ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 167อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 168อ่านอรรถกถา 4 / 175อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ อุโบสถขันธกะ
จะแสดงธรรมท่ามกลางสงฆ์ต้องได้รับอาราธนาก่อน

               อรรถกถาอัชเฌสนา               
               บทว่า อนชฺฌิฏฐา ได้แก่ ไม่ได้รับบัญชา หรือไม่ได้รับเชิญ.
               ก็ในอัชเฌสนาธิการนี้ การเชิญ เนื่องด้วยภิกษุผู้เชิญแสดงธรรมซึ่งสงฆ์สมมติก็มี เนื่องด้วยพระสังฆเถระก็มี. เมื่อภิกษุผู้เชิญแสดงธรรมนั้นไม่มี ภิกษุเรียนพระสังฆเถระแล้ว หรืออันพระสังฆเถระอัญเชิญแล้ว ย่อมได้เพื่อกล่าวธรรม.
               พระสังฆเถระเล่า ถ้าในวัดที่อยู่มีพระธรรมกถึกมาก, พึงสั่งตามลำดับวาระ. ภิกษุผู้ซึ่งท่านสั่งว่า เธอจงสวดธรรม ก็ดี ว่า เธอจงแสดงธรรม ก็ดี ว่า เธอจงให้ธรรมทาน ก็ดี พึงกล่าวธรรมได้ทั้ง ๓ วิธี แต่ภิกษุผู้ได้รับคำสั่งว่า จงสวด ย่อมได้เพื่อสวดเท่านั้น ผู้ได้รับคำสั่งว่า จงแสดง ย่อมได้เพื่อแสดงเท่านั้น ผู้ได้รับคำสั่งว่า จงสวดสรภัญญะ ย่อมได้เพื่อสวดสรภัญญะเท่านั้น.
               ฝ่ายพระเถระเล่าผู้นั่งบนอาสนะสูงกว่า ย่อมไม่ได้เพื่ออัญเชิญ. ถ้าพระสังฆเถระเป็นอุปัชฌาย์ และพระธรรมกถึกเป็นสัทธิวิหาริก และพระอุปัชฌาย์นั่งบนอาสนะสูง สั่งสัทธิวิหาริกนั้นว่าเธอจงสวด. พึงตั้งใจสาธยายแล้วสวดเถิด. แต่ถ้าในสำนักอุปัชฌาย์นี้ มีภิกษุหนุ่มมาก, พึงตั้งใจว่า เราสวดแก่ภิกษุเหล่านั้น แล้วสวดเถิด.
               ถ้าพระสังฆเถระในวัดที่อยู่ให้สวดแต่นิสิตของตนเท่านั้น, ไม่อัญเชิญภิกษุเหล่าอื่นที่สวดไพเราะบ้าง, ภิกษุเหล่าอื่นพึงเรียนท่านว่า ท่านผู้เจริญ พวกผมขอให้ภิกษุชื่อโน้นสวด. ถ้าท่านตอบ สวดเถิด หรือท่านนิ่งเสีย สมควรให้สวดได้. แต่ถ้าท่านห้าม ไม่ควรให้สวด.
               หากว่า เริ่ม ธรรมสวนะ แต่เมื่อพระสังฆเถระยังมิได้มา, เมื่อท่านมากลางคัน กิจที่จะต้องหยุดขอโอกาส ไม่มี.
               อนึ่ง เมื่อสวดแล้วจะอธิบายเนื้อความ พึงขอโอกาสท่านแล้ว จึงอธิบายก็ได้. ไม่หยุดเลยอธิบายทีเดียวก็ได้ แม้ในพระสังฆเถระผู้มากลางคัน เมื่อกำลังอธิบายก็มีนัยเหมือนกัน. ถึงในอุปนิสินนกถาพระสังฆเถระเป็นเจ้าของ, เพราะฉะนั้น พระสังฆเถระนั้นพึงกล่าวเอง, หรือสั่งภิกษุอื่นว่า เธอจงกล่าว ก็แลพระเถระนั่งสูงกว่าไม่ควรสั่ง. แต่ว่าจะสั่งแก่มนุษย์ทั้งหลายว่า ท่านจงกล่าว ควรอยู่ชนทั้งหลายถามภิกษุผู้รู้จักตน ภิกษุนั้นพึงขอโอกาสพระเถระก่อนจึงค่อยตอบ. ถ้าพระเถระได้รับตอบว่า ท่านผู้เจริญ ชนเหล่านี้ถามปัญหากะผม ดังนี้แล้ว สั่งว่า ตอบเถิดก็ดี นิ่งเสียก็ดี จะตอบก็ควร.
               แม้ในการอนุโมทนาเป็นต้นในละแวกบ้าน ก็นัยนี้แล.
               ถ้าว่าพระสังฆเถระอนุญาตว่า เธอพึงกล่าวในวัดที่อยู่หรือในละแวกบ้านเถิด ไม่ต้องบอกเล่าฉันละ เป็นอันได้ข้ออ้าง, สมควรกล่าวได้ในที่ทั้งปวง. แม้เมื่อจะทำการสาธยายเล่า ก็ต้องขอโอกาสพระเถระเหมือนกัน. เมื่อขอโอกาสองค์ ๑ แล้วกำลังสาธยาย องค์อื่นมาอีก กิจที่จะต้องขอโอกาสอีก ย่อมไม่มี. หากว่า เมื่อผูกใจว่าเราจักพัก แล้วหยุดอยู่ พระเถระมา, เมื่อเริ่มอีกต้องขอโอกาส แม้เมื่อกำลังสาธยายธรรมที่ตนเริ่มไว้แล้ว แต่เมื่อพระสังฆเถระยังมิได้มา ก็นัยนี้แล. พระสังฆเถระองค์ ๑ อนุญาตแล้วว่า ไม่ต้องขอโอกาสฉันละ ท่องตามสบายเถิด ดังนี้ สมควรสาธยายตามสบาย แต่เมื่อพระสังฆเถระองค์อื่นมา ต้องขอโอกาสท่านก่อนจึงสาธยาย.
               ข้อว่า อตฺตนา วา๑- อตฺตานํ สมฺมนฺนิตพฺพํ มีความว่า พึงสมมติตนด้วยตนเองก็ได้. แต่เมื่อจะถาม ต้องแลดูบริษัท ถ้าอุปัทวะไม่มีแก่ตน; พึงถามวินัย.
               ข้อว่า กเตปิ โอกาเส ปุคฺคลํ ตุลยิตฺวา มีความว่า เราตถาคตอนุญาตให้ภิกษุ แม้เมื่อตนขอโอกาสแล้ว ต้องพิจารณาอย่างนี้ว่า อุปัทวะจากบุคคลนี้จะมีแก่เรา หรือไม่มีหนอ? ดังนี้ แล้วจึงโจทด้วยอาบัติ.
               ข้อว่า ปุคฺคลํ ตฺลยิตฺวา โอกาสํ กาตุํ มีความว่า เราตถาคตอนุญาตให้ภิกษุพิจารณาอย่างนี้ว่า ผู้นี้จะกล่าวอาบัติเฉพาะที่เป็นจริงเท่านั้น หรือจะกล่าวที่ไม่เป็นจริงหนอ ดังนี้แล้ว จึงค่อยให้โอกาส.
               บทว่า ปฺรมฺหากํ ได้แก่ เราทั้งหลาย ... ก่อน.
               บทว่า ปฏิกจฺเจว ได้แก่ ก่อนกว่าทีเดียว. กรรมไม่เป็นธรรมมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า ปฏิกฺโกสิตุํ ได้แก่ เพื่อห้าม.
               ข้อว่า ทิฏฺฐิมฺปิ อาวิกาตุ มีความว่า เราตถาคตอนุญาตให้ภิกษุประกาศความเห็นของตนในสำนักภิกษุอื่นอย่างนี้ว่า กรรมนี้ไม่เป็นธรรม นั่นไม่ชอบใจข้าพเจ้า.
               คำว่า ๔ รูป ๕ รูปเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อต้องการมิให้มีอันตรายแก่ภิกษุเหล่านั้น.
               ข้อว่า สญฺจิจฺจ น สาเวนฺติ มีความว่า แกล้งสวดค่อยๆ ด้วยตั้งใจว่า ภิกษุเหล่าอื่นจะไม่ได้ยินด้วยประการใด เราจักสวดด้วยประการนั้น.
               บทว่า เถราธิกํ มีความว่า เราตถาคตอนุญาตปาติโมกข์ ให้มีพระเถระเป็นใหญ่. อธิบายว่า เพื่อเป็นกิจ เนื่องด้วยพระเถระ.
               บาลีว่า เถราเธยฺยํ ก็มี แปลว่า ให้มีพระเถระเป็นเจ้าหน้าที่. เพราะเหตุนั้น พระเถระพึงสวดเองก็ได้ พึงเชิญภิกษุอื่นก็ได้.
               ในอธิการว่าด้วยการอัญเชิญปาติโมกข์นี้ วิธีเชิญมีนัยดังกล่าวแล้วในการอัญเชิญธรรมนั่นแล.
____________________________
๑- พระบาลีวินัยเป็น อตฺตนา ว. แต่ อตฺตนา วา น่าจะถูกกว่า.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ อุโบสถขันธกะ จะแสดงธรรมท่ามกลางสงฆ์ต้องได้รับอาราธนาก่อน จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 167อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 168อ่านอรรถกถา 4 / 175อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=4481&Z=4594
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3018
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3018
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :