ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 193 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 195 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 197 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา มักกฏชาดก
ว่าด้วย ลิง

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุหลอกลวงรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ตาต มาณวโก เอโส ดังนี้.
               เรื่องราวจักมีแจ้งใน อุททาลกชาดก ในปกิณณกนิบาต.
               ก็ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้มิใช่หลอกลวงในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน ก็เกิดเป็นลิงได้หลอกลวง เพราะเรื่องไฟ แล้วตรัสนำเรื่องอดีตมาเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ หมู่บ้านกาสี ครั้นเจริญวัย เรียนศิลปศาสตร์ในเมืองตักกสิลา ดำรงตนเป็นฆราวาส. ครั้นต่อมา พราหมณีภรรยาของพราหมณ์นั้นคลอดบุตรคนหนึ่ง เมื่อบุตรวิ่งเที่ยวไปมาได้ พราหมณีก็ถึงแก่กรรม. พระโพธิสัตว์กระทำฌาปนกิจนางแล้วคิดว่า เราจะอยู่ครองเรือนไปทำไม จึงละพรรคพวกญาติมิตรซึ่งพากันร่ำไห้ พาบุตรเข้าไปยังป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤๅษี มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร พำนักอยู่ ณ ที่นั้น.
               วันหนึ่ง เมื่อฝนตกในฤดูฝน พระโพธิสัตว์ก่อไฟผิง นอนอยู่บนเครื่องลาดกระดาน แม้บุตรของท่านซึ่งเป็นดาบสกุมาร ก็นั่งนวดเท้าของบิดา มีลิงป่าตัวหนึ่งถูกความหนาวเบียดเบียน เห็นไฟที่บรรณศาลาของพระโพธิสัตว์ จึงคิดว่า หากเราจักเข้าไปในบรรณศาลานี้ เขาจักร้องว่า ลิง ลิง แล้วโบยนำเราออกไป เราก็จักไม่ได้ผิงไฟ เอาละบัดนี้เรามีอุบายอย่างหนึ่ง เราจะปลอมเป็นดาบสทำการลวงเข้าไป จึงนุ่งผ้าเปลือกไม้ของดาบสที่ตายแล้วคนหนึ่ง ถือกระเช้าขอและไม้เท้า อาศัยตาลต้นหนึ่งที่ประตูบรรณศาลา ยืนสั่นอยู่.
               ดาบสกุมารเห็นมันก็ไม่รู้ว่าเป็นลิง จึงบอกแก่ดาบสว่า มีดาบสแก่รูปหนึ่งถูกความหนาวเบียดเบียน คงจะมาขอผิงไฟ แล้วคิดว่า ควรจะให้เข้าไปผิงยังบรรณศาลาหลังหนึ่ง เมื่อจะพูดกะบิดา จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-

               พ่อจ๋า มาณพนั้นมายืนพิงต้นตาลอยู่ อนึ่ง เรือนของเรานี้ก็มีอยู่ ถ้ากระไร เราจะให้เรือนแก่มาณพนั้น.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า มาณวโก เป็นชื่อของสัตว์. ท่านแสดงว่า พ่อจ๋า นั่นมาณพคือสัตว์ชนิดหนึ่ง คือดาบสรูปหนึ่ง. บทว่า ตาลมูลํ อปสฺสิโต ได้แก่ยืนพิงต้นตาลอยู่. บทว่า อคารกญฺจิทํ อตฺถิ ได้แก่ เรามีบ้านของนักบวชนี้ คือหมายถึงบรรณศาลา. บทว่า หนฺท เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งความเตือน. บทว่า เทมสฺส คารกํ ความว่า เราจะให้เรือนดาบสนี้อยู่ส่วนหนึ่ง.

               พระโพธิสัตว์ได้ยินคำของบุตร จึงลุกขึ้นไปยืนดูที่ประตูบรรณศาลา รู้ว่าสัตว์นั้นเป็นลิง จึงบอกลูกว่า ลูกเอ๋ย ธรรมดามนุษย์หน้าไม่เป็นอย่างนี้ดอก ลูกไม่ควรเรียกลิงเข้ามาในที่นี้ แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

               ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าเรียกมันมาเลย มันเข้ามาแล้วจะทำลายเรือนของเรา หน้าของพราหมณ์ผู้มีศีลบริสุทธิ์ไม่เป็นอย่างนี้ดอก.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทูเสยฺย โน อคารกํ ความว่า เจ้าสัตว์นี้แหละเข้าไปในบรรณศาลานี้ จะทำลายเอาไฟเผาบรรณศาลาซึ่งทำได้ลำบากนี้เสีย หรือถ่ายอุจจาระเป็นต้น รดไว้. บทว่า เนตาทิสํ ได้แก่ หน้าของพราหมณ์ผู้มีศีลบริสุทธิ์ไม่เป็นเช่นนี้.

               พระโพธิสัตว์ ครั้นบอกว่านั่นลิงดังนี้แล้ว จึงคว้าคบไฟได้ดุ้นหนึ่ง ตวาดว่า เจ้าจะอยู่ที่นี่ทำไมแล้วขว้างให้มันหนีไป ลิงก็ทิ้งผ้าเปลือกไม้ วิ่งขึ้นต้นไม้เข้าป่าไป.
               พระโพธิสัตว์เจริญพรหมวิหาร ๔ ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
               ลิงในครั้งนั้น ได้เป็น ภิกษุหลอกลวงในครั้งนี้
               ดาบสกุมารได้เป็น ราหุล
               ส่วนดาบส คือ เราตถาคต นี้แล.

.. อรรถกถา มักกฏชาดก ว่าด้วย ลิง จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 193 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 195 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 197 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1237&Z=1243
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=37&A=1775
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=37&A=1775
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :