พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


060 กรรมเก่ากรรมใหม่

ปัญหา นิครนถนาฏบุตร ศาสนาแห่งศาสนาเซนเห็นว่าสุขทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ที่มนุษย์ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ย่อมเป็นผลของกรรมเก่าที่ตนทำไว้ในอดีตทั้งสิ้น ฉะนั้นทุกคนจึงตกเป็นทาสของกรรมอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง วิธีแก้ต้องบำเพ็ญตบะ กำจัดกรรมเก่าและไม่ทำกรรมใหม่ เมื่อเป็นผู้ไม่มีกรรมอย่างสิ้นเชิงแล้ว จึงจะพ้นทุกข์ได้เด็ดขาดดังนี้ พระพุทธองค์ทรงมีทรรศนะอย่างไร?

     พุทธดำรัสตอบ “...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเข้าไปหานิครนถ์ผู้มีวาทะ... ทิฐิ อย่างนี้แล้วถามว่า ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ จริงหรือที่มีข่าวว่า พวกท่านมีวาทะอย่างนี้... ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดีเป็นทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ก่อน... พวกนิครนถ์นั้น ถูกเราถามอย่างนี้แล้วย่อมยืนยัน เราจึงถาม... อย่างนี้ว่า... พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้มีแล้วในก่อนมิใช่ไม่ได้มีแล้ว? นิครนถ์เหล่านั้นตอบว่า ไม่ทราบ เราถามว่า พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมไว้ในก่อน มิใช่ได้ทำไว้ พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ทราบ เราถามว่า พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมอย่างนี้ พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ทราบ เราถามว่าพวกท่านทราบละหรือว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว หรือว่าทุกข์เท่านี้เรายังจะต้องสลัดเสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้ เราสลัดแล้ว จักเป็นอันว่าเราสลัดทุกข์ได้หมด? พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ทราบ เราถามว่า พวกท่านทราบการละอกุศลธรรม การบำเพ็ญกุศลธรรมในปัจจุบันละหรือ? พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ทราบ”
     “เรากล่าวว่า ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ... เมื่อเป็นเช่นนี้ นิครนถ์ผู้มีอายุไม่บังควรจะพยากรณ์ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง... ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน”

     “ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ... สมัยใด พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้นพวกท่านย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้าเจ็บแสบอันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า แต่สมัยใด พวกท่านไม่มีความพยายามแรงกล้า... สมัยนั้นพวกท่านย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า... อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า... เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุไม่บังควรจะพยากรณ์ว่า... ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่จนทำไว้ก่อน”

     “... ถ้าสมัยใด พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า... สมัยนั้นเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า... พึงหยุดได้เอง... เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุก็ควรจะพยากรณ์ได้ว่า... ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่จนทำไว้ก่อน”

     “ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ... ก็เพราะเหตุที่สมัยใด พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า... สมัยนั้นพวกท่านจึงเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า พวกท่านนั้นเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า... อันเกิดแต่ความเพียรเองทีเดียว...”

     “ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ...พวกท่านจะพึงปรารถนาไม่ได้ดังนี้ว่า กรรมใดเป็นของให้ผลในปัจจุบัน ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในชาติหน้า... กรรมใดเป็นของให้ผลในชาติหน้า ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในปัจจุบัน... กรรมใดเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเป็นสุข... กรรมใดเป็นของให้ผลเป็นสุข ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเป็นทุกข์... กรรมใดเป็นของให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเสร็จสิ้น... ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น ความพยายามของพวกนิครนถ์ผู้มีอายุก็ไร้ผล ความเพียรก็ไร้ผล...”

     “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน พวกนิครนถ์ก็เป็นผู้ได้ทำกรรมชั่วไว้ในก่อนแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้าเจ็บแสบเห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุที่อิศวร (เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่) เนรมิตให้พวกนิครนถ์ก็ต้องเป็นผู้ถูกอิศวรชั้นเลวเนรมิตมาแน่... ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ พวกนิครนถ์ก็ต้องเป็นผู้มีความบังเอิญชั่วแน่... ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะอภิชาติ พวกนิครนถ์ก็ต้องเป็นผู้มีอภิชาติเลวแน่... ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะความพยายามในปัจจุบัน พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้มีความพยายามในปัจจุบันเลวแน่ ในบัดนี้พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบเห็นปานนี้...”

     “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรความพยายามจึงจะมีผล ความเพียรจึงจะมีผล? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เอาทุกข์ทับถมจนที่ไม่มีทุกข์ทับถม ๑ ไม่สละความสุขที่เกิดโดยธรรม ๑ ไม่มีผู้หมกมุ่นในความสุขนั้น ๑ เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ถึงเรานี้จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ เมื่อเริ่มตั้งความเพียร วิราคะย่อมมีได้ด้วยการตั้งความเพียร... เมื่อวางเฉยบำเพ็ญอุเบกขาอยู่ วิราคะก็ย่อมมีได้... เธอจึงเริ่มตั้งความเพียร... และบำเพ็ญอุเบกขา... แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอันเธอสลัดได้แล้ว...”

เทวทหสูตร อุ. ม. (๓-๑๒)
ตบ. ๑๔ : ๒-๑๔ ตท. ๑๔ : ๑-๑๒
ตอ. MLS. III : ๓-๑๑

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster