ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๔. ปารายนานุคีติคาถา

๔. ปารายนานุคีติคาถา๑-
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[๑๕๖] (พระปิงคิยเถระกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชน ดังนี้) อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน มีพระปัญญาดุจภูริ ปราศจากกาม ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น จะพึงกล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า (๑) [๑๕๗] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า) อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำ ที่ประกอบด้วยการสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้ (๒) [๑๕๘] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า) ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว (๓) @เชิงอรรถ : @ ดูคำอธิบายในหน้า ๓๔๖-๓๙๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๔. ปารายนานุคีติคาถา

[๑๕๙] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า) ทิชะ(นก)พึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่ ที่มีผลไม้มากฉันใด อาตมภาพก็ฉันนั้น ละคณาจารย์ผู้มีทรรศนะแคบ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ (๔) [๑๖๐] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า) ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่อาตมภาพว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่างๆ (๕) [๑๖๑] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า) พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ ประทับนั่งทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ (๖) [๑๖๒] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า) ธรรมใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ (๗) [๑๖๓] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า) ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงอยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่ (๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๔. ปารายนานุคีติคาถา

[๑๖๔] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า) ธรรมใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน (๙) [๑๖๕] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า) ท่านพราหมณ์ อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจาก พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่ (๑๐) [๑๖๖] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า) ธรรมใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ (๑๑) [๑๖๗] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า) ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาท ทั้งกลางคืนและกลางวัน ย่อมเห็นพระโคดมพุทธเจ้า พระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยตา อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น (๑๒) [๑๖๘] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า) ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริเสด็จไปสู่ทิศใดๆ อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้นๆ นั่นแล (๑๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๔. ปารายนานุคีติคาถา

[๑๖๙] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า) อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่ ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ไม่ได้ แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิจ โดยการไปด้วยความดำริ ท่านพราหมณ์ เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่ ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้น (๑๔) [๑๗๐] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า) อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ (๑๕) [๑๗๑] (พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสว่า) วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม เป็นผู้มีศรัทธาอันน้อมไปแล้ว ฉันใด แม้เธอก็จงเปิดเผยศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช (๑๖) [๑๗๒] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า) ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้ว เลื่อมใสอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต ทรงมีปฏิภาณ (๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๔. ปารายนานุคีติคาถา

[๑๗๓] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า) พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ ทรงรู้ธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัย ให้กลับรู้ได้ (๑๘) [๑๗๔] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า) สภาวะใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้ ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล (๑๙)
ปารายนานุคีติคาถา จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๔๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๐ หน้าที่ ๓๘-๔๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=30&siri=19              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=2377              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=2377                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu30



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :