ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
ปัญญานิรุชฌนปัญหา ที่ ๓
             ราชา สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นกษัตริย์มีพระราชโองการตรัสถามอรรถปัญหา ต่อไปอีกเล่าว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า ญาณบังเกิดในสันดานผู้ใด ผู้นั้น หรือชื่อว่าปัญญาบังเกิด              ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ญาณที่บังเกิดขึ้นนั้นแลเรียกว่าปัญญา              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการซักว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ญาณบังเกิดในสันดานผู้ใดผู้นั้นเรียกว่ามีปัญญา เมื่อปัญญาบังเกิดจะหลงบ้างหรือหามิได้              พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร บางทีหลงก็มี ที่ไม่หลงก็มี ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นประชากรตรัสถามว่า ที่หลงนั้นอย่างไร              พระนาคเสนแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ที่มีปัญญาหลงนั้นคือ เดินดงพงป่าหารู้จักทิศที่จะไปไม่ เหตุมิได้ฟังเขาเล่าบอกนามบัญญัติ ว่าถึงที่นั้นมีต้นไม้อันนั้น เป็นสำคัญ เหตุนี้ผู้มีปัญญานั้นจึงหลงไป              พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ตรัสถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่ไม่หลงนั้นอย่างไร              พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า ขอถวายพระพรได้แก่โยคาวจรอันปลงปัญญาเห็นพระอนิจจัง และพระทุกขัง และพระอนัตตา นี่แหละปัญญาท่านไม่หลง              พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงมีพระราชโองการถามว่า ที่ปัญญาไม่หลงนั้น โมโหในสันดานท่าน ไปแอบอยู่ที่ไหน              พระนาคเสนถวายพระพรแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร เมื่อปัญญา บังเกิดแล้ว โมโหก็ดับอยู่ที่ปัญญานั้น พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงตรัสถามว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ปัญญานั้นเกิดแล้วไป ดับอยู่ที่ไหน              พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐปัญญา บังเกิดกระทำกิจของอาตมาแล้วก็ดับอยู่ในกิจของอาตมา กิจแห่งปัญญาอันเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นจะได้ดับหามิได้              สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นมไหศวรรย์จึงตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ยํ ปเนตํ พฺรูสิ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า ปัญญากระทำกิจแล้ว ก็ดับอยู่ที่กิจแห่งตนนั้น กิจอันเห็นว่า ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ชื่อว่าปัญญา ว่าดังนี้โยมยังสงสัย นิมนต์กระทำอุปมาไปให้เห็นแจ้งก่อน              พระนาคเสนถวายพระพรอุปมาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปาน ดุจบุรุษผู้หนึ่งจะดูเลขเมื่อกลางคืน เลขนั้นบุรุษผู้นั้นเขียนลงไว้ในกระดาน จึงจุดประทีปขึ้น ทัศนาการดูเลขนั้น ก็เขียนเลขลงไว้แล้วให้ดังประทีปเสีย เมื่อประทีปดับไป ตัวเลขที่เขียนไว้ก็ ยังปรากฏอยู่มิได้ลบเลือนไป ยถา มีอุปมาฉันใดก็ดี ปัญญาที่บังเกิดขึ้นกระทำกิจแห่งตนแล้ว ดับไป แต่กิจแห่งตนอันเห็นว่า พระอนิจจัง และพระทุกขัง และพระอนัตตา นั้นยังปรากฏอยู่ เปรียบดุจประทีปอันบุรุษจุดขึ้นดูแล้วเขียนเลขไว้แล้วดับประทีปเสีย ปรากฏอยู่แต่ตัวเลขที่เขียนไว้ จงทราบพระทัยเถิด ขอถวายพระพร              พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นกษัตริย์ตรัสว่า นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอุปมาให้ยิ่งขึ้นไปก่อน              พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานดุจ มนุษย์อันอยู่ในทิศตะวันออกกลัวเพลิงไหม้บ้านจึงตั้งหม้อน้ำไว้ห้าหม้อ ที่ใกล้ประตูเคหา ครั้น ว่าเคหานั้นเพลิงไหม้ มนุษย์นั้นจึงเอาน้ำที่หม้อตั้งไว้นั้นดับไฟ ครั้นไฟดับไปแล้ว มนุษย์นั้นจะ ต้องการน้ำในหม้อนั้นอีกหรือหามิได้              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า มนุษย์ชาวชนบทนั้น ครั้นเพลิงไหม้เขาจึงเอาน้ำที่หม้อทั้งห้าไปดับไฟ ไฟดับไปแล้วจะได้ต้องการน้ำอีกหามิได้              พระนาคเสนจึงวิสัชนาว่า หม้อทั้งห้าได้แก่อินทรีย์ ๕ มี สัทธินทรีย์เป็นต้น ฝูงชน ชาวชนบทที่ดับเพลิงด้วยหม้อน้ำทั้งห้าได้แก่พระโยคาวจรอันดับกิเลสด้วยอินทรีย์ ๕ ประการ เพลิงที่ไหม้บ้านนั้นได้แก่กิเลส กิเลสนั้นจะดับไปก็อาศัยแก่อินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์เป็นต้น และกิเลสที่ดับไปมิได้เกิดอีกนั้น ได้แก่ปัญญาที่กระทำกิจนั้น ครั้นกระทำกิจแล้วก็ดับไป ปรากฏ อยู่แต่กิจอันเห็นพระไตรลักษณ์นั้น และปัญญาที่กระทำกิจนั้นกระทำครั้งเดียวเดียวก็ดับไป อุปไมย ดุจอินทรีย์ทั้ง ๕ นั้น ดับกิเลสให้สูญไปที่เดียวนี้แหละ ขอถวายพระพร              พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นประชากร จึงตรัสว่า นิมนต์อุปมาให้ภิยโยภาวะ ยิ่งกว่านี้              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานประ หนึ่งว่าแพทย์ผู้หนึ่งรักษาคนไข้จึงเก็บเอารากไม้เป็นยา ๕ สิ่งไปรักษาไข้ ครั้นคนไข้ได้ รับประทานรากไม้ยา ๕ สิ่งนั้น โรคก็บรรเทาคลายหายขาด นี่แหละบพิตรพระราชสมภาร แพทย์นั้นจะเอายา ๕ ประการไปรักษาคนที่หายนั้นอีกหรือ หรือ ว่าหามิได้              พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นสาคลราชธานีจึงมีพระราชโองการตรัสว่า เมื่อหมอนั้นเอายาทั้ง ๕ ไปรักษาเขาหายแล้ว จะได้ต้องการรากยาอีกหามิได้              พระนาคเสนจึงกระทำอุปมาอุปไมยเป็นสองชั้นว่า ขอถวายพระพร แพทย์นั้นได้ แก่พระโยคาวจร รากยา ๕ สิ่งนั้นได้แก่ปัญจินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์เป็นต้น คนไข้ได้แก่ปุถุชน พระโยคาวจรไปสั่งสอนให้จำเริญอินทรีย์ทั้ง ๕ เปรียบดุจกินรากยา ๕ ประการ เมื่อปุถุนชนนั้น รับประทานคือปรนนิบัติในอินทรีย์ทั้ง ๕ ราคาทิกิเลสสิ้นไปดับไปมิได้เกิดอีกฉันใดก็ดี ปัญญา ที่กระทำกิจนั้นดับไปในสันดานพระโยควจร ยังปรากฏอยู่แต่กิจแห่งปัญญาเห็นพระไตรลักษณ์ ว่า อนิจฺจนฺติ วา ทุกฺขนฺติ วา อนตฺตาติ วา อิติ วา อนิจฺจํ อิติ วา ทุกฺขํ อิติ วา อนตฺตา ในกาลนั้น              ราชา สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีตรัสว่า ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้โยมยัง ไม่สิ้นสงสัย จงกระทำอุปมาอุปไมยให้ภิยโยภาวะยิ่งไปกว่านี้ก่อน              พระนาคเสนถวายพระพรว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานเหมือนโยธา สงฺคามาวจโร อันจะไปกระทำสงครามรบพุ่งด้วยศัตรูหมู่อรินทรราชนั้น ปญฺต กณฺฑานิ จึง ยิงปืน ใหญ่ไปห้านัด ให้ศัตรูหมู่อรินทราราชพ่ายแพ้หนีไป แล้วจะยิงปืนใหญ่ไปอีก ๕ นัดหรือ ประการใด              พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิเบศร์ปฏิเสธว่า จะยิงไปอีกหามิได้              พระนาคเสนถวายพระพรอุปไมยว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ยิ่งมิ่งมไหศวรรย์ ฉันใดก็ดี โยธาตัวดี คือพระโยคาวจรยิงหมู่อรินทรอันติดพระนคร คือกิเลส ตัณหา และยิงปืนทั้ง ๕ นัดนั้นคือปัญจอินทรีย์ ๕ เมื่อยังกิเลสตัณหาให้ดับไม่ให้กลับมาเกิดได้ ฉันนั้น ปัญญาที่เกิดในสันดานท่านโยคาวจรผู้ประเสริฐ เกิดขึ้นกระทำกิจและดับมิให้กลับเกิดใหม่ แต่กิจเห็นพระไตรลักษณ์ยังประจักษ์อยู่ ขอบพิตรจงรู้ในพระราชสันดานด้วยประการดังนี้              พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ทรงฟังก็โสมนัสในอุปมา จึงตรัสว่า กลฺโลสิ พระผู้เป็นเจ้า วิสัชนามานี้สมควรแล้ว
ปัญญานิรุชฌนปัญหา คำรบ ๓ จบเท่านี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๖๘ - ๗๑. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=22              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_22

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]