ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ รต ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
[31] ปฏิสันถาร 2 (การต้อนรับ, การรับรอง, การทักทายปราศรัย - hospitality; welcome; greeting)
       1. อามิสปฏิสันถาร (ปฏิสันถารด้วยสิ่งของ - worldly hospitality; material or carnal greeting)
       2. ธรรมปฏิสันถาร (ปฏิสันถารด้วยธรรมหรือโดยธรรม - doctrinal hospitality; spiritual greeting)

A.I.93;
Vbh.360.
องฺ.ทุก. 20/397/116.
อภิ.วิ. 35/921/487.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24 (derivative materiality)
       ก. ปสาทรูป 5 (รูปที่เป็นประสาทสำหรับรับอารมณ์: sensitive material qualities)
           1. จักขุ (ตา - the eye)
           2. โสต (หู - the ear)
           3. ฆาน (จมูก - the nose)
           4. ชิวหา (ลิ้น - the tongue)
           5. กาย (กาย - the body)

       ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป 5 (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์ : material qualities of sense-fields)
           6. รูปะ (รูป - form)
           7. สัททะ (เสียง - sound)
           8. คันธะ (กลิ่น - smell)
           9. รสะ (รส - taste)
           0. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย - tangible objects) ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูต 3 คือ ปฐวี เตโช และ วาโย ที่กล่าวแล้วในมหาภูต

       ค. ภาวรูป 2 (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ - material qualities of sex)
           10. อิตถัตตะ, อิตถินทรีย์ (ความเป็นหญิง - femininity)
           11. ปุริสัตตะ, ปุริสินทรีย์ (ความเป็นชาย - masculinity)

       ง. หทยรูป 1 (รูปคือหทัย - physical basis of mind)
           12. หทัยวัตถุ* (ที่ตั้งแห่งใจ, หัวใจ - heart-base)
*ข้อนี้ ในพระไตรปิฎก รวมทั้งอภิธรรมปิฎก ไม่มี เว้นแต่ปัฏฐานใช้คำว่า “วัตถุ” ไม่มีหทัย

       จ. ชีวิตรูป 1 (รูปที่เป็นชีวิต - material qualities of life)
           13. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต - life-faculty; vitality; vital force)

       ฉ. อาหารรูป 1 (รูปคืออาหาร - material quality of nutrition)
           14. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว, อาหารที่กิน : edible food; nutriment)

       ช. ปริจเฉทรูป 1 (รูปที่กำหนดเทศะ : material quality of delimitation)
           15. อากาสธาตุ (สภาวะคือช่องว่าง : space-element)

       ญ. วิญญัติรูป 2 (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย : material intimation; gesture)
           16. กายวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยกาย : bodily intimation; gesture)
           17. วจีวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา : verbal intimation; speech)

       ฏ. วิการรูป 5 (รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้ : material quality of plasticity or alterability)
           18. (รูปัสส) ลหุตา (ความเบา - lightness; agility)
           19. (รูปัสส) มุทุตา (ความอ่อนสลวย : elasticity; malleability)
           20. (รูปัสส) กัมมัญญตา (ความควรแก่การงาน, ใช้การได้ : adaptability; wieldiness)
           0. วิญญัติรูป 2 ไม่นับเพราะซ้ำในข้อ ญ.

       ฏ. ลักขณรูป 4 (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด : material quality of salient features)
           21. (รูปัสส) อุปจย (ความก่อตัวหรือเติบขึ้น : growth; integration)
           22. (รูปัสส) สันตติ (ความสืบต่อ : continuity)
           23. (รูปัสส) ชรตา (ความทรุดโทรม : decay)
           24. (รูปัสส) อนิจจตา (ความปรวนแปรแตกสลาย : impermanence)

Dhs. 127;
Vism.443;
Comp.155
อภิ.สํ. 34/504/185;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 34

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[58] โสดาบัน 3 (ท่านผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว, ผู้แรกถึงกระแสอันนำไปสู่พระนิพพาน แน่ต่อการตรัสรู้ข้างหน้า — Stream-Enterer)
       1. เอกพีชี (ผู้มีพืชคืออัตตภาพอันเดียว คือ เกิดอีกครั้งเดียว ก็จักบรรลุอรหัต — the Single-Seed)
       2. โกลังโกละ (ผู้ไปจากสกุลสู่สกุล คือ เกิดในตระกูลสูงอีก 2-3 ครั้ง หรือเกิดในสุคติอีก 2-3 ภพ ก็จักบรรลุอรหัต — the Clan-to-Clan)
       3. สัตตักขัตตุงปรมะ (ผู้มีเจ็ดครั้งเป็นอย่างยิ่ง คือ เวียนเกิดในสุคติภพอีกอย่างมากเพียง 7 ครั้ง ก็จักบรรลุอรหัต — the Seven-Times-at-Most)

A.I.233:
IV.380;
V.120;
Pug.3,16,74
องฺ.ติก. 20/528/302;
องฺ.นวก. 23/216/394;
องฺ.ทสก. 24/64/129/;
อภิ.ปุ. 36/47-49/147.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[125] อธิปไตย 3 (ความเป็นใหญ่, ภาวะที่ถือเอาเป็นใหญ่ — dominant influence; supremacy)
       1. อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่, ถือตนเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภตนเป็นประมาณ — supremacy of self; self-dependence)
       2. โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่, ถือโลกเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภ นิยมของโลกเป็นประมาณ — supremacy of the world or public opinion)
       3. ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่, ถือธรรมเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภความถูกต้อง เป็นจริง สมควรตามธรรม เป็นประมาณ — supremacy of the Dharma or righteousness)

       ผู้เป็นอัตตาธิปก พึงใช้สติให้มาก; ผู้เป็นโลกาธิปก พึงมีปัญญาครองตนและรู้พินิจ; ผู้เป็นธรรมาธิปก พึงประพฤติให้ถูกหลักธรรม; ผู้เป็นหัวหน้าหมู่ เป็นนักปกครอง พึงถือธรรมาธิปไตย.

D.III.220;
A.I.147.
ที.ปา. 11/228/231;
องฺ.ติก. 20/479/186.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[128] อปัณณกปฏิปทา 3 (ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด, ปฏิปทาที่เป็นส่วนแก่นสารเนื้อแท้ ซึ่งจะนำผู้ปฏิบัติให้ถึงความเจริญงอกงามในธรรม เป็นผู้ดำเนินอยู่ในแนวทางแห่งความปลอดพ้นจากทุกข์อย่างแน่นอนไม่ผิดพลาด — sure course; sure practice; unimpeachable path)
       1. อินทรียสังวร (การสำรวมอินทรีย์ คือระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำใจ เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง 6 — control of the senses)
       2. โภชเน มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณในการบริโภค คือรู้จักพิจารณารับประทานอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายใช้ทำกิจให้ชีวิตผาสุก มิใช่เพื่อสนุกสนาน มัวเมา— moderation in eating)
       3. ชาคริยานุโยค (การหมั่นประกอบความตื่น ไม่เห็นแก่นอน คือ ขยันหมั่นเพียรตื่นตัวอยู่เป็นนิตย์ ชำระจิตมิให้มีนิวรณ์ พร้อมเสมอทุกเวลาที่จะปฏิบัติกิจให้ก้าวหน้าต่อไป — practice of wakefulness)

A.I.113. องฺ.ติก. 20/455/142.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
จตุกกะ - หมวด 4
Groups of Four
(including related groups)
[137] กรรมกิเลส 4 (กรรมเครื่องเศร้าหมอง, ข้อเสื่อมเสียของความประพฤติ - defiling actions; contaminating acts; vices of conduct)
       1. ปาณาติบาต (การตัดรอนชีวิต - destruction of life)
       2. อทินนาทาน (ถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้, ลักขโมย - taking what is not given)
       3. กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม - sexual misconduct)
       4. มุสาวาท (พูดเท็จ - false speech)

D.III.181. ที.ปา. 11/174/195

[***] กัลยาณมิตร 4 ในที่นี้ใช้เป็นคำเรียกมิตรแท้ ตามบาลีเรียกว่า สุททมิตร ดู [169] สุหทมิตร 4
[***] กิจในอริยสัจจ์ 4 ดู [205] กิจในอริยสัจจ์ 4

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[158] ประมาณ หรือ ปมาณิก 4 (บุคคลที่ถือประมาณต่างๆ กัน, คนในโลกผู้ถือเอาคุณสมบัติต่างๆ กัน เป็นเครื่องวัดในการที่จะเกิดความเชื่อความเลื่อมใส - those who measure, judge or take standard)
       1. รูปประมาณ (ผู้ถือประมาณในรูป, บุคคลที่มองเห็นรูปร่างสวยงาม ทรวดทรงดี อวัยวะสมส่วน ท่าทางสง่า สมบูรณ์พร้อม จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures by from or outward appearance; one whose faith depends on good appearance)
       2. โฆษประมาณ (ผู้ถือประมาณในเสียง, บุคคลที่ได้ยินได้ฟังเสียงสรรเสริญ เกียรติคุณหรือเสียงพูดจาที่ไพเราะ จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures by voice or reputation; one whose faith depends on sweet voice or good reputation)
       3. ลูขประมาณ (ผู้ถือประมาณในความคร่ำหรือเศร้าหมอง, บุคคลที่มองเห็นสิ่งของเครื่องใช้ความเป็นอยู่ที่เศร้าหมองเช่น จีวรคร่ำๆ เป็นต้น หรือมองเห็นการกระทำคร่ำเครียดเป็นทุกรกิริยา ประพฤติเคร่งครัดเข้มงวดขูดเกลาตน จึงชอบใจ เลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures or judges by shabbiness, mediocrity or hard life; one whose faith depends on shabbiness or ascetic or self-denying practices)
       4. ธรรมประมาณ (ผู้ถือประมาณในธรรม, บุคคลที่พิจารณาด้วยปัญญาเห็นสารธรรมหรือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จึงชอบใจเลื่อมใส น้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures or judges by the teaching or righteous behavior; one whose faith depends on right teachings and practices)

       บุคคล 3 จำพวกต้น ยังมีทางพลาดได้มาก โดยอาจเกิดความคิดใคร่ ถูกครอบงำชักพาไปด้วยความหลง ถูกพัดวนเวียนหรือติดอยู่แค่ภายนอก ไม่รู้จักคนที่ตนมองได้อย่างแท้จริงและไม่เข้าถึงสาระ ส่วนผู้ถือธรรมเป็นประมาณ จึงจะรู้ชัดคนที่ตนมองอย่างแท้จริง ไม่ถูกพัดพาไป เข้าถึงธรรมที่ปราศจากสิ่งครอบคลุม
       พระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสี่ข้อ (เฉพาะข้อ 3 ทรงถือแต่พอดี) จึงทรงครองใจคนทุกจำพวกได้ทั้งหมด คนที่เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ที่จะไม่เลื่อมใสนั้น หาได้ยากยิ่งนัก
       ในชั้นอรรถกถา นิยมเรียกบุคคล 4 ประเภทนี้ว่า รูปัปปมาณิกา โฆสัปปมาณิกา ลูขัปปมาณิกา และ ธัมมัปปมาณิกา ตามลำดับ

A.II.71;
Pug.7,53;
DhA.114;
SnA.242.
องฺ.จตุกฺก. 21/65/93;
อภิ.ปุ. 36/10/135; 133/204;
ธ.อ. 5/100;
สุตฺต.อ. 1/329.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[161] พรหมวิหาร 4 (ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ - holy abidings; sublime states of mind)
       1. เมตตา (ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า - loving-kindness; friendliness; goodwill)
       2. กรุณา (ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์ - compassion)
       3. มุทิตา (ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป - sympathetic joy; altruistic joy)
       4. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน - equanimity; neutrality; poise)

       ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม
       พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม, ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม, หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่ - (abidings of the Great Ones)
       พรหมวิหาร 4 เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา 4 (unbounded states of mind; illimitables) เพราะแผ่สม่ำเสมอโดยทั่วไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต
       พรหมวิหารมีในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ด้วยสังคหวัตถุเป็นต้น.
       อนึ่ง ในการที่จะเข้าใจและปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ให้ถูกต้อง พึงทราบรายละเอียดบางอย่าง โดยเฉพาะสมบัติและวิบัติของธรรม 4 ประการนั้น ดังนี้
       ก. ความหมายโดยวิเคราะห์ศัพท์
       1. เมตตา = (มีน้ำใจ)เยื่อใยใฝ่ประโยชน์สุขแก่คนทั้งหลาย หรือน้ำใจปรารถนาประโยชน์สุขที่เป็นไปต่อมิตร
       2. กรุณา = ทำความสะเทือนใจแก่สาธุชน เมื่อคนอื่นประสบทุกข์ หรือถ่ายถอนทำทุกข์ของผู้อื่นให้หมดไป หรือแผ่ใจไปรับรู้ต่อคนสัตว์ทั้งหลายที่ประสบทุกข์
       3. มุทิตา = โมทนายินดีต่อผู้ประกอบด้วยสมบัติหรือผลดีนั้นๆ
       4. อุเบกขา = คอยมองดูอยู่ โดยละความขวนขวายว่า สัตว์ทั้งหลายจงอย่าผูกเวรกัน เป็นต้น และโดยเข้าถึงความเป็นกลาง

       ข. ลักษณะ หน้าที่หรือกิจ (รส) ผลปรากฏ (ปัจจุปัฏฐาน) และปทัสถาน (เหตุใกล้)
       1. เมตตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นอยู่เป็นปกติ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเกื้อกูลแก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา
ผลปรากฏ = กำจัดความอาฆาตแค้นเคืองให้ปราศไป
ปทัสถาน = เห็นภาวะที่น่าเจริญใจของคนสัตว์ทั้งหลาย
       2. กรุณา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นตกทุกข์เดือดร้อน)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์แก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = ไม่นิ่งดูดาย/ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของคนสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฏ = ไม่เบียดเบียน/อวิหิงสา
ปทัสถาน = เห็นภาวะไร้ที่พึ่ง/สภาพน่าอนาถของคนสัตว์ทั้งหลายที่ถูกทุกข์ครอบงำ
       3. มุทิตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นมีสุขสำเร็จหรือทำอะไรก้าวไปด้วยดี)
ลักษณะ = พลอยยินดี/ยินดีด้วย
หน้าที่ = ไม่ริษยา/เป็นปฏิปักษ์ต่อความริษยา
ผลปรากฏ = ขจัดความริษยา ความไม่ยินดีหรือความทนไม่ได้ต่อความสุขสำเร็จของผู้อื่น
ปทัสถาน = เห็นสมบัติ/ความสำเร็จของคนสัตว์ทั้งหลาย
       4. อุเบกขา = (ในสถานการณ์รักษาธรรมตามความรับผิดชอบต่อกรรมที่เขาทำ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเป็นกลางต่อคนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = มองเห็นความเสมอภาคกันในคนสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฏ = ระงับความขัดเคืองเสียใจและความคล้อยตามดีใจ
ปทัสถาน = มองเห็นภาวะที่ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมของตนว่า สัตว์ทั้งหลายจักได้สุข พ้นทุกข์ ไม่เสื่อมจากสมบัติที่ได้ที่ถึง ตามใจชอบได้อย่างไร

       ค. สมบัติ (ความสมบูรณ์หรือความสัมฤทธิ์ผล) และวิบัติ (ความล้มเหลว หรือการปฏิบัติผิดพลาด ไม่สำเร็จผล)
       1. เมตตา: สมบัติ = สงบหายไร้ความแค้นเคืองไม่พอใจ
วิบัติ = เกิดเสน่หา
       2. กรุณา: สมบัติ = สงบหายไร้วิหิงสา
วิบัติ = เกิดความโศกเศร้า
       3. มุทิตา: สมบัติ = สงบหายไร้ความริษยา
วิบัติ = เกิดความสนุกสนาน
       4. อุเบกขา: สมบัติ = สงบหายไม่มีความยินดียินร้าย
วิบัติ = เกิดความเกิดความเฉยด้วยไม่รู้ (เฉยโง่ เฉยเมย เฉยเมิน)

       ง. ข้าศึก คือ อกุศลซึ่งเป็นศัตรูคู่ปรับที่จะทำลายหรือทำธรรมนั้นๆ ให้เสียไป
       1. เมตตา: ข้าศึกใกล้ = ราคะ
ข้าศึกไกล = พยาบาท คือความขัดเคืองไม่พอใจ
       2. กรุณา: ข้าศึกใกล้ = โทมนัส คือความโศกเศร้าเสียใจ
ข้าศึกไกล = วิหิงสา
       3. มุทิตา: ข้าศึกใกล้ = โสมนัส (เช่น ดีใจว่าตนจะพลอยได้รับผลประโยชน์)
ข้าศึกไกล = อรติ คือความไม่ยินดี ไม่ใยดี ริษยา
       4. อุเบกขา: ข้าศึกใกล้ = อัญญาณุเบกขา (เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยโง่ เฉยเมย)
ข้าศึกไกล = ราคะ (ความใคร่) และปฏิฆะ (ความเคือง) หรือชอบใจและขัดใจ

       จ. ตัวอย่างมาตรฐาน ที่แสดงความหมายของพรหมวิหารได้ชัด ซึ่งคัมภีร์ทั้งหลายมักยกขึ้นอ้าง
       1. เมื่อลูกยังเล็กเป็นเด็กเยาว์วัย
แม่ - เมตตา รักใคร่เอาใจใส่ ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต
       2. เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย
แม่ - กรุณา ห่วงใยปกปักรักษา หาทางบำบัดแก้ไข
       3. เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า
แม่ - มุทิตา พลอยปลาบปลื้มใจ หรือหวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน
       4. เมื่อลูกรับผิดชอบกิจหน้าที่ของตนขวนขวายอยู่ด้วยดี
แม่ - อุเบกขา มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู

       พึงทราบด้วยว่า
       ฉันทะ คือ กัตตุกัมยตาฉันทะ (ความอยากจะทำให้ดี หรือความต้องการที่จะทำให้คนสัตว์ทั้งหลายดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง เช่น อยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์เป็นต้น) เป็นจุดตั้งต้น (อาทิ) ของพรหมวิหารทั้ง 4 นี้
       การข่มระงับกิเลส (เช่นนิวรณ์) ได้ เป็นท่ามกลาง
       สมาธิถึงขั้นอัปปนา (คือ ภาวะจิตที่มั่นคงเรียบรื่นสงบสนิทดีที่สุด) เป็นที่จบของพรหมวิหารทั้ง 4 นั้น

AIII.226;
D.III.220;
Vism.320.
องฺ.ปญฺจก 22/192/252;
อภิ.สํ. 34/190/75;
วิสุทธิ. 2/124

[***] พละ 4 ดู [229] พละ 4
[***] พุทธลีลาในการสอน 4 ดู [172] ลีลาการสอน 4.
[***] ภาวนา 4 ดู [37] ภาวนา 4.
[***] ภาวิต 4 ดู [37] ภาวิต 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[171] โยนิ 4 (กำเนิด, แบบหรือชนิดของการเกิด - ways or kinds of birth; modes of generation)
       1. ชลาพุชะ (สัตว์เกิดในครรภ์ คือ คลอดออกมาเป็นตัว เช่น คน โค สุนัข แมว เป็นต้น - the viviparous; womb-born creatures)
       2. อัณฑชะ (สัตว์เกิดในไข่ คือ ออกไข่เป็นฟองก่อนแล้วจึงฟักเป็นตัว เช่น นก เป็ด ไก่ เป็นต้น - the oviparous; egg-born creatures)
       3. สังเสทชะ (สัตว์เกิดในไคล คือ เกิดในของชื้นแฉะหมักหมมเน่าเปื่อย ขยายแพร่ออกไปเอง เช่น กิมิชาติบางชนิด - putrescence-born creatures; moisture-born creatures)
       4. โอปปาติกะ (สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ เกิดผุดเต็มตัวในทันใด ได้แก่ เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางพวก และเปรตบางพวก ท่านว่า เกิดและตาย ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ - spontaneously born creatures; the apparitional)

D.III.230;
M.I.73.
ที.ปา. 11/263/242;
ม.มู. 12/169/147.

[***] ราชสังคหวัตถุ 4 ดู [187] สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน 4

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[182] สติปัฏฐาน 4 (ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง - foundations of mindfulness)
       1. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามเป็นจริง ว่า เป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of the body; mindfulness as regards the body) ท่านจำแนกปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ 1 อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถ 1 สัมปชัญญะ สร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่าง 1 ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ 1 ธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ 1 นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน 9 ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมดาของร่างกาย ของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น 1
       2. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of feelings; mindfulness as regards feelings) คือ มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
       3. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind; mindfulness as regards thoughts) คือ มีสติรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
       4. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind-objects; mindfulness as regards ideas) คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจ 4 ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ.

D.II.290.315. ที.ม. 10/273-300/325-351.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[197] อธิษฐาน หรือ อธิษฐานธรรม 4 (ธรรมเป็นที่มั่น, ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล, ธรรมที่ควรใช้เป็นที่ประดิษฐานตน เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายไว้ได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด และไม่เกิดสิ่งมัวหมอง หมักหมมทับถมตน, บางทีแปลว่า ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ - foundation; foundations on which a tranquil sage establishes himself; virtues which should be established in the mind)
       1. ปัญญา (ความรู้ชัด คือ หยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง - wisdom; insight)
       2. สัจจะ (ความจริง คือ ดำรงมั่นในความจริงที่รู้ชัดด้วยปัญญา เริ่มแต่จริงวาจาจนถึงปรมัตถสัจจะ - truthfulness)
       3. จาคะ (ความสละ คือ สละสิ่งอันเคยชิน ข้อที่เคยยึดถือไว้ และสิ่งทั้งหลายอันผิดพลาดจากความจริงเสียได้ เริ่มแต่สละอามิสจนถึงสละกิเลส - liberality renunciation)
       4. อุปสมะ (ความสงบ คือ ระงับโทษข้อขัดข้องมัวหมองวุ่นวายอันเกิดจากกิเลสทั้งหลายแล้ว ทำจิตใจให้สงบได้ - tranquillity; peace)

       ทั้ง 4 ข้อนี้ พึงปฏิบัติตามกระทู้ดังนี้
       1. ปญฺญํ นปฺปมชฺเชยฺย (ไม่พึงประมาทปัญญา คือ ไม่ละเลยการใช้ปัญญา - not to neglect wisdom)
       2. สจฺจํ อนุรกฺเขยฺย (พึงอนุรักษ์สัจจะ - to safeguard truthfulness)
       3. จาคํ อนุพฺรูเหยฺย (พึงเพิ่มพูนจาคะ - to foster liberality)
       4. สนฺตึ สิกฺเขยฺย (พึงศึกษาสันติ - to train oneself in tranquillity)

D.III.229;
M.III.243.
ที.ปา. 11/254/241;
ม.อุ. 14/682/437.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[198] อบาย 4 (ภาวะหรือที่อันปราศจากความเจริญ - states of loss and woe; low states of existence; unhappy existence)
       1. นิรยะ (นรก, สภาวะหรือที่อันไม่มีความสุขความเจริญ, ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย - hell; woeful state)
       2. ติรัจฉานโยนิ (กำเนิดดิรัจฉาน, พวกมืดมัวโง่เขลา - the animal kingdom; realm of beasts)
       3. ปิตติวิสัย (แดนเปรต, ภูมิแห่งผู้หิวกระหายไร้สุข - realm of hungry ghosts)
       4. อสุรกาย (พวกอสูร, พวกหวาดหวั่นไร้ความรื่นเริง - host of demons; the unrelenting and dejected; frightened ghosts)

       ดู [351] ภูมิ 4, 31

It.93. ขุ.อิติ. 25/273/301.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[200] อบายมุข 6 (ช่องทางของความเสื่อม, ทางแห่งความพินาศ, เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ - causes of ruin; ways of squandering wealth)
       1. ติดสุราและของมึนเมา (addiction to intoxicants) มีโทษ 6 คือ
           1) ทรัพย์หมดไปๆ เห็นชัดๆ
           2) ก่อการทะเลาะวิวาท
           3) เป็นบ่อเกิดแห่งโรค
           4) เสียเกียรติเสียชื่อเสียง
           5) ทำให้ไม่รู้อาย
           6) ทอนกำลังปัญญา
           a) actual loss of wealth
           b) increase of quarrels
           c) liability to disease
           d) source of disgrace
           e) indecent exposure
           f) weakened intelligence.
       2. ชอบเที่ยวกลางคืน (roaming the streets at unseemly hours) มีโทษ 6 คือ
           1) ชื่อว่าไม่รักษาตัว
           2) ชื่อว่าไม่รักษาลูกเมีย
           3) ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
           4) เป็นที่ระแวงสงสัย
           5) เป็นเป้าให้เขาใส่ความหรือข่าวลือ
           6) เป็นทางมาของเรื่องเดือดร้อนเป็นอันมาก
           a) He himself is without guard and protection.
           b) So also is his wife and children.
           c) So also is his property.
           d) He is liable to be suspected of crimes.
           e) He is the subject of false rumors.
           f) He will meet a lot of troubles.
       3. ชอบเที่ยวดูการละเล่น (frequenting shows) มีโทษ โดยกายงานเสื่อมเสียเพราะใจกังวลคอยคิดจ้อง กับเสียเวลาเมื่อไปดูสิ่งนั้นๆ ทั้ง 6 กรณี คือ
           1) รำที่ไหนไปที่นั้น
           2-6) ขับร้อง-ดนตรี-เสภา-เพลง-เถิดเทิงที่ไหน ไปที่นั่น*
* คำแปลภาษาไทยถือตามที่แปลกันมา ส่วนภาษาอังกฤษแปลต่างหาก ไม่ได้มุ่งให้ตรงกัน

           (He keeps looking about to see)
           a) Where is there dancing ?
           b-f) Where is there singing ? -choral music?-story-telling?-cymbal playing?-tam-tams?
       4. ติดการพนัน (indulgence in gambling) มีโทษ 6 คือ
           1) เมื่อชนะย่อมก่อเวร
           2) เมื่อแพ้ก็เสียดายทรัพย์ที่เสียไป
           3) ทรัพย์หมดไปๆ เห็นชัดๆ
           4) เข้าที่ประชุม เขาไม่เชื่อถือถ้อยคำ
           5) เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อนฝูง
           6) ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของผู้ที่จะหาคู่ครองให้ลูกของเขา เพราะเห็นว่าจะเลี้ยงลูกเมียไม่ไหว
           a) As winner he begets hatred.
           b) As loser he regrets his lost money.
           c) There is actual loss of wealth.
           d) His word has no weight in an assembly.
           e) He is scorned by his friends and companions.
           f) He is not sought after by those who want to marry their daughters, for they would say that a gambler connot afford to keep a wife.
       5. คบคนชั่ว (association with bad companions) มีโทษ โดยนำให้กลายไปเป็นคนชั่วอย่างคนที่ตนคบทั้ง 6 ประเภท คือ ได้เพื่อนที่จะนำให้กลายเป็น
           1) นักการพนัน (gamblers)
           2) นักเลงหญิง (rakes; seducers)
           3) นักเลงเหล้า (drunkards)
           4) นักลวงของปลอม (cheater with false things)
           5) นักหลอกลวง (swindlers)
           6) นักเลงหัวไม้ (men of violence)
       6. เกียจคร้านการงาน (habit of idleness) มีโทษ โดยทำให้ยกเหตุต่างๆ เป็นข้ออ้างผัดเพี้ยนไม่ทำการงาน โภคะใหม่ก็ไม่เกิด โภคะที่มีอยู่ก็หมดสิ้นไป คือให้อ้างไปทั้ง 6 กรณีว่า
           1-6 หนาวนัก-ร้อนนัก-เย็นไปแล้ว-ยังเช้านัก-หิวนัก-อิ่มนัก* แล้วไม่ทำการงาน
* บางฉบับเป็น กระหายนัก (too thirsty)

           a-f) He always makes an excuse that it is too cold, - too hot, - too late, - too early, he is too hungry, - too full and does no work.

       อบายมุขหมวดนี้ ตรัสแก่สิงคาลกมาณพ ก่อนตรัสเรื่องทิศ 6

D.III.182-189. ที.ปา. 11/178-184/196-198.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[214] อุปาทาน 4 (ความยึดมั่น, ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส, ความยึดติดอันเนื่องมาแต่ตัณหา ผูกพันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง - attachment; clinging; assuming)
       1. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าพอใจ - clinging to sensuality)
       2. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี คือความเห็น ลัทธิ หรือหลักคำสอนต่างๆ - clinging to views)
       3. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและพรต คือ หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธีต่างๆ ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยสักว่ากระทำสืบๆ กันมา หรือปฏิบัติตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล - clinging to mere rule and ritual)
       4. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน คือ ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า มีตัวตน ที่จะได้ จะเป็น จะมี จะสูญสลาย ถูกบีบคั้นทำลายหรือเป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ได้ ไม่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวงอันรวมทั้งตัวตนว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วนๆ - clinging to the ego-belief)

D.III.230;
M.I.66;
Vbh.375.
ที.ปา. 11/262/242;
ม.มู. 12/156/132;
อภิ.วิ. 35/963/506.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[219] ธรรมเทสกธรรม 5 (ธรรมของนักเทศก์, องค์แห่งธรรมกถึก, ธรรมที่ผู้แสดงธรรมหรือสั่งสอนคนอื่นควรตั้งไว้ในใจ — qualities of a preacher; qualities which a teacher should establish in himself)
       1. อนุปุพฺพิกถํ (กล่าวความไปตามลำดับ คือ แสดงหลักธรรมหรือเนื้อหาวิชาตามลำดับความง่ายยากลุ่มลึก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ — His instruction or exposition is regulated and gradually advanced.)
       2. ปริยายทสฺสาวี (ชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดในแต่ละแง่แต่ละประเด็น โดยอธิบายขยายความ ยักเยื้องไปต่างๆ ตามแนวเหตุผล — It has reasoning or refers to causality)
       3. อนุทยตํ ปฏิจฺจ (แสดงธรรมด้วยอาศัยเมตตา คือ สอนเขาด้วยจิตเมตตา มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่เขา — It is inspired by kindness; teaching out of kindliness.)
       4. น อามิสนฺตโร (ไม่แสดงธรรมด้วยเห็นแก่อามิส คือ สอนเขามิใช่เพราะมุ่งที่ตนจะได้ลาภ หรือผลประโยชน์ตอบแทน — It is not for worldly gain.)
       5. อตฺตานญฺจ ปรญฺจ อนุปหจฺจ (แสดงธรรมไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักตามเนื้อหา มุ่งแสดงธรรม แสดงธรรม ไม่ยกตน ไม่เสียดสีข่มขี่ผู้อื่น — It does not hurt oneself or others; not exalting oneself while contempting others.)

A.III.184. องฺ.ปญฺจก. 22/159/205.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[221] ธรรมสวนานิสงส์ 5 (อานิสงส์ในการฟังธรรม — benefits of listening to the Dhamma)
       1. อสฺสุตํ สุณาติ (ย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง, ได้เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยเรียนรู้ — He hears things not heard.)
       2. สุตํ ปริโยทเปติ (สิ่งที่เคยได้ฟัง ก็ทำให้แจ่มแจ้ง เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น — He clears things heard.)
       3. กงฺขํ วิหนติ (แก้ข้อสงสัยได้, บรรเทาความสงสัยเสียได้ — He dispels his doubts.)
       4. ทิฏฺฐึ อุชุํ กโรติ (ทำความเห็นให้ถูกต้องได้ — He makes straight his views.)
       5. จิตฺตมสฺส ปสีทติ (จิตของเขาย่อมผ่องใส — His heart becomes calm and happy.)

A.III.248. องฺ.ปญฺจก. 22/202/276.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[227] พร 5 (สิ่งน่าปรารถนาที่บุคคลหนึ่งอำนวยให้หรือแสดงความประสงค์ด้วยความปรารถนาดีให้เกิดมีขึ้นแก่บุคคลอื่น; สิ่งประเสริฐ, สิ่งดีเยี่ยม — blessing; boon; excellent thing)
       พรที่รู้จักกันมากได้แก่ ชุดที่มีจำนวน 4 ข้อ ซึ่งเรียกกันว่า จตุรพิธพร หรือ พร 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

Dh.109;
A.II.63
ขุ.ธ. 25/18/29;
องฺ.จตุกฺก. 21/58/83.

       พรที่เป็นชุดมีจำนวน 5 ข้อบ้าง 6 ข้อบ้าง ก็มี เช่น อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ (องฺ.ปญฺจก. 22/37/44 = A.III.42); อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุขะ พละ (องฺ.จตุกฺก. 21/34/45; องฺ.ปญฺจก. 22/32/38; ขุ.อิติ. 25/270/299 = A.III.36; It. 89); อายุ วรรณะ สุขะ ยศ เกียรติ สัคคะหรือสวรรค์ พร้อมทั้ง อุจจากุลีนตาคือความมีตระกูลสูง (องฺ.ปญฺจก. 22/43/51 = A.III.48); อายุ วรรณะ ยศ สุข อาธิปัจจะ คือ ความเป็นใหญ่ (ขุ.เปต. 26/106/195 = Pv. 308) และชุดที่จะกล่าวถึงต่อไปคือ อายุ วรรณะ สุขะ โภคะ พละ
       อย่างไรก็ดี พึงทราบว่า คำว่า พร ในที่นี้ เป็นการใช้โดยอนุโลมตามความหมายในภาษาไทย ซึ่งเพี้ยนไปแล้วจากความหมายเดิมในภาษาบาลี ในภาษาบาลีแต่เดิม พร หมายถึง ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษที่อนุญาตหรืออำนวยให้ตามที่ขอ พรที่กล่าวถึง ณ ที่นี้ทั้งหมด ในบาลีไม่ได้ เรียกว่า พร แต่เรียกว่า ฐานะ หรือธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ (ซึ่งจะบรรลุได้ด้วยกรรม คือการกระทำที่ดีอันเป็นบุญ)
       สำหรับพระภิกษุ พรหรือธรรมอันน่าปรารถนาเหล่านี้ หมายถึงคุณธรรมต่างๆ ที่ควรปลูกฝังฝึกอบรมให้เกิดมี ดังพุทธพจน์ว่า: ภิกษุท่องเที่ยวอยู่ ภายในถิ่นท่องเที่ยว ที่เป็นแดนของตนอันสืบทอดมาแต่บิดา (คือ สติปัฏฐาน 4) จักเจริญด้วย
       1. อายุ คือ พลังที่หล่อเลี้ยงทรงชีวิตให้สืบต่ออยู่ได้ยาวนาน ได้แก่ อิทธิบาท 4 (for monks, = the Four Bases of Accomplishment)
       2. วรรณะ คือ ความงามเอิบอิ่มผ่องใสน่าเจริญตาเจริญใจ ได้แก่ ศีล (beauty = moral conduct)
       3. สุขะ คือความสุข ได้แก่ ฌาน 4 (the Four Meditative Absorptions)
       4. โภคะ คือ ความพรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินและอุปกรณ์ต่างๆ อันอำนวยความสุข ความสะดวกสบาย ได้แก่ อัปปมัญญา หรือพรหมวิหาร 4 (Wealth = the Four Boundless Sublime States of Mind)
       5. พละ คือ กำลังแรงความเข้มแข็งที่ทำให้ข่มขจัดได้แม้แต่กำลังแห่งมาร ทำให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามปลอดโปร่งเป็นสุข บำเพ็ญกิจด้วยบริสุทธิ์และเต็มที่ ไม่มีกิเลสหรือความทุกข์ใดใดจะสามารถบีบคั้นครอบงำ ได้แก่ วิมุตติ ความหลุดพ้น หมดสิ้นอาสวะ หรืออรหัตตผล (strength or power = the Final Freedom)

D.III.77;
S.V.147
ที.ปา. 11/50/85;
สํ.ม. 19/709/198

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[230] พละ 5 ของพระมหากษัตริย์ (พลังของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สามารถเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินได้ — strengths of a king)
       1. พาหาพลัง หรือ กายพลัง (กำลังแขน หรือกำลังกาย คือ ความแข็งแรงมีสุขภาพดี สามารถและชำนาญในการใช้แขนใช้มือใช้อาวุธ ตลอดจนมียุทโธปกรณ์พรั่งพร้อม — strength of arms)
       2. โภคพลัง (กำลังโภคสมบัติ คือ มีทุนทรัพย์บริบูรณ์ พร้อมที่จะใช้บำรุงเลี้ยงคนและดำเนินกิจการได้ไม่ติดขัด — strength of wealth)
       3. อมัจจพลัง (กำลังอมาตย์ หรือกำลังข้าราชการ คือ มีที่ปรึกษาและข้าราชการ ระดับบริหารที่ทรงคุณวุฒิเก่งกล้าสามารถ และจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน — strength of counsellors or ministers)
       4. อภิชัจจพลัง (กำลังความมีชาติสูง คือ กำเนิดในตระกูลสูง เป็นขัตติยชาติ ต้องด้วยความนิยมเชิดชูของมหาชน และได้รับการฝึกอบรมมาแล้วเป็นอย่างดีตามประเพณีแห่งชาติตระกูลนั้น — strength of high birth)
       5. ปัญญาพลัง (กำลังปัญญา คือ ทรงปรีชาญาณ หยั่งรู้เหตุผล ผิดชอบ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ สามารถวินิจฉัยเหตุการณ์ทั้งภายในภายนอก และดำริการต่างๆ ให้ได้ผลเป็นอย่างดี — strength of wisdom)

       กำลังแขน หรือกำลังกาย แม้จะสำคัญ แต่ท่านจัดว่าต่ำสุด หากไม่มีพลังอื่นควบคุมค้ำจุน อาจกลายเป็นกำลังอันธพาล ส่วนกำลังปัญญา ท่านจัดว่าเป็นกำลังอันประเสริฐ เป็นยอดแห่งกำลังทั้งปวง เพราะเป็นเครื่องกำกับ ควบคุม และนำทางกำลังอื่นทุกอย่าง

J.V.120 ขุ.ชา. 27/2444/532;
ชา.อ. 7/348.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[232] โภคอาทิยะ หรือ โภคาทิยะ 5 (ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ หรือ เหตุผลที่อริยสาวกควรยึดถือ ในการที่จะมีหรือครอบครองโภคทรัพย์ — uses of possessions; benefits one should get from wealth; reasons for earning and having wealth)
       อริยสาวกแสวงหาโภคทรัพย์มาได้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยทางสุจริตชอบธรรมแล้ว
       1. เลี้ยงตัว มารดาบิดา บุตรภรรยา และคนในปกครองทั้งหลายให้เป็นสุข (to make oneself, one’s parents, children, wife, servants and workmen happy and live in comfort)
       2. บำรุงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข (to share this happiness and comfort with one’s friends)
       3. ใช้ป้องกันภยันตราย (to make oneself secure against all misfortunes)
       4. ทำพลี 5 อย่าง (to make the fivefold offering)
           ก. ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ (to relatives, by giving help to them)
           ข. อติถิพลี ต้อนรับแขก (to guests, by receiving them)
           ค. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับ (to the departed, by dedicating merit to them)
           ง. ราชพลี บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากรเป็นต้น (to the king, i.e., to the government, by paying taxes and duties and so on)
           จ. เทวตาพลี ถวายเทวดา* คือ สักการะบำรุงหรือทำบุญอุทิศสิ่งที่เคารพบูชา ตามความเชื่อถือ (to the deities, i.e., those beings who are worshipped according to one’s faith)
* ในจูฬนิทเทส ท่านอธิบายความหมายของ “เทวดา” ไว้ว่า ได้แก่สิ่งที่นับถือเป็นทักขิไณย์ของตนๆ
(เย เยสํ ทกฺขิเณยฺยา, เต เตสํ เทวตา -- พวกไหนนับถือสิ่งใดเป็นทักขิไณย์ สิ่งนั้นก็เป็นเทวดาของพวกนั้น) และแสดงตัวอย่างไว้ตามความเชื่อถือของคนสมัยพุทธกาล ประมวลได้เป็น 5 ประเภท คือ

       1. นักบวช นักพรต (ascetics) เช่น อาชีวกเป็นเทวดาของสาวกอาชีวก นิครณถ์ ชฎิล ปริพาชก ดาบส ก็เป็นเทวดาของสาวกนิครนต์เป็นต้นเหล่านั้นตามลำดับ
       2. สัตว์เลี้ยง (domestic animals) เช่น ช้างเป็นเทวดาของพวกประพฤติพรตบูชาช้าง ม้า โค ไก่ กา เป็นต้น ก็เป็นเทวดาของพวกถือพรตบูชาสัตว์นั้นๆ ตามลำดับ
       3. ธรรมชาติ (physical forces and elements) เช่น ไฟเป็นเทวดาของพวกประพฤติพรตบูชาไฟ แก้ว มณี ทิศ พระจันทร์ พระอาทิตย์ เป็นเทวดาของผู้ถือพรตบูชาสิ่งนั้นๆ ตามลำดับ
       4. เทพชั้นต่ำ (lower gods) เช่น นาคเป็นเทวดาของพวกประพฤติพรตบูชานาค ครุฑ ยักษ์ คนธรรพ์ เป็นเทวดาของผู้ถือพรตบูชานาคเป็นต้นเหล่านั้นตามลำดับ (พระภูมิจัดเข้าในข้อนี้)
       5. เทพชั้นสูง (high gods) เช่น พระพรหม เป็นเทวดาของพวกประพฤติพรตบูชาพระพรหม พระอินทร์ เป็นเทวดาของผู้ถือพรตบูชาพระอินทร์ เป็นต้น

       สำหรับชนที่ยังมีความเชื่อถือในสิ่งเหล่านี้ พระพุทธศาสนาสอนเปลี่ยนแปลงเพียงให้เลิกเซ่นสรวงสังเวยเอาชีวิตบูชายัญ หันมาบูชายัญชนิดใหม่ คือบริจาคทานและบำเพ็ญกุศลกรรมต่างๆ อุทิศไปให้แทน คือมุ่งที่วิธีการอันจะให้สำเร็จประโยชน์ก่อน ส่วนการเปลี่ยนแปลงความเชื่อถือเป็นเรื่องของการแก้ไขทางสติปัญญา ซึ่งประณีตขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะนักบวชในประเภทที่ 1 แม้สาวกใดจะเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำให้อุปถัมภ์บำรุงนักบวชนั้นต่อไปตามเดิม

       ดู “Devata” ใน P.T.S. Dict., P.165 ด้วย

Ndii 308ขุ.จู. 30/120/45.

       5. อุปถัมภ์บำรุงสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ (to support those monks and spiritual teachers who lead a pure and spiritual teachers who lead a pure and diligent life)

       เมื่อใช้โภคทรัพย์ทำประโยชน์อย่างนี้แล้ว ถึงโภคะจะหมดสิ้นไป ก็สบายใจได้ว่า ได้ใช้โภคะนั้นให้เป็นประโยชน์ถูกต้องตามเหตุผลแล้ว ถ้าโภคะเพิ่มขึ้นก็สบายใจเช่นเดียวกัน เป็นอันไม่ต้องเดือดร้อนใจในทั้งสองกรณี.

A.III.45 องฺ.ปญฺจก. 22/41/48.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[234] มาร 5 (สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากคุณความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, สิ่งที่ล้างผลาญคุณความดี, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางบุคคลมิให้บรรลุ ผลสำเร็จอันดีงาม — the Evil One; the Tempter; the Destroyer)
       1. กิเลสมาร (มารคือกิเลส, กิเลสเป็นมารเพราะเป็นตัวกำจัดและขัดขวางความดี ทำให้สัตว์ประสบความพินาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต — the Mara of defilement)
       2. ขันธมาร (มารคือเบญจขันธ์, ขันธ์ 5 เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง มีความขัดแย้งกันเองอยู่ภายใน ไม่มั่นคงทนนาน เป็นภาระในการบริหาร ทั้งแปรปรวนเสื่อมโทรมไปเพราะชราพยาธิเป็นต้น ล้วนรอนโอกาสมิให้บุคคลทำกิจหน้าที่ หรือบำเพ็ญคุณความดีได้เต็มปรารถนา อย่างแรง อาจถึงกับพรากโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง — the Mara of the aggregates)
       3. อภิสังขารมาร (มารคืออภิสังขาร, อภิสังขารเป็นมาร เพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม นำให้เกิดชาติ ชรา เป็นต้น ขัดขวางมิให้หลุดพ้นไปจากสังขารทุกข์ — the Mara of Karma-formations)
       4. เทวปุตตมาร (มารคือเทพบุตร, เทพยิ่งใหญ่ระดับสูงสุดแห่งชั้นกามาวจรตนหนึ่งชื่อว่ามาร เพราะเป็นนิมิตแห่งความขัดข้อง คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ มิให้ล่วงพ้นจากแดนอำนาจครอบงำของตน โดยชักให้ห่วงพะวงในกามสุขไม่หาญ เสียสละออกไปบำเพ็ญคุณความดียิ่งใหญ่ได้ — the Mara as deity)
       5. มัจจุมาร (มารคือความตาย, ความตายเป็นมาร เพราะเป็นตัวการตัดโอกาส ที่จะก้าวหน้าต่อไปในคุณความดีทั้งหลาย — the Mara as death)

Vism.211;
Thag A.II.16.46
วิสุทฺธิ.1/270;
เถร.อ. 2/24,383,441;
วินย.ฎีกา. 1/481

[***] มิจฉาวณิชชา 5 (การค้าขายที่ผิดหรือไม่ชอบธรรม) เป็นคำชั้นอรรถกถา บาลีเรียก วณิชชาที่ไม่ควรทำ หรือ อกรณียวณิชชา
       ดู [235] วณิชชา 5


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=รต&detail=on&nextseek=256
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%C3%B5&detail=on&nextseek=256


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]