ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
สัพพัญญุตังปัตตปัญหา ที่ ๘
             ราช อาห สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาค- เสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา ตถาคโต สมเด็จพระตถาคตทศพลเจ้า สพฺพํ อกุสลํ ฌาป- ยิตฺวา เผาเสียซึ่งอกุศลทั้งปวงเสร็จสิ้นทีเดียวเจียวหรือ จึงสำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ อุทาหุ หรือว่าสมเด็จพระศาสดาจารย์เจ้า เผาอกุศลไม่หมดมีเศษอยู่ สมเด็จพระบรมครูจึง สำเร็จแก่พระสรรเพชญดาญาณประการใด              พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ขอถวายพระพร สมเด็จพระบรมโลกุตตมา- จารย์ญาณสัพพัญญูเจ้า เผาเสียซึ่งอกุศลทั้งปวงสิ้นเสร็จ จึงสำเร็จแก่พระสรรเพชญดาญาณ เหตุยกเสียจากกิริยาที่กระทำกรรมเป็นอกุศลไม่เหลืออยู่ ขาดสิ้นทีเดียว บพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ นาคเสนผู้ปรีชา สมเด็จพระบรมโลกนาถาศาสดาเสวยทุกขเวทนาอยู่บ้างหรือไม่เล่า              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพร สมเด็จพระบรมโลกนาถ ศาสดาเสวยทุกขเวทนาเมื่อสะเก็ดศิลากระเด็นมาถูกพระบาท บังเกิดห้อพระโลหิตขึ้นมาครั้ง หนึ่ง อีกครั้งหนึ่งบังเกิดพระอาพาธลงพระโลหิตที่บ้านเวฬุวคาม ชีวกโกมารภัจประกอบพระ โอสถเป็นยาประจุถวาย ด้วยความเลื่อมใสในพระองค์ อนึ่ง เมื่อบังเกิดพระวาโยกำเริบขึ้นมาใน พระสรีรกาย พระอานนท์ถวายอุทกังร้อนให้เสวย เพื่อระงับพระอาพาธที่กำเริบนั้น ขอถวาย พระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา พระผู้เป็นเจ้าว่ากับโยมว่า สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์เจ้า เผา เสียซึ่งอกุศลสิ้น ไม่มีที่กระทำให้เหลือเศษ จึงสำเร็จแก่พระสรรเพชญดาญาณ ถ้าฉะนั้นแล้ว ต้องการอะไรเล่า ที่พระองค์เจ้าเสวยทุกขเวทนาอาพาธเล่า ถ้าอกุศลสิ้นแล้ว ที่จะมีทุกขเวทนา อาพาธหามิได้ คำที่ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าเผาเสียซึ่งอกุศลสิ้นเสร็จ ได้สำเร็จแก่ สรรเพชญดาญาณ จะมิผิดหรือ ประการหนึ่งเล่า ถ้าว่าสมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์เจ้า เผาอกุศลเสร็จสำเร็จและได้ตรัสแก่สร้อยสรรเพชญดาญาณ คำที่ว่าสมเด็จพระโลกุตตมา- จารย์ยังเสวยทุกขเวทนาอาพาธนี้ จะมิผิดหรือ คำทั้งสองนี้ไม่ต้องกัน อยํ ปญฺโห อันว่า ปริศนานี้เป็นอุภโตโกฏิ ตฺวานุปฺปตฺโต มาถึงพระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เจ้าเจ้าจงระงับดับเสียซึ่ง ความสงสัย ณ กาลบัดนี้              เถโร พระนาคเสนเถราธิบดี จึงวิสัชนาซึ่งอุภโตโกฏิปัญหาว่า มหาราช ขอถวาย พระพรบพิตรพระราชสมภาร ทุกขเวทนาอันเป็นมูลแห่งอกุศลกรรมนั้น สมเด็จพระสรรเพชญ์ พุทธเจ้ามิได้เสวย เวทนาทั้งหลายย่อมเกิดแต่เหตุ ๘ ประการดังนี้ ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เหตุ ๘ ประการคือสิ่งใดเล่า ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ได้แก่วาตสมุฏฐาน ประการ ๑ ปิตตสมุฏฐานประการ ๑ เสมหสมุฏฐานประการ ๑ สันนิปาติกาประการ ๑ อุตุปริณามชาประการ ๑ วิสมปริหารชาประการ ๑ โอปักกมิกาประการ ๑ กัมมวิปากชา ประการ ๑ สิริเป็นเหตุ ๘ ประการฉะนี้ เวทนาย่อมบังเกิดด้วยเหตุ ๘ ประการเหล่านี้ ขอถวาย พระพร ที่โลกว่ากันว่าบุคคลเสวยเวนทาด้วยกรรมนี้ผิด หาจริงไม่ บพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา เวทนาที่เสวยทุกข์ด้วยเหตุ ๗ ประการ คือวาตสมุฏฐานประการ ปิตตสมุฏฐานประการ ๑ เสมหสมุฏฐานประการ ๑ สันนิปาติประการ ๑ อุตุปริณามชา ประการ ๑ วิสมปริหารชาประการ ๑ โอปักกมิกาประการ ๑ สิริเป็นเหตุ ๗ ประการดังนี้ เป็นกัมมสมุฏฐานเกิดแต่กรรมสิ้น จะได้พ้นกรรมไปหามิได้ พระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ขอถวายพระพร ถ้าฉะนั้นท่านจะไว้เป็น ส่วนๆ แต่ละส่วนมีลักษณะต่างๆ กันต้องการอะไรเล่า มหาราช ขอถวายพระพร วาโต ลมนั้นเล่ากำเริบด้วยเหตุ ๑๐ ประการ เหตุ ๑๐ ประการนั้นอย่างไร เหตุ ๑๐ ประการ คือ กำเริบด้วยเย็บประการ ๑ กำเริบด้วยร้อนประการ ๑ กำเริบด้วยอยากข้าวประการ ๑ กำเริบ ด้วยอยากน้ำประการ ๑ กำเริบด้วยบริโภคเหลือขนาดประการ ๑ กำเริบด้วยยืนนานนัก ประการ ๑ กำเริบด้วยตั้งความเพียรจนเกินไปประการ ๑ กำเริบด้วยวิ่งมากนักประการ ๑ กำเริบด้วยงานหนักนักประการ ๑ กำเริบด้วยกรรมวิบากประการ ๑ สิริประสมเป็น ๑๐ ประการด้วยกัน และเวทนาทั้งหลายนี้จะเกิดขึ้นในอดีตก็หาไม่ จะเกิดขึ้นในอนาคตก็หาไม่ ส่วนปิตตสมุฏฐานนั้นเล่า ปิตฺต แปลว่าดี กำเริบด้วยเหตุ ๓ ประการ เหตุ ๓ ประการนั้น อย่างไร คือเย็บนักประการ ๑ ร้อนนักประการ ๑ บริโภคอาหารไม่เสมอประการ ๑ สิริเป็น ๓ ประกอบด้วยกัน เสมหสมุฏฐานนั้น คือเสมหะกำเริบด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เย็บนัก ประการ ๑ ร้อนนักประการ ๑ บริโภคอาหารหนักกินประการ ๑ สิริเป็น ๓ ประการด้วยกัน อันเป็นส่วนแห่งตนๆ ให้บังเกิดขึ้นแก่คนทั้งหลาย ขอถวายพระพร อนึ่ง เวทนาที่เป็นอุตุปริ- ณามชานั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยความแปรปรวนแห่งฤดู เวทนาที่เป็นวิสมปริหารชา ย่อมเกิดขึ้น- ด้วยการรักษาอิริยาบถไม่สม่ำเสมอ เวทนาที่มีความเพียรเป็นปัจจัยเป็นเหตุเป็นกิริยาก็มี มี กรรมเป็นวิบากเกิดขึ้นด้วยอำนาจผลแห่งกรรมก็มี เวทนาที่มีกรรมเป็นวิบาก ย่อมเกิดด้วย สามารถแห่งกรรมที่สัตว์ได้กระทำไว้ในชาติปางก่อน เวทนาที่เกิดแต่กรรมวิบากมีน้อยนักหนา ที่เกิด แต่เหตุนอกนั้นมากกว่า ชนพาลที่ไม่มีวิจารณปัญญาทั้งหลาย ย่อมอ้างว่า เวทนาทั้งปวง เกิดแต่กรรมวิบากอย่างเดียว กรรมนั้นเว้นไว้แต่พระพุทธญาณ ไม่มีใครสามารถจะกำหนดรู้ได้ มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ที่อาตมภาพถวายพระพรไว้ว่า ศิลาอันเป็น สะเก็ดกระทบพระบาทสมเด็จพระโลกนาถ ให้พระองค์เสวยทุกขเวทนานี้ จะเป็นด้วยวาต- สมุฏฐานและปิตตสมุฏฐาน เสมหสมุฏฐาน สันนิปาติกา อุตุปริณามชา วิสมปริหารชาและ โอปักกมิกาอย่างไรนั้นหามิได้ สะเก็ดศิลากระทบพระบาทเข้านี้ ด้วยสามารถพระเทวทัตนั้นผูก เวรพระสัพพัญญูมามากว่าแสนชาติ พระเทวทัตคิดว่าอาตมาจะกลิ้งศิลานี้ให้ตกทับพระ พุทธเจ้า ให้ถึงแก่มรณาสัญ คิดแล้วพระเทวทัตก็กลิ้งศิลาลงมาเร็วพลัน อญฺเญ เทฺว เสลา ครั้งนั้นยังมีศิลาสองก้อน เข้ารับเอาศิลาที่พระเทวทัตกลิ้นลงมา เทฺว หตฺถา วิย เปรียบเหมือน รับไว้ด้วยมือทั้งสอง มิให้กลิ้งไปถูกต้องพระตถาคตได้ ศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งไปนั้นก็ ติดค้างอยู่บนศิลาทั้งสอง ครั้นกระทบกัน ศิลานั้นก็แตกเป็นสะเก็ดตกลงมาด้วยกัน สะเก็ด ศิลานั้นกระเด็นมากระทบพระบาทสมเด็จพระโลกนาถเจ้า ยังพระโลหิตห้อให้บังเกิด จึงได้ เสวยทุกขาเวทนา ทุกขเวทนานี้เกิดด้วยกรรมวิบากก็ว่า เกิดด้วยพระเทวทัตกระทำก็ว่า และ เวทนาที่จะบังเกิดด้วยสิ่งอื่น คือมูลแห่งอกุศลที่พระองค์กระทำแล้วแล้วหามิได้ และจะว่าเกิดด้วย วาตสมุฏฐานเป็นต้นก็หาบ่มิได้ และจะเกิดด้วยเหตุ ๗ ประการ มีวาตสมุฏฐานเป็นต้นนี้เข้า แซมแทรกก็หามิได้ จะว่าเป็นด้วยวิบากแห่งอกุศลกรรมหรือ หรือจะว่าเกิดแต่พระเทวทัต กระทำก็ตามแต่จะว่าเถิด อุปมาฉันใด อุปไมยดุจบุรุษผู้หนึ่งจะกระทำนา มีผู้หนึ่งเอ็นดูให้นา มี ผู้หนึ่งเมตตาให้ข้าวปลูก ครั้นบุรุษผู้นั้นได้ถากไถสำเร็จการแล้ว จึงเอาข้าวปลูกที่เขาให้นั้น หว่านลงในนา ครั้นนานมา พืชนั้นไม่จำเริญจะโทษเอาใคร จะโทษผู้ให้เนื้อนาว่าให้เนื้อนาไม่ดี หรือ หรือจะโทษเอาผู้ให้ข้าวปลูกว่าให้ข้าวปลูกไม่ดีก็ตามที่จะว่า ความข้อนี้อุปมาฉันใด เบื้อง ว่าสมเด็จพระบรมโลกนาถ เจ็บพระบาทเสวยทุกขเวทนา เอสา เวทนา เวทนานี้จะว่าเกิด ด้วยกรรมวิบากหรือ หรือจะเกิดด้วยกิริยาที่ว่าพระเทวทัตกระทำ ก็ตามแต่จะเปรียบความ เหมือนข้างหนึ่งให้นาข้างหนึ่งเมตตาให้พืชข้าวปลูก นตฺถญฺญา เวทนาเวทนานี้เป็นเวทนา เกิดด้วยเหตุอื่นหามิได้ อนึ่ง จะอุปไมยถวายบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจบุรุษผู้หนึ่งบริโภค อาหารเข้าไปไม่สบาย ชายนั้นจะโทษเอาท้องว่าท้องไม่สบายเองหรือ หรือว่าชายนั้นจะโทษเอา อาหาร ก็ตามที่จะว่า มหาราช ขอถวายพระพร เวทนานี้ก็เหมือนกัน จะว่าเกิดแต่กรรม- วิบากก็ว่า จะว่าเกิดแต่กิริยาที่พระเทวทัตกระทำก็ว่า นตฺถญฺญา จะว่าเวทนาเกิดแต่เหตุอัน อื่นหามิได้ ประการหนึ่งเล่า อันว่าเวทนาเป็นกัมมวิปากชา คือที่เกิดแต่ผลแห่งอกุศลกรรมที่ พระองค์กระทำไว้แต่หนหลังนั้น และเวทนาที่เกิดด้วยวิสมปริหารนี้ ไม่มีเป็นอันขาดแก่พระ โลกนาถเจ้า และเวทนาเกิดด้วยเหตุ ๖ นอกกว่านี้ คือนับแต่วาตสมุฏฐานเป็นต้น ตราบเท่า จนโอปักกมิกาอาพาธนั้นย่อมมีแก่พระองค์ แต่มิอาจกระทำยำยีให้พระองค์สิ้นสังขารได้ บพิตร- พระราชสมภารพึงสันนิษฐานเข้าพระองค์ด้วยประการดังนี้ มหาราช ขอถวายพระพร ประการหนึ่งในจตุมหาภูตกายแห่งสมเด็จพระมหากรุณานี้ ย่อมมีเวทนาที่เป็นอิฏฐารมณ์และ อนิฏฐารมณ์ คือเป็นสิ่งที่พึงใจและไม่พึงใจ กับดีและชั่วตกลงไป เปรียบดุจก้อนดินอันคน ทั้งหลายโยนไปบนอากาศแล้วตกลงบนพื้นปบพี ก้อนเดินนั้นตกลงมาถูกผืนดิน ด้วยกรรม หนหลังของแผ่นดินนั้นหรือประการใด ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ นาคเสนผู้มีปรีชา แผ่นดินจะมีเจตนาที่จะกระทำกุศลอกุศลด้วยเหตุอันใดหามิได้ และก้อนดิน ทิ้งขึ้นไปตกลงมาเหนือแผ่นดินด้วยเหตุเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่กรรมที่แผ่นดินกระทำไว้ในก่อน              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชมาภาร แผ่นดินเป็น ฉันใด พระตถาคตเจ้า บรมบพิตรก็พึงทรงเห็นว่าเป็นฉันนั้น สะเก็ดตกลงถูกพระบาทของ พระองค์ โดยพระองค์มิได้กระทำกรรมอันใดอันหนึ่งไว้ในกาลก่อนก็เป็นเหมือนก้อนดินตกลง เหนือแผ่นดิน โดยไม่ได้กระทำกรรมไว้ในชาติก่อนฉะนั้น นี่แหละบพิตรพระราชสมภาร พึง เข้าพระทัยเถิดว่าสะเก็ดศิลามากระทบพระบาทสมเด็จพระบรมโลกนาถนี้ใช่ว่าจะเป็นด้วยกรรม พระองค์เจ้ากระทำมาหาบ่มิได้ อนึ่งเปรียบปานดุจหนึ่งว่า คนทั้งหลายอันทำลายและขุดซึ่ง แผ่นดิน แผ่นดินนั้นได้กระทำกรรมหนหลังไว้หรือ บพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการว่า น หิ ภนฺเต ข้าแต่พระผู้ เป็นเจ้าผู้เจริญ แผ่นดินนั้นจะว่าได้กระทำกรรมอันใดไว้แต่ก่อนหามิได้              พระนาคเสนถวายพระพรว่า สะเก็ดศิลากระทบพระบาทพระชินสีห์เจ้านั้น จะ เป็นด้วยกรรมที่พระองค์กระทำไว้แต่ก่อนหามิได้ ประการหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประชวรลงพระโลหิตนั้น จะเป็นด้วยกรรมหนหลังอันหนึ่งก็หามิได้ เป็นด้วยอาพาธนั้นมี สันนิบาตเป็นปัจจัยอย่างเดียว ประการหนึ่ง อาพาธสิ่งไรที่เกิดในกายและจิตของสมเด็จพระ พิชิตมารเจ้านั้น จะได้เกิดด้วยกรรมของพระองค์ก็หามิได้ และอาพาธนั้นเกิดด้วยเหตุ ๖ ประการเหล่านั้น นับแต่วาตสมุฏฐานไปจนถึงโอปักกมิกาสมุฏฐาน มหาราช ขอถวายพระพร สมเด็จพระผู้มีพระภาคพิชิตมารโมลีผู้ล่วงเสียซึ่งเทพยดา มีพุทธฎีกาโปรดประทานเทศนาไว้ใน โมลิยสีวกเวยยากรณ์ในสังยุตตนิกาย เป็นดังดวงพระราชลัญจกรแห่งสมเด็จบรมกษัตราธิราช อันประทับไว้ มีความว่า ดูกรสีวกพราหมณ์ เวทนาทั้งหลายบางเหล่าที่มีดีเป็นสมุฏฐานก็ดี มี เสมหะเป็นสมุฏฐานก็ดี มีลมเป็นสมุฏฐานก็ดี มีสันนิบาตเป็นปัจจัยก็ดี เป็นอุตปริณามชาก็ดี เป็นวิสมปริหารชาก็ดี เป็นโอปักกมิกาก็ดี เป็นกรรมวิปากชาก็ดี ย่อมบังเกิดขึ้นในร่างกายนี้ เวทนาทั้งหลายเหล่านั้นบังเกิดขึ้นอย่างไร ท่านพึงรู้โดยแจ่มแจ้งด้วยตนเองตามธรรมดาอย่างนั้น ความรู้แจ้งเช่นนั้น เป็นสัจสมมุติของสัตว์โลก สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีวาทะและ ความเห็นในเวทนาเหล่านั้นว่า บุรุษบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างในอย่างหนึ่ง เป็นสุขหรือเป็น ทุกข์หรือเป็นแต่กลางๆ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข เวทนาทั้งปวงนั้นมีกรรมที่ทำไว้แล้วในกาลก่อน เป็นต้นเหตุดังนี้ สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายนั้นย่อมแล่นล่วงสิ่งที่ตนรู้แล้วเอง และสิ่งที่เขา สมมุติว่าเป็นของจริงในโลกเสีย เพราะเหตุนั้น เราผู้ตถาคตจึงกล่าวว่า ความเห็นของสมณะ และพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นผิดเป็นมิจฉาทิฐิดังนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาโปรดประทานไว้ใน สังยุตตนิกายฉะนี้ มหาราช ขอถวายพระพร สมเด็จพระพิชิตมารเจ้าเผาเสียซึ่งอกุศลสิ้นไป ไม่มีเศษ จึงได้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณ จะได้เสวยเวทนาเกิดแต่กรรมวิบากทั้งสิ้นนั้นหามิได้ ธาเรหิ พระองค์จงทรงพระทัยดุจนัยที่วิสัชนามานี้              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชาเฉลิมกษัตริย์ มีพระราชโองการตรัสว่า สาธุ สาธุ สมฺ- ปฏิจฺฉามิ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ตามที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวมานี้ดีนักหนา โยมจะรับคำของพระผู้ เป็นเจ้าจำไว้ในบัดนี้
ภควโต นิรวเสสํ อกุสลํ เฉตฺวา สพฺพญฺญุตํ ปตฺตปญฺหา
สัพพัญญุตังปัตตปัญหา คำรบ ๘ จบเพียงนี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๒๒๗ - ๒๓๒. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=102              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_102

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]