พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


245 กรรม เหตุของกรรม และวิธีดับกรรม

ปัญหา กรรมคืออะไร อะไรเป็นเหตุของกรรม จะดับกรรมได้ดีโดยวิธีใด ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรมบุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉนคือผัสสะ (การกระทบกันระหว่างตากับรูป หูกับเสียง เป็นต้น) เป็นเหตุเกิดแห่งกรรม ก็ความต่างแห่งกรรมเป็นไฉน คือกรรมที่ให้วิบากในนรกก็มี ทำให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี ที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี ที่ให้วิบากในมนุษยโลกก็มี ที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี นี้เรียกว่าความต่างแห่งกรรม
“ก็วิบากแห่งกรรมเป็นไฉน คือ เราย่อมกล่าววิบากแห่งกรรม ว่ามี ๓ ประการ คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ๑ กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิด ๑ กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป ๑ นี้เรียกว่า วิบากแห่งกรรม
“ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน คือ ความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ... สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม
“ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัด กรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ ๆ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์ อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลสเป็นที่ดับกรรมนี้”

นิพเพธิกสูตร ฉ. อํ. (๓๓๔)
ตบ. ๒๒ : ๔๖๔-๔๖๕ ตท. ๒๒ : ๔๒๒-๔๒๓
ตอ. G.S. III : ๒๙๔

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :