ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๒. โกณฑัญญพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระโกณฑัญญพุทธเจ้า
[๑] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ ผู้ทรงเป็นผู้นำ ทรงมีพระเดชหาที่สุดมิได้ มีพระยศประมาณมิได้ มีพระคุณประมาณมิได้ และยากที่จะกระทบกระทั่งได้ [๒] พระองค์ทรงเปรียบดังแผ่นดินโดยขันติธรรม เปรียบดังสาครโดยศีล เปรียบดังภูเขาสิเนรุโดยสมาธิ เปรียบดังท้องฟ้าโดยปัญญา [๓] ทรงประกาศธรรมที่ควรประกาศคืออินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค อริยสัจ ในกาลทุกเมื่อ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ [๔] เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงประกาศพระธรรมจักร เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๑ [๕] จากนั้น เมื่อทรงแสดงพระธรรมในสมาคมของเทวดาและมนุษย์ เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๙๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. โกณฑัญญพุทธวงศ์

[๖] ในคราวที่พระองค์เมื่อทรงแสดงธรรมย่ำยีพวกเดียรถีย์ เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๘๐,๐๐๐ โกฏิได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๓ [๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้มีการประชุมพระสาวกผู้เป็นขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ ๓ ครั้ง [๘] พระขีณาสพจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน ครั้งที่ ๑ พระขีณาสพจำนวน ๑,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน ครั้งที่ ๒ พระขีณาสพจำนวน ๙๐ โกฏิ มาประชุมกัน ครั้งที่ ๓ [๙] ครั้งนั้น เราเป็นพระมหากษัตริย์มีนามว่าวิชิตาวี แผ่ความเป็นใหญ่ไปโดยมีมหาสมุทรสาครเป็นขอบเขต [๑๐] เราได้อังคาสภิกษุประมาณ ๑๐,๐๐๐ โกฏิ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ปราศจากมลทิน พร้อมด้วยพระผู้ทรงเป็นที่พึ่งอันเลิศของสัตว์โลก ให้อิ่มหนำด้วยอาหารอันประณีต [๑๑] แม้พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะพระองค์นั้น ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ก็ทรงพยากรณ์เราว่า ในกัปอันนับประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป เขาจักเป็นพุทธเจ้าในโลก พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ [๑๒] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. โกณฑัญญพุทธวงศ์

จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ [๑๓] พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม [๑๔] พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ [๑๕] พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ [๑๖] จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้น จักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี [๑๗] เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. โกณฑัญญพุทธวงศ์

[๑๘] สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า [๑๙] ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล [๒๐] มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด [๒๑] เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ [๒๒] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล้ว ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง เราเมื่อจะทำประโยชน์นั้นให้สำเร็จ จึงได้ถวายราชสมบัติอันใหญ่หลวงแก่พระชินเจ้า ครั้นแล้วก็ออกบวชในสำนักของพระองค์ [๒๓] เราได้เล่าเรียนพระสูตรและพระวินัย อันเป็นนวังคสัตถุศาสน์ทั้งปวง แล้วช่วยประกาศศาสนาของพระชินเจ้าให้รุ่งเรือง [๒๔] เราเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ในคำสั่งสอนนั้นทั้งในเวลานั่ง ยืนและเดิน ถึงความสำเร็จอภิญญาแล้ว ได้ไปเกิดยังพรหมโลก [๒๕] กรุงชื่อว่ารัมมวดี กษัตริย์พระนามว่าสุนันทะเป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าสุชาดา เป็นพระชนนี ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๒๖] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือสุจิปราสาท สุรุจิปราสาท และสุภปราสาท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. โกณฑัญญพุทธวงศ์

[๒๗] มีนางสนมกำนัล ๓๐๐,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่ารุจิเทวี พระราชโอรสพระนามว่าวิชิตเสนะ [๒๘] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงทรงราชพาหนะคือรถออกผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) [๒๙] พระมหาวีระพระนามว่าโกณฑัญญะ ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ณ ป่ามหาวัน [๓๐] พระภัททเถระและพระสุภัททเถระเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอนุรุทธะเป็นพระอุปัฏฐาก ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๓๑] พระติสสาเถรีและพระอุปติสสาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ต้นขานางเป็นต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๓๒] โสณอุบาสกและอุปโสณอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทาอุบาสิกาและสิริมาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา [๓๓] พระมหามุนีพระองค์นั้นทรงมีพระวรกายสูง ๘๘ ศอก ทรงงดงามดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ และดังดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงวัน [๓๔] ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๓. มังคลพุทธวงศ์

[๓๕] เมทนีดลงามวิจิตรด้วยพระขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทิน เมทนีนั้นงามเหมือนท้องฟ้าที่วิจิตรไปด้วยหมู่ดาว [๓๖] พระอรหันต์ผู้ประเสริฐแม้เหล่านั้น มีคุณหาประมาณมิได้ ไม่กำเริบ หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก ท่านผู้มียศเหล่านั้น แสดงประดุจสายฟ้าฟาด ปรินิพพานแล้ว [๓๗] ฤทธิ์ของพระชินเจ้าไม่มีที่เปรียบ สมาธิอันปัญญาอบรมดีแล้ว ทุกอย่างอันตรธานไปพร้อมกันแล้ว สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ [๓๘] พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ ผู้ทรงพระสิริ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ นันทาราม พระเจดีย์ของพระองค์สูง ๗ โยชน์ ณ นันทารามนั้น ฉะนี้แล
โกณฑัญญพุทธวงศ์ที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๕๙๖-๖๐๑. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=33&siri=194              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=7264&Z=7319                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=183              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=183&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=4317              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=183&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=4317                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :