ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถกถา เล่มที่ 38 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 38 / 6อ่านอรรถกถา 38 / 1564
อรรถกถา ยมกปกรณ์ ภาค ๑
มูลยมก อุทเทสวาร

               ยมกปฺปกรณฏฺฐกถา               
               (อรรถกถาแห่งปกรณ์ยมก)               
               อารมฺภกถา               
                         สงฺเขเปเนว เทวานํ     เทวเทโว สุราลเย
                         กถาตฺถุปฺปกรณํ        เทสยิตฺวา รณญฺชโห ฯ
                         ยมสฺส วีสยาตีโต        นานายมกมณฺฑิตํ
                         อภิธมฺมปฺปกรณํ       อฏฺฐํ ฉฏฺฐานเทสโก ฯ
                         ยมกํ อยมสวฏฺฏ-       นีลามลตนูรุโห
                         ยํ เทสยิ อนุปฺปตฺโต     ตสฺส สํวณฺณนากฺกโม
                         อิทานิ ยสฺมา ตสฺมาสฺส   โหติ สํวณฺณนา อยํ ฯ

               พระสัมมาสัมพุทธะ ผู้เป็นวิสุทธิเทพ ผู้ประหาณกิเลสอันเป็นเหตุยังสัตว์ให้ร้องไห้อยู่ในภพน้อยใหญ่ ครั้นทรงแสดงกถาวัตถุปกรณ์โดยสังเขป แก่ทวยเทพทั้งหลายในสุราลัยเทวโลกแล้ว พระองค์ผู้ก้าวพ้นเขตแดน (วิสัย) ของพระยายม เป็นผู้ไม่มีมลทินเกิดในพระองค์อันจะหมุนมาสู่วัฏฏะอีก ผู้แสดงธรรมเครื่องประหาณกิเลส ได้ทรงแสดงอภิธรรมปกรณ์ ชื่อว่ายมก ซึ่งเป็นปกรณ์ที่ ๖ ประดับด้วยนานายมกไว้แล้ว บัดนี้ ลำดับการสังวรรณนาแห่งปกรณ์นั้น ถึงพร้อมแล้ว เพราะฉะนั้น การสังวรรณนาจะมีต่อไป.

               อรรถกถามูลยมก               
               วรรณนาอุทเทสวาระ               
               ก็ปกรณ์นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจำแนกไว้แล้ว ๑๐ อย่าง ด้วยอำนาจของยมก ๑๐ อย่าง คือมูลยมก ขันธยมก อายตนยมก ธาตุยมก สัจจยมก สังขารยมก อนุสยยมก จิตตยมก ธรรมยมกและอินทริยยมก พึงทราบอรรถแห่งยมก ๑๐ อย่างเหล่านี้ของปกรณ์นี้อย่างนี้
               ถามว่า ชื่อว่ายมก เพราะอรรถว่ากระไร?
               ตอบว่า เพราะอรรถว่าเป็นคู่กัน
               จริงอยู่ คำว่า คู่กัน ท่านเรียกว่า ยมก เหมือนกับที่ท่านกล่าวไว้ว่า ยมกปาฏิหาริย์=ปาฏิหาริย์คู่ ยมกสาลา=ไม้สาละคู่ เป็นต้น.
               ในยมกทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ยมกหนึ่งๆ ชื่อว่าคู่ เพราะแสดงไว้ด้วยอำนาจของยมกทั้งหลาย คือคู่ ด้วยประการฉะนี้ ปกรณ์นี้ทั้งหมด พึงทราบว่า ชื่อว่ายมก เพราะรวบรวมคู่ทั้งหลายเหล่านี้ไว้.
               ยมกแรกแห่งยมก ๑๐ อย่าง เรียกว่ามูลยมก เพราะในมูลยมกนั้นพระพุทธองค์ทรงกระทำการถามและตอบด้วยอำนาจแห่งมูล.
               มูลยมกนั้นมี ๒ วาระ คืออุทเทสวาระและนิทเทสวาระ ใน ๒ วาระนั้น อุทเทสวาระเป็นวาระแรกทรงยกขึ้นแล้วนำออกแสดงไปตามลำดับ .
               ยมกนี้ว่า เยเกจิ กุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต กุสลมูลา
เย วา ปน กุสลมูลา สพฺเพ เต ธมฺมา กุสลา
เป็นยมกต้น (คู่แรก) ของมูลยมกนั้น
               พึงทราบความเป็นคู่กัน (ความเป็นยมก) แห่งอุทเทสวาระนั้น ด้วยวิธี ๓ อย่าง คืออรรถยมก ท่านแสดงด้วยอำนาจแห่งเนื้อความ ๒ อย่าง คือกุศลและอกุศลอย่างหนึ่ง ธรรมยมก ท่านแสดงด้วยอำนาจของธรรมที่เป็นแบบแผนที่ดำเนินไปโดยอนุโลม (ตามลำดับ) และปฏิโลม ท่านลำดับของเนื้อความเหล่านั้นอย่างหนึ่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านแสดงปุจฉายมก ด้วยอำนาจของคำถามที่ดำเนินไปโดยอนุโลมและปฏิโลม ยมกทั้งหลายที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บัดนี้ พึงทราบการกำหนดพระบาลีด้วยอำนาจแห่งประเภทของวาระมีนัย ยมก ปุจฉาและอรรถแห่งอุทเทสวาระในมูลยมกนี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยยมกทั้งหลายเหล่านี้อย่างนี้.
               นัย ๔ อย่างเหล่านี้ คือมูลนัย มูลมูลนัย มูลกนัย มูลมูลนัย มีอยู่ เพราะอาศัยบทที่เป็นเบื้องต้นนี้กุสลา ธมฺมา แห่งกุสลติกมาติกา.
               ในนัย ๔ อย่างเหล่านี้ นัยหนึ่งๆ มียมก ๓ อย่าง คือมูลยมก เอกมูลยมก อัญญมัญญมูลยมก จึงเป็นยมก ๑๒ อย่าง.
               ในยมกหนึ่งๆ มีปุจฉา ๒ อย่างด้วยอำนาจอนุโลมและปฏิโลม จึงเป็นปุจฉา ๒๔.
               ในปุจฉาหนึ่งๆ มีอรรถ ๒ อย่างด้วยอำนาจสันนิฏฐาน (บทตั้ง) และสังสยะ (บทถามหรือบทสงสัย) จึงเป็นอรรถ ๔๘.
               พึงทราบอรรถแห่งสันนิฏฐานในบทนี้ว่า เยเกจิ กุสลา ธมฺมา = ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่เป็นกุศล (มีอยู่) เพราะความไม่มีความสงสัยในกุศลทั้งหลายว่าเป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศล.
               พึงทราบอรรถแห่งสังสยะในบทนี้ว่า สพฺเพ เต กุสลมูลา = กุศลเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศลมูลหรือ เพราะการถามด้วยอำนาจความสงสัยอย่างนี้ว่า กุศลเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุลมูลหรือไม่เป็นกุศลมูล ก็เนื้อความนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วเพื่อแสดงความสงสัยในที่เป็นที่สงสัยของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย แต่ว่า ชื่อว่าความสงสัยย่อมไม่มีแก่พระตถาคต ในบทปุจฉาแม้เหล่าอื่นจากบทนี้ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บัณฑิตพึงทราบว่า ก็บททั้งหลาย ๔ แม้ทั้งปวงที่ท่านกล่าวแล้วด้วยนัย ๑๖ ยมก ๔๘ ปุจฉา ๙๖ อรรถ ๑๙๒ ด้วยสามารถแห่งอุทเทสในกุศลติกมาติกาตากาว่า ก็นัย เหล่านี้ย่อมมีเพราะอาศัยกุศลบท ยมก ๑๒ ย่อมมีด้วยอำนาจแห่งยมก ๓ อย่างในนัยๆ หนึ่ง ปุจฉา ๒๔ ย่อมมีด้วยอำนาจปุจฉา ๒ อย่างในยมกหนึ่งๆ อรรถ ๔๘ ย่อมมีด้วยสามารถแห่งอรรถ ๒ อย่างในปุจฉาหนึ่ง ดังนี้ฉันใด
               นัย ๔ อย่างเหล่านี้ก็ย่อมมีเพราะอาศัยอกุศลบทบ้าง เพราะอาศัยอัพยากตบทบ้าง เหมือนกันฉันนั้น เพราะอาศัยซึ่งบท จึงชื่อว่านำออกแสดงแล้ว เพราะกระทำบททั้ง ๓ ให้เป็นอันเดียวกันบ้าง.
               เบื้องหน้าแต่นี้ วาระ ๙ อย่าง มีวาระว่า เยเกจิ กุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต กุสลเหตุ = ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นกุศล มีอยู่ ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศลเหตุหรือ ดังนี้เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นแสดงแล้วด้วยอำนาจไวพจน์แห่งมูลวาระนั้นวาระแม้ทั้งหมด ๑๐ วาระ คือมูลวาระ เหตุวาระ นิทานวาระ สัมภววาระ ปภววาระ สมุฏฐานวาระ อาหารวาระ อาลัมพณวาระ ปัจจยวาระ สมุทยวาระ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้.
               นัย ๑๖๐ ยมก ๔๘๐ ปุจฉา ๙๖๐ อรรถ ๑๙๒๐ พึงทราบว่าท่านยกขึ้นแสดงไว้แล้วในวาระทั้ง ๑๐ แม้ทั้งหมดว่า พึงทราบวาระทั้งหลายมีนัยเป็นต้น ในบทที่เหลือด้วยการกำหนดบทที่มาแล้วในมูลวาระนั้น บัณฑิตพึงทราบการกำหนดพระบาลีด้วยสามารถประเภทแห่งวาระมีนัย ยมก ปุจฉาและอรรถ ในอุทเทสวาระอย่างนี้ก่อน.
               พระคาถาที่ว่า มูลํ เหตุ นิทานํ จ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าอุทานคาถา ของวาระทั้งหลาย ๑๐ คำทั้งหลายมีคำว่า มูล เป็นต้น แม้ทั้งหมดในคาถานั้น เป็นไวพจน์ของเหตุ (การณะ) นั่นแหละ.
               ก็เหตุชื่อว่ามูล เพราะอรรถว่าตั้งไว้เฉพาะ
               ธรรมชาติใดย่อมไป คือย่อมเป็นไป เพื่อยังผลของตนให้สำเร็จ เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าเหตุ
               ธรรมชาติใดย่อมให้ซึ่งผลของตน ราวกะแสดงอยู่ว่า เชิญท่านถือเอาซึ่งผลนั้น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่านิทาน
               ผลย่อมเกิดพร้อมจากธรรมใด เหตุนั้นธรรมนั้น ชื่อว่าสัมภวะ
               ผลย่อมเกิดทั่วจากธรรมใด เหตุนั้นธรรมนั้น ชื่อว่าปภวะ
               ผลย่อมตั้งขึ้นในธรรมนี้ หรือว่าย่อมตั้งขึ้นด้วยธรรมนี้ เหตุนี้ ธรรมนี้ชื่อว่าสมุฏฐาน
               ธรรมใดย่อมนำมาซึ่งผลของตน เหตุนั้นธรรมนั้น ชื่อว่าอาหาร
               ธรรมใดอันผลของตนย่อมยึดไว้ เพราะอรรถว่าไม่พึงถูกปฏิเสธ (ด้วยผลของตน) เหตุนั้น ธรรมนั้นชื่อว่าอาลัมพณะ (หรืออารัมมณะ)
               ผลอาศัยธรรมนั้น คือไม่ปฏิเสธ (ธรรมนั้น) ย่อมเกิด คือย่อมเป็นไป เหตุนั้นธรรมนั้น ชื่อว่าปัจจัย
               ผลย่อมเกิดแต่ธรรมนี้ เหตุนั้นธรรมนั้น ชื่อว่าสมุทัย.
               บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งคำแห่งบททั้งหลายเหล่านั้นอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               วรรณนาอุทเทสวาระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ยมกปกรณ์ ภาค ๑ มูลยมก อุทเทสวาร จบ.
อรรถกถา เล่มที่ 38 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 38 / 6อ่านอรรถกถา 38 / 1564
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=38&A=1&Z=178
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=7355
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=7355
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :