ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 122อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 123อ่านอรรถกถา 26 / 124อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔
๓. นันทิกาเปตวัตถุ

               อรรถกถานันทกเปตวัตถุที่ ๓               
               เรื่องนันทกเปรตนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ราชา ปิงฺคลโก นาม ดังนี้.
               การอุบัติขึ้นของเรื่องนั้นเป็นอย่างไร?
               นับแต่พระศาสดาปรินิพพานล่วงไปได้ ๒๐๐ ปี ในสุรัฐวิสัย ได้มีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ปิงคละ.
               เสนาบดีของพระราชานั้น ชื่อว่านันทกะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความผิดแปลก เที่ยวยกย่องการถือผิดๆ โดยนัยมีอาทิว่า ทานที่ทายกถวายแล้ว ไม่มีผล ดังนี้. ธิดาของนายนันทกะนั้นเป็นอุบาสิกาชื่อว่าอุตตรา เขาได้ยกให้แต่งงานในตระกูลที่เสมอกัน.
               ฝ่ายนันทกเสนาบดีทำกาละแล้ว บังเกิดเป็นเวมานิกเปรตที่ต้นไทรใหญ่ ในดงไฟไหม้. เมื่อนันทกเสนาบดีนั้นทำกาละแล้ว นางอุตตราได้ถวายหม้อน้ำดื่มเต็มด้วยน้ำหอมสะอาดและเยือกเย็น และขันอันเต็มด้วยขนม เพียบพร้อมด้วยสีกลิ่นและรสที่ปรุงด้วยขนมกุมมาส แด่พระขีณาสพเถระรูปหนึ่ง แล้วอุทิศว่า ขอทักษิณานี้จงสำเร็จแก่บิดาของเราเถิด. น้ำดื่มอันเป็นทิพย์ และขนมอันหาประมาณมิได้ ปรากฏแก่เปรตนั้น เพราะทานนั้น.
               เขาเห็นดังนั้นจึงคิดอย่างนี้ว่าเราทำกรรมอันลามกหนอที่ให้มหาชนถือเอาผิดๆ โดยนัยมีอาทิว่า ทานที่ทายกถวายแล้ว ย่อมไม่มีผล ดังนี้ ก็บัดนี้ พระเจ้าปิงคละเสด็จไปโอวาทแด่พระเจ้าธรรมาโศก, พระองค์ประทานโอวาทแล้วจักเสด็จกลับมา เอาเถอะ เราจักบรรเทานัตถิกทิฏฐิ.
               ไม่นานนัก พระเจ้าปิงคละได้ให้โอวาทแด่พระเจ้าธรรมาโศก เมื่อจะเสด็จกลับจึงทรงดำเนินไปทางนั้น.
               ลำดับนั้น เปรตนั้นนิรมิตรหนทางนั้น ให้บ่ายหน้าไปยังที่อยู่ของตน. ในเวลาเที่ยงตรง พระราชาเสด็จไปตามทางนั้น. เมื่อพระองค์เสด็จไป หนทางข้างหน้าปรากฏอยู่ แต่หนทางข้างหลังไม่ปรากฏแก่พระองค์.
               บุรุษผู้ไปหลังเขาทั้งหมด เห็นทางหายไปจึงกลัว ร้องลั่น วิ่งไปกราบทูลแด่พระราชา.
               พระราชาทรงสดับดังนั้นจึงตกพระหทัย มีพระหทัยสลด ประทับอยู่บนคอช้าง ตรวจดูทิศทั้ง ๔ เห็นต้นไทรอันเป็นที่อยู่ของเปรต จึงได้เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปยังต้นไทรนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา.
               ครั้นพระราชาเสด็จถึงที่นั้นโดยลำดับ เปรตประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวงเข้าไปเฝ้าพระราชา กระทำปฏิสันถาร ได้ถวายขนมและน้ำดื่ม.
               พระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ทรงสงสนาน เสวยขนมแล้วดื่มน้ำ ระงับความเหน็ดเหนื่อยในหนทาง จึงตรัสถามเปรตโดยนัยมีอาทิว่า ท่านเป็นเทวดาหรือเป็นคนธรรพ์.
               เปรตได้กราบทูลเรื่องของตนตั้งแต่ต้น จึงปลดเปลื้องพระราชาจากความเป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้ดำรงอยู่ในสรณะและศีล.
               เพื่อจะแสดงเรื่องนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาทั้งหลายว่า :-
               ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าปิงคล ได้เป็นใหญ่ในสุรัฐประเทศ เสด็จไปเฝ้าพระโมริยะแล้ว กลับมายังสุรัฐประเทศ เสด็จมาถึงที่มีเปือกตมในเวลาเที่ยงซึ่งเป็นเวลาร้อน ได้ทอดพระเนตรเห็นทางอันน่ารื่นรมย์ เป็นทางที่เปรตนิรมิตรไว้ จึงตรัสบอกนายสารถีว่า
               ทางนี้น่ารื่นรมย์ เป็นทางปลอดภัย มีความสวัสดี ไม่มีอุปัทวันตราย
               ดูก่อนนายสารถี ท่านจงตรงไปทางนี้แหละ เมื่อเราไปโดยทางนี้จักถึงเขตเมืองสุรัฐเร็วทีเดียว
               พระเจ้าสุรัฐได้เสด็จไปโดยทางนั้น พร้อมด้วยจตุรงคเสนา
               บุรุษคนหนึ่งสะดุ้งตกใจกลัว ได้กราบทูลพระเจ้าสุรัฐว่า พวกเราเดินทางผิด เป็นทางน่ากลัว ขนพองสยองเกล้า เพราะทางปรากฏเฉพาะข้างหน้า แต่ข้างหลังไม่ปรากฏ พวกเราเดินทางผิดเสียแล้ว พวกเราเห็นจะเดินมาใกล้สำนักพวกอมนุษย์ กลิ่นอมนุษย์ฟุ้งไป ข้าพระองค์ได้ยินเสียงอันพิลึกน่าสะพึงกลัว
               พระเจ้าสุรัฐทรงสะดุ้งพระหทัย ตรัสกะนายสารถีว่า พวกเราเดินทางผิดเสียแล้ว เป็นทางน่ากลัว ขนพองสยองเกล้า เพราะทางปรากฏเฉพาะหน้า แต่ข้างหลังไม่ปรากฏ พวกเราเดินทางผิด พวกเราเห็นจะเดินมาใกล้สำนักพวกอมนุษย์ กลิ่นอมนุษย์ย่อมฟุ้งไป เราได้ยินเสียงน่าสะพึงกลัว แล้วเสด็จขึ้นสู่คอช้าง ทอดพระเนตรไปในทิศทั้ง ๔ ได้ทรงเห็นต้นไทรต้นหนึ่ง มีร่มเงาชิดสนิทดี เขียวชะอุ่มดุจสีเมฆ มีสีและสัณฐาน คล้ายเมฆ จึงรับสั่งกะนายสารถีว่า
               ป่าใหญ่เขียวชะอุ่มดุจสีเมฆ มีสีและสัณฐานคล้ายเมฆปรากฏอยู่นั่นใช่ไหม ?
               นายสารถีกราบทูลว่า :-
               ข้าแต่มหาราช นั่นเป็นต้นไทรมีร่มเงาชิดสนิทดี เขียวชะอุ่ม มีสีและสัณฐานคล้ายเมฆ พระเจ้าสุรัฐเสด็จเข้าไปจนถึงต้นไทรใหญ่ที่ปรากฏอยู่แล้ว เสด็จลงจากคอช้าง เข้าไปสู่ต้นไทร ประทับนั่งที่โคนต้น พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ราชบริพาร ได้ทอดพระเนตรเห็นขันน้ำมีน้ำเต็มและขนมอันหวานอร่อย
               บุรุษมีเพศดังเทวดาประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง เข้าไปเฝ้าพระเจ้าสุรัฐแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชพระองค์ เสด็จมาดีแล้วและพระองค์ไม่ได้เสด็จมาร้าย ข้าแต่พระองค์ผู้กำจัดศัตรู เชิญพระองค์เสวยน้ำและขนมเถิดพระเจ้าข้า
               พระเจ้าสุรัฐพร้อมด้วยอำมาตย์และข้าราชบริพาร พากันดื่มน้ำและขนมแล้ว จึงถามว่า ท่านเป็นเทพ เป็นคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกะปุรินททะ พวกเราไม่รู้จักท่าน จักขอถาม พวกเราจะพึงรู้จักท่านได้อย่างไร?
               นันทกเปรตกราบทูลว่า :-
               ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกะปุรินททะ ข้าพระองค์เป็นเปรต จากประเทศสุรัฐมาอยู่ที่นี่.
               พระราชาตรัสถามว่า :-
               เมื่อก่อน ท่านอยู่ในประเทศสุรัฐมีปกติอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร ท่านมีอานุภาพอย่างนี้ เพราะพรหมจรรย์อย่างไร?
               นันทกเปรตตอบว่า :-
               ข้าแต่มหาราชเจ้าผู้กำจัดหมู่ศัตรู ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ ขอพระองค์ อำมาตย์ราชบริพารและพราหมณ์ปุโรหิต จงสดับฟัง
               ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นบุรุษอยู่ในเมืองสุรัฐ เป็นคนใจบาป เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นคนทุศีล เป็นคนตระหนี่ บริภาษสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ห้ามปรามมหาชนซึ่งพากันทำบุญให้ทาน ทำอันตรายแก่หมู่ชนเหล่าอื่นผู้กำลังให้ทาน ได้ห้ามว่า ผลแห่งทาน ไม่มี ผลแห่งการสำรวม จักมีแต่ที่ไหน ใครๆ ผู้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ไม่มี ใครจักฝึกฝนบุคคล ผู้ไม่เคยฝึกฝนแล้วได้เล่า สัตว์ทั้งหลายเป็นสัตว์เสมอกันทั้งสิ้น การเคารพอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล จักมีแต่ที่ไหน กำลังหรือความเพียรไม่มี ความพากเพียรของบุรุษจักมีแต่ที่ไหน ผลแห่งทานไม่มี ทานและศีล ไม่ทำบุคคลผู้มีเวรให้หมดจดได้ สัตว์ย่อมได้ของที่ควรได้ สัตว์เมื่อจะได้สุขหรือทุกข์ ย่อมได้สุขหรือทุกข์ อันเกิดแต่ที่น้อมมาเอง มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย ไม่มี โลกอื่นจากโลกนี้ก็ไม่มี ทานอันบุคคลให้แล้วย่อมไม่มีผล พลีกรรมไม่มีผล แม้ทานอันบุคคลตั้งไว้ดีแล้วก็ไม่มีผล บุรุษใดฆ่าบุรุษอื่น และตัดศีรษะบุรุษอื่น จะจัดว่าบุรุษนั้นทำลายชีวิตของผู้อื่น หาได้ไม่ ไม่มีใครฆ่าใคร เป็นแต่ศัตราย่อมเข้าไปในระหว่างช่องกาย ๗ ช่องเท่านั้น ชีพของสัตว์ทั้งหลายไม่ขาดสูญ ไม่แตกทำลาย บางคราวมี ๘ เหลี่ยม บางคราวกลมเหมือนงบน้ำอ้อย บางคราวสูงตั้ง ๕๐๐ โยชน์ ใครเล่าสามารถตัดชีพให้ขาดได้ เหมือนหลอดด้ายอันบุคคลซัดไปแล้วหลอดด้ายนั้น อันด้ายคลายอยู่ย่อมกลิ้งไปได้ ฉันใด ชีพนั้นก็ฉันนั้น ย่อมแหวกหนีไปจากร่างได้ บุคคลผู้ออกไปจากบ้านนี้ไปเข้าบ้านอื่นฉันใด ชีพนั้นก็ออกจากร่างนี้แล้วไปเข้าร่างอื่นฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลออกจากเรือนหลังนี้ แล้วไปเข้าเรือนหลังอื่นฉันใด แม้ชีพนั้นก็ออกจากร่างนี้แล้วไปเข้าร่างอื่นฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสิ้นกำหนด ๘,๔๐๐,๐๐๐ มหากัป สัตว์ทั้งหลายทั้งที่เป็นพาลทั้งที่เป็นบัณฑิตจักยังสงสารให้สิ้นไปแล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เอง สุขและทุกข์เหมือนตักตวงได้ด้วยทะนานและกระเช้า
               พระชินเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงสุขทุกข์ทั้งปวง สัตว์นอกนี้ล้วนเป็นผู้ลุ่มหลง เมื่อชาติก่อน ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้จึงได้เป็นคนหลง ถูกโมหะครอบงำ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุศีล ตระหนี่ บริภาษสมณพราหมณ์ ภายใน ๖ เดือน ข้าพระองค์จักทำกาลกิริยา จักตกไปในนรกอันเผ็ดร้อนร้ายกาจโดยส่วนเดียว นรกนั้นมี ๔ เหลี่ยม ๔ ประตูจำแนกออกเป็นส่วนๆ ล้อมด้วยกำแพงเหล็ก ครอบด้วยแผ่นเหล็ก พื้นนรกนั้น เป็นเหล็กแดง ลุกเป็นเปลวเพลิงโชติช่วง แผ่ไป ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบตั้งอยู่ทุกเมื่อ ล่วงไปแสนปี ในกาลนั้นข้าพระองค์จึงได้ยินเสียงในนรกนั้นว่า แน่ะ เพื่อนยาก เมื่อพวกเราไหม้อยู่ในนรกนี้ กาลประมาณแสนปีล่วงไปแล้ว
               ข้าแต่มหาราชเจ้า แสนโกฏิปีเป็นกำหนดอายุของสัตว์ผู้หมกไหม้อยู่ในนรก ชนทั้งหลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นคนทุศีล ติเตียนพระอริยเจ้า ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรกแสนโกฏิปี
               ข้าพระองค์จักเสวยทุกขเวทนาอยู่ในนรกนั้นตลอดกาลนานนี้ เป็นผลแห่งกรรมชั่วของข้าพระองค์ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงเศร้าโศกนัก
               ข้าแต่มหาราชเจ้าผู้กำจัดศัตรูเป็นที่ที่เจริญใจของชาวแว่นแคว้น ขอพระองค์จงทรงสดับคำของข้าพระองค์ ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์
               ธิดาของข้าพระองค์ชื่ออุตตรา ทำแต่ความดี ยินดีแล้วในนิจศีลและอุโบสถศีล ยินดีในทานและการจำแนกทาน รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ มีปกติทำไม่ให้ขาดในสิกขา เป็นลูกสะใภ้ในตระกูลอื่น เป็นอุบาสิกาของพระมหาศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงศิริ
               ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ นางอุตตราได้เห็นภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เข้าไปบิณฑบาตในบ้าน มีจักษุทอดลงแล้ว มีสติคุ้มครองทวารสำรวมดีแล้ว เที่ยวไปตามลำดับตรอก เข้าไปสู่บ้านนั้น นางได้ถวายน้ำขันหนึ่งและขนมมีรสหวาน อร่อยแล้ว อุทิศส่วนกุศลให้ข้าพระองค์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอผลทานที่ดิฉันถวายนี้จงพลันสำเร็จแก่บิดาของดิฉันที่ตายไปแล้วเถอะ ในทันใดนั้น ผลแห่งทานก็บังเกิดแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์มีความประสงค์สำเร็จได้ดังความปรารถนา บริโภคกามสุข เหมือนดังท้าวเวสวัณมหาราช
               ข้าแต่มหาราชเจ้าผู้กำจัดศัตรู เป็นที่เจริญใจของชาวแว่นแคว้น ขอพระองค์จงทรงสดับคำของข้าพระองค์
               พระพุทธเจ้าอันบัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้เลิศแห่งโลกพร้อมทั้งเทวโลก ขอพระองค์พร้อมด้วยพระโอรสและพระอัครมเหสี จงถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นสรณะเถิด ชนทั้งหลายย่อมบรรลุอมตะด้วยมรรคมีองค์ ๘ ขอพระองค์พร้อมด้วยพระโอรสและพระอัครมเหสี จงถึงมรรคมีองค์ ๘ และอมตะบท ว่าเป็นสรณะเถิด พระอริยบุคคลผู้ปฏิบัติอยู่ในมรรค ๔ จำพวกผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ จำพวก นี้เป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติ ซื่อตรง ประกอบด้วยปัญญาและศีล ขอพระองค์พร้อมด้วยพระโอรสและพระอัครมเหสี จงถึงพระสงฆ์นั้นเป็นสรณะเถิด ขอพระองค์จงรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทรงยินดีด้วยพระมเหสีของพระองค์ ไม่ตรัสคำเท็จ ไม่ทรงดื่มน้ำจัณฑ์เถิด.
               พระราชาตรัสว่า :-
               ดูก่อนเทวดา ท่านเป็นผู้ปรารถนาความเจริญแก่เรา ปรารถนาประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา เราจักทำตามคำของท่าน ท่านเป็นอาจารย์ของเรา เราจักเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์อันยอดเยี่ยม กว่าเทวดาและมนุษย์ว่าเป็นสรณะ
               เราจะรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และยินดีด้วยพระมเหสีของตน จะไม่พูดเท็จ จะไม่ดื่มน้ำเมา เราจะคลายความเห็นอันชั่วช้า เหมือนโปรยแกลบอันลอยไปตามลมอันแรง เหมือนทั้งหญ้าและใบไม้ ลอยไปในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว จักเป็นผู้ยินดีในพระพุทธศาสนา
               พระเจ้าสุรัฐ ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงงดเว้นจากความเห็นอันชั่วช้า ทรงนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก กลับคืนสู่พระนคร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชา ปิงฺคลโก นาม สุรฏฺฐานํ อธิปติ อหุ ความว่า ได้มีพระราชาพระองค์หนึ่งเป็นอิสระแห่งสุรัฐประเทศ ปรากฏพระนามว่าปิงคละ เพราะมีจักษุเหลือง.
               ด้วยบทว่า โมริยานํ ท่านกล่าวหมายถึงพระเจ้าโมริยธรรมาโศก.
               บทว่า สุรฏฺฐํ ปุนราคมา ความว่า ได้เสด็จกลับมาตามทางเป็นที่ไปยังสุรัฐประเทศ มุ่งที่อยู่แห่งสุรัฐประเทศ.
               บทว่า ปงฺกํ ได้แก่ ภูมิภาคอันอ่อนนุ่ม.
               บทว่า วณฺณุปถํ ได้แก่ หนทางมีทรายที่เปรตนิรมิตรไว้.
               บทว่า เขโม แปลว่า ปลอดภัย.
               บทว่า โสวตฺถิโก แปลว่า นำมาซึ่งความสวัสดี.
               บทว่า สิโว แปลว่า ไม่มีอุปัทวันตราย.
               บทว่า สุรฏฺฐานํ สนฺติเก อิโต ได้แก่ พวกเราเมื่อไปตามหนทางเส้นนี้ จักถึงที่ใกล้เมืองสุรัฐที่เดียว.
               บทว่า สุรฏฺโฐ ได้แก่ ผู้เป็นใหญ่ในสุรัฐประเทศ.
               บทว่า อุพฺพิคฺครูโป ได้แก่ ผู้มีความสะดุ้งเป็นสภาวะ.
               บทว่า ภึสนํ ได้แก่ เกิดความกลัวขึ้น.
               บทว่า โลมหํสนํ ได้แก่ เกิดขนพองสยองเกล้า เพราะเป็นหนทางน่ากลัว.
               บทว่า ยมปุริสาน สนฺติเก ได้แก่ อยู่ในที่ใกล้พวกเปรต.
               บทว่า อมานุโส วายติ คนฺโธ ความว่า กลิ่นตัวของพวกเปรตย่อมฟุ้งไป.
               บทว่า โฆโส สุยฺยติ ทารุโณ ความว่า ข้าพระองค์ได้ยินเสียงอันพิลึกน่าสะพึงกลัวของเหล่าสัตว์ผู้กระทำเหตุในนรกโดยเฉพาะ.
               บทว่า ปาทปํ ได้แก่ ต้นไม้อันมีชื่อว่าปาทปะ เพราะเป็นที่ดื่มน้ำทางลำต้นเช่นกับราก.
               บทว่า ฉายาสมฺปนฺนํ แปลว่า มีร่มเงาสนิทดี.
               บทว่า นีลพฺภวณฺณสทิสํ ได้แก่ มีสีเขียวชอุ่มดังสีเมฆ.
               บทว่า เมฆวณฺณสิรีนิภํ ได้แก่ ปรากฏมีสีและสัณฐานคล้ายเมฆ.
               บทว่า ปูรํ ปานียสรกํ ได้แก่ ภาชนะน้ำดื่มอันเต็มด้วยน้ำดื่ม.
               บทว่า ปูเว ได้แก่ ของเคี้ยว.
               บทว่า วิตฺเต ความว่า นายสารถีได้เห็นขนมที่วางไว้เต็มขันนั้นๆ อันให้เกิดความปลื้มใจ มีรสอร่อย เป็นที่ฟูใจ.
               ศัพท์ อโถ ในบทว่า อโถ เต อทุราคตํ นี้เป็นเพียงนิบาต หรือว่า บทว่า อโถ ใช้ในอรรถแห่งอวธารณะ. อธิบายว่า พวกเรารับด้วยความประสงค์ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดี มิใช่เสด็จมาร้าย โดยที่แท้ พระองค์เสด็จมาดีทีเดียว.
               บทว่า อรินฺทม ได้แก่ ผู้มักกำจัดข้าศึก.
               บทว่า อมจฺจา ปาริสชฺชา มีวาจาประกอบความว่า พวกอำมาตย์และปุโรหิตจงฟังคำ และพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิตของท่านจงฟังคำนั้นเถิด.
               บทว่า สุรฏฺฐสฺมึ อหํ แก้เป็น เรา... ในสุรัฐประเทศ. นายสารถี เรียกพระราชาว่า เทวะ.
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐ แปลว่า ผู้เห็นผิดแปลกด้วยนัตถิกทิฏฐิ.
               บทว่า ทุสฺสีโล ได้แก่ ผู้ไม่มีศีล.
               บทว่า กทริโย แปลว่า ผู้มีความตระหนี่เหนียวแน่น.
               บทว่า ปริภาสโก ได้แก่ ผู้ด่าสมณพราหมณ์.
               บทว่า วารยิสฺสํ แปลว่า ได้ห้ามแล้ว.
               บทว่า อนฺตรายกโร อหํ มีวาจาประกอบความว่า เราเป็นผู้กระทำอันตรายต่อชนผู้กำลังให้ทาน ผู้ทำอุปการะ และเราห้ามปรามชนเป็นอันมาก จากบุญอันสำเร็จด้วยทานของชนเหล่าอื่นผู้กำลังให้ทาน.
               บทว่า วิปาโก นตฺถิ ทานสฺส เป็นต้น เป็นบทแสดงอาการที่เราห้ามแล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า วิปาโก นตฺถิ ทานสฺส พระองค์ทรงห้ามวิบากว่า เมื่อบุคคลนั้นให้ทานอยู่ วิบากคือผลที่จะพึงได้รับต่อไป ย่อมไม่มี.
               บทว่า สํยมสฺส กุโต ผลํ ความว่า ก็ผลแห่งศีล จักมีแต่ที่ไหน. อธิบายว่า ผลแห่งศีลนั้นย่อมไม่มีโดยประการทั้งปวง.
               บทว่า นตฺถิ อาจริโย นาม ความว่า ใครๆ ผู้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ ผู้ให้ศึกษาอาจารและสมาจาระ ย่อมไม่มี. อธิบายว่า ก็ว่าโดยสภาวะทีเดียว สัตว์ทั้งหลาย ผู้ฝึกตนแล้ว หรือยังไม่ได้ฝึกตน ย่อมมีได้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ใครจักฝึกผู้ที่ยังไม่ได้ฝึก ดังนี้
               บทว่า สมตุลฺยานิ ภูตานิ ความว่า สัตว์เหล่านี้ทั้งหมดเป็นผู้เสมอกันและกัน. อธิบายว่า ผู้มีความประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ จักมีแต่ที่ไหน คือขึ้นชื่อว่าบุญอันเป็นเหตุให้ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ย่อมไม่มี.
               บทว่า นตฺถิ ผลํ ความว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงอยู่ในกำลังของตนอันใดกระทำความเพียร ย่อมบรรลุสมบัติทั้งหลาย ตั้งต้นแต่ความเป็นผู้เลิศด้วยความสวยงามในหมู่มนุษย์ จนถึงความเป็นพระอรหัตต์ พระองค์ย่อมห้ามกำลังแห่งความเพียรนั้น.
               บทว่า วีริยํ วา นตฺถิ กุโต อุฏฺฐานโปริสํ นี้ ท่านกล่าวได้ด้วยอำนาจการปฏิเสธวาทะที่เป็นไปแล้วอย่างนี้ว่า นี้เป็นไปด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษหามิได้.
               บทว่า นตฺถิ ทานผลํ นาม ความว่า ขึ้นชื่อว่าผลแห่งทานอะไรๆ ย่อมไม่มี. อธิบายว่า การบริจาคไทยธรรมย่อมไร้ผลทีเดียว เหมือนเถ้าที่เขาวางไว้.
               บทว่า เวรินํ ในบทว่า น วิโสเธติ เวรินํ ความว่า ย่อมไม่ทำบุคคลผู้มีเวร คือผู้ทำบาปไว้ด้วยอำนาจเวรและด้วยอำนาจอกุศลธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น ให้หมดจดจากวัตรมีทานและศีลเป็นต้น. คือแม้ในบางคราวก็ไม่ทำให้หมดจดได้.
               บทว่า วิปาโก นตฺถิ ทานสฺส เป็นต้น เป็นบทแสดงอาการที่ตนห้ามคนเหล่าอื่นจากทานเป็นต้นในกาลก่อน แต่บทว่า ชื่อว่าผลแห่งทานย่อมไม่มีเป็นต้น พึงเห็นว่า เป็นบทแสดงการยึดมั่นผิดๆ แห่งตน.
               บทว่า สทฺเธยฺยํ แปลว่า พึงได้.
               เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า ก็พึงได้อย่างไร? ท่านจึงตอบว่า อันเกิดแต่สิ่งที่น้อมมาเองอย่างแน่นอน.
               อธิบายว่า สัตว์นี้ เมื่อได้รับความสุขหรือความทุกข์ ย่อมได้ด้วยอำนาจความแปรปรวนไปอย่างแน่นอนทีเดียว ไม่ใช่เพราะกรรมที่ตนทำไว้เลย และไม่ใช่เพราะพระอิศวรนิรมิตรขึ้นเลย.
               ด้วยบทว่า นตฺถิ มาตา ปิตา ภาตา ท่านกล่าวหมายถึงความไม่มีผลแห่งการปฏิบัติชอบ และการปฏิบัติผิดในมารดาเป็นต้น.
               บทว่า โลโก นตฺถิ อิโต ปรํ ความว่า ชื่อว่าปรโลกไรๆ จากอิธโลกนี้ ย่อมไม่มี. อธิบายว่า สัตว์ย่อมขาดสูญไปในที่นั้นๆ นั่นเอง.
               บทว่า นินฺนํ ได้แก่ มหาทาน.
               บทว่า หุตํ ได้แก่ สักการะเพื่อแขก, ท่านหมายถึงความไม่มีผลทั้งสองนั้นจึงห้ามว่า .
               บทว่า สุนิหิตํ แปลว่า ตั้งไว้ดีแล้ว.
               บทว่า น วิชฺชติ ความว่า ชนทั้งหลายย่อมกล่าวการให้ทานแก่สมณพราหมณ์ว่าเป็นขุมทรัพย์อันเป็นเครื่องติดตามนั้น ย่อมไม่มี. อธิบายว่า ทานที่ให้แก่สมณพราหมณ์นั้น เป็นเพียงวัตถุแห่งคำพูดเท่านั้น.
               บทว่า น โกจิ กญฺจิ หนติ ความว่า บุรุษใดพึงฆ่าบุรุษอื่น คือพึงตัดศีรษะของบุรุษอื่น ในข้อนั้น เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ ใครๆ ย่อมไม่ฆ่าใครๆ ได้ คือย่อมเป็นเสมือนผู้ฆ่า เพราะตัดกายของสัตว์ทั้งหลาย.
               เพื่อจะเลี่ยงคำถามว่า การประหารด้วยศัสตราเป็นอย่างไร ท่านจึงตอบว่า ใช้ศัสตราเข้าไปในระหว่างอันเป็นช่องกาย ๗ ช่อง.
               อธิบายว่า สอดสัตราเข้าไปในระหว่างคือในช่องอันเป็นช่องของกาย ๗ ช่องมีปฐวีเป็นต้น เพราะฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเป็นเหมือนถูกศัสตรามีดาบเป็นต้น สับฟัน แต่แม้กายที่เหลือ ย่อมไม่ขาดไป เพราะมีสภาวะเที่ยง เหมือนมีชีวะ ฉะนั้น.
               บทว่า อจฺเฉชฺชาเภชฺโช หิ ชีโว ความว่า ชีพของเหล่าสัตว์นี้ไม่พึงถูกตัด ไม่พึงถูกทำลายด้วยศัสตราเป็นต้น เพราะมีสภาวะเที่ยง.
               บทว่า อฏฺฐํโส คุฬปริมณฺฑโล ความว่า ก็ชีพนั้นบางคราวมี ๘ เหลี่ยม บางคราวกลมเหมือนงบน้ำอ้อย.
               บทว่า โยชนานํ สตํ ปญฺจ ความว่า ชีพนั้นถึงภาวะล้วน สูงประมาณได้ ๕๐๐ โยชน์.
               ด้วยบทว่า โก ชีวํ เฉตฺตุมรหติ นี้ ท่านกล่าวว่า ใครเล่าควรเพื่อจะตัดชีพอันเที่ยงแท้ คือไม่มีพิการด้วยศัสตราเป็นต้น. คือ ชีพนั้น ใครๆ ไม่ควรให้กำเริบ.
               บทว่า สุตฺตคุเฬ ได้แก่ หลอดด้ายที่เขาม้วนทำไว้.
               บทว่า ขิตฺเต ได้แก่ ซัดไป ด้วยอำนาจไม่ได้คลายออก.
               บทว่า นิพฺเพเฐนฺตํ ปลายติ ความว่า หลอดด้ายอันด้ายคลี่อยู่ที่เขาซัดไปบนภูเขาหรือบนต้นไม้ ย่อมกลิ้งไปได้ คือแต่เมื่อด้ายหมด ก็ไปไม่ได้.
               บทว่า เอวเมวํ ความว่า หลอดด้ายนั้นอันด้ายคลี่คลายอยู่จึงกลิ้งไปได้ เมื่อสิ้นด้ายย่อมไปไม่ได้ฉันใด ชีพนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อคลี่คลายหลอดคือภาวะของสัตว์ ย่อมหนีไปได้ คือย่อมเป็นไปได้ ตลอดเวลาที่กล่าวได้ว่าสิ้นกำหนด ๘,๔๐๐,๐๐๐ มหากัป พ้นจากนั้นหาเป็นไปได้ไม่.
               บทว่า เอวเมว จ โส ชีโว ความว่า คนบางคนออกจากบ้านอันเป็นที่อยู่ของตนแล้วเข้าไปยังบ้านอื่นจากบ้านนั้น ด้วยกรณียะ บางอย่างฉันใด ชีพนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ออกจากร่างนี้แล้ว ก็เข้าไปสู่ร่างอื่นอีก ด้วยอำนาจกำหนดกาล.
               บทว่า โพนฺทึ ได้แก่ ร่างกาย.
               บทว่า จุลฺลาสีติ แปลว่า ๘๔.
               บทว่า มหากปฺปิโน ได้แก่ มหากัป. ในมหากัปป์นั้น อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า เมื่อเทวดาผู้วิเศษนำหยาดน้ำด้วยปลายหญ้าคา ครั้งละหยาดทุกๆ ร้อยปี จากสระใหญ่มีสระอโนดาดเป็นต้นออกไปด้วยความบากบั่นอันนี้ เมื่อสระนั้นแห้งไปถึง ๗ ครั้ง ชื่อว่าเป็นมหากัปอันหนึ่ง จึงกล่าวว่า ๘,๔๐๐,๐๐๐ มหากัปนี้ เป็นประมาณแห่งสงสาร.
               บทว่า เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา ความว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งที่เป็นอันธพาล ทั้งที่เป็นบัณฑิตทั้งหมดนั้น.
               บทว่า สํสารํ เขปยิตฺวาน ความว่า ยังสงสารอันกำหนดด้วยกาลตามที่กล่าวแล้ว ให้สิ้นไปด้วยอำนาจการเกิดร่ำไป.
               บทว่า ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสเร ความว่า จักกระทำความสิ้นสุดแห่งวัฏฏทุกข์. สงสารนั้นมีการกำหนดว่า ทั้งบัณฑิตก็ไม่สามารถจะชำระตนให้หมดจดในระหว่างได้ ถัดจากนั้นถึงพวกชนพาลก็เป็นไปไม่ได้เลย.
               บทว่า มิตานิ สุขทุกฺขานิ โทเณหิ ปิฏเกหิ จ ความว่า ชื่อว่าสุขทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย เป็นเหมือนนับด้วยทะนาน ด้วยตะกร้า ได้แก่ด้วยภาชนะเป็นเครื่องนับ และสุขทุกข์ของเหล่าสัตว์นั้นๆ เกิดแต่การน้อมไปอย่างแน่นอน เป็นอันปริมาณได้โดยเฉพาะ เพราะปริมาณได้โดยกำหนดตามกาลที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               พระชินเจ้าย่อมทราบเรื่องนี้นั้นทั้งหมด คือท่านผู้ดำรงอยู่ชินภูมิย่อมรู้ชัดอย่างเดียว เพราะก้าวล่วงสงสารได้ ส่วนหมู่สัตว์นอกนั้นผู้ลุ่มหลงย่อมวนเวียนอยู่ในสงสาร.
               บทว่า เอวํทิฏฺฐิ ปุเร อาสึ ความว่า เมื่อก่อนข้าพระองค์ได้เป็นนัตถิกทิฏฐิบุคคล ตามที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า สมฺมูฬฺโห โมหปารุโต ได้แก่ เป็นคนหลงเพราะสัมโมหะ อันเป็นเหตุแห่งทิฏฐิตามที่กล่าวแล้ว. อธิบายว่า ก็คนผู้ถูกโมหะอันเกิดพร้อมด้วยทิฏฐินั้นครอบงำ คือเป็นดุจพืชแห่งหญ้าคาที่ปิดบังไว้.
               นันทกเปรตครั้นแสดงบาปกรรมที่ตนทำด้วยอำนาจความเห็นชั่วอันเกิดขึ้นแก่ตนในกาลก่อนอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงผลแห่งบาปกรรมนั้นที่ตนจะต้องเสวยในอนาคต จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ภายใน ๖ เดือนเราจักตาย ดังนี้
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วสฺสานิ สตสหสฺสานิ ได้แก่ แสนปี.
               บาลีที่เหลือว่า แปลว่า ล่วง บัณฑิตพึงนำมาเชื่อมเข้า.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า วสฺสานิ สตสหสฺสานิ นี้เป็นปฐมาวิภัติ ใช้ในอรรถสัตตมีวิภัติ. อธิบายว่า เมื่อแสนปีล่วงไปแล้ว.
               บทว่า โฆโส สุยฺยติ ตาวเท ความว่า ในขณะที่เวลามีประมาณเท่านี้ล่วงไปนั่นแหละ เราได้ยินเสียงในนรกนั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เวลาของพวกท่านผู้ไหม้อยู่ในนรกนี้ ล่วงไปประมาณหนึ่งแสนปี.
               บทว่า ลกฺโข เอโส มหาราช สตภาควสฺสโกฏิโย ความว่า ข้าแต่มหาราช ๑๐๐ ส่วนโกฏิปีจัดเป็นกำหนด คือเป็นเขตกำหนดอายุของสัตว์ทั้งหลายผู้ไหม้อยู่ในนรก.
               ท่านกล่าวคำอธิบายนี้ไว้ว่า ๑๐ ทสกะเป็น ๑๐๐. ๑๐ ร้อยเป็น ๑,๐๐๐. สิบพัน ๑๐ หนเป็น ๑๐๐,๐๐๐, ร้อยแสนเป็น ๑ โกฏิ, แสนโกฏิปีด้วยอำนาจโกฏิเหล่านั้น จัดเป็นหนึ่งร้อยโกฏิปี.
               ก็ร้อยโกฏิปีนั้นแล พึงทราบด้วยการคำนวณปีเฉพาะสัตว์นรก ไม่ใช่สำหรับมนุษย์หรือเทวดา. แสนโกฏิปีเป็นอันมากเช่นนี้เป็นอายุของสัตว์นรก ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชนผู้ไหม้อยู่ในนรกสิ้นแสนโกฏิปี ดังนี้. สัตว์ทั้งหลายผู้ไหม้อยู่ในนรกเช่นนี้ เพราะกรรมเช่นใด เพื่อจะแสดงบาปกรรมเช่นนั้นโดยคำลงท้าย ท่านจึงกล่าวว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นคนทุศีล และเป็นผู้กล่าวร้ายพระอริยะ ดังนี้.
               บทว่า เวทิสฺสํ แปลว่า จักได้เสวยแล้ว.
               นันทกเปรตครั้นแสดงผลแห่งความชั่วที่ตนจะพึงเสวยในอนาคตอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ประสงค์จะทูลเรื่องที่พระราชาตรัสถามว่า ท่านมีอานุภาพอย่างนี้เพราะพรหมจรรย์อะไร ดังนี้แล้วจะให้พระราชานั้นดำรงอยู่ในสรณะและศีล จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์โปรดทรงสดับ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีเลสุโปสเถ รตา ได้แก่ ยินดีแล้วในนิจศีลและอุโบสถศีล.
               บทว่า อทา แปลว่า ได้ให้แล้ว.
               บทว่า ตํ ธมฺมํ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ และอมตบทนั้น.
               พระราชาอันเปรตชักชวนให้สมาทานศีลและสรณะอย่างนี้แล้ว มีพระทัยเลื่อมใส เบื้องต้นจึงระบุถึงอุปการะที่เปรตนั้นกระทำแก่พระองค์ เมื่อจะตั้งอยู่ในสรณะเป็นต้น จึงกล่าวคาถา ๓ คาถามีอาทิว่า ผู้ปรารถนาความเจริญ ดังนี้
               เมื่อจะทรงประกาศถึงความที่ทรงละทิฏฐิชั่วที่พระองค์ยึดถือในกาลก่อน จึงตรัสคาถาว่า เราโปรย (แกลบในที่ลมแรง) เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอผุณามิ มหาวาเต ความว่า ดูก่อนเทวดา เราจะโปรยคือขจัดทิฏฐิชั่วนั้น ณ ที่ลมคือธรรมเทศนาของท่าน เหมือนโปรยแกลบไปที่ลมแรงซึ่งกำลังพัดอยู่.
               บทว่า นทิยา วา สีฆคามิยา อธิบายว่า หรือว่าเราจะลอยทิฏฐิชั่วเหมือนลอยหญ้า ไม้ ใบไม้และสะเก็ดลงในแม่น้ำใหญ่ที่มีกระแสอันเชี่ยว.
               บทว่า วมามิ ปาปิกํ ทิฏฺฐึ ความว่า เราจะละทิ้งทิฏฐิชั่วที่อยู่ในใจของเรา.
               พระราชากล่าวเหตุในข้อนั้นว่า ยินดีแล้วในพระศาสนาดังนี้.
               มีวาจาประกอบความว่า เพราะเหตุที่เรายินดีคือยินดียิ่งในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายอันนำอมตะมาโดยส่วนเดียว ฉะนั้น เราจะคายพิษคือทิฏฐินั้น.
               คาถาสุดท้ายว่า ดังนี้ พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายได้ตั้งไว้แล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาโมกฺโข ได้แก่ บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออก.
               บทว่า รถมารุหิ ความว่า พระราชาเสด็จขึ้นสู่ราชรถของพระองค์อันเป็นรถพระที่นั่งเสด็จ ครั้นเสด็จขึ้นแล้วได้ถึงพระนครของพระองค์ในวันนั้นนั่นเอง ด้วยอานุภาพของเทวดา แล้วเสด็จเข้าพระราชวัง.
               สมัยต่อมา ท้าวเธอตรัสบอกเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย.
               ภิกษุทั้งหลายจึงแจ้งเรื่องนั้นแก่พระเถระทั้งหลาย.
               พระเถระทั้งหลายจึงยกขึ้นสู่สังคายนาในตติยสังคีติ.

               จบอรรถกถานันทกเปตวัตถุที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔ ๓. นันทิกาเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 122อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 123อ่านอรรถกถา 26 / 124อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4590&Z=4708
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=5808
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=5808
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :