ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 24อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 25อ่านอรรถกถา 33.2 / 26อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๒๔. กัสสปพุทธวงศ์

               พรรณนาวงศ์พระกัสสปพุทธเจ้าที่ ๒๔               
               ภายหลังต่อมาจากสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าโกนาคมนะ เมื่อพระศาสนาของพระองค์อันตรธานแล้ว สัตว์ที่มีอายุสามหมื่นปีก็เสื่อมลดลงโดยลำดับจนถึงมีอายุสิบปี แล้วเจริญอีกจนมีอายุนับไม่ถ้วน แล้วก็เสื่อมลดลงอีกโดยลำดับ.
               เมื่อสัตว์เกิดมามีอายุสองหมื่นปี พระศาสดาพระนามว่ากัสสปะ ผู้ปกครองมนุษย์เป็นอันมาก ก็อุบัติขึ้นในโลก.
               พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายแล้วบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากนั้นแล้วก็ถือปฏิสนธิในครรภ์ของพราหมณีชื่อว่าธนวดี ผู้มีคุณไพบูลย์ ของพราหมณ์ชื่อว่าพรหมทัตตะ กรุงพาราณสี ถ้วนกำหนดทศมาสก็คลอดออกจากครรภ์ชนนี ณ อิสิปตนะมิคทายวัน แต่ญาติทั้งหลายตั้งพระนามของพระองค์โดยโคตรว่ากัสสปกุมาร.
               พระองค์ครองฆราวาสวิสัยอยู่สองพันปี มีปราสาท ๓ หลังชื่อว่าหังสวา ยสวา และสิรินันทะ ปรากฏมีนางบำเรอสี่หมื่นแปดพันนางมีนางสุนันทาพราหมณีเป็นประมุข.
               เมื่อบุตรชื่อวิชิตเสนะ ของนางสุนันทาพราหมณี เกิดแล้ว พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ เกิดความสังเวชสลดใจ เมื่อระหว่างที่พระองค์ทรงดำริเท่านั้น ปราสาทก็หมุนเหมือนจักรแห่งแป้นทำภาชนะดิน ลอยขึ้นสู่ท้องนภากาศอันคนหลายร้อยแวดล้อมแล้ว ดุจดวงรัชนีกรในฤดูสารทที่เป็นกลุ่มทำความงามอย่างยิ่งอันหมู่ดาวแวดล้อมแล้ว ลอยไปประหนึ่งประดับท้องนภากาศ ประหนึ่งประกาศบุญญานุภาพ ประหนึ่งดึงดูดดวงตาดวงใจของชน ประหนึ่งทำยอดไม้ทั้งหลายให้งามยิ่ง เอาต้นโพธิพฤกษ์ชื่อนิโครธต้นไทรไว้ตรงกลางแล้วลงตั้งเหนือพื้นดิน.
               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ผู้เป็นมหาสัตว์ทรงยืนที่แผ่นดิน ทรงถือเอาผ้าธงชัยแห่งพระอรหัตที่เทวดาถวาย ทรงผนวชแล้ว นางบำเรอของพระองค์ก็ลงจากปราสาท เดินทางไปครึ่งคาวุต พร้อมด้วยบริวารจึงพากันนั่งกระทำให้เป็นดุจค่ายพักของกองทัพ.
               แต่นั้น คนที่มาด้วยก็พากันบวชหมด เว้นนางบำเรอ.
               ได้ยินว่า พระมหาบุรุษอันชนเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียร ๗ วัน ในวันวิสาขบูรณมี เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุนันทาพราหมณีถวายแล้ว ทรงพักกลางวัน ณ ป่าตะเคียน เวลาเย็นทรงรับหญ้า ๘ กำที่คนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อโสมะถวาย จึงเข้าไปยังโพธิพฤกษ์ชื่อต้นนิโครธ ทรงลาดหญ้ากว้างยาว ๑๕ ศอก ประทับนั่งเหนือสันถัตนั้น บรรลุพระอภิสัมโพธิญาณ ทรงเปล่งพระอุทานว่า อเนกชาติสํสารํ ฯลฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ดังนี้.
               ทรงยับยั้งอยู่ ๗ สัปดาห์ ทรงเห็นอุปนิสัยสมบัติของภิกษุหนึ่งโกฏิซึ่งบวชกับพระองค์ เสด็จไปทางอากาศ ลงที่อิสิปตนะมิคทายวัน กรุงพาราณสี อันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ อิสิปตนะมิคทายวันนั้น.
               ครั้งนั้น ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์สองหมื่นโกฏิ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ต่อมาจากสมัยของพระโกนาคมนพุทธเจ้า ก็มี
               พระสัมพุทธเจ้า พระนามว่า กัสสปะ ผู้สูงสุดแห่งสัตว์
               สองเท้า ผู้เป็นราชาแห่งธรรม ผู้ทำพระรัศมี.
                         เรือนแห่งสกุลมีข้าวน้ำโภชนะเป็นอันมาก พระ
               องค์ก็สละเสียแล้ว ทรงให้ทานแก่ยาจกทั้งหลาย ยังใจ
               ให้เต็มแล้ว ทำลายเครื่องผูกดุจโคอุสภะพังคอกฉะนั้น
               ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดม.
                         เมื่อพระกัสสปพุทธเจ้า ผู้นำโลก ทรงประกาศ
               พระธรรมจักร อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์สองหมื่น
               โกฏิ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สญฺฉฑฺฑิตํ ได้แก่ อันเขาละแล้ว ทิ้งแล้ว เสียสละแล้ว.
               บทว่า กุลมูลํ ความว่า เรือนแห่งสกุลมีกองโภคะนับไม่ถ้วน มีกองทรัพย์หลายพันโกฏิ มีโภคะเสมือนภพท้าวสหัสสนัยน์ ที่สละได้แสนยาก ก็สละได้เหมือนอย่างหญ้า.
               บทว่า ยาจเก ได้แก่ ให้แก่ยาจกทั้งหลาย.
               บทว่า อาฬกํ ได้แก่ คอกโค.
               อธิบายว่า โคอุสภะพังคอกเสียแล้วก็ไปยังที่ปรารถนาได้ตามสบายฉันใด แม้พระมหาบุรุษทำลายเครื่องผูกคือเรือนเสียแล้ว ก็ทรงบรรลุพระอภิสัมโพธิญาณได้ฉันนั้น.
               ต่อมาอีก เมื่อพระศาสดาเสด็จจาริกไปในชนบท อภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์หนึ่งหมื่นโกฏิ.
               ครั้งพระองค์ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ที่โคนต้นประดู่ ใกล้ประตูสุนทรนคร ทรงแสดงธรรม อภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่สัตว์ห้าพันโกฏิ.
               ต่อมาอีก ทรงทำยมกปาฏิหาริย์แล้ว ประทับนั่ง ณ เทวสภาชื่อสุธัมมา ในภพดาวดึงส์ ซึ่งยากนักที่ข้าศึกของเทวดาจะครอบงำได้ เมื่อทรงแสดงอภิธรรมปิฎก ๗ คัมภีร์เพื่อทรงอนุเคราะห์เทวดาทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุ มีธนวดีชนนีของพระองค์เป็นประมุข ทรงยังเทวดาสามพันโกฏิให้ดื่มอมฤตธรรม.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในโลก ๔ เดือน
               อภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์หนึ่งหมื่นโกฏิ.
                         ครั้งทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ประกาศพระสัพ-
               พัญญุตญาณ อภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่เทวดาห้าพัน
               โกฏิ.
                         พระชินพุทธเจ้า ประทับนั่ง ณ ธรรมสภา ชื่อ
               สุธัมมา ณ เทวโลกอันน่ารื่นรมย์ [ดาวดึงส์] ทรง
               ประกาศพระอภิธรรม ยังเทวดาสามพันโกฏิให้ตรัสรู้.
                         อีกครั้งทรงแสดงธรรมโปรดนรเทวยักษ์ อภิสมัย
               ได้มีแก่สัตว์เหล่านั้น นับจำนวนไม่ได้เลย.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตุมาสํ ก็คือ จาตุมาเส แปลว่า ๔ เดือน หรือปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า จรติ ก็คือ อจริ แปลว่า ได้เสด็จจาริกไปแล้ว.
               บทว่า ยมกํ วิกุพฺพนํ กตฺวา ได้แก่ ทรงทำยมกปาฏิหาริย์.
               บทว่า ญาณธาตุํ ได้แก่ สภาพของพระสัพพัญญุตญาณ. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สพฺพญาณธาตุํ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ปกิตฺตยิ ได้แก่ ทรงประกาศแก่มหาชน.
               บทว่า สุธมฺมา ความว่า สภาชื่อว่าสุธัมมามีอยู่ในภพดาวดึงส์ พระองค์ประทับนั่ง ณ สภานั้น.
               บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ พระอภิธรรม.
               เขาว่า ครั้งนั้น มียักษ์ชื่อว่านรเทพ ผู้เป็นนรเทพผู้มีอานุภาพและผู้พิชิต ซึ่งมีศักดิ์ใหญ่และฤทธิ์มากเหมือนนรเทพยักษ์ที่กล่าวมาแล้วแต่หนหลัง.
               นรเทพยักษ์นั้นแปลงตัวเหมือนพระราชาในนครหนึ่งในชมพูทวีป ทั้งรูปร่างทรวดทรงสุ้มเสียงท่วงที แล้วฆ่าพระราชาตัวจริงกินเสีย ปฏิบัติหน้าที่พระราชา พร้อมทั้งในราชสำนัก โปรดเสวยเนื้อไม่จำกัดจำนวน.
               เขาว่า นรเทวยักษ์นั้นเป็นนักเลงหญิงด้วย แต่คราใดสตรีพวกที่ฉลาดเฉลียว รู้จักเขาว่าผู้นี้ไม่ใช่พระราชาของเรา นั่นอมนุษย์ผู้ฆ่าพระราชากินเสีย ครานั้น เขาทำเป็นละอาย กินสตรีพวกนั้นหมด แล้วก็เดินทางไปนครอื่น.
               ด้วยประการดังนี้ นรเทวยักษ์นั้นกินมนุษย์แล้วก็มุ่งหน้าไปทางสุนทรนคร. พวกมนุษย์ชาวนครเห็นเขา ถูกมรณภัยคุกคามก็สะดุ้งกลัว พากันออกจากนครของตนหนีซมซานไป.
               ครั้งนั้น พระกัสสปทศพลทรงเห็นพวกมนุษย์พากันหนีไป ก็ประทับยืนประจันหน้านรเทวยักษ์นั้น นรเทวยักษ์ครั้นเห็นพระเทพแห่งเทพ ยืนประจันหน้า ก็แผดเสียงกัมปนาทดุดัน ร้ายกาจ แต่ไม่อาจให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดความกลัวได้ ก็ถึงพระองค์เป็นสรณะ แล้วทูลถามปัญหา.
               เมื่อพระองค์ทรงวิสัชนาปัญหา ทรงฝึกเขา แสดงธรรม อภิสมัยก็ได้มีแก่มนุษย์และเทวดาที่มาประชุมกัน เกินที่จะนับจำนวนได้ถ้วน.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า นรเทวสฺส ยกฺขสฺส เป็นต้น.
               ในคาถานั้น บทว่า อปเร ธมฺมเทสเน ได้แก่ ในการแสดงธรรมครั้งอื่นอีก.
               บทว่า เอเตสานํ ก็คือ เอเตสํ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะพระองค์นั้นมีสาวกสันนิบาตครั้งเดียวเท่านั้น.
               มีบุตรปุโรหิตในกรุงพาราณสี ชื่อว่าติสสะ เขาเห็นลักษณะสมบัติในพระสรีระของพระกัสสปโพธิสัตว์ ฟังบิดาพูดก็คิดว่า ท่านผู้นี้จักออกมหาภิเนษกรมณ์เป็นพระพุทธเจ้า อย่างไม่ต้องสงสัย จำเราจักบวชในสำนักของพระองค์พ้นจากสังสารทุกข์ จึงไปยังป่าหิมพานต์ที่มีหมู่มุนีผู้บริสุทธิ์ บวชเป็นดาบส. เขามีดาบสสองหมื่นเป็นบริวาร.
               ต่อมาภายหลัง เขาทราบข่าวว่าพระกัสสปกุมารออกอภิเนษกรมณ์บรรลุพระอภิสัมโพธิญาณ จึงพร้อมด้วยบริวารมาบวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ แล้วบรรลุพระอรหัต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ในวันมาฆบูรณมีในสมาคมนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระผู้เป็นเทพแห่งเทพแม้พระองค์นั้น ทรงมี
               สาวกสันนิบาต ประชุมพระสาวกขีณาสพผู้ไร้มลทิน
               คงที่ ครั้งเดียว.
                         ครั้งนั้น เป็นสันนิบาตประชุมภิกษุสาวกของผู้
               เป็นพระขีณาสพ ล่วงอริยบุคคลระดับอื่น เสมอกัน
               ด้วยหิริและศีล.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อติกฺกนฺตภวนฺตานํ ได้แก่ ผู้เกินระดับปุถุชนและอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น คือเป็นพระขีณาสพหมดทั้งนั้น.
               บทว่า หิริสีเลน ตาทีนํ ได้แก่ ผู้เสมอกันด้วยหิริและศีล.
               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นมาณพชื่อโชติปาละ จบไตรเพท มีชื่อเสียงในการทำนายลักษณะพื้นดินและลักษณะอากาศ เป็นสหายของฆฏิการะอุบาสก ช่างหม้อ.
               โชติปาลมาณพนั้นเข้าเฝ้าพระศาสดาพร้อมกับฆฏิการะอุบาสกนั้น ฟังธรรมกถาของพระองค์แล้วก็บวชในสำนักของพระองค์พระโพธิสัตว์นั้น ทรงปรารภความเพียร เล่าเรียนพระไตรปิฎกแล้ว ยังพระพุทธศาสนาให้งามด้วยการปฏิบัติข้อวัตรใหญ่น้อย.
               พระศาสดาแม้พระองค์นั้นก็ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้น.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ครั้งนั้น เราเป็นมาณพปรากฏชื่อว่า โชติปาละ
               เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนต์ จบไตรเพท.
                         ถึงฝั่งในลัทธิธรรมของตน ในลักษณศาสตร์และ
               อิติหาสศาสตร์ ฉลาดในลักษณะพื้นดินและอากาศ
               สำเร็จวิทยาอย่างสมบูรณ์.
                         อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะชื่อว่า
               ฆฏิการะ เป็นผู้น่าเคารพ น่ายำเกรง อันพระกัสสป
               พุทธเจ้าทรงสั่งสอนในพระอริยผลที่ ๓ [อนาคามีผล].
                         ฆฏิการะอุบาสก พาเราเข้าไปเฝ้าพระกัสสปชิน
               พุทธเจ้า เราฟังธรรมของพระองค์แล้วก็บวชในสำนัก
               ของพระองค์.
                         เราปรารภความเพียร ฉลาดในข้อวัตรใหญ่น้อย
               จึงไม่เสื่อมคลายในที่ไหนๆ ยังศาสนาของพระชินพุทธ
               เจ้าให้เต็มแล้ว.
                         เราเล่าเรียนนวังคสัตถุศาสน์ อันเป็นพระพุทธ
               ดำรัสตลอดหมด จึงยังพระศาสนาของพระชินพุทธเจ้า
               ให้งาม.
                         พระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้น ทรงเห็นความ
               อัศจรรย์ของเรา ก็ทรงพยากรณ์ว่า ในภัทรกัปนี้ ท่าน
               ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า.
                         พระตถาคตออกอภิเนษกรมณ์จากกรุงกบิลพัสดุ์
               อันน่ารื่นรมย์ ฯลฯ จักอยู่ต่อหน้าของท่านผู้นี้.
                         เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว จิตก็ยิ่งเลื่อม
               ใส จึงอธิษฐานข้อวัตรยิ่งยวดขึ้นไป เพื่อบำเพ็ญบารมี
               ๑๐ ให้บริบูรณ์.
                         เราท่องเที่ยวอย่างนี้ เว้นขาดอนาจาร เราทำ
               กิจกรรมที่ทำได้ยาก เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณ
               อย่างเดียว.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภูมนฺตลิกฺขกุสโล ความว่า เป็นผู้ฉลาดในวิชาสำรวจพื้นดิน วิชาดูลักษณะอากาศ วิชาดาราศาสตร์และวิชาโหราศาสตร์.
               บทว่า อุปฏฺฐโก แปลว่า ผู้บำรุง.
               บทว่า สปฺปติสฺโส ได้แก่ ผู้น่าเกรงขาม.
               บทว่า นิพฺพุโต ได้แก่ อันทรงแนะนำแล้ว หรือปรากฏแล้ว.
               บทว่า ตติเย ผเล เป็นนิมิตสัตตมี ความว่า อันทรงแนะนำแล้ว เพราะเหตุบรรลุอริยผลที่ ๓.
               บทว่า อาทาย ได้แก่ พาเอา.
               บทว่า วตฺตาวตฺเตสุ ได้แก่ ในข้อวัตรน้อยและข้อวัตรใหญ่.
               บทว่า โกวิโท ได้แก่ ผู้ฉลาดในการยังข้อวัตรเหล่านั้นให้เต็ม.
               ด้วยบทว่า น กฺวจิ ปริหายามิ ทรงแสดงว่า เราไม่เสื่อมแม้ในที่ไหนๆ แม้แต่ในศีลหรือสมาธิ สมาบัติเป็นต้นอย่างไหนๆ ขึ้นชื่อว่าความเสื่อมของเราในคุณทั้งปวง ไม่มีเลย.
               ปาฐะว่า น โกจิ ปริหายามิ ดังนี้ก็มี ความก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               คำว่า ยาวตา นั่นเป็นคำแสดงขั้นตอน. ความว่า มีประมาณเพียงไร.
               บทว่า พุทฺธภณิตํ ได้แก่ พระพุทธวจนะ.
               บทว่า โสภยึ ได้แก่ ให้งามแล้ว ให้แจ่มแจ้งแล้ว.
               บทว่า มม อจฺฉริยํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะทรงเห็นสัมมาปฏิบัติของเรา ไม่ทั่วไปกับคนอื่นๆ น่าอัศจรรย์ไม่เคยมี.
               บทว่า สํสริตฺวา ได้แก่ ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ.
               บทว่า อนาจรํ ได้แก่ อนาจารที่ไม่พึงทำ ไม่ควรทำ.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะพระองค์นั้นทรงมีนครเกิดชื่อว่าพาราณสี มีชนกเป็นพราหมณ์ชื่อว่าพรหมทัตตะ มีชนนีเป็นพราหมณีชื่อว่าธนวดี มีคู่พระอัครสาวกชื่อว่าพระติสสะและพระภารทวาชะ มีพุทธอุปัฏฐากชื่อว่าพระสัพพมิตตะ มีคู่พระอัครสาวิกาชื่อว่าพระอนุฬาและอุรุเวฬา โพธิพฤกษ์ชื่อว่านิโครธ ต้นไทร พระสรีระสูง ๒๐ ศอก พระชนมายุสองหมื่นปี ภริยาชื่อว่าสุนันทา บุตรชื่อวิชิตเสนะ ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือปราสาท.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         มีนคร ชื่อว่าพาราณสี มีกษัตริย์พระนามว่า กิกี
               ตระกูลของพระสัมพุทธเจ้าเป็นตระกูลใหญ่ อยู่ในพระ
               นครนั้น.
                         พระกัสสปพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่มีชนก
               เป็นพราหมณ์ชื่อว่าพรหมทัตตะ มีชนนีเป็นพราหมณี
               ชื่อว่าธนวดี.
                         พระกัสสปพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ มีพระ-
               อัครสาวกชื่อว่าพระติสสะและพระภารทวาชะ มีพุทธ-
               อุปัฏฐากชื่อว่าพระสัพพมิตตะ.
                         มีอัครสาวิกาชื่อพระอนุฬาและพระอุรุเวฬา โพธิ
               พฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียกว่าต้น
               นิโครธ.
                         มีอัครอุปัฏฐากชื่อว่าสุมังคละและฆฏิการะ มีอัคร
               อุปัฏฐายิกาชื่อว่าวิชิตเสนาและภัททา.
                         พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น สูง ๒๐ ศอก เหมือน
               สายฟ้าอยู่กลางอากาศ เหมือนจันทร์เพ็ญทรงกลด.
                         พระกัสสปพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่พระองค์
               นั้น มีพระชนมายุสองหมื่นปี พระองค์ทรงมีพระชนม์
               ยืนถึงเพียงนั้น จึงยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆะ.
                         ทรงสร้างสระคือธรรม ประทานเครื่องลูบไล้คือ
               ศีล ทรงนุ่งผ้าคือธรรม ทรงแจกมาลัยคือธรรม.
                         ทรงวางธรรมอันใสไร้มลทิน ต่างกระจก ไว้ใน
               มหาชน บางพวกปรารถนาพระนิพพาน ก็จงดูเครื่อง
               ประดับของเรา.
                         ประทานเสื้อคือศีล ผูกสอดเกราะ คือฌาน ห่ม
               หนังคือธรรม ประทานเกราะชั้นเยี่ยม.
                         ประทานสติเป็นโล่ ประทานธรรมเป็นพระขรรค์
               อย่างดี ศีลเป็นเครื่องย่ำยีการคลุกคลี.
                         ประทานวิชชา ๓ เป็นเครื่องประดับ ผลทั้ง ๔
               เป็นมาลัยสวมศีรษะ ประทานอภิญญา ๖ เป็นอาภรณ์
               ธรรมเป็นดอกไม้เครื่องประดับ.
                         พระองค์ทั้งพระสาวก ประทานพระสัทธรรมเป็น
               ฉัตรขาว กั้นบาป เนรมิตดอกไม้คือทางที่ไม่มีภัยแล้ว
               ก็ดับขันธปรินิพพาน.
                         ก็นั่น คือพระสัมมาสัมพุทธะ ผู้มีพระคุณหา
               ประมาณมิได้ อันใครเข้าเฝ้าได้ยาก นั่นคือพระธรรม
               รัตนะที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว ควรเรียกให้มาดู.
                         นั่นคือพระสังฆรัตนะ ผู้ปฏิบัติดียอดเยี่ยม ทั้งนั้น
               ก็อันตรธานไปสิ้น สังขารทั้งปวง ก็ว่างเปล่าแน่แท้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิชฺชุลฏฺฐีว ได้แก่ ดุจสายฟ้าแลบอันตั้งอยู่ โดยเป็นของทึบ.
               บทว่า จนฺโทว คหปูริโต ได้แก่ ดุจดวงจันทร์เพ็ญอันทรงกลดแล้ว.
               บทว่า ธมฺมตฬากํ มาปยิตฺวา ทรงสร้างสระคือพระปริยัติธรรม.
               บทว่า ธมฺมํ ทตฺวา วิเลปนํ ได้แก่ ประทานเครื่องลูบไล้ เพื่อประดับสันติแห่งจิต กล่าวคือจตุปาริสุทธิศีล.
               บทว่า ธมฺมทุสฺสํ นิวาเสตฺวา ได้แก่ นุ่งผ้าคู่ กล่าวคือธรรม คือหิริและโอตตัปปะ.
               บทว่า ธมฺมมาลํ วิภชฺชิย ได้แก่ จำแนก คือเปิดพวงมาลัยดอกไม้คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ.
               บทว่า ธมฺมวิมลมาทาสํ ความว่า วางกระจก กล่าวคือโสดาปัตติมรรคอันไร้มลทิน คือกระจกธรรมใกล้ริมสระธรรมสำหรับมหาชน เพื่อกำหนดธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษที่เป็นกุศลและอกุศล.
               บทว่า มหาชเน แปลว่า แก่มหาชน.
               บทว่า เกจิ ก็คือ เยเกจิ.
               บทว่า นิพฺพานํ ปตฺเถนฺตา ความว่า เที่ยวปรารถนาพระนิพพานอันกระทำความย่อยยับแก่มลทินคือ อกุศลทั้งมวล อันไม่ตาย ปัจจัยปรุงแต่งมิได้ ไม่มีทุกข์ สงบอย่างยิ่งมีอันไม่จุติเป็นรส ชนเหล่านั้นจงดูเครื่องประดับนี้ มีประการที่กล่าวแล้วอันเราแสดงแล้ว.
               ปาฐะว่า นิพฺพานมภิปตฺเถนฺตา ปสฺสนฺตุ มํ อลงฺกรํ ดังนี้ก็มี ความก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า อลงฺกรํ ท่านทำรัสสะ กล่าว.
               บทว่า สีลกญฺจุกํ ทตฺวาน ได้แก่ ประทานเสื้อที่สำเร็จด้วยศีล ๕ ศีล ๑๐ และจตุปาริสุทธิศีล.
               บทว่า ฌานกวจวมฺมิตํ ได้แก่ ผูกเครื่องผูกคือเกราะ คือจตุกกฌานและปัญจกฌาน.
               บทว่า ธมฺมจมฺมํ ปารุปิตฺวา ได้แก่ ห่มหนังคือธรรมที่นับได้ว่าสติสัมปชัญญะ.
               บทว่า ทตฺวา สนฺนาหนุตฺตมํ ความว่า ประทานเครื่องผูกสอดคือวิริยะที่ประกอบด้วยองค์ ๔ อันสูงสุด.
               บทว่า สติผลกํ ทตฺวาน ได้แก่ ประทานเครื่องป้องกันคือโล่คือสติปัฏฐาน ๔ เพื่อป้องกันโทษอริและบาปมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า ติขิณํ ญาณกุนฺติมํ ได้แก่ หอกคือวิปัสสนาญาณอันคมกริบ คือหอกคมอย่างดีคือวิปัสสนาญาณที่สามารถแทงตลอดได้. หรือความว่า ทรงตั้งนักรบคือพระโยคาวจรที่สามารถทำการกำจัดกองกำลังคือกิเลสได้.
               บทว่า ธมฺมขคฺควรํ ทตฺวา ได้แก่ ประทานพระขรรค์อย่างดีคือมรรคปัญญา ที่มีคมอันลับด้วยกลีบอุบลคือความเพียร แก่พระโยควาจรนั้น.
               บทว่า สีลสํสคฺคมทฺทนํ ความว่า โลกุตรศีลอันเป็นอริยะ เพื่อย่ำยีการคลุกคลีด้วยกิเลสคือเพื่อฆ่ากิเลส.
               บทว่า เตวิชฺชาภูสนํ ทตฺวาน ได้แก่ ประทานเครื่องประดับสำเร็จด้วยวิชชา ๓.
               บทว่า อาเวฬํ จตุโร ผเล ไ ด้แก่ ทำผล ๔ ให้เป็นพวงมาลัยคล้องคอ.
               บทว่า ฉฬภิญฺญาภรณํ ได้แก่ ประทานอภิญญา ๖ เพื่อเป็นอาภรณ์และเพื่อกระทำการประดับ.
               บทว่า ธมฺมปุปฺผปิลนฺธนํ ได้แก่ ทำพวงมาลัยดอกไม้ กล่าวคือโลกุตรธรรม ๙.
               บทว่า สทฺธมฺมปุณฺฑรจฺฉตฺตํ ทตฺวา ปาปนิวารณํ ได้แก่ ประทานเศวตฉัตรคือวิมุตติอันบริสุทธิ์สิ้นเชิง เป็นเครื่องกันแดดคืออกุศลทั้งปวง.
               บทว่า มาปยิตฺวาภยํ ปุปฺผํ ความว่า ทำดอกไม้คือมรรคมีองค์ ๘ ที่ให้ถึงเมืองที่ไม่มีภัย.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะดับขันธปรินิพพาน ณ เสตัพยอุทยาน ใกล้เสตัพยนคร แคว้นกาสี.
               เขาว่า พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ไม่กระจัดกระจายแพร่หลายไป. มนุษย์ทั่วชมพูทวีป เมื่อสร้างใช้มโนสิลา หินอ่อนแทนดิน ใช้น้ำมันแทนน้ำ เพื่อก่อภายนอกเป็นแผ่นอิฐทองแต่ละแผ่นมีค่าเป็นโกฏิ วิจิตรด้วยรัตนะ เพื่อทำภายในให้เต็ม เป็นอิฐทองแต่ละแผ่นมีค่าครึ่งโกฏิ ช่วยกันสร้างเป็นสถูปสูงหนึ่งโยชน์.
                                                  กสฺสโปปิ ภควา กตกิจฺโจ
                                                  สพฺพสตฺตหิตเมว กโรนฺโต
                                                  กาสิราชนคเร มิคทาเย
                                                  โลกนนฺทนกโร นิวสิ.

                         แม้พระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสป เสร็จกิจแล้ว ทรงทำประโยชน์
                         เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์อย่างเดียว ทรงทำความร่าเริงแก่โลก
                         ประทับอยู่ประจำ ณ กรุงพาราณสีราชธานีแห่งแคว้นกาสีแล.

               ในคาถาที่เหลือ ทุกแห่ง คำชัดแล้วทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาวงศ์พระกัสสปพุทธเจ้า               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 24อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 25อ่านอรรถกถา 33.2 / 26อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8446&Z=8516
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=8375
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=8375
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :