บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๔ ๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๑ เรื่องพระฉัพพัคคีย์ [๔๗๐] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ณ สถานอันไม่ห่างจากพระนครสาวัตถีนั้น มีประชาชน หมู่หนึ่งได้จัดตั้งอาหารไว้ในโรงทาน. พระฉัพพัคคีย์ครองผ้าเรียบร้อยแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไป บิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี, เมื่อไม่ได้อาหาร ได้พากันไปสู่โรงทาน. ประชาชนตั้งใจอังคาสด้วย ดีใจว่า แม้ต่อนานๆ ท่านจึงได้มา. ครั้นวันที่ ๒ และวันที่ ๓ เวลาเช้า พระฉัพพัคคีย์ครอง อันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี, เมื่อไม่ได้อาหาร ได้พากัน ไปฉันในโรงทาน. ครั้นแล้วได้ปรึกษากันว่า พวกเราจักพากันไปสู่อารามทำอะไรกัน แม้พรุ่งนี้ ก็จักต้องมาที่นี่อีก จึงพากันอยู่ในโรงทานนั้นแหละ, ฉันอาหารในโรงทานเป็นประจำ. พวก เดียรถีย์พากันหลีกไป. ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย พระศากยบุตร จึงได้อยู่ฉันอาหารในโรงทานเป็นประจำ อาหารในโรงทานเขามิได้จัดไว้เฉพาะ ท่านเหล่านี้, เขาจัดไว้เพื่อคนทั่วๆ ไป. ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนเหล่านั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่เป็นผู้มัก- *น้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้อยู่ฉันอาหารในโรงทาน เป็นประจำเล่า ... .ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าพวกเธออยู่ฉัน- *อาหารในโรงทานเป็นประจำ จริงหรือ? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้อยู่ ฉันอาหารในโรงทานเป็นประจำเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... . ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๘๐.๑. ก. ภิกษุพึงฉันอาหารในโรงทานได้ครั้งหนึ่ง ถ้าฉันยิ่งกว่านั้น เป็น ปาจิตตีย์. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ. เรื่องพระสารีบุตร [๔๗๑] สมัยต่อมา ท่านพระสารีบุตร เดินทางไปพระนครสาวัตถีในโกศลชนบท ได้ ไปยังโรงทานแห่งหนึ่ง. ประชาชนตั้งใจอังคาสด้วยดีใจว่า แม้ต่อนานๆ พระเถระจึงได้มา. ครั้นท่านพระสารีบุตรฉันอาหารแล้ว บังเกิดอาพาธหนัก ไม่สามารถจะหลีกไปจากโรงทานนั้นได้. ครั้นวันที่ ๒ ประชาชนพวกนั้นได้กราบเรียนท่านว่า นิมนต์ฉันเถิด เจ้าข้า. จึงท่านพระสารีบุตร รังเกียจอยู่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการอยู่ฉันอาหารในโรงทานเป็นประจำ ดังนี้ จึงไม่รับนิมนต์ ท่านได้ยอมอดอาหารแล้ว. ครั้นท่านเดินทางไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุ ทั้งหลายๆ ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธฉันอาหารในโรงทานได้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อาพาธ อยู่ฉันอาหารในโรงทานเป็นประจำได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๘๐.๑. ข. ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงฉันอาหารในโรงทานได้ครั้งหนึ่ง ถ้าฉัน ยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์.เรื่องพระสารีบุตร จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๔๗๒] ที่ชื่อว่า มิใช่ผู้อาพาธ คือ สามารถจะหลีกไปจากโรงทานนั้นได้. ที่ชื่อว่า ผู้อาพาธ คือ ไม่สามารถจะหลีกไปจากโรงทานนั้นได้. ที่ชื่อว่า อาหารในโรงทาน ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเขาจัดตั้งไว้ ณ ศาลา ปะรำ โคนไม้ หรือที่กลางแจ้งมิได้จำเพาะใคร มีพอแก่ความต้องการ. ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธฉันได้ครั้งหนึ่ง หากฉันเกินกว่านั้น รับประเคนด้วยตั้งใจว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ กลืนกิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ คำกลืน.บทภาชนีย์ ติกปาจิตตีย์ [๔๗๓] มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ผู้อาพาธ ฉันอาหารในโรงทาน ยิ่งกว่านั้น ต้อง อาบัติปาจิตตีย์. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย ฉันอาหารในโรงทาน ยิ่งกว่านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสำคัญว่าผู้อาพาธ ฉันอาหารในโรงทาน ยิ่งกว่านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ทุกะทุกกฏ ผู้อาพาธ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ผู้อาพาธ ... ต้องอาบัติทุกกฏ. ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ ผู้อาพาธ ภิกษุสำคัญว่าผู้อาพาธ ... ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๔๗๔] ภิกษุอาพาธ ๑ ภิกษุไม่อาพาธฉันครั้งเดียว ๑ ภิกษุเดินทางไป หรือเดินทาง กลับมาแวะฉัน ๑ เจ้าของนิมนต์ให้ฉัน ๑ ภิกษุฉันอาหารที่เขาจัดไว้จำเพาะ ๑ ภิกษุฉันอาหาร ที่เขามิได้จัดไว้มากมาย ๑ ภิกษุฉันอาหารทุกชนิดเว้นโภชนะห้า ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุ อาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๑ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๐๑๙๕-๑๐๒๖๘ หน้าที่ ๔๒๓-๔๒๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=10195&Z=10268&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=10195&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=67 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=470 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=5474 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8067 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=5474 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8067 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc31/en/brahmali
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]