ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
ฐปนียพยากรณปัญหา ที่ ๒
             ราชา สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้ประกอบด้วยปรีชา ภาสิตํ เจตํ ภควจา สมเด็จพระชิเนน- ทราธิบดีมีพระพุทธฎีกาตรัสไว้ว่า ตถาคตนี้จะปิดบังความเป็นอาจารย์สั่งสอนธรรมหามิได้ คือ พระองค์ตรัสว่า พระองค์เป็นอาจารย์บอกธรรม ครั้นนานมาเล่า พระเถรเจ้าผู้เป็นบุตรแห่ง นางพราหมณีชื่อว่ามาลังฆา ทูลถามอรรถปัญหา พระองค์เจ้าก็มิได้ทรงวิสัชนา ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า อันประกอบไปด้วยปรีชา เอโส ปญฺโห อันว่าปัญหานี้อาศัยอรรถ เป็นแท้ แต่ส่วนทั้งสอง คือมีสองแง่ไม่แปรผัน อชานนฺเตน วา เป็นเพราะพระตถาคตเจ้า ไม่ทรงทราบจึงไม่แก้หรือ คุยฺหรกรเณน วา หรือว่าเป็นเพราะพระบรมครูทรงทราบอยู่ แต่ไม่ วิสัชนา ด้วยมีพระพุทธประสงค์จะปิดบังหวงแหนพระธรรม นี้แหละปัญหานี้อาศัย อรรถสองประการนี้เป็นแท้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระมุนินทร์ปิ่นเกล้าตรัสไว้ว่า พระองค์เป็นอาจารย์บอกธรรมไม่ปิดบังหวงแหวน ไฉนพระองค์จึงไม่ทรงแก้ปัญหาของพระเถร- เจ้า ผู้เป็นบุตรแห่งมาลังฆาพราหมณีเล่า หรือพระองค์ไม่ทรงทราบ จึงไม่ทรงวิสัชนา เมื่อ พระองค์ทรงทราบอยู่ แต่ไม่ทรงวิสัชนา ถ้าเช่นนี้ พระองค์เป็นอันปิดบังหวงแหนธรรม นี่แหละ ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าโปรดวิสัชนาให้แจ้งในกาลบัดนี้              พระนาคเสนจึงถวายวิสัชนาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระพิชิตมารตรัสว่า พระองค์เป็นอาจารย์บอกธรรมไม่ปิดบังหวงแหน พระองค์ตรัส ฉะนี้ ครั้นนานมา พระเถรเจ้าผู้เจ้าบุตรนางมาลังฆาพราหมณีทูลถามปัญหา พระองค์ไม่ทรง วิสัชนาให้แจ้ง ซึ่งพระองค์ไม่ทรงวิสัชนานั้น เพราะพระองค์ไม่ทรงทราบก็หามิได้ หรือ พระองค์ทรงทราบอยู่แต่ไม่ทรงวิสัชนา ด้วยมีพระประสงค์จะปิดบังหวงแหนพระธรรมก็หา มิได้ มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรผู้ประเสริฐ จตฺตาริมานิ อันลักษณะแห่งการวิสัชนา กล่าวแก้พยากรณ์ปัญหา พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้เป็น ๔ ประการ กตมานิ จตฺตาริ ลักษณะแห่งพยากรณ์ ๔ ประการนี้ เป็นไฉน คืออันใดบ้าง ลักษณะแห่งพยากรณ์ ๔ ประการ นั้น เอกํสพฺยากรณีโย คือเมื่อเขาถามมาต้องกล่าวแก้พยากรณ์ไปอย่างเดียวโดยแท้ เรียกว่า เอกังสพยากรณียปัญหาประการ ๑ วิภชฺชพฺยากรณีโย ต้องหยิบแยกแจกออกกล่าวแก้ พยากรณ์เป็นส่วนๆ เรียกว่า วิภัชชพยากรณียปัญหาประการ ๑ ปฏิปุจฺฉาพฺยากรณีโย ต้องอนุโยคย้อนถามเสียก่อนแล้วจึงกล่าวแก้พยากรณ์ เรียกว่า ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ประการ ๑ ฐปนีโย ปัญหาอันใดถ้าพยากรณ์ไป มีแต่โทษหาประโยชน์มิได้ ก็ต้องงดเสีย ไม่ พยากรณ์ เรียกว่า ฐปนียปัญหาประการ ๑ สิริเป็น ๔ ประการด้วยกันฉะนี้ กตโม จ มหาราช เอกํสพฺยากรณีโย ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ ปัญหาเช่นไรเล่าเรียกว่าเอกังสพยากรณียปัญหา นามรูปํ อนิจฺจนฺติ เอกํสพฺยากรณีโย ขอถวายพระพร คือปัญหาที่ถามถึงสิ่งที่ควรจะแก้ได้ โดยสะดวกไม่อยากเย็นอะไร เช่นถามว่า นามรูปไม่เที่ยงหรือ เวทนาไม่เที่ยงหรือ สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยงหรือ ดังนี้เรียกว่าเอกังสพยากรณียปัญหา เป็นปัญหาที่ต้องกล่าวแก้พยากรณ์ ได้ส่วนเดียว กตโม วิภชฺชพฺยากรณีโย ปัญหาเช่นไรเรียกว่าวิภัชชพยากรณียปัญหา อนิจฺจํ รูปนฺติ วิภชฺชพฺยากรณีโย ขอถวายพระพร คือปัญหาที่ถามกลับลักษณะถ้อยคำ เช่นถามว่า สิ่งที่ไม่เที่ยงได้แก่รูปหรือ ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหรือ ดังนี้เรียกว่า วิภัชช- พยากรณียปัญหา เป็นปัญหาที่ต้องหยิบแยกออกกล่าวแก้พยากรณ์ กตโม ปฏิปุจฺฉาพฺยากร- ณีโย ขอถวายพระพร ปัญหาเช่นไรเรียกว่า ปฏิปุจฉาพยากรณีปัญหา กินฺนุ โข จกฺขุนาสนฺนํ วิชานาตีติ ขอถวายพระพร คือปัญหาที่ควรซักไซ้ไล่เลียงเสียก่อนแล้วจึงจะกล่าวแก้ เช่นถาม ว่า บุคคลย่อมรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ทั้งปวงด้วยจักขุแลหรือ ดังนี้ เรียกว่าปฏิปุจฉาพยากรณ์ปัญหา เป็นปัญหาที่ต้องอนุโยคย้อนถามให้ได้ความแจ่มแจ้งเสียก่อน แล้วจึงกล่าวแก้พยากรณ์ต่อ ภายหลัง กตโม ฐปนีโย ขอถวายพระพร ปัญหาเช่นไรเรียกว่า ฐปนียปัญหา สสฺสโต โลโกติ ฐปนีโย ขอถวายพระพร คือปัญหาที่ถามถึงเหตุภายนอกพระศาสนา อันหาประโยชน์มิได้ ไม่ควรจะกล่าวแก้ เช่นถามว่า โลกเที่ยงหรือ โลกไม่เที่ยงหรือ โลกมีในระหว่างหรือ โลกมีใน อากาศอันมิใช่ระหว่างหรือ โลกมีในระหว่างและโอกาสมิใช่ระหว่างหรือ โลกจะมีในระหว่างก็ใช่ ในโอกาสอันมิใช่ระหว่างก็มิใช่หรือ ชีวิตเป็นอย่างอื่นหรือ สรีระเป็นอย่างอื่นหรือ เบื้องหน้าแต่ นิพพานแล้ว พระตถาคตมีอยู่หรือ พระตถาคตไม่มีหรือ พระตถาคตมีหรือไม่มี พระตถาคตจะ มีก็มิใช่ จะไม่มีก็มิใช่ เช่นนั้นหรือ ปัญหาทั้งหลายที่กล่าวมานี้แล เรียกว่าปฐนียปัญหา เป็น ปัญหาควรงดเสีย ไม่ควรจะกล่าวแก้พยากรณ์ มหาราช ดูรานะบพิตรพระพราชสมภาร พระ เถรเจ้าผู้มาลังฆบุตร ทูลถาม ฐปนียปัญหาดุจวิสัชนามานี้ สมเด็จพระชินสีห์จึงทรงงดเสียไม่กล่าว แก้ ด้วยทรงเห็นว่า ถึงแม้จะกล่าวแก้ก็ไม่มีเหตุการณ์อันใดที่จะแสดง ปัญหานั้นเป็นอันหาผล หาประโยชน์มิได้เลย ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ ประการหนึ่งเล่า มหาราช ขอถวายพระพร สมเด็จพระมุนินทรบรมโลกุตตมาจารย์ เมื่อไม่มีเหตุมีการณ์แล้ว พระองค์จะมีพระดำรัสนั้น เป็นอันว่าหามิได้ ต่อเมื่อมีเหตุมีปัจจัยแล้ว พระองค์จึงมีพระดำรัสตรัสออกไป ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ ได้ทรงสดับดังนั้นก็สิ้นสงสัย มีพระทัยโสมนัสปรีดาตรัสว่า สาธุ ภนฺเต ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาถูกต้องนักหนา โยมขอรับเอาไว้ดุจนัย ที่พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานั้นทุกประการในกาลบัดนี้
ฐปนียพยากรณปัญหา คำรบ ๒ จบเพียงนี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๒๔๐ - ๒๔๒. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=106              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_106

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]