พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


253 วิธีสร้างปัญญา

ปัญหา วิธีปฏิบัติในหลักศีลและสมาธิปรากฏว่า มีแจ่มแจ้งอยู่แล้ว แต่วิธีเจริญหลักที่ ๓ คือ ปัญญา ยังไม่แจ่มแจ้งพอ ขอได้โปรดแนะวิธีเจริญปัญญาด้วย ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ไดเพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครูซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรักและความเคารพไว้อย่างแรงกล้า นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๑

“เธออาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์..... ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู.... นั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถามเป็นครั้งคราวว่า.... ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผยทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันน่าสงสัยแก่เธอ.... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒

“เธอฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือความสงบกายและความสงบจิต ให้ถึงพร้อมนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓

“เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย.... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๔

“เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมากทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น... ท่ามกลาง... ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕

“เธอย่อมปรารถนาความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระกุศลธรรม นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๖
"เธอย่อมเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่มีประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญให้ผู้อื่นแสดงบ้าง ไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างอริยเจ้า นี้เป็นเหตุปัจจัยข้อที่ ๗"
“เธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่ารูป.... ความเกิดขึ้นแห่งรูป ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนา... สัญญา.... สังขาร... วิญญาณ.... ความดับแห่งวิญญาณดังนี้.... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๘ เพื่อได้ปัญญา...ฯ”


ปัญญาสูตร อ. อํ. (๙๒)
ตบ. ๒๓ : ๑๕๒-๑๕๔ ตท. ๒๓ : ๑๓๕-๑๓๗
ตอ. G.S. IV : ๑๐๔-๑๐๕

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :
&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;