ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
คัพภาวักกันติปัญหา ที่ ๖
             สมเด็จพระเจ้ามิลินท์มีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา สมเด็จพระมหากรุณามีพระพุทธฎีกาตรัสไว้ว่า ลักษณะแห่งสัตว์ทั้งหลาย คือหญิงชายชาติสัตว์ ดิรัจฉานจะย่างลงสู่ครรภ์ ย่อมมีสันนิบาตประชุมพร้อมทั้ง ๓ ประการ คือบิดามารดาพร้อม เพรียงกันประการ ๑ มารดามีระดูประการ ๑ สัตว์ลงปฏิสนธิประการ ๑ สิริเป็นสันนิบาต ๓ ประการฉะนี้ ถ้าว่าหย่อนจากสันนิบาตขาดไปสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วนั้น สตรีภาพจะมีครรภ์หามิได้ พระพุทธฎีกาตรัสไว้ฉะนี้ เป็นที่มนุษย์นิกรเทพดาจะพึงฟังจำไว้เป็นเยี่ยงอย่างไป ครั้นว่าตรัสไว้ ดังนี้แล้ว มีพระพุทธฎีกาตรัสเทศนาในที่อื่นว่า สันนิบาตมี ๒ ประการเล่า เหมือนเจ้าสาม กระนั้นลงปฏิสนธิในครรภ์นางปาริกาดาบสินี มีแต่สันนิบาตทั้ง ๒ เป็นแต่พระทุกุลบัณฑิต ลูบท้องนางปาริกาผู้มีระดู จะจัดเป็นบิดามารดาพร้อมเพรียงกันนั้นยังไม่ได้ จึงได้แต่สันนิบาต ๒ ประการ คือนางปาริกามีระดูประการ ๑ พระสามลงปฏิสนธิประการ ๑ สิริเป็นสันนิบาต ๒ ประการเท่านั้น จะได้มีสันนิบาตเป็น ๓ ประการหามิได้ ข้อหนึ่งเล่าใช่แต่เท่านั้นเหมือนอิสีสิงค- ดาบสนั้น มารดาก็เป็นมฤคี นางเนื้อมากลืนกล้ำกินซึ่งอสุจิของพระฤๅษี อันตกติดอยู่กับเส้น หญ้านั้นก็มีอยู่นิทาน ๑ ใช่แต่เท่านั้น เหมือนมาตังคฤๅษี ลูบลงที่นาภีนางพราหมณ์ด้วยมือ ขวาเมื่อขณะระดูมีมา ได้บุตรชื่อว่าเจ้ามัณฑัพยมานพนี้เรื่อง ๑ ใช่แต่เท่านี้ เหมือนหนึ่งสัง- กิจจกุมารอันเป็นลูกนางเนื้อ อันกินซึ่งอสุจิแห่งพระกุมารกัสสป อันเป็นบุตรนางภิกขุนี ด้วย นางภิกขุนีเอาอสุจิพระมหาเถระใส่ลงในกลางกำเนิดนั้น ก็มีปรากฏอยู่นิทาน ๑ นี้และจะเชื่อเอา คำหน้าว่าสันนิบาตมี ๓ ประการ คำหลังที่ตรัสว่าสันนิบาต ๒ ประการก็จะผิด ถ้าจะเชื่อ คำหลังคำหน้าผิด ปริศนานี้เป็นอุภโตโกฏิ นิมนต์โปรดวิสัชนาเพื่อว่าจะดับเสียซึ่งคำปรับ ปวาทอันไปภายภาคหน้า ให้สิ้นวิมัติกังขาในกาลบัดนี้              พระนาคเสนเถรเจ้าจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จ พระทศพลญาณตรัสพระสัทธรรมเทศนาโปรดประทานไว้ว่า สัตว์จะลงปฏิสนธิในครรภ์มารดา บริบูรณ์ด้วยสันนิบาต ๓ ประการจะได้ผิดหามิได้ คนทั้งหลายซึ่งบังเกิดมานี้ จะได้คลาดจาก สันนิบาต ๓ ประการหามิได้ เกิดด้วยสันนิบาตทั้ง ๓ สิ้น              พระเจ้ามิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสว่า นิมนต์พระผู้เป็นเจ้านำเอาเหตุมาวิสัชนาให้ สิ้นสงสัยก่อน              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ สุตปุพฺพํ ปน ตยา บพิตรย่อมได้สวนาการฟังมาแต่ก่อนบ้างหรือไม่ว่า พระสามก็ดี พระอิสี- สิงคดาบสก็ดี พระกุมากัสสปเถรเจ้าก็ดี คนทั้งสามนี้เกิดด้วยสันนิบาต ๒ ประการ              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์มีพระราชโองการตรัสว่า อาม ภนฺเต เออข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมได้ฟังมาฉะนี้ว่า เทฺว มิคเธนุโย ยังมีแม่มฤคีทั้งสอง ยามเมื่อระดูมานั้น แม้เนื้อนั้นสัญจร เที่ยวมาที่ปัสสาวฐานของพระดาบสทั้งสองอันถ่ายปัสสาวะนั้น จึงลิ้มเลียกินซึ่งสัมภวะของพระ ดาบส อันติดปัสสาวะออกมาตกอยู่ จึงมีท้องเกิดดาบสทั้งสอง คืออิสีสิงคดาบสและสังกิจจกุ- มารดาบส ประการหนึ่ง พระอุทายีเถรเจ้าเข้าไปสู่สำนักนางภิกขุนี เพ่งดูนางภิกขุนีองค์หนึ่ง จึงมีสัมภวะไหลออกมาตกติดผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ ก็พอนางภิกขุนีนั้นมีระดู ได้ทัศนาการเห็น สัมภวะติดอยู่ จึงเอาสัมภวะนั้นใส่ในนิมิตกำเนิดบ้าง ใส่ปากบ้าง ด้วยความกำหนัดยินดี จึง มีครรภ์เกิดพระกุมารกัสสปเถระ              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาถามว่า มหาบพิตรตรัสฉะนี้ เชื่อถือเอาเป็นมั่นคงแล้วหรือ              พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ตรัสว่า โยมเชื่อ ถ้อยคำอันนี้เปรียบดุจพืชทั้งหลายตกลงกับ พื้นปฐพีอันชุ่มเปียกเป็นกลละอยู่นั้น สํวิรุหนฺติ จะงอกเร็วหรือว่าหามิได้ นะพระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงมีวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ธรรมดาว่า พืชหว่านลงเหนือปฐพีอันชุ่มแล้วก็จำเริญงอกรวดเร็วขึ้น              พระเจ้ามิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ความซึ่งเปรียบมาฉะนี้ ฉันใดก็ดี นางภิกขุนี นั้นมีระดูโลหิตนั้นมีอยู่ ครั้นเอาสัมภวะใส่ลงไปในนิมิตมีโลหิตอันหยุดแล้วจึงตั้งครรภ์ เปรียบ ดุจพืชตกลงในที่ชุ่มเปียกนั้นก็งอกจำเริญไป โยมนี้ตรองไปจึงเชื่อดุจเหตุที่วิสัชนา พระนาคเสนจึงถามว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร เหมือนพระกุมาร กัสสปลงปฏิสนธิในครรภ์นางภิกขุนีนั้น บพิตรเข้าพระทัยฉะนี้หรือ พระราชสมภาร              พระเจ้ามิลินท์มีพระราชโองการตรัสว่า อาม ภนฺเต เออข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าโยมเข้าใจฉะนี้              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า กระนั้นก็ดีแล้ว มหาบพิตรกล่าววาจาเลี้ยงวาจาเลี้ยงมาตามวิสัย แห่งอาตมา ชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่อาตมามาก ยังอีกข้อหนึ่ง แม่เนื้อทั้งสองกินสัมภวะแห่งพระ ดาบสทั้งสองมีท้องนั้นเล่า พระราชสมภารเจ้าจะเชื่อหรือ              พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า โยมเชื่อถืออยู่พระผู้เป็นเจ้า จะเปรียบฉันใดเล่า เปรียบดุจแม่น้ำ ทั้งหลายใหญ่น้อย ย่อมไหลลงตรงไปยังมหาสมุทร ถึงที่แล้วมีความเจริญฉันใด แม่เนื้อได้กิน สัมภวะแห่งพระดาบสนั้น สัมภวะไหลไปสู่กลละนั้น ก็พากันจำเริญเหมือนดังนั้น สัตว์จึง ปฏิสนธิ โยมนี้เชื่อด้วยเหตุฉะนี้              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร พระองค์วิสัชนา มานี้มีหลักฐานเป็นประโยชน์แก่อาตมายิ่งขึ้น เพราะว่าแม่เนื้อทั้งสองดื่มกินซึ่งอสุจิ ก็เป็นสัน- นิบาตได้ ก็สังกิจจกุมารและอิสีสิงคดาบสพระกุมารกัสสปทั้งสามนี้ลงปฏิสนธิ พระองค์ทรง เชื่อหรือ              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์รับว่า โยมเชื่ออยู่ว่าสันนิบาตย่อมประชุมลง              พระนาคเสนถวายพระพรว่า เจ้าสามกุมารและมัณฑัพยมานพนั้น ก็นับในสันนิบาต ๓ ประการ มีเนื้อความอย่างเดียวกันกับที่ว่ามาในก่อน อาตมาจะวิสัชนาเหตุผลให้ฟัง กิร ดัง ได้ยินมา เทวฺ ตาปสา อันว่าพระดาบสทั้งสองอยู่ในอรัญราวป่าคือ วิเวกาธิมุตฺตา ยินดี ในที่วิเวกอันสงัดประกอบด้วยตบะเดชะมาก ปรากฏไปจนถึงพรหมโลกเบื้องบนตลอดสิ้น              สกฺโก เทวานมินฺโท ฝ่ายสมเด็จท้าวสหัสนัยเทเวศรอำมรินทร์มีน้ำพระทัยศรัทธายินดี อุตสาหะลจากเวชยันตวิมานมาสู่วสนฐานที่อยู่แห่งพระดาบสทั้งสอง มาอุปัฏฐากทุกเช้าทุก เย็นนิจนิรันดร์มา สมเด็จอัมรินทราธิราชผู้ประกอบด้วยวัตรปฏิบัติอันควรเคารพ และประกอบ ด้วยเมตตาจึงได้พิจารณาดูด้วยทิพจักษุ ทรงรำพึงถึงพระดาบสทั้ง ๒ ก็เห็นว่าภัยจะมีมาข้างหน้า อนิจจาพระดาบสทั้งสองนี้ จะมีจักขุอันเสื่อมจะมืดงมงาย จะขวนขวายหาพฤกษผลาหารเป็น อันยากยิ่งนัก สมเด็จอำมรินทราธิราชทรงอาวัชชนาการเห็นภัยฉะนี้ จะมีแน่แก่พระดาบสทั้ง สอง จึงดำรัสว่า จำอาตมานี้จะไปว่าให้พระดาบสทั้งสองส้องเสพตามประเพณีโลก จะได้เกิด บุตรปรนนิบัติไปเบื้องหน้า สมเด็จอำมรินทราธิราชดำริแล้วก็ควรไลจากวิมานฟ้า ลงมาสู่สำนัก พระดาบสทั้งสอง กระทำวันทนาการแล้วมีเทวบัญชาว่า ภนฺเต ข้าแต่ท่านทั้ง ๒ ผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าจงฟังถ้อยคำแห่งข้า จงเสพกามเถิดจะได้เกิดบุตร จะได้อภิบาลปรนนิบัติรักษา นานไปเมื่อหน้าภัยจะมีแก่พระผู้เป็นเจ้า              ฝ่ายพระดาบสทั้งสอง ก็มีวาจาห้ามเสียว่า โภ สกฺก ดูกรสมเด็จอำมรินทร์ผู้เจริญ ท่านอย่าได้มาว่ากล่าวเช่นนี้ จะได้ชอบใจเราทั้งสองหามิได้              ส่วนสมเด็จท้าวสหัสนัยเทวราช อนุกมฺปิโก ปรารถนาจะอนุเคราะห์ การุณิโก ประกอบด้วยกรุณา อตฺถาโม ปรารถนาจะให้เป็นประโยชน์แก่พระดาบสทั้งสอง ก็เข้าไป ตักเตือนเหมือนดังนั้นถึงสองครั้ง พระดาบสทั้งสองก็ห้ามเสียเหมือนดังก่อน              ครั้นวาระเป็นคำรบสาม พระดาบสทั้งสองก็ห้ามเสียด้วยคำดังนี้ว่า ดูกรสมเด็จท้าว โกสีย์ บพิตรตรัสดังนี้ ได้ชื่อว่าประกอบในที่มิได้เป็นประโยชน์ ได้ชื่อว่านำเอาโทษมาให้แก่เรา ประการหนึ่งเล่า อยํ กาโย อันว่ากายแห่งเราทั้งสองนี้ ภิชฺชมาโน เมื่อภัยจะมาพานต้องให้ ทำลายจงทำลายเถิด จะให้เราทำลายจากธรรมอันประเสริฐนี้ทำลายไม่ได้ ถึงธรณีจะถล่มไป และ เขาใหญ่เมรุมาศจะหวาดไหวโอนอ่อนอยู่ไปมา อีกพระจันทร์พระอาทิตย์นั้นจะตกไปประการใด และจะให้เรายินดีในทางที่จะเสพอสัทธรรมไม่ได้ ตั้งแต่นี้ไป บพิตรอย่าได้ไปมาหาสู่เราทั้งสอง เพราะเหตุว่าวิสาสะกับบพิตรนั้น เป็นช่องทางล่อลวงให้ฉิบหายหาประโยชน์มิได้              ตโต เทวานมินฺโท ลำดับนั้นสมเด็จเทวานมินทเทวราชได้ฟังซึ่งโอวาทพระดาบส กล่าวดังนี้ จึงอัญชลีกรวิงวอนว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า แม้นว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ส้องเสพ อสัทธรรมก็ตามอัชฌาสัย จงคอยให้พระปาริกาดาบสินีมีระดู พระผู้เป็นเจ้าจงปรามาสลูบลงที่ พระนาภีของพระปาริกา ด้วยนิ้วแม่มือเบื้องขวาเถิด ก็จะเกิดบุตรขึ้นในครรภ์              พระทุกุลดาบสผู้ประเสริฐฟังสมเด็จอำมรินท์วิงวอน จึงทรงพระอนุสรณ์คำนึงว่า การที่จะลูบนาภีพระปาริกา อาตมามิได้เสียตบะเดชะ พระทุกุลบัณฑิตคิดเห็นชัดฉะนี้ ก็รับ ถ้อยคำสมเด็จท้าวโกสีย์              เนื้อความข้อนี้ยกไว้ก่อน ตาย จ ปน เวลาย ก็ในเวลานั้นพระบรมโพธิสัตว์ของเรานี้ ได้ อุบัติบังเกิดเป็นเทพบุตรมีกุศลธรรมบริบูรณ์ ขีณายุโก มีชนมายุจวนจะสิ้นเวลาสิ้นอายุแล้ว สามารถจะไปบังเกิดที่ใดๆ ได้ตามปรารถนา ที่สุดกระทั่งตระกูลพระเจ้าจักรพรรดิ              ฝ่ายสมเด็จอำรินทร์ ก็เสด็จยังสำนักเทพบุตรนั้นมิได้ช้า เอวมาห จึงมีเทวบัญชาว่า มาริส ดูกรท่านผู้เนียรทุกข์มีแต่ความสุข วันนี้เป็นวันจะให้สำเร็จประโยชน์ของท่าน เรามา อุปัฏฐากท่านบัดนี้ ก็ประสงค์จะให้ท่านไปบังเกิดในตระกูลที่สมควร ท่านจะได้ไปสร้างพระบารมี อญฺชลีกโต สมเด็จท้าวโกสีย์อัญชลีการวิงวอนเทพบุตรนั้นถึงสองครั้งสามครั้ง              ส่วนว่าเทพบุตรนั้นได้ทรงฟัง จึงถามสมเด็จอำมรินทร์ว่า ท่านมาวิงวอนแก่เราเนืองๆ สรรเสริญตระกูลที่จะให้เราไปบังเกิด ตระกูลนั้นเป็นตระกูลอันใด              สมเด็จท้าวสหัสนยจึงบอกว่า ตระกูลทุกุลดาบสกับนางปารกาดาบสินี              ส่วนเทพบุตรนั้น ตํ วจนํ สุตฺวา ได้ฟังถ้อยคำดังนั้นก็ชื่นชมยินดี รับถ้อยคำท้าว โกสีย์แล้วก็มีเทวบัญชาว่า ดูกรอัมรินทร์ ที่ท่านปรารถนานี้จงสำเร็จดังใจเถิด ตัวเรานี้ก็ วิตกอยู่ว่าจะไปบังเกิดในตระกูลอันใด จะไปเกิดในอัณฑชะกำเนิดหรือ หรือว่าจะไปเกิดในชลาม พุชะกำเนิด ในอุปปาติกะกำเนิดประการใดๆ แต่นึกๆ อยู่ในใจฉะนี้ ก็พอท้าวโกสีย์อาราธนา              สมเด็จอำมรินทราธิราชจึงมีเทวบัญชาว่า ข้าพเจ้าขออารธนาให้เกิดในชลามพชุะกำเนิด ดังนี้ แล้วสมเด็จท้าวโกสีย์ก็กำหนดนัดวันที่จะบังเกิด และลงมานัดสัญญากับพระทุกุลดาบส กำหนดว่าวันนั้นเวลานั้น พระปาริการะดูจะมา อาราธนาพระผู้เป็นเจ้าจงปรามาสลงที่พระนาภี พระปาริกาด้วยมือเบื้องขวานั้นเถิด สั่งแล้วสมเด็จสมเด็จสหัสนัยผู้ประเสริฐ ก็ยอกรอัญชลีลามายัง เวชยันต์มหาวิมานมาศ อันเป็นนิวาสถานของพระองค์              ตสฺมึ ทิวเส ครั้นถึงวันพระอินทร์กำหนด นางปาริกาดาบสินีก็มีระดูมา ส่วนว่าพระ ทุกุลฤๅษีก็ปรามาสลงที่นาภีพระปาริกาด้วยแม่มือข้างขวา ส่วนว่าเทพบุตรก็จุติลงปฏิสนธิ เป็นสันนิบาต ๓ ประการ ดังวิสัชนามาฉะนี้              ประการหนึ่งเล่า เมื่อพระดาบสปรามาสลงที่นาภี นางปาริกาดาบสินีก็มีราคะบังเกิดขึ้น ครั้นราคะอาศัยโสมนัสบังเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งอาศัยปรามาสนาภีด้วยเล่า เหตุฉะนี้ จึงว่านาภีปรา- มาส นี้เป็นสันนิบาตอันหนึ่ง นาภีปรามาสจัดเป็นสันนิบาตอันหนึ่งข้อนี้ยกไว้              จะว่าด้วยลักษณะอัชฌาจาร อันหญิงชายทั้งหลายนี้มีสันนิบาตด้วยกิริยาต่างๆ คือ ถ้อยทีถ้อยยินดียิ้มแย้มหากัน ก็จัดเป็นสันนิบาตประการ ๑ ถ้อยทีถ้อยพูดจาเรียกกัน นี้ก็เป็น สันนิบาตอัน ๑ ถ้อยทีถ้อยเล็งแลดูกันทั้ง ๒ ฝ่าย ก็จัดเป็นสันนิบาตประการ ๑ สันนิบาต ๓ ประการนี้เป็นเค้ามูลเป็นตันเดิมก่อน แล้วจึงจะมีอามสนสันนิบาต คือชายหญิงถูกต้องกายกัน ครั้นอามสนสันนิบาตมีแล้ว โอกันติสันนิบาตก็มี โอกันติสันนิบาตนี้แหละจัดได้ชื่อว่าปฏิสนธิ มหาราช ขอถวายพระพร ที่มิได้ส้องเสพอัชฌาจาร เป็นแต่ถูกต้องตัวเข้า สัตว์ก็ลงปฏิสนธิ ได้จะเปรียบฉันใด อุปไมยดุจอัคคีอันมีเปลวรุ่งโรจน์โชตนาการ ครั้นว่าบุคคลคมนาการเข้าใกล้ ก็ร้อนเป็นเปลวเพลิง เปลวเพลิงนั้นกำจัดเสียได้ซึ่งหนาว อาจจะห้ามมิให้หนาวได้เพราะต้อง เปลวเพลิงฉันใด สัตว์ลงปฏิสนธิด้วยถูกต้องมารดา มิได้เสพอัชฌาจารนั้น ก็เหมือนกันกับ คนผิงไฟฉะนั้น              ใช่แต่เท่านี้ สัตว์จะลงปฏิสนธิด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ กมฺมวเสน ด้วยสามารถ กรรม ประการ ๑ โยนิวเสน ด้วยสามารถกำเนิดประการ ๑ กุลเสน ด้วยสามารถตระกูล ประการ ๑ อายาจนวเสน ด้วยสามารถนิมนต์เกิดประการ ๑ เป็น ๔ ประการ              ที่สัตว์ทั้งหลายเกิดด้วยอำนาจกรรมนั้นประการใด              อุสฺสนฺนกุสลมูลา สัตว์ที่มีกุศลมูลได้สร้างสมอบรมมากล้าหาญ แม้นปรารถนาจัก บังเกิดในตระกูลอันใด ขตฺติยมหาสาลกุเล วา ในตระกูลขัตติยมหาศาลก็ดี พฺราหฺมณมหา- สาลกุเล วา ในตระกูลพราหมณมหาศาลก็ดี คหปติมหาสาลกุเล วา ในตระกูลคฤหบดี มหาศาลก็ดี เทเวสุ วา ในสวรรค์ชั้นเทวดาก็ดี หรือว่าจะเกิดในอัณฑชะกำเนิดก็ดี สังเสทชะ กำหนดก็ดี ชลาพุชะกำเนิดก็ดี อุปปาติกะกำเนิดก็ดี มีกุศลอันเกล้าแล้วก็ได้สมดุจปรารถนา มหาราช ดูรานะบิพตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ เปรียบปานดุจบุรุษ อฑฺโฒ มั่งคั่ง มหทฺธโน มีทรัพย์มาก มหาโภโค มีโภคทรัพย์สมบัติมาก ปหุตชาตรูปรชโต มีเงินทองมาก ปหุตวิตฺ- ตูปกรโณ มีทรัพย์เครื่องใช้มาก ปหุตธญฺโญ มีทรัพย์ข้าวเปลือกมาก และบุรุษผู้นี้แม้นจะ ปรารถนา ทาสํ วา ซึ่งข้าชายก็ดี ทาสึ วา ซึ่งข้าหญิงก็ดี และจะปรารถนา นิคมํ ซึ่งนิคมบ้านน้อย ก็ดี คามนฺตรํ วา ซึ่งระหว่างแห่งบ้านใหญ่ก็ดี ชนเทสํ วา ซึ่งประเทศชนบทก็ดี มีทรัพย์ ให้ทรัพย์ทวีคูณแล้วก็ได้สมดังปรารถนา ยถา มีครุวนาฉันใด บุคคลที่มีกุศลธรรมเป็น อันมากนั้นจะเกิดที่ไหนก็ได้สิ้น เหมือนบุรุษที่มีทรัพย์มากนั้น อย่างนี้แหละได้ชื่อว่าปฏิ- สนธิด้วยอำนาจกรรม              อนึ่ง ที่ว่าสัตว์ปฏิสนธิด้วยสามารถแห่งกำเนิดนั้นประการใด              อ๋อได้ความว่า กุกฺกุฏานํ วาเตน ไก่ทั้งหลายปฏิสนธิด้วยลม พกานํ เมฆสเรน สัตว์ ทั้งหลายลงปฏิสนธิในท้องนกยางด้วยเสียงเมฆด้วยเสียงเมฆ สพฺเพปิ เทวา เทวดาทั้งหลายมิได้เกิด ในครรภ์ สัตว์เกิดในครรภ์นี้มีสัณฐานต่างกัน ยถา มีครุวนาฉันใด ดุจมนุษย์ทั้งหลายทั้งสิ้น มหิยา จรนฺติ อันเที่ยวอยู่ในแผ่นดิน นานาวณฺเณน ด้วยเพศต่างๆ เกจิ ปูรโต บางหมู่นุ่งห่ม ปกหน้า บางจำพวกนุ่งห่มผ้าปกหลัง บางจำพวก นคฺคา เป็นเปลือย บางจำพวกนั่งขาวห่มขาว บางจำพวกทรงดอกไม้ บางจำพวกทรงผ้าสีเหลือง บางจำพวงเอาผ้าพันมวยผม บางจำพวก นุ่งห่มหนังสือ บางจำพวกนุ่งผ้าเปลือกไม้คากรองหุ้มห่อกายา บางจำพวกนุ่งจัมมาสารพัด หนังสัตว์ตามจะมี บางจำพวกเป็นฤๅษี นุ่งห่มผ้าใบไม้หุ้มห่อกาย นี่แหละมนุษย์ทั้งหลายนั้นมี ลักษณะต่างๆ กัน มหิยา จรนฺติ เที่ยวอยู่ในแผ่นดินฉันใด สัตว์ทั้งหลายเกิดในกำเนิดต่างกัน ดุจนรชาตทั้งหลายนั้น              คพฺภาวกฺกนฺติ สัตว์ทั้งหลายปฏิสนธิด้วยสามารถตระกูลนั้นประการใด              จตฺตาริ กุลานิ ได้แก่ตระกูลทั้ง ๔ คือ อัณฑชะตระกูลประการ ๑ สังเสทชะตระกูล ประการ ๑ ชลามพุชะตระกูลประการ ๑ อุปปาติกะตระกูลประการ ๑ สิริเป็นตระกูล ๔ เท่านี้              อัณฑชะตระกูลนั้นได้แก่ตระกูลสัตว์ทั้งหลายอันเกิดในฟอกฟัก เช่นไก่และนกเป็นต้น ชลาพุชะตระกูลนั้น ได้แก่ตระกูลแห่งสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในกกละเป็นคัพภเสวยยกะสัตว์ ได้ แก่มนุษย์สัตว์เดียรัจฉาน ๔ เท้า เช่นเนื้อและสุกรเป็นต้น สังเสทชะตระกูลนั้น ได้แก่ตระกูล สัตว์ที่เกิดในอบไอเหงื่อไคล มีเรือดไรเป็นต้น อุปปาติกะตระกูลนั้น ได้แก่ตระกูลแห่งสัตว์ที่เกิดขึ้น เอง ดุจดังว่าลอยมาเกิด ได้แก่เทพยดาให้ชั้นจาตุมมหาราชิการเป็นต้น              บรรดาสัตว์ทั้งหลาย จะอยู่ในประเภทใดและชาติใดก็ดี ถ้ามาเกิดในฟองฟักแล้ว เพศพรรณก็เป็นอัณฑชะอย่างเดียวกัน ที่เกิดมาเป็นชลามพุชะและสังเสทชะ อุปปาติกะ เพศพรรณแห่งสัตว์ทั้งหลายที่ตายจากตระกูลทั้งหลาย ดังวิสัชนามานี้ จะไปอุปปัตนาการ บังเกิดในตระกูลใด ก็มีกายเหมือนตระกูลนั้น ถ้าเกิดในอัณฑชะตระกูลก็ต้องเกิดแต่ไข่ ที่เกิดใน สังเสทชะตระกูลก็บังเกิดเป็นสังเสทชะ ที่ไปเกิดในชลามพุชะตระกูล ก็เกิดเป็นชลามพุชะ ที่ไป เกิดในอุปปาติกะตระกูล ก็บังเกิดเป็นอุปปาติกะ ตกว่าละเพศเดิมเสียกลับกลายไปตามตระกูล สิ้น เหมือนเนื้อนกอันสัญจรเข้าไปที่ข้างเขาเมรุคิรินทร์ ก็กลายเป็นสีทองไปฉะนั้น              อนึ่งเล่า ที่ว่าสัตว์ปฏิสนธิด้วยสามารถเชื้อเชิญนั้น ได้แก่ตระกูลอันมีศีลมีศรัทธามี เจตนาเป็นกุศล เทพบุตรใดบริบูรณ์ด้วยกุศล สมควรที่จะจุติมาบังเกิด นั่นแหละสมเด็จ อำมรินทราธิราชมีจิตเมตตาแก่ตระกูลนั้น จึงไปสู่สำนักแห่งเทพบุตรนั้น และอาราธนาวิงวอน ว่า มาริส ดูกรท่านผู้เนียรทุกข์ ท่านจงไปบังเกิดในตระกูลนั้นๆ เถิด เทพบุตรผู้จะจุติไปเกิดขึ้น รับปฏิญาณจึงไปเกิดในตระกูลนั้น ยาจนเหตุ เป็นเหตุท้าวสหัสเนตรเชื้อเชิญ มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานดุจมนุษย์ทั้งหลาย เป็นฝ่ายสัมมาทิฐิในพระบวช- พุทธศาสนา ปุญฺญกามา ปรารถนาจะให้เป็นกุศล จึงอาราธนานิมนต์สมณะ มโนภาวนียํ อันมีศีลอันดีเป็นที่เจริญใจ ให้เข้าไปสู่เคหาของอาตมา ด้วยใจเจตนาว่าสมณะรูปนี้ ได้ไปสู่ ตระกูลของอาตมาแล้ว สุขาวโห จะนำมาซึ่งสุขสวัสดิมงคลอันเลิศแก่ตระกูลของอาตมา ฉันใด ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐในภพแผ่นดิน สมเด็จอำมรินทราธิราชปรารถนาจะให้ตระกูลนั้นเป็น ประโยชน์เป็นผล ก็นิมนต์เชื้อเชิญเทพบุตรให้จุติมาเกิดในตระกูลนั้น เปรียบเหมือนบุรุษอัน ไปนิมนต์พระสมณะอันมีศีลนั้น นี่แหละลักษณะแห่งคัพภาวักกันติ คือลงปฏิสนธิด้วยอาราธนา เชื้อเชิญ สิ้นใจความเท่านี้              เมื่อพระนาคเสนถวายวิสัชนาเหตุปฏิสนธิ ๔ ประการแล้ว จึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบิตพระราชสมภาร สมโม อันว่พระสามนี้ สุวณฺณวณฺโณ มีสีสัน งามดังทอง มาเกิดในครรภ์นางปาริกาตาปสินีนั้น ท้าวโกสีย์ก็นิมนต์มาเกิด อนึ่ง พระสามนั้น มีอภิหารอันสั่งสมอบรมมามากแล้ว มารดาบิดาก็มีศีลมีกัลยาณธรรม ทั้งอยู่อาราธนาก็เป็น มเหสักขเทวราช อาศัยเจโตปณิธิกาตั้งใจแห่งท่านทั้ง ๓ ตามที่กล่าวมานี้ พระสามกุมาร ผู้มีสี สันวรรณสัณฐานอันงดงามจึงเกิดได้ ยถา มหาราช อนึ่งเล่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร พระองค์จงทรงฟังอุปมาอีก เปรียบปานดุจบุรุษผู้หนึ่ง กุสโล เป็นคนฉลาดหว่านพืชลงที่นา อันดี มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ดังอาตมาถาม พืชนั้นจะงามหรือว่าจะมีอันตราย ประการใด นะบพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระราชมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็น เจ้า พืชที่หว่านก็งามตระการจำเริญไป              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรผู้เป็นใหญ่ พระสุวรรณสาม บริบูรณ์ไปด้วยเหตุทั้งสามประการ งามเฉิดฉายหาอันตรายบิมิได้ อุปไมยเหมือนพืชนั้น อนึ่ง บพิตรพระราชสมภารได้ทรงพระสวนาการฟังบ้างหรือหาไม่ว่า ชนบทหนึ่งใหญ่มั่งคั่ง เกิด อันตรายฉิบหายด้วยจิตประทุษร้ายแก่พระฤๅษี              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า โยมได้ฟังว่า ชนบททั้ง หลายแห่งพระเจ้าทัณฑกะ และชนบททั้งหลายแห่งพระเจ้าเมชฌะ และชนบททั้งหลายแห่ง พระเจ้ากาลิงคะ และชนบทแห่งพระเจ้ามาตังคะนั้นฉิบหายกลายเป็นป่าไปด้วยจิตประทุษร้ายใน พระฤๅษี              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ชนบททั้งหลาย เป็นอันตราย ด้วยความคิดร้ายในพระฤๅษีมีอยู่อย่างนี้ ถ้าหากว่ามีความเลื่อมใสชื่นชม ยินดีในพระฤๅษีจะมีสุขบ้างหรือไม่              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ถ้าว่าชนบททั้งหลายมีจิต เลื่อมใสยินดีในพระฤๅษีแล้ว ชนบทนั้นไม่มีทุกข์ เป็นสุขนักหนา พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร พระสาม โพธิสัตว์นี้เป็นอิสินิมิต คือพระฤๅษีทั้งสองเสี่ยงให้เกิด แล้วเป็นทั้งเทพนิมิต คือพระอินทร์ นิมนต์ให้เกิด เป็นบุญนิมิต คือพร้อมด้วยบุญกุศล อนึ่งเล่า ดูรานะบิตรพระราชสมภาร เทพบุตรที่พระอินทร์นิมนต์ให้เกิดนี้ มี ๔ พระองค์ คือพระยากุสนราชองค์ ๑ ท้าวมหาปนาท องค์ ๑ พระสุวรรณสามองค์ ๑ พระเวสสันดรองค์ ๑ บพิตรพระราชสมภารพึงทราบพระทัย ด้วยประการดังนี้              สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดี ได้ทรงฟังพระนาคเสนวิสัชนามาฉะนี้ ไม่มี ความสงสัยก็ซ้องสาธุการว่า คัพภาวักกันติปัญหานี้ลึกล้ำคัมภีรภาพรกชัฏฟั่นเฝือเหลือที่ ธรรมกถึกจะแก้ไข ผิดจากพระผู้เป็นเจ้าไปแล้วเต็มทีอยู่ พระผู้เป็นเจ้ามาแก้ไขด้วยสันนิบาตให้ ประหลาดออกไป โยมเข้าใจแล้ว โยมจะกำหนดจดจำไว้ เพื่อกุลบุตรอันเกิดมาเป็นปัจฉิมา ชนตาในอนาคตกาลข้างหน้านั้น
คัพภาวักกัติปัญหา คำรบ ๖ จบเท่านี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๒๑๕ - ๒๒๓. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=100              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_100

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]