ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 926อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 961อ่านอรรถกถา 35 / 976อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ขุททกวัตถุวิภังค์ จตุกกนิเทศ

               อรรถกถาจตุกกนิทเทส               
               ในนิทเทสแห่งมาติกาหมวด ๔               
               คำว่า ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดเพราะเหตุแห่งจีวร เป็นต้น. อธิบายว่า ตัณหาย่อมเกิดขึ้นเพราะจีวรเป็นเหตุอย่างนี้ว่า เราจักได้จีวร อันชอบใจในที่ไหนๆ เป็นต้น.
               อิติศัพท์ในคำว่า อิติ ภวาภวเหตุ นี้เป็นนิบาต ลงในอรรถแห่งนิทัสสนะ (คืออุทาหรณ์).
               อธิบายว่า ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดเพราะจีวรเป็นเหตุฉันใด ตัณหานั้นแม้เมื่อจะเกิด ก็ย่อมเกิดเพราะวัตถุอื่นๆ อันประณีตและประณีตยิ่งกว่าเป็นเหตุฉันนั้น. ก็วัตถุทั้งหลายมีน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้น อันประณีตและประณีตยิ่งกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาในคำว่า ภวาภโว นี้.
               อนึ่ง บัณฑิตพึงทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอริยวงศ์ ๔ ตามลำดับ เพื่อประโยชน์แก่การละความเกิดขึ้นแห่งตัณหา ๔ (ตัณหุปปาทา ๔) เหล่านี้.

               อคติคมนะ               
               คำว่า ฉนฺทาคตึ คจฺฉติ อธิบายว่า บุคคลย่อมลำเอียง คือย่อมกระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะฉันทะ คือเพราะความรัก. แม้ในบทอื่นๆ ก็นัยนี้. ในอคติเหล่านั้น บุคคลใดย่อมกระทำวัตถุอันไม่ใช่เจ้าของให้เป็นเจ้าของ ด้วยสามารถแห่งความพอใจรักใคร่ว่า บุคคลนี้เป็นมิตรของข้าพเจ้า หรือว่าเป็นเพื่อน (สนฺทิฏโฐ) หรือว่าเป็น ผู้ร่วมกินร่วมนอน (สมภัตตะ) หรือว่า เป็นญาติของข้าพเจ้า ก็หรือว่า บุคคลนี้ย่อมให้สินบนแก่ข้าพเจ้า ดังนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าย่อมลำเอียงเพราะรักใคร่ (ฉันทาคติ).
               บุคคลใด ย่อมกระทำวัตถุอันเป็นของมีเจ้าของให้เป็นของไม่ใช่เจ้าของ ด้วยสามารถแห่งปกติเวร (คือการไม่ชอบพอกันมาก่อน) หรือว่า ด้วยสามารถแห่งความโกรธอันเกิดขึ้นในขณะนั้นนั่นแหละว่า ผู้นี้เป็นศัตรูของเรา ดังนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าย่อมลำเอียงเพราะความไม่ชอบกัน (โทสาคติ).
               บุคคลใดกล่าวคำใด ย่อมทำวัตถุอันเป็นของมีเจ้าของให้ไม่ใช่เจ้าของ เพราะความโง่เขลา เพราะเป็นคนทึบ บุคคลนี้ ชื่อว่าย่อมลำเอียงเพราะหลง (โมหาคติ).
               บุคคลใดมีความกลัวว่า ผู้นี้เป็นราชวัลลภ หรือว่าผู้นี้มีความประพฤติไม่เรียบร้อย หรือว่าบุคคลนี้จะพึงทำความฉิบหายให้แก่เรา ดังนี้ ย่อมทำบุคคลผู้มิใช่เจ้าของทรัพย์ ให้เป็นเจ้าของทรัพย์ ผู้นี้ชื่อว่าย่อมลำเอียงเพราะความกลัว (ภยาคติ).
               ก็อีกอย่างหนึ่ง บุคคลใด เมื่อแบ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งในฐานะที่ควรแบ่งย่อมให้มากกว่าผู้อื่น ด้วยอำนาจแห่งความรักว่า ผู้นี้เป็นมิตรของเรา หรือว่าเป็นเพื่อน หรือว่าเป็นผู้ร่วมกินร่วมนอน ดังนี้. ย่อมให้น้อยด้วยอำนาจแห่งโทสะว่า ผู้นี้เป็นศัตรูของเรา ดังนี้ เมื่อไม่รู้ว่า สิ่งนี้อันเราให้แล้วหรือว่ายังมิให้ เพราะความที่ตนเป็นคนเขลา ย่อมให้สิ่งของมากแก่คนบางคน ย่อมให้น้อยแก่คนบางคน ดังนี้ เป็นผู้กลัวว่า เมื่อเราไม่ให้สิ่งนี้ ผู้นี้พึงทำความฉิบหายแม้แก่เรา ดังนี้ ย่อมให้สิ่งของแก่คนบางคน.
               บุคคล แม้ทั้ง ๔ จำพวกนี้ชื่อว่าย่อมดำเนินไปสู่ฉันทาคติเป็นต้นตามลำดับ.
               พระอริยะทั้งหลายย่อมไม่ดำเนินไปเพราะธรรมมีฉันทะเป็นต้นนี้ เพราะเหตุนี้ ธรรมนี้จึงชื่อว่าอคติ. ชนทั้งหลายมิใช่พระอริยะ ย่อมดำเนินไปสู่อคติ ด้วยธรรมมีฉันทะเป็นต้นนี้ เพราะเหตุนั้น อคตินี้จึงชื่อว่าอคติคมนะ. บททั้ง ๒ แห่งธรรมทั้ง ๔ มีฉันทะเป็นต้นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งความเป็นธรรมสาธารณะ. การลำเอียง (คมนํ หมายถึงการเป็นไป) เพราะฉันทะ ชื่อว่าฉันทาคมนะ (แปลว่า ความลำเอียงเพราะความรักใคร่). ฉันทาคมนะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งการไม่สาธารณะแก่ธรรมทั้งหลายมีโทสะเป็นต้น. การลำเอียง เพราะทำราคะอันเป็นฝ่ายของตน และโทสะอันเป็นฝ่ายของผู้อื่นไว้เฉพาะหน้า ด้วยความเป็นผู้ไม่รวมเป็นพวกเดียวกัน ชื่อว่าความลำเอียงเพราะเป็นพวกพ้องกัน. ชื่อว่าความลำเอียงเพราะความหันเหไปเหมือนน้ำไหล ก็เพราะเป็นราวกะน้ำที่ไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉะนั้น. การลำเอียงนี้ ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งการเป็นธรรมสาธารณะแม้แก่การลำเอียงทั้ง ๔.

               วิปริเยสะ               
               ความเข้าใจผิด               
               สภาวะใดย่อมแสวงหาสิ่งตรงกันข้าม โดยนัยว่า สิ่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยงเป็นต้น ว่าเป็นของเที่ยงเป็นต้น สภาวะนั้น จึงชื่อว่าวิปริเยสะ (ความเข้าใจผิด). ความเข้าใจผิด เพราะสัญญา ชื่อว่าสัญญาวิปริเยสะ. ในวิปริเยสะทั้ง ๒ แม้นอกนี้ก็นัยนี้. วิปริเยสะทั้ง ๔ เหล่านี้ ย่อมมีด้วยสามารถแห่งวัตถุ ๔ (คืออนิจจะ ทุกขะ อนัตตะและอสุภะ) จึงเป็นวิปริเยสะ ๑๒ ด้วยสามารถแห่งสัญญาเป็นต้น.
               ในวัตถุเหล่าใด วิปริเยสะ ๘ ในวิปริเยสะเหล่านั้น ย่อมละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค.
               ในคำว่า อสุเภ สุภํ นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า สัญญาและจิตตวิปัลลาสย่อมเบาบางไป ด้วยสกทาคามิมรรค และย่อมละได้ด้วยอนาคามิมรรค.
               ในคำว่า ทุกฺเข สุขํ นี้ พึงทราบว่า ย่อมละได้ด้วยอรหัตมรรค.

               อริยโวหาร               
               คำว่า อริยโวหารา ได้แก่ โวหารคือถ้อยคำทั้งหลาย อันมิใช่ของพระอริยะเป็นถ้อยคำลามก.
               คำว่า ทิฏฺฐวาทิตา (แปลว่า พูดว่าเห็น) ได้แก่ เป็นผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ว่า สิ่งนี้ ข้าพเจ้าเห็นแล้ว.
               ก็ในคำนี้ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความ ด้วยสามารถแห่งเจตนาอันยังวาจานั้นๆ ให้ตั้งขึ้น. แม้คำว่า เจตนาที่บุคคลนั้นกล่าวพร้อมกับเสียง ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้แล้วนั่นแหละ. ในหมวด ๔ แห่งอริยโวหารที่ ๒ ก็นัยนี้.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าพระอริยะไม่เห็นแล้ว กล่าวว่าเราเห็นแล้ว หรือว่า เห็นแล้ว กล่าวว่าเราไม่เห็น ย่อมไม่มี. บุคคลผู้มิใช่พระอริยะเท่านั้น ย่อมกล่าวอย่างนี้. เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลกล่าวอยู่อย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เจตนา ๘ กับอนริยโวหาร ๘ เหล่านี้ เกิดพร้อมกับเสียง.
               หมวด ๔ ที่หนึ่งในทุจริตทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งเจตนาอันเป็นบาป (เป็นเวร) หมวด ๔ ที่สอง ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งวจีทุจจริต.
               ในภัยทั้งหลาย ภัยอันเกิดขึ้น เพราะอาศัยความเกิด (ชาติ) ชื่อว่าชาติภัย ในหมวด ๔ ที่หนึ่ง. แม้ในภัยที่เหลือ ก็นัยนี้แหละ. ภัยอันเกิดขึ้นแต่พระราชา ชื่อว่าราชภัย ในหมวด ๔ ที่สอง. แม้ในภัยที่เหลือ ก็นัยนี้. ภัย ๔ ในหมวด ๔ ที่สาม เมื่อบุคคลหยั่งลงสู่น้ำในมหาสมุทร จึงชื่อว่าเป็นภัยตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสนั้น.
               ได้ยินว่า ในมหาสมุทร คลื่นชื่อว่ามหินทวีจิ ตั้งขึ้นไปในเบื้องบน ๖๐ โยชน์. คลื่นชื่อว่าคังคาวีจิ ตั้งขึ้นไปในเบื้องบน ๕๐ โยชน์. คลื่นชื่อว่าโรหนวีจิ ตั้งขึ้นไปในเบื้องบน ๔๐ โยชน์ ภัยอันเกิดขึ้นเพราะอาศัยลูกคลื่นทั้งหลายเห็นปานนี้ ชื่อว่าอูมิภัย ภัยเกิดขึ้นแต่คลื่น. ภัยเกิดแต่จระเข้ ชื่อว่ากุมภิลภัย. ภัยเกิดแต่วังน้ำวน ชื่อว่าอาวัฏฏภัย. สุํสุกา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าปลาร้ายภัยแต่ปลาร้ายนั้น ชื่อว่าสุงสุกาภัย.
               คำว่า ภัยเกิดแต่การค่อนขอดตัวเอง ในหมวด ๔ ที่สี่ได้แก่ ภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีบาปกรรมติเตียนตนเอง.
               คำว่า ภัยเกิดแต่การค่อนขอดผู้อื่น ได้แก่ ภัยที่เกิดขึ้นแต่การติเตียนบุคคลอื่น.
               คำว่า ภัยเกิดแต่อาชญา ได้แก่ ภัยอันเกิดขึ้น เพราะอาศัยอาชญาอันพระราชาให้เป็นไปแก่บุคคลผู้ครองเรือน (อาคาริกบุคคล) และเพราะอาชญา คือพระวินัยของผู้ไม่ครองเรือน.
               คำว่า ภัยเกิดแต่อบาย ได้แก่ ภัยอันเกิดขึ้นเพราะอาศัยอบายภูมิ ๔. ชื่อว่า มหาภัย ๑๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยภัย ๔ หมวดๆ ละ ๔ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่า ติมพรูสกทิฏฐิ๑- พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในทิฏฐิจตุกกะ.
               บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น คำว่า สุขทุกข์ตนทำเอง๒- ดังนี้ ได้แก่ เมื่อบุคคลเห็นเวทนา โดยความเป็นอัตตาตัวตนอยู่ ความเห็นผิดก็เกิดขึ้นว่า เวทนาอันเวทนานั่นเองทำไว้แล้ว ดังนี้. ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น ก็จะปรากฏว่า เวทนาที่เกิดขึ้นในกาลก่อนนั้นยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น ทิฏฐิคือความเห็นผิดนี้ จึงชื่อว่าสัสสตทิฏฐิ.
               คำว่า สจฺจโต เถตโต ได้แก่ (ทิฏฐิเกิดขึ้น) โดยสัจจะ โดยถาวร.
               คำว่า สุขทุกข์อันคนอื่นทำให้๓- ดังนี้ อธิบายว่า เมื่อเสวยเวทนาอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก็เห็นว่า ตนมีเวทนา คือมีเวทนาอื่นกระทำให้ ทิฏฐิความเห็นผิด ก็จะเกิดขึ้นว่า เวทนานี้อันเวทนาอื่นทำให้ ดังนี้. ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนี้ ความขาดสูญแห่งเวทนาอันเกิดขึ้นก่อนย่อมปรากฏว่า เพราะเวทนาเป็นผู้กระทำเวทนา ฉะนั้น ทิฏฐินี้จึงชื่อว่าอุจเฉททิฏฐิ.
               คำว่า สุขทุกข์ตนทำเองด้วย คนอื่นทำให้ด้วย ดังนี้ ได้แก่ ทิฏฐิความเห็นผิดที่เกิดขึ้นแก่ผู้ยึดถือว่า สุขทุกข์ตนทำเองครึ่งหนึ่ง ผู้อื่นทำให้ครึ่งหนึ่ง โดยอรรถตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ นี้ชื่อว่าสัสสตุจเฉททิฏฐิ.
               ทิฏฐิความเห็นผิดข้อที่ ๔ เกิดขึ้นแก่ผู้ยึดถือว่า สุขทุกข์ไม่มีเหตุเลย ดังนี้ ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น ทิฏฐินี้จึงชื่อว่าอเหตุกทิฏฐิ.
               บทที่เหลือในที่นี้ มีอรรถตื้นทั้งนั้น เพราะมีนัยตามที่กล่าวในหนหลังแล.
____________________________
๑- ติมพรูสกทิฏฐิ ได้แก่ ทิฏฐิที่ชุ่มอยู่ด้วยราคะ ท่านผู้รู้ให้คำอธิบายว่า เป็นทิฏฐิที่เกิดจากการเรียนมากแล้วมีมานะว่า ฉันเป็นผู้คงแก่เรียน (สัสสต, อุจเฉท, อเหตุกทิฏฐิ).
๒- ในสักกายทิฏฐิว่า เวทนํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ แปลว่า เห็นเวทนาโดยความเป็นตน โดยเข้าใจว่าเวทนาเป็นอันเดียวกับตน.
๓- ในสักกายทิฏฐิว่า เวทนาวนฺตํ วา อตฺตานํ แปลว่า อีกอย่างหนึ่ง เห็นตนมีเวทนา โดยเข้าใจว่าตนกับเวทนาเป็นคนละอย่าง.

               จตุกกนิทเทส จบ.               \
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังค์ จตุกกนิเทศ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 926อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 961อ่านอรรถกถา 35 / 976อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=12793&Z=12910
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=12754
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=12754
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :