ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ 4 ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
[9] ฌาน 4 = รูปฌาน 4 (the Four Jhanas)
       1. ปฐมฌาน (ฌานที่ 1 - the First Absorption) มีองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
       2. ทุติยฌาน (ฌานที่ 2 - the Second Absorption) มีองค์ 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
       3. ตติยฌาน (ฌานที่ 3 - the Third Absorption) มีองค์ 2 คือ สุข เอกัคคตา
       4. จตุตถฌาน (ฌานที่ 4 - the Fourth Absorption) มีองค์ 2 คือ อุเบกขา เอกัคคตา

       คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม นิยมแบ่งรูปฌานนี้เป็น 5 ขั้น เรียกว่า ฌานปัญจกนัย หรือ ปัญจกัชฌาน โดยแทรก ทุติยฌาน (ฌานที่ 2) ที่มีองค์ 4 คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เพิ่มเข้ามา แล้วเลื่อนทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตฌาน ในฌาน 4 ข้างต้นนี้ออกไปเป็น ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ตามลำดับ (โดยสาระก็คือ การจำแนกขั้นตอนให้ละเอียดมากขึ้นนั่นเอง)

M.I.40 ม.มู. 12/102/72

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[37] ภาวนา 4 (การเจริญ, การทำให้เป็นให้มีขึ้น, การฝึกอบรม, การพัฒนา : cultivation; training; development)
       1. กายภาวนา (การเจริญกาย, พัฒนากาย, การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ, การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ : physical development)
       2. สีลภาวนา (การเจริญศีล, พัฒนาความประพฤติ, การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน : moral development)
       3. จิตภาวนา (การเจริญจิต, พัฒนาจิต, การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนมีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น : cultivation of the heart; emotional development)
       4. ปัญญาภาวนา (การเจริญปัญญา, พัฒนาปัญญา, การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา : cultivation of wisdom; intellectual development)

       ในบาลีที่มา ท่านแสดงภาวนา 4 นี้ ในรูปที่เป็นคุณบทของบุคคล จึงเป็น ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต ภาวิตปัญญา (ผู้ได้เจริญกาย ศีล จิต และปัญญาแล้ว) บุคคลที่มีคุณสมบัติชุดนี้ครบถ้วนย่อมเป็นพระอรหันต์

A.III.106 องฺ.ปญฺจก. 22/79/121

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[39] มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (the Four Primary Elements; primary matter)
       1. ปฐวีธาตุ (สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่, สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือ ธาตุดิน : element of extension; solid element; earth)
       2. อาโปธาตุ (สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม หรือซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือ ธาตุน้ำ : element of cohesion; fluid element; water)
       3. เตโชธาตุ (สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ : element of heat or radiation; heating element; fire)
       4. วาโยธาตุ (สภาวะที่ทำให้สั่นไหวเคลื่อนที่ และค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม : element of vibration or motion; air element; wind)

       สี่อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธาตุ 4

D.I.214;
Vism. 443;
Comp. 154.
ที.สี. 9/343/277;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 33

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[56] อริยบุคคล 4
       1. โสดาบัน (ท่านผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว, “ผู้ถึงกระแส” — Stream-Enterer)
       2. สกทาคามี (ท่านผู้บรรลุสกทาคามิผลแล้ว, “ผู้กลับมาอีกครั้งเดียว” — Once-Returner)
       3. อนาคามี (ท่านผู้บรรลุอนาคามิผลแล้ว, “ผู้ไม่เวียนกลับมาอีก” — Non-Returner)
       4. อรหันต์ (ท่านผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว, “ผู้ควร” “ผู้หักกำแห่งสงสารแล้ว” — the Worthy One)

       ดู [164] มรรค 4; [329] สังโยชน์ 10

D.I.156. นัย ที.สี. 9/250-253/199-200.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[62] อรหันต์ 4, 5, 60 (an Arahant; arahant; Worthy One)
       1. สุกฺขวิปสฺสโก (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน — bare-insight-worker)
       2. เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา 3 — one with the Threefold Knowledge)
       3. ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one with the Sixfold Superknowledge)
       4. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา — one having attained the Analytic Insights)

       พระอรหันต์ทั้ง 4 ในหมวดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงประมวลแสดงไว้ในหนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ 2 หน้า 41 พึงทราบคำอธิบายตามที่มาเฉพาะของคำนั้นๆ

       แต่คัมภีร์ทั้งหลายนิยมจำแนกเป็น 2 อย่าง เหมือนในหมวดก่อนบ้าง เป็น 5 อย่างบ้าง ที่เป็น 5 คือ
       1. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา — one liberated by wisdom)
       2. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อนแล้วได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       3. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา 3 — one possessing the Threefold Knowledge)
       4. ฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one possessing the Sixfold Superknowledge)
       5. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 — one having gained the Four Analytic Insights)

       ทั้งหมดนี้ ย่อลงแล้วเป็น 2 คือ พระปัญญาวิมุต กับพระอุภโตภาควิมุตเท่านั้น พระสุกขวิปัสสกที่กล่าวข้างต้น เป็น พระปัญญาวิมุต ประเภทหนึ่ง (ในจำนวน 5 ประเภท) พระเตวิชชะ กับพระฉฬภิญญะ เป็น อุภโตภาควิมุต ทั้งนั้น แต่ท่านแยกพระอุภโตภาควิมุตไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก เพราะพระอุภโตภาควิมุตที่ไม่ได้โลกียวิชชาและโลกียอภิญญา ก็มี ส่วนพระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ได้ความแตกฉานทั้งสี่ด้วยปัจจัยทั้งหลาย คือ การเล่าเรียน สดับ สอบค้น ประกอบความเพียรไว้เก่าและการบรรลุอรหัต.
       พระอรหันต์ทั้ง 5 นั้น แต่ละประเภท จำแนกโดยวิโมกข์ 3 รวมเป็น 15 จำแนกออกไปอีกโดยปฏิปทา 4 จึงรวมเป็น 60 ความละเอียดในข้อนี้จะไม่แสดงไว้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ ผู้ต้องการทราบยิ่งขึ้นไป พึงดูในหนังสือนี้ฉบับใหญ่

       ดู [61] อรหันต์ 2; [106] วิชชา 3; [155] ปฏิสัมภิทา 4; [274] อภิญญา 6.

Vism. 710. วิสุทธิ. 3/373;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/657.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[136] อาสวะ 4 (mental intoxication; canker)
       1. กามาสวะ (อาสวะคือกาม — canker of sense-desire)
       2. ภวาสวะ (อาวสวะคือภพ — canker of becoming)
       3. ทิฏฐาสวะ (อาสวะคือทิฏฐิ — canker of views or speculation)
       4. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา — canker of ignorance)

       ในที่มาส่วนมาก โดยเฉพาะในพระสูตร แสดงอาสวะไว้ 3 อย่าง โดยสงเคราะห์ทิฏฐาสวะเข้าในภวาสวะ (ม.อ. 1/93)

Vbh.373 อภิ.วิ. 35/961/504.

[***] โอวาทของพระพุทธเจ้า 3 ดู [97] พุทธโอวาท 3.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
จตุกกะ - หมวด 4
Groups of Four
(including related groups)
[137] กรรมกิเลส 4 (กรรมเครื่องเศร้าหมอง, ข้อเสื่อมเสียของความประพฤติ - defiling actions; contaminating acts; vices of conduct)
       1. ปาณาติบาต (การตัดรอนชีวิต - destruction of life)
       2. อทินนาทาน (ถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้, ลักขโมย - taking what is not given)
       3. กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม - sexual misconduct)
       4. มุสาวาท (พูดเท็จ - false speech)

D.III.181. ที.ปา. 11/174/195

[***] กัลยาณมิตร 4 ในที่นี้ใช้เป็นคำเรียกมิตรแท้ ตามบาลีเรียกว่า สุททมิตร ดู [169] สุหทมิตร 4
[***] กิจในอริยสัจจ์ 4 ดู [205] กิจในอริยสัจจ์ 4

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[138] กุลจิรัฏฐิติธรรม 4 (ธรรมสำหรับดำรงความมั่งคั่งของตระกูลให้ยั่งยืน, เหตุที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่งตั้งอยู่ได้นาน - reasons for lastingness of a wealthy family)
       1. นัฏฐคเวสนา (ของหายของหมด รู้จักหามาไว้ - seeking for what is lost)
       2. ชิณณปฏิสังขรณา (ของเก่าของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม - repairing what is worn out)
       3. ปริมิตปานโภชนา (รู้จักประมาณในการกินการใช้ - moderation in spending)
       4. อธิปัจจสีลวันตสถาปนา (ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน - putting in authority a virtuous woman or man)

       เหตุที่ตระกูลมั่งคั่งจะตั้งอยู่นานไม่ได้ พึงทราบโดยนัยตรงข้ามจากนี้.

A.II.249. องฺ.จตุกฺก. 21/258/333.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[139] ฆราวาสธรรม 4 (ธรรมสำหรับฆราวาส, ธรรมสำหรับการครองเรือน, หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์ - virtues for a good household life; virtues for lay people)
       1. สัจจะ (ความจริง, ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง - truth and honesty)
       2. ทมะ (การฝึกฝน, การข่มใจ ฝึกนิสัย ปรับตัว, รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา - taming and training oneself; adjustment)
       3. ขันติ (ความอดทน, ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย - tolerance; forbearance)
       4. จาคะ (ความเสียสละ, สละกิเลส สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัว - liberality; generosity)

       ในธรรมหมวดนี้ ทมะท่านมุ่งเอาด้านปัญญา ขันติท่านเน้นแง่วิริยะ.

S.I.215; Sn.189. สํ.ส. 15/845/316;
ขุ.สุ. 25/311/361.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[140] จักร 4 (ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมาย - virtues wheeling one to prosperity)
       1. ปฏิรูปเทสวาสะ (อยู่ในถิ่นที่ดี มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม - living in a suitable region; good or favourable environment)
       2. สัปปุริสูปัสสยะ (สมาคมกับสัตบุรุษ - association with good people)
       3. อัตตสัมมาปณิธิ (ตั้งตนไว้ชอบ, ตั้งจิตคิดมุ่งหมาย นำตนไปถูกทาง - setting oneself in the right course; aspiring and directing oneself in the right way)
       4. ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว, มีพื้นเดิมดี, ได้สร้างสมคุณความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น - having formerly done meritorious deeds; to have prepared oneself with good background)

       ธรรม 4 ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พหุการธรรม คือธรรมมีอุปการะมาก (virtues of great assistance) เป็นเครื่องช่วยให้สามารถสร้างความดีอื่นๆ ทุกอย่าง และช่วยให้ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต บรรลุความงอกงามไพบูลย์.

A.11.32;
D.III.276.
องฺ.จตุกฺก. 21/31/41;
ที.ปา. 11/400/293.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[141] เจดีย์ 4 (สิ่งที่ก่อขึ้น, ที่เคารพบูชา, สิ่งที่เตือนใจให้ระลึกถึง, ในที่นี้หมายถึง สถานที่หรือสิ่งที่เคารพบูชาเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนา เรียกเต็มว่า สัมมาสัมพุทธเจดีย์ หรือ พุทธเจดีย์ - shrine, Buddhist monument; objects of homage)
       1. ธาตุเจดีย์ (เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ - a relic shrine; sepulchral or reliquary monument; stupa enshrining the Buddha's relics)
       2. บริโภคเจดีย์ (เจดีย์คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย อย่างแคบหมายถึงต้นโพธิ์ อย่างกว้างหมายถึงสังเวชนียสถาน 4 ตลอดจนสิ่งทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าเคยทรงบริโภค เช่น บาตร จีวร และบริขารอื่นๆ เป็นต้น - things and places used by the Buddha, esp. the Bodhi tree)
       3. ธรรมเจดีย์ (เจดีย์บรรจุพระธรรม เช่น บรรจุใบลานจารึกพุทธพจน์แสดงหลักปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น - a doctrinal shrine; monument of the Teaching where inscribed palm-leaves or tablets or scriptures are housed)
       4. อุทเทสิกเจดีย์ (เจดีย์สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป - a shrine by dedication, i.e. a Buddha-image)

       เจดีย์เหล่านี้ ในที่มาแต่ละแห่งท่านแสดงไว้ 3 ประเภท นับรวมที่ไม่ซ้ำเข้าด้วยกัน จึงเป็น 4.

KhA.222;
J.IV.228
ขุทฺทก.อ. 247;
ชา.อ. 6/185;
วินย.ฎีกา 1/263.

[***] ฌาน 4 ดู [9] ฌาน 4

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[142] ถูปารหบุคคล 4 (บุคคลผู้ควรแก่สถูป, ผู้มีคุณความดีพิเศษควรสร้างสถูปไว้เคารพบูชา — persons worthy of a stupa or monument)
       1. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้า — the Buddha; Fully Enlightened One)
       2. พระปัจเจกพุทธเจ้า (Individually Enlightened One; private Buddha)
       3. พระตถาคตสาวก (สาวกของพระพุทธเจ้า ปกติหมายเอาพระอรหันต์ — a disciple of the Buddha; an Arahant)
       4. พระเจ้าจักรพรรดิ (จอมราชผู้ทรงธรรม, พระเจ้าธรรมิกราช — a righteous universal monarch; great righteous king or ruler)

D.II.142. ที.ม. 10/134/165.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[143] ทักขิณาวิสุทธิ 4 (ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา คือของทำบุญ - purifications of offerings; purities in gifts)
       1. ทักขิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (คือ ทายกมีศีลมีกัลยาณธรรม แต่ปฏิคาหกทุศีล มีบาปธรรม - the offering purified on the part of the giver, not of the recipient)
       2. ทักขิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (คือ ทายกทุศีล มีบาปธรรม แต่ปฏิคาหกมีศีล มีกัลยาณธรรม - the offering purified on the part of the recipient, not of the giver)
       3. ทักขิณาที่ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก (คือ ทั้งสองฝ่ายทุศีล มีบาปธรรม - the offering purfied on neither side)
       4. ทักขิณาที่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก (คือ ทั้งสองฝ่ายมีศีล มีกัลยาณธรรม - the offering purified on both sides)

D.III.231;
M.III.256;
A.II.80;
Kvu.557.
ที.ปา. 11/266/243;
ม.อุ. 14/714/461;
องฺ.จตุกฺก. 21/78/104;
อภิ.ก. 37/1732/590.

[***] ทรัพย์จัดสรรเป็น 4 ส่วน ดู [163] โภควิภาค 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[144] ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 (ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน, หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น - virtues conducive to benefits in the present; virtues leading to temporal welfare)
       1. อุฏฐานสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินการให้ได้ผลดี - to be endowed with energy and industry; achievement of diligence)
       2. อารักขสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย - to be endowed with watchfulness; achievement of protection)
       3. กัลยาณมิตตตา (คบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา - good company; association with good people)
       4. สมชีวิตา (มีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้ - balanced livelihood; living economically)

       ธรรมหมวดนี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือเรียกติดปากอย่างไทยๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ (อัตถะ แปลว่า ประโยชน์ จึงมีประโยชน์ซ้ำซ้อนกันสองคำ)

A.IV.281. องฺ.อฏฺฐก. 23/144/289.

[***] เทวทูต 4 ดู [150] นิมิต 4.
[***] ธรรมมีอุปการะมาก 4 ดู [140] จักร 4.
[***] ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย 4 ดู [191] สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[145] ธรรมสมาทาน 4 (ข้อที่ยึดถือเอาเป็นหลักความประพฤติปฏิบัติ, หลักการที่ประพฤติ, การที่กระทำ, การประกอบกรรม - religious undertakings; undertaken courses of practices)
       1. ธรรมสมาทานที่ให้ทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากต่อไป (เช่น การประพฤติวัตรทรมานตนของพวกอเจลก หรือการประพฤติอกุศลกรรมบถด้วยความยากลำบาก ทั้งมีความเดือดร้อนใจเป็นต้น - the undertaking the gives suffering in the present and results in suffering in the future)
       2. ธรรมสมาทานที่ให้ทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากต่อไป (เช่น ผู้ที่กิเลสมีกำลังแรงกล้า ฝืนใจพยายามประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ หรือผู้ที่ประพฤติกุศลกรรมบถด้วยความยากลำบาก เป็นต้น - the undertaking that gives suffering in the present but results in happiness in the future)
       3. ธรรมสมาทานที่ให้สุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป (เช่น การหลงมัวเมาหมกมุ่นอยู่ในกาม หรือการประพฤติอกุศลกรรมบถด้วยความสนุกสนานพอใจ เป็นต้น - the undertaking that gives happiness in the present but results in suffering in the future)
       4. ธรรมสมาทานที่ให้สุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไป (เช่น ผู้ที่กิเลสมีกำลังน้อย ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความพอใจ ได้เสวยเนกขัมมสุข หรือ ผู้ที่ประพฤติกุศลกรรมบถ ด้วยความพอใจ ได้เสวยสุขโสมนัส เป็นต้น - the undertaking that gives happiness in the present and results in happiness in the future)

D.III.229;
M.I.305-316.
ที.ปา. 11/251/241;
ม.มู. 12/515-534/556-575.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[146] ธาตุ 4 (สิ่งที่ทรงสภาวะของตนอยู่เอง คือมีอยู่โดยธรรมดา เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีอัตตา มิใช่สัตว์ มิใช่ชีวะ - elements) ได้แก่ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และ วาโยธาตุ คือ มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 นั่นเอง. ดู [39] มหาภูต 4 และ [147] ธาตุกัมมัฏฐาน 4

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[147] ธาตุกัมมัฏฐาน 4 (กรรมฐานคือธาตุ, กรรมฐานที่พิจารณาธาตุเป็นอารมณ์ กำหนดพิจารณากายนี้แยกเป็นส่วนๆ ให้เป็นว่าเป็นเพียงธาตุสี่แต่ละอย่างไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา - meditation on the elements; meditation subject consisting of elements)
       1. ปฐวีธาตุ (the earth-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะแข้นแข็งเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้
       2. อาโปธาตุ (the water-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะเอิบอาบเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้.
       3. เตโชธาตุ (the fire-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะร้อน ภายในตัวก็มีภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่ยังอาหารให้ย่อย หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะร้อนเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้
       4. วาโยธาตุ (the air-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะพัดผันเคร่งตึง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายในสำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมซ่านไปตามตัว ลมหายใจ หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะพัดผันไปเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้

       ตัวอย่างธาตุที่แสดงข้างต้นนี้ ในปฐวีธาตุมี 19 อย่าง ในอาโปธาตุมี 12 อย่าง เติมมัตถลุงค์ คือมันสมอง เข้าเป็นข้อสุดท้ายในปฐวีธาตุ รวมเป็น 32 เรียกว่า อาการ 32 หรือ ทวัตติงสาการ.
       ธาตุกัมมัฏฐานนี้ เรียกอย่างอื่นว่า ธาตุมนสิการ (การพิจารณาธาตุ - contemplation on the elements) บ้าง จตุธาตุววัฏฐาน (การกำหนดธาตุสี่ - determining of the four elements) บ้าง เมื่อพิจารณากำหนดธาตุ 4 ด้วยสติสัมปชัญญะ มองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไปในกาย ตระหนักว่ากายนี้ก็สักว่ากาย มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ดังนี้ จัดเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานส่วนหนึ่ง (หมวดที่ 5 คือ ธาตุมนสิการบรรพ).

D.II.244;
M.I 185;
M.III.240;
Vism.347.
ที.ม. 10/278/329;
ม.มู. 12/342/350;
ม.อุ. 14/684-687/437;
วิสุทธิ. 2/161.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[150] นิมิต 4 (เครื่องหมาย, เครื่องกำหนด, สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็น อันเป็นเหตุปรารภที่จะเสด็จออกบรรพชา - the Four Signs; the Four Sights on seeing which the Bodhisatta went forth in the Great Renunciation)
       1. ชิณณะ (คนแก่ - an old man)
       2. พยาธิตะ หรือ อาพาธิกะ (คนเจ็บ - a sick man)
       3. กาลกตะ (= มตะ, คนตาย - a dead man)
       4. ปัพพชิตะ (บรรพชิต, นักบวช - a religious; holy man; monk)

       สามอย่างแรกมีชื่อเรียกรวมว่า เทวทูต 3 เป็นเครื่องหมายหรือสัญญาณเตือนให้ระลึกถึงความทุกข์ตามคติธรรมดาของชีวิตและบังเกิดความสังเวช อย่างที่สี่คือบรรพชิต เป็นเครื่องหมายให้มองเห็นทางออกที่จะพ้นไปจากทุกข์ บางแห่งท่านเรียกรวมๆ ไปว่าเทวทูต 4 โดยอธิบายชั้นหลังว่า เป็นทูตของวิสุทธิเทพ แต่ตามบาลีเรียกว่านิมิต 4.

D.II.22;
Bv.XVII.14.
ที.ม. 10/32-38/24-35;
ขุ.พุทฺธ. 33/26/544.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[151] บริษัท 4 (ชุมนุม, ที่ประชุม, หมู่แห่งพุทธศาสนิก, ชุมชนชาวพุทธ - the Four Assemblies; companies)
       1. ภิกษุบริษัท (assembly of monks; Bhikkhus)
       2. ภิกษุณีบริษัท (assembly of monks; Bhikkhunis)
       3. อุบาสกบริษัท (assembly of lay-followers)
       4. อุบาสิกาบริษัท (assembly of female lay-followers)

A.II.132. องฺ.จตุกฺก. 21/129/178.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[152] บริษัท 4 (ชุมนุม, ที่ประชุม, ชุมชนตามระบบสังคม - assembly; company)
       1. ขัตติยบริษัท (ชุมนุมเจ้านาย - company of noblemen)
       2. พราหมณบริษัท (ชุมนุมพราหมณ์ - company of brahmins)
       3. คหบดีบริษัท (ชุมนุมคฤหบดี - company of householders)
       4. สมณบริษัท (ชุมนุมสมณะ - company of recluses)

A.II.132. องฺ.จตุกฺก. 21/130/179.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=_4&nextseek=153
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=_4&nextseek=153


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]