ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๓๖ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์

หน้าที่ ๒๐๖-๒๐๙.


                                                                 พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ

บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ไม่ถึงพร้อมด้วยศีลและไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึง พร้อมด้วยศีล ตนเองเป็นผู้ไม่ถึงพร้อมด้วยสมาธิและไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วย สมาธิ ตนเองเป็นผู้ไม่ถึงพร้อมด้วยปัญญาและไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ตนเองเป็นผู้ไม่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติและไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ ตนเอง เป็นผู้ไม่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะและไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ- ญาณทัสสนะ บุคคลเช่นนี้ชื่อว่าผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น [๑๗๔] บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบการทำตนให้เดือดร้อน๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนเปลือย ไร้มารยาท เลียมือ เขาเชิญมารับ ภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่รับภิกษาที่เขาแบ่งไว้ก่อน ไม่รับภิกษา ที่เขาเจาะจงทำไว้ ไม่ยินดีกิจนิมนต์ ไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากกระเช้า ไม่รับภิกษาคร่อมธรณีประตู ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้ ไม่รับภิกษาคร่อมสาก ไม่ รับภิกษาที่คนสองคนบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิง ที่กำลังให้ลูกดื่มนม ไม่รับภิกษาของหญิงที่คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษาที่นัดแนะ กันทำไว้ ไม่รับภิกษาในที่ที่รับเลี้ยงสุนัข ไม่รับภิกษาในที่ที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็น กลุ่ม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำหมักดอง เขารับ ภิกษาเฉพาะเรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียว รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ หรือรับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยา อัตภาพด้วยข้าว ๗ คำ เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อย ๒ ใบบ้าง ฯลฯ เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษา ในถาดน้อย ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันเดียวบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้ ๒ วันบ้าง ฯลฯ กินอาหารที่เก็บค้างไว้ ๗ วันบ้าง เขาหมั่นประกอบในการบริโภคที่ เวียนมาตั้งกึ่งเดือนอย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๙๘/๓๐๓-๓๐๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๐๖}

                                                                 พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ

เขากินผักดองเป็นอาหารบ้าง กินข้าวฟ่างเป็นอาหารบ้าง กินลูกเดือยเป็น อาหารบ้าง กินกากข้าวเป็นอาหารบ้าง กินยางไม้เป็นอาหารบ้าง กินรำเป็นอาหาร บ้าง กินข้าวตังเป็นอาหารบ้าง กินกำยานเป็นอาหารบ้าง กินหญ้าเป็นอาหารบ้าง กินมูลโคเป็นอาหารบ้าง กินเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหารบ้าง กินผลไม้ที่หล่น เยียวยาอัตภาพ เขานุ่งห่มผ้าป่านบ้าง นุ่งห่มผ้าแกมกันบ้าง นุ่งห่มผ้าห่อศพบ้าง นุ่งห่มผ้าบังสุกุลบ้าง นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้บ้าง นุ่งห่มหนังเสือบ้าง นุ่งห่มหนังเสือ ที่มีเล็บติดอยู่บ้าง นุ่งห่มคากรองบ้าง นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรองบ้าง นุ่งห่มผ้าผล ไม้กรองบ้าง นุ่งห่มผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง นุ่งห่มผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์ร้าย บ้าง นุ่งห่มผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง ถอนผมและหนวด หมั่นประกอบการ ถอนผมและหนวดบ้าง ยืนอย่างเดียวปฏิเสธการนั่งบ้าง นั่งกระโหย่ง ประกอบ ความเพียรด้วยการนั่งกระโหย่งบ้าง นอนบนหนาม สำเร็จการนอนบนหนามบ้าง อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง หมั่นประกอบการลงน้ำบ้าง เขาหมั่นประกอบการทำร่างกาย ให้เดือดร้อนหลายวิธีดังกล่าวนี้อยู่ บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อนหมั่นประกอบในการ ทำตนให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้ [๑๗๕] บุคคลผู้ทำคนอื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร เป็นนายพรานนก เป็นนาย พรานเนื้อ เป็นชาวประมง เป็นโจร เป็นเพชฌฆาต เป็นคนฆ่าโค เป็นผู้คุม หรือเป็นผู้ทำกรรมอันหยาบช้าชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม บุคคลผู้ทำคนอื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้ [๑๗๖] บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือด ร้อนและทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นพระราชามหากษัตริย์ได้รับมูรธาภิเษก หรือว่า เป็นพราหมณ์มหาศาล เขาให้สร้างสัณฐาคารใหม่ทางทิศตะวันออกแห่งพระนคร แล้วโกนผมและหนวด นุ่งห่มหนังสัตว์มีเล็บ ชโลมกายด้วยเนยใสและน้ำมัน เกาหลัง @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๙๘/๓๐๕-๓๐๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๐๗}

                                                                 พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ

ด้วยเขามฤค เข้าไปสู่สัณฐาคารใหม่พร้อมด้วยมเหสีและพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิต เขา สำเร็จการนอนบนพื้นอันปราศจากการปูลาดไว้ด้วยมูลโคสด พระราชาให้พระชนม์ ชีพเป็นไปด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่หนึ่งของแม่โคตัวหนึ่งที่มีลูกอ่อน พระมเหสีให้ พระชนม์ชีพเป็นไปด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๒ พราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิตให้อัตภาพ เป็นไปด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๓ พระราชาทรงบูชาไฟด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๔ ลูกโคให้อัตภาพเป็นไปด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชานั้นตรัสอย่างนี้ว่า “ท่านทั้ง หลายจงฆ่าโคเท่านี้ จงฆ่าลูกโคผู้เท่านี้ จงฆ่าลูกโคเมียเท่านี้ จงฆ่าแพะเท่านี้ จง ฆ่าแกะเท่านี้ เพื่อบูชายัญ (จงฆ่าม้าเท่านี้เพื่อบูชายัญ) จงตัดไม้และเกี่ยวหญ้าคา เท่านี้เพื่อบังและลาด” แม้เหล่าชนที่เป็นทาส เป็นคนรับใช้ เป็นคนงานของพระราชานั้น ย่อมสะดุ้ง ต่ออาชญา สะดุ้งต่อภัย มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้ทำการงานอยู่ บุคคลผู้ทำตน ให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้ [๑๗๗] บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตน ให้เดือดร้อน และไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน๑- เป็นไฉน บุคคลนั้นไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐอยู่ในปัจจุบัน พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นมาในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก ผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระ พุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น๒- งามในท่ามกลาง๓- @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๙๘/๓๐๖ @ หมายถึงศีล (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙) @ หมายถึงอริยมรรค (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๐๘}

                                                                 พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ

และงามในที่สุด๑- ทรงประกาศพรหมจรรย์๒- พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรแห่งคหบดีหรืออนุชนในตระกูลใดตระกูลหนึ่งได้สดับธรรมนั้น ครั้นได้สดับธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาในพระตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า “การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด๓- เป็นทางแห่งธุลี๔- การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง๕- การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ที่ขัด แล้วมิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด” ต่อมาเขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต [๑๗๘] บุคคลนั้นบวชแล้วอย่างนี้ ถึงความเป็นผู้มีสิกขา๖- และสาชีพ๗- แห่ง ภิกษุทั้งหลาย ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มี ความละอาย มีความเอ็นดู หวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ @เชิงอรรถ : @ หมายถึงนิพพาน (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙) @ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย ๑๐ ประการ คือ @(๑) ทาน การให้ (๒) เวยยาวัจจะ การขวนขวายช่วยเหลือ @(๓) ปัญจศีล ศีลห้า (๔) อัปปมัญญา การประพฤติพรหมจรรย์อย่างไม่ @มีขอบเขต @(๕) เมถุนวิรัติ การงดเว้นจากการเสพเมถุน (๖) สทารสันโดษ ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน @(๗) วิริยะ ความเพียร (๘) อุโปสถังคะ องค์อุโบสถ @(๙) อริยมรรค ทางอันประเสริฐ (๑๐) ศาสนา ในที่นี้หมายถึงพุทธศาสนา @(ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๖๑-๑๖๒) @ เป็นเรื่องอึดอัด ในที่นี้หมายถึงมีความกังวลใจ ห่วงใยต่อกันและกันระหว่างสามีภรรยา ไม่สะดวกต่อ @การสั่งสมกุศล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๘/๔๒๑) @ เป็นทางแห่งธุลี ในที่นี้หมายถึงเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่น ราคะเป็นต้น @(ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๘/๔๒๒) @ เป็นทางปลอดโปร่ง ในที่นี้หมายถึงนักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้ว หรือเทพวิมานซึ่งมีประตู @หน้าต่างปลอดปิดมิดชิดก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใดๆ (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓) @ สิกขา หมายถึงอธิศีลสิกขาของภิกษุ (วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๕/๓๓) @ สาชีพ หมายถึงสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุ (วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๕/๓๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๐๙}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๓๖ หน้าที่ ๒๐๖-๒๐๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=36&page=206&pages=4&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=36&A=5680 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=36&A=5680#p206 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 36 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_36 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu36 https://84000.org/tipitaka/english/?index_36



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๐๖-๒๐๙.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]