ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๒๐
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปัญญาสนิบาตชาดก
๑. นฬินิกาชาดก
ราชธิดาทำลายตบะของดาบส
[๑] ชนบทเร่าร้อนอยู่ แม้รัฐก็จะพินาศ ดูกรลูกนฬินิกา มานี่เถิด เจ้าจงไป นำพราหมณ์ผู้นั้นมาให้เรา. [๒] ข้าแต่พระราชบิดา หม่อมฉันทนความลำบากไม่ได้ ทั้งไม่รู้จักหนทาง จะไปยังป่าที่ช้างอยู่ อาศัยได้อย่างไรเล่า เพคะ. [๓] ดูกรลูกนฬินิกา เจ้าจงไปอยู่ชนบทที่เจริญด้วยช้าง ด้วยรถ ด้วยยาน ที่ต่อด้วยไม้ เจ้าจงไปด้วยอาการอย่างนี้เถิด ลูกเจ้าจงพากองช้าง กอง ม้า กองรถ กองพลราบไปแล้วจักนำพราหมณ์ผู้นั้นมาสู่อำนาจได้ด้วย ผิวพรรณ และรูปสมบัติของเจ้า. [๔] อาศรมของอิสิสิงคดาบสนั้น ปรากฏด้วยธง คือ ต้นกล้วยแวดล้อมด้วย ต้นสมอ เป็นที่น่ารื่นรมย์ นั่นคือแสงไฟ นั่นคือควัน เห็นปรากฏอยู่ อิสิสิงคดาบสผู้มีฤทธิ์มากเห็นจะไม่ทำให้ไฟเสื่อม. [๕] อิสิสิงคดาบสเห็นพระราชธิดา ผู้สวมใส่กุณฑลแก้วมณีเสด็จมาอยู่ กลัว แล้ว เข้าไปสู่อาศรมที่มุงด้วยใบไม้ ส่วนพระราชธิดาแสดงอวัยวะอัน ซ่อนเร้น และอวัยวะที่ปรากฏเล่นลูกข่างอยู่ที่ประตูอาศรมของดาบสนั้น ฝ่ายดาบสผู้อยู่ในบรรณศาลา เห็นพระนางกำลังเล่นลูกข่างอยู่ จึงออก จากอาศรมแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า [๖] ดูกรท่านผู้เจริญ ต้นไม้ของท่านที่มีผลเป็นไปอย่างนี้ มีชื่อว่าอะไร แม้ ท่านขว้างไปไกลก็กลับมา มิได้ละท่านไป. [๗] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ต้นไม้ที่มีผลเป็นไปอย่างนี้นั้น มีอยู่มากที่เขา คันธมาทน์ ณ ที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า ผลไม้นั้นแม้ข้าพเจ้าขว้างไป ไกลก็กลับมา ไม่ละข้าพเจ้าไปเลย. [๘] เชิญท่านผู้เจริญจงเข้ามาสู่อาศรมนี้ จงบริโภค จงรับน้ำมันและภักษา เราจักให้ นี้อาสนะ เชิญท่านนั่งบนอาสนะนี้ เชิญบริโภคเหง้ามันและ ผลไม้แต่ที่นี้เถิด. [๙] ที่ระหว่างขาอ่อนทั้งสองของท่านนี้เป็นอะไร มีสัณฐานเรียบร้อย ปรากฏ ดุจสีดำ เราถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า อวัยวะสูงของท่านเข้าไปอยู่ในฝักหรือหนอ. [๑๐] ข้าพเจ้านี้เที่ยวแสวงหามูลผลาหารในป่า ได้พบหมีมีรูปร่างน่ากลัวยิ่งนัก มันวิ่งไล่ข้าพเจ้ามาโดยเร็ว มาทันเข้าแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าล้มลงแล้ว มัน กัดอวัยวะสูงของข้าพเจ้า แผลนั้นก็เหวอะหวะ และเกิดคันขึ้น ข้าพเจ้า ไม่ได้ความสบายตลอดกาลทั้งปวง ท่านคงสามารถกำจัดความคันนี้ได้ ข้าพเจ้าวิงวอนแล้ว ขอท่านได้โปรดกระทำประโยชน์ให้แก่ข้าพเจ้าผู้เป็น พราหมณ์เถิด. [๑๑] แผลของท่านลึก มีสีแดง ไม่เน่าเปื่อย มีกลิ่นเหม็น และเป็นแผล ใหญ่ เราจะประกอบกระสายยาหน่อยหนึ่งให้ท่าน ตามที่ท่านจะพึงมี ความสุขอย่างยิ่ง. [๑๒] ดูกรท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ การประกอบมนต์ก็ดี การประกอบ กระสายยาก็ดี โอสถก็ดี ย่อมแก้ไม่ได้ ขอท่านจงเอาองคชาตอันอ่อน นุ่มของท่านเสียดสีกำจัดความคัน ตามที่ข้าพเจ้าจะพึงมีความสุขอย่างยิ่ง เถิด. [๑๓] อาศรมของท่านอยู่ทางทิศไหนแต่ที่นี้หนอ ท่านย่อมรื่นรมย์อยู่ในป่าแล หรือ มูลผลาหารของท่านมีเพียงพอแลหรือ สัตว์ร้ายไม่เบียดเบียนท่าน แลหรือ. [๑๔] แม่น้ำชื่อเขมาย่อมปรากฏแต่ป่าหิมพานต์ ในทิศเหนือตรงไปแต่ที่นี้ อาศรมอันน่ารื่นรมย์ของข้าพเจ้าอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น ท่านควรไปดูอาศรม ของข้าพเจ้าบ้าง ต้นมะม่วง ต้นรัง ต้นหมากเม่า ต้นหว้า ต้นราชพฤกษ์ ต้นแคฝอย มีดอกบานสะพรั่ง ท่านควรไปดูอาศรมของข้าพเจ้า ซึ่งมี กินนรขับร้องอยู่โดยรอบ ต้นตาลมูลมัน ผลไม้ที่อาศรมของเรานั้น มีผล ประกอบด้วยสีและกลิ่น ท่านควรไปดูอาศรมของข้าพเจ้า อันประกอบ ด้วยภูมิภาคสวยงามนั้นบ้าง ผลไม้ เหง้าไม้ ที่อาศรมของข้าพเจ้ามีมาก ประกอบด้วยสี กลิ่น และรส พวกพรานย่อมมาสู่ประเทศนั้น อย่า ได้มาลักมูลผลาหารไปจากอาศรมของข้าพเจ้านั้นเลย. [๑๕] บิดาของเราแสวงหามูลผลาหาร จะกลับมาในเย็นวันนี้ เราทั้งสองจะไป สู่อาศรมนั้น ต่อเมื่อบิดากลับมาจากการแสวงหามูลผลาหาร. [๑๖] พราหมณ์ ฤาษี และราชฤาษี ผู้มีรูปสวยเหล่าอื่นเป็นอันมาก ย่อมอยู่ ใกล้ทางโดยลำดับ ท่านพึงถามถึงอาศรมของข้าพเจ้ากะท่านพวกนั้นเถิด ท่านพวกนั้นจะพาท่านไปในสำนักของข้าพเจ้า. [๑๗] ฟืนเจ้าก็ไม่หัก น้ำเจ้าก็ไม่ตัก แม้ไฟเจ้าก็ไม่ติด เจ้าอ่อนใจ ซบเซา อยู่ทำไมหนอ ดูกรเจ้าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อก่อนฟืนเจ้าก็หัก ไฟเจ้าก็ติด แม้ไฟสำหรับผิงเจ้าก็จัดไว้ ตั่งเจ้าก็ตั้ง น้ำเจ้าก็ตักไว้ให้เรา วันอื่นๆ เจ้าเป็นผู้ประเสริฐดีอยู่ วันนี้เจ้าไม่หักฟืน ไม่ตักน้ำ ไม่ติดไฟ ไม่จัดเครื่องบริโภคไว้ ไม่ทักทายเรา ของอะไรของเจ้าหายไปหรือ หรือ ว่าเจ้ามีทุกข์ในใจอะไร. [๑๘] ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์มาในอาศรมนี้ มีรูปร่างน่าดู น่าชม เอวเล็ก เอวบาง ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก รัศมีสวยงาม มีศีรษะปกคลุมด้วยผมอัน ดำเป็นเงางาม ไม่มีหนวด บวชไม่นาน มีเครื่องประดับเป็นรูปเชิงบาตร อยู่ที่คอ มีปุ่มสองปุ่มงามเปล่งปลั่งดังก้อนทองคำ เกิดดีแล้วที่อก หน้า ของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก มีกันเจียกจอนห้อยอยู่ที่หูทั้งสองข้าง กันเจียก เหล่านั้นย่อมแวววาว เมื่อชฎิลนั้นเดินไปมาสายพันชฎาก็งามแพรวพราว เครื่องประดับเหล่าอื่นอีกสี่อย่างของชฎิลนั้น มีสีเขียว เหลือง แดง และขาว เมื่อชฎิลนั้นเดินไปมา เครื่องประดับเหล่านั้นย่อมดังกริ่งกร่าง เหมือนฝูงนกติริฏิร้องในเวลาฝนตก ฉะนั้น ชฎิลนั้นไม่ได้คาดเครื่อง รัดเอวที่ทำด้วยหญ้าปล้อง ไม่ได้นุ่งผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้ เหมือนของ พวกเรา ผ้าเหล่านั้นพันอยู่ที่ระหว่างแข้งงามโชติช่วง ปลิวสะบัดดังสาย ฟ้าแลบอยู่ในอากาศ ข้าแต่ท่านพ่อ ชฎิลนั้นมีผลไม้ไม่สุก ไม่มีขั้วติด อยู่ที่สะเอวภายใต้นาภี ไม่กระทบกัน กระดกเล่นอยู่เป็นนิตย์ อนึ่ง ชฎิลนั้นมีชฎาน่าดูยิ่งนัก มีปลายงอนมากกว่าร้อย มีกลิ่นหอม มีศีรษะ อันแบ่งด้วยดีเป็นสองส่วน โอ ขอให้ชฎาของเราจงเป็นเช่นนั้นเถิดหนอ และในคราวใด ชฎิลนั้นขยายชฎาอันประกอบด้วยสี และกลิ่นในคราว นั้น อาศรมก็หอมฟุ้งไปเหมือนดอกอุบลเขียวที่ถูกลมรำเพยพัด ฉะนั้น ผิวพรรณของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก ไม่เป็นเช่นกับผิวพรรณที่กายของข้าพเจ้า ผิวกายของชฎิลนั้นถูกลมรำเพยพัดแล้ว ย่อมหอมฟุ้งไป ดุจป่าไม้ อัน มีดอกบานในฤดูร้อน ฉะนั้น ชฎิลนั้นตีผลไม้อันวิจิตรงามน่าดูลงบน พื้นดิน และผลไม้ที่ขว้างไปแล้วย่อมกลับมาสู่มือของเขาอีก ข้าแต่ท่านพ่อ ผลไม้นั้นชื่อผลอะไรหนอ อนึ่ง ฟันของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก ขาวสะอาด เรียบเสมอกันดังสังข์อันขัดดีแล้ว เมื่อชฎิลเปิดปากอยู่ย่อมยังใจให้ผ่อง ใส ชฎิลนั้นไม่ได้เคี้ยวผักด้วยฟันเหล่านั้นเป็นแน่ คำพูดของเขาไม่ หยาบคาย ไม่เคลื่อนคลาด ไพเราะ อ่อนหวาน ตรง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คลอน แคลน เสียงของเขาเป็นเครื่องฟูใจจับใจดังเสียงนกการเวก นำใจของ ข้าพเจ้าให้กำหนัดยิ่งนัก เสียงของเขาหยดย้อย เป็นถ้อยคำไม่สะบัด สะบิ้ง ไม่ประกอบด้วยเสียงพึมพำ ข้าพเจ้าปรารถนาจะได้เห็นเขาอีก เพราะชฎิลนั้นเป็นมิตรของข้าพเจ้ามาก่อน แผลที่ต่อสนิทดีเกลี้ยงเกลา ในที่ทั้งปวง ใหญ่ เกิดดีแล้ว คล้ายกับกลีบบัว ชฎิลนั้นให้ข้าพเจ้าคร่อม ตรงแผลนั้น แหวกขาเอาแข้งบีบไว้รัศมีซ่านออกจากกายของชฎิลนั้น ย่อมเปล่งปลั่งสว่างไสวรุ่งเรือง ดังสายฟ้าอันแลบแปลบปลาบอยู่ใน อากาศ ฉะนั้น อนึ่ง แขนทั้งสองของชฎิลนั้นอ่อนนุ่ม มีขนเหมือน ขนดอกอัญชัน แม้มือทั้งสองของชฎิลนั้นก็ประกอบด้วยนิ้วมืออันเรียว วิจิตรงดงาม ชฎิลนั้นมีอวัยวะไม่ระคาย มีขนไม่ยาว เล็บยาว ปลาย เป็นสีแดง ชฎิลนั้นมีรูปงาม กอดรัดข้าพเจ้าด้วยแขนทั้งสองอันอ่อนนุ่ม บำเรอให้รื่นรมย์ ข้าแต่ท่านพ่อ มือทั้งสองของชฎิลนั้นอ่อนนุ่มคล้าย สำลี งามเปล่งปลั่งพื้นฝ่ามือเกลี้ยงเกลาเหมือนแว่นทอง ชฎิลนั้นกอด รัดข้าพเจ้าด้วยมือทั้งสองนั้นแล้ว ไปจากที่นี้ ย่อมทำให้ข้าพเจ้าเร่าร้อน ด้วยสัมผัสนั้น ชฎิลนั้นมิได้นำหาบมา มิได้หักฟืนเอง มิได้ฟันต้นไม้ ด้วยขวาน แม้มือทั้งสองของชฎิลนั้นก็ไม่มีความกระด้าง หมีได้กัดชฎิล นั้นเป็นแผล เธอจึงกล่าวกะข้าพเจ้าว่า ขอท่านช่วยทำให้ข้าพเจ้ามี ความสุขเถิด ข้าพเจ้าจึงช่วยทำให้เธอมีความสุข และความสุขก็เกิดมี แก่ข้าพเจ้าด้วย ข้าแต่ท่านผู้เป็นพรหม เธอได้บอกข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้า มีความสุขแล้ว ก็ที่อันปูลาดด้วยใบเถาย่างทรายของท่านนี้กระจุยกระจาย แล้ว เพราะข้าพเจ้าและชฎิลนั้น เราทั้งสองเหน็ดเหนื่อยแล้ว ก็รื่นรมย์ กันในน้ำ แล้วเข้าสู่กุฏีอันมุงบังด้วยใบไม้บ่อยๆ ข้าแต่ท่านพ่อ วันนี้ มนต์ทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้าเลย การบูชาไฟข้าพเจ้าไม่ชอบ ใจเลย แม้การบูชายัญ ในที่นั้นข้าพเจ้าก็ไม่ชอบใจ ตราบใดที่ข้าพเจ้า ยังมิได้พบเห็นชฎิล ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าจะไม่บริโภคมูล ผลาหารของท่านพ่อเลย ข้าแต่ท่านพ่อ แม้ท่านพ่อย่อมรู้เป็นแน่แท้ว่า ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ทิศใด ขอท่านพ่อจงพาข้าพเจ้าไปให้ถึงทิศ นั้นโดยเร็วเถิด ข้าพเจ้าอย่าได้ตายเสียในอาศรมของท่านเลย ข้าแต่ ท่านพ่อ ข้าพเจ้าได้ฟังถึงป่าไม้อันวิจิตรมีดอกบาน กึกก้องไปด้วยเสียง นกร้อง มีฝูงนกอาศัยอยู่ ขอท่านพ่อช่วยพาข้าพเจ้าไปให้ถึงป่าไม้นั้นโดย เร็วเถิด ข้าพเจ้าจะต้องละชีวิตเสียก่อนในอาศรมของท่านพ่อเป็นแน่. [๑๙] เราไม่ควรให้เจ้าผู้ยังเป็นเด็กเช่นนี้ ถึงความกระสันในป่าเป็นโชติรส ที่ หมู่คนธรรพ์และเทพอัปสรซ่องเสพเป็นที่อยู่อาศัยแห่งฤาษีทั้งหลาย ใน กาลก่อน พวกมิตรย่อมมีบ้างไม่มีบ้าง ชนทั้งหลายย่อมทำความรักใน พวกญาติและพวกมิตร กุมารใดย่อมไม่รู้ว่า เราเป็นผู้มาแต่ไหน กุมาร นี้เป็นผู้ลามก อยู่ในกลางวันเพราะเหตุอะไร มิตรสหายย่อมสนิทกัน บ่อยๆ เพราะความอยู่ร่วมกัน มิตรนั้นนั่นแหละย่อมเสื่อมไป เพราะ ความไม่อยู่ร่วมของบุรุษที่ไม่สมาคม ถ้าเจ้าได้เห็นพรหมจารีได้พูดกับ พรหมจารี เจ้าจักละคุณคือตปธรรมนี้เร็วไว ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์แล้ว เสียไปเพราะน้ำมาก ฉะนั้น หากเจ้าได้เห็นพรหมจารีอีก ได้พูดกับ พรหมจารีอีก เจ้าจักละสมณเดชนี้เร็วไว ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์แล้ว เสียไปเพราะน้ำมาก ฉะนั้น ดูกรลูกรัก พวกยักษ์นั้นย่อมเที่ยวไปใน มนุษยโลกโดยรูปแปลก ๆ นรชนผู้มีปัญญาไม่พึงคบพวกยักษ์นั้น พรหมจารีย่อมฉิบหายไป เพราะความเกาะเกี่ยวกัน.
จบ นฬินิกาชาดกที่ ๑
๒. อุมมาทันตีชาดก
เสนาบดีถวายนางอุมมาทันตีแด่พระราชา
[๒๐] ดูกรนายสุนันทสารถี นี่เรือนของใครหนอล้อมด้วยกำแพงสีเหลือง ใคร หนอปรากฏอยู่ในที่ไกล เหมือนเปลวไฟอันลุกโพลงอยู่บนเวหาส และ เหมือนเปลวไฟบนยอดภูเขา ฉะนั้น ดูกรนายสุนันทสารถี หญิงคนนี้ เป็นธิดาของใครหนอ เป็นลูกสะใภ้หรือเป็นภรรยาของใคร ไม่มีผู้หวง แหนหรือผัวของนางมีหรือไม่ เราถามแล้วขอท่านจงบอกแก่เราโดยเร็ว. [๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชานิกร ก็ข้าพระองค์ย่อมรู้จักหญิงนั้นพร้อม ทั้งมารดา บิดา และสามีของนาง ข้าแต่พระจอมภูมิบาล บุรุษนั้นเป็น ผู้ไม่ประมาทในประโยชน์ของพระองค์ทั้งกลางคืนกลางวัน สามีของนาง เป็นผู้มีอิทธิพลกว้างขวางและมั่งคั่ง ทั้งเป็นอำมาตย์คนหนึ่งของพระองค์ ข้าแต่พระราชา หญิงนั้นเป็นภรรยาของอภิปารกเสนาบดี มีชื่อว่าอุมมา- ทันตี พระเจ้าข้า. [๒๒] ดูกรท่านผู้เจริญๆ ชื่อที่มารดาและบิดาตั้งให้หญิงนี้ เป็นชื่อเหมาะสมดี จริงอย่างนั้นเมื่อนางมองดูเรา ย่อมทำให้เราหลงใหลคล้ายคนบ้า. [๒๓] ในคืนเดือนเพ็ญ นางผู้มีนัยน์ตาชะม้ายคล้ายเนื้อทราย ร่างกายมีสีเหมือน ดอกปุณฑริกนั่งอยู่ใกล้หน้าต่าง ในคืนนั้น เราได้เห็นนางนุ่งห่มผ้าสีแดง เหมือนเท้านกพิราบ สำคัญว่าพระจันทร์ขึ้นสองดวง คราวใด นางมี หน้ากว้าง ขาวสะอาด ประเล้าประโลมอยู่ด้วยอาการอันงดงาม ชะม้อย ชะม้ายชำเลืองดูเรา ดังจะปล้นเอาดวงใจของเราไปเสียเลย เหมือนนาง กินนรเกิดบนภูเขาในป่า ฉะนั้น ก็คราวนั้นนางผู้พริ้งเพรา มีตัวเป็นสีทอง สวมกุณฑลแก้วมณี ผ้านุ่งผ้าห่มท่อนเดียวชำเลืองดูเราประดุจนางเนื้อ ทรายมองดูนายพราน ฉะนั้น เมื่อไรหนอ นางผู้มีเล็บแดง มีขนงาม มี แขนนุ่มนิ่มลูบไล้ด้วยแก่นจันทน์ มีนิ้วมือกลมเกลี้ยง มีกระบวนชดช้อย งามตั้งแต่ศีรษะจักได้ยั่วยวนเรา เมื่อไรหนอ ธิดาของท่านเศรษฐีติรีวัจฉะ ผู้มีทับทรวงอันกระทำด้วยข่ายทอง เอวกลมจักกอดรัดเราด้วยแขนทั้ง สองอันนุ่มนิ่ม ประดุจเถาย่านทรายรวบรัดต้นไม้ที่เกิดในป่าใหญ่ ฉะนั้น เมื่อไรหนอ นางผู้มีผิวงามแดงดังน้ำครั่ง มีถันเป็นปริมณฑลดังฟองน้ำ มีอวัยวะฉาบด้วยผิวหนังเปล่งปลั่งดังดอกปุณฑริก จักจรดปากด้วยปาก กะเรา เหมือนดังนักเลงสุราจรดจอกสุราให้แก่นักเลงสุรา ฉะนั้น ใน กาลใด เราได้เห็นนางผู้มีร่างกายทุกส่วนอันน่ารื่นรมย์ใจยืนอยู่ ในกาล นั้น เราไม่รู้สึกอะไรๆ แก่จิตของตนเลย เราได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้ สวมสอดกุณฑลมณีแล้ว นอนไม่หลับทั้งกลางวันและกลางคืน เหมือน แพ้ข้าศึกมาตั้งพันครั้ง ถ้าท้าวสักกะพึงประทานพรให้แก่เรา ขอให้เรา พึงได้พรนั้นเถิด อภิปารกเสนาบดีพึงรื่นรมย์อยู่กับนางอุมมาทันตีคืน หนึ่งหรือสองคืน ต่อจากนั้นพระเจ้าสีวิราชพึงได้รื่นรมย์บ้าง. [๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นภูตบดี เมื่อข้าพระองค์นมัสการเทวดาทั้งหลายอยู่ เทวดามาบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ว่า พระทัยของพระราชาใฝ่ฝันใน นางอุมมาทันตี ข้าพระองค์ขอถวายนางแด่พระองค์ ขอพระองค์จงให้ นางบำเรอเถิด ฯ [๒๕] ก็เราพึงพรากเสียจากบุญและไม่เป็นเทวดา อนึ่ง คนพึงรู้ความชั่วของ เรานี้ และเมื่อท่านให้นางอุมมาทันตีภรรยาที่รักแล้วไม่เห็นนาง ความ แค้นใจอย่างร้ายแรงจะพึงมีแก่ท่าน. [๒๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชานิกร ประชาชนแม้ทั้งสิ้นนอกจากข้าพระ บาทและพระองค์ ไม่พึงรู้กรรมที่ทำกัน ข้าพระบาทยอมถวายนาง อุมมาทันตีแก่พระองค์ พระองค์จงทรงอภิรมย์อยู่กับนางเต็มพระหฤทัย ปรารถนาแล้ว จงทรงสลัดเสีย. [๒๗] มนุษย์ใดผู้กระทำกรรมอันลามก มนุษย์นั้นย่อมสำคัญว่าคนอื่นไม่รู้การ กระทำนี้ เพราะว่านรชนเหล่าใดประกอบแล้วบนพื้นปฐพี นรชน เหล่านั้นย่อมเห็นการกระทำนี้ คนอื่นใครเล่าในแผ่นดินนี้ทั้งโลกพึงเชื่อ ท่านหรือว่า นางอุมมาทันตีไม่เป็นที่รักแห่งเรา เมื่อท่านให้นางอุมมา- ทันตีภรรยายอดรักแล้ว ไม่เห็นนางภายหลัง ความคับแค้นใจอย่างร้าย แรงจะพึงมีแก่ท่าน. [๒๘] ข้าแต่พระจอมประชาชน นางอุมมาทันตีนั้นเป็นที่รักของข้าพระบาทโดย แท้ ข้าแต่พระภูมิบาล นางไม่เป็นที่รักของข้าพระบาทก็หาไม่ ขอความ เจริญจงมีแด่พระองค์ เชิญพระองค์เสด็จไปหานางอุมมาทันตีเถิด เหมือน ดังราชสีห์เข้าสู่ถ้ำสิลา ฉะนั้น. [๒๙] นักปราชญ์ทั้งหลายถูกความทุกข์ของตนบีบคั้นแล้ว ย่อมไม่ละกรรมที่มี ผลเป็นสุข แม้จะเป็นผู้หลงมัวเมาด้วยความสุข ก็ย่อมไม่ประพฤติบาป กรรม. [๓๐] ก็พระองค์เป็นทั้งพระมารดาพระบิดา เป็นผู้เลี้ยงดู เป็นเจ้านาย เป็น ผู้พอกเลี้ยง และเป็นเทวดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์พร้อมด้วยบุตร และภรรยาเป็นทาสของพระองค์ ขอพระองค์ทรงบริโภคกามตามความ สุขเถิด. [๓๑] ผู้ใดย่อมทำบาปด้วยความสำคัญว่า เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และครั้นกระทำ แล้วก็ไม่สะดุ้งกลัวต่อชนเหล่าอื่น ผู้นั้นย่อมไม่เป็นอยู่ตลอดอายุยืนยาว เพราะกรรมนั้น แม้เทวดาก็มองดูผู้นั้นด้วยนัยน์ตาอันเหยียดหยาม. [๓๒] ชนเหล่าใดตั้งอยู่ในธรรม ย่อมรับทานที่เป็นของผู้อื่นอันเจ้าของมอบให้ แล้ว ชนเหล่านั้นเป็นผู้รับด้วย เป็นผู้ให้ในทานนั้นด้อย ได้ชื่อว่าทำ กรรมอันมีผลเป็นสุขในเพราะทานนั้นแท้จริง. [๓๓] คนอื่นใครเล่าในแผ่นดินทั้งโลก จะพึงเชื่อท่านหรือว่า นางอุมมาทันตี ไม่เป็นที่รักของเรา เมื่อท่านให้นางอุมมาทันตีภรรยายอดรักแล้ว ไม่ เห็นนางภายหลัง ความคับแค้นใจอย่างร้ายแรงจะพึงมีแก่ท่าน. [๓๔] ข้าแต่พระจอมประชาชน นางอุมมาทันตีนั้นเป็นที่รักของข้าพระบาท โดยแท้ ข้าแต่พระภูมิบาล นางไม่เป็นที่รักของข้าพระบาทก็หาไม่ ข้าพระบาทยอมถวายนางอุมมาทันตีแก่พระองค์ พระองค์จงทรงอภิรมย์ อยู่กับนางเต็มพระหฤทัยปรารถนาแล้ว จงทรงสลัดเสีย. [๓๕] ผู้ใดก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยทุกข์ของตน หรือก่อความสุขของตนด้วย ความสุขของผู้อื่น ผู้ใดรู้อย่างนี้ว่า ความสุขและความทุกข์ของเรานี้ก็ เหมือนของผู้อื่น ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรม ฯ [๓๖] คนอื่นใครเล่าในแผ่นดินทั้งโลก จะพึงเชื่อท่านหรือว่านางอุมมาทันตี ไม่เป็นที่รักของเรา เมื่อท่านให้นางอุมมาทันตีภรรยายอดรักแล้ว ไม่เห็น นางภายหลัง ความคับแค้นใจอย่างร้ายแรงจะพึงมีแก่ท่าน [๓๗] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมประชาชน พระองค์ย่อมทรงทราบว่า นางอุมมาทันตี นี้เป็นที่รักของข้าพระบาท ข้าแต่พระจอมภูมิบาล นางนั้นไม่เป็นที่รัก ของข้าพระบาทก็หาไม่ ข้าพระบาทขอถวายสิ่งอันเป็นที่รักแก่พระองค์ ด้วยสิ่งอันเป็นที่รัก ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ผู้ให้สิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมได้สิ่งอันเป็นที่รัก. [๓๘] เรานั้นจักฆ่าตนอันมีกามเป็นเหตุโดยแท้ เราไม่อาจฆ่าธรรมด้วยอธรรม ได้เลย. [๓๙] ข้าแต่พระจอมประชาชน ผู้แกล้วกล้ากว่านรชน ผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ ไม่ต้องพระประสงค์นางอุมมาทันตี ผู้เป็นของข้าพระบาทไซร้ ข้าพระบาท จะสละนางในท่ามกลางชนทั้งปวง พระองค์พึงรับสั่งให้นำนางผู้พ้นจาก ข้าพระบาทแล้วมาจากที่นั้นเถิด พระเจ้าข้า. [๔๐] ดูกรอภิปารกเสนาบดีผู้กระทำประโยชน์ ถ้าท่านจะสละนางอุมมาทันตี ผู้หาประโยชน์มิได้ เพื่อสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ท่าน ความค่อนว่า อย่างใหญ่หลวงจะพึงมีแก่ท่าน อนึ่ง แม้การใส่ร้ายในพระนครก็จะพึง มีแก่ท่าน. [๔๑] ข้าแต่พระจอมภูมิบาล ข้าพระบาทจักอดกลั้นความค่อนว่าคำนินทา คำ สรรเสริญ และคำติเตียนทั้งหมด ความค่อนว่าเป็นต้นนั้นจงตกอยู่แก่ข้า พระบาท ข้าแต่พระจอมแห่งชนชาวสีพี ขอพระองค์ทรงบริโภคกามตาม ความสำราญเถิด ผู้ใดไม่ถือเอาความนินทา ความสรรเสริญ ความ ติเตียน และแม้การบูชา สิริและปัญญาย่อมปราศไปจากผู้นั้น เหมือน ดังน้ำฝนปราศไปจากดอน ฉะนั้น ข้าพระบาทจักยอมรับความทุกข์ความ สุข สิ่งที่ล่วงธรรมดาและความคับแค้นใจทั้งหมดเพราะเหตุแห่งการสละ นี้ด้วยอก เหมือนดังแผ่นดินรองรับสิ่งของทั้งของคนมั่นคงและคนสะดุ้ง ฉะนั้น. [๔๒] เราไม่ปรารถนาสิ่งที่ล่วงธรรมดา ความคับแค้นใจและความทุกข์ของชน เหล่าอื่น เราแม้ผู้เดียวจักเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ไม่ยังประโยชน์หน่อย หนึ่งให้เสื่อม ข้ามภาระนี้ไป. [๔๓] ข้าแต่จอมประชาชน บุญกรรมย่อมให้เข้าถึงสวรรค์ พระองค์อย่าได้ทรง ทำอันตรายแก่ข้าพระบาทเสียเลย ข้าพระบาทมีใจเลื่อมใสขอถวายนาง อุมมาทันตีแด่พระองค์ ดังพระราชาทรงประทานทรัพย์สำหรับบูชายัญ แก่พราหมณ์ทั้งหลาย ฉะนั้น. [๔๔] ท่านเป็นผู้เกื้อกูลแก่เราในการกระทำประโยชน์แน่แท้ นางอุมมาทันตี และท่านเป็นสหายของเรา เทวดาและพรหมทั้งหมดเห็นความชั่วอันเป็น ไปในภายหน้า พึงติเตียนได้ [๔๕] ข้าแต่พระเจ้าสีวิราช ชาวนิคมและชาวชนบททั้งหมด ไม่พึงคัดค้าน กรรมอันเป็นธรรมนั้นเลย ข้าพระบาทขอถวายนางอุมมาทันตีแก่พระองค์ พระองค์จงทรงอภิรมย์อยู่กับนางเต็มพระหฤทัยปรารถนาแล้ว จงทรง สลัดเสีย. [๔๖] ท่านเป็นผู้เกื้อกูลแก่เราในการทำประโยชน์แน่แท้ นางอุมมาทันตีและ ท่านเป็นสหายของเรา ธรรมของสัตบุรุษที่ประกาศดีแล้ว ยากที่จะละ ได้ เหมือนเขตแดนของสมุทรฉะนั้น. [๔๗] ข้าแต่พระราชา พระองค์เป็นผู้ควรของคำนับของข้าพระองค์ เป็นผู้หวัง ประโยชน์เกื้อกูล เป็นผู้ทรงไว้ เป็นผู้ประทานความสุข และทรงรักษา ความปรารถนาไว้ ยัญที่บูชาในพระองค์ย่อมมีผลมาก ขอพระองค์ทรง รับนางอุมมาทันตีตามความปรารถนาของข้าพระองค์เถิด. [๔๘] ดูกรอภิปรารกเสนาบดีผู้เป็นบุตรแห่งท่านผู้กระทำประโยชน์ ท่านได้ ประพฤติแล้วซึ่งธรรมทั้งปวงแก่เราโดยแท้ นอกจากท่าน มนุษย์อื่นใคร เล่าหนอจักเป็นผู้กระทำความสวัสดีในเวลาอรุณขึ้น ในชีวโลกนี้. [๔๙] พระองค์เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้เยี่ยม พระองค์ทรงดำเนินโดยธรรม ทรง รู้แจ้งธรรม มีพระปัญญาดี ขอพระองค์ผู้อันธรรมคุ้มครองแล้วจงทรง พระชนม์ยั่งยืนนาน ข้าแต่พระองค์ผู้รักษาธรรม ขอพระองค์โปรดแสดง ธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด. [๕๐] ดูกรอภิปารกเสนาบดี เชิญท่านฟังคำของเราเถิด เราจักแสดงธรรมที่ สัตบุรุษซ่องเสพแก่ท่าน พระราชาชอบใจธรรมจึงจะดีงาม นรชนผู้มี ความรู้รอบจึงจะดีงาม ความไม่ประทุษร้ายต่อมิตรเป็นความดี การไม่ กระทำบาปเป็นสุข มนุษย์ทั้งหลายพึงอยู่เป็นสุข ในแว่นแคว้นของพระ ราชาผู้ไม่ทรงกริ้วโกรธ ทรงตั้งอยู่ในธรรม เหมือนเรือนของตนอันมีร่ม เงาเย็นฉะนั้น เราย่อมไม่ชอบใจกรรมที่ทำด้วยความไม่พิจารณาอันเป็น กรรมไม่ดีนั้นเลย แม้พระราชาเหล่าใดทรงทราบแล้วไม่ทรงทำเอง เรา ชอบใจกรรมของพระราชาเหล่านั้น ขอท่านจงฟังอุปมาของเราต่อไปนี้ ถ้า เมื่อฝูงโคว่ายข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงว่ายไปคด โคทั้งหมดนั้นก็ว่ายไป คด ในเมื่อโคนำฝูงว่ายคด ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ผู้ใดได้รับยกย่อง ว่าเป็นผู้ประเสริฐ ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรมจะป่วยกล่าวไปไยถึงประชาชน นอกนี้ รัฐทั้งหมดย่อมอยู่เป็นทุกข์ ถ้าพระราชาไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม เมื่อฝูงโคว่ายข้ามไปอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงว่ายไปตรง โคทั้งหมดนั้นก็ว่ายไป ตรง ในเมื่อโคนำฝูงว่ายไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ผู้ใดได้รับ ยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐ ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรม จะป่วยกล่าวไปไยถึง ประชาชนนอกนี้ รัฐทั้งหมดย่อมอยู่เป็นสุข ถ้าพระราชาทรงตั้งอยู่ใน ธรรม ดูกรอภิปารกเสนาบดี เราไม่พึงปรารถนาเพื่อความเป็นเทวดา และเพื่อครอบครองแผ่นดินทั้งหมดนี้ โดยอธรรม รัตนะอย่างใดอย่าง หนึ่งคือ โค ทาส เงิน ผ้า และจันทน์เทศ มีอยู่ในมนุษย์นี้ เราจะไม่ ประพฤติผิดธรรมเพราะความปรารถนารัตนะเหล่านั้น บุคคลไม่พึงประ พฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งสมบัตินั้น เป็นต้นว่า ม้า หญิง แก้วมณี หรือแม้พระจันทร์และพระอาทิตย์ที่รักษาอยู่ เราเป็นผู้องอาจ เกิดใน ท่ามกลางแห่งชาวสีพีทั้งหลาย ฉะนั้น เราจะไม่ประพฤติผิดธรรมเพราะ เหตุแห่งสมบัตินั้น เราจะเป็นผู้นำ จะเป็นผู้เกื้อกูล เป็นผู้เฟื่องฟูปกครอง แว่นแคว้น จักเป็นผู้เคารพธรรม ของชาวสีพี จะเป็นผู้คิดค้นซึ่ง ธรรม เพราะฉะนั้น เราจะไม่เป็นไปในอำนาจแห่งจิตของตน [๕๑] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงประพฤติธรรมอันไม่มีความฉิบหาย เป็นแดนเกษมอยู่เป็นนิจแน่แท้ พระองค์จักดำรงราชสมบัติอยู่ยั่งยืน นาน เพราะพระปัญญาของพระองค์เป็นเช่นนั้น พระองค์ไม่ทรงประมาท ธรรมใด ข้าพระองค์ขออนุโมทนาธรรมนั้นของพระองค์ กษัตริย์ผู้เป็น อิสระทรงประมาทธรรมแล้ว ย่อมเคลื่อนจากรัฐ ข้าแต่พระมหากษัตริย์ ขัตติยราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระชนนีและพระชนก ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้วจักเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์จงทรง ประพฤติธรรมในพระราชบุตรและพระมเหสี ครั้นทรงประพฤติธรรม ในโลกนี้แล้วจักเสด็จสู่สวรรค์ ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในมิตร และอำมาตย์ ... ในราชพาหนะและทะแกล้วทหาร ... ในบ้านและนิคม ... ในแว่นแคว้นและชนบท ... ในสมณะและพราหมณ์ ... ในเนื้อและนก ทั้งหลาย ... ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้วจักเสด็จสู่สวรรค์ ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงประพฤติธรรมเถิด เพราะว่าธรรม ที่ประพฤติแล้วย่อมนำสุขมาให้ ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลก นี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรง ประพฤติธรรมเถิด ด้วยว่าพระอินทร์ เทวดา พร้อมทั้งพรหม เป็นผู้ ถึงทิพยสถานเพราะธรรมที่ประพฤติแล้ว ข้าแต่พระราชา พระองค์อย่า ทรงประมาทธรรมเลย.
จบ อุมมาทันตีชาดกที่ ๒
๓. มหาโพธิชาดก
ว่าด้วยปฏิปทาของผู้นำ
[๕๒] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงรีบร้อนถือเอาไม้เท้า หนังเสือ ร่ม รองเท้า ไม้ขอ บาตร และผ้าพาด ท่านปรารถนาจะไป ยังทิศไหนหนอ. [๕๓] ตลอด ๑๒ ปีที่อาตมภาพอยู่ในสำนักของมหาบพิตรนี้ อาตมภาพมิได้รู้ สึกถึงเสียงที่สุนัขเหลืองมันคำรามด้วยหูเลย ดูกรพระองค์ผู้เป็นใหญ่ เพราะมหาบพิตรพร้อมด้วยพระมเหสีปราศจากความเชื่อถือในเขา มาทรง เชื่อฟังอาตมภาพ มันจึงแยกเขี้ยวขาวเห่าอยู่ คล้ายกับว่าไม่เคยรู้จัก กัน ฉะนั้น. [๕๔] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ โทษที่ข้าพเจ้าทำแล้วนั้น จริงตามที่ท่านกล่าว ข้าพเจ้า นี้ย่อมเลื่อมใสยิ่งนัก ขอท่านจงอยู่เถิด อย่าเพิ่งไปเสียเลย ท่านพราหมณ์. [๕๕] เมื่อก่อนข้าวสุกขาวล้วน ภายหลังก็มีสิ่งอื่นเจือปน บัดนี้ แดงล้วน เวลานี้เป็นเวลาสมควรที่อาตมภาพจะหลีกไป อนึ่ง เมื่อก่อนอาสนะมี ในภายใน ต่อมามีในท่ามกลาง ต่อมามีข้างนอก ต่อมาก็จะถูกขับไล่ ออกจากพระราชนิเวศน์ อาตมภาพจะขอไปเสียเองละ บุคคลไม่ควร คบหาคนที่ปราศจากศรัทธา เหมือนบ่อที่ไม่มีน้ำ ฉะนั้น ถ้าแม้บุคคล จะพึงขุดบ่อน้ำนั้น บ่อนั้นก็จะมีน้ำที่มีกลิ่นโคลนตม บุคคลควรคบคน ที่เลื่อมใสเท่านั้น ควรเว้นคนที่ไม่เลื่อมใส ควรเข้าไปนั่งใกล้คนที่ เลื่อมใส เหมือนคนผู้ต้องการน้ำเข้าไปหาห้วงน้ำ ฉะนั้น ควรคบคนผู้ คบด้วย ไม่ควรคบคนผู้ไม่คบด้วย ผู้ใดไม่คบคนผู้คบด้วย ผู้นั้นชื่อ ว่ามีธรรมของอสัตบุรุษ ผู้ใดไม่คบคนผู้คบด้วย ไม่ซ่องเสพคนผู้ซ่อง เสพด้วย ผู้นั้นแล เป็นมนุษย์ชั่วช้าที่สุด เหมือนลิง ฉะนั้น มิตร ทั้งหลายย่อมแหนงหน่ายกันด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ คือ ด้วยการคลุกคลี กันเกินไป ๑ ด้วยการไม่ไปมาหากัน ๑ ด้วยการขอในเวลาไม่สมควร ๑ เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรไปมาหากันให้พร่ำเพรื่อนัก ไม่ควรเหิน ห่างไปให้เนิ่นนาน และควรขอสิ่งที่ควรขอตามเหตุกาลที่สมควร ด้วย อาการอย่างนี้ มิตรทั้งหลายจึงจะไม่แหนงหน่ายกัน คนที่รักกันย่อม ไม่เป็นที่รักกันได้เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกินควร อาตมภาพมิได้เป็น ที่รักของมหาบพิตรมาก่อน เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงขอลาพระองค์ ไปก่อนละ. [๕๖] ถ้าพระคุณเจ้าไม่รับอัญชลี ของสัตว์ผู้เป็นบริวารมาอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ไม่กระทำตามคำขอร้องของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าวิงวอนพระคุณเจ้า ขอ พระคุณเจ้าโปรดกลับมาเยี่ยมอีก. [๕๗] ดูกรมหาบพิตรผู้ผดุงรัฐ ถ้าเมื่อเราทั้งหลายอยู่อย่างนี้ อันตรายจักไม่มี แม้ไฉนเราทั้งหลายพึงเห็นการล่วงไปแห่งวันและคืนของมหาบพิตรและ ของอาตมภาพ. [๕๘] ถ้าถ้อยคำของท่านเป็นไปตามคติที่ดีและตามสุภาพ สัตว์กระทำกรรมที่ไม่ ควรทำบ้าง ที่ควรทำบ้าง เพราะความไม่ใคร่ในกรรมที่สัตว์กระทำ สัตว์ อะไรในโลกนี้จะเปื้อนด้วยบาปเล่า ถ้าเนื้อความแห่งภาษิตของท่านนั้น เป็นอรรถเป็นธรรมและเป็นถ้อยคำงาม ไม่ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านเป็น ความจริง ลิงก็เป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านรู้ความผิดแห่งวาทะของตน ก็จะไม่พึงติเตียนเราเลย เพราะว่าวาทะของท่านเป็นเช่นนั้น. [๕๙] ถ้าว่าพระเป็นเจ้าสร้างชีวิต สร้างฤทธิ์ สร้างความพินาศ สร้างกรรมดี และกรรมชั่ว ให้แก่โลกทั้งหมดไซร้ บุรุษผู้กระทำตามคำสั่งของพระ เป็นเจ้าก็ย่อมทำบาปได้ พระเป็นเจ้าย่อมเปื้อนด้วยบาปนั้นเอง ถ้า เนื้อความแห่งภาษิตของท่านเป็นอรรถเป็นธรรม ... เพราะว่าวาทะท่านเป็น เช่นนั้น. [๖๐] ถ้าสัตว์ย่อมเข้าถึงสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่กระทำไว้แล้วใน ปางก่อน กรรมเก่าที่กระทำไว้แล้ว เขาย่อมเปลื้องหนี้นั้นได้ ทางพ้นจาก หนี้เก่ามีอยู่ ใครเล่าในโลกนี้จะเปื้อนด้วยบาป ถ้าเนื้อความแห่งภาษิต ของท่าน เป็นอรรถเป็นธรรม ... เพราะว่าวาทะของท่านเป็นเช่นนั้น. [๖๑] รูปของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นอยู่ได้เพราะอาศัยธาตุ ๔ เท่านั้น ก็รูปเกิด จากสิ่งใด ย่อมเข้าถึงในสิ่งนั้นอย่างเดิม ชีพย่อมเป็นอยู่ในโลกนี้เท่านั้น ละไปแล้วย่อมพินาศในโลกหน้า โลกนี้ขาดสูญ เมื่อโลกขาดสูญอยู่ อย่างนี้ ชนเหล่าใดทั้งที่เป็นพาลทั้งที่เป็นบัณฑิต ชนเหล่านั้นย่อม ขาดสูญทั้งหมด ใครเล่าในโลกนี้จะเปื้อนด้วยบาป ถ้าเนื้อความแห่ง ภาษิตของท่านเป็นอรรถเป็นธรรม ... เพราะว่าวาทะของท่านเป็นเช่นนั้น. [๖๒] อาจารย์ทั้งหลายผู้มีวาทะว่า การฆ่ามารดาบิดา เป็นกิจที่ควรทำ ได้ กล่าวไว้แล้วในโลก พวกคนพาลผู้สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต พึงฆ่ามารดา บิดา พึงฆ่าพี่ ฆ่าน้อง ฆ่าบุตร และภรรยา ถ้าประโยชน์เช่นนั้นพึงมี. [๖๓] บุคคลพึงนั่งหรือนอนที่ร่มไม้ใด ไม่ควรหักกิ่งไม้นั้น เพราะว่าผู้ประทุษ- ร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม ถ้าเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นก็ควรถอนไปแม้ ทั้งราก แม้ประโยชน์ที่จะมีต่อเรามาก วานรเป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้า เนื้อความแห่งภาษิตของท่านเป็นอรรถเป็นธรรม ... เพราะวาทะของท่าน เป็นเช่นนั้น. [๖๔] บุรุษผู้มีวาทะว่าหาเหตุมิได้ ๑ ผู้มีวาทะว่าพระเจ้าสร้างโลก ๑ ผู้มีวาทะ ว่าสุขและทุกข์เกิดเพราะกรรมที่ทำมาก่อน ๑ ผู้มีวาทะว่าขาดสูญ ๑ คนที่มีวาทะว่าฆ่าบิดามารดาเป็นกิจที่ควรทำ ๑ ทั้ง ๕ คนนี้ เป็นอสัต- บุรุษ เป็นคนพาล แต่มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิตในโลก คนเช่นนั้น พึงกระทำบาปเองก็ได้ พึงชักชวนผู้อื่นให้กระทำก็ได้ ความคลุกคลีด้วย อสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร. [๖๕] ในปางก่อน นกยางตัวหนึ่งมีรูปเหมือนแกะ พวกแกะไม่รังเกียจ เข้า ไปยังฝูงแกะ ฆ่าแกะทั้งตัวเมียตัวผู้ ครั้นฆ่าแล้ว ก็บินหนีไปด้วยอาการ อย่างใด สมณพราหมณ์บางพวกก็มีอาการเหมือนอย่างนั้น กระทำการ ปิดบังตัว เที่ยวหลอกลวงมนุษย์ บางพวกประพฤติไม่กินอาหาร บาง พวกนอนบนแผ่นดิน บางพวกทำกริยาขัดถูธุลีในตัว บางพวกตั้งความ เพียรเดินกระโหย่ง บางพวกงดกินอาหารชั่วคราว บางพวกไม่ดื่มน้ำ เป็นผู้มีอาจาระเลวทราม เที่ยวพูดอวดว่าเป็นพระอรหันต์ คนเหล่านี้ เป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาลแต่มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิต คนเช่นนั้น พึงกระทำบาปเองก็ได้ พึงชักชวนผู้อื่นให้กระทำก็ได้ ความคลุกคลีด้วย อสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร พวกคนที่กล่าวว่าความ เพียรไม่มี และพวกที่กล่าวหาเหตุติเตียนการกระทำของผู้อื่นบ้าง กล่าว สรรเสริญการกระทำของตนบ้าง และพูดเปล่าๆ บ้าง คนเหล่านี้เป็น อสัตบุรุษ เป็นคนพาล แต่มีความสำคัญตนว่า เป็นบัณฑิต คนเช่นนั้น พึงกระทำบาปเองก็ได้ พึงชักชวนให้ผู้อื่นกระทำก็ได้ ความคลุกคลีด้วย อสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนอันเป็นกำไร ก็ถ้าความเพียรไม่ พึงมี กรรมดีกรรมชั่วไม่มีไซร้ พระราชาก็จะไม่ทรงชุบเลี้ยงพวกช่างไม้ แม้นายช่างก็ไม่พึงกระทำยนต์ทั้งหลาย แต่เพราะความเพียรมีอยู่ กรรม ดีกรรมชั่วมีอยู่ ฉะนั้น นายช่างพึงกระทำยนต์ทั้งหลาย พระราชาก็ทรง ชุบเลี้ยงนายช่าง ถ้าฝนไม่ตก น้ำค้างไม่ตกตลอดร้อยปี โลกนี้ก็พึงขาด สูญ หมู่สัตว์ก็พึงพินาศ แต่เพราะฝนก็ตกและน้ำค้างก็ยังโปรยอยู่ ฉะนั้น ข้าวกล้าจึงสุกและเลี้ยงชาวเมืองให้ดำรงอยู่ได้นาน ถ้าเมื่อฝูงโค ข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงไปคด เมื่อมีโคผู้นำฝูงไปคด โคทั้งหมดนี้ก็ย่อม ไปคด ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็น ผู้ประเสริฐสุด ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม จะป่วยกล่าวไปไยถึงประ- ชาชนนอกนี้ ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นทุกข์ ถ้าพระราชาไม่ทรงดำรง อยู่ในธรรม ถ้าเมื่อฝูงโคข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงไปตรง เมื่อมีโคผู้นำฝูง ไปตรง โคทั้งหมดนั้นก็ไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าแม้ผู้นั้นประพฤติเป็นธรรม ไม่ จำต้องกล่าวถึงประชาชนนอกนี้ ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นสุข ถ้าพระ ราชาทรงดำรงอยู่ในธรรม เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บผลดิบมา ผู้นั้น ย่อมไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์ แห่งต้นไม้นั้นก็ย่อมพินาศ รัฐ เปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชาใดทรงปกครองโดยไม่เป็นธรรม พระ- ราชานั้นย่อมไม่รู้จักรสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชานั้นก็ย่อม พินาศ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บเอาผลสุกๆ มา ผู้นั้นย่อมรู้รส แห่งผลไม้นั้น และพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็ไม่พินาศ รัฐเปรียบด้วย ต้นไม้ใหญ่ พระราชาใดปกครองโดยธรรม พระราชานั้นย่อมทรงทราบ รสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชานั้นก็ไม่พินาศ อนึ่ง ขัตติยราช พระองค์ใด ทรงปกครองชนบทโดยไม่เป็นธรรม ขัตติยราชพระองค์นั้น ย่อมคลาดจากโอชะทั้งปวง อนึ่ง พระราชาพระองค์ใด ทรงเบียดเบียน ชาวนิคมผู้ประกอบการซื้อขาย กระทำการถวายโอชะและพลีกรรม พระราชาพระองค์นั้นย่อมคลาดจากส่วนพระราชทรัพย์ พระราชาพระองค์ ใด ทรงเบียดเบียนนายพรานผู้รู้เขตแห่งการประหารอย่างดี และเบียด เบียนทหารผู้กระทำความชอบในสงคราม เบียดเบียนอำมาตย์ผู้รุ่งเรือง พระราชาพระองค์นั้นย่อมคลาดจากพลนิกาย อนึ่ง กษัตริย์ผู้ไม่ประพฤติ ธรรม เบียดเบียนบรรพชิตผู้แสวงหาคุณ ผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ กษัตริย์พระองค์นั้นย่อมคลาดจากสวรรค์ อนึ่ง พระราชาผู้ไม่ดำรงอยู่ ในธรรม ฆ่าพระชายาผู้ไม่ประทุษร้าย ย่อมได้ประสบเหตุแห่งทุกข์ อย่างหนัก และย่อมผิดพลาดด้วยพระราชบุตรทั้งหลาย พระราชาพึง ประพฤติธรรมในชาวชนบท ชาวนิคม พลนิกาย ไม่พึงเบียดเบียน บรรพชิต พึงประพฤติสม่ำเสมอในพระโอรสและพระชายา พระราชาผู้ เป็นภูมิบดีเช่นนั้น เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง ไม่ทรงพิโรธ ย่อมทรงทำ ให้ผู้อยู่ใกล้เคียงหวั่นไหว เหมือนพระอินทร์ผู้เป็นเจ้าแห่งอสูร ฉะนั้น.
จบ มหาโพธิชาดกที่ ๓
-----------------------------------------------------
รวมชาดกในปัญญาสนิบาตนั้นมี ๓ ชาดก คือ
๑. นฬินิกาชาดก ๒. อุมมาทันตีชาดก ๓. มหาโพธิชาดก สุภกถาพระชินเจ้าตรัสแล้ว เป็น ๓ ชาดก.
จบ ปัญญาสนิบาตชาดก.
-----------------------------------------------------
สัฏฐินิบาตชาดก
๑. โสณกชาดก
เรื่องพระราชาจะพระราชทานรางวัลแก่ผู้พบโสณกกุมาร
[๖๖] เราจะให้ทรัพย์ร้อยหนึ่งแก่ใครๆ ผู้ได้ยินข่าวแล้วมาบอกแก่เราใครพบ โสณกะผู้สหายเคยเล่นมาด้วยกันแล้วบอกแก่เรา เราจะให้ทรัพย์พันหนึ่ง แก่ผู้ที่พบโสณกะนั้น ลำดับนั้น มาณพน้อยมีผมห้าแหยมได้กราบทูลพระ ราชาว่า พระองค์จงทรงประทานทรัพย์ร้อยหนึ่ง แก่ข้าพระองค์ผู้ได้ยิน ข่าวแล้วมากราบทูล ข้าพระองค์พบโสณกะพระสหายเคยเล่นมาด้วยกัน แล้ว จึงกราบทูลแด่พระองค์ ขอพระองค์จงทรงประทานทรัพย์พันหนึ่ง แก่ข้าพระองค์ผู้พบโสณกะ. [๖๗] โสณกกุมารนั้นอยู่ในชนบท แว่นแคว้นหรือนิคมไหนท่านได้พบโสณก กุมาร ณ ที่ไหน เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา. [๖๘] ขอเดชะ ต้นรังใหญ่หลายต้นมีลำต้นตรง มีสีเขียวเหมือนเมฆเป็นที่ชอบ ใจน่ารื่นรมย์ อันอาศัยกันและกัน ตั้งอยู่ในภาคพื้นพระราชอุทยานใน แว่นแคว้นของพระองค์นั่นเอง พระโสณกะเมื่อสัตว์โลกมีความยึดมั่น เป็นผู้ไม่ยึดมั่น เมื่อสัตว์โลกถูกไฟเผา เป็นผู้ดับแล้ว เพ่งฌานอยู่ที่โคน แห่งต้นรังเหล่านั้น. [๖๙] ลำดับนั้นแล พระราชารับสั่งให้ทำทางให้ราบเรียบแล้ว เสด็จไปยังที่อยู่ ของพระโสณกะพร้อมด้วยจาตุรงคเสนา เมื่อเสด็จประพาสไปในไพร วันก็เสด็จถึงภูมิภาคแห่งอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นพระโสณกะ ผู้ นั่งอยู่เมื่อสัตว์โลกถูกไฟเผาเป็นผู้ดับแล้ว. [๗๐] ภิกษุนี้เป็นคนกำพร้าหนอ ศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ ไม่มีมารดา ไม่มีบิดา นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ ฯ [๗๑] พระโสณกะได้ฟังพระดำรัสนี้แล้ว จึงได้ทูลว่า ดูกรมหาบพิตรบุคคลผู้ถูก ต้องธรรมด้วยนามกาย ไม่ชื่อว่าเป็นคนกำพร้าผู้ใดในโลกนี้นำเสียซึ่ง ธรรม อนุวัตตามอธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนกำพร้า เป็นคนลามก มีบาป กรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ขอถวายพระพร ฯ [๗๒] มหาชนรู้จักนามของข้าพเจ้าว่า อรินทมะ และรู้จักข้าพเจ้าว่าพระเจ้ากาสี ดูกรท่านโสณกะ การอยู่เป็นสุข ย่อมมีแก่ท่านผู้อยู่ในที่นี้แลหรือ ฯ [๗๓] ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือนทุกเมื่อ (คือ) ทรัพย์และ ข้าวเปลือก ย่อมไม่เข้าไปในฉาง ในหม้อและในกระเช้าของภิกษุเหล่า นั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้แสวงหาอาหารอันสำเร็จแล้ว มีวัตรอันงาม เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้น ข้อที่ ๒ ความเจริญย่อมมีแก่ ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ภิกษุพึงบริโภคบิณฑบาต ที่ไม่มีโทษ และกิเลสอะไรๆ ย่อมไม่ประทุษร้าย ข้อที่ ๓ ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ภิกษุบริโภคบิณฑบาตอันดับแล้ว และ กิเลสอะไรย่อมไม่ประทุษร้าย ข้อที่ ๔ ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มี ทรัพย์ไม่มีเรือน ผู้หลุดพ้นแล้ว เที่ยวไปในแว่นแคว้น ไม่มีความข้อง ข้อที่ ๕ ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ไม่มีเรือน (คือ) เมื่อไฟ ไหม้พระนครอยู่ อะไรๆ หน่อยหนึ่งของภิกษุนั้นย่อมไม่ไหม้ ข้อที่ ๖ ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) เมื่อโจรปล้น แว่นแคว้นอะไรๆ หน่อยหนึ่งของภิกษุนั้นก็ไม่หาย ข้อที่ ๗ ความ เจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ภิกษุผู้มีวัตรงามถือ บาตรและจีวร ไปสู่หนทางที่พวกโจรรักษาหรือไปสู่หนทางที่มีอันตราย อื่นๆ ย่อมไปได้โดยสวัสดี ข้อที่ ๘ ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่ มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ภิกษุจะหลีกไปยังทิศใดๆ ก็ไม่มีห่วงใยไป ยังทิศนั้นๆ. [๗๔] ข้าแต่ภิกษุ ท่านสรรเสริญความเจริญเป็นอันมากของภิกษุเหล่านั้น ส่วนข้าพเจ้ายังกำหนัดในกามทั้งหลาย จะกระทำอย่างไร กามทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของทิพย์เป็นที่รักของข้าพเจ้า เมื่อเป็น เช่นนั้น ข้าพเจ้าจะได้โลกทั้งสองด้วยเหตุไรหนอ. [๗๕] นรชนผู้กำหนัดในกาม ยินดีในกาม หมกมุ่นอยู่ในกาม กระทำบาป กรรมแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ ส่วนนรชนเหล่าใด ละกามทั้งหลายออกไป แล้ว เป็นผู้ไม่มีภัยแต่ไหนๆ บรรลุความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเกิดขึ้น นรชนเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่ทุคติดูกรพระเจ้าอรินทมะ อาตมภาพจักแสดง อุปมาถวายมหาบพิตรขอมหาบพิตรจงทรงสดับข้ออุปมานั้น บัณฑิตบาง พวกในโลกนี้ย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยข้ออุปมา กาตัวหนึ่งเป็นสัตว์มีปัญญา น้อยไม่มีความคิด เห็นซากศพช้างลอยอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ในแม่น้ำคงคา จึงคิดว่า ยานนี้เราได้แล้วหนอ และซากศพช้างนี้จักเป็นอาหารมิใช่น้อย ใจของกาตัวนั้นยินดีแล้วในซากศพช้างนั้น ตลอดคืนและวัน เมื่อกาจิก กินเนื้อช้างดื่มน้ำมีรสเหมาะส่วน เห็นต้นไม้อันใหญ่ในป่า ก็ไม่บินไป แม่น้ำคงคามีปรกติไหลลงสู่มหาสมุทร พัดเอากาตัวนั้นผู้ประมาทยินดี ในซากศพช้างไปสู่มหาสมุทร ซึ่งเป็นที่ไปไม่ได้แห่งนกทั้งหลาย กานั้น มีอาหารหมดแล้ว ตกลงในน้ำ ไปข้างหลัง ข้างหน้า ข้างเหนือ ข้างใต้ ไม่ได้ ไปไม่ถึงเกาะ สิ้นกำลังจมลงในท่ามกลางสมุทร อันเป็นที่ไป ไม่ได้แห่งนกทั้งหลาย ฝูงปลา จระเข้ มังกร และปลาร้าย ที่เกิดใน มหาสมุทร ก็ข่มเหง ฮุบกินกานั้นผู้มีปีกฉิบหายดิ้นรนอยู่ ดูกรมหา- บพิตร ฉันนั้นเหมือนกันแล พระองค์ก็ดี ชนเหล่าอื่นผู้ยังบริโภคกาม ก็ดี ถ้ายังกำหนัดในกามอยู่ ไม่ละทิ้งกามเสีย นักปราชญ์ทั้งหลายรู้ว่า ชนเหล่านั้นมีปัญญาเสมอกับกา ดูกรมหาบพิตร อุปมานี้แสดงอรรถ อย่างชัดแจ้ง อาตมภาพแสดงถวายมหาบพิตรแล้ว จักทรงทำหรือไม่ ก็จะปรากฏด้วยเหตุนั้น. [๗๖] บุคคลผู้อนุเคราะห์พึงกล่าวคำหนึ่งหรือสองคำไม่พึงกล่าวยิ่งไปกว่านั้น เปรียบเหมือนทาสในสำนักแห่งนาย. [๗๗] พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้า ผู้มีปัญญานับไม่ได้ ครั้นทูลดังนี้แล้วพร่ำสอน บรมกษัตริย์ในอากาศแล้วหลีกไป. [๗๘] บุคคลผู้อภิเศกท่านผู้สมควรให้เป็นกษัตริย์ เป็นรัชทายาทและบุคคลผู้ ถึงความฉลาด เหล่านี้อยู่ที่ไหน เราจักมอบราชสมบัติ เราไม่ต้องการ ด้วยราชสมบัติ เราจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวัน พรุ่งนี้ เราจะไม่โง่เขลาตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกา [๗๙] พระโอรสหนุ่มของพระองค์ ทรงพระนามว่าทีฆาวุ จะทรงบำรุงรัฐให้ เจริญได้มีอยู่ ขอพระองค์ทรงอภิเศกพระโอรสนั้นในพระราชสมบัติ พระราชโอรสจักเป็นพระราชาของข้าพระบาททั้งหลาย. [๘๐] ท่านทั้งหลาย จงรีบเชิญทีฆาวุกมารผู้บำรุงรัฐให้เจริญมาเถิดเราจักอภิเศก ในราชสมบัติ เธอจักเป็นพระราชาของท่านทั้งหลาย. [๘๑] ลำดับนั้น พวกอำมาตย์ได้ไปเชิญทีฆาวุราชกุมารผู้บำรุงรัฐให้เจริญมาเฝ้า พระราชาทอดพระเนตรเห็นเอกอัครโอรสผู้น่าปลื้มพระทัยนั้น จึงตรัสว่า ลูกรักเอ๋ย คามเขตหกหมื่นบริบูรณ์โดยประการทั้งปวง ลูกจงบำรุงเขา พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ ความตายในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลาตกอยู่ในอำนาจแห่ง กามทั้งหลายเหมือนกา ช้างหกหมื่นเชือก ประดับด้วยเครื่องอลังการ ปวงทั้ง มีสายรัดล้วนทองคำ เป็นช้างใหญ่มีร่างกายปกปิด ด้วยเครื่อง คลุมล้วนทองคำ อันนายควาญช้างผู้ถือโตมรและขอขึ้นกำกับ ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงช้างเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้ แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลา ตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกา ม้าหกหมื่นตัว ประดับด้วย เครื่องอลังการทั้งปวง เป็นม้าสินธพอาชาไนยโดยกำเนิด เป็นพาหนะ เร็วอันนายสารถีผู้ถือแส้และธนูขึ้นกำกับ ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงม้าเหล่า นั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะ พึงรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลาตกอยู่ในอำนาจ แห่งกามทั้งหลายเหมือนกา รถหกหมื่นคัน หุ้มเกราะไว้ดีแล้ว มีธงอัน ยกขึ้นแล้ว หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองก็มี หุ้มด้วยหนังเสือโคร่งก็มี ประดับ ด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง อันนายสารถีถือแล่งธนูสวมเกราะขึ้นประจำ ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงรถเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจัก บวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่เป็น คนโง่เขลาตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกา โคนมหกหมื่นตัว มีสีแดง ประกอบด้วยโคจ่าฝูงตัวประเสริฐ ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงโค เหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใคร เล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลาตกอยู่ใน อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกา สตรีหมื่นหกพันประดับด้วยเครื่อง อลังการทั้งปวง มีผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร สวมกุณฑลแก้วมณี ลูกรัก เอ๋ย ลูกจงบำรุงสตรีเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวช ในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ พ่อจักไม่ยอมเป็น คนโง่เขลาตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกา. [๘๒] ข้าแต่พระบิดา หม่อมฉันได้สดับว่า เมื่อหม่อมฉันเป็นเด็กๆ พระชนนี ทิวงคต หม่อมฉันไม่อาจจะเป็นอยู่ห่างพระบิดาได้ ลูกช้างย่อมติดตาม หลังช้างป่า ผู้เที่ยวอยู่ในที่มีภูเขาเดินลำบาก เสมอบ้างไม่เสมอบ้าง ฉันใด หม่อมฉันจะอุ้มบุตรธิดาติดตามไปข้างหลัง จักเป็นผู้อันพระ- บิดาเลี้ยงง่าย จักไม่เป็นผู้อันพระบิดาเลี้ยงยาก ฉันนั้น. [๘๓] อันตรายทำเรือที่แล่นอยู่ในมหาสมุทร ของพวกพ่อค้าผู้แสวงหาทรัพย์ ให้จมลงในมหาสมุทรนั้น พวกพ่อค้าพึงถึงความพินาศ ฉันใด ลูกรัก เอ๋ย เจ้านี้เป็นผู้กระทำอันตรายให้แก่พ่อฉันนั้นเหมือนกัน. [๘๔] ท่านทั้งหลาย จงพาราชกุมารนี้ไปให้ถึงปราสาทอันยังความยินดีให้เจริญ เถิด พวกนางกัญญาผู้มีมือประดับด้วยทองคำจักยังกุมารให้รื่นรมย์ใน ปราสาทนั้น เหมือนนางเทพอัปสรยังท้าวสักกะให้รื่นรมย์ ฉะนั้น และกุมารนี้จักรื่นรมย์ด้วยนางกัญญาเหล่านั้น. [๘๕] ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายจึงเชิญพระราชกุมารไปยังปราสาทอันยังความ ยินดีให้เจริญ พวกนางกัญญาเห็นทีฆาวุกุมารผู้ยังรัฐให้เจริญนั้นแล้ว จึงพากันทูลว่า พระองค์เป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือว่าเป็นท้าว- สักกปุรินททะ พระองค์เป็นใคร หรือเป็นโอรสของใคร หม่อมฉัน ทั้งหลายจะรู้จักพระองค์ได้อย่างไร. [๘๖] เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกะปุรินททะเราเป็นโอรส ของพระเจ้ากาสี ชื่อทีฆาวุผู้ยังรัฐให้เจริญ เธอทั้งหลายจงบำเรอเรา ขอ ความเจริญจงมีแก่เธอทั้งหลายเราจะเป็นสามีของเธอทั้งหลาย. [๘๗] พวกนางกัญญาในปราสาทนั้น ได้ทูลถามพระเจ้าทีฆาวุผู้บำรุงรัฐนั้นว่า พระราชาเสด็จไปถึงไหนแล้ว พระราชาเสด็จจากที่นี้ไปไหนแล้ว. [๘๘] พระราชาทรงก้าวล่วงเสียซึ่งเปือกตม ประดิษฐานอยู่บนบกเสด็จดำเนิน ไปสู่ทางใหญ่อันไม่มีหนาม ไม่มีรกชัฏ ส่วนเราเป็นผู้ดำเนินไปสู่ทางอัน ให้ถึงทุคติ มีหนาม รกชัฏ เป็นเครื่องไปสู่ทุคติ. [๘๙] ข้าแต่พระราชา พระองค์เสด็จมาดีแล้วเหมือนราชสีห์มาสู่ถ้ำ ฉะนั้น ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงอนุศาสน์พวกหม่อมฉัน ขอ พระองค์ทรงเป็นอิสราธิบดีของพวกหม่อมฉันทั้งปวงเถิด.
จบโสณกชาดกที่ ๑
๒. สังกิจจชาดก
สังกิจจฤาษีแสดงธรรมและอธรรมแก่พระเจ้าพรหมทัตต์
[๙๐] ลำดับนั้น คนเฝ้าสวนเห็นพระเจ้าพรหมทัตต์ จอมทัพ ประทับนั่งอยู่ ได้กราบทูลแด่ท้าวเธอว่า สังกิจจฤาษีที่พระองค์ทรงพระกรุณา ซึ่งยกย่อง กันว่าได้ดีแล้วในหมู่ฤาษีทั้งหลายมาถึงแล้ว เชิญพระองค์รีบเสด็จออก ไปพบท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่โดยเร็วเถิด ก็ลำดับนั้น พระราชาผู้ จอมทัพอันมิตรและอำมาตย์ล้อมแล้ว เสด็จขึ้นรถอันเทียมด้วยม้า อาชาไนยรีบเสด็จไป พระราชาผู้ทรงบำรุงแคว้นของชาวกาสีให้เจริญ ทรงเปลื้องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง คือ พัดวาลวิชนีอุณหิส พระขรรค์ เศวตฉัตรและฉลองพระบาทวางไว้แล้ว เสด็จลงจากรถ ทรงดำเนินเข้า ไปหาสังกิจจฤาษี ผู้นั่งอยู่ในพระราชอุทยานอันมีนามว่านายปัสสะ ครั้น เสด็จเข้าไปหาแล้วก็ทรงบันเทิงอยู่กับฤาษี ครั้นทรงสนทนาปราศรัยพอ ให้ระลึกถึงกันแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นประทับนั่ง แล้ว ลำดับนั้นได้ทรงสำคัญกาลอยู่ แต่นั้นทรงปฏิบัติ เพื่อจะตรัสถาม กรรมอันเป็นบาป จึงตรัสว่า ข้าพเจ้าขอถามท่านสังกิจจฤาษีผู้ได้รับ ยกย่องว่า ได้ดีแล้วในหมู่ฤาษีทั้งหลาย อันหมู่ฤาษีทั้งหลายห้อมล้อม นั่งอยู่ ในทายปัสสะอุทยานว่า นรชนผู้ประพฤติล่วงธรรม (เหมือน) ข้าพเจ้าประพฤติล่วงธรรมแล้วไปสู่คติอะไรในปรโลก ข้าพเจ้าถามแล้ว ได้โปรดบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า. [๙๑] สังกิจจฤาษี ได้กล่าวตอบพระราชาผู้บำรุงแคว้นของชาวกาสีให้เจริญ ประทับนั่งอยู่ในทายปัสสะอุทยานว่า ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตร ทรงฟังอาตมภาพ ถ้าเมื่อบุคคลเว้นทางผิด ทำตามคำของบุคคลผู้บอก ทางถูก โจรผู้เป็นเสี้ยนหนามก็ไม่พึงพบหน้าของบุคคลนั้น เมื่อบุคคล ปฏิบัติอธรรม แต่ถ้ากระทำตามคำของบุคคลผู้พร่ำสอนธรรม บุคคลนั้น ไม่พึงไปสู่ทุคติ. [๙๒] ขอถวายพระพร ธรรมเป็นทางถูก ส่วนอธรรมเป็นทางผิด อธรรม ย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมให้ถึงสุคติ นรชนผู้ประพฤติอธรรม มีความ เป็นอยู่ไม่สม่ำเสมอ ละโลกนี้แล้วย่อมไปสู่คติใด อาตมภาพจะกล่าว คติ คือ นรกเหล่านั้น ขอพระองค์ทรงสดับอาตมภาพเถิด นรก ๘ ขุมนี้ คือ สัญชีวนรก ๑ กาฬสุตตนรก ๑ สังฆาตนรก ๑ โรรุว- นรก ๑ มหาโรรุวนรก ๑ ต่อมาถึงมหาอเวจีนรก ๑ ตาปนนรก ๑ ปตาปนนรก ๑ อันบัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้แล้ว ก้าวล่วงได้ยาก เกลื่อนกล่นไปด้วยเหล่าสัตว์ ผู้มีกรรมหยาบช้าเฉพาะขุมหนึ่งๆ มี อุสสทนรก ๑๖ ขุมเป็นที่ทำบุคคลผู้กระด้างให้เร่าร้อน น่ากลัว มีเปลว เพลิงรุ่งโรจน์ มีภัยใหญ่ขนลุกขนพอง น่าสะพรึงกลัว มีภัยรอบข้าง เป็น ทุกข์ มี ๔ มุม ๔ ประตู จัดแบ่งไว้เป็นส่วนๆ มีกำแพงเหล็กกั้น โดยรอบมีฝาเหล็กครอบ ภาคพื้นของนรกเหล่านั้นล้วนแต่เหล็กแดงลุก โพลง ประกอบด้วยเปลวไฟ แผ่ไปตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ ทุกเมื่อ สัตว์ทั้งหลายมีเท้าในเบื้องบน มีศีรษะในเบื้องต่ำ ตกลงไปใน นรกนั้น สัตว์เหล่าใดกล่าวล่วงเกินฤาษีทั้งหลายผู้สำรวมแล้ว ผู้มีตบะ สัตว์เหล่านั้นผู้มีความเจริญอันขจัดแล้ว ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรก เหมือนปลาที่ถูกเฉือนให้เป็นส่วนๆ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายผู้มีปรกติ กระทำกรรมอันหยาบช้า มีตัวถูกไฟไหม้ทั้งข้างในข้างนอกเป็นนิจ แสวงหาประตูออกจากนรก ก็ไม่พบประตูที่จะออกตลอดปีนับไม่ถ้วน สัตว์เหล่านั้นวิ่งไปทางประตูด้านหน้า จากประตูด้านหน้า วิ่งกลับมา ข้างหลัง วิ่งไปทางประตูด้านซ้าย จากประตูด้านซ้ายวิ่งกลับมาทาง ประตูด้านขวา วิ่งไปถึงประตูใดๆ ประตูนั้นๆ ก็ปิดเสีย สัตว์ทั้งหลายผู้ไปสู่นรก ย่อมประคองแขนคร่ำครวญเสวยทุกข์ มิใช่น้อย นับได้แสนปีเป็นอันมาก เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่ควร รุกรานท่านที่เป็นคนดี ผู้สำรวม มีตบะธรรม ซึ่งเป็นดังอสรพิษมีเดช กำเริบร้ายล่วงได้ยาก ฉะนั้นพระเจ้าอัชชุนะ ผู้เป็นใหญ่ในแคว้นเกตกะ มีพระกายกำยำ เป็นนายขมังธนู มีพระหัตถ์ตั้งพัน มีมูลอันขาดแล้ว เพราะประทุษร้ายพระฤาษีโคตมโคตร พระเจ้าทัณฑกีได้เอาธุลีโปรยรด กีสวัจฉะฤาษี ผู้หาธุลีมิได้ พระราชานั้นถึงแล้วซึ่งความพินาศ ดุจต้น ตาลขาดแล้วจากรากฉะนั้น พระเจ้าเมชฌะคิดประทุษร้ายในมาตังคะฤาษี ผู้เรืองยศรัฐมณฑลของพระเจ้าเมชฌะ พร้อมด้วยบริษัทก็สูญสิ้นไปใน ครั้งนั้น ชาวเมืองอันธกวินทัย ประทุษร้ายกัณหทีปายนฤาษีช่วยกันเอา ไม้พลองรุมตีจนตาย ก็ไปเกิดในยมสาธนนรก ส่วนพระเจ้าเจติยราชนี้ ได้ประทุษร้ายกปิลดาบส แต่ก่อนเคยเหาะเหินเดินอากาศได้ ภายหลัง เสื่อมฤทธิ์ ถูกแผ่นดินสูบถึงมรณกาล เพราะเหตุนั้นแล บัณฑิตทั้งหลาย จึงไม่สรรเสริญการลุอำนาจแห่งฉันทาคติเป็นต้น บุคคลไม่ควรเป็นผู้มี จิตประทุษร้าย พึงกล่าววาจาอันประกอบด้วยสัจจะ ถ้าว่านรชนผู้ใดมีใจ ประทุษร้าย เพ่งเล็งท่านผู้รู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ นรชนผู้นั้นก็ ไปสู่นรกเบื้องต่ำ ชนเหล่าใดพยายามกล่าววาจาหยาบคาย บริภาษบุคคล ผู้เจริญทั้งหลาย ชนเหล่านั้นไม่ใช่เหล่ากอไม่ใช่ทายาท เป็นเหมือนต้น ตาลมีรากอันขาดแล้ว อนึ่ง ผู้ใดฆ่าบรรพชิตผู้ทำกิจเสร็จแล้ว ผู้แสวงหา คุณอันยิ่งใหญ่ ผู้นั้นจะต้องหมกไหม้อยู่ในกาฬสุตตนรกตลอดกาลนาน อนึ่ง พระราชาพระองค์ใดตั้งอยู่ในอธรรม กำจัดชาวแว่นแคว้น ทำชาว ชนบทให้เดือดร้อน สิ้นพระชนม์ไปแล้ว จะต้องหมกไหม้อยู่ในตาปนนรก ในโลกหน้า และพระราชาพระองค์นั้นจะต้องหมกไหม้อยู่ตลอดแสนปี ทิพย์ อันกองเพลิงห้อมล้อมเสวยทุกขเวทนา เปลวไฟมีรัศมีซ่านออกจาก กายของสัตว์นั้น สรรพางค์กายพร้อมทั้งปลายขนและเล็บ ของสัตว์ผู้มีไฟ เป็นภักษา มีเปลวไฟเป็นอันเดียวกัน สัตว์นรกมีตัวถูกไฟไหม้ทั้งข้างใน ข้างนอกอยู่เป็นนิตย์ เป็นผู้อันทุกข์เบียดเบียนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ เหมือนช้างถูกนายหัตถาจารย์แทงด้วยขอ ฉะนั้น ผู้ใดเป็นคนต่ำช้า ฆ่า บิดาเพราะความโลภหรือเพราะความโกรธ ผู้นั้นต้องหมกไหม้อยู่ในกาฬ สุตตนรกสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ฆ่าบิดาเช่นนั้น ต้องหมกไหม้อยู่ในโลหกุม- ภีนรก นายนิริยบาลทั้งหลายเอาหอกแทงสัตว์นรกนั้น ผู้ถูกไฟไหม้อยู่จน จนไม่มีหนัง ทำให้ตาบอดให้กินมูตรกินคูถ กดสัตว์นรกเช่นนั้นให้จม ลงในน้ำแสบ นายนิริยบาลทั้งหลาย ให้สัตว์นรกกินก้อนคูถที่ร้อนจัด และก้อนเหล็กแดงอันลุกโพลงให้ถือผานทั้งยาวทั้งร้อนสิ้นกาลนาน งัด ปากให้อ้าแล้วเอาเชือกผูกไว้ ยัดก้อนเหล็กแดงเข้าไปในปาก ฝูงสุนัข แดง ฝูงสุนัขด่าง ฝูงแร้ง ฝูงกา และฝูงนกตระกรุม ล้วนมีปากเป็น เหล็ก มากลุ้มรุมจิกกัดลิ้นให้ขาดแล้วกินลิ้นอันมีเลือดไหล เหมือนกิน ของอันเป็นเดนเต็มไปด้วยเลือดฉะนั้น นายนิริยบาลเที่ยวเดินทุบตีสัตว์ นรกผู้ฆ่าบิดานั้น ซึ่งมีร่างกายอันแตกไปทั่ว เหมือนผลตาลที่ถูกไฟไหม้ จริงอยู่ ความยินดีของนายนิริยบาลเหล่านั้น เป็นการเล่นสนุก แต่สัตว์ นรกต้องได้รับทุกข์ คนผู้ฆ่าบิดาเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ ต้องอยู่ใน นรกเช่นนั้น ก็บุตรฆ่ามารดา จากโลกนี้แล้วต้องไปสู่ที่อยู่แห่งพระยายม ย่อมเข้าถึงความทุกข์อย่างยิ่งด้วยผลแห่งกรรมของตน พวกนายนิริยบาล ที่ร้ายกาจย่อมบีบคั้นสัตว์ผู้ฆ่ามารดา ด้วยผาลเหล็กแดงบ่อยๆ ให้สัตว์ นรกดื่มกินโลหิตที่เกิดแต่ตน อันไหลออกจากกายของตน ร้อนดังหนึ่ง ทองแดงที่ละลายคว้างบนแผ่นดิน สัตว์นรกนั้นลงไปสู่ห้วงน้ำเช่นกับ หนองและเลือด น่าเกลียดดังซากศพเน่ามีกลิ่นเหม็นดุจก้อนคูถ หมู่ หนอนในห้วงน้ำนั้น มีกายใหญ่มีปากเป็นเหล็กแหลม ทำลายผิวหนัง ชอนไชไปในเนื้อและเลือด กัดกินสัตว์นรกนั้น ก็สัตว์นั้นถึงนรกนั้น แล้วจมลงไปประมาณชั่วร้อยบุรุษ ศพเน่าเหม็นฟุ้งไปตลอดร้อยโยชน์ โดยรอบ จริงอยู่ แม้จักษุของตนผู้มีจักษุย่อมคร่ำคร่าเพราะกลิ่นนั้น ดูกรพระเจ้าพรหมทัตต์ บุคคลผู้ฆ่ามารดาย่อมได้รับทุกข์เห็นปานนี้ พวกหญิงรีดลูกย่อมก้าวล่วงลำธารนรกอันขรุขระ ที่ก้าวล่วงได้แสน ยากดุจคมมีดโกน แล้วตกไปสู่แม่น้ำเวตรณีที่ไปได้ยาก ต้นงิ้ว ทั้งหลายล้วนแต่เป็นเหล็กมีหนาม ๑๖ คุลี มีกิ่งห้อยย้อยปกคลุมแม่น้ำ เวตรณีที่ไปได้ยากทั้งสองฟาก สัตว์นรกเหล่านั้นมีตัวสูงโยชน์หนึ่ง ถูกไฟที่เกิดเองแผดเผา มีเปลวรุ่งเรืองยืนอยู่ดุจกองไฟตั้งอยู่ที่ไกล ฉะนั้น หญิงผู้ประพฤตินอกใจสามีก็ดี ชายที่คบหาภรรยาผู้อื่นก็ดี ต้องตกอยู่ในนรกอันเร่าร้อนมีหนามคม สัตว์นรกเหล่านั้น ถูกนาย นิริยบาลทิ่มแทงด้วยอาวุธ กลับเอาศีรษะลงตกลงมานอนอยู่ ถูก ทิ่มแทงด้วยหลาวเป็นอันมากตื่นอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ ครั้นพอรุ่งสว่าง นายนิริยบาลให้สัตว์นรกนั้นเข้าไปสู่โลหกุมภีอันใหญ่เปรียบดังภูเขามีน้ำ เสมอด้วยไฟอันร้อน บุคคลผู้ทุศีล ถูกโมหะครอบงำ ย่อมเสวย กรรมของตน ที่ตนกระทำไว้ชั่วปางก่อน ตลอดวันตลอดคืนด้วย ประการฉะนี้ อนึ่ง ภริยาใดที่เขาช่วยมาด้วยทรัพย์ย่อมดูหมิ่นสามี แม่ ผัวพ่อผัว หรือพี่น้องผัว นายนิริยบาลเอาเบ็ดมีสายเกี่ยวปลายลิ้นของ หญิงนั้นคร่ามา สัตว์นรกนั้นเห็นลิ้นของตนยาวประมาณ ๑ วา เต็มไป ด้วยหมู่หนอนไม่อาจอ้อนวอนนายนิริยบาล ตายไปหมกไหม้ในตาปน- นรก พวกคนฆ่าแกะ ฆ่าสุกร ฆ่าปลา ดักเนื้อ พวกโจร คนฆ่าโค พวกพราน พวกคนผู้กระทำคุณในเหตุมิใช่คุณ (คนส่อเสียด) ถูกนาย นิริยบาลเบียดเบียนด้วยหอกเหล็ก ค้อนเหล็ก ดาบและลูกศร มีหัวลง ตกลงสู่แม่น้ำแสบคนทำคดีโกง ถูกนายนิริยบาลทุบตีด้วยค้อนเหล็ก ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าแต่นั้นย่อมกินอาเจียนของสัตว์นรกเหล่าอื่นผู้ได้รับ ความทุกข์ทุกเมื่อ ฝูงกาบ้าน ฝูงสุนัข ฝูงแร้ง ฝูงนกป่าล้วนมีปากเหล็ก รุมกัดกินสัตว์นรก ผู้กระทำกรรมหยาบช้าดิ้นรนอยู่ ชนเหล่าใดเป็น อสัตบุรุษ อันธุลีปกปิด ให้เนื้อชนกันตายก็ดี ให้นกตีกันตายก็ดี ชนเหล่านั้นต้องไปตกอุสสทนรก. [๙๓] สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไปสู่เบื้องบน เพราะกรรมที่ตนประพฤติดีแล้วใน โลกนี้ ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรผลของกรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว เทพเจ้าทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์พระพรหมมีอยู่ ดูกรมหาบพิตรผู้เป็น อธิบดีแห่งรัฐ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพขอทูลมหาบพิตร ขอมหาบพิตร จงทรงประพฤติธรรม ดูกรพระราชา เชิญพระองค์ทรงประพฤติธรรม เหมือนอย่างธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง ฉะนั้น.
จบ สังกิจจชาดกที่ ๒
-----------------------------------------------------
รวมชาดกในสัฏฐินิบาตนั้น
เชิญท่านทั้งหลายฟังภาษิตของข้าพเจ้าในสัฏฐินิบาต (ในนิบาตนี้) มี ๒ ชาดก คือโสณกชาดก ๑ สังกิจจชาดก ๑ ฯ
จบ สัฏฐินิบาตชาดก.
-----------------------------------------------------
สัตตตินิบาตชาดก
๑. กุสชาดก
พระเจ้ากุสราชลุ่มหลงรูปโฉมของนางประภาวดี
[๙๔] รัฏฐะของพระองค์นี้ มีทรัพย์ มียาน มีราชกกุธภัณฑ์สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่ น่าปรารถนาทั้งปวง ข้าแต่พระมารดา ขอพระองค์จงทรงปกครองราช สมบัติของพระองค์นี้ หม่อมฉันจะขอทูลลาไปยังเมืองสาคละ ซึ่งเป็น ที่สถิตแห่งพระนางประภาวดีที่รัก. [๙๕] พระองค์ทรงนำหาบใหญ่มาด้วยพระทัยอันไม่ซื่อตรง จักต้องทรงเสวย ทุกข์ใหญ่ทั้งกลางวันและกลางคืน ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับไปยัง กุสาวดีนครเสียโดยเร็วเถิด หม่อมฉันไม่ปรารถนาให้พระองค์ซึ่งมี ผิวพรรณชั่วอยู่ในที่นี้. [๙๖] ดูกรนางประภาวดี พี่ติดใจในผิวพรรณของเธอ จึงจะจากที่นี้ไปยังเมือง กุสาวดีไม่ได้ พี่ยินดีในการเห็นเธอ ได้ละทิ้งบ้านเมืองมารื่นรมย์อยู่ใน พระราชนิเวศน์อันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้ามัททราช ดูกรน้องประภาวดี พี่ติดใจในผิวพรรณของเธอจนลุ่มหลง เที่ยวไปยังพื้นแผ่นดิน พี่ไม่รู้ทิศ ว่าตนมาแล้วจากที่ไหน พี่หลงใหลในตัวเธอผู้มีดวงเนตรอันแจ่มใส เหมือนดวงตามฤค ผู้ทรงผ้ากรองทอง ดูกรพระน้องผู้มีตะโพกอันผึ่งผาย พี่ปรารถนาแต่ตัวเธอ พี่ไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ. [๙๗] ดูกรพระเจ้ากุสราช ผู้ใดปรารถนาคนที่เขาไม่ปรารถนาตนผู้นั้นย่อมมี แต่ความไม่เจริญ หม่อมฉันไม่รักพระองค์พระองค์ก็จะให้หม่อมฉันรัก เมื่อเขาไม่รัก พระองค์ก็ยังปรารถนาให้เขารัก. [๙๘] นรชนใดได้คนที่เขาไม่รักตัว หรือที่รักตัวมาเป็นที่รัก เราสรรเสริญการ ได้ในสิ่งนี้ ความไม่ได้ในสิ่งนั้นเป็นความชั่วช้า. [๙๙] พระองค์ปรารถนา ซึ่งหม่อมฉันผู้ไม่ปรารถนา เปรียบเหมือนพระองค์ เอาไม้กรรณิการ์มาแคะเอาเพชรในหิน หรือเหมือนเอาข่ายมาดักลม ฉะนั้น. [๑๐๐] หินคงฝังอยู่ในหฤทัยมีลักษณะอ่อนละมุนละไม ของเธอเป็นแน่ เพราะ ตั้งแต่หม่อมฉันมาจากชนบทภายนอก ยังไม่ได้ความชมชื่นจากเธอเลย พระราชบุตรียังทำหน้านิ่วคิ้วขมวดมองดูหม่อมฉันอยู่ตราบใด หม่อมฉัน ก็คงต้องเป็นพนักงานเครื่องต้นภายในบุรีของพระเจ้ามัททราชอยู่ตราบนั้น ต่อเมื่อใดพระราชบุตรียิ้มแย้มแจ่มใสมองดูหม่อมฉัน หม่อมฉันก็จะ เลิกเป็นพนักงานเครื่องต้น กลับเป็นพระเจ้ากุสราชเมื่อนั้น. [๑๐๑] ก็ถ้าถ้อยคำของโหรทั้งหลายจักเป็นจริงไซร้ พระองค์คงไม่ใช่พระสวามี ของหม่อมฉันแน่แท้ เขาเหล่านั้นคงจะบั่นเราออกเป็นเจ็ดท่อนแน่. [๑๐๒] ก็ถ้าถ้อยคำของโหรเหล่าอื่นหรือของหม่อมฉันจักเป็นจริงไซร้ พระสวามี ของเธอ นอกจากพระเจ้ากุสราชผู้มีพระเสียงดังราชสีห์ จะเป็นคนอื่น ไม่มีเลย. [๑๐๓] แน่ะนางขุชชา เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้นายช่างทำเครื่อง ประดับคอทองคำให้แก่เจ้า ถ้าเจ้าทำให้พระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงาม ดังงวงช้างแลดูเราได้ ... ถ้าเจ้าทำนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้าง ให้เจรจาแก่เราได้ ... ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้าง ให้ยิ้มแย้มแก่เราได้ ... ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวง ช้างให้หัวเราะร่าเริงแก่เราได้ เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้ นายช่างทำเครื่องประดับคอทองคำให้แก่เจ้า ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดี ผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้าง มาลูบคลำจับตัวเรา ด้วยมือของเธอได้. [๑๐๔] พระราชบุตรีนี้ คงไม่ได้ประสบแม้ความสำราญในสำนักแห่งพระเจ้า กุสราชเสียเลยเป็นแน่ พระนางจึงไม่ทรงกระทำแม้เพียงการปฏิสันถาร ในบุรุษผู้เป็นพนักงานเครื่องต้น เป็นคนรับใช้ ไม่ต้องการด้วยค่าจ้าง. [๑๐๕] นางขุชชานี้ เห็นจะไม่ต้องถูกตัดลิ้นด้วยมีดอันคมเป็นแน่ จึงมาพูด คำหยาบช้าอย่างนี้. [๑๐๖] ข้าแต่พระนางประภาวดี พระนางอย่าทรงเทียบพระเจ้ากุสราชนั้นด้วย พระรูปอันเลอโฉมของพระนางซิ ข้าแต่พระนางผู้มีความรุ่งเรือง พระนางจงกระทำไว้ในพระทัยว่า พระเจ้ากุสราชนั้นทรงมีพระอิศริยยศ ใหญ่ แล้วจงกระทำความรักในพระเจ้ากุสราช ผู้มีความงามอันนี้ ข้าแต่พระนางประภาวดีพระนางอย่าทรงเทียบพระเจ้ากุสราชนั้นด้วยพระ รูปอันเลอโฉมของพระนางซิ ข้าแต่พระนางผู้มีความรุ่งเรือง พระนาง จงกระทำไว้ในพระทัยว่า พระเจ้ากุสราชนั้นทรงมีพระราชทรัพย์เป็น อันมาก ... มีทะแกล้วทหาร ... มีพระราชอาณาจักรกว้างใหญ่ ... เป็น พระมหาราชา ... มีพระสุรเสียงเหมือนเสียงราชสีห์ ... มีพระสุรเสียง ไพเราะ ... มีพระสุรเสียงหยดย้อย ... มีพระสุรเสียงกลมกล่อม ... มี พระสุรเสียงอ่อนหวาน ... ทรงชำนาญศิลป์ตั้งร้อยอย่าง ... เป็นกษัตริย์ ... พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าเทียบพระเจ้ากุสราชนั้นด้วยพระรูป อันเลอโฉมของนางซิ พระนางจงกระทำไว้ในพระทัยว่า พระราชา พระองค์นั้น มีพระนามเหมือนกับหญ้าคาที่ท้าวสักกะทรงประทาน แล้ว จงกระทำความรักในพระเจ้ากุสราชผู้มีความงามอันนี้. [๑๐๗] ช้างเหล่านี้ทั้งหมดเป็นผู้แข็งกระด้าง ตั้งอยู่เหมือนจอมปลวกจะพากันพัง กำแพงเข้ามาเสียก่อน ขอพระองค์จงส่งข่าวแก่พระราชาเหล่านั้นว่า เชิญ เสด็จมานำเอานางประภาวดีนี้ไปเถิด. [๑๐๘] เราจะบั่นนางประภาวดีนี้ออกเป็นเจ็ดท่อน แล้วจักให้แก่กษัตริย์ผู้เสด็จ มา ณ ที่นี้เพื่อจะฆ่าเรา. [๑๐๙] พระราชบุตรีผู้มีผิวผ่องดังทองคำ ทรงผ้าโกไสยพัสตร์ มีพระเนตรนอง ด้วยน้ำตา อันหมู่ทาสีแวดล้อม เสด็จไปยังห้องพระมารดา. [๑๑๐] ข้าแต่พระมารดา หน้าของลูกอันผัดแล้วด้วยแป้ง ส่องแล้วที่กระจกเงา งดงาม มีดวงเนตรคมคาย ผุดผ่องเป็นนวลใย จักถูกกษัตริย์ทั้งหลายโยน ทิ้งเสียในป่าเป็นแน่ แล้วฝูงแร้งก็จะพากันเอาเท้ายื้อแย่งผมของลูกอันดำ มีปลายงอนละเอียดอ่อน ลูบไล้ด้วยน้ำมันหอมแก่นจันทน์ ในท่ามกลาง ป่าช้าอันเปรอะเปื้อน เป็นแน่ แขนอ่อนนุ่มทั้งสองของลูกอันมีเล็บแดง มีขนละเอียด ลูบไล้ด้วยจุรณจันทน์ก็จะถูกกษัตริย์ทั้งหลายตัดทิ้งเสียใน ป่า และฝูงกาก็จะโฉบคาบเอาไปตามความปรารถนาเป็นแน่ สุนัขจิ้งจอก มาเห็นถันทั้งสองของลูกเช่นกับผลตาลอันห้อยอยู่ ซึ่งลูบไล้ด้วย กระแจะจันทน์แคว้นกาสี ก็จะยืนคร่อมที่ถันทั้งสองของลูกเป็นแน่ เหมือนลูกอ่อนที่เกิดแต่ตนของมารดา ตะโพกอันกลมผึ่งผายของลูก ผูก รัดด้วยสร้อยสอิ้งทอง ก็จะถูกกษัตริย์ทั้งหลายตัดเป็นชิ้นๆ แล้วโยนทิ้ง ไปในป่า ฝูงสุนัขจิ้งจอกก็จะพากันมาฉุดคร่าไปกิน ฝูงสุนัขป่า ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอกและสัตว์ที่มีเขี้ยวเหล่าอื่นซึ่งมีอยู่ ได้กินนางประภาวดี แล้ว คงไม่รู้จักแก่กันเป็นแน่ ข้าแต่พระมารดา ถ้ากษัตริย์ทั้งหลายผู้มา แต่ที่ไกลได้นำเอาเนื้อของลูกไปหมดแล้ว พระมารดาได้ทรงโปรดขอเอา กระดูกมาเผาเสียในระหว่างทางใหญ่ ขอพระมารดาได้สร้างสวนดอกไม้ แล้ว จงปลูกต้นกรรณิการ์ในสวนเหล่านั้น ข้าแต่พระมารดา ในกาลใด ดอกกรรณิการ์เหล่านั้นบานแล้วในเวลาหิมะตกในฤดูเหมันต์ ในกาลนั้น ขอพระมารดาพึงรำลึกถึงลูกว่า ประภาวดีมีผิวพรรณอย่างนี้. [๑๑๑] พระมารดาของพระนางประภาวดีเป็นขัตติยานี มีพระฉวีวรรณดังเทพ อัปสรได้ประทับยืนอยู่แล้ว ทอดพระเนตรเห็นดาบและธนูวางอยู่ตรง พระพักตร์พระเจ้ามัททราช ภายในบุรี. [๑๑๒] จึงทรงพิลาปรำพันว่า พระองค์จะทรงฆ่าธิดาของหม่อมฉันบั่นให้เป็น ท่อนๆ ด้วยดาบนี้ แล้วจะประทานแก่กษัตริย์ทั้งหลาย แน่หรือเพคะ. [๑๑๓] ลูกน้อยเอ๋ย พระบิดาไม่ทรงกระทำตามคำของแม่ผู้ใคร่ประโยชน์ เจ้านั้น เปรอะเปื้อนโลหิตไปสู่สำนักพระยายมในวันนี้ ถ้าบุรุษผู้ใดไม่ทำตามคำ ของบิดามารดาผู้เกื้อกูลมองเห็นประโยชน์ บุรุษนั้นย่อมได้รับโทษอย่าง นี้ และจะต้องเข้าถึงโทษที่ลามกกว่า ในวันนี้ถ้าลูกจะทรงไว้ซึ่งกุมาร ทรงโฉมงดงามดังสีทอง เป็นกษัตริย์เกิดกับพระเจ้ากุสราช สวมสร้อย สังวาลย์แก้วมณีแกมทอง อันหมู่พระญาติบูชาแล้วไซร้ ลูกก็จะไม่ต้อง ไปยังสำนักพระยายม ลูกหญิงเอ่ย เสียงกลองชัยเภรีดังอยู่อึงมี่ และ เสียงช้างร้องก้องอยู่ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลายใด ลูกเห็นอะไรเล่า หนอที่มีความสุขยิ่งกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย เสียงม้าศึกคะนองร้อง คำรนอยู่ที่ประตู เสียงกุมารร้องรำทำเพลงอยู่ในตระกูลกษัตริย์ทั้งหลาย ลูกเห็นอะไรเล่าหนอที่มีความสุขยิ่งไปกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย ใน ตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย มีนกยูง นกกระเรียน และนกดุเหว่า ส่งเสียงร้องก้องเสนาะเพราะจับใจ ลูกเห็นอะไรเล่าหนอที่จะมีความ สุขยิ่งไปกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย. [๑๑๔] พระเจ้ากุสราชพระองค์ใด ผู้มีพระปรีชาอย่างยอดเยี่ยม ผู้ย่ำยีกษัตริย์ ทั้งเจ็ดพระนคร ทรงปราบปรามแคว้นอื่นให้พ่ายแพ้ พึงทรงปลดเปลื้อง เราทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ได้ พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ ไหนหนอ. [๑๑๕] พระเจ้ากุสราชพระองค์ใด ผู้มีพระปรีชาอย่างยอดเยี่ยม ผู้ย่ำยีกษัตริย์ ทั้งเจ็ดพระนคร ทรงปราบปรามแคว้นอื่นให้พ่ายแพ้ จักทรงกำจัด กษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดได้ พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่นี่ แหละ เพคะ. [๑๑๖] เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือจึงได้พูดอย่างนี้ หรือว่าเจ้าเป็นอันธพาลจึงได้พูด อย่างนี้ ถ้าพระเจ้ากุสราชพึงเสด็จมาจริง ทำไมพวกเราจะไม่รู้จักพระ องค์เล่า. [๑๑๗] พระเจ้ากุสราชนั้นทรงปลอมพระองค์เป็นบุรุษพนักงานเครื่องต้น ทรง พระภูษาหยักรั้งมั่นคง กำลังก้มพระองค์ล้างหม้ออยู่ในระหว่างพระ ตำหนักของพระกุมารีทั้งหลายเพคะ. [๑๑๘] เจ้าเป็นหญิงชั่วช้าจัณฑาลหรือ หรือว่าเจ้าเป็นหญิงประทุษร้ายตระกูล เจ้าเกิดแล้วในตระกูลพระเจ้ามัททราช เหตุใดจึงกระทำพระสวามีให้ เป็นทาส. [๑๑๙] หม่อมฉันไม่ได้เป็นหญิงชั่วช้าจัณฑาล ไม่ใช่เป็นหญิงประทุษร้ายตระกูล นั่นพระเจ้ากุสราชโอรสของพระเจ้าโอกกากราช ขอความเจริญจงมีแด่ พระมารดา แต่พระมารดาทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส. [๑๒๐] ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา พระราชาพระองค์ใด ทรงเชื้อเชิญ พราหมณ์สองหมื่นคนให้บริโภคภัตตาหารในกาลทุกเมื่อ พระราชาพระ องค์นั้น คือ พระเจ้ากุสราชโอรสแห่งพระเจ้าโอกกากราช แต่พระ มารดาเข้าพระทัยว่าเป็นทาส เจ้าพนักงานเตรียมช้างไว้สองหมื่นเชือก ... เตรียมม้าสองหมื่นตัว ... ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา เจ้าพนักงาน รีดนมโคสองหมื่นตัวในกาลทุกเมื่อเพื่อพระราชาพระองค์ใด พระราชา พระองค์นั้น คือ พระเจ้ากุสราชโอรสของพระเจ้าโอกกากราช แต่พระ มารดาเข้าพระทัยว่าเป็นทาส. [๑๒๑] ดูกรเจ้าผู้เป็นพาล เจ้ากระทำกรรมอันชั่วร้ายเหลือเกิน ที่เจ้าไม่บอกพ่อ ว่า พระเจ้ากุสราชผู้เป็นกษัตริย์มีทะแกล้วทหารมาก ผู้เป็นพระยาช้าง มาด้วยเพศแห่งกบ. [๑๒๒] ข้าแต่พระมหาราชผู้จอมทัพ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดงดโทษ แก่หม่อมฉัน ที่ไม่ทราบว่าพระองค์เสด็จมาในที่นี้ด้วยเพศที่ไม่มีใครรู้จัก ด้วยเถิด. [๑๒๓] คนเช่นหม่อมฉันมิได้ปกปิดเลย หม่อมฉันนั้นเป็นพนักงานเครื่องต้น พระองค์เท่านั้นทรงเลื่อมใสแก่หม่อมฉัน ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ แต่พระองค์ไม่มีกรรมชั่วช้า ที่หม่อมฉันจะต้องอดโทษ. [๑๒๔] ดูกรเจ้าคนพาล เจ้าจงไปขอขมาโทษพระเจ้ากุสราชผู้มีกำลังมากเสีย พระเจ้ากุสราชที่เจ้าขอขมาแล้ว จักประทานชีวิตให้เจ้า. [๑๒๕] พระนางประภาวดีผู้มีผิวพรรณดังเทพธิดา ทรงรับดำรัสของพระบิดาแล้ว ได้ซบพระเศียรลงกอดพระบาทพระเจ้ากุสราชผู้มีพระกำลังมาก. [๑๒๖] ราตรีเหล่านี้ที่ล่วงไป เว้นจากพระองค์นั้นเพียงใด หม่อมฉันขอถวาย บังคมพระยุคลบาท ของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า เพียงนั้น ขอพระองค์ โปรดอย่าทรงพิโรธหม่อมฉันเลย หม่อมฉันขอตั้งสัตย์ปฏิญาณแก่ พระองค์ โปรดทรงสดับหม่อมฉันเถิด เพคะ หม่อมฉันจะไม่พึงทำความ ชิงชังแก่พระองค์อีกต่อไปละ ถ้าพระองค์จะไม่ทรงโปรดกระทำตามคำ ของหม่อมฉันผู้ทูลวิงวอนอยู่อย่างนี้ พระบิดาคงเข่นฆ่าหม่อมฉันแล้ว ทรงประทานแก่กษัตริย์ทั้งหลาย ณ กาลบัดนี้เป็นแน่. [๑๒๗] เมื่อพระน้องอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ไฉนพี่จักไม่ทำตามคำของพระน้องเล่า พี่ไม่โกรธพระน้องเลยนะคนงาม อย่ากลัวเลยประภาวดี พี่ขอตั้งสัตย์ ปฏิญาณต่อพระน้อง โปรดขอจงทรงฟังพี่เถิดนะพระราชบุตรี พี่จะไม่ พึงกระทำความเกลียดชังแก่พระน้องนางอีกต่อไปละ ดูกรน้องประภาวดี ผู้มีตะโพกอันผึ่งผาย พี่สามารถจะทำลายตระกูลกษัตริย์มัททราชมากมาย แล้วนำพระน้องนางไปได้ แต่เพราะความรักพระน้องนาง พี่จึงสู้ยอมทน ทุกข์มากมายได้. [๑๒๘] เจ้าพนักงานทั้งหลาย จงตระเตรียมรถและม้า อันวิจิตรด้วยเครื่องอลังการ ต่างๆ ทั้งมั่นคงแข็งแรง ท่านทั้งหลายจงเห็นความพยายามของเรา ผู้กำจัดศัตรูทั้งหลายให้พ่ายแพ้ไปในบัดนี้ ก็นารีทั้งหลายภายในพระราช วังของพระเจ้ามัททราชนั้น พากันมองดูพระโพธิสัตว์ผู้เสด็จเยื้องกราย ดุจราชสีห์ ทรงปรบพระหัตถ์เสวยพระกระยาหารถึงสองเท่าพระองค์นั้น. [๑๒๙] ก็พระเจ้ากุสราช ครั้นเสด็จขึ้นประทับบนคอช้างสาร โปรดให้นาง ประภาวดีประทับเบื้องหลังแล้ว เสด็จเข้าสู่สงคราม ทรงบันลือพระ สุรสีหนาท กษัตริย์เจ็ดพระนครทรงสดับพระสุรสีหนาทของพระเจ้า กุสราช ผู้บันลืออยู่ ผู้อันความกลัวแต่เสียงของพระเจ้ากุสราชคุกคามแล้ว พากันแตกหนีไปเหมือนดังฝูงมฤคได้ยินเสียงแห่งราชสีห์ก็พากันหนีไป ฉะนั้น พวกพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า ผู้อันความกลัวแต่เสียง พระเจ้ากุสราชคุกคามแล้ว ก็พากันแตกตื่นเหยียบย่ำกันและกัน ท้าว สักกะจอมเทพ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ทรงมีชัยในท่ามกลาง สงครามนั้น มีพระทัยชื่นชมยินดี ทรงพระราชทานแก้วมณีอันรุ่งโรจน์ ดวงหนึ่งแก่พระเจ้ากุสราช พระเจ้ากุสราชทรงชนะสงคราม ได้แก้ว มณีอันรุ่งโรจน์ แล้วเสด็จประทับบนคอช้างสารเสด็จเข้าสู่พระนคร รับ สั่งให้จับกษัตริย์เจ็ดพระนครทั้งเป็น ให้มัดนำเข้าถวายพระสัสสุระ ทูล ว่าขอเดชะ กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ ศัตรูทั้งหมดซึ่งคิดจะ กำจัดพระองค์เสียนี้ ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์แล้ว เชิญทรงกระทำ ตามพระประสงค์เถิด พระองค์ทรงกระทำกษัตริย์เหล่านั้นให้เป็นทาส แล้ว จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารเสียตามแต่พระทัยเถิด. [๑๓๐] กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ มิได้เป็นศัตรูของหม่อมฉัน ข้าแต่ พระมหาราช พระองค์ (เป็นอิสระ) กว่าหม่อมฉัน จะทรงปล่อยหรือ จะทรงประหารศัตรูเหล่านั้นก็ตามเถิด. [๑๓๑] พระราชธิดาของพระองค์ ล้วนทรงงดงามดังเทพกัญญามีอยู่ถึง ๗ พระ องค์ ขอพระองค์ทรงโปรดพระราชทานแก่กษัตริย์ทั้ง ๗ นั้นองค์ละองค์ ขอกษัตริย์เหล่านั้นจงเป็นพระชามาตาของพระองค์เถิด. [๑๓๒] ข้าแต่พระมหาราช พระองค์เป็นใหญ่กว่าหม่อมฉันทั้งหลาย และกว่า พวกลูกของหม่อมฉันทั้งหมด เชิญพระองค์นั่นแหละทรงพระราชทาน พวกลูกของหม่อมฉันแก่กษัตริย์เหล่านั้น ตามพระราชประสงค์เถิด. [๑๓๓] ในกาลนั้น พระเจ้ากุสราชผู้มีพระสุรเสียงดังเสียงราชสีห์ ได้ทรงยก พระราชธิดาของพระเจ้ามัททราช ประทานให้แก่กษัตริย์ ๗ พระองค์นั้น องค์ละองค์ กษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ทรงอิ่มพระทัยด้วยลาภนั้น ทรงขอบ พระคุณพระเจ้ากุสราชผู้มีพระสุรเสียงดังเสียงราชสีห์ แล้วพากันเสด็จ กลับไปยังนครของตนๆ ในขณะนั้นทีเดียว ฝ่ายพระเจ้ากุสราชผู้มีพระ กำลังมาก ทรงพาพระนางประภาวดีและดวงแก้วมณีอันงามรุ่งโรจน์เสด็จ กลับยังกรุงกุสาวดี เมื่อพระเจ้ากุสราชและพระนางประภาวดีทั้ง ๒ พระ องค์นั้น ประทับอยู่ในพระราชรถคันเดียวกันเสด็จเข้ากรุงกุสาวดี มีพระ ฉวีวรรณและพระรูปพระโฉมทัดเทียมกัน มิได้ทรงงดงามยิ่งหย่อนกว่า กันเลย พระมารดาของพระมหาสัตว์และพระชยัมบดีราชกุมารทั้ง ๒ พระองค์ได้เสด็จไปต้อนรับถึงนอกพระนคร แล้วเสด็จกลับพระนคร พร้อมด้วยพระราชโอรส ในกาลนั้น พระเจ้ากุสราชและพระนางประภา วดี ก็ทรงสมัครสมานกัน ได้ทรงปกครองราชอาณาจักรกุสาวดีให้รุ่ง เรืองตลอดมา.
จบ กุสชาดกที่ ๑
๒. โสณนันทชาดก
เรื่องพระราชาไปขอขมาโทษโสณดาบส
[๑๓๔] พระผู้เป็นเจ้าเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นท้าวสักกปุรินททะ หรือว่า เป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ข้าพเจ้าทั้งหลายจะรู้จักพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร. [๑๓๕] อาตมภาพไม่ใช่เป็นเทวดา ไม่ใช่เป็นคนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ อาตมภาพเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ดูกรภารถะ มหาบพิตรจงทราบอย่างนี้. [๑๓๖] ความช่วยเหลืออันมิใช่น้อยนี้ เป็นกิจที่พระผู้เป็นเจ้ากระทำแล้ว คือ เมื่อฝนตก พระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทำไม่ให้มีฝน แต่นั้น เมื่อลมจัดและแดด ร้อน พระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทำให้มีเงาบังร่มเย็น แต่นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ ทำการป้องกันลูกศรในท่ามกลางแห่งศัตรู แต่นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทำ บ้านเมืองอันรุ่งเรืองและชาวเมืองเหล่านั้นให้ตกอยู่ในอำนาจ ของข้าพเจ้า แต่นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทำกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ให้เป็นผู้ติดตามของ ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอขอบคุณ พระผู้เป็นเจ้ายิ่งนัก พระผู้เป็นเจ้าจะ ปรารถนาสิ่งที่จะให้จิตชื่นชม คือ ยานอันเทียมด้วยช้าง รถอันเทียม ด้วยม้า และสาวน้อยทั้งหลายที่ประดับประดาแล้ว หรือรมณียสถานอัน เป็นที่อยู่อาศัยอันใด ขอพระผู้เป็นเจ้าจงเลือกเอาสิ่งนั้นตามประสงค์เถิด ข้าพเจ้าขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า หรือว่าพระผู้เป็นเจ้าจะปรารถนาแคว้น อังคะหรือแคว้นมคธ ข้าพเจ้าก็ขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า หรือว่าพระผู้ เป็นเจ้าปรารถนาแคว้นอัสสกะหรือแคว้นอวันตี ข้าพเจ้าก็มีใจยินดีขอ ถวายแคว้นเหล่านั้นให้แก่พระผู้เป็นเจ้า หรือแม้พระผู้เป็นเจ้าปรารถนา ราชสมบัติกึ่งหนึ่งไซร้ ข้าพเจ้าก็ขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระคุณเจ้า มีความต้องการด้วยราชสมบัติทั้งหมด ข้าพเจ้าก็ขอถวาย พระคุณเจ้า ปรารถนาสิ่งใด ขอพระคุณเจ้าบอกมาเถิด. [๑๓๗] อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ บ้านเมือง ทรัพย์หรือแม้ ชนบท อาตมภาพไม่มีความต้องการเลย. [๑๓๘] ในแว่นแคว้นอาณาเขตของมหาบพิตร มีอาศรมอยู่ในป่า มารดาและบิดา ทั้งสองท่านของอาตมภาพอยู่ในอาศรมนั้น อาตมภาพอยู่ในอาศรมนั้น อาตมภาพไม่ได้เพื่อทำบุญ ในท่านทั้งสอง ผู้เป็นบูรพาจารย์นั้น อาตมภาพขอเชิญมหาบพิตรผู้ประเสริฐยิ่ง ไปขอขมาโทษโสณดาบส เพื่อสังวรต่อไป. [๑๓๙] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าจะขอทำตามคำที่พระคุณเจ้ากล่าวกะข้าพเจ้า ทุกประการ ก็แต่ว่า บุคคลผู้จะอ้อนวอนขอโทษมีประมาณเท่าใด ขอ พระคุณเจ้าจงบอกบุคคลมีประมาณเท่านั้น. [๑๔๐] ชาวชนบทมีประมาณหนึ่งร้อยเศษ พราหมณ์มหาศาลก็เท่ากัน กษัตริย์ผู้ เป็นอภิชาตผู้เรืองยศเหล่านี้ทั้งหมด ทั้งมหาบพิตรซึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้ามโนชะ บุคคลผู้จะอ้อนวอนขอโทษประมาณเท่านี้ก็พอแล้ว ขอ ถวายพระพร. [๑๔๑] เจ้าพนักงานทั้งหลายจงเตรียมช้าง จงเตรียมม้า นายสารถีท่านจง เตรียมรถ ท่านทั้งหลายจงถือเอาเครื่องผูก จงยกธงชัยขึ้นที่คันธงทั้ง หลาย เราจะไปยังอาศรมอันเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส. [๑๔๒] ก็ลำดับนั้น พระราชาพร้อมด้วยจาตุรงคเสนา ได้เสด็จไปยังอาศรมอัน น่ารื่นรมย์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส. [๑๔๓] ไม้คานอันทำด้วยไม้กระทุ่มของใคร ผู้ไปเพื่อหาบน้ำ ลอยมายังเวหาส มิได้ถูกบ่า ห่างประมาณ ๔ องคุลี. [๑๔๔] ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพชื่อว่าโสณะ เป็นดาบสมีวัตรอันสมาทานแล้ว มิได้เกียจคร้านเลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ทุกคืนทุกวัน ดูกรมหาบพิตรผู้เป็น เจ้าแห่งทิศ อาตมภาพระลึกถึงอุปการคุณที่ท่านทั้งสองได้กระทำแล้ว ใน กาลก่อน จึงนำผลไม้ป่าและเผือกมันมาเลี้ยงดูมารดาบิดา. [๑๔๕] ข้าพเจ้าทั้งหลาย ปรารถนาจะไปยังอาศรมซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส ข้าแต่ท่านโสณะ ขอท่านได้โปรดบอกทางจะไปยังอาศรมนั้นแก่ข้าพเจ้า ทั้งหลายเถิด. [๑๔๖] ดูกรมหาบพิตร ทางนี้เป็นทางสำหรับเดินคนเดียว ขอเชิญมหาบพิตร เสด็จไปยังป่าอันสะพรั่งไปด้วยต้นทองหลาง มีสีเขียวชะอุ่มดังสีเมฆ โกสิยดาบสอยู่ในป่านั้น. [๑๔๗] โสณมหาฤาษีครั้นกล่าวคำนี้แล้ว ได้พร่ำสอนกษัตริย์ทั้งหลาย ณ กลาง หาว แล้วรีบหลีกไปยังสระอโนดาต แล้วกลับมาปัดกวาดอาศรมแต่ง ตั้งอาสนะแล้ว เข้าไปสู่บรรณศาลาแจ้งให้ดาบสผู้เป็นบิดาทราบว่า ข้า แต่ท่านมหาฤาษี พระราชาทั้งหลายผู้อภิชาตเรืองยศเหล่านี้เสด็จมาหา ขอ เชิญบิดาออกไปนั่งนอกอาศรมเถิด มหาฤาษีได้ฟังคำของโสณบัณฑิตนั้น แล้วรีบออกจากอาศรมมานั่งที่ประตูของตน. [๑๔๘] โกสิยดาบสได้เห็นพระเจ้ามโนชะนั้น ซึ่งมีหมู่กษัตริย์ห้อมล้อมเป็น กองทัพ ประหนึ่งรุ่งเรืองด้วยเดช เสด็จมาอยู่ จึงกล่าวคาถานี้ความว่า กลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ และมโหระทึก ยังพระราชาผู้เป็นจอมทัพ ให้ร่าเริงอยู่ดำเนินไปแล้วข้างหน้าของใคร หน้าผากของใครสวมแล้ว ด้วยแผ่นทองอันหนามีสีดุจสายฟ้า ใครกำลังหนุ่มแน่นผูกสอดด้วยกำ ลูกศร รุ่งเรืองด้วยสิริ เดินมาอยู่ อนึ่งหน้าของใครงามผุดผ่อง ดุจ ทองคำอันละลายคว้างที่ปากเบ้ามีสีดังถ่านเพลิง ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริ กำลังเดินมาอยู่ ฉัตรพร้อมด้วยคันหน้ารื่นรมย์ใจ สำหรับกั้นแสงอาทิตย์ อันบุคคลกางแล้วเพื่อใคร ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริกำลังเดินมาอยู่ ชน ทั้งหลายถือพัดวาลวีชนีเครื่องสูง เดินเคียงองค์ของใคร ผู้มีบุญอัน ประเสริฐมาอยู่โดยคอช้างเศวตรฉัตรม้าอาชาไนย และทหารสวมเกราะ เรียงรายอยู่โดยรอบของใคร ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริกำลังเดินมาอยู่ กษัตริย์ ๑๐๑ พระนครผู้เรืองยศ เป็นอนุยนต์เดินแวดล้อมตามอยู่ โดยรอบของใคร ใครหนอ รุ่งเรืองด้วยสิริกำลังเดินมาอยู่ จาตุรงคเสนา คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้าเดินแวดล้อมตามอยู่ โดยรอบใคร ใครหนอ รุ่งเรืองด้วยสิริกำลังเดินมาอยู่ เสนาหมู่ใหญ่นี้ นับไม่ถ้วน ไม่มีที่สุดดุจคลื่นในมหาสมุทร กำลังห้อมล้อมตามหลัง ใครมา. [๑๔๙] กษัตริย์ที่กำลังเสด็จมานั้น คือ พระเจ้ามโนราชาธิราชเป็นเพียงดัง พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เข้าถึงความเป็นบริษัทของ นันทดาบส กำลังมาสู่อาศรมอันเป็นที่ประพฤติพรหมจรรย์ เสนาหมู่ใหญ่ นี้นับไม่ถ้วน ไม่มีที่สุด ดุจคลื่นในมหาสมุทร กำลังตามหลังพระเจ้า มโนชะนั้นมา. [๑๕๐] พระราชาทุกพระองค์ ทรงลูบไล้ด้วยจันทน์หอม ทรงผ้ากาสิกพัสตร์ อย่างดี ทุกพระองค์ทรงประคองอัญชลีเข้าไปยังสำนักของฤาษีทั้งหลาย. [๑๕๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญไม่มีโรคาพาธหรือ พระคุณเจ้าสุขสำราญดีอยู่หรือ พระคุณเจ้ายังอัตภาพให้เป็นไปสะดวกด้วยการแสวงหามูลผลาหารแล หรือ เหง้ามันและผลไม้มีมากแลหรือ เหลือบ ยุงและสัตว์เลื้อยคลาน มีน้อยแลหรือ ในป่าอันเกลื่อนกล่นไปด้วยพาฬมฤค ไม่มีมาเบียดเบียน บ้างหรือ. [๑๕๒] ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลายไม่มีโรคาพาธ มีความสุขสำราญดี เยียวยาอัตภาพได้สะดวกด้วยการแสวงหามูลผลาหาร ทั้งมูลมันผลไม้ก็ มีมาก เหลือบ ยุงและสัตว์เลื้อยคลานมีน้อย ในป่าอันเกลื่อนกล่นไป ด้วยพาฬมฤคไม่มีมาเบียดเบียนอาตมภาพ เมื่ออาตมภาพได้อยู่ในอาศรม นี้หลายปีมาแล้ว อาตมภาพไม่รู้สึกอาพาธอันไม่เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจเกิด ขึ้นเลย ดูกรมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาดีแล้ว และพระองค์ไม่ได้ เสด็จมาร้าย พระองค์ผู้เป็นอิสระเสด็จมาถึงแล้ว ขอจงตรัสบอกสิ่งที่ ทรงชอบพระหฤทัยซึ่งมีอยู่ ณ ที่นี้เถิด ขอเชิญมหาบพิตรเสวยผล มะพลับ ผลมะหาด ผลมะทรางและผลหมากเม่า อันเป็นผลไม้มีรส หวานน้อยๆ เชิญเลือกเสวยแต่ผลที่ดีๆ เถิด น้ำนี้เย็นนำมาแต่ ซอกเขา ขอเชิญมหาบพิตรดื่มเถิด ถ้าพระองค์ทรงปรารถนา. [๑๕๓] สิ่งใดที่พระคุณเจ้าให้ ข้าพเจ้าขอรับสิ่งนั้น พระคุณเจ้ากระทำให้ถึงแก่ ข้าพเจ้าทั้งปวง ขอพระคุณเจ้าจงเงี่ยโสตสดับคำของนันทดาบสที่ท่านจะ กล่าวนั้นเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นบริษัทของนันทดาบส มาแล้วสู่สำนัก ของพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดสดับคำของข้าพเจ้า ของนันทดาบส และของบริษัทเถิด. [๑๕๔] ชาวชนบทร้อยเศษ พราหมณ์มหาศาลประมาณเท่านั้น กษัตริย์อภิชาติผู้ เรืองยศทั้งหมดนี้ และพระเจ้ามโนชะผู้เจริญจงเข้าใจคำของข้าพเจ้า ยักษ์ ทั้งหลายภูตและเทวดาทั้งหลายในป่า เหล่าใด ซึ่งมาประชุมกันอยู่ใน อาศรมนี้ ขอจงฟังคำของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอกระทำความนอบน้อมแก่ เทวดาทั้งหลายแล้วจักกล่าวกะฤาษีผู้มีวัตรอันงาม ข้าพเจ้านั้น ชาวโลก สมมติแล้วว่าเป็นชาวโกสิยโคตรร่วมกับท่าน จึงนับว่าเป็นแขนขวาของ ท่าน ข้าแต่ท่านโกสิยะผู้มีความเพียร เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้ประสงค์จะเลี้ยง ดูมารดาบิดาของข้าพเจ้า ฐานะนี้ชื่อว่าเป็นบุญ ขอท่านอย่าได้ห้ามข้าพเจ้า เสียเลย จริงอยู่ การบำรุงมารดาบิดานี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว ขอท่านจงอนุญาตการบำรุงมารดาบิดานี้แก่ข้าพเจ้า ท่านได้กระทำกุศลมา แล้วสิ้นกาลนาน ด้วยการลุกขึ้นทำกิจวัตรและการบีบนวด บัดนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาจะทำบุญในมารดาและบิดา ขอท่านจงให้โลกสวรรค์แก่ ข้าพเจ้าเถิด ข้าแต่พระฤาษี มนุษย์ทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในบริษัทนี้ ทราบ บทแห่งธรรมในธรรมว่าเป็นทางแห่งโลกสวรรค์ เหมือนดังท่านทราบ ฉะนั้น การบำรุงมารดาบิดาด้วยการอุปัฏฐากและการบีบนวดชื่อว่านำ ความสุขมาให้ ท่านห้ามข้าพเจ้าจากบุญนั้น ชื่อว่าเป็นอันห้ามทางอัน ประเสริฐ. [๑๕๕] ขอมหาบพิตรผู้เจริญทั้งหลาย ผู้เป็นบริษัทของน้องนันทะ จงสดับถ้อย คำของอาตมภาพ ผู้ใดยังวงศ์ตระกูลแต่เก่าก่อนให้เสื่อม ไม่ประพฤติ ธรรมในบุคคลผู้เจริญทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก ดูกรท่านผู้เป็นใหญ่ ในทิศ ส่วนชนเหล่าใดเป็นผู้ฉลาดในธรรมอันเป็นของเก่า และถึง พร้อมด้วยจารีต ชนเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่ทุคติ มารดา บิดา พี่ชาย น้อง ชาย พี่สาว น้องสาว ญาติและเผ่าพันธุ์ ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมเป็น ภาระของพี่ชายใหญ่ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด มหาบพิตร ดูกร มหาบพิตรผู้เป็นจอมทัพ ก็อาตมภาพเป็นพี่ชายใหญ่ จึงต้องรับภาระอัน หนัก ทั้งสามารถจะปฏิบัติท่านเหล่านั้นได้เหมือนนายเรือรับภาระอันหนัก สามารถจะนำเรือไปได้โดยสวัสดี ฉะนั้น เหตุนั้น อาตมภาพจึงไม่ละ ลืมธรรม. [๑๕๖] ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ไปแล้วในความมืด วันนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายเกิดความรู้ ขึ้นแล้ว ท่านโกสิยฤาษีได้แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายเหมือนส่อง แสงอันรุ่งเรืองจากไฟ ฉะนั้น พระอาทิตย์เป็นเทพเจ้าแห่งแสง มีรัศมี เจิดจ้า เมื่ออุทัยย่อมแสดงรูปดีและรูปชั่วให้ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ฉันใด ท่านโกสิยฤาษีก็แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือน กัน. [๑๕๗] ถ้าพี่จะไม่รับอัญชลีของข้าพเจ้าผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้าก็จักดำเนินไป ตามถ้อยคำของพี่ จักบำรุงบำเรอพี่ผู้อยู่ด้วยความไม่เกียจคร้าน. [๑๕๘] ดูกรนันทะ เธอรู้แจ้งสัทธรรมที่สัตบุรุษทั้งหลายแสดงแล้วเป็นแน่ เธอ เป็นคนงาม มีมารยาทอันงดงาม พี่ชอบใจเป็นยิ่งนัก พี่จะกล่าวกะ มารดาบิดาว่า ขอท่านทั้งสองจงฟังคำของข้าพเจ้า ภาระนี้หาใช่เป็นภาระ เพียงชั่วครั้งชั่วคราวของข้าพเจ้าไม่ การบำรุงที่ข้าพเจ้าบำรุงแล้วนี้ ย่อม นำความสุขมาให้แก่มารดาบิดาได้ แต่นันทะย่อมกระทำการขอร้อง อ้อนวอนเพื่อบำรุงท่านทั้งสองบ้าง บรรดาท่านทั้งสองผู้สงบระงับ ผู้ ประพฤติพรหมจรรย์ หากว่าท่านใดปรารถนา ข้าพเจ้าจะบอกกะท่านนั้น ขอให้ท่านทั้งสองผู้หนึ่งจงเลือกนันทะตามความปรารถนาเถิด นันทะจะ บำรุงใครในท่านทั้งสอง. [๑๕๙] ดูกรพ่อโสณะ เราทั้งสองอาศัยเจ้าอยู่ ถ้าเจ้าอนุญาต แม่ก็จะพึงได้ จุมพิตลูกนันทะผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่ศีรษะ. [๑๖๐] ใบอ่อนของต้นอัสสัตถพฤกษ์ เมื่อลมรำเพยพัดต้องแล้วย่อมหวั่นไหว ไปมา ฉันใด หัวใจของแม่ก็หวั่นไหว เพราะนานๆ จึงได้เห็นลูก นันทะ ฉันนั้น เมื่อใด เมื่อแม่หลับแล้วฝันเห็นลูกนันทะมา แม่ก็ดี ใจอย่างล้นเหลือว่าลูกนันทะของแม่นี้มาแล้ว แต่เมื่อใด ครั้นแม่ตื่น ขึ้นแล้ว ไม่ได้เห็นลูกนันทะของแม่มา ความเศร้าโศกและความเสียใจ มิใช่น้อย ก็ทับถมยิ่งนัก วันนี้ แม่ได้เห็นลูกนันทะผู้จากไปนานกลับ มาแล้ว ขอลูกนันทะจงเป็นที่รักของบิดาเจ้าและของแม่เอง ขอลูกนันทะ จงเข้าไปสู่เรือนของเราเถิด ดูกรพ่อโสณะลูกนันทะเป็นที่แสนรักของ บิดา ลูกนันทะยังไม่ได้เข้าไปสู่เรือนใด ขอให้ลูกนันทะจงได้เรือนนั้น ขอลูกนันทะจงบำรุงแม่เถิด. [๑๖๑] ดูกรฤาษี มารดาเป็นผู้อนุเคราะห์ เป็นที่พึ่งและเป็นผู้ให้ขีรรสแก่เราก่อน เป็นทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า มารดาเป็นผู้ให้ขีรรสก่อน เป็นผู้เลี้ยงดูเรามา เป็นผู้ชักชวนเราในบุญกุศล เป็นทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า. [๑๖๒] มารดาหวังผลคือบุตร จึงนอบน้อมแก่เทวดา และไต่ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย เมื่อมารดานั้นมีระดู ความก้าวลงแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ก็ย่อมมี เพราะสัตว์เกิดในครรภ์นั้นมารดาจึงแพ้ท้อง เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่าเป็นผู้มีใจดี มารดาบริหารครรภ์อยู่หนึ่งปี หรือหย่อนกว่าปีแล้วจึงคลอด เหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า ชนยนตีและชเนตตี ผู้ยังบุตรให้เกิด มารดาย่อมปลอบบุตรผู้ร้องไห้อยู่ ให้รื่นเริง ด้วยการให้ดื่มน้ำนมบ้าง ด้วยการขับกล่อมบ้าง ด้วยการอุ้ม แนบไว้กับอกบ้าง เหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า ปลอบบุตร ให้รื่นเริง ต่อแต่นั้น มารดาเห็นบุตรผู้ยังเป็นเด็กอ่อน ไม่รู้จักเดียงสา เล่นอยู่ท่ามกลางสายลมและแสงแดดอันกล้าก็เข้ารับขวัญ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า โปเสนตี ผู้เลี้ยงดูบุตร มารดาย่อม คุ้มครองทรัพย์แม้ทั้งสองฝ่าย คือ ทรัพย์ของมารดาและทรัพย์ของบิดา เพื่อบุตรนั้น ด้วยตั้งใจว่า ทรัพย์ทั้งสองฝ่ายพึงเป็นของบุตรแห่งเรา มารดายังบุตรให้ศึกษาดังนี้ว่า อย่างนี้ซิลูกอย่างโน้นซิลูก ย่อมลำบาก เมื่อบุตรกำลังรุ่นหนุ่มคะนอง มารดาย่อมคอยมองดูบุตรผู้หลงเพลิดเพลิน ในภรรยาผู้อื่น จนพลบค่ำก็ยังไม่กลับมา ย่อมเดือดร้อนด้วยประการ ฉะนี้ บุตรผู้อันมารดาเลี้ยงดูมาแล้ว ด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุง มารดา บุตรนั้นชื่อว่าประพฤติผิดในมารดา ย่อมเข้าถึงนรก บุตรผู้ อันบิดาเลี้ยงมาด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุงบิดา บุตรนั้นชื่อว่า ประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุง มารดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมฉิบหาย หรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุง บิดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมฉิบหาย หรือ บุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น ความรื่นเริง ความบันเทิง และความ หัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงมารดา ความรื่นเริงความบันเทิง และความหัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้ รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงบิดา สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้คือทาน การให้ ๑ ปิยวาจา เจรจาคำน่ารัก ๑ อัตถจริยา การประพฤติ ประโยชน์ ๑ สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลาย ตามสมควร ในที่นั้นๆ ๑ ย่อมมีในโลกนี้ เหมือนเพลารถย่อมมี แก่รถที่กำลังแล่นไป ฉะนั้น ถ้าว่าสังคหวัตถุเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้ มารดา ก็จะไม่พึงได้รับความนับถือหรือการบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร หรือ บิดาก็จะไม่พึงได้ความนับถือหรือการบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร ก็เพราะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมพิจารณาเห็นสังคหวัตถุนี้ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมถึงความเป็นผู้ประเสริฐ และเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์พึงสรรเสริญ มารดาและบิดาบัณฑิตเรียกว่าเป็นพรหมของบุตร เป็นบุรพาจารย์ของ บุตร เป็นผู้ควรรับของคำนับของบุตร และว่าเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร เพราะเหตุนั้นแล บุตรผู้เป็นบัณฑิต พึงนอบน้อมและสักการะมารดา บิดาทั้ง ๒ นั้นด้วย ข้าว น้ำ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน การขัดสี การ ให้อาบน้ำ และการล้างเท้า บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุตรนั้น ด้วยการบำรุงในมารดาบิดาในโลกนี้ ครั้นบุตรนั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อม บันเทิงในสวรรค์.
จบ โสณนันทชาดกที่ ๒
-----------------------------------------------------
รวมชาดกในสัตตตินิบาตนั้น มี ๒ ชาดก คือ กุสชาดก ๑ โสณนันทชาดก ๑ ชาดกทั้งสองนี้ปรากฏอยู่ในสัตตตินิบาต.
จบ สัตตตินิบาตชาดก.
-----------------------------------------------------
อสีตินิบาตชาดก
๑. จุลลหังสชาดก
พระยาหงส์ทรงติดบ่วง
[๑๖๓] ดูกรสุมุขะ ฝูงหงส์พากันบินหนีไปไม่เหลียวหลัง แม้ท่านก็จงไปเสีย เถิด อย่าหวังอยู่ในที่นี้เลย ความเป็นสหายในเราผู้ติดบ่วงย่อมไม่มี. [๑๖๔] ข้าพระองค์จะพึงไปหรือไม่พึงไป ความไม่ตาย ก็ไม่พึงมีเพราะการไป หรือการไม่ไปนั้น เมื่อพระองค์มีความสุขจึงอยู่ใกล้ เมื่อพระองค์ได้รับ ทุกข์ จะพึงละไปอย่างไรได้ ความตายพร้อมกับพระองค์ หรือว่าความ เป็นอยู่เว้นจากพระองค์ ความตายนั้นแลประเสริฐกว่า เว้นจากพระองค์ แล้วพึงเป็นอยู่ประเสริฐอะไร ข้าแต่พระมหาราชผู้เป็นจอมหงส์ ข้า พระองค์พึงละทิ้งพระองค์ผู้ทรงถึงทุกข์อย่างนี้ ข้อนี้ไม่เป็นธรรมเลย คติของพระองค์ ข้าพระองค์ย่อมชอบใจ. [๑๖๕] คติ ของเราผู้ติดบ่วงจะเป็นอื่นไปอย่างไรเล่า นอกจากเข้าโรงครัวใหญ่ คตินั้นย่อมชอบใจแก่ท่านผู้มีความคิดผู้พ้นแล้วอย่างไร ดูกรหงส์สุมุขะ ท่านจะพึงเห็นประโยชน์อะไรในการสิ้นชีวิตของเราและของท่านทั้งสอง หรือของพวกญาติที่เหลือ ดูกรท่านผู้มีปีกทั้งสองดังสีทอง เมื่อท่าน ยอมสละชีวิตในเพราะคุณอันไม่ประจักษ์ ดังคนตาบอดกระทำแล้วใน ที่มืดจะพึงยังประโยชน์อะไรให้รุ่งเรืองได้. [๑๖๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าฝูงหงส์ทั้งหลาย ทำไมหนอ พระองค์จึงไม่ ทรงรู้อรรถในธรรม ธรรมอันบุคคลเคารพแล้วย่อมแสดงประโยชน์แก่ สัตว์ทั้งหลาย ข้าพระองค์นั้นเพ่งเล็งอยู่ซึ่งธรรมและประโยชน์อันตั้ง ขึ้นจากธรรม ทั้งเห็นพร้อมอยู่ซึ่งความภักดีในพระองค์ จึงมิได้เสียดาย ชีวิต ความที่มิตรเมื่อระลึกถึงธรรมไม่พึงทอดทิ้งมิตรในยามทุกข์ แม้ เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้. [๑๖๗] ธรรมนี้นั้นท่านประพฤติแล้ว และความภักดีในเราก็ปรากฏแล้ว ท่านจง ทำตามความปรารถนาของเรานี้เถิด ท่านผู้เป็นอันเราอนุมัติแล้ว จงไป เสียเถิด ดูกรท่านผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ก็แลเมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ คือ เมื่อเราติดบ่วงอยู่ในที่นี้ ท่านพึงกลับไป ปกครองหมู่ญาติทั้งหลายของ เราให้จงดีเถิด. [๑๖๘] เมื่อสุวรรณหงส์ผู้ประเสริฐ ผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐกำลังโต้ตอบ กันอยู่ด้วยประการฉะนี้ นายพรานได้ปรากฏแล้วเหมือนดังมัจจุราช ปรากฏแก่บุคคลผู้ป่วยหนัก ฉะนั้น สุวรรณหงส์ทั้งสองผู้เกื้อกูลกันมาสิ้น กาลนานนั้น เห็นศัตรูเดินมาแล้ว ก็นิ่งเฉยมิได้เคลื่อนจากที่ ฝ่ายว่านาย พรานผู้เป็นศัตรูของพวกนก เห็นพระยาหงส์ธตรฐผู้เป็นจอมหงส์กำลัง เดินส่ายไปมาแต่ที่นั้นๆ จึงรีบเดินเข้าไป ก็นายพรานนั้นครั้นรีบเดิน เข้าไปแล้ว เกิดความสงสัยขึ้นว่า หงส์ทั้งสองนั้นติดบ่วงหรือไม่ จึง ค่อยลดความเร็วลง ค่อยๆ เดินเข้าไปให้ใกล้สุวรรณหงส์ทั้งสอง ได้เห็นตัวหนึ่งติดบ่วงอีกตัวหนึ่งไม่ติดบ่วง แต่มายืนอยู่ใกล้ตัวติดบ่วง จึงเพ่งดูตัวที่ติดบ่วงผู้เป็นโทษ ลำดับนั้น นายพรานนั้นเป็นผู้มีความ สงสัยจึงได้กล่าวถามสุมุขหงส์ผู้มีผิวพรรณเหลือง มีร่างกายใหญ่ ผู้เป็น ใหญ่ในหมู่หงส์ ซึ่งยืนอยู่ว่า เพราะเหตุไรหนอพระยาหงส์ตัวที่ติดบ่วง ใหญ่ ย่อมไม่กระทำซึ่งทิศ เมื่อเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุไรท่านผู้ไม่ติด บ่วง เป็นผู้มีกำลัง จึงไม่บินหนีไป พระยาหงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับท่าน หรือท่านพ้นแล้วทำไมจึงยังเฝ้าหงส์ผู้ติดบ่วงอยู่ หงส์ทั้งหลายพากัน ละทิ้งหนีไปหมด เพราะเหตุไร ท่านจึงยังอยู่ผู้เดียว. [๑๖๙] ดูกรนายพรานนก พระยาหงส์นั้นเป็นราชาของเรา ทั้งเป็นเพื่อนเสมอ ด้วยชีวิตของเราด้วย เราจึงไม่ละท่านไป จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งกาละ. [๑๗๐] ก็ไฉนพระยาหงส์นี้จึงไม่เห็นบ่วงที่ดักไว้ ความจริงการรู้อันตรายของตน เป็นเหตุของบุคคลผู้ใหญ่ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ใหญ่เหล่านั้น ควรรู้อันตราย. [๑๗๑] เมื่อใดมีความเสื่อม เมื่อนั้น สัตว์แม้เข้าใกล้ข่ายหรือบ่วงก็ไม่รู้สึก ในเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิต. [๑๗๒] ดูกรท่านผู้มีปัญญามาก ก็แลบ่วงทั้งหลายที่เขาดักไว้มีมากอย่าง สัตว์ ทั้งหลายย่อมเข้ามาติดบ่วงที่เขาดักอำพรางไว้ในเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิต อย่างนี้. [๑๗๓] เออก็การอยู่ร่วมกันกับท่านนี้ พึงมีสุขเป็นกำไรหนอ และขอท่าน อนุญาตแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเถิด และขอท่านพึงให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าทั้งสอง ด้วยเถิด. [๑๗๔] เรามิได้ผูกท่านไว้ และไม่ปรารถนาจะว่าท่าน เชิญท่านรีบไปจากที่นี้ตาม ปรารถนา แล้วจงอยู่เป็นสุขตลอดกาลนานเถิด. [๑๗๕] ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ โดยเว้นจากชีวิตของพระยาหงส์นี้ ถ้า ท่านยินดีเพียงตัวเดียว ขอให้ท่านปล่อยพระยาหงส์นี้ และจงกินข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้เสมอกัน ด้วยรูปทรงสัณฐานและวัย ท่านไม่เสื่อม แล้วจากลาภ ขอท่านจงเปลี่ยนข้าพเจ้ากับพระยาหงส์นี้เถิด เชิญท่าน พิจารณาดูในข้าพเจ้าทั้งสอง เมื่อท่านมีความปรารถนาเฉพาะตัวเดียว จงเอาบ่วงผูกข้าพเจ้าไว้ก่อน จงปล่อยพระยาหงส์ในภายหลัง ถ้าท่าน ทำตามที่ข้าพเจ้าขอร้อง ลาภของท่านก็คงมีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน ทั้งท่านจะได้เป็นมิตรกับฝูงหงส์ธตรฐจนตลอดชีวิต [๑๗๖] มิตร อำมาตย์ ทาส ทาสี บุตร ภรรยา และพวกพ้องหมู่ใหญ่ทั้งหลาย จงดูว่า พระยาหงส์ธตรฐพ้นจากที่นี้ไปได้เพราะท่าน บรรดามิตรทั้งหลาย เป็นอันมาก มิตรเช่นท่านนั้นหามีในโลกนี้ เหมือนท่านผู้เป็นเพื่อนร่วม ชีวิต ของพระยาหงส์ธตรฐไม่ เรายอมปล่อยสหายของท่าน พระยา หงส์จงบินตามท่านไปเถิด ท่านทั้งสองจงรีบไปจากที่นี้ตามความ ปรารถนา จงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางหมู่ญาติ. [๑๗๗] สุมุขหงส์ผู้มีความเคารพนาย มีความปลื้มใจ เพราะพระยาหงส์ผู้เป็น นายหลุดพ้นจากบ่วง เมื่อจะกล่าววาจาอันรื่นหูได้กล่าวว่า ดูกรนายพราน ขอให้ท่านพร้อมด้วยหมู่ญาติทั้งปวงจงเบิกบานใจ เหมือนข้าพเจ้าเบิก บานใจในวันนี้เพราะได้เห็นพระยาหงส์พ้นจากบ่วงฉะนั้น. [๑๗๘] เชิญท่านมานี่ เราจักบอกท่านถึงวิธีที่ท่านจักได้ทรัพย์เป็นลาภของท่าน พระยาหงส์ธตรฐนี้ย่อมไม่มุ่งร้ายอะไรๆ ท่านจงรีบไปภายในบุรี จง แสดงข้าพเจ้าทั้งสองผู้ไม่ติดบ่วงเป็นอยู่ตามปกติ จับอยู่ที่กระเช้า ทั้งสองข้าง แก่พระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช หงส์ธตรฐทั้งสองนี้เป็น อธิบดีแห่งหงส์ทั้งหลาย เพราะว่าหงส์ตัวนี้เป็นราชาของหงส์ทั้งหลาย ส่วนหงส์ตัวนี้เป็นอัครมหาเสนาบดี พระราชาจอมประชาชนทอด พระเนตรเห็นพระยาหงส์นี้แล้ว ก็จะทรงปราบปลื้มพระหฤทัย จักพระ- ราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่ท่านโดยไม่ต้องสงสัย. [๑๗๙] นายพรานได้สดับคำของหงส์สุมุขะดังนั้นแล้ว จัดแจงการงานเสร็จแล้ว รีบเข้าไปภายในบุรี แสดงหงส์ทั้งสองผู้มิได้ติดบ่วง เป็นอยู่ตามปกติ จับอยู่ที่กระเช้าทั้งสองข้างแก่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช หงส์ธตรฐทั้ง สองนี้ เป็นอธิบดีแห่งหงส์ทั้งหลาย เพราะว่าหงส์ตัวนี้เป็นราชาของ หงส์ทั้งหลาย ส่วนหงส์ตัวนี้เป็นอัครมหาเสนาบดี. [๑๘๐] ก็หงส์ทั้งสองนี้มาอยู่ในเงื้อมมือของท่านได้อย่างไร ท่านเป็นพราน นำ หงส์ผู้เป็นใหญ่ กว่าหงส์ผู้ใหญ่ทั้งหลายมาในที่นี้ได้อย่างไร. [๑๘๑] ข้าแต่พระจอมประชานิกร ข้าพระองค์ดักบ่วงเหล่านี้ไว้ที่เปือกตม ซึ่ง เป็นที่ๆ ข้าพระองค์เข้าใจว่า จะกระทำความสิ้นชีวิตแก่นกทั้งหลายได้ พระยาหงส์ได้มาติดบ่วงเช่นนั้น ส่วนหงส์ตัวนี้มิได้ติดบ่วงของ ข้าพระองค์ แต่เข้ามาจับอยู่ใกล้ๆ พระยาหงส์นั้น ได้กล่าวกะ ข้าพระองค์ หงส์นี้ประกอบแล้วด้วยธรรม ได้กระทำกรรมอันแสนยาก ที่บุคคลผู้มิใช่พระอริยะจะพึงทำได้ ประกาศภาวะอันสูงสุดของตน พยายามในประโยชน์ของนาย หงส์นี้ควรจะมีชีวิตอยู่ ยอมสละชีวิต ของตน มายืนสรรเสริญคุณของนาย ร้องขอชีวิตของนาย ข้าพระองค์ ได้สดับคำของหงส์นี้แล้ว เกิดความเลื่อมใส จึงปล่อยพระยาหงส์นั้น จากบ่วง และอนุญาตให้กลับได้ตามสบาย สุมุขหงส์ผู้มีความเคารพนาย มีความปลื้มใจ เพราะพระยาหงส์ผู้เป็นนายหลุดพ้นจากบ่วง เมื่อจะกล่าว วาจาอันรื่นหู ได้กล่าวว่า ดูกรนายพราน ขอให้ท่านพร้อมด้วยหมู่ญาติ ทั้งปวงจงเบิกบานใจ เหมือนข้าพเจ้าเบิกบานใจในวันนี้ เพราะได้เห็น พระยาหงส์พ้นจากบ่วง ฉะนั้น เชิญท่านมานี่ เราจักบอกท่าน ถึงวิธี ที่ท่านจักได้ทรัพย์อันเป็นลาภของท่าน พระยาหงส์ธตรฐนี้ย่อมไม่มุ่งร้าย อะไรๆ ท่านจงรีบเข้าไปภายในบุรี จงแสดงข้าพเจ้าทั้งสองผู้ไม่ติดบ่วง เป็นอยู่ตามปกติ จับอยู่ที่กระเช้าทั้งสองข้างแก่พระราชาว่า ข้าแต่ มหาราช หงส์ธตรฐทั้งสองนี้เป็นอธิบดีแห่งหงส์ทั้งหลาย เพราะว่าหงส์ ตัวนี้เป็นราชาของหงส์ทั้งหลาย ส่วนหงส์ตัวนี้เป็นอัครมหาเสนาบดี พระราชาผู้เป็นจอมประชาชน ทอดพระเนตรเห็นพระยาหงส์นี้แล้ว จะทรงปราโมทย์ปลาบปลื้มพระหฤทัย จักพระราชทานทรัพย์เป็นอันมาก แก่ท่านโดยไม่ต้องสงสัย ข้าพระองค์จึงนำหงส์ทั้งสองนี้มา ตามคำ ของหงส์ตัวนี้อย่างนี้ และหงส์ทั้งสองนี้ ข้าพระองค์อนุญาตให้ไปยัง เขาจิตรกูฏนั้นแล้ว หงส์ตัวนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างยิ่ง ตกอยู่ ในเงื้อมมือของศัตรูอย่างนี้ ได้ทำให้นายพรานเช่นข้าพระองค์เกิดความ เป็นผู้มีใจอ่อนโยน ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์ ไม่เห็น เครื่องบรรณาการอย่างอื่นนอกจากนี้ที่จะนำมาถวายแด่พระองค์ ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์ ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูเครื่องบรร- ณาการนั้น ณ บ้านพรานนกทั้งปวง. [๑๘๒] พระยาหงส์เห็นพระราชาประทับนั่งบนตั่งทองอันงดงาม เมื่อจะกล่าว วาจาอันรื่นหู จึงได้ทูลว่า พระองค์ไม่มีโรคาพาธหรือ ทรงสุขสำราญ ดีอยู่หรือ พระองค์ทรงปกครอง รัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรมหรือ. [๑๘๓] ดูกรพระยาหงส์ เราไม่มีโรคาพาธ เราสุขสำราญดี อนึ่ง เราปกครอง รัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม. [๑๘๔] โทษอะไรๆ ย่อมไม่มีในหมู่อำมาตย์ของพระองค์แลหรือ อำมาตย์ เหล่านั้น ย่อมไม่ห่วงใยชีวิต เพราะประโยชน์ของพระองค์แลหรือ. [๑๘๕] โทษอะไรๆ ย่อมไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้น ย่อม ไม่ห่วงใยชีวิต เพราะประโยชน์ของเรา. [๑๘๖] พระอัครมเหสีของพระองค์ เป็นผู้มีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มี ปกติตรัสวาจาอันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรส พระรูปโฉม และอิศริยยศ ทรงคล้อยตามพระราชอัธยาศัยของพระองค์แลหรือ. [๑๘๗] พระอัครมเหสีของเรา เป็นผู้มีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีปกติตรัส วาจาอันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรสพระรูปโฉมและอิศริยยศ ทรงคล้อยตามอัธยาศัยของเรา. [๑๘๘] ท่านตกอยู่ในเงื้อมมือของมหาศัตรู ได้รับทุกข์ใหญ่หลวงในเบื้องต้น พึงได้รับทุกข์นั้นบ้างแลหรือ นายพรานวิ่งเข้าไปโบยตีท่านด้วยท่อนไม้ แลหรือ เพราะว่าปกติของคนหยาบช้าเหล่านี้ ย่อมมีเป็นประจำอย่าง นั้น. [๑๘๙] ข้าแต่พระมหาราช ในยามมีทุกข์อย่างนี้ ย่อมมีความปลอดโปร่งใจ จริง อยู่ นายพรานนี้ มิได้ทำอะไรๆ ในข้าพระองค์ทั้งสองเหมือนศัตรู นาย พรานค่อยๆ เดินเข้าไปและได้ปราศรัยขึ้นก่อน ในกาลนั้น สุมุขหงส์ บัณฑิตผู้นี้ได้กล่าวตอบ นายพรานได้ฟังคำของสุมุขหงส์นั้นแล้วก็เกิด ความเลื่อมใส ปล่อยข้าพระองค์จากบ่วงนั้น และอนุญาตให้ข้าพระองค์ กลับได้ตามสบาย สุมุขหงส์ปรารถนาทรัพย์เพื่อนายพรานนี้ จึงคิดชวน กันมาในสำนักของพระองค์เพื่อประโยชน์แก่นายพรานนี้. [๑๙๐] ก็การที่ท่านทั้งสองมาในที่นี้ เป็นการมาดีแล้ว และเราก็มีความปราโมทย์ เพราะได้เห็นท่านทั้งสอง แม้นายพรานนี้ก็จะได้ทรัพย์อันมากมายตามที่ เขาปรารถนา. [๑๙๑] พระราชาผู้เป็นจอมมนุษย์ ทรงยังนายพรานให้เอิบอิ่มด้วยโภคสมบัติทั้ง หลาย พระยาหงส์ได้กล่าววาจาอันรื่นหูอนุโมทนา. [๑๙๒] ได้ยินว่า อำนาจของเราผู้ทรงธรรม ย่อมเป็นไปในที่เท่าใด ที่เท่านั้นมี ประมาณน้อย ความเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวงจงมีแก่ท่าน ขอท่านจงปกครอง ตามปรารถนาเถิด ทานวัตถุก็ดี เครื่องอุปโภคก็ดี และสิ่งอื่นใดที่เข้าไป สำเร็จประโยชน์เราขอยกสิ่งนั้นๆ ซึ่งล้วนเป็นของปลื้มใจให้แก่ท่าน และขอสละความเป็นใหญ่ให้แก่ท่าน. [๑๙๓] ก็ถ้าว่า สุมุขหงส์บัณฑิตนี้สมบูรณ์ด้วยปัญญา พึงเจรจาแก่เราตาม ปรารถนา ข้อนั้นพึงเป็นที่รักอย่างยิ่งของเรา. [๑๙๔] ข้าแต่มหาราช ได้ยินว่า ข้าพระองค์หาอาจจะพูดสอดขึ้นในระหว่าง เหมือนพระยานาคเลื้อยเข้าไปภายในศิลาฉะนั้นไม่ข้อนั้นไม่เป็นวินัยของ ข้าพระองค์ พระยาหงส์ประเสริฐกว่าข้าพระองค์ และพระองค์ก็สูงสุด กว่าสัตว์ทั้งหลาย เป็นพระเจ้าแผ่นดินจอมมนุษย์ ทั้งสองพระองค์ควร แก่การบูชาด้วยเหตุมากมาย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์ เมื่อ พระองค์ทั้งสองกำลังตรัสกันอยู่ เมื่อการวินิจฉัยกำลังเป็นไปอยู่ ข้าพระ- องค์ผู้เป็นสาวก ไม่พึงพูดสอดขึ้นในระหว่าง. [๑๙๕] ได้ยินว่า นายพรานกล่าวโดยความจริงว่า สุมุขหงส์เป็นบัณฑิต เพราะ ว่านัยเช่นนี้ไม่พึงมีแก่บุคคลผู้ไม่ได้รับอบรมเลย ความมีปกติอันเลิศ และสัตว์อันอุดมอย่างนี้ มีเพียงเท่าที่เราเห็นแล้ว เราไม่ได้เห็นผู้อื่น เป็นเช่นนี้ เราจึงยินดีด้วยปกติและวาจาอันไพเราะของท่านทั้งสอง ก็การที่เราพึงเห็นท่านทั้งสองได้นานๆ เช่นนี้ เป็นความพอใจของเรา โดยแท้. [๑๙๖] กิจใดที่บุคคลพึงกระทำในมิตร กิจนั้นพระองค์ทรงกระทำแล้ว ใน ข้าพระองค์ทั้งสอง ข้าพระองค์ทั้งสอง ย่อมเป็นผู้อันพระองค์คงปล่อย ด้วยความภักดีในข้าพระองค์ทั้งสองโดยไม่ต้องสงสัย ก็ความทุกข์คง เกิดขึ้นในหมู่หงส์เป็นอันมากโน้น เพราะมิได้เห็นข้าพระองค์ทั้งสอง ในระหว่างญาติหมู่ใหญ่เป็นแน่ ข้าแต่พระองค์ผู้ปราบปรามศัตรู ข้า- พระองค์ทั้งสอง อันพระองค์ทรงอนุญาต กระทำประทักษิณพระองค์แล้ว พึงไปพบญาติทั้งหลาย เพื่อกำจัดความเศร้าโศกของหงส์เหล่านั้น ข้าพระองค์ย่อมจะได้ปีติอันไพบูลย์ เพราะได้มาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงพระ เจริญโดยแท้ การสงเคราะห์ญาตินี้เป็นประโยชน์อันใหญ่หลวงแท้. [๑๙๗] พระยาหงส์ธตรฐ ครั้นกราบทูลพระเจ้าสาคลราชผู้เป็นจอมประชาชนเช่น นี้แล้ว ได้เข้าไปหาหมู่ญาติ เพราะอาศัยเชาวน์อันสูงสุด หงส์เหล่านั้น เห็นหงส์ทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่มิได้ป่วยเจ็บกลับมา ต่างก็ส่งเสียงว่า เกเก เกิดเสียงอื้ออึงไปทั่ว หงส์ผู้เคารพนายได้ที่พึ่งเหล่านั้น ต่างก็โสมนัส ยินดี เพราะนายรอดพ้นภัย พากันห้อมล้อมนายโดยรอบ. [๑๙๘] ประโยชน์ทั้งปวง ของชนทั้งหลายผู้ถึงพร้อมด้วยกัลยาณมิตร ย่อม สำเร็จผลเป็นสุขเปรียบเหมือนหงส์ธตรฐทั้งสอง ได้กลับมาอยู่ใกล้หมู่ ญาติ ฉะนั้น.
จบ จุลลหังสชาดกที่ ๑
๒. มหาหังสชาดก
หงส์ชื่อสุมุขะ ไม่ละทิ้งพระยาหงส์ผู้ติดบ่วง
[๑๙๙] หงส์เหล่านั้นถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมบินหนีไป ดูกรสุมุขะ ผู้มีขน เหลือง มีผิวพรรณดังทอง ท่านจงบินหนีไปตามความปรารถนาเถิด หมู่ญาติละทิ้งเราซึ่งตกอยู่ในอำนาจบ่วงตัวเดียว บินหนีไปไม่เหลียว หลังเลย ท่านจะอยู่ผู้เดียวทำไม ดูกรสุมุขะผู้ประเสริฐกว่าหงส์ทั้งหลาย ท่านจงกลับไปเสียเถิด ความเป็นสหายในเราผู้ติดบ่วงย่อมไม่มี ท่าน อย่าคลายความเพียรเพื่อความไม่มีทุกข์ จงหนีไปเสียตามความปรารถนา เถิด. [๒๐๐] ข้าแต่พระยาหงส์ธตรฐ ก็ข้าพระองค์แม้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ก็จะ ไม่ละทิ้งพระองค์เลย ความเป็นอยู่หรือความตายของข้าพระองค์จักมี พร้อมกับพระองค์ ข้าแต่พระยาหงส์ธตรฐ ก็ข้าพระองค์ แม้มีความ ทุกข์เป็นเบื้องหน้าก็จะไม่ละทิ้งพระองค์เลย พระองค์ไม่ควรจะชักชวน ข้าพระองค์ให้ประกอบในกรรมอันประกอบด้วยความเป็นคนไม่ประเสริฐ เลย ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดกว่าหงส์ทั้งหลาย ข้าพระองค์เป็น สหายสหชาติของพระองค์ เป็นผู้ดำรงอยู่ในจิตของพระองค์ ใครๆ ก็รู้ ว่าข้าพระองค์เป็นเสนาบดีของพระองค์ ข้าพระองค์ไปจากที่นี่แล้ว จะ กล่าวอวดอ้างในท่ามกลางหมู่ญาติได้อย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ กว่าหงส์ทั้งหลาย ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์ไปจากที่นี่แล้ว จะกล่าวกะ ฝูงหงส์เหล่านั้นได้อย่างไร ข้าพระองค์จักยอมสละชีวิตไว้ในที่นี้ ไม่ สามารถจะทำกิจของคนผู้ไม่ประเสริฐได้.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๑-๑๓๖๙ หน้าที่ ๑-๕๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=1&Z=1369&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=28&item=1&items=1269              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=28&item=1&items=1269&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=28&item=1&items=1269              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=28&item=1&items=1269              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_28 https://84000.org/tipitaka/english/?index_28

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]