ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
กุมภวรรค ที่ ๗
             สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นสาคลราชมีพระราชโองการประภาษถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้ปรีชาเฉลิมปราชญ์ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่าองค์อัน ๑ แห่งหม้อนั้นประการใด              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ผู้มีศักดิ์เป็น อัครกษัตริย์อันประเสริฐ กุมฺโก นาม ชื่อว่าหม้อถ้าใส่น้ำเปี่ยมปากแล้ว น สทฺทยติ ถึงคนจะ เคาะก็มิได้กระทำเสียงกึกก้อง ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าเมื่อมีพระบารมีในพระ ไตรปิฎกและพระโลกุตรธรรมสำเร็จแล้ว จะได้ประกาศอ้างอวดอึงไปหามิได้ จะได้เป็นแก่ลาภ สักการะอันเกิดแต่พระไตรปิฎกและพระโลกุตรธรรมนั้นก็หามิได้ จะได้มีมานะถือว่า อาตมารู้ก็ หามิได้ กำจัดเสียซึ่งมานะและความกระด้างให้สิ้นจากสันดาน มีจิตเป็นอุลุภูตะ มิได้อวดอ้าง ตนอื้ออึงไป ดุจหม้ออันเปี่ยมไปด้วยน้ำอันมิได้กระทำเสียงฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์อัน ๑ แห่ง หม้อ ยุติด้วยพระพุทธฎีกา ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธสัพพัญญูบรมครูเจ้าตรัสไว้ว่า                                        ยทูนํ ตํ สทฺทยติ ยํ ปูรํ สนฺตเมว ตํ                                        อฑฺฌกุมฺโภปโม พาโล รหโท ปูโรว ปณฺฑิโต              มีความว่า หม้อใบใดบกพร่องมิได้ใส่น้ำให้เต็ม หม้อใบนั้นแลมีเสียงมี่ก้องนัก หม้อใด ใส่น้ำไว้เต็ม หม้อใบนั้นย่อมเงียบเสียงสงบอยู่ คนอันธพาลท่านกล่าวไว้ว่าดุจหม้ออันมีน้ำได้ครึ่งหนึ่ง ย่อมจะมีเสียงสนั่นลั่นไป ส่วนว่านักปราชญ์นั้นไซร้ ดุจหม้อน้ำอันเต็ม จะได้อวดอ้างคุยโอ้หามิ ได้ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ นาคเสนผู้ประเสริฐ อันว่าองค์ ๒ แห่งกาลักน้ำนั้นประการใด              พระนาคเสนจึงวิสัชนาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ กาฬายโส นาม ชื่ออันว่ากาลักน้ำนั้น สุปิโต ย่อมดูดอุทกังขึ้นมา ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็ พึงดูดดื่มซึ่งฉันทอัธยาศัย นำไปด้วยโยนิโสมนสิการ ดุจกาลักน้ำ ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่ง กาลักน้ำเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ขอถวายพระพร กาฬายโส ธรรมดาว่กาลักน้ำ นั้น บุคคลดูดเข้าทีเดียวแล้วก็ดูดน้ำนั้นมากไป จะได้คายน้ำเสียหามิได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้ายิ่งประสาทศรัทธาเลื่อมใสว่า อุฬาโร พุทฺโธ คุณแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า อุฬารเลิศยิ่ง สฺวากฺขาโต ธมฺโม อันหนึ่งคุณแห่งพระธรรมนั้น สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าตรัส เทศนาเป็นอันดี สุปฏิปนฺโน สงฺโฆ และพระอริยสงฆ์ทรงคุณ คือปฏิบัติอันดีดีงนี้ แล้วส่อง ปัญญาพิจารณาไปว่า รูปํ อันว่ารูปธรรมในกายนี้ อนิจฺจํ ไม่เที่ยง เวทนา อันว่าเวทนา อนิจฺจา ไม่เที่ยง สัญญาก็ไม่เที่ยง สังขารก็ไม่เที่ยง วิญญาณก็ไม่เที่ยง ครั้นเห็นดังนี้แล้วก็มิได้กลับกลอก ดุจกาลักน้ำอันบุคคลดูดทีเดียวแล้วก็ดูกน้ำได้ร่ำไปฉันนั้น น่แหละเป็นองค์แห่งกาลักน้ำ คำรบ ๒ ยุติด้วยพระพุทธฎีกาที่ตรัสพระธรรมเทศนาไว้ว่า                           ทสฺสนมฺหิ ปุริโส ธิโร นโร                           อริธมฺเม นิยโต วิเสสคู                           น ปเวธติ อเนกภาคโส                           สพฺพโต จ มุกภาวา ตเถว โส              แปลว่า บุรุษที่เป็นนักปราชญ์ในเพราะทัศนะเพื่อยังคุณธรรมให้วิเศษและ เที่ยงใน อริยธรรม พึงยังคุณธรรมให้วิเศษมิได้หวาดไหว โดยอเนกภาคด้วยประการทั้งปวง เพราะปสาทะ ศรัทธาเลื่อมใสอันเป็นประธาน ฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็ยังคุณธรรมให้วิเศษ และมิได้หวั่นไหว เหมือนอย่างนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ นาคเสนผู้ปรีชาเฉลิมปราชญ์ อันว่าองค์ ๓ แห่งฉัตรนั้น ประการใด              พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้ประเสริฐ ฉตฺตํ นาม ธรรมดาว่าฉัตร บุคคลย่อมกั้นไว้เหนือศีรษะ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้า ก็พึงปฏิบัติจิตในเบื้องบนแห่งกิเลส ดุจฉัตรฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งฉัตรเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาฉัตรย่อมอุปถัมภ์ในเบื้องบนศีรษะให้ร่มสบาย ยถา ฉันใด ฝ่ายพระโยคาวจรเจ้าก็พึง อุปถัมภ์แก่โยนิโสมนสิการปัญญา ดังฉัตรฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งฉัตรคำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่าฉัตรนั้นย่อมกางกั้นซึ่งแดดและฝนได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงตั้ง อารมณ์กำจัดเสียซึ่งกิเลส คือเพลิง ๓ ประการ อย่าพึงถือตามถือตามถ้อยคำสมณพราหมณาจารย์ ที่ หนาไปด้วยทิฐิมีประการต่างๆ และมีวาทะต่างๆ ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งฉัตร คำรบ ๓ ยุติด้วยคำที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเจ้ากล่าวไว้ว่า ยถาปิ ฉตฺตํ วิปุลํ อจฺฉิทฺทํ ถิรสํหิตํ                                        วาตาตปํ นิวาเรติ มหตี เมฆวุฏฺฐิโย                                        ตเถว พุทฺธปุตฺโตปิ สีลฉตฺตธโร สุจิ                                        กิเลสวุฏฺฐึ วาเรติ สนฺตาปํ ติวิธคฺคโย              แปลความตามพระคาถาว่า ฉตฺตํ อันว่าฉัตรคือร่ม วิปุลํ ไพบูลย์ อจฺฉิทฺทํ หา ช่องทะลุมิได้ ถิรสํหิตํ ถือกั้นไว้มั่นคง วาตาตปํ นิวาเรติ อาจกั้นลมและแดดและฝนเป็น อันมากได้ ยถา ฉันใด พุทฺธปุตฺโตปิ แม้อันว่าพระพุทธบุตร สุจิ มีจิตสะอาดเป็นกุศล สีลน- ฉตฺตธโร ทรงไว้ซึ่งฉัตรคือศีล วาเรติ กั้นเสีย กิเลสวุฏฺฐึ ซึ่งฝนคือกิเลส วาเรติ กั้นเสีย สนฺตปํ ติวิธคฺคโย ให้ดับเสียซึ่งความร้อนกล่าวคือเพลิง ๓ ประการ ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา อันว่าองค์ ๓ แห่งนานั้นเป็นประการใด              พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐธรรม ดาว่านานั้น ต้องประกาอบด้วยเหมือง บุคคลได้อาศัยวิดน้ำไปแต่เหมืองนั้น เลี้ยงต้นข้าวให้ งอกงาม ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าผู้ประพฤติสุจริต ก็ต้องประกอบด้วยหมืองคือ วัตรปฏิบัติฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งนาเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร นานั้นบุคคล ย่อมยกคันสำหรับให้กู้และกักน้ำไว้เลี้ยงต้นข้าว ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็ต้อง ประกอบด้วยคันคือศีล สำหรับให้รักษาสมณธรรม ถือเอาซึ่งพระสามัญผล ๔ ดุจคันนา ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งนา คำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่านาย่อมยังเจ้าของให้ได้ชุ่มชื่ม ถึงพืชจะหว่าผลน้อยก็ให้ผลมาก หว่านลงมากก็ให้ ผลมากยิ่งๆ ขึ้นไป ยถา ฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงให้ผลไพบูลย์แก่ทายก พึงยังความยินดี แห่งทายกให้บังเกิด ถึงจะให้น้อย ก็ได้ผลมาก เมื่อทายกให้มาก ก็ได้ผลมากยิ่งๆ ขึ้นไป ดุจ เนื้อนาดีฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งนา คำรบ ๓ ยุติด้วยคำอันพระอุบาลีวินัยธรกล่าวไว้ว่า                                        เขตฺตูปเมน ภวิตพฺพํ อุฏฺฐานวิปุลทายินา                                        เอวํ เขตฺตวโร นาม โย ททาติ วิปุลํ ผลํ มีความว่า พระพุทธบุตรเปรียบเหมือนนา พึงเป็นผู้ให้ผลอันไพบูลย์ด้วยประกอบ ความเพียร พระพุทธบุตรชื่อว่าเป็นเนื้อนาอันประเสริฐอย่างนี้ ทายกผู้ใดถวายทาน ทายกผู้นั้น ย่อมได้ผลอันไพบูลย์ ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทาธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสถามองค์ ๒ แห่งยาดับ พิษงูต่อไป              พระนาคเสนจึงวิสัชนาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรม ดาว่ายาดับพิษงูนั้น จะได้มีหนอนเกิดขึ้นหาบ่มิได้ ยถา ฉันใด พระโยคาวจรเจ้า ก็อย่าให้หนอน คือกิเลสเกิดขึ้นภายในได้ มีครุวนาดังยาดับพิษงูฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งยาดับพิษงูเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ยาดับพิษงูนั้น เมื่องูร้ายกัดคนทั้งหลาย ครั้นทายางูนั้นเข้าแล้ว พิษงูก็หายไป ยถา มีครุวนา ฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลายพึงพิจารณากำจัดเสียซึ่งราคะโทสะโมหะทิฐิทั้งหลาย ดุจยาดับ พิษงูฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งยาดับพิษงู คำรบ ๒ ยุติด้วยพระพุทธฎีกาที่สมเด็จพระบรม- โลกุตตมาจารย์ ประทานพระสัทธรรมเทศนาไว้ว่า                                        สงฺขารานํ สภาวตฺถํ ทฏฺฐุกาเมน โยคินา                                        อคเทเนว ภวิตพฺพํ กิเลสวินาสเน              มีความว่า พระโยคาวจรเจ้ามีความปรารถนาจะเห็นซึ่งสภาวะความเป็นจริงแห่งสังขาร ทั้งหลาย พึงกำจัดเสียซึ่งพิษแห่งงูคือหมู่กิเลส ดุจดับพิษยางูนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระเสนผู้ปรีชา อันว่าองค์ ๓ แห่งโภชนะนั้น ประการใด              พระนาคเสพจึงแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ โภชนํ นาม ชื่ออันว่าโภชนะย่อมอุปถัมภ์เลี้ยงชีวิตสัตว์ไว้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้า พึงอุปถัมภ์แก่สัตว์ทั้งหลาย ดุจโภชนะฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งโภชนะเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ โภชนะนั้นย่อมยังกำลังสัตว์ให้เจริญ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงยังกำลังคือ บุญ ให้จำเริญแก่สัตว์ ดุจโภชนะอันให้สัตว์เกิดกำลังฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งโภชนะ คำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ โภชนะเป็นที่ ปรารถนาแก่สัตว์ทั้งปวง ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าเป็นที่ปรารถนาแห่งโลกทั้งปวง ดุจโภชนะอันเป็นที่ปรารถนาแห่งสัตว์โลกทั้งปวงฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งโภชนะคำรบ ๓ ยุติ ด้วยคำที่พระโมฆราชเถรเจ้ากล่าวไว้ว่า                                        สกสามญฺญํ นิยเมน สีเลน ปฏิตฺติยา                                        ปตฺถิเตน ภวิตพฺพํ สพฺพโลกสฺส โยคินา              แปลความว่า พระภิกษุโยคาวจรพึงนิยมที่จะตั้งอยู่ในภาวะที่ตนเป็นสมณะ ประกอบไป ด้วยศีลและปฏิบัติ ก็จะเป็นที่ปรารถนาแห่งโลกทั้งปวง ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสถามด้วยองค์ ๔ แห่งนาย ขมังธนูต่อไป              พระนาคเสนจึงแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ อิสฺสตฺถโก นาม ชื่อว่านายขมังธนูนั้น สเร ปาตยนฺโต เมื่อยิงไปซึ่งลูกศร จึงยันเท้าทั้ง ๒ กับพื้นให้มั่น ตั้งเข่าไว้มิให้หวั่นไหว ยกคันธนูขึ้นเสมอหู ตั้งกายให้เป็นหลักไม่โยกโคลง โน้มน้าวมาด้วยมือทั้ง ๒ จับไว้มั่นคงแล้ว กระทำลูกศรในระหว่างนิ้วมือ เอี้ยวคอหลิ่วตาและบุ้ยปาก ถือเอานิมิตเล็ง ให้เที่ยงตรง ยังความยินดีให้เกิดว่าอาตมาจะยิงไปบัดนี้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้า พึงตั้งใจซึ่งเท้าคือความเพียรเหนือปฐพีกล่าวคือศีลให้มั่น พึงกระทำซึ่งน้ำใจดีและขันติอดใจ อย่าให้หวาดไหว พึงตั้งจิตไว้ในสำรวม พึงนำตนไปในที่ควรจะสำรวม พึงกำจัดซึ่งยินดีและยินร้าย พึงกระทำปัญญาโยนิโสมนสิการไว้ในระหว่างจิต พึงประคองไว้ซึ่งวิริยะ ปกปิดเสียซึ่งทวารทั้ง ๖ ตั้งไว้ซึ่งสติแล้ว พึงยังความยินดีให้เกิดว่า อาตมาจะยิงบัดนี้ซึ่งกิเลสทั้งหลายด้วยลูกศาคือ ปัญญา ดุจนายขมังธนูอันจะยินซึ่งสัตว์ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งนายขมังธนูเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดานายขมังธนูนั้น ย่อมแสวงหาสงวนไม้ง่ามไว้ สำหรับดัดลูกศรที่คดค้อมให้เที่ยงตรง ดุจนายขมังธนูอันดัดลูกศรให้ตรงฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งนายขมังธนู คำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ นายขมังธนูเพ่งยิงเอาแต่ที่หมาย ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงเพ่งยิงแต่ที่หมาย เหมือนดังนั้น คือให้เพ่งเล็งเห็น อนิจฺจโต โดยไม่เที่ยง ทุกฺขิโต มีทุกข์ โรคโต มีโรค คณฺฐโต ร้อยกรองเกี่ยวอยู่ในสงสาร สลฺลโต เป็นปืนพิษ อฆโต ทุกข์ลำบาก อาพาธโต มีแต่เจ็บไข้ ปร- โลกโต มีแต่จะตายบ่ายหน้าไปปรโลก อีติโต มีแต่อันตราย ภยโต มีภัย อุปสคฺคโต มีอุปสรรค ขัดข้อง อธุวโต มิได้ยั่งยืน อนตฺตโต มิใช่ตัวตน อเลณโต หาที่ซ่อนมิได้ อตาณโต หาที่ต่อต้าน มิได้ อสรณโต หาเป็นที่ระลึกได้ไม่ อสรณีภูตโต หามีสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งไม่ คุจฺฉโต น่าเกลียด สุญฺ- ญฺโต สูญเปล่า อาทีนวโต มีโทษ วิปริฌามโต แปรปรวน อสารโต หาแก่นสารมิได้ ภยมูลโต เป็นมูลให้เกิดภัย วธกโต จะมีแต่ฆ่าฟัน วิภาวโต ไม่มีความจำเริญ สาสงฺกโต มีความรังเกียจ สงฺขตโต มีปัจจัยประชุมตกแต่ง มารมิสฺสโต เจือไปด้วยมาร ชาติธมฺมโต มีแต่จะเกิด พฺยาธิ- ธมฺมโต มีความเจ็บไข้เป็นนิตย์ ชราธมฺมโต ถึงภาวะแก่เฒ่าชรา มรณธมฺมโต ครั้นแล้วก็จะตาย ไปหาแก่นสารมิได้ ทั้งประกอบไปด้วยโสกปริเทวนาร่ำไห้สะอื้นอาลัยอยู่ในภพทั้ง ๓ ย่อมมีโทษ เป็นอันมาก ฉะนี้ พระโยคาวจรเจ้าท่านก็พิจารณาเพ่งดู ดุจนายขมังธนูเพ่งเล็งเป้าอันเป็น หลักที่จะยิงฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งนายขมังธนู คำรบ ๓              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ นายขมังธนูนั้นย่อมฝึกยิงธนูในเวลาเช้าเวลาเย็นมิได้ขาด ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจาเจ้า ก็พึงพิจารณาน้ำใจของอาตมาโดยอารมณ์ทุกเวลาเช้าเวลาเย็น ดุจนายขมังธนูอันฝึกหัดยิงธนู ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งนายขมังธะนู คำรบ ๔ ยุติด้วยคำที่พระธรรมเสนาบดีสาระบุตร กล่าวไว้ว่า                                        ยถา อิสฺสตฺถโก นาม สายํ ปาตํ อุปาสติ                                        อุปาสนํ น ริญฺชนฺโต ลำติ ภตฺตเวตนํ                                        ตเถว พุทฺธปุตฺโตปิ กโรติ กายุปาสนํ                                        กายุปาสนํ น ริญฺชนฺโต อรหตฺตํ อธิคจฺฉติ              มีความว่า อิสฺสตฺถโก นาม ชื่อว่านายขมังธนู อุปาสติ ย่อมจะหัดยิงธนูไปทุกเช้า เย็น จะได้เว้นละทิ้งเสียหามิได้ ลภติ ภตฺตเวตนํ ครั้นไปยิงถวายสมเด็จพระบรมกษัตริย์ ก็ แม่นแท้ดังฝึกไว้ ย่อมได้รับพระราชทานรางวัลเป็นที่ปลื้มใจร่ำรวยทรัพย์ ยถา มีครุวนาฉันใด พุทฺธปุตฺโตปิ แม้อันว่าพระโยคาวจรผู้เป็นพุทธบุตร มากระทำการฝึกกายของตนใช้ชำนิชำนาญ แล้ว เมื่อปรารถนาจะพ้นทุกข์ ก็กระทำกายของคนเหมือนที่ฝุกไว้ อรหตฺตํ อธิคจฺฉติ จะได้ รางวัลคือพระอรหาธิคุณอันประเสริฐ ดุจนายขมังธนูอันได้รางวัลฉันนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร
จบอัสสัตถปัญหา ที่ ๕ (๑) ในกุมาภวรรคที่ ๗ เพียงเท่านี้
(๑) เข้าใจว่าใช้สังขยาผิด ที่ถูกควรเป็นที่ ๗ เพราะนับแต่ต้นวรรคที่ ๗ นี้ มาจนถึงปัญหานี้เป็นที่ ๗ หาใช่ที่ ๕ ไม่ ตามที่ท่านบอกจบปัญหา ไม่บอกจบวรรคดังข้างต้นนี้ คงเป็นด้วยท่านเรียงไม่จบวรรค มาพัก ไว้กลางคัน จะบอกจบวรรคไม่ได้ จึงต้องบอกจบปัญหา มิลินทปัญหาที่เป็นอาคตปัญหาในคัมภีร์นี้ ๒๖๒ ปัญหา (๑) ประดับไปด้วยกัณฑ์ ๖ กัณฑ์(๒) จัดเป็น ๒๒ วรรค (๓) จบเพียงนี้              อนึ่ง มิลินทปัญหานี้ ยังเป็นอนาคตปัญหา มิได้มาในคัมภีร์นี้อีก ๔๒ ปัญหา(๔) รวม ทั้งที่มาและไม่ได้มาเป็น ๓๐๔ ปัญหา(๕) แม้ทั้งหมดนี้นับเข้าในมิลินทปัญหาสิ้น (๑) ลองนับตรวจดูได้เพียง ๒๓๔ ปัญหาเท่านั้น ไม่ทราบว่าขาดไปด้วยเหตุใดหรือท่านจะนับข้อ ปัญหาซึ่งถามกันเป็นตอนๆ ในอนุมานปัญหาที่ ๘ ในนวมวรรคแห่งเมณฑกปัญหาเข้าด้วย ลองสอบดูได้เพียง ๑๖ ตอนเท่านั้น แม้บวกกันเข้าก็ยังไม่ครบ นอกจากนี้มองไม่เห็นเค้าที่ไหน เป็นอันยังไม่ได้ความชัด (๒) การจัดกัณฑ์ ในตอนต้นมิได้พูดถึง เพียงแต่บอกไว้ในอารัมภกถาว่า ในมิลินทปัญหามี ๖ สถาน คือ ปุพพปโยคสถาน ๑ มิลินทปัญหาสถาน ๑ เมณฑกปัญหาสถาน ๑ อนุมานปัญหาสถาน ๑ ลักขณ- ปัญหาสถาน ๑ อุปมากถาปัญหาสถาน ๑ แล้วอธิบายไว้ดังแจ้งอยู่ในอารัมภกถกหน้า ๙-๑๐ แต่เมื่อ พิจารณาดูตามลักษณะที่แม้มาโดยลำดับ เห็นว่าท่านวางคละกันไป เช่นลักขณปัญหาวางรวมในมิลินทปัญหา อนุมานปัญหารวมในเมณฑกปัญหา เป็นต้น ยากที่จะแยกออกเป็นกัณฑ์ๆ ได้ และการที่ตัดตอนในระวาง บางแห่งเช่นโคตมีวัตถทานปัญหาก็มิได้จัดว่าเป็นส่วนไหน คงตกอยู่ในระวาง น่าสงสัย แต่โดยความเข้าใจว่า ๖ กัณฑ์ ในที่นี้ ก็คือ ๖ สถาน ในอารัมภกถานั้นเอง (๓) ตรวจได้ ๒๓ วรรค เกินไป ๑ วรรค หรือท่านจะตัดเอาวรรคที่ ๗ ในอุปมากถาปัญหาอันยัง กล่าวความไม่จบนั้นออกเสีย ถ้าเช่นนี้ได้จำนวนพอเหมาะกันไม่ขาดไม่เกิน (๔) อนาคตปัญหานี้ คงหมายเอาข้อที่ว่าด้วยองค์ต่างๆ ซึ่งตั้งเป็นบทมาติกาไว้ในอุปมากถา ปัญหาอันท่านแจกยังไม่ครบก็จบเสีย คือแจกมากเพียงปัญหาที่ ๗ ในกุมาภวรรคที่ ๗ เท่านั้น ต่อนั้นไป ปล่อยค้างไว้ได้สอบดูในบทมาติกา คงได้ส่วนที่ยังค้างอยู่เพียง ๑๔ ปัญหา คือในวรรคที่ ๗ สามปัญหา วรรคที่ ๘ สิบปัญหา วรรคที่ ๙ สิบเอ็ดปัญหา วรรคที่ ๑๐ สิบปัญหา วรรคที่ ๑๑ เจ็ดปัญหา คลาดจากจำนวนที่กล่าวนี้ ๑ ปัญหาจะตำหล่นอยู่ที่ตรงไหนไม่ได้ความ (๕) เมื่อความฉลาดเคลื่อนเป็นมาดังที่กล่าวแล้วข้างต้น จำนวนก็ไม่เต็มเท่านี้ เพราะฉะนั้นเมื่อ อาคตปัญหาและอานคตปัญหาเข้าคงได้เพียง ๒๗๕ ปัญหาเท่านั้น ขาดไป ๒๙ ปัญหาไม่ได้เต็มตามจำนวนที่ว่า ๓๐๔

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๕๖๕ - ๕๗๑. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=191              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_191

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]