ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 284อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 285อ่านอรรถกถา 31 / 286อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
มหากรุณาสมาปัตติญาณนิทเทส

               ๗๑. อรรถกถามหากรุณาญาณนิทเทส               
               [๒๘๕] พึงทราบวินิจฉัยในมหากรุณาญาณนิทเทสดังต่อไปนี้.
               บทว่า พหุเกหิ อากาเรหิ - ด้วยอาการเป็นอันมาก คือด้วยประการ ๘๙ อย่างซึ่งจะกล่าวในบัดนี้
               บทว่า ปสฺสนฺตานํ - ทรงพิจารณาเห็นอยู่ คือทรงตรวจตราอยู่ด้วยญาณจักษุและด้วยพุทธจักษุ.
               บทว่า โอกฺกมติ - ทรงแผ่ คือทรงหยั่งลง ทรงเข้าไป.
               บทว่า อาทิตฺโต คือ อันไฟติดโชนแล้ว ด้วยสภาพความเร่าร้อนจากการถูกเบียดเบียนด้วยทุกขลักษณะ.
               พึงทราบว่า ท่านกล่าวว่า อาทิตฺโต ด้วยสามารถทุกขลักษณะแห่งสังขตธรรมทั้งปวง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ๑- - สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ และด้วยสามารถทุกขลักษณะครั้งแรก เพราะถูกทุกข์บีบคั้น และเพราะพระกรุณาเป็นรากฐาน. จักกล่าวความเป็นของร้อนด้วยราคะเป็นต้นข้างหน้า.
____________________________
๑- สํ. ขนฺธ. เล่ม ๑๗/ข้อ ๔๒

               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อาทิตฺโต คือ ร้อนด้วยราคะเป็นต้นนั่นแหละ, ส่วนข้างหน้า พึงทราบว่า ท่านกล่าวอีกด้วยสามารถการเพ่งเล็งถึงอรรถว่าไม่มีอะไรๆ อื่นดับความร้อนคือราคะนั้นได้.
               บทว่า โลกสนฺนิวาโส - โลกสันนิวาส ได้แก่ เบญจขันธ์ชื่อว่าโลก ด้วยอรรถว่าสลายไป. ชื่อว่าสันนิวาส เพราะเป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลายด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ. ที่อาศัยคือโลกนั่นแหละ ชื่อว่าโลกสันนิวาส. แม้หมู่สัตว์ก็ชื่อว่าโลกสันนิวาส เพราะเป็นที่อาศัยของสัตวโลก ที่เรียกกันว่าสัตว์ เพราะอาศัยขันธสันดานอันเป็นทุกข์. แม้โลกสันนิวาสนั้นก็เป็นไปกับด้วยขันธ์เหมือนกัน.
               บทว่า อุยฺยุตฺโต - โลกสันนิวาสยกพลแล้ว คือทำความพยายาม ทำความอุตสาหะ เพราะขวนขวายเป็นนิจในกิจหลายอย่าง.
               อธิบายว่า มีความขวนขวายในสรรพกิจทั้งหลาย. หรือประกอบด้วยความพยายาม คือขวนขวาย.
               บทว่า ปยาโต - โลกสันนิวาสเคลื่อนพลแล้ว คือเริ่มจะไปตายด้วยถึงความไม่มั่นคงดุจแม่น้ำซึ่งเกิดจากภูเขา.
               บทว่า กุมฺมคฺคํ ปฏิปนฺโน - โลกสันนิวาสเดินผิดแล้ว คือเดินทางผิดอย่างเลวร้าย. ส่วนข้างหน้าท่านกล่าวต่างกันด้วยบทต่างๆ ว่า วิปถปกฺขนฺโต - แล่นไปผิดทาง.
               บทว่า อุปนียติ - โลกอันชรานำเข้าไป คืออันชรานำเข้าไปหามรณะ. เพราะท่านกล่าวชราว่า อายุโน สํหานิ๒- ความเสื่อมแห่งอายุ.
____________________________
๒- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๖

               บทว่า อทฺธุโว - มิได้ยั่งยืน คือไม่มั่นคง ไม่เป็นอย่างนั้นตลอดกาลเพราะไม่ยั่งยืน ฉะนั้น บทว่า อทฺธุโว นี้ กล่าวถึงเหตุของบทก่อนว่า อุปนียติ - อันชรานำเข้าไป.
               ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวถึงชราทุกข์พร้อมด้วยเหตุ.
               วิญญูชนทั้งหลาย ครั้นเห็นชราทุกข์นั้นแล้ว แม้จะไม่มีความเสื่อมเพราะชราก็ออกบวช.
               บทว่า อตาโณ - โลกไม่มีที่ต้านทาน คือไม่มีความสามารถที่จะต้านทานคือรักษาไว้ได้. อธิบายว่า ไม่มีเครื่องป้องกัน.
               บทว่า อนภิสฺสโร - ไม่เป็นใหญ่ คือไม่มีความสามารถที่จะปลอบใจ เพราะขาดผู้ช่วยเหลือ.
               อธิบายว่า ไม่มีเพื่อน เพราะไม่เป็นใหญ่ ฉะนั้น บทว่า อนภิสฺสโร นี้เป็นคำกล่าวถึงเหตุของบทก่อนว่า อตาโณ.
               ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวถึงทุกข์เกิดจากความพลัดพรากจากของที่รัก พร้อมด้วยเหตุ.
               วิญญูชนทั้งหลาย ครั้นเห็นทุกข์เกิดจากความพลัดพรากจากของที่รักนั้น แม้จะยังไม่มีการเสื่อมจากญาติก็ออกบวช.
               บทว่า อสฺสโก - ไม่มีอะไรเป็นของตน คือไม่มีสิ่งของเป็นของตน.
               บทว่า สพฺพํ ปหาย คมนียํ - จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป คือสัตวโลกจำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงที่กำหนดว่าเป็นสิ่งของของตนไป. เพราะจำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป, ฉะนั้น บทนี้เป็นบทกล่าวถึงเหตุของบทก่อนว่า อสฺสโก.
               ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวถึงมรณทุกข์พร้อมด้วยเหตุ.
               วิญญูชนทั้งหลาย ครั้นเห็นมรณทุกข์นั้นแล้ว แม้จะยังไม่มีความเสื่อมจากโภคะก็ออกบวช.
               ในที่อื่นท่านกล่าวว่า๓- กมฺมสฺสกา มาณว สตฺตา - ดูก่อนมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน.
               ส่วนในที่นี้ และในรัฏฐปาลสูตร ท่านกล่าวว่า๔- อสฺสโก โลโก - โลกไม่เป็นของตน.
____________________________
๓- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๕๘๑  ๔- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๔๔๖

               หากถามว่า บทนั้นถูกอย่างไร?
               ตอบว่า ท่านกล่าวว่า อสฺสโก - ไม่เป็นของตน หมายถึงละไป. ส่วนกรรมไม่ละไป. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กมฺมสฺสกา - สัตว์มีกรรมเป็นของตน.
               อนึ่ง ในรัฏฐปาลสูตรนั่นแหละ ท่านกล่าวบทนี้ไว้อย่างนี้ว่า๕- ตฺวํ ปน ยถากมฺมํ คมิสฺสสิ - ท่านจักไปตามกรรม.
____________________________
๕- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๔๔๙

               บทว่า อูโน - โลกพร่อง คือไม่มีเต็ม.
               บทว่า อติตฺโต - โลกไม่รู้จักอิ่ม คือไม่พอใจด้วยปรารถนายิ่งๆ ขึ้น.
               บทนี้เป็นบทกล่าวถึงเหตุแห่งความพร่อง .
               บทว่า ตณฺหาทาโส - เป็นทาสแห่งตัณหา คือ เป็นทาสแห่งตัณหา เพราะเป็นไปในอำนาจของตัณหา. บทนี้เป็นคำกล่าวถึงเหตุแห่งความไม่อิ่ม.
               ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวถึงพยาธิทุกข์ พร้อมด้วยเหตุด้วยอ้างถึงโรค คือความอยาก.
               วิญญูชนทั้งหลาย ครั้นเห็นพยาธิทุกข์นั้นแล้ว แม้จะยังไม่มีความเสื่อมจากพยาธิก็ออกบวช.
               บทว่า อตายโน - โลกสันนิวาสไม่มีที่ต้านทาน คือไม่มีการป้องกัน เพราะไม่มีที่ต้านทานแม้จากมูลเป็นต้น หรือไม่พึงได้ความปลอดภัย.
               บทว่า อเลโณ - โลกสันนิวาสไม่มีที่เร้น คือไม่มีที่ลับเพื่อจะเกี่ยวข้อง คืออาศัยอยู่ได้ และไม่ทำกิจคือความเร้น แม้ของผู้ที่ติดแน่น.
               บทว่า อสรโณ - โลกสันนิวาสไม่มีที่พึ่ง คือไม่นำภัยของผู้อาศัยออกไป ไม่ทำให้หมดภัย.
               บทว่า อสรณีภูโต - โลกสันนิวาสไม่เป็นที่พึ่งของใคร.
               อธิบายว่า ชื่อว่า อสรโณ เพราะไม่มีการเกิดในเมืองของตน. ชื่อว่า อสรณีภูโต เพราะไม่เป็นที่พึ่งได้ตลอดกาลที่เกิดนั่นเอง.
               บทว่า อุทฺธโต - โลกฟุ้งซ่าน คือโลกมีความพร้อมด้วยอกุศล เพราะเกิดความฟุ้งซ่านในอกุศลทั้งปวง และเพราะมากไปด้วยอกุศลเกิดในสันดานสัตว์ ชื่อว่าฟุ้งซ่าน ด้วยอุทธัจจะนั้น.
               บทว่า อวูปสนฺโต - โลกไม่สงบ คือไม่สงบ เพราะประกอบด้วยอุทธัจจะอันมีลักษณะไม่สงบ เปรียบเหมือนมฤคหมุนเคว้ง.
               บทว่า โลโก มาแล้ว ในฐานะ ๔ มีอาทิว่า อุปนียติ โลโก และในฐานะ ๕ ว่า อุทฺธโต โลโก, มาแล้ว ในบทที่เหลือว่า โลกสนฺนิวาโส.
               แม้ในบททั้งสองนั้นก็เป็นโลกอย่างเดียวกัน.
               บทว่า สสลฺโล - โลกสันนิวาสมีลูกศร คือเป็นไปกับด้วยลูกศรมีราคะเป็นต้น ที่ชื่อว่าลูกศร เพราะให้เกิดความบีบคั้น เพราะเจาะเข้าไปในภายใน และเพราะนำออกยาก.
               บทว่า วิทฺโธ - ถูกลูกศรเสียบแทงแล้ว คือมฤคเป็นต้นบางครั้งถูกผู้อื่นแทง, แต่โลกคือหมู่สัตว์นี้ ตนเองเท่านั้นถูกแทงตลอดเวลา.
               บทว่า ปุถุสลฺเลหิ - ลูกศรจำนวนมาก คือถูกลูกศร ๗ ลูกที่ท่านกล่าวไว้ว่า ลูกศร ๗ ลูก คือ ลูกศรคือราคะ ๑ ลูกศรคือโทสะ ๑ ลูกศรคือโมหะ ๑ ลูกศรคือมานะ ๑ ลูกศรคือทิฏฐิ ๑ ลูกศรคือกิเลส ๑ ลูกศรคือทุจริต ๑.
               บทว่า ตสฺส คือ ของโลกสันนิวาสนั้น.
               บทว่า สลฺลานํ อุทฺธตา - ผู้จะถอนลูกศรทั้งหลาย คือบุคคลผู้จะถอนลูกศรเหล่านั้นจากสันดานสัตว์.
               บทว่า อญฺญตฺร มยา คือ เว้นเรา. สาวกเหล่าใดของพระผู้มีพระภาคเจ้าถอนลูกศรได้, เพราะสาวกเหล่านั้นถอนได้ตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นถอนได้.
               บทว่า อวิชฺชนฺธการาวรโณ - โลกสันนิวาสมีความมืดตื้อ คืออวิชชาปิดกั้นไว้ ชื่อว่าความมืดตื้อคืออวิชชา เพราะอวิชชานั่นแหละทำดุจความมืดด้วยปกปิดความเห็นสภาวธรรม, อวิชชานั้นนั่นแหละชื่อว่าความมืดตื้อคืออวิชชา ปิดกั้นไว้ เพราะมีเครื่องปกปิดด้วยห้ามการหยั่งลงสู่สภาวธรรม.
               บทว่า กิเลสปญฺชรปกฺขิตฺโต - ถูกใส่เข้าไปยังกรงกิเลส คือชื่อว่ากรงกิเลส เพราะกิเลสนั่นแหละเป็นกรง ด้วยปิดการเข้าถึงกุศล, ถูกใส่คือให้ตกไปในกรงกิเลส อันมีอวิชชาเป็นแดนเกิด.
               บทว่า อาโลกํ ทสฺเสตา - จะแสดงเป็นแสงสว่าง คือมีปกติเห็นแสงสว่างคือปัญญา ชื่อว่าจะแสดงการเห็นแสงสว่างด้วยปัญญา
               บทว่า อวิชฺชาคโต - โลกสันนิวาสตกอยู่ในอำนาจอวิชชา คือเข้าไปสู่อวิชชา, มิใช่เพียงปิดกั้นด้วยอวิชชาอย่างเดียว, ที่แท้เข้าไปภายในฝักของอวิชชา ดุจไปในที่รกชัฏ. เพราะเหตุนั้น จึงแปลกจากบทก่อน.
               บทว่า อณฺฑภูโต คือ เกิดในฟอง.
               เหมือนอย่างว่า สัตว์บางพวกเกิดในฟอง ท่านเรียกว่า อณฺฑภูตา ฉันใด. โลกนี้ ท่านเรียกว่า อณฺฑภูโต เพราะเกิดในฟองและฝักของอวิชชา.
               บทว่า ปริโยนทฺโธ - อันอวิชชาหุ้มห่อไว้ คือถูกหุ้มห่อผูกพันไว้ด้วยฟองและฝักคืออวิชชาโดยรอบ.
               บทว่า ตนฺตากุลชาโต คือ ยุ่งดุจเส้นด้าย.
               เหมือนอย่างว่า เส้นด้ายของช่างหูกเก็บไว้ไม่ดีถูกหนูกัด ย่อมยุ่งเหยิงในที่นั้นๆ เป็นการยากที่จะตีราคาให้สมค่า หรือสมราคาว่า นี้มีราคาเท่านี้ มีค่าเท่านี้ฉันใด. สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นผู้พลาดพลั้ง ยุ่งยากวุ่นวายในปัจจยาการ ย่อมไม่อาจทำปัจจยาการให้ตรงได้.
               ช่างหูกผู้ตั้งอยู่ในความชำนาญเฉพาะตน ก็สามารถทำเส้นด้ายให้ตรงได้.
               แต่สัตว์อื่น เว้นพระโพธิสัตว์ ชื่อว่าสามารถจะทำปัจจยาการให้ตรงได้ โดยธรรมดาของตนย่อมไม่มี.
               อนึ่ง เหมือนอย่างว่า เส้นด้ายที่ยุ่งช่างหูกเอาไปคลุกน้ำข้าวแล้วขยำก็จะเกิดติดเนื่องกันและพันกันเป็นปมฉันใด. โลกนี้ก็ฉันนั้น ครั้นพลาดในปัจจัยทั้งหลาย ไม่อาจทำปัจจัยทั้งหลายให้ตรงได้ ย่อมเกิดดำพันเป็นปมด้วยอำนาจทิฏฐิ ๖๒. สัตว์บางจำพวกเหล่าใดอาศัยทิฏฐิทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นไม่อาจทำปัจจัยให้ตรงได้.
               บทว่า คุลาคุณฺฐิกชาโต - พันกันเป็นกลุ่มก้อน คือเป็นดุจกลุ่มก้อน. ด้ายคลุกน้ำข้าวของช่างหูก ท่านกล่าวว่า เป็นกลุ่มก้อน.
               อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า รังนก ชื่อว่าคุลา ความยุ่งยากแม้ทั้งสองนั้นยากที่จะทำค่าหรือราคาให้เท่ากันได้.
               บทว่า มุญฺชปพฺพชภูโต - นุงนังดังหญ้าปล้องและหญ้ามุงกระต่าย คือเป็นดุจหญ้าปล้องและหญ้ามุงกระต่าย เกิดเป็นเช่นกับหญ้าปล้องและหญ้ามุงกระต่าย. ทุบหญ้าเหล่านั้นทำเชือก ในเวลาเชือกขาดถือเอาเชือกที่ตกไปในที่ใดที่หนึ่งแล้ว ยากที่จะตีราคาหญ้าเหล่านั้นให้มีค่าหรือมีราคาเหมาะสมว่า นี้มีค่าเท่านี้ มีราคาเท่านี้.
               ช่างตั้งอยู่ในความเป็นผู้ชำนาญเฉพาะตน ก็พึงสามารถทำให้หญ้านั้นตรงได้.
               แต่สัตว์อื่นเว้นพระโพธิสัตว์ ชื่อว่าสามารถจะทำปัจจยาการให้ตรงได้ตามธรรมดาของตนย่อมไม่มี ฉันใด. โลกนี้ก็ฉันนั้น ไม่สามารถจะทำปัจจยาการให้ตรงได้ เกิดเป็นเครื่องร้อยรัดด้วยอำนาจทิฏฐิ ๖๒ ย่อมไม่พ้นอบาย ทุคติ วินิบาต สงสารไปได้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อปาโย ได้แก่ นรก กำเนิดเดียรฉาน เปตติวิสัย อสุรกาย. ทั้งหมดนั้น ท่านเรียกว่า อบาย เพราะไม่มีความเจริญ คือความรู้.
               อนึ่ง ชื่อว่า ทุคติ เพราะเป็นทางไปของทุกข์.
               ชื่อว่า วินิบาต เพราะความสุขตกไปจากกาย.
               ส่วนสงสารนอกนี้ ท่านกล่าวว่า
                         ขนฺธานญฺจ ปฏิปาฏิ     ธาตุอายตนาน จ
                         อพฺโพจฺฉินฺนํ วตฺตมานํ  สํสาโร ปวุจฺจติ.
                         ลำดับแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ ยังไม่ขาดสาย
                         ยังเป็นไปอยู่ ท่านเรียก สงสาร ดังนี้.
               ไม่ล่วงเลยสงสารนั้นแม้ทั้งหมดไปได้. ที่แท้เมื่อยังถือจุติและปฏิสนธิบ่อยๆ อย่างนี้ คือจากจุติถือเอาปฏิสนธิ จากปฏิสนธิถือเอาจุติ ย่อมหมุนเวียนในภพ ๓ ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในวิญญาณฐิติ ๗ ในสัตตาวาส ๙ ดุจเรือที่ถูกลมพัดไปในมหาสมุทร และดุจโคที่ถูกเทียมด้วยยนต์ ฉะนั้น.
               บทว่า อวิชฺชาวิสโทสสลฺลิตฺโต - โลกสันนิวาสถูกอวิชชา มีโทษเป็นพิษแทงติดอยู่ ชื่อว่าอวิชชามีโทษ เพราะอวิชชานั่นแหละเป็นโทษ เพราะยังชีวิตที่เป็นกุศลให้พินาศไปด้วยความเกิดแห่งอกุศล. พิษคืออวิชชานั่นแหละ. ชื่อว่าอวิชชามีโทษเป็นพิษ เพราะประทุษร้ายสันดาน. ชื่อว่าอวิชชามีโทษเป็นพิษแทงติดอยู่ เพราะติดทาไว้ด้วยอนุสัยกิเลส ปริยุฏฐานกิเลสและทุจริตนั้นอย่างแรง.
               บทว่า กิเลสกลลีภูโต - มีกิเลสเป็นโทษ. ชื่อว่า กิเลสกลลํ เพราะกิเลสมีอวิชชาเป็นต้น เป็นมูล เป็นกลละ คือเปือกตม เพราะอรรถว่าจม. ชื่อว่า กิเลสกลลี เพราะมีกิเลสนั้นเป็นดังเปือกตม. เป็นอย่างนั้น.
               บทว่า ราคโทสโมหชฏาชฏิโต - โลกสันนิวาสรกชัฏด้วยราคะโทสะโมหะ คือราคะ โทสะ โมหะอันเป็นโลภะ ปฏิฆะและอวิชชา ชื่อชฏา เพราะเกิดบ่อยๆ ทั้งเบื้องล่างเบื้องบนในอารมณ์มีรูปเป็นต้น ดุจรกชัฏกล่าวคือข่ายกิ่งพุ่มไม้ไผ่เป็นต้น โดยสภาพที่เกี่ยวพันกัน. รกชัฏด้วยความรกคือราคะ โทสะและโมหะนั้น.
               อธิบายว่า โลกนี้รกชัฏคือผูก ร้อยรัดด้วยความรกนั้นเหมือนไม้ไผ่เป็นต้น รกด้วยความรกของไม้ไผ่เป็นต้น.
               บทว่า ชฏํ วิชเฏตา - สะสางรกชัฏ คือสะสาง ตัด ทำลายรกชัฏนี้ สะสางโลกอันเป็นไตรธาตุ แล้วตั้งอยู่อย่างนี้ได้.
               บทว่า ตณฺหาสงฺฆาฏปฺปฏิมุกฺโก - โลกสันนิวาสถูกกองตัณหาสวมไว้ ชื่อว่ากองตัณหา เพราะตัณหานั่นแหละยังไม่ขาดสายยังเป็นไปแล้ว ชื่อว่ากอง เพราะยังสืบต่ออยู่. ชื่อว่ากองตัณหาสวมไว้ เพราะสวมเข้าไปภายในในกองตัณหานั้น.
               บทว่า ตณฺหาชาเลน โอตฺถโฏ - โลกสันนิวาสถูกข่ายตัณหาครอบไว้. ชื่อว่าข่ายตัณหา เพราะตัณหานั่นแหละเป็นข่าย โดยร้อยรัดไว้ตามนัยดังกล่าวแล้วในก่อน. โลกสันนิวาสถูกข่าย คือตัณหาครอบปิดพันไว้โดยรอบ.
               บทว่า ตณฺหาโสเตน วุยฺหติ - โลกสันนิวาสถูกกระแสตัณหาพัดไป. ชื่อว่ากระแสตัณหา เพราะตัณหานั่นแหละเป็นกระแส โดยคร่าไปในสงสาร, โลกสันนิวาสถูกกระแสตัณหานั้นพัดไป คือคร่าไป.
               บทว่า ตณฺหาสญฺโญชเนน สญฺญุตฺโต - โลกสันนิวาสถูกตัณหาเป็นเครื่องคล้อง คล้องไว้. ชื่อว่าตัณหาเป็นเครื่องคล้อง เพราะตัณหานั่นแหละเป็นเครื่องคล้อง เพราะคล้องคือผูกสัตวโลกไว้ในวัฏฏะ. โลกสันนิวาสถูกตัณหาเป็นเครื่องคล้องนั้นคล้องไว้คือผูกไว้.
               บทว่า ตณฺหานุสเยน อนุสโฏ - โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะตัณหานุสัย. ชื่อว่าตัณหานุสัย เพราะตัณหานั่นแหละเป็นอนุสัยโดยนอนเนื่องในสันดาน. โลกสันนิวาสซ่านไป ตามไป ไปอย่างแรง ด้วยตัณหานุสัยนั้น.
               บทว่า ตณฺหาสนฺตาเปน สนฺตปฺปติ - โลกสันนิวาสเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะตัณหา. ชื่อว่าเดือดร้อน เพราะตัณหานั่นแหละยังโลกให้เดือดร้อน ในกาลเป็นไปและในกาลแห่งผล. โลกสันนิวาสเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อน เพราะตัณหานั้น.
               บทว่า ตณฺหาปริฬาเหน ปริฑยฺหติ - โลกสันนิวาสเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะตัณหา. ชื่อว่าเร่าร้อนเพราะตัณหา เพราะตัณหานั่นแหละมีกำลังเร่าร้อนมาก ด้วยความเร่าร้อนในกาลเป็นไปและในกาลแห่งผลโดยรอบ. โลกสันนิวาสเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะตัณหานั้นโดยรอบ.
               พึงประกอบบทมี ทิฏฺฐิสงฺฆาฏาทโย - กองทิฏฐิเป็น ไว้ด้วยบทตัณหานี้แหละ.
               บทว่า อนุคโต - โลกสันนิวาสไปตามชาติ คือเข้าไป.
               บทว่า อนุสโฏ - โลกสันนิวาสซมซานไปเพราะชรา คือแล่นไป.
               บทว่า อภิภูโต - โลกสันนิวาสถูกพยาธิครอบงำ คือถูกบีบคั้น.
               บทว่า อภิหโต - โลกสันนิวาสถูกมรณะห้ำหั่น คือถูกกำจัด ถูกทำลายอย่างหนักเฉพาะหน้า.
               บทว่า ทุกฺเข ปติฏฺฐิโต - โลกสันนิวาสตั้งอยู่ในกองทุกข์ คือตั้งอยู่อาศัยขันธปัญจกอันเป็นทุกข์ ด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นสุข.
               บทว่า ตณฺหาย อุฑฺฑิโต - โลกสันนิวาสถูกตัณหามัดไว้ คือถูกตัณหาบุกรุก. ด้วยว่าจักษุถูกร้อยไว้ด้วยเชือกคือตัณหา แล้วมัดไว้ที่หลักคือรูป. หูเป็นต้นถูกร้อยไว้ด้วยเชือกคือตัณหา แล้วมัดไว้ที่หลักคือเสียงเป็นต้น. แม้โลกมีความพร้อมด้วยตัณหานั้น ก็ชื่อว่าถูกมัดไว้นั่นแหละ.
               บทว่า ชราปาการปริกฺขิตฺโต - โลกสันนิวาสถูกกำแพง คือชราล้อมไว้ คือถูกชราอันเป็นกำแพงล้อมไว้หลีกไปไม่ได้.
               บทว่า มจฺจุปาเสน ปริกฺขิตฺโต - โลกสันนิวาสถูกบ่วงมัจจุคล้องไว้ ชื่อว่าถูกมรณะอันเป็นบ่วงเพราะแก้ได้ยาก คล้องไว้.
               บทว่า มหาพนฺธนพทฺโธ - โลกสันนิวาสถูกผูกไว้ด้วยเครื่องผูกเป็นอันมาก คือถูกผูกด้วยเครื่องผูกใหญ่เพราะแน่น และเพราะตัดยาก.
               บทว่า ราคพนฺธเนน - ด้วยเครื่องผูกคือราคะ ชื่อว่า ราคพนฺธนํ เพราะราคะนั่นแหละ ผูกไว้ไม่ให้เคลื่อนไหวไปจากสงสารได้. ด้วยเครื่องผูกคือราคะนั้น.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า กิเลสพนฺธเนน คือ ด้วยเครื่องผูกคือกิเลสที่เหลือดังที่ได้กล่าวแล้ว.
               บทว่า ทุจฺจริตพนฺธเนน คือ ด้วยเครื่องผูกคือทุจริต ๓ อย่าง. ส่วนสุจริตเป็นเหตุแห่งการพ้นเครื่องผูก และเป็นเครื่องพ้นจากเครื่องผูก มีอยู่. เพราะฉะนั้น ไม่ควรถือเอาสุจริตนั้น.
               บทว่า พนฺธนํ โมเจตา - แก้เครื่องผูกให้ คือแก้เครื่องผูกให้แก่โลกสันนิวาสนั้น. ปาฐะว่า พนฺธนา โมเจตา บ้าง. ความว่า แก้โลกสันนิวาสนั้นจากเครื่องผูก.
               บทว่า มหาสมฺพาธปฺปฏิปนฺโน - โลกสันนิวาสเดินทางไปแคบมาก คือเดินไปสู่ที่รก คือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลสและทุจริต อันได้แก่ที่แคบมาก ด้วยการเบียดเบียนการเดินทางของกุศล.
               บทว่า โอภาสํ ทสฺเสตา - ชี้ทางสว่างให้ คือให้แสงสว่าง คือสมาธิและปัญญาอันเป็นโลกิยะ โลกุตตระ.
               บทว่า มหาปลิโพเธน ปลิพุทฺโธ - โลกสันนิวาสถูกความกังวลเป็นอันมากพัวพันไว้ คือถูกเครื่องกั้นใหญ่ปกปิดไว้. หรือฉาบไว้ด้วยเครื่องฉาบใหญ่.
               อนึ่ง บทว่า ปลิโพโธ คือความกังวล ๗ อย่างมีราคะเป็นต้น. อาจารย์บางท่านกล่าวว่า ความกังวลคือตัณหาและทิฏฐิ.
               บทว่า ปลิโพธํ เฉเทตา คือ ตัดความกังวลนั้น.
               บทว่า มหาปปาเต - ในเหวใหญ่ ได้แก่ในเหวคือคติ ๕. หรือในเหวคือชาติ ชราและมรณะ. ทั้งหมดนั้นชื่อว่าปปาตะ เพราะขึ้นได้ยาก.
               บทว่า ปปตาอุทฺธตา คือ ขึ้นพ้นจากเหวนั้น.
               บทว่า มหากนฺตารปฺปฏิปนฺโน - โลกสันนิวาสเดินทางกันดารมาก คือเดินทางกันดาร เพราะชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส. ทั้งหมดนั้น ชื่อว่ากันดาร เพราะก้าวให้พ้นไปได้ยาก. ช่วยให้ข้ามพ้นทางกันดารนั้น.
               ปาฐะว่า กนฺตารา ตเรตา บ้าง.
               บทว่า มหาสํสารปฺปฏิปนฺโน - โลกสันนิวาสเดินทางไปสู่สังสารวัฏใหญ่ คือเดินทางไปสู่ขันธสันดานที่ยังไม่ขาด.
               บทว่า สํสารา โมเจตา คือ ช่วยให้พ้นจากสังสารวัฏ.
               ปาฐะว่า สํสารํ โมเจตา บ้าง.
               บทว่า มหาวิทุคฺเค - ในหล่มใหญ่ ได้แก่ในหล่มคือสังสารวัฏ. สังสารวัฏนั่นแหละ ชื่อว่าหล่ม เพราะออกไปได้ยาก.
               บทว่า สมฺปริวตฺตติ - กลิ้งเกลือก คือกลับไปมาหนักขึ้น.
               บทว่า มหาปลฺเลเป - ในเปือกตม คือกามใหญ่. กามชื่อว่าเปือกตมเพราะทำให้จม.
               บทว่า ปลิปนฺโน คือ ติด.
               ปาฐะว่า มหาปลฺเลปปลิปนฺโน บ้าง คือติดในเปือกตมใหญ่.
               บทว่า อพฺภาหโต - ครอบงำ คือถูกอันตรายทั้งปวงครอบงำ.
               บทว่า ราคคฺคินา คือ ราคะเป็นต้น. ชื่อว่า อคฺคิ เพราะอรรถว่าเผาผลาญ. ด้วยไฟคือราคะเป็นต้นนั้น.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อุนฺนีตโก - โลกสันนิวาสทุรนทุราย คือถูกจับนำไป.
               อธิบายว่า ถูกชาติจับแล้วนำไปเพื่ออันตรายมีชราเป็นต้น.
               พึงเห็นว่า อักษรในบทนี้ เพื่อเสริมความ.
               บทว่า หญฺญติ นิจฺจมตาโณ - เดือดร้อนเป็นนิจ ไม่มีอะไรต้านทาน คือไม่มีผู้ต้านทาน ถูกบีบคั้นเป็นนิจ.
               บทว่า ปตฺตทณฺโฑ - ต้องรับอาชญา คือได้รับอาชญาจากพระราชาเป็นต้น.
               บทว่า ตกฺกาโร - ต้องทำตามอาชญา คือโจร.
               บทว่า วชฺชพนฺธนพนฺโธ คือโลกสันนิวาสถูกผูกด้วยเครื่องผูกคือโทษมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า อาฆาตนปจฺจุปฏฺฐิโต - ปรากฏอยู่ที่ตะแลงแกง คือเข้าไปปรากฏยังที่ผูก คือมรณะ.
               บทว่า โกจิ พนฺธนํ โมเจตา - ใครจะช่วยให้หลุดพ้นได้.
               ปาฐะว่า ใครจะช่วยให้พ้นจากเครื่องผูกได้ก็มี.
               บทว่า อนาโถ - โลกสันนิวาสไม่มีที่พึ่ง ชื่อว่า อนาโถ เพราะไม่มีที่พึ่ง คืออิสระ. หรือที่พึ่งอันเป็นอิสระด้วยตนเองไม่มี.
               บทว่า ปรมการุญฺญปฺปตฺโต - ควรได้รับความกรุณาอย่างยิ่ง คือถึงความควรสงสารอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงพอในการห้ามชราเป็นต้น.
               บทว่า ตาเยตา - จะเป็นผู้ช่วยต้านทาน คือคุ้มกัน.
               ปาฐะว่า ตายิตา ดีกว่า.
               บทว่า ทุกฺขาภิตุนฺโน - โลกสันนิวาสถูกทุกข์เสียบแทง คือถูกทุกข์ไม่น้อย มีชาติทุกข์เป็นต้นเสียบแทง เบียดเบียน หวั่นไหวยิ่ง.
               บทว่า จิรรตฺตปีฬิโต - ถูกทุกข์บีบคั้นมานาน คือถูกทุกข์เบียดเบียนเสียดสีมาตลอดกาลนาน.
               บทว่า คธิโต - โลกสันนิวาสติดใจ คืออยากด้วยความติดใจหรือผูกด้วยเครื่องผูกคืออภิชฌากายคันถะ.
               บทว่า นิจฺจํ ปิปาสิโต - กระหายอยู่เป็นนิจ คืออยาก กระหายเพื่อจะดื่ม เพื่อจะบริโภค ความกระหายนั่นแหละคือตัณหา. ความกระหายไม่มีระหว่าง ชื่อว่าความกระหาย คือตัณหา.
               บทว่า อนฺโธ - โลกสันนิวาสเป็นโลกบอด ชื่อว่าบอด เพราะไม่มีปัญญาที่ชื่อว่าเป็นจักษุเพราะอรรถว่าเห็น. ปัญญานั่นแหละย่อมเห็นสภาวธรรม.
               บทว่า อจกฺขุโก - ไม่มีจักษุ ความเป็นผู้บอดนั้น ไม่มีในภายหลัง. ความเป็นผู้บอดนั้นนั่นเอง คือ เป็นผู้มีตาเหมือนไม่มีตา ย่อมมีตามปกตินั่นแหละ.
               บทว่า หตเนตฺโต - โลกสันนิวาสมีตาเสื่อม ชื่อว่ามีตาเสื่อม เพราะไม่มีปัญญา ที่เรียกว่าเนตร เพราะมีสภาพนำไป. ท่านเรียกว่าเนตร เพราะนำอัตตภาพให้เห็นที่เสมอและไม่เสมอ. นำไปสู่ทางดีและไม่ดีด้วยปัญญา.
               พระสารีบุตรเถระ เมื่อจะแสดงถึงความไม่มีเนตรของผู้นั้น เพราะตาเสื่อม จึงกล่าว อปริณายโก ไม่มีผู้นำ.
               อธิบายว่า มีตาเหมือนไม่มี. ท่านอธิบายว่า ไม่มีผู้อื่นจะนำเขาไปได้.
               บทว่า วิปถปกฺขนฺโต - โลกสันนิวาสแล่นไปสู่ทางผิด ชื่อว่าทางผิด เพราะทางผิดหรือทางไม่เรียบ. ชื่อว่าแล่นไปสู่ทางผิด เพราะแล่นไปคือเข้าไป เดินไปผิดทาง. อธิบายว่า เดินไปสู่มิจฉาทิฏฐิ คือทางผิด.
               บทว่า อญฺชสาปรทฺโธ - หลงทางแล้ว คือหลง พลาดในทางคือทางตรงอันได้แก่มัชฌิมาปฏิปทา.
               บทว่า อริยปถํ อาเนตา - มาสู่ทางอริยะ คือนำเข้าไปให้ถึงอัฏฐังคิกมรรคอันเป็นอริยะ.
               บทว่า มโหฆปกฺขนฺโต - โลกสันนิวาสแล่นไปสู่ห้วงโมหะ.
               ชื่อว่าโอฆา เพราะยังสัตว์ผู้มีกิเลสให้จมลงในวัฏฏะ.
               ชื่อว่ามโหฆา เพราะโอฆะใหญ่กว่าโอฆะปกติ. โอฆะเหล่านั้นมี ๔ อย่าง คือ กาโมฆะ ๑ ภโวฆะ ๑ ทิฏโฐฆะ ๑ อวิชโชฆะ ๑.
               ชื่อว่ามโหฆปักขันโต เพราะแล่นเข้าไปสู่โอฆะใหญ่เหล่านั้น. หรือว่าแล่นไปสู่โอฆะใหญ่ คือสังสารวัฏ.
               บัดนี้ พึงทราบนัยที่แปลกจากนัยหนึ่ง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทฺวีหิ ทิฏฺฐิคเตหิ - ถูกทิฏฐิ ๒ คือถูกสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิกลุ้มรุม.
               ทิฏฐิคตะในบทนั้นคือทิฏฐินั่นเอง ดุจบทมีอาทิว่า๖- คูถคตํ มุตฺตคตํ - คูถมูตร.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ทิฏฺฐิคตํ เพราะเพียงไปด้วยทิฏฐิ เพราะไม่มีสิ่งที่ควรไป. ความเห็นนี้เป็นไปในทิฏฐิทั้งหลายชื่อว่า ทิฏฺฐิคตํ เพราะทิฏฐิ ๖๒ หยั่งลงในภายในบ้าง.
____________________________
๖- องฺ. นวก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๒๑๕

               จริงอยู่ ทิฏฐิ ๖๒ และทิฏฐิ ๖๓ ก็เป็นทิฏฐิ ๒ นั่นเอง คือสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ. เพราะฉะนั้น เมื่อจะทำทิฏฐิทั้งหมดโดยย่อไว้ภายใน ท่านจึงกล่าว ทฺวีหิ ทิฏฺฐิคเตหิ.
               บทว่า ปริยุฏฺฐิโต - ถูกทิฏฐิ ๒ กลุ้มรุม คือถึงความกลุ้มรุม ถึงความปรากฏ. อธิบายว่า ถึงความยึดอาจาระอันเป็นกุศล โดยไม่ให้เกิดขึ้น.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้มีอาทิว่า๗-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์บางพวก
                         ถูกทิฏฐิ ๒ กลุ้มรุม ย่อมติดอยู่ บางพวกย่อมแล่นไป
                         ผู้มีจักษุย่อมเห็น.

____________________________
๗- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๒๗

               บทว่า ตีหิ ทุจฺจริเตหิ คือ ด้วยกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ และมโนทุจริต ๓.
               บทว่า วิปฺปฏิปนฺโน - โลกสันนิวาสปฏิบัติผิด ได้แก่ปฏิบัติผิด คือปฏิบัติน่าเกลียด ชื่อว่ามิจฉาปฏิบัติ.
               บทว่า โยเคหิ ยุตฺโต - โลกสันนิวาสประกอบด้วยกิเลสเครื่องประกอบ.
               ชื่อว่าโยคะ เพราะอรรถว่าประกอบไว้ในวัฏฏะ. หรือชื่อว่าโยคะ ด้วยอรรถดังนี้คือ ประกอบเปี่ยมด้วยโยคะเหล่านั้น.
               บทว่า จตุโยคโยชิโต - โลกสันนิวาสถูกกิเลสเครื่องประกอบ ๔ อย่างประกอบไว้ คือประกอบไว้ในวัฏฏะ ด้วยโยคะ ๔ เหล่านี้ คือ กามโยคะ ๑ ภวโยคะ ๑ ทิฏฐิโยคะ ๑ อวิชชาโยคะ ๑. ดุจโคถูกผูกไว้ที่เกวียน.
               ราคะประกอบด้วยกามคุณ ๕ ชื่อว่ากามราคะ. ฉันทราคะในรูปภพและอรูปภพ ความใคร่ในฌาน, ราคะสหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิ ความปรารถนาด้วยอำนาจภพ ชื่อว่าภวราคะ. ทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่าทิฏฐิโยคะ. ความไม่รู้ในฐานะ ๘ ชื่อว่าอวิชชาโยคะ.
               โอฆะ ๔ เหล่านั้นมีกำลังกล้า, โยคะ ๔ มีกำลังอ่อน.
               บทว่า จตูหิ คนฺเถหิ - กิเลสเครื่องร้อยรัด ๔ อย่าง ชื่อว่าคันถะ เพราะร้อยคือผูกผู้มีกิเลสไว้ในวัฏฏะด้วยจุติและปฏิสนธิ.
               คันถะมี ๔ อย่าง คือ อภิชฌากายคันถะ ๑ พยาปาทกายคันถะ ๑ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ๑ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ คือการยึดถือสิ่งนี้ว่าเป็นสัจจะ ๑.
               ชื่อว่า อภิชฺฌา เพราะอรรถว่าเป็นเหตุเพ่งเล็ง. หรือเพ่งเล็งด้วยตนเอง. หรือเป็นเพียงความเพ่งเล็งเท่านั้น. ได้แก่โลภะนั่นเอง.
               ชื่อว่ากายคันถะ เพราะอรรถว่าร้อยนามกาย คือผูกไว้ในวัฏฏะด้วยจุติและปฏิสนธิ.
               ชื่อว่าพยาปาทะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุเบียดเบียน ปองร้ายให้ถึงความพินาศ. หรือยังความสุขอันเป็นประโยชน์แก่ความประพฤติวินัย และรูปสมบัติเป็นต้นให้ถึงความพินาศ.
               การยึดมั่นเชื่อถือว่า ความบริสุทธิ์มีด้วยศีล พรต หรือศีลและพรตของสมณพราหมณ์ภายนอกมีด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่าสีลัพพตปรามาส.
               ชื่อว่าอิทังสัจจาภินิเวสะ เพราะอรรถว่าปฏิเสธแม้ภาษิตของพระสัพพัญญู แล้วยึดถือโดยอาการมีอาทิว่า โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ. อธิบายว่า ร้อยคือผูกไว้ด้วยคันถะ ๔ เหล่านั้น.
               บทว่า จตูหิ อุปาทาเนหิ - ด้วยอุปาทาน ๔ ชื่อว่าอุปาทาน เพราะยึดถืออย่างแรงคือจับมั่น.
               อุปาทานเหล่านั้นมี ๔ อย่าง คือ กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตวาทุปาทาน ๑.
               ชื่อว่ากามุปาทาน เพราะถือมั่นกาม คือวัตถุ.
               อนึ่ง ชื่อว่ากามุปาทาน เพราะกามนั้นเป็นอุปาทาน.
               ชื่อว่าทิฏฐุปาทาน เพราะทิฏฐินั้นเป็นอุปาทาน. ชื่อว่าทิฏฐุปาทาน เพราะยึดมั่นทิฏฐิ. อุตตรทิฏฺฐิ - ทิฏฐิอันหลังยึดมั่นปุริมทิฏฐิ - ทิฏฐิมีในก่อน ในบทมีอาทิว่า๘- สสฺสโต อตฺตา จ โลโก จ อัตตาและโลกเที่ยง.
____________________________
๘- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๕๔

               ชื่อว่าสีลัพพตุปาทาน เพราะยึดถือศีลและพรต.
               อนึ่ง ชื่อว่าสีลัพพตุปาทาน เพราะศีลและพรตนั้นเป็นอุปาทาน. ศีลของโคและพรตของโคเป็นต้นเป็นอุปาทาน เพราะยึดถือว่าความบริสุทธิ์ย่อมมีได้อย่างนี้.
               ชื่อว่าวาทะ เพราะเป็นเหตุกล่าว. ชื่อว่าอุปาทาน เพราะเป็นเหตุถือมั่น.
               กล่าวอะไร? ถือมั่นอะไร? กล่าวอัตตา. การถือมั่นวาทะของตน.
               ชื่อว่าอัตตวาทุปาทาน. หรือชื่อว่าอัตตวาทุปาทาน เพราะเป็นเหตุถือมั่นว่าตนเป็นเพียงวาทะว่าตนเท่านั้น. ทิฏฐิแม้ทั้งหมดเว้นทิฏฐิ ๒ อย่างเหล่านี้ ชื่อว่าทิฏฐุปาทาน. ด้วยอุปาทาน ๔ เหล่านั้น.
               บทว่า อุปาทียติ - ถือมั่น คือถือจัด. ปาฐะว่า อุปาทิยติ ก็มี. ความว่า สัตวโลกย่อมถือจัดอารมณ์นั้นๆ ด้วยอุปาทาน.
               บทว่า ปญฺจคติสมารุฬฺโห - โลกสันนิวาสขึ้นสู่คติ ๕ ชื่อว่าคติ เพราะไป คือเข้าไปใกล้ด้วยเหตุทำดีและทำชั่ว คือขันธ์ทั้งหลายพร้อมด้วยการปรากฏ. โลกสันนิวาสขึ้นสู่คติ ๕ เหล่านี้ คือ นรก ๑ กำเนิดเดียรัจฉาน ๑ เปตวิสัย ๑ มนุษย์ ๑ เทวดา ๑ อย่างแรงด้วยความก้าวลง.
               บทว่า ปญฺจหิกามคุเณหิ - ด้วยกามคุณ ๕ ด้วยส่วนแห่งวัตถุกาม ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ.
               บทว่า รชฺชติ - ย่อมกำหนัด คืออาศัยอโยนิโสมนสิการ ย่อมกำหนัดด้วยกามคุณเหล่านั้น เพราะทำให้ราคะเกิด. อธิบายว่า ทำความกำหนัดยินดี.
               บทว่า ปญฺจหิ นีวรเณหิ - ถูกนิวรณ์ ๕ ทับไว้.
               ชื่อว่านิวรณ์ เพราะย่อมกั้นคือครอบงำจิต. ถูกนิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ ทับไว้.
               บทว่า โอตฺถโต คือ ทับปิดไว้ข้างบน.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา มหากรุณาสมาปัตติญาณนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 284อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 285อ่านอรรถกถา 31 / 286อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=3164&Z=3247
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=351
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=351
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :