บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
พราหมณวรรค ๑. พรหมายุสูตร พรหมายุพราหมณ์ต้องการเฝ้าพระพุทธเจ้า [๕๘๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในวิเทหชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป. ก็สมัยนั้นแล พราหมณ์ชื่อพรหมายุอาศัยอยู่ในเมืองมิถิลา เป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด รู้จบไตรเพท พร้อมทั้ง คัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ ๕ เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ. พรหมายุพราหมณ์ ได้ฟังข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จเที่ยวจาริกไปใน วิเทหชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดม พระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระ- *อรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล. [๕๘๕] ก็สมัยนั้นแล มาณพชื่อว่าอุตตระ เป็นศิษย์ของพรหมายุพราหมณ์เป็นผู้รู้ จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสะเป็น ที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและตำราทำนายมหาปุริส- *ลักษณะ. ครั้งนั้น พรหมายุพราหมณ์ได้เรียกอุตตรมาณพมาเล่าว่า ดูกรพ่ออุตตระ พระสมณโคดม ศากยบุตรพระองค์นั้น ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จเที่ยวไปในวิเทหชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ฯลฯ ก็การได้เห็นพระอรหันต์ ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล ไปเถิดพ่ออุตตระ พ่อจงไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ถึงที่ประทับ แล้วจงรู้พระสมณโคดมว่า กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมพระองค์นั้นขจรไปแล้ว เป็นจริงอย่างนั้นหรือว่าไม่เป็นจริงอย่างนั้น ท่านพระโคดมพระองค์นั้นเป็นเช่นนั้น หรือว่า ไม่เป็นเช่นนั้น เราทั้งหลายจักเห็นแจ้งท่านพระโคดมพระองค์นั้น เพราะพ่ออุตตระ. อุตตรมาณพ ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจักรู้ท่านพระโคดมพระองค์นั้นว่า กิตติศัพท์ของท่านพระโคดม ขจรไปแล้ว เป็นอย่างนั้นจริงหรือว่าไม่เป็นอย่างนั้น ท่านพระโคดมพระองค์นั้นเป็นเช่นนั้น หรือ ว่าไม่เป็นเช่นนั้น ได้อย่างไรเล่า? พ. ดูกรพ่ออุตตระ มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ของเราทั้งหลาย ที่พระมหาบุรุษประกอบแล้วย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าอยู่ครอบครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีสมุทรสาคร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว ทรงมีราชอาณาจักรอันมั่นคง ทรงมีความเป็นผู้แกล้วกล้า ทรง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้พระราชอาชญา ไม่ต้อง ใช้ศาตรา ทรงครอบครองแผ่นดินนี้อันมีสาครเป็นขอบเขต ถ้าและเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก ดูกรพ่ออุตตระ ฉันเป็นผู้สอนมนต์ ท่านผู้เรียนมนต์. [๕๘๖] อุตตรมาณพรับคำพรหมายุพราหมณ์แล้ว ลุกจากที่นั่ง ไหว้พรหมายุพราหมณ์ กระทำประทักษิณแล้ว หลีกจาริกไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ในวิเทหชนบท เที่ยวจาริก ไปโดยลำดับ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่าน การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้พิจารณาดู มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ในพระกายของพระผู้มีพระภาค ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการโดยมาก ในพระกายของพระผู้มีพระภาค เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ พระคุยหฐานอันเร้น อยู่ในฝัก ๑ พระชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลง สงสัยไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ในพระ- *มหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ. [๕๘๗] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงมีพระดำริว่า อุตตรมาณพนี้เห็นมหาปุริส- *ลักษณะ ๓๒ ประการของเราโดยมากเว้นอยู่ ๒ ประการ คือ คุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก ๑ ชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ในพระมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ. ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคจึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้อุตตรมาณพได้เห็น พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก. และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้งสองกลับไปมา สอดเข้าช่องพระนาสิกทั้งสองกลับไปมา ทรงแผ่พระชิวหาปิดมณฑลพระนลาตทั้งสิ้น. [๕๘๘] ครั้งนั้นแล อุตตรมาณพได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมทรงประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อย่ากระนั้นเลย เราพึงติดตามพระสมณโคดม พึงดูพระอิริยาบถ ของพระองค์เถิด. ครั้งนั้นแล อุตตรมาณพได้ติดตามพระผู้มีพระภาคไปตลอด ๗ เดือน ดุจ พระฉายาติดตามพระองค์ไปฉะนั้น ครั้งนั้น อุตตรมาณพได้เที่ยวจาริกไปทางเมืองมิถิลา ใน วิเทหชนบท โดยล่วงไป ๗ เดือน เมื่อเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ได้เข้าไปหาพรหมายุพราหมณ์ ที่เมืองมิถิลา ไหว้พรหมายุพราหมณ์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว พรหมายุ- *พราหมณ์ได้ถามว่า ดูกรพ่ออุตตรมาณพ กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมพระองค์นั้นขจรไปแล้ว เป็นจริงอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่นหรือ ก็ท่านพระโคดมพระองค์นั้นเป็นเช่นนั้นไม่เป็นเช่นอื่น แลหรือ?มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ [๕๘๙] อุตตรมาณพตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วเป็นจริงอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น และท่านพระโคดมพระองค์นั้นเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ทรงประกอบด้วยมหาปุริส- *ลักษณะ ๓๒ ประการ คือ ๑. ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีพระบาทประดิษฐ์ฐานอยู่ด้วยดี แม้ ข้อนี้ก็เป็นมหาปุริสลักษณะแห่งมหาบุรุษ ของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ๒. มีลายจักร อันมี ซี่กำพันหนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง เกิดภายใต้ฝ่าพระบาททั้งสอง ๓. ทรงมีพระส้นยาว ๔. ทรงมีพระองคุลียาว ๕. ทรงมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ๖. ทรง มีพระหัตถ์และฝ่าพระบาทเป็นลายตาข่าย ๗. ทรงมีพระบาทสูงนูน ๘. ทรงมีพระชงฆ์เรียวดัง แข้งเนื้อทราย ๙. ทรงประทับยืนตรง ไม่ค้อมลง ฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองลูบคลำพระชานุมณฑล ทั้งสองได้ ๑๐. ทรงมีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก ๑๑. ทรงมีพระฉวีวรรณดังทองคำ ๑๒. ทรง มีพระฉวีละเอียดดังผิวทองคำ เพราะทรงมีพระฉวีละเอียดฝุ่นละอองไม่ติดพระกาย ๑๓. ทรงมี พระโลมาขุมละเส้น ๑๔. ทรงมีพระโลมาปรายงอนขึ้นเบื้องบนทุกเส้น สีเขียวดังดอกอัญชัน ขดเป็นมณฑลทักษิณาวัฏ ๑๕. ทรงมีพระกายตรงดังกายพรหม ๑๖. ทรงมีพระกายเต็มในที่ ๗ แห่ง ๑๗. มีพระกายเต็มดังกึ่งกายเบื้องหน้าแห่งสีหะ ๑๘. ทรงมีพระปฤษฎางค์เต็ม ๑๙. ทรงมี ปริมณฑลดังต้นนิโครธ มีพระกายกับวาเท่ากัน ๒๐. ทรงมีพระศอกลมเสมอ ๒๑. ทรงมี เส้นประสาทสำหรับรับรสหมดจดดี ๒๒. ทรงมีพระหนุดังคางราชสีห์ ๒๓. ทรงมีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ๒๔. ทรงมีพระทนต์เสมอกัน ๒๕. ทรงมีพระทนต์ไม่ห่าง ๒๖. ทรงมีพระทาฐะอัน ขาวงาม ๒๗. ทรงมีพระชิวหาใหญ่ยาว ๒๘. ทรงมีพระสุรเสียงดังเสียงพรหม ๒๙. ทรงมี พระเนตรดำสนิท ๓๐. ทรงมีดวงพระเนตรดังตาโค ๓๑. ทรงมีพระอุณาโลมขาวละเอียดอ่อน ดังสำลี เกิดระหว่างพระขนง ๓๒. มีพระเศียรกลมเป็นปริมณฑลดังประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านพระโคดมพระองค์นั้นทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ นี้แล. และท่านพระโคดมพระองค์นั้น เมื่อจะเสด็จดำเนิน ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน ไม่ ทรงยกพระบาทไกลนัก ไม่ทรงวางพระบาทใกล้นัก ไม่เสด็จดำเนินเร็วนัก ไม่เสด็จดำเนินช้านัก เสด็จดำเนินพระชานุไม่กระทบพระชานุ ข้อพระบาทไม่กระทบข้อพระบาท ไม่ทรงยกพระอูรุสูง ไม่ทรงทอดพระอูรุไปข้างหลัง ไม่ทรงกระแทกพระอูรุ ไม่ทรงส่ายพระอูรุ เมื่อเสด็จดำเนิน พระกายส่วนบนไม่หวั่นไหว ไม่เสด็จดำเนินด้วยกำลังพระกาย เมื่อทอดพระเนตร ทรงทอด- *พระเนตรด้วยพระกายทั้งหมด ไม่ทรงทอดพระเนตรขึ้นเบื้องบน ไม่ทรงทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ เสด็จดำเนินไม่ทรงเหลียวแล ทรงทอดพระเนตรประมาณชั่วแอก ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงมี พระญาณทัสสนะอันไม่มีอะไรกั้น. เมื่อเสด็จเข้าสู่ละแวกบ้าน ไม่ทรงยืดพระกาย ไม่ทรงย่อพระกาย ไม่ทรงห่อพระกาย ไม่ทรงส่ายพระกาย. เสด็จเข้าประทับนั่งอาสนะไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก ไม่ประทับ นั่งเท้าพระหัตถ์ ไม่ทรงพิงพระกายที่อาสนะ. เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงคะนองพระหัตถ์ ไม่ทรงคะนองพระบาท ไม่ประทับนั่งชันพระชานุ ไม่ประทับนั่งซ้อนพระบาท ไม่ประทับนั่ง ยันพระหนุ. เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงครั่นคร้าม ไม่ทรงหวั่นไหว ไม่ทรงขลาด ไม่ทรงสะดุ้ง ทรงปราศจากโลมชาติชูชัน ทรงเวียนมาในวิเวก. เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน เมื่อทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนัก ไม่มากนัก. ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุกๆ ไม่ทรงหมุนบาตรล้าง ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบนพระหัตถ์ เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ก็เป็นอันทรงล้างบาตรแล้ว เมื่อทรงล้างบาตรแล้ว เป็นอันทรงล้างพระหัตถ์แล้ว. ทรงเทน้ำ ล้างบาตรไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก และทรงเทไม่ให้น้ำกระเซ็น. เมื่อทรงรับข้าวสุก ไม่ทรงชูบาตร ขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับข้าวสุก ไม่น้อยนัก ไม่มากนัก. ทรงรับกับข้าวเสวยอาหารพอประมาณกับข้าว ไม่ทรงน้อมคำข้าวให้เกิน กว่ากับ. ทรงเคี้ยวคำข้าวในพระโอฐสองสามครั้งแล้วทรงกลืน. เยื่อข้าวสุกยังไม่ระคนกันดี เล็กน้อย ย่อมไม่เข้าสู่พระกาย. ไม่มีเยื่อข้าวสุกสักนิดหน่อยเหลืออยู่ในพระโอฐ. ทรงน้อมคำข้าว เข้าไปแต่กึ่งหนึ่ง. ทรงทราบรสได้อย่างดีเสวยอาหาร แต่ไม่ทรงทราบด้วยดีด้วยอำนาจความกำหนัด ในรส. เสวยอาหารประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ ไม่เสวยเพื่อเล่น ๑ ไม่เสวยเพื่อมัวเมา ๑ ไม่เสวยเพื่อประดับ ๑ ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง ๑ เสวยเพียงเพื่อดำรงพระกายนี้ไว้ ๑ เพื่อยังพระ ชนมชีพให้เป็นไป ๑ เพื่อป้องกันความลำบาก ๑ เพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์ ๑ ด้วยทรงพระ ดำริว่า เพียงเท่านี้ก็จักกำจัดเวทนาเก่าได้ จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ร่างกายของเราจักเป็นไป สะดวก จักไม่มีโทษ และจักมีความอยู่สำราญ. เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว เมื่อจะทรงรับน้ำ ล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่ง บาตรรับ. ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนัก ไม่มากนัก. ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุกๆ ไม่ทรงหมุน บาตรล้าง ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบนพระหัตถ์. เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ก็เป็นอัน ทรงล้างบาตรแล้ว เมื่อทรงล้างบาตรแล้ว ก็เป็นอันล้างพระหัตถ์แล้ว. ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกล นัก ไม่ใกล้นัก และทรงเทไม่ให้น้ำกระเซ็น. เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงวางในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จะไม่ทรงต้องการบาตรก็หามิได้ แต่ก็ไม่ตามรักษาบาตรจน เกินไป. เมื่อเสวยเสร็จแล้ว ประทับนิ่งเฉยอยู่ครู่หนึ่ง. แต่ไม่ทรงยังเวลาแห่งการอนุโมทนา ให้ล่วงไป. เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา ไม่ทรงติเตียนภัตนั้น ไม่ทรงหวังภัตอื่น. ทรงชี้แจง ให้บริษัทนั้นเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. ครั้นแล้วทรงลุก จากอาสนะเสด็จไป. ไม่เสด็จเร็วนัก ไม่เสด็จช้านัก ไม่ผลุนผลันเสด็จไป. ไม่ทรงจีวรสูงเกินไป ไม่ทรงจีวรต่ำเกินไป ไม่ทรงจีวรแน่นติดพระกาย ไม่ทรงจีวรกระจุยกระจายจากพระกาย. ทรงจีวร ไม่ให้ลมพัดแหวกได้. ฝุ่นละอองไม่ติดพระกาย. เสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่ง ครั้นประทับ นั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวายแล้ว จึงทรงล้างพระบาท. ไม่ทรงประกอบการประดับพระบาท. ทรง ล้างพระบาทแล้วประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เบื้องพระพักตร์. ไม่ทรงดำริ เพื่อเบียดเบียนพระองค์เอง ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ประทับนั่ง ทรงดำริแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สิ่งที่เป็น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวง. เมื่อประทับอยู่ในพระอาราม ทรง แสดงธรรมในบริษัท ไม่ทรงยอบริษัท ไม่ทรงรุกรานบริษัท ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นแจ้ง ให้ สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา. ทรงมีพระสุรเสียงอันก้องเปล่งออกจากพระโอฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สละสลวย ๑ รู้ได้ชัดเจน ๑ ไพเราะ ๑ ฟังง่าย ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ พระสุรเสียงลึก ๑ มีกังวาล ๑. บริษัทจะอย่างไร ก็ทรงให้เข้าใจด้วยพระสุรเสียงได้ พระสุรเสียงมิได้ก้องออกนอกบริษัท. ชนทั้งหลายที่ท่านพระโคดมทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้ สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาเมื่อลุกจากที่นั่งไป ยังเหลียวดูโดยไม่อยากจะละไป ต่างรำพึงว่า เราได้เห็นท่านพระโคดมพระองค์นั้นเสด็จดำเนิน ประทับยืน เสด็จเข้าละแวกบ้าน ประทับนั่งนิ่งในละแวกบ้าน กำลังเสวยภัตตาหารในละแวกบ้าน เสวยเสร็จแล้วประทับนั่งนิ่ง เสวยเสร็จแล้วทรงอนุโมทนา เมื่อเสด็จกลับมายังพระอาราม เมื่อเสด็จถึงพระอารามแล้วประทับ นั่งนิ่งอยู่ เมื่อประทับอยู่ในพระอาราม กำลังทรงแสดงธรรมในบริษัท ท่านพระโคดมพระองค์ นั้นทรงพระคุณเช่นนี้ๆ และทรงพระคุณยิ่งกว่าที่กล่าวแล้วนั้น. [๕๙๐] เมื่ออุตตรมาณพกล่าวอย่างนี้แล้ว พรหมายุพราหมณ์ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียง บ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วเปล่งอุทานขึ้น ๓ ครั้งว่า ขอ นอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ... ขอนอบน้อมแด่พระผู้มี- *พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วคิดว่า ไฉนหนอ เราจึงจะได้สมาคมกับท่าน พระโคดมพระองค์นั้นสักครั้งคราว ไฉนหนอ จะพึงได้เจรจาปราศรัยสักหน่อยหนึ่ง? [๕๙๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จไปในวิเทหชนบทโดยลำดับ เสด็จถึงเมือง มิถิลา. ได้ทราบว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มฆเทวอัมพวัน ใกล้เมืองมิถิลา. พราหมณ์และคฤหบดีชาวเมืองมิถิลา ได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจาก ศากยสกุล เสด็จเที่ยวจาริกไปในวิเทหชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงเมืองมิถิลาแล้ว ประทับอยู่ ณ มฆเทวอัมพวัน ใกล้เมืองมิถิลา ก็กิตติศัพท์อันงามของ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอน หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนี้ ย่อมเป็นความดีแล. ลำดับ นั้นแล พราหมณ์และคฤหบดีชาวเมืองมิถิลา ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง บางพวกประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวก ประกาศชื่อและโคตรในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.พรหมายุพราหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า [๕๙๒] พรหมายุพราหมณ์ได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตรทรงผนวชจากศากย- *สกุล ประทับอยู่ ณ มฆเทวอัมพวัน ใกล้เมืองมิถิลา. ครั้งนั้นแล พรหมายุพราหมณ์พร้อมด้วยมาณพ เป็นอันมาก พากันเข้าไปยังมฆเทวอัมพวัน. ลำดับนั้น พรหมายุพราหมณ์ ได้มีความคิดขึ้นในที่ ไม่ไกลมฆเทวอัมพวันว่า การที่เราไม่ทูลให้ทรงทราบเสียก่อน พึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม ไม่สมควรแก่เราเลย. ลำดับนั้น พรหมายุพราหมณ์เรียกมาณพคนหนึ่งมากล่าวว่า มานี่แน่ พ่อมาณพ พ่อจงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วจงทูลถามพระสมณโคดมถึงความมี พระอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า มีพระกำลัง ทรงพระสำราญ ตามคำ ของเราว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม พรหมายุพราหมณ์ทูลถามท่านพระโคดมถึงความมีพระอาพาธ น้อย ... ทรงพระสำราญ และจงทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม พรหมายุพราหมณ์เป็นคน แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุ ๑๒๐ ปี แต่เกิดมา รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ ๕ เข้าใจ ตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ พราหมณ์และคฤหบดีมีประมาณเท่าใด ย่อมอยู่อาศัยในเมืองมิถิลา พรหมายุพราหมณ์ ปรากฏว่าเลิศกว่าพราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น เพราะโภคะ เพราะมนต์ เพราะอายุและยศ ท่านปรารถนาจะมาเฝ้าท่านพระโคดม. [๕๙๓] มาณพนั้นรับคำพรหมายุพราหมณ์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง. แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม พรหมายุพราหมณ์ทูลถาม ท่านพระโคดมถึงความมีพระอาพาธน้อย ... ทรงพระสำราญ ข้าแต่ท่านพระโคดม พรหมายุพราหมณ์ เป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ... ท่านปรารถนาจะมาเฝ้าท่านพระโคดม พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรมาณพ พรหมายุพราหมณ์ ย่อมรู้กาลอันควรในบัดนี้เถิด. ครั้งนั้นแล มาณพนั้นจึงเข้าไปหาพรหมายุพราหมณ์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะ พรหมายุพราหมณ์ว่า ท่านเป็นผู้อันพระสมณโคดมทรงประทานโอกาสแล้ว จงรู้กาลอันควร ในบัดนี้เถิด.พรหมายุพราหมณ์ขอดูพระชิวหาและพระคุยหะ [๕๙๔] ลำดับนั้น พรหมายุพราหมณ์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค. บริษัทนั้นได้เห็น พรหมายุพราหมณ์มาแต่ไกล จึงรีบลุกขึ้นให้โอกาสตามสมควรแก่ผู้มีชื่อเสียง มียศ. ครั้งนั้น พรหมายุพราหมณ์ได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า อย่าเลยท่านผู้เจริญทั้งหลาย เชิญท่านทั้งหลายนั่งบน อาสนะของตนๆ เราจักนั่งในสำนักแห่งพระสมณโคดมนี้. ลำดับนั้น พรหมายุพราหมณ์ได้เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึก ถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วพิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ในพระกายของพระผู้มีพระภาค. ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการโดยมากเว้นอยู่ ๒ ประการ คือ พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก ๑ พระชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจ เชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ. ลำดับนั้น พรหมายุพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ข้าแต่พระโคดม มหาปุริสลักษณะ อันข้าพเจ้าได้สดับมาว่า ๓๒ ประการ แต่ยังไม่เห็นอยู่ ๒ ประการในพระกายของ พระองค์ท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน พระคุยหฐาน ของพระองค์ท่านเร้นอยู่ในฝัก ที่ผู้ฉลาดกล่าวว่า คล้ายนารีหรือ พระชิวหาได้นรลักษณ์หรือ พระองค์มีพระชิวหาใหญ่หรือ ไฉน ข้าพเจ้าจึงจะทราบความข้อนั้น ขอพระองค์ทรงค่อยนำ พระลักษณะนั้นออก ขอได้โปรดทรงกำจัดความสงสัยของ ข้าพเจ้าเถิด ข้าแต่ท่านฤาษี ถ้าพระองค์ทรงประทานโอกาส ข้าพเจ้าจะขอทูลถามปัญหาที่ข้าพเจ้าปรารถนายิ่งอย่างหนึ่ง เพื่อ ประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน และเพื่อความสุขในสัมปรายภพ. [๕๙๕] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า พรหมายุพราหมณ์นี้ เห็น มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของเราโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ คุยหฐานอันเร้นอยู่ใน ฝัก ๑ ลิ้นใหญ่ ๑ ยังเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้พรหมายุพราหมณ์ได้เห็น พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้งสองกลับไปมา สอดเข้าช่องพระนาสิกทั้งสองกลับไปมา ทรงแผ่ปีดทั่วมณฑลพระนลาฏ. ลำดับนั้น พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสกะพรหมายุพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า ดูกรพราหมณ์ มหาปุริสลักษณะที่ท่านได้สดับมาว่า ๓๒ ประการ นั้น มีอยู่ในกายของเราครบทุกอย่าง ท่านอย่าสงสัยเลย ดูกร พราหมณ์สิ่งที่ควรรู้ยิ่งเรารู้ยิ่งแล้ว สิ่งที่ควรเจริญเราเจริญแล้ว และสิ่งที่ควรละเราละได้แล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นพุทธะ ท่านเป็นผู้อันเราให้โอกาสแล้ว เชิญถามปัญหาที่ปรารถนายิ่ง อย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบันและเพื่อความสุขใน สัมปรายภพเถิด. [๕๙๖] ครั้งนั้นแล พรหมายุพราหมณ์ได้มีความดำริว่า เราเป็นผู้อันพระสมณโคดม ประทานโอกาสแล้ว จะพึงทูลถามประโยชน์ในปัจจุบันหรือประโยชน์ในสัมปรายภพหนอ. ลำดับนั้นแล พรหมายุพราหมณ์ได้มีความคิดว่า เราเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์ปัจจุบัน แม้คนอื่นๆ ก็ถามเราถึงประโยชน์ในปัจจุบัน ถ้ากระไรเราพึงทูลถามประโยชน์ในสัมปรายภพกะพระสมณโคดม เถิด. ลำดับนั้น พรหมายุพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อย่างไรบุคคลจึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์ อย่างไรชื่อว่าเป็นผู้รู้จบเวท อย่างไรชื่อว่าเป็นผู้มีวิชชา ๓ บัณฑิต บุคคลเช่นไรชื่อว่าเป็นผู้มีความสวัสดี อย่างไรชื่อว่าเป็น พระอรหันต์ อย่างไรชื่อว่ามีคุณครบถ้วน อย่างไรชื่อว่าเป็นมุนี และบัณฑิตกล่าวบุคคลเช่นไรว่าเป็นพุทธะ? [๕๙๗] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า ผู้ใดรู้ระลึกชาติก่อนๆ ได้ เห็นสวรรค์และอบาย บรรลุถึง ความสิ้นชาติ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นมุนีผู้รู้ยิ่งถึงที่สุด มุนีนั้นย่อมรู้ จิตอันบริสุทธิ์อันพ้นแล้วจากราคะทั้งหลายโดยประการทั้งปวง เป็นผู้ละชาติและมรณะได้แล้ว ชื่อว่ามีคุณครบถ้วนแห่งพรหม- จรรย์ ชื่อว่าถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้เช่น นั้นว่าเป็นพุทธะ. [๕๙๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พรหมายุพราหมณ์ลุกขึ้นจากที่นั่ง ห่มผ้า เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค จูบพระยุคลบาทด้วยปาก นวดด้วยฝ่ามือ และประกาศชื่อของตนว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ ชื่อพรหมายุ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชื่อพรหมายุ. ครั้งนั้นแล บริษัทนั้น เกิดความอัศจรรย์ใจว่า น่าอัศจรรย์นักหนอ ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาหนอ ท่านผู้เจริญ พระสมณะ เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พรหมายุพราหมณ์นี้เป็นผู้มีชื่อเสียง มียศ ยังทำความเคารพ นบนอบอย่างยิ่งเห็นปานนี้. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพรหมายุพราหมณ์ว่า พอละ พราหมณ์ เชิญท่านลุกขึ้นนั่งบนที่นั่งของตนเถิด เพราะจิตของท่านเลื่อมใสในเราแล้ว. ลำดับนั้น พรหมายุพราหมณ์จึงลุกขึ้นนั่งบนที่นั่งของตน.ทรงแสดงอนุปุพพิกถา [๕๙๙] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถาแก่พรหมายุพราหมณ์ คือ ทรง ประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษของกามทั้งหลายอันต่ำทราม เศร้าหมอง และอานิสงส์ ในเนกขัมมะ. เมื่อใด พระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบว่า พรหมายุพราหมณ์มีจิตคล่อง มีจิตอ่อน ปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูงผ่องใส เมื่อนั้นจึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่พรหมายุพราหมณ์ ณ ที่นั่งนั้นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนผ้าขาวที่สะอาด ปราศจากดำ ควรรับน้ำย้อมด้วยดี ฉะนั้น.พรหมายุพราหมณ์เห็นธรรม [๖๐๐] ครั้งนั้นแล พรหมายุพราหมณ์ผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันบรรลุแล้ว มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งทราบแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก ... ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อนึ่ง ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของ ข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยดุษณีภาพ. [๖๐๑] ครั้งนั้นแล พรหมายุพราหมณ์ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาแล้ว จึงลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้วหลีกไป. ครั้งนั้นพรหมายุพราหมณ์ ได้สั่งให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีตในนิเวศน์ของตนตลอดคืนยันรุ่ง แล้วใช้คนให้ ไปกราบทูลเวลาภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว พระเจ้าข้า ภัตตาหารสำเร็จแล้ว. ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือ บาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของพรหมายุพราหมณ์ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์. ลำดับนั้น พรหมายุพราหมณ์ได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้อิ่มหนำเพียงพอด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนตลอด ๗ วัน. ครั้งนั้น พอล่วง ๗ วันนั้นไป พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในวิเทหชนบท. [๖๐๒] ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน พรหมายุพราหมณ์ได้ทำ กาละ. ครั้งนั้น ภิกษุเป็นอันมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วจึง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรหมายุพราหมณ์ทำกาละแล้ว คติของเขาเป็นเช่นไร ภพเบื้องหน้าของเขาเป็นเช่นไร พระเจ้าข้า? [๖๐๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมายุพราหมณ์เป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมตามลำดับธรรม ไม่เบียดเบียนเราให้ลำบากเพราะเหตุแห่งธรรมเลย พรหมายุ- *พราหมณ์เป็นอุปปาติกะ (อนาคามี) จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล.จบ พรหมายุสูตร ที่ ๑. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๙๑๙๕-๙๔๘๓ หน้าที่ ๔๐๑-๔๑๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9195&Z=9483&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=13&A=9195&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=41 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=584 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=13&A=10804 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=6593 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=13&A=10804 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=6593 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i584-e1.php# https://suttacentral.net/mn91/en/sujato
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]