ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 10อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 31 / 56อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
ทุติยภาณวาร

               อรรถกถาทุติยภาณวาร               
               [๓๐] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๓๑ ข้อมี ปริคฺคหฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ควรกำหนดถือเอาเป็นต้น ด้วยขณะแห่งอริยมรรค.
               จริงอยู่ ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตด้วยอริยมรรค ย่อมกำหนดถือเอาเพื่อเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ปริคฺคหา - กำหนดถือเอา.
               สภาพแห่งธรรมเหล่านั้น ชื่อว่า ปริคฺคหฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ควรกำหนดถือเอา.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า ปริวารฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่เป็นบริวาร เพราะธรรมเหล่านั้นเป็นบริวารของกันและกัน.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า ปริปูรฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่เต็มรอบโดยบริบูรณ์ด้วยภาวนา.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า เอกคฺคฏฺโฐ - สภาพแห่งสมาธิที่มีอารมณ์อย่างเดียว เพราะเพ่งกำหนดถือเอาอารมณ์เดียว.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อวิกเขปฏฺโฐ - สภาพแห่งสมาธิไม่มีความฟุ้งซ่าน เพราะเพ่งถึงความไม่ฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่าง ๆ.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า ปคฺคหฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ประคองไว้ คือประคองไว้ด้วยความเพียร.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อวิสารฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ไม่กระจายไป เพราะไม่กระจายไปด้วยอำนาจสมาธิ ดุจแป้งใช้ทาในการอาบน้ำ ไม่กระจายไปด้วยน้ำฉะนั้น.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อนาวิลฏฺโฐ - สภาพแห่งจิตไม่ขุ่นมัว เพราะไม่ขุ่นมัวด้วยการประกอบความเพียร.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อนิญฺชนฏฺโฐ - สภาพแห่งจิตไม่หวั่นไหว เพราะไม่กำเริบ.
               บทว่า เอกตฺตุปฏฺฐานวเสน - ด้วยสามารถแห่งความปรากฏแห่งจิตมีอารมณ์เดียว ได้แก่ด้วยการประกอบสมาธิ และด้วยสามารถแห่งการตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างมั่นคง.
               บทว่า ฐิตฏฺโฐ - สภาพแห่งจิตตั้งอยู่ ได้แก่ ตั้งอยู่โดยไม่หวั่นในอารมณ์.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อารมฺมณฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมเป็นอารมณ์ เพราะยึดนิพพานเป็นอารมณ์.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า โคจรฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมเป็นโคจร เพราะเที่ยวไปในความอยาก.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า ปหานฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ละ เพราะความที่นิพพานเป็นสรณประหาณ.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า ปริจฺจาคฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่สละ ด้วยสามารถสละกิเลสด้วยอริยมรรค.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า วุฏฺฐานฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ออกด้วยสามารถการออกจากความชั่วร้าย.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า วิวตฺตนฏฺโฐ - สภาพธรรมที่หลีกไปด้วยสามารถหลีกไปจากนิมิตและความเป็นไป.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า สนฺตฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ละเอียด เพราะดับสนิท.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า ปณีตฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ประณีต เพราะความเป็นธรรมไม่เดือดร้อน และเพราะความเป็นธรรมสูงสุด.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า วิมุตฺตฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่หลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจากกิเลส และน้อมไปในอารมณ์.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อนาสวฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ไม่มีอาสวะ เพราะความที่บริสุทธิ์โดยไม่เป็นวิสัยแห่งอาสวะทั้งหลาย.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า ตรณฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมเป็นเครื่องข้าม เพราะก้าวล่วงจากกิเลสกันดาร และสังสารกันดาร.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อนิมิตฺตฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ไม่มีเครื่องหมาย เพราะไม่มีสังขารนิมิต.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อปฺปณิหิตฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ไม่มีที่ตั้ง เพราะไม่มีที่ตั้ง คือตัณหา.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า สุญฺญตฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ว่างเปล่า เพราะไม่มีสาระในตน.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า เอกรสฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่มีกิจอย่างเดียวกัน เพราะมีรสอย่างเดียวกันด้วยวิมุตติรส หรือเพราะความที่สมถะและวิปัสสนามีรสอย่างเดียวกัน.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อนติวตฺตนฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่ไม่ล่วงเลยกัน เพราะสมถะและวิปัสสนาอาศัยซึ่งกันและกัน.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า ยุคนทฺธฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่เป็นคู่ เพราะสมถะและวิปัสสนานั่นแลเป็นคู่.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า นิยฺยานฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่นำออก เพราะออกไปจากสังขารด้วยอริยมรรค.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า เหตฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่เป็นเหตุ เพราะเป็นเหตุให้ถึงนิพพาน.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า ทสฺสนฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่เห็นเพราะทำนิพพานให้ประจักษ์.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อาธิปเตยฺยฏฺโฐ - สภาพแห่งธรรมที่เป็นอธิบดี เพราะความเป็นใหญ่ยิ่ง.
               [๓๑] พระสารีบุตรได้แจ้งถึงการวิสัชนา ๔ ข้อมีสมถะเป็นต้นด้วยสามารถแห่งสมถะและวิปัสสนา.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อนุปสฺสนฏฺโฐ - สภาพที่พิจารณาเห็น เพราะพิจารณาเห็นด้วยอนิจจลักษณะเป็นต้น.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อนติวตฺตนฏฺโฐ - สภาพที่มิได้ล่วงกัน เพราะความที่สมถะและวิปัสสนาทั้งสองเป็นธรรมคู่กันโดยมีกิจอย่างเดียวกัน.
               พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๙ ข้อ มีสิกขาเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งอริยมรรค เบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด. ชื่อว่า สิกฺขา เพราะต้องศึกษา.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า สมาทานฏฺโฐ - สภาพที่สมาทานเพราะต้องสมาทานสิกขานั้น.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า โคจรฏฺโฐ - สภาพที่โคจร เพราะเป็นที่ตั้งแห่งภาวนาและความเป็นไปของอารมณ์ที่ตั้งอยู่ในศีลแล้วถือเอาด้วยกรรมฐานและเพราะเป็นที่ตั้งแห่งโคจร.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า ปคฺคหฏฺโฐ - สภาพที่ประคองจิต คือสภาพที่พยายามทำจิตที่หดหู่ด้วยความเกียจคร้าน ด้วยเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วีริยสัมโพชฌงค์และปีติสัมโพชฌงค์.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า วินิคฺคหฏฺโฐ - สภาพที่ปราบจิต คือสภาพทำจิตที่ฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจะให้สงบ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์.
               บทว่า อุโภ วิสุทฺธานํ - จิตบริสุทธิ์จากทั้งสอง.
               อธิบายว่า คุมจิตอันบริสุทธิ์จากความหดหู่และฟุ้งซ่าน.
               พึงทราบว่า ท่านทำเป็นพหุวจนะ ด้วยสามารถแห่งจิตตั้งอยู่ในความเป็นกลาง เป็นไปด้วยอำนาจของสันตติ.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อชฺฌุเปกฺขณฏฺโฐ - สภาพที่คุมจิต คือไม่มีความขวนขวายในความพยายามและในการทำให้สงบ.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า วิเสสาธิคมนฏฺโฐ - สภาพที่จิตบรรลุคุณวิเศษ คือการอบรมจิตให้เป็นไปสม่ำเสมอ.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า อุตฺตริปฏิเวธฏฺโฐ - สภาพที่แทงตลอดอริยมรรคอันประเสริฐ คือด้วยสามารถทำอริยมรรคให้ปรากฏ.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า สจฺจาภิสมยฏฺโฐ - สภาพที่ตรัสรู้สัจจะ คือด้วยสามารถแทงตลอดอริยสัจ ๔ สำเร็จด้วยอริยมรรค.
               สภาพแห่งธรรม ชื่อว่า ปติฏฺฐาปกฏฺโฐ - สภาพที่ทำจิตให้ตั้งอยู่ คือให้ตั้งอยู่ในนิโรธด้วยอำนาจผลสมาบัติ. เพราะผลสมาบัตินั้นยังบุคคลผู้มีความพร้อมให้ตั้งอยู่ในนิพพานอันได้แก่นิโรธ.
               [๓๒] พระสารีบุตรกล่าวถึงการวิสัชนา ๕ ข้อมีสัทธินทรีย์เป็นต้น ด้วยสามารถแห่งสภาพธรรมคืออินทรีย์.
               บทว่า อธิโมกฺขฏฺโฐ - สภาพที่น้อมไป.
               บทว่า อุปฏฺฐานฏฺโฐ - สภาพที่ตั้งมั่น คือสภาพที่เข้าไปตั้งมั่นซึ่งอารมณ์.
               บทว่า ทสฺสนฏฺโฐ - สภาพที่เห็น คือสภาพที่เพ่งถึงความเป็นจริง.
               [๓๓] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๕ ข้อมีสัทธาพละเป็นต้นด้วยสามารถแห่งสภาพธรรมคือพละ.
               ชื่อว่า สทฺธาพลํ เพราะสัทธานั่นแลเป็นกำลัง ด้วยอรรถว่าไม่หวั่นไหว.
               บทว่า อสฺสทฺธิเย เพราะความไม่มีสัทธา.
               อนึ่ง บทว่า อสฺสทฺธิยํ ได้แก่ จิตตุปบาทอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสัทธา.
               บทว่า อกมฺปิยฏฺโฐ ได้แก่ สภาพที่ไม่ควรหวั่นไหว. อธิบายว่า ไม่สามารถให้หวั่นไหวได้.
               บทว่า โกสชฺเช - เพราะความเกียจคร้าน ได้แก่ เพราะถีนมิทธะอันเป็นความเกียจคร้าน.
               บทว่า ปมาเท - เพราะความประมาท ได้แก่ เพราะจิตตุปบาทอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ.
               บทว่า อุทฺธจฺเจ คือ เพราะความฟุ้งซ่าน กล่าวคือความไม่สงบ.
               บทว่า อวิชฺชาย - เพราะอวิชชา ได้แก่ เพราะโมหะ.
               [๓๔] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๗ ข้อมีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้นด้วยสามารถแห่งสภาพธรรมคือโพชฌงค์.
               องค์แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ ชื่อว่าโพชฌงค์. โพชฌงค์เป็นธรรมประเสริฐและเป็นธรรมดี ชื่อว่าสัมโพชฌงค์.
               สตินั่นแลเป็นสัมโพชฌงค์ จึงชื่อว่าสติสัมโพชฌงค์.
               ชื่อว่าธรรมวิจยะ เพราะเลือกเฟ้นธรรม. บทนี้เป็นชื่อของปัญญา.
               บทว่า ปวิจยฏฺโฐ - สภาพที่เลือกเฟ้น ได้แก่สภาพที่ไตร่ตรอง.
               ชื่อว่า ปีติ เพราะเอิบอิ่มใจ.
               บทว่า ผรณฏฺโฐ - สภาพที่แผ่ไป ได้แก่สภาพที่ซ่านไป.
               ความสงบ ชื่อว่า ปสฺสทฺธิ.
               บทว่า อุปสมฏฺโฐ - สภาพที่สงบ ได้แก่ สภาพที่ไม่มีความกระวนกระวาย.
               ชื่อว่า อุเปกฺขา เพราะเห็นโดยอุบัติ. อธิบายว่า เพ่งสม่ำเสมอ คือเพ่งไม่ตกไปในฝ่ายใด. อุเบกขานั้นในที่นี้ได้แก่ ตตฺรมชฺฌตฺตุเปกฺขา คือ วางเฉยด้วยความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ. เรียกว่า โพชฺฌงฺคุเปกฺขา บ้าง. บทนี้เป็นชื่อของอุเบกขานั้น.
               ชื่อว่า ปฏิสงฺขานฏฺโฐ - สภาพที่พิจารณาหาทาง เพราะมีลักษณะนำไปเสมอ.
               [๓๕] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๘ ข้อมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นด้วยมรรค.
               ชื่อว่า สมฺมาทิฏฺฐิ เพราะเห็นชอบ หรือเห็นชอบด้วยทิฏฐินั้น หรือการเห็นประเสริฐดี. แห่งสัมมาทิฏฐินั้น.
               ชื่อว่า สมฺมาสงฺกปฺโป เพราะดำริชอบ, หรือดำริชอบด้วยความดำรินั้น, หรือความดำริประเสริฐดี.
               บทว่า อภิโรปนฏฺโฐ - สภาพที่ตรึก ได้แก่ สภาพที่ตรึกอารมณ์ของจิต. ปาฐะว่า อารมฺณาภินิโรปนฏฺโฐ - สภาพที่ตรึกอารมณ์บ้าง.
               ชื่อว่า สมฺมาวาจา เพราะพูดชอบ หรือพูดด้วยวาจานั้นชอบ หรือวาจาประเสริฐดี. บทนี้เป็นชื่อของการเว้นจากมิจฉาวาจา.
               บทว่า ปริคฺคหฏฺโฐ สภาพที่กำหนด ได้แก่ กำหนดสำรวมวาจา ๔ อย่าง.
               ชื่อว่า สมฺมากมฺมํ เพราะทำชอบ, หรือทำชอบด้วยการงานนั้น หรือการงานประเสริฐดี, การงานชอบนั่นแล ชื่อว่า สมฺมากมฺมนฺโต. บทนี้เป็นชื่อการเว้นจากมิจฉากัมมันตะ.
               บทว่า สมุฏฺฐานฏฺโฐ สภาพที่ตั้งขึ้น ได้แก่ สภาพที่ตั้งขึ้นด้วยการสำรวมกาย ๓ อย่าง.
               ชื่อว่า สมฺมาอาชีโว เพราะเป็นอยู่ชอบ หรือเป็นอยู่ด้วยอาชีพนั้นชอบ, หรืออาชีพประเสริฐดี. บทนี้เป็นชื่อของการเว้นจากมิจฉาชีพ.
               บทว่า โวทานฏฺโฐ สภาพที่ผ่องแผ้ว ได้แก่ สภาพที่บริสุทธิ์.
               ชื่อว่า สมฺมาวายาโม เพราะพยายามชอบ หรือพยายาม, หรือพยายามชอบด้วยความพยายามนั้น, หรือพยายามประเสริฐดี.
               ชื่อว่า สมฺมาสติ เพราะระลึกชอบ, หรือระลึกด้วยสตินั้นชอบ, หรือระลึกประเสริฐดี.
               ชื่อว่า สมฺมาสมาธิ เพราะตั้งใจชอบ, หรือตั้งใจชอบด้วยสมาธินั้น, หรือตั้งใจประเสริฐดี.
               [๓๖] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๑๐ ข้อมีอินทรีย์เป็นต้น ทำให้เป็นหมวดหมู่ตามลำดับ.
               บทว่า อาธิปเตยฺยฏฺโฐ สภาพที่เป็นใหญ่ ได้แก่ สภาพที่เป็นอธิบดี ด้วยสามารถทำความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน.
               บทว่า อกมฺปิยฏฺโฐ - สภาพที่ไม่หวั่นไหว ได้แก่ ปฏิปักษ์ไม่สามารถทำให้หวั่นไหวได้.
               บทว่า นิยฺยานฏฺโฐ - สภาพที่นำออก ได้แก่ การออกไปจากปฏิปักษ์ด้วยโลกิยะและโลกุตระ.
               บทว่า เหตฏฺโฐ สภาพที่เป็นเหตุ. ชื่อว่า เหตฏฺโฐ เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นต้น เป็นเหตุเพื่อละมิจฉาทิฏฐิเป็นต้น หรือเพราะสัมมาทิฏฐิทั้งหมดเป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพาน.
               ชื่อว่าอุปัฏฐาน เพราะโลดแล่นไปในอารมณ์อันเป็นสติปัฏฐานแล้วตั้งมั่น, สตินั่นแลตั้งมั่นจึงชื่อว่าสติปัฏฐาน.
               สตินั้นในกายเวทนาจิตธรรม ย่อมมีประเภท ๔ อย่างที่เป็นไปด้วยการยึดถืออาการ คือความไม่งาม ความทุกข์ ความไม่เที่ยง และความไม่เป็นตัวตน และด้วยสำเร็จกิจคือการละความสำคัญว่าเป็นของงาม เป็นความสุข เป็นของเที่ยง เป็นตัวตน.
               จิตเหล่านี้ย่อมได้ในจิตต่างๆ ในส่วนเบื้องต้น, ส่วนสติอย่างเดียวเท่านั้นย่อมได้ชื่อ ๔ อย่างในขณะของมรรค.
               ชื่อว่าปธาน เพราะเป็นเหตุเริ่มตั้งในสัมมัปธาน, การเริ่มตั้งชอบ ชื่อว่าสัมมัปปธาน หรือเป็นเหตุเริ่มตั้งชอบ,
               อนึ่ง การเริ่มตั้งนั้นชอบ ชื่อว่าปธาน เพราะเว้นจากการผิดปกติของกิเลส, ชื่อว่าสัมมัปปธาน เพราะนำมาซึ่งความเป็นสิ่งประเสริฐที่สุดด้วยให้สำเร็จประโยชน์และความสุข หรือเพราะทำความเริ่มตั้ง.
               บทนี้เป็นชื่อของวีริยะ.
               วีริยะนั้นมี ๔ ประเภทโดยให้สำเร็จ คือละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ๑ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๑ กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งอยู่ ๑. ปธานเหล่านี้ย่อมได้ในจิตต่างๆ ในส่วนเบื้องต้น,
               ส่วนวีริยะอย่างเดียวเท่านั้นย่อมได้ ๔ ชื่อในขณะแห่งมรรค .
               บทว่า ปทหนฏฺโฐ สภาพที่เริ่มตั้ง ได้แก่ สภาพที่อุตสาหะ. ปาฐะว่า ปธานฏฺโฐ ดังนี้ก็มี, ความอย่างเดียวกัน.
               ในบทว่า อิทฺธิปาทานํ นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ชื่อว่า อิทฺธิ เพราะบรรดาฉันทะ วีริยะ จิตตะ วีมังสาอย่างหนึ่งๆ ย่อมสำเร็จ, อธิบายว่า ย่อมสำเร็จเสมอ คือย่อมปรากฏชัด.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อิทฺธิ เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จด้วยอิทธินั้น คือว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้สำเร็จ เจริญดียิ่ง.
               โดยอรรถที่หนึ่ง ปาท - ธรรมเครื่องให้ถึงคือ อิทฺธิ - ความสำเร็จชื่อว่าอิทธิบาท, ความว่า ส่วนแห่งความสำเร็จ.
               โดยอรรถที่สอง ชื่อว่าอิทธิบาท เพราะเป็นธรรมเครื่องให้ถึงความสำเร็จ.
               บทว่า ปาโท - คือเป็นที่ตั้ง. อธิบายว่า เป็นอุบายให้บรรลุ. เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมถึง คือย่อมบรรลุความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยอิทธิบาทนั้น, ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ปาโท. อิทธิบาทมีฉันทะเป็นต้นเหล่านั้น ย่อมได้ในจิตต่างๆ ด้วยความเป็นใหญ่ในส่วนเบื้องต้น, แต่ในขณะแห่งมรรคย่อมได้ร่วมกันโดยแท้.
               บทว่า อิชฺฌนฏฺโฐ - สภาพที่สำเร็จ คือสภาพที่ปรากฏ หรือสภาพเป็นที่ตั้ง.
               บทว่า สจฺจานํ ได้แก่ อริยสัจ ๔.
               บทว่า ตถฏฺโฐ - สภาพที่เที่ยงแท้ ได้แก่ สภาพตามที่เป็นจริง.
               การวิสัชนา ๘ เหล่านี้เจือด้วยโลกิยะและโลกุตระ.
               บทว่า ปโยคานํ - ปโยคะทั้งหลาย ได้แก่ ปโยคะของอริยมรรค ๔.
               บทว่า ปฏิปสฺสทฺธฏฺโฐ - สภาพที่ระงับ ได้แก่ ระงับด้วยอริยผล ๔.
               จริงอยู่ มรรคปโยคะเป็นอันระงับในขณะแห่งผล เพราะหมดกิจแล้ว. หรือภาวะแห่งมรรคปโยคะระงับด้วยผลเกิดขึ้น.
               บทว่า ผลานํ สจฺฉิกิริยฏฺโฐ - สภาพที่ทำให้แจ้งแห่งผล ได้แก่สภาพที่ทำให้ประจักษ์ด้วยพิจารณาอริยผล. เป็นอันท่านกล่าวถึงการทำให้แจ้งซึ่งอารมณ์. หรือการทำให้แจ้งซึ่งการได้ในขณะแห่งผล.
               พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๕ ข้อมีวิตกเป็นต้นด้วยองค์ฌาน.
               การตรึกชื่อว่าวิตักกะ ท่านกล่าวว่า ได้แก่ การยกขึ้น.
               การตรองชื่อว่าวิจาร ท่านกล่าวว่า ได้แก่ การตามตรวจตรา.
               บทว่า อุปวิจารฏฺโฐ - สภาพที่ตรวจตรา ได้แก่ สภาพที่ตามขัดสีชำระล้าง.
               บทว่า อภิสนฺทนฏฺโฐ - สภาพที่ไหลมา ได้แก่ สภาพที่ชุ่มชื้น คือสภาพที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งด้วยอำนาจสมาธิ.
               พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๕ ข้อมีอาวัชชนะ - การคำนึงเป็นต้นโดยเป็นข้อเบ็ดเตล็ด.
               สภาพที่คำนึงของจิต ๒ ดวงน้อมไปสู่จิตสันดานในอารมณ์อื่นจากอารมณ์แห่งภวังคะ ในปัญจทวารและมโนทวาร, สภาพที่รู้แจ้งด้วยวิญญาณ สภาพที่รู้ชัดด้วยปัญญา สภาพที่จำได้แห่งสัญญา. สภาพที่สมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสมาธิในทุติยฌานเป็นเอกผุดขึ้น ท่านจึงกล่าวว่า เอโกทิ.
               อธิบายว่า เป็นสมาธิเลิศประเสริฐ เกิดขึ้นเพราะวิตกวิจาร สงบเงียบ. เพราะสมาธิประเสริฐ ท่านจึงกล่าวว่า เป็นธรรมเอกในโลก.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่า เป็นธรรมเอกไม่มีคู่ เว้นวิตกวิจารผุดขึ้นดังนี้บ้าง ย่อมควร.
               อีกอย่างหนึ่ง กุศลสมาธิแม้ทั้งหมดเป็นธรรมสงบเงียบจากวิตกวิจารเหล่านั้น เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์เป็นต้น หรือต่ออุทธัจจะเท่านั้น ฉะนั้นจึงเป็นธรรมอันเลิศผุดขึ้น หรือเว้นจากวิตกวิจารเหล่านั้น จึงเป็นธรรมไม่มีคู่ผุดขึ้น จึงชื่อว่า เอโกทิ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ย่อมถูกต้อง.
               [๓๗] บทว่า อภิญฺญาย ญาตฏฺโฐ - สภาพที่รู้แห่งปัญญา ได้แก่ สภาพที่รู้ถึงสภาวธรรมด้วยญาตปริญญา - กำหนดรู้ด้วยการรู้.
               บทว่า ปริญฺญาย ตีรณฏฺโฐ - สภาพที่กำหนดพิจารณาด้วยปริญญา ได้แก่ สภาพที่กำหนดพิจารณาโดยเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นด้วยตีรณปริญญา - กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา.
               บทว่า ปหานสฺส ปริจฺจาคฏฺโฐ สภาพที่สละแห่งปหาน ได้แก่ สภาพที่สละธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อปหานปริญญา - กำหนดรู้ด้วยการละเสีย. สภาพที่ภาวนาเป็นไปเสมอ มีกิจเป็นอย่างเดียวกัน - ชื่อว่า ภาวนาย เอกรสฏฺโฐ.
               บทว่า ผสฺสนฏฺโฐ - สภาพที่ถูกต้อง ได้แก่ สภาพที่ประสบ.
               ชื่อว่าสภาพที่เป็นขันธ์ - ขนฺธฏฺโฐ ด้วยการแบกภาระที่หนักตื้อเป็นต้นไป.
               ชื่อว่าสภาพที่ทรงไว้ - ธาตฏฺโฐ เพราะความว่างเปล่าเป็นต้น.
               ชื่อว่าสภาพที่ต่อ - อายตนฏฺโฐ เพราะการต่อเขตแดนอันเป็นส่วนของตนๆ.
               ชื่อว่าสภาพที่ปัจจัยปรุงแต่ง - สงฺขตฏฺโฐ เพราะทำร่วมกับปัจจัยทั้งหลาย.
               ชื่อว่าสภาพที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง - อสงฺขตฏฺโฐ เพราะตรงกันข้ามกับปัจจัยปรุงแต่งนั้น.
               [๓๘] พระสารีบุตรได้แจ้งถึงการวิสัชนา ๑๕ ข้อมีบทว่า จิตฺตฏฺโฐ สภาพที่คิดเป็นต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า จิตฺตฏฺโฐ ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า จิตฺตํ เพราะคิดถึงอารมณ์, ความว่า ย่อมรู้แจ้ง.
               ชวนจิตมีอยู่ในอารมณ์นี้ ย่อมสะสมสันดานของตน ด้วยชวนวิถีจิตแม้ดังนี้ก็ชื่อว่า จิตฺตํ. แม้วิบากอันกรรมกิเลสสะสมไว้ดังนี้ก็ชื่อว่า จิตฺตํ ทั้งหมด ชื่อว่า จิตฺตํ เพราะสะสมไว้ตามสมควร, ชื่อว่า จิตฺตํ เพราะทำให้วิจิตร, จิตอันเป็นปัจจัยแก่วัฏฏะ ย่อมสะสมสังสารทุกข์แม้ดังนี้ก็ชื่อว่า จิตฺตํ. สภาพที่คิดโดยมีการสะสมอารมณ์เป็นต้นด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่า อนนฺตรํ เพราะจิตนั้นไม่มีระหว่างในการเกิดของจิต ในการเกิดของผล. ความเป็นอนันตระชื่อว่าอนันตริยะ - ความไม่มีระหว่าง, ความที่จิตไม่มีระหว่าง ชื่อว่าจิตตานันตริยะ. จิตตานันตริยะนั้นคือสภาพแห่งจิตไม่มีระหว่าง.
               อธิบายว่า สมรรถภาพในจิตตุปบาท ในระหว่างของจิตดวงใดดวงหนึ่งดับในระหว่างเสมอ เว้นจุติจิตของพระอรหันต์. สมรรถภาพในการเกิดผลในระหว่างของมรรคจิต.
               บทว่า จิตฺตสฺส วุฏฺฐานฏฺโฐ - สภาพที่ออกแห่งจิต ได้แก่สภาพที่ออกโดยเป็นนิมิตแห่งโคตรภูจิต โดยความเป็นไปแห่งนิมิตของมรรคจิต.
               บทว่า จิตฺตสฺส วิวฏฺฏนฏฺโฐ - สภาพที่หลีกไปแห่งจิต คือสภาพที่หลีกไปในนิพพานของจิตสองดวงนั้นซึ่งตั้งขึ้นโดยที่กล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า จิตฺตสฺส เหตฏฺโฐ - สภาพที่เป็นเหตุแห่งจิต ได้แก่สภาพที่เป็นเหตุของเหตุ ๙ อย่างที่เป็นปัจจัยของจิต.
               บทว่า จิตฺตสฺส ปจฺจยฏฺโฐ - สภาพที่เป็นปัจจัยแห่งจิต ได้แก่สภาพที่เป็นปัจจัยแห่งปัจจัยมากมายของจิตมีวัตถารัมมณะเป็นต้น.
               บทว่า จิตฺตสฺส วตฺถฏฺโฐ - สภาพเป็นที่ตั้งแห่งจิต ได้แก่สภาพเป็นที่ตั้งแห่งตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ (หทัย) อันเป็นที่ตั้งของจิต.
               บทว่า จิตฺตสฺส ภูมฏฺโฐ - สภาพที่เป็นภูมิแห่งจิต ได้แก่สภาพที่เป็นภูมิมีกามาวจรภูมิเป็นต้น ด้วยเป็นถิ่นที่เกิดของจิต.
               บทว่า จิตฺตสฺส อารมฺมณฏฺโฐ - สภาพเป็นอารมณ์ของจิต ได้แก่อารมณ์มีรูปเป็นต้น.
               ชื่อว่า โคจรฏฺโฐ - สภาพที่เป็นโคจร เพราะอรรถว่าเป็นที่สัญจรของอารมณ์ที่สะสมไว้.
               ชื่อว่า จริยฏฺโฐ - สภาพที่เที่ยวไป เพราะเที่ยวไปในวิญญาณที่กล่าวไว้ในตอนต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง สภาพที่ปรากฏแห่งปโยคะ ชื่อว่าจริยฏัฐะ.
               ชื่อว่า คตฏฺโฐ - สภาพที่ไปด้วยการยึดถืออารมณ์ไกลและใกล้ แม้ในความที่จิตไม่ไป.
               บทว่า อภินีหารฏฺโฐ - สภาพที่นำไปยิ่ง ได้แก่สภาพที่นำไปยิ่งแห่งจิต เพื่อมนสิการถึงอารมณ์อื่นจากอารมณ์ที่ยึดถือไว้.
               บทว่า จิตฺตสฺส นิยฺยานฏฺโฐ - สภาพที่นำออกแห่งจิต ได้แก่ สภาพที่นำออกจากวัฎฏะแห่งมรรคจิต.
               ชื่อว่า จิตฺตสฺส นิสฺสรณฏฺโฐ - สภาพที่สลัดออกแห่งจิต เพราะนัยมีอาทิว่า จิตของผู้ได้เนกขัมมะเป็นอันสลัดออกจากกามฉันทะ.๑-
____________________________
๑- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๕

               [๓๙] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๔๒ ข้อมี เอกตฺเต เป็นต้น. โดยเชื่อม เอกตฺต ศัพท์ทุกแห่ง.
               บทว่า เอกตฺเต คือ ในความที่จิตมีอารมณ์อย่างเดียว. อธิบายว่า ได้แก่ เอการัมมณะ.
               ชื่อว่า ปกฺขนฺทนฏฺโฐ - สภาพที่แล่นไป เพราะอำนาจปฐมฌาน.
               ชื่อว่า ปสีทนฏฺโฐ - สภาพที่ผ่องใส เพราะอำนาจทุติยฌาน.
               ชื่อว่า สนฺติฏฺฐนฏฺโฐ - สภาพที่ตั้งมั่น เพราะอำนาจตติยฌาน.
               ชื่อว่า มุจฺจนฏฺโฐ - สภาพที่หลุดพ้น เพราะอำนาจจตุตถฌาน.
               ชื่อว่า ปสฺสนฏฺโฐ - สภาพที่เห็นนี้ ละเอียดด้วยอำนาจการพิจารณา.
               การวิสัชนา ๕ มี ยานีกตฏฺโฐ - สภาพที่ทำให้เป็นเช่นดังยานเป็นต้น เป็นความชำนาญอันวิเศษของสมาธิ.
               บทว่า ยานีกตฏฺโฐ ได้แก่ สภาพที่ทำให้เป็นเช่นดังยานที่เทียมแล้ว.
               บทว่า วตฺถุกตฏฺโฐ - สภาพที่ทำให้เป็นที่ตั้ง ได้แก่สภาพที่ทำให้ตั้งไว้ดุจวัตถุ.
               บทว่า อนุฏฺฐิตฏฺโฐ - สภาพที่ตั้งขึ้นเนืองๆ ได้แก่สภาพที่เข้าไปตั้งไว้เฉพาะ.
               บทว่า ปริจิตฏฺโฐ - สภาพที่อบรม ได้แก่สภาพที่สะสมไว้โดยรอบ.
               บทว่า สุสมารทฺธฏฺโฐ - สภาพที่ปรารภพร้อมด้วยดี ได้แก่สภาพที่เริ่มด้วยดี. อธิบาย สภาพที่ทำไว้ดี.
               อีกอย่างหนึ่ง ควรประกอบบท ๕ บท ตามลำดับด้วยความเป็นผู้ชำนาญในอาวัชชนะ สมาปัชนะ อธิฏฐานะ วุฏฐานะ ปัจจเวกขณะ.
               สภาพที่กำหนดถือเอา - สภาพที่เป็นบริวาร สภาพที่บริบูรณ์แห่งจิตเจตสิกในเวลาที่ถึงยอดแห่งการภาวนาอารมณ์มีกสิณเป็นต้น.
               ชื่อว่า สโมธานฏฺโฐ - สภาพที่ประชุม เพราะเจตสิกเหล่านั้นตั้งไว้แล้วชอบ ด้วยการประชุมในอารมณ์เดียว.
               ชื่อว่า อธิฏฺฐานฏฺโฐ - สภาพที่อธิษฐาน เพราะจิตเจตสิกเหล่านั้นครอบงำอารมณ์ด้วยการปลูกกำลัง แล้วตั้งมั่น.
               ชื่อว่า อาเสวนฏฺโฐ - สภาพที่เสพ เพราะเสพอย่างเอาใจใส่แห่งสมถะหรือวิปัสสนาตั้งแต่ต้น.
               ชื่อว่า ภาวนฏฺโฐ - สภาพที่เจริญ เพราะสามารถทำให้เจริญ.
               ชื่อว่า พหุลีกมฺมฏฺโฐ - สภาพที่ทำให้มาก เพราะการทำบ่อยๆ.
               ชื่อว่า สุสมุคฺคตฏฺโฐ - สภาพที่รวมด้วยดี เพราะสามารถการรวมสิ่งที่ทำไว้มากแล้วด้วยดี.
               ชื่อว่า สุวิมุตฺตฏฺโฐ - สภาพที่หลุดพ้นด้วยดี เพราะสามารถการหลุดพ้นด้วยดีจากธรรมเป็นข้าศึกของสภาพที่รวมไว้ดีแล้ว และสามารถในการน้อมไปด้วยดีในอารมณ์.
               พระสารีบุตรกล่าวถึงบท ๔ บทมีบทว่า พุชฺฌนฏฺโฐ - สภาพที่ตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์เป็นต้น.
               ชื่อว่า พุชฺฌนฏฺโฐ - สภาพที่ตรัสรู้โพชฌงค์ เพราะองค์แห่งโพชฌงค์ของโสดาปัตติมรรค.
               ชื่อว่า อนุพุชฺฌนฏฺโฐ - สภาพที่ตรัสรู้ตามโพชฌงค์ เพราะองค์แห่งโพชฌงค์ของสกทาคามิมรรค.
               ชื่อว่า ปฏิพุชฺฌนฏฺโฐ - สภาพที่ตรัสรู้เฉพาะโพชฌงค์ เพราะองค์แห่งโพชฌงค์ของอนาคามิมรรค.
               ชื่อว่า สมฺพุชฺฌนฏฺโฐ - สภาพที่ตรัสรู้พร้อมโพชฌงค์ เพราะองค์แห่งโพชฌงค์ของอรหัตมรรค.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า พุชฺฌนฏฺโฐ - สภาพที่ตรัสรู้โพชฌงค์ด้วยวิปัสสนา.
               ชื่อว่า อนุพุชฺฌนฏฺโฐ - สภาพที่ตรัสรู้ตามโพชฌงค์ด้วยทัสนมรรค.
               ชื่อว่า ปฏิพุชฺฌนฏฺโฐ - สภาพที่ตรัสรู้เฉพาะโพชฌงค์ด้วยภาวนามรรค.
               ชื่อว่า สมฺพุชฺฌนฏฺโฐ - สภาพที่ตรัสรู้พร้อมโพชฌงค์ด้วยผล.
               พึงทราบอรรถ ๔ อย่างมีโพธนัฏฐะ - สภาพที่ตื่นเป็นต้นแห่งโพชฌงค์ทั้งหลายด้วยกระทำการตื่นเป็นต้นของบุคคลนั้นๆ.
               ธรรมทั้งหลายชื่อว่าโพธิปักขิยะ เพราะมีในฝักฝ่ายของบุคคลผู้ใด ชื่อว่าโพธะ เพราะอรรถว่าตรัสรู้โพชฌงค์ตามที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               พึงทราบอรรถ ๔ อย่างมีโพธิปักขิยัฏฐะ - สภาพที่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้เป็นต้นแห่งโพชฌงค์ตามที่กล่าวแล้ว.
               ชื่อว่า โชตนฏฺโฐ - สภาพที่สว่าง เพราะวิปัสสนาปัญญา.
               ชื่อว่า อุชฺโชตนานุโชตนปฏิโชตนสญฺโชตนฏฺโฐ - สภาพที่สว่างขึ้น สภาพที่สว่างเนืองๆ สภาพที่สว่าง เฉพาะสภาพที่สว่างพร้อมด้วยมรรคปัญญา ๔ ตามลำดับ.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบ โชตนฏฺโฐ - สภาพที่สว่างเป็นต้นด้วยมรรคปัญญา ๔, สญฺโชตนฏฺโฐ - สภาพที่สว่างพร้อมด้วยผลปัญญาตามลำดับ.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา ทุติยภาณวาร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 10อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 31 / 56อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=305&Z=455
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=2304
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=2304
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :