ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
สติลักขณปัญหา ที่ ๑๒
             ขณะนั้นพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสถามด้วยลักษณะแห่งสติ ต่อไปว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า สตินี้เล่ามีลักษณะประการใด              พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร สติมีลักษณะ ๒ ประการ คือ อปิลาปนลักขณะสติ ๑ อุปคัณหณลักขณาสติ ๑              สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลิทน์มีพระราชโองการซักถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาค เสนผู้มีปัญญาปรีชา อปิลาปนลักขณาสตินั้นประการใด              พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร อปิลาปนลักขณาสตินั้น คือ อารมณ์ให้ระลึกไปในธรรมทั้งหลายคือ เตือนว่า สิ่งนั้นดีสิ่งนั้นชั่ว สิ่งนี้ไม่เป็นประโยชน์ สิ่งนี้ เป็นโทษ สิ่งนี้เป็นคุณ สิ่งนี้ขาวสิ่งนี้ดำ เตือนอารมณ์ให้ระลึกในธรรมทั้งหลายนี้ว่า ธรรมสิ่งนี้ เป็นสติปัฏฐาน ๔ ธรรมสิ่งนี้เป็นสัมมัปปธาน ๔ ธรรมสิ่งนี้เป็นอิทธิบาท ๔ ธรรมสิ่งนี้เป็น อินทรีย์ ๕ ธรรมสิ่งนี้เป็นพละ ๕ ธรรมสิ่งนี้โพชฌงค์ ๗ ธรรมสิ่งนี้เป็นอัฏฐังคิกมรรค ๘ ประการ ธรรมสิ่งนี้เป็นสมถกรรมฐาน ธรรมสิ่งนี้เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ธรรมสิ่งนี้เป็นฌาน เป็นสมาบัติ เป็นวิชชา เป็นวิมุตติ เป็นกองจิตกองเจตสิก เมื่อโยคาวจรได้อปิลาปนลักขณาสติ เตือนอารมณ์ให้ระลึกถึงธรรมดังนี้ ก็มิได้ส้องเสพซึ่งธรรมอันมิควรจะส้องเสพ กลับส้องเสพซึ่ง ธรรมควรจะส้องเสพดังนี้ ชื่ออปิลาปนลักขณาสติ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสนิมนต์พระนาคเสนให้กระทำ อุปมา              พระนาคเสนจึงเถรวาจาอุปมาถวายว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานดุจภัณฑาคาริกบุรุษผู้หนึ่งเป็นชาวคลังของบรมจักร ย่อมทูลบรมจักรตักเตือนให้ ระลึกถึงสมบัติทุกเช้าเย็น ทูลว่าเครื่องประดับช้างเท่านั้น ม้าเท่านั้น รถเท่านั้น พลเดินลำลอง เท่านั้น ทองเท่านั้น เงินเท่านั้น ยถา มีครุวนาฉันใด อปลาปนลักขณาสตินี้ไซร้ อุปฺปชฺชมานา เมื่อบังเกิดก็เตือนอารมณ์ให้ระลึกถึงปฏิภาคธรรมทั้งหลาย คือกุศลอกุศลบาปบุญคุณโทษ เปรียบดุจสีขาวกับดำ และเตือนอารมณ์ให้ระลึกว่า ธรรมสิ่งนี้คือสติปัฏฐาน เป็นอาทิฉะนั้น ก็ ย่อมส้องเสพซึ่งธรรมอันควรจะเสพ อปิลาปนลักขณาสตินี้เตือนอารมณ์ให้ระลึกไปใน เบื้องหน้าเบื้องหลัง เหมือนชาวคลังระลึกทูลเตือนบรมจอมจักรพรรดิให้ระลึกถึงสมบัตินั้น ขอถวายพระพร ขณะนั้นพระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลนครก็เห็นสมควรด้วยอุปมาในกาลนั้น ราชา สมเด็จ พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็น เจ้าผู้ปรีชา อันว่าอุปคัณหณลักขณาสตินั้น มีลักษณะเป็นประการใด              พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร อุปคัณ- หณลักขณาสตินั้น อุปฺปชฺชมานา เมื่อจะบังเกิดในสันดานนี้ ชักชวนให้ถือเอาคติในธรรมอันดี พระโยคาวจรเจ้าเมื่ออุปคัณหณลักขณาสติบังเกิดในสันดาน ย่อมพิจารณาว่า ธรรมสิ่งนี้มีอุปการ ธรรมสิ่งนี้หาอุปการมิได้ ก็นำเสียซึ่งธรรมอันมิได้เป็นประโยชน์ถือเอาธรรมอันเป็นประโยชน์นำ เสียซึ่งธรรมอันมิได้เป็นอุปการ ถือเอาแต่ธรรมอันเป็นอุปการ ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ผู้ประเสริฐ อุปคัณหณลักขณาสตินั้นมีลักษณะละเสียซึ่งสิ่งอันชั่ว ถือเอาแต่สิ่งอันดีดังนี้แหละ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นประชากร มีสุนทรพจนารถอาราธนาว่า นิมนต์พระผู้เป็น เจ้าอุปมาให้แจ้งก่อน              พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานดุจ นายประตูของบรมกษัตริยาธิราชถ้าเห็นผู้ใดประหลาดเข้าไปสู่ประตูพระราชวังนั้น ก็ห้ามเสีย มิให้เข้าไป ผู้ใดที่เป็นอุปการแก่บรมกษัตริย์เจ้า คือ ข้าเฝ้าผู้ใหญ่ผู้น้อยนั้นก็ปล่อยให้เข้าไปสู่ พระราชฐาน นายประตูเฝ้าพระทวารกำจัดเสียซึ่งคนอันใช่ข้าเฝ้า ถือเอาแต่ที่ข้าเฝ้าให้เข้าไปสู่ พระราชฐานนั้น ยถา มีครุวนาฉันใด อุปคัณหณลักขณาสตินั้น ถือเอาแต่ธรรมอันเป็นคุณ เว้นเสียซึ่งธรรมอันมิได้เป็นคุณ ดุจนายประตูอันห้ามเสียซึ่งคนใช่ข้าเฝ้า ถือเอาแต่ข้าเฝ้าที่คุ้น เคยให้เข้าไปสู่พระราชฐาน นี่แหละพระโยคาวจรเจ้ามีสติเป็นอุปคัณหณลักขณาสติเว้นเสียซึ่ง สิ่งอันเป็นโทษถือเอาซึ่งธรรมอันเป็นประโยชน์เป็นคุณ ชื่อว่ามีสติเป็นอุปคัณหณลักขณาสติ สมด้วยพระพุทธฎีกา สมเด็จพระบรมนายกโลกนาถศาสดาจารย์ประทานพระสัทธรรมเทศนา ว่า สติ จ โข อหํ ภิกฺขเว สพฺพตฺถิกํ วทามิ พระพุทธฎีกาตรัสว่า ภิกฺขเว ดูรานะภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตนี้สรรเสริญว่า สติให้สำเร็จประโยชน์นำเสียซึ่งโทษ นี่แหละพระพุทธฎีกาโปรดไว้ฉะนี้ ขอถวายพระพร              ส่วนสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร ได้ทรงพระนาคเสนพยากรณ์แก้ปัญหา จึง ตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้ากล่าวนี้สมควรแล้ว
สติลักขณปัญหา คำรบ ๑๒ จบเท่านี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๕๘ - ๕๙. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=16              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_16

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]