะพรั่ง ช่วยทำอาศรมของข้าพระองค์ให้งดงาม ต้นมะม่วง ต้นหว้า ต้น หมากหอมควาย ต้นกระทุ่ม ต้นรังที่งดงาม มีกลิ่นหอมฟุ้งขจรไป ย่อมทำอาศรมของข้าพระองค์ให้งดงาม ต้นอโศก ไม้มะขวิด และ ต้นภคินีมาลา ดอกบานสะพรั่ง มีกลิ่นหอมฟุ้งขจรไป ย่อมทำ อาศรมของข้าพระองค์ให้งดงาม ต้นกระทุ่ม ต้นกล้วย ถั่วฤาษี และต้นมะกล่ำดำ มีผลอยู่เป็นนิตย์ ช่วยทำอาศรมของข้าพระองค์ ให้งดงาม ต้นสมอไทย มะขามป้อม มะม่วง หว้า สมอพิเภก กระเบา ไม้รกฟ้า มะตูม ผลิผลอยู่ใกล้ๆ อาศรมของข้าพระองค์ ในที่ไม่ไกลอาศรม มีสระโบกขรณี มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ ดารดาษไปด้วยบัวขม กอปทุมและกออุบล กอปทุมกอหนึ่ง กำลังดอกตูม กออื่นๆ มีดอกบาน บ้างก็มีใบและกลีบหลุดลง บานอยู่ใกล้อาศรมของข้าพระองค์ ปลาสลาด ปลากระบอก ปลา สวาย ปลาเค้าและปลาตะเพียน ว่ายอยู่ในน้ำใส ช่วยทำอาศรม ของข้าพระองค์ให้งดงาม มะม่วงหอมที่น่าดู กับต้นเกดที่ขึ้นอยู่ริมฝั่ง มีกลิ่นหอมฟุ้งขจรไป ช่วยทำอาศรมของข้าพระองค์ให้งดงาม น้ำ หวานที่ไหลออกจากเหง้า รสหวานปานดังน้ำผึ้ง นมสดและเนยใส มีกลิ่นหอมฟุ้งขจรไป ย่อมทำอาศรมของข้าพระองค์ให้งดงาม ใกล้ อาศรมนั้น มีกองทรายที่สวยงาม อันน้ำเสพแล้วเกลื่อนไป ดอกไม้ หล่นไป ดอกไม้บาน สีขาวๆ ช่วยทำอาศรมของข้าพระองค์ให้ งดงาม ฤาษีทั้งหลายสวมชฎามีหาบเต็ม นุ่งหนังสัตว์ทั้งเล็บ ทรงผ้า เปลือกไม้กรอง ย่อมยังอาศรมของข้าพระองค์ให้งดงาม ฤาษีทั้งหลาย ทอดตาดูประมาณชั่วแอก มีปัญญา มีความประพฤติสงบ ไม่ยินดี ในความกำหนัดในกาม อยู่ในอาศรมของข้าพระองค์ ฤาษีทั้งหลาย ผู้มีขนรักแร้และเล็บงอกยาว ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ ทรงธุลี ละอองและของเปรอะเปื้อน ล้วนอยู่ในอาศรมของข้าพระองค์ ฤาษี เหล่านั้นถึงที่สุดแห่งอภิญญา เหาะเหินเดินอากาศได้ เมื่อเหาะขึ้น สู่ท้องฟ้า ย่อมทำให้อาศรมของข้าพระองค์งดงาม ครั้งนั้น ข้า พระองค์อันศิษย์เหล่านั้นแวดล้อมอยู่ในป่า เป็นผู้เพียบพร้อมด้วย ความยินดีในฌาน ไม่รู้กลางวันกลางคืน ก็สมัยนั้นพระผู้มีพระภาค มหามุนี พระนามว่าอัตถทัสสี เป็นนายกของโลก เสด็จอุบัติขึ้น ยังความมืดให้พินาศไป ครั้งนั้นศิษย์คนหนึ่งได้มายังสำนักของข้า พระองค์ เขาประสงค์จะเรียนลักษณะชื่อว่าฉฬังคะ ในคัมภีพระเวท พระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้เป็นมหามุนี ทรงอุบัติขึ้นใน โลก เมื่อทรงประกาศสัจจะ ๔ ทรงแสดงอมตบท ข้าพระองค์เป็น ผู้ยินดี ร่าเริงบันเทิงจิต มีหมวดธรรมอย่างอื่นเป็นที่มานอน ออก จากอาศรมแล้ว พูดดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าผู้มีลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก มาเถอะท่านทั้งหลาย เรา ทุกคนจักไปยังสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศิษย์เหล่านั้นผู้ ปฏิบัติตามคำสั่งสอนถึงที่สุดในสัทธรรม แสวงหาประโยชน์อย่าง เยี่ยมได้รับปากว่า ดีแล้ว ในกาลนั้น พวกเขาผู้สวมชฎามีหาบ เต็ม นุ่งหนังสัตว์พร้อมทั้งเล็บ เสาะหาประโยชน์อย่างเยี่ยม ได้ ออกจากป่าไป สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคผู้มีพระยศใหญ่พระนามว่า อัตถทัสสี เมื่อทรงประกาศสัจจะ ๔ ได้ทรงแสดงอมตบท ข้า พระองค์ถือเศวตฉัตรกั้นถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์ ครั้นกั้นถวายวันหนึ่งแล้ว ได้ถวายบังคมพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ก็พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี เชษฐของโลก ประเสริฐกว่า นรชนประทับนั่งในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์แล้ว ได้ตรัสพระคาถา เหล่านี้ว่า ผู้ใดมีจิตเลื่อมใส ได้กั้นเศวตฉัตรให้เราด้วยมือทั้งสอง ของตน เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเมื่อผู้นี้ เกิดในเทวดาหรือมนุษย์ ชนทั้งหลายจักคอยกั้นเศวตฉัตรให้ทุกเมื่อ นี้เป็นผลแห่งการกั้นฉัตรถวาย ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ๗๗ กัป จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๑,๐๐๐ ครั้ง จักเสวยราชสมบัติ ในเทวโลก ๗๗ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดย คณนานับไม่ถ้วน ในกัปที่ ๑,๘๐๐ พระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม ศากยบุตร จักเสด็จอุบัติ กำจัดความมืดมนอนธการให้พินาศ เขาจัก เป็นทายาทในธรรมของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรม นิรมิตแล้ว จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะปริ- นิพพานในระหว่างกาล นับตั้งแต่ข้าพระองค์ได้ทำกรรม คือ ได้ กั้นเศวตฉัตรถวายแด่พระพุทธเจ้ามา ข้าพระองค์ไม่รู้จักเศวตฉัตร ที่ไม่ถูกกั้น ชาตินี้เป็นชาติหลังสุดของข้าพระองค์ ภพสุดท้ายกำลัง เป็นไปอยู่ ทุกวันนี้ เหนือศีรษะของข้าพระองค์ได้มีการกั้นเศวตฉัตร ซึ่งเป็นไปตลอดกาลเป็นนิตย์ โอข้าพระองค์ได้ทำกรรมไว้ดีแล้ว แด่พระพุทธเจ้าพระนามว่า อัตถทัสสี ผู้คงที่ ข้าพระองค์เป็น ผู้สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว บัดนี้ ภพใหม่มิได้มี ข้าพระองค์เผากิเลส ทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมดแล้ว ตัดกิเลสเครื่องผูก ดัง ช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การที่ข้าพระองค์ได้มาใน สำนักพระพุทธเจ้าของข้าพระองค์นี้ เป็นการมาดีแล้ว วิชชา ๓ ข้าพระองค์บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสอนของพระพุทธเจ้าข้าพระองค์ ได้ทำเสร็จแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพระองค์ทำให้เสร็จแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพระองค์ได้กระทำแจ้งแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระเอกฉัตติยเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ เอกฉัตติยเถราปทาน


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ บรรทัดที่ ๑-๑๖๐ หน้าที่ ๑-๗. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=1&Z=160&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=33&item=1&items=2              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=33&item=1&items=2&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=33&item=1&items=2              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=33&item=1&items=2              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_33

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :