ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 195อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 203อ่านอรรถกถา 13 / 222อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค
โคลิสสานิสูตร ว่าด้วยอรัญญิกธุดงค์

               ๙. อรรถกถาโคลิสสานิสูตร               
               โคลิสสานิสูตรมีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
               ในบรรดาบทเหล่านั้นบทว่า ปทรสมาจาโร มีมารยาทหยาบคาย คือความประพฤติเลว มีอาจาระหยาบ เพ่งในปัจจัยทั้งหลายดุจพระมหารักขิตเถระ.
               ได้ยินว่า อุปัฏฐากกล่าวกะพระเถระนั้นผู้นั่งอยู่ในตระกูลอุปัฏฐากว่า ท่านขอรับ ผมถวายจีวรแก่พระเถระรูปโน้นแล้ว. พระเถระกล่าวว่า โยมทำดีแล้วที่ถวายจีวรแก่พระเถระผู้ตรึกถึงจีวรนั้น. อุปัฏฐากกล่าวว่า ท่านขอรับผมจักถวายจีวรแก่ท่าน. พระเถระกล่าวว่า ดีแล้ว โยมจักถวายแก่พระเถระผู้ตรึกถึงจีวรนั้น. ภิกษุเห็นปานนี้แม้นี้ชื่อว่ามีอาจาระหยาบ.
               บทว่า สปฺปติสฺเสน ความยำเกรงคือมีความเป็นผู้ใหญ่. ไม่ควรทำตนให้เป็นใหญ่.
               บทว่า เสรีวิหาเรน ด้วยการอยู่อย่างเสรี คือด้วยการอยู่ตามพอใจของตน ด้วยการอยู่โดยไม่มีผู้คอยตักเตือน.
               บทว่า นานุปขชฺช ไม่เข้าไปเบียด คือไม่เข้าไปใกล้.
               ภิกษุใดเมื่อพระมหาเถระ ๒ รูปนั่งอยู่ทั้ง ๒ ข้าง ไม่บอกกล่าวพระเถระเหล่านั้นนั่งเสียดสีด้วยจีวรก็ดี ด้วยเข่าก็ดี ภิกษุนี้ชื่อว่าเข้าไปนั่งเบียด.
               อนึ่ง ไม่ทำอย่างนั้นครั้นอยู่ใกล้อาสนะที่ถึงแก่ตน พระเถระกล่าวว่า นั่งเถิดผู้มีอายุ ดังนี้จึงควรนั่ง. หากพระเถระไม่กล่าว ควรกล่าวถามว่า ท่านขอรับ ผมจะนั่งได้หรือ ดังนี้แล้วควรนั่ง. ตั้งแต่เวลากล่าวถาม เมื่อพระเถระกล่าวว่า นั่งเถิด หรือแม้เมื่อท่านไม่กล่าว ก็ควรนั่งได้.
               ในบทว่า น ปฏิพาหิสฺสามิ เราจักไม่ห้าม นี้มีอธิบายว่า ภิกษุใดละเลยอาสนะที่ถึงแก่ตนแล้วนั่งแย่งที่ภิกษุใหม่ ภิกษุนี้ชื่อว่าห้ามอาสนะภิกษุใหม่. เมื่อภิกษุนั้นนั่งอยู่อย่างนั้น ภิกษุใหม่ยืนกล่าวโทษว่า ภิกษุนี้ไม่ให้เรานั่งก็ดี หรือเดินหาอาสนะก็ดี เพราะฉะนั้นพึงนั่งบนอาสนะที่ถึงแก่ตนนั่นแหละ อย่างนี้ชื่อว่าไม่ห้ามอาสนะ.
               บทว่า อภิสมาจาริกํปิ ธมฺมํ คือ ธรรมแม้เพียงการปฏิบัติอภิสมาจาริกวัตร.
               บทว่า นาติกาเลน โดยไม่ใช่กาล คือไม่ควรเข้าบ้านให้เช้านัก ไม่ควรกลับให้สายนัก. ควรเข้าและออกพร้อมกับหมู่ภิกษุ. เพราะเมื่อเข้าไปเช้านัก ออกไปสายนัก การปฏิบัติวัตรในลานเจดีย์และลานโพธิ์เป็นต้นย่อมเสื่อม. ควรล้างหน้าแต่เช้าแล้วเขี่ยใยแมงมุม เมื่อหยาดน้ำค้างตก เข้าบ้านแสวงหาข้าวยาคู นั่งกล่าวติรัจฉานกถานานาประการ ในภายในบ้านนั่นเอง จนถึงได้เวลาบิณฑบาตแล้วฉันอาหาร ออกไปในตอนสาย ไปถึงวัดในเวลาล้างเท้าของภิกษุทั้งหลายในภายหลัง.
               บทว่า น ปุเรภตฺตํ ปจฺฉาภตฺตํ กุเลสุ จาริตฺตํ อาปชฺชิตพฺพํ ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ไม่ควรถึงความเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายในเวลาก่อนภัต ในเวลาหลังภัต คือ ภิกษุรับนิมนต์พร้อมด้วยโภชนะไม่ลาภิกษุที่มีอยู่ เที่ยวไปในตระกูลในเวลาก่อนภัตก็ดี ในเวลาหลังภัตก็ดี เว้นไว้แต่สมัย ต้องปาจิตตีย์ เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้รักษาสิกขาบทนี้ไม่ควรเที่ยวไปในเวลาก่อนภัตและในเวลาหลังภัต ซึ่งท่านกล่าวไว้แล้วในวิภังค์แห่งสิกขาบทนั้น.
               บทว่า อุทฺธโต โหติ จปโล เป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจาคือ เป็นผู้มีปรกติฟุ้งซ่าน และประกอบด้วยความเป็นผู้คะนอง ดุจเด็กทารก ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ประดับจีวร ประดับบาตร ประดับเสนาสนะ หรือ ตกแต่งประดับกายอันเปื่อยเน่านี้.
               บทว่า ปญฺญวตา ภวิตพฺพํ ควรเป็นผู้มีปัญญา คือ เมื่อควรทำจีวรกรรมเป็นต้นควรเป็นผู้ประกอบด้วยอุบายปัญญา.
               บทว่า อภิธมฺเม อภิวินเย ควรทำความเพียรในอภิธรรมในอภิวินัยคือควรทำความเพียรในอภิธรรมปิฎก และในวินัยปิฎกด้วยบาลีและด้วยอรรถกถา. ไม่ควรพลาดธรรมหทยวิภังค์ พร้อมด้วยทุกมาติกาและติกมาติกาเป็นต้นในอภิธรรมโดยปริจเฉทสุดท้าย. ไม่ควรพลาดปาฏิโมกข์ทั้ง ๒ ที่ท่านวินิจฉัยไว้ดีแล้วพร้อมกับการวินิจฉัยในข้อควรทำและไม่ควรทำในวินัย.
               บทว่า อารุปฺปา อรูปสมาบัติ ด้วยบทเพียงเท่านี้เป็นอันท่านกล่าวถึงสมาบัติแม้ ๘ ประการ อนึ่งเมื่อไม่สามารถบำเพ็ญสมาบัติเหล่านั้นได้ทั้งหมดก็ควรบำเพ็ญในสมาบัติ ๗ บ้าง ๖ บ้าง ๕ บ้าง โดยกำหนดบทสุดท้ายประพฤติถือเอากรรมฐานคือบริกรรมกสิณอย่างหนึ่งทำให้คล่องแคล่ว. เพียงเท่านี้ก็ไม่ควรพลาด.
               ด้วยบทว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺเม นี้พระสารีบุตรเถระแสดงโลกุตตรธรรมแม้ทั้งหมด. เพราะฉะนั้น อันผู้เป็นพระอรหันต์พึงละ. อันผู้ยังมิได้บรรลุพระอรหัต ควรตั้งอยู่ในอนาคามิผล สกทาคามิผล หรือโสดาปัตติผล. โดยปริยายสุดท้ายควรประพฤติถือเอาวิปัสสนาสุขอย่างเดียวจนถึงพระอรหัตทำให้คล่องแคล่ว.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้น.
               ก็ท่านพระสารีบุตรเถระยังโคลิสสานิภิกษุให้บรรลุพระอรหัตโดยลำดับ ตั้งแต่อภิสมาจาริกวัตร ด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้ควรแนะนำได้ จบเทศนานี้ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาโคลิสสานิสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค โคลิสสานิสูตร ว่าด้วยอรัญญิกธุดงค์ จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 195อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 203อ่านอรรถกถา 13 / 222อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=3865&Z=3980
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=3409
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=3409
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :