พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


080 วิธีพิจารณาธาตุ ๖

ปัญหา ภิกษุควรจะพิจารณาธาตุ ๖ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย อากาศ และวิญญาณอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุ ก็ปฐวีธาตุเป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุภายใน (กายเรา) ก็มี ภายนอกก็มี ก็ปฐวีธาตุทั้งภายในภายนอกนี้แล เป็นปฐวีธาตุทั้งนั้น พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายปฐวีธาตุและจะให้จิตคลายกำหนัดปฐวีธาตุได้
“ดูก่อนภิกษุ ก็อาโปธาตุเป็นไฉน คือ อาโปธาตุภายใน (กายของเรา) ก็มี ภายนอกก็มี เป็นอาโปธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอาโปธาตุนั้นว่า..... นั่นไม่ใช่ของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายอาโปธาตุ.....
“ดูก่อนภิกษุ ก็วาโยธาตุเป็นไฉน คือ เตโชธาตุภายใน (กายของเรา) ก็มี ภายนอกก็มี..... เป็นวาโยธาตุทั้งนั้น พึงเห็นวาโยธาตุนั้นว่า..... นั่นไม่ใช่ของเรา..... ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายเตโชธาตุ.....
“ดูก่อนภิกษุ ก็เตโชธาตุเป็นไฉน คือ เตโชธาตุภายใน (กายของเรา) ก็มี ภายนอกก็มี..... เป็นเตโชธาตุทั้งนั้น พึงเห็นเตโชธาตุนั้นว่า..... นั่นไม่ใช่ของเรา..... ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายวาโยธาตุ.....
“ดูก่อนภิกษุ ก็อากาศธาตุเป็นไฉน คือ อากาศธาตุภายใน (กายของเรา) ก็มี ภายนอกก็มี..... เป็นอากาศธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอากาศธาตุนั้นว่า..... นั่นไม่ใช่ของเรา..... ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายอากาศธาตุ.....
“ต่อจากนั้น สิ่งที่เหลืออยู่อีก ก็คือ วิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง บุคคลย่อมรู้อะไรๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น คือ รู้ชัดว่า สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง ดูก่อนภิกษุ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกินสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนาย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุข ย่อมเกิดทุกขเวทนา..... เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแลดับไป ความเสวยอารมณ์.... คือตัวทุกขเวทนา... ย่อมดับย่อมเข้าไปสงบ
“ดูก่อนภิกษุ เปรียบเหมือนเกิดความร้อน เกิดไฟได้ เพราะไม้สองท่อนประชุมสีกัน ความร้อนที่เกิดแต่ไม้สองท่อนนั้น ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะไม้สองท่อนนั้นเอง แยกกันไปเสียคนละทาง....”

ธาตุวิภังคสูตร อุ. ม. (๖๘๔-๖๘๙)
ตบ. ๑๔ : ๔๓๗-๔๔๐ ตท. ๑๔ : ๓๗๓-๓๗๕
ตอ. MLS. III : ๒๘๗-๒๘๙


<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :