ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 84อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 85อ่านอรรถกถา 1 / 90อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท
สิกขาบทวิภังค์

               [อรรถาธิบายสิ่งของที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์อยู่]               
               บัดนี้ เพื่อแสดงเนื้อความแห่งคำเป็นต้นว่า พึงถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ดังนี้ พระองค์จึงตรัสว่า อทินฺนํ นาม เป็นต้น.
               ในคำว่า อทินฺนํ นาม เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้:-
               ในทันตโปณสิกขาบท แม้สิ่งของๆ ตนที่ยังไม่รับประเคนซึ่งเป็นกัปปิยะ แต่เป็นของที่ไม่ควรกลืนกิน เรียกว่าของที่เขายังไม่ได้ให้. แต่ในสิกขาบทนี้ สิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผู้อื่นหวงแหน ซึ่งมีเจ้าของ เรียกว่าสิ่งของอันเจ้าของไม่ได้ให้. สิ่งของนี้นั้นอันเจ้าของเหล่านั้นไม่ได้ให้ด้วยกายหรือวาจา เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสิ่งของอันเจ้าของไม่ได้ให้.
               ชื่อว่าอันเขายังไม่ได้ละวาง เพราะว่าเจ้าของยังไม่ได้สละพ้นจากมือของตน หรือจากที่ๆ ตั้งอยู่เดิม. ชื่อว่อันเจ้าของยังไม่ได้สละทิ้ง เพราะว่า แม้ทรัพย์ตั้งอยู่ในที่เดิมแล้ว แต่เจ้าของก็ยังไม่ได้สละทิ้ง เพราะยังไม่หมดความเสียดาย. ชื่อว่าอันเจ้าของรักษาอยู่ เพราะเป็นของที่เจ้าของยังรักษาไว้ โดยจัดแจงการอารักขาอยู่. ชื่อว่าอันเขายังคุ้มครองอยู่ เพราะเป็นของที่เจ้าของใส่ไว้ในที่ทั้งหลายมีตู้เป็นต้นแล้วปกครองไว้. ชื่อว่าอันเขายังถือว่าเป็นของเรา เพราะเป็นของที่เจ้าของยังถือกรรมสิทธิ์ว่าเป็นของเรา โดยความถือว่าของเราด้วยอำนาจตัณหาว่า ทรัพย์นี้ของเรา. ชื่อว่าผู้อื่นหวงแหน เพราะว่าเป็นของอันชนเหล่าอื่นผู้เป็นเจ้าของทรัพย์เหล่านั้นยังหวงแหนไว้ ด้วยกิจมีอันยังไม่ละทิ้ง ยังรักษาและปกครองอยู่เป็นต้นเหล่านั้น.
               ทรัพย์นั่นชื่อว่าอันเจ้าของไม่ได้ให้.

               [อรรถาธิบายสังขาตศัพท์ลงในอรรถตติยาวิภัตติ]               
               โจรชื่อว่า ขโมย ความเป็นแห่งขโมย ชื่อว่า เถยฺยํ บทว่า เถยฺยํ นี้ เป็นชื่อแห่งจิตคิดจะลัก.
               สองบทว่า สงฺขา สงฺขาตํ นั้น โดยเนื้อความก็เป็นอันเดียวกัน.
               บทว่า สงฺขาตํ นั้นเป็นชื่อแห่งส่วน เหมือนสังขาตศัพท์ในอุทาหรณ์ทั้งหลายว่า ก็ส่วนแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้าทั้งหลาย มีสัญญาเป็นเหตุ ดังนี้เป็นต้น. ส่วนนั้นด้วยความเป็นขโมยด้วย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า เถยฺสงฺขาตํ.
               อธิบายว่า ส่วนแห่งจิตดวงหนึ่งซึ่งเป็นส่วนแห่งจิตเป็นขโมย.
               ก็คำว่า เถยฺยสงฺขาตํ นี้เป็นปฐมาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงเห็นโดยเนื้อความว่า เถยฺยสงฺขาเตน แปลว่า ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ดังนี้.
               ก็ภิกษุใดย่อมถือเอา (ทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้) ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้มีจิตแห่งความเป็นขโมย. เพราะฉะนั้น เพื่อไม่คำนึงถึงพยัญชนะแสดงเฉพาะแต่ใจความเท่านั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบทภาชนะแห่งบทว่า เถยฺสงฺขาตํ นั้นไว้อย่างนี้ว่า ผู้มีจิตแห่งความเป็นขโมย คือผู้มีจิตคิดลัก ดังนี้

               [อรรถาธิบายบทมาติกา ๖ บท]               
               ก็ในคำว่า อาทิเยยฺย ฯเปฯ สงฺเกต วีตินาเมยฺย นี้
               บัณฑิตพึงทราบว่า บทแรกพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจการตู่เอา,
               บทที่ ๒ ตรัสด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้นำเอาทรัพย์ของบุคคลเหล่าอื่นไป,
               บทที่ ๓ ตรัสด้วยอำนาจแห่งทรัพย์ที่เขาฝังไว้,
               บทที่ ๔ ตรัสด้วยอำนาจแห่งทรัพย์ที่มีวิญญาณ,
               บทที่ ๕ ตรัสด้วยอำนาจแห่งทรัพย์ที่เขาเก็บไว้บนบกเป็นต้น,
               บทที่ ๖ ตรัสด้วยอำนาจแห่งความกำหนดหมาย หรือด้วยอำนาจแห่งด่านภาษี.
               อนึ่ง ในคำว่า อาทิเยยฺย เป็นต้นนี้ การประกอบความย่อมมีด้วยอำนาจสิ่งของสิ่งเดียวบ้าง ด้วยอำนาจสิ่งของต่างๆ บ้าง. ก็แล ความประกอบด้วยอำนาจสิ่งของสิ่งเดียว ย่อมใช้ได้ด้วยทรัพย์ที่มีวิญญาณเท่านั้น. ความประกอบด้วยอำนาจสิ่งต่างๆ ย่อมใช้ได้ด้วยทรัพย์ที่ปนกันทั้งที่มีวิญญาณทั้งที่ไม่มีวิญญาณ.
               บรรดาความประกอบด้วยอำนาจสิ่งของสิ่งเดียวและสิ่งของต่างๆ นั้น ความประกอบด้วยอำนาจสิ่งของต่างๆ บัณฑิตควรทราบโดยนัยอย่างนี้ก่อน.

               [อรรถาธิบายกิริยาแห่งการลัก ๖ อย่าง]               
               บทว่า อาทิเยยฺย ความว่า ภิกษุตู่เอาที่สวน ต้องอาบัติทุกกฎ. ยังความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของ ต้องอาบัติถุลลัจจัย. เจ้าของทอดธุระว่า สวนนี้จักไม่เป็นของเราละ ต้องอาบัติปาราชิก.
               บทว่า หเรยฺย ความว่า ภิกษุมีไถยจิตนำทรัพย์ของผู้อื่นไปลูบคลำภาระบนศีรษะ ต้องอาบัติทุกกฏ. ทำให้ไหวต้องอาบัติถุลลัจจัย. ลดลงมาสู่คอต้องอาบัติปาราชิก.
               บทว่า อวหเรยฺย ความว่า ภิกษุรับของที่เขาฝากไว้ เมื่อเจ้าของทวงขอคืนว่า ทรัพย์ที่ข้าพเจ้าฝากไว้มีอยู่, ท่านจงคืนทรัพย์ให้แก่ข้าพเจ้ากล่าวปฏิเสธว่า ฉันไม่ได้รับไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ยังความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของ ต้องอาบัติถุลลัจจัย. เจ้าของทอดธุระว่า ภิกษุรูปนี้จักไม่คืนให้แก่เรา ต้องอาบัติปาราชิก.
               สองบทว่า อิริยาปถํ วิโกเปยฺย ความว่า ภิกษุคิดว่า เราจักนำไปทั้งของทั้งคนขน ให้ย่างเท้าที่หนึ่งก้าวไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ให้ย่างเท้าที่สองก้าวไป ต้องอาบัติปาราชิก.
               สองบทว่า ฐานะ จเวยฺย ความว่า ภิกษุมีไถยจิตลูบคลำของที่ตั้งอยู่บนบก ต้องอาบัติทุกกฏ. ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย. ให้เคลื่อนจากที่ ต้องอาบัติปาราชิก.
               สองบทว่า สงฺเกตํ วีติตาเมยฺย ความว่า ภิกษุยังเท้าที่หนึ่งให้ก้าวล่วงเลยที่กำหนดไว้ไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย. ให้เท้าที่สองก้าวล่วงไป ต้องอาบัติปาราชิก.
               อีกอย่างหนึ่ง ยังเท้าที่หนึ่งให้ก้าวล่วงด่านภาษีไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย. ยังเท้าที่สองให้ก้าวล่วงไป ต้องอาบัติปาราชิก ฉะนี้แล.
               นี้เป็นความประกอบด้วยอำนาจนานาภัณฑะ ในบทว่า อาทิเยยฺย เป็นต้นนี้.
               ส่วนความประกอบด้วยอำนาจเอกภัณฑะ พึงทราบดังนี้ :-
               ทาสก็ดี สัตว์ดิรัจฉานก็ดี ซึ่งมีเจ้าของ ภิกษุตู่เอาก็ดี ลักไปก็ดี ฉ้อไปก็ดี ให้อริยาบถกำเริบก็ดี ให้เคลื่อนจากฐานก็ดี ให้ก้าวล่วงเลยที่กำหนดไปก็ดี โดยนัยมีตู่เอาเป็นต้นตามที่กล่าวแล้ว. นี้เป็นความประกอบด้วยอำนาจเอกภัณฑะในบทว่า อาทิเยยฺย เป็นต้นนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบัณฑิตบรรยายบททั้งหลาย ๖ เหล่านี้ พึงประมวลปัญจกะ ๕ หมวดมาแล้วแสดงอวหาร ๒๕ อย่าง. เพราะเมื่อบรรยายอย่างนี้ ย่อมเป็นอันบรรยายอทินนาทานปาราชิกนี้แล้วด้วยดี. แต่ในที่นี้ อรรถกถาทั้งปวงยุ่งยากฟั่นเฝือ มีวินิจฉัยเข้าใจยาก. ความจริงเป็นดังนั้น ในบรรดาอรรถกถาทั้งปวง ท่านพระอรรถกถาจารย์รวมองค์แห่งอวหารทั้งหลาย
               แม้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในพระบาลีโดยนัยว่า ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ ด้วยอาการ ๕ ต้องอาบัติปาราชิก ทั้งสิ่งของนั้นเป็นสิ่งของที่ผู้อื่นหวงแหนดังนี้เป็นต้น ในที่บางแห่งแสดงไว้ในปัญจกะเดียว. ในที่บางแห่งแสดงไว้สองปัญจกะ ควบเข้ากับองค์แห่งอวหารทั้งหลายที่มาแล้วว่า ฉหากาเรหิ ด้วยอาการ ๖ ดังนี้. แต่ปัญจกะเหล่านี้ ย่อมหาเป็นปัญจกะไม่. เพราะในหมวดซึ่งอวหารย่อมสำเร็จได้ด้วยบทหนึ่งๆ นั้น ท่านเรียกว่า ปัญจกะ.
               ก็ในคำว่า ปญฺจหากาเรหิ นี้ อวหารอย่างเดียวเท่านั้น ย่อมสำเร็จได้ด้วยบทแม้ทั้งหมด. ก็ปัญจกะทั้งหลายเหล่าใด ที่ท่านมุ่งหมายใน ๖ บทนั้นข้าพเจ้าแสดงไว้แล้ว, แต่ข้าพเจ้ามิได้ประกาศอรรถแห่งปัญจกะแม้เหล่านั้นทั้งหมดไว้. ในที่นี้ อรรถกถาทั้งปวงยุ่งยากฟั่นเฝือ มีวินิจฉัยเข้าใจยากด้วยประการฉะนี้. เพราะฉะนั้น พึงกำหนดอวหาร ๒๕ ประการเหล่านี้ที่ข้าพเจ้าประมวลปัญจกะ ๕ หมวดมาแล้วแสดงไว้ให้ดี.

               [ปัญจกะ ๕ หมวดๆ ละ ๕ รวมเป็นอวหาร ๒๕]               
               ที่ชื่อว่า ปัญจกะ ๕ คือ
               หมวดแห่งอวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยภัณฑะต่างกันเป็นข้อต้น ๑
               หมวดแห่งอวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยภัณฑะชนิดเดียวเป็นข้อต้น ๑
               หมวดแห่งอวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยอวหารที่เกิดแล้วด้วยมือของตนเป็นข้อต้น ๑
               หมวดแห่งอวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยบุพประโยคเป็นข้อต้น ๑
               หมวดแห่งอวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยการลักด้วยอาการขโมยเป็นข้อต้น ๑.
               บรรดาปัญจกะทั้ง ๕ นั้น นานาภัณฑปัญจกะและเอกภัณฑปัญจกะ ย่อมได้ด้วยอำนาจแห่งบทเหล่านี้ คือ อาทิเยยฺย พึงตู่เอา ๑ หเรยฺย พึงลักไป ๑ อวหเรยฺย พึงฉ้อเอา ๑ อริยาปถํ วิโกเปยฺย พึงยังอิริยาบถให้กำเริบ ๑ ฐานา จาเวยฺย พึงให้เคลื่อนจากฐาน ๑.
               ปัญจกะทั้งสองนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยดังที่ข้าพเจ้าประกอบแสดงไว้แล้วในเบื้องต้นนั่นแล.
               ส่วนบทที่ ๖ ว่า สงฺเกตํ วีตินาเมยฺย (พึงให้ล่วงเลยเขตกำหนดหมาย) นั้น เป็นของทั่วไปแก่ปริกัปปาวหารและนิสสัคคิยาวหาร. เพราะฉะนั้น พึงประกอบบทที่ ๖ นั้นเข้าด้วยอำนาจบทที่ได้อยู่ในปัญจกะที่ ๓ และที่ ๕.
               นานาภัณฑปัญจกะและเอกภัณฑปัญจกะ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว.

               [สาหัตถิกปัญจกะมีอวหาร ๕ อย่าง]               
               สาหัตถิกปัญจกะ เป็นไฉน? คือ สาหัสถิกปัญจกะมีอวหาร ๕ อย่างดังนี้ คือ สาหัตถิกะ ถือเอาด้วยมือของตนเอง ๑ อาณัตติกะ สั่งบังคับ ๑ นิสสัคคิยะ ซัดขว้างสิ่งของไป ๑ อัตถสาธกะ ยังอรรถให้สำเร็จ ๑ ธุรนิกเขปะ เจ้าของทอดธุระ ๑.
               บรรดาอวหาร ๕ อย่างนั้น ที่ชื่อว่าสาหัตถิกะ ได้แก่ ภิกษุลักสิ่งของของผู้อื่น ด้วยมือของตนเอง. ที่ชื่อว่าอาณัตติกะ ได้แก่ ภิกษุสั่งบังคับผู้อื่นว่า จงลักสิ่งของของคนชื่อโน้น. ชื่อว่านิสสัคคิยะ ย่อมได้การประกอบบทนี้ว่า พึงให้ล่วงเลยเขตกำหนดหมาย รวมกับคำนี้ว่า ภิกษุยืนอยู่ภายในด่านภาษี โยนทรัพย์ให้ตกนอกด่านภาษี ต้องอาบัติปาราชิก๑- ดังนี้. ที่ชื่อว่าอัตถสาธกะ ได้แก่ ภิกษุสั่งบังคับว่า ท่านอาจลักสิ่งของชื่อโน้นมาได้ในเวลาใด จงลักมาในเวลานั้น.
               บรรดาภิกษุผู้สั่งบังคับและภิกษุผู้ลัก ถ้าภิกษุผู้รับสั่งไม่มีอันตรายในระหว่าง ลักของนั้นมาได้, ภิกษุผู้สั่งบังคับย่อมเป็นปาราชิกในขณะที่สั่งนั่นเอง. ส่วนภิกษุผู้ลักเป็นปาราชิกในเวลาลักได้แล้ว นี้ชื่อว่าอัตถสาธกะ. ส่วนธุรนิกเขปะ พึงทราบด้วยอำนาจทรัพย์ที่เขาฝากไว้ ฉะนี้แล.
               คำที่อธิบายมานี้ ชื่อว่าสาหัตถิกปัญจกะ.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑๑๐/หน้า ๙๖.

               [บุพประโยคปัญจกะมีอวหาร ๕ อย่าง]               
               บุพประโยคปัญจกะ เป็นไฉน?
               คือ บุพประโยคปัญจกะมีอวหารแม้อื่นอีก ๕ อย่าง ดังนี้ คือ บุพประโยค ประกอบในเบื้องต้น ๑ สหประโยค ประกอบพร้อมกัน ๑ สังวิธาวหาร การชักชวนไปลัก ๑ สังเกตกรรม การนัดหมายกัน ๑ นิมิตตกรรม การทำนิมิต ๑.
               บรรดาอวหารทั้ง ๕ เหล่านั้น บุพประโยคพึงทราบด้วยอำนาจสั่งบังคับ. สหประโยคพึงทราบด้วยอำนาจการให้เคลื่อนจากฐาน. ส่วนอวหารทั้ง ๓ นอกนี้พึงทราบโดยนัยที่มาแล้วในพระบาลีนั่นแล.
               คำอธิบายมานี้ ชื่อว่าบุพประโยคปัญจกะ.

               [เถยยาวหารปัญจกะมีอวหาร ๕ อย่าง]               
               เถยยาวหารปัญจกะ เป็นไฉน? คือ เถยยาวหารปัญจกะมีอวหารแม้อื่นอีก ๕ อย่างดังนี้ คือ เถยยาวหาร ลักด้วยความเป็นขโมย ๑ ปสัยหาวหาร ลักด้วยความกดขี่ ๑ ปริกัปปาวหาร ลักตามความกำหนดไว้ ๑ ปฏิจฉันนาวหาร ลักด้วยกิริยาปกปิด ๑ กุสาวหาร ลักด้วยการสับเปลี่ยนสลาก ๑.
               อวหารทั้ง ๕ เหล่านั้น ข้าพเจ้าจักพรรณนาในเรื่องการสับเปลี่ยนสลากเรื่องหนึ่ง (ข้างหน้า) ว่า ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อจีวรของสงฆ์ อันภิกษุจีวรภาชกะแจกอยู่ มีไถยจิตสับเปลี่ยนสลาก แล้วรับเอาจีวรไป๑- ดังนี้.
               คำที่อธิบายมานี้ ชื่อว่าเถยยาวหารปัญจกะ.
               พึงประมวลปัญจกะทั้งหลายเหล่านี้ แล้วทราบอวหาร ๒๕ ประการเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.
               ก็แล พระวินัยธรผู้ฉลาดในปัญจกะ ๕ เหล่านี้ ไม่พึงด่วนวินิจฉัย อธิกรณ์ที่เกิดขึ้นแล้วพึงตรวจดูฐานะ ๕ ประการ ซึ่งพระโบราณาจารย์ทั้งหลายมุ่งหมายกล่าวไว้ว่า
                         พระวินัยธรผู้ฉลาดพึงสอบสวนฐานะ ๕ ประการ
                         คือ วัตถุ กาละ เทสะ ราคาและการใช้สอยเป็นที่
                         ๕ แล้วพึงทรงอรรถคดีไว้ ดังนี้.

____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑๓๕/หน้า ๑๐๙

               [อรรถาธิบายฐานะ ๕ ประการ]               
               บรรดาฐานะทั้ง ๕ นั้น ฐานะว่า วัตถุ ได้แก่ ภัณฑะ.
               ก็เมื่อภิกษุผู้ลัก แม้รับเป็นสัตย์ว่า ภัณฑะชื่อนี้ ผมลักไปจริง พระวินัยธรอย่าพึงยกอาบัติขึ้นปรับทันที. พึงพิจารณาว่า ภัณฑะนั้นมีเจ้าของหรือหาเจ้าของมิได้. แม้ในภัณฑะที่มีเจ้าของ ก็พึงพิจารณาว่า เจ้าของยังมีอาลัยอยู่หรือไม่มีอาลัยแล้ว. ถ้าภิกษุลักในเวลาที่เจ้าของเหล่านั้นยังมีอาลัย พระวินัยธรพึงตีราคาปรับอาบัติ. ถ้าลักในเวลาที่เจ้าของหาอาลัยมิได้ ไม่พึงปรับอาบัติปาราชิก. แต่เมื่อเจ้าของภัณฑะให้นำภัณฑะมาคืน พึงให้ภัณฑะคืน. อันนี้เป็นความชอบในเรื่องนี้.

               [เรื่องภิกษุลักจีวรพระวินัยธรตัดสินว่าไม่เป็นอาบัติ]               
               ก็เพื่อแสดงเนื้อความนี้ ควรนำเรื่องมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่า ในรัชกาลแห่งพระเจ้าภาติยราช มีภิกษุรูปหนึ่งพาดผ้ากาสาวะสีเหลืองยาว ๗ ศอกไว้ที่จะงอยบ่าแล้วเข้าไปยังลานพระเจดีย์จากทิศทักษิณ เพื่อบูชาพระมหาเจดีย์. ขณะนั้นเอง แม้พระราชาก็เสด็จมาเพื่อถวายบังคมพระเจดีย์. เวลานั้น เมื่อกำลังไล่ต้อนหมู่ชนไป ความอลเวงแห่งมหาชนก็ได้มีขึ้นแล้ว.
               คราวนั้นแล ภิกษุรูปนั้นถูกความอลเวงแห่งมหาชนรบกวนแล้ว ไม่ทันได้เห็นผ้ากาสาวะซึ่งพลัดตกไปจากจะงอยบ่าเลย ก็ได้เดินออกไป. ก็แล ครั้นเดินออกไปแล้ว เมื่อไม่เห็นผ้ากาสาวะก็ทอดธุระว่า ใครจะหาผ้ากาสาวะได้ในเมื่อฝูงชนอลเวงอยู่เช่นนี้ บัดนี้ ผ้ากาสาวะนั้นไม่ใช่ของเรา ดังนี้แล้วก็เดินออกไป.
               คราวนั้น มีภิกษุรูปอื่นเดินมาภายหลัง ได้เห็นผ้ากาสาวะนั้นแล้วก็ถือเอาด้วยไถยจิต แต่กลับมีความเดือดร้อนขึ้น เมื่อเกิดความคิดขึ้นว่า บัดนี้ เราไม่เป็นสมณะ เราจักสึก แล้วจึงคิดว่า จักถามพระวินัยธรทั้งหลายดูจึงจักรู้ได้.
               ก็โดยสมัยนั้น มีภิกษุผู้ทรงพระปริยัติทั้งปวงชื่อจูฬสุมนเถระ เป็นปาโมกขาจารย์ทางพระวินัย พักอยู่ในมหาวิหาร. ภิกษุรูปนั้นเข้าไปหาพระเถระแล้วไหว้ ขอโอกาสแล้ว จึงได้เรียนถามข้อสงสัยของตน. พระเถระทราบความที่ผ้ากาสาวะอันภิกษุผู้มาภายหลังรูปนั้นถือเอาในเมื่อฝูงชนแยกกันไปแล้ว คิดว่า คราวนี้ก็มีโอกาสในการได้ผ้ากาสาวะนี้ จึงได้กล่าวว่า ถ้าคุณพึงนำภิกษุผู้เป็นเจ้าของผ้ากาสาวะมาได้ไซร้ ข้าพเจ้าอาจทำที่พึ่งให้แก่คุณได้.
               ภิกษุรูปนั้นเรียนว่า กระผมจักเห็นท่านรูปนั้นได้อย่างไร? ขอรับ!
               พระเถระสั่งว่า คุณจงไปค้นดูในที่นั้นๆ เถิด.
               เธอรูปนั้นค้นดูมหาวิหารทั้ง ๕ แห่งก็มิได้พบเห็นเลย.
               ทีนั้น พระเถระถามเธอรูปนั้นว่า พวกภิกษุพากันมาจากทิศไหนมาก?
               เธอรูปนั้นเรียนว่า จากทิศทักษิณ ขอรับ!.
               พระเถระสั่งว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงวัดผ้ากาสาวะทั้งโดยส่วนยาวและโดยส่วนกว้างแล้วเก็บไว้ ครั้นเก็บแล้วจงค้นหาดูตามลำดับวิหารทางด้านทิศทักษิณ แล้วนำภิกษุรูปนั้นมา. เธอรูปนั้นทำตามคำสั่งนั้นแล้ว ก็ได้พบภิกษุรูปนั้น แล้วได้นำมายังสำนักพระเถระ.
               พระเถระถามว่า นี้ผ้ากาสาวะของเธอหรือ?
               ภิกษุเจ้าของผ้าเรียนว่า ใช่ขอรับ!.
               พระเถระถามว่า เธอทำให้ตก ณ ที่ไหน.
               เธอรูปนั้นก็เรียนบอกเรื่องทั้งหมดแล้ว.
               พระเถระได้ฟังการทอดธุระที่เธอนั้นทำแล้ว จึงถามรูปที่ถือเอาผ้านอกนี้ว่า เธอได้เห็นผ้าผืนนี้ที่ไหน จึงได้ถือเอา? แม้เธอนั้นก็เรียนบอกเรื่องทั้งหมด.
               ต่อจากนั้น พระเถระจึงกล่าวกะภิกษุรูปที่ถือเอาผ้านั้นว่า ถ้าเธอจักได้ถือเอาด้วยจิตบริสุทธิ์แล้วไซร้ เธอก็ไม่พึงเป็นอาบัติเลย แต่เพราะถือเอาด้วยไถยจิต เธอจึงต้องอาบัติทุกกฏ. ครั้นเธอแสดงอาบัติทุกกฏนั้นแล้ว จักเป็นผู้ไม่มีอาบัติ
               อนึ่ง เธอจงทำผ้ากาสาวะผืนนี้ให้เป็นของตน แล้วถวายคืนแก่ภิกษุรูปนั้นนั่นเถิด. ภิกษุรูปนั้นได้ประสบความเบาใจเป็นอย่างยิ่ง เหมือนกับได้รดด้วยน้ำอมฤต ฉะนั้น.
               พระวินัยธรพึงสอดส่องถึงวัตถุอย่างนี้.
               ฐานะว่า กาล คือ กาลที่ลัก. ด้วยว่าภัณฑะนั้นๆ บางคราวมีราคาพอสมควร บางคราวมีราคาแพง. เพราะฉะนั้น ภัณฑะนั้น พระวินัยธรพึงปรับอาบัติตามราคาของในกาลที่ภิกษุลัก.
               พึงสอดส่องถึงกาลอย่างนี้.
               ฐานะว่า ประเทศ คือ ประเทศที่ลัก.
               ก็ภัณฑะนั่น ภิกษุลักในประเทศใด, พระวินัยธรพึงปรับอาบัติตามราคาของในประเทศนั้นนั่นแหละ. ด้วยว่าในประเทศที่เกิดของภัณฑะ ภัณฑะย่อมมีราคาพอสมควร ในประเทศอื่น ย่อมมีราคาแพง.
               ก็เพื่อแสดงเนื้อความแม้นี้ ควรสาธกเรื่องดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่า ในประเทศคาบฝั่งสมุทร มีภิกษุรูปหนึ่งได้มะพร้าวมีสัณฐานดี จึงให้กลึงทำเป็นกระบวยน้ำที่น่าพอใจ เช่นกับเปลือกสังข์ แล้ววางไว้ที่ประเทศนั้นนั่นเอง จึงได้ไปยังเจติยคีรีวิหาร.
               คราวนั้น มีภิกษุรูปอื่นได้ไปยังประเทศคาบฝั่งสมุทร พักอยู่ที่วิหารนั้น พอเห็นกระบวยนั้นจึงได้ถือเอาด้วยไถยจิต แล้วก็มายังเจติยคีรีวิหารนั่นเอง.
               เมื่อเธอรูปนั้นดื่มข้าวยาคูอยู่ที่เจติยคีรีวิหารนั้น ภิกษุเจ้าของกระบวยได้เห็นกระบวยนั้นเข้า จึงกล่าวว่า คุณได้กระบวยนี้มาจากไหน?
               ภิกษุรูปที่ถือมานั้นตอบว่า ผมนำมาจากประเทศคาบฝั่งสมุทร.
               ภิกษุเจ้าของกระบวยนั้นกล่าวว่า กระบวยนี้ไม่ใช่ของคุณ คุณถือเอาด้วยความเป็นขโมย ดังนี้แล้วจึงได้ฉุดคร่าไปยังท่ามกลางสงฆ์.
               ในเจติยคีรีวิหารนั้น ภิกษุทั้งหลายก็ไม่ได้รับความชี้ขาด จึงได้พากันกลับมายังมหาวิหาร.
               เธอทั้งหลายให้ตีกลองประกาศในมหาวิหาร แล้วทำการประชุมใกล้มหาเจดีย์ เริ่มวินิจฉัยกัน. พระเถระผู้ทรงพระวินัยทั้งหลายก็ได้บัญญัติอวหารไว้แล้ว.
               ก็แล ภิกษุผู้ฉลาดในพระวินัยชื่ออาภิธรรมิกโคทัตตเถระ ก็มีอยู่ในสันนิบาตนั้นด้วย. พระเถระนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุรูปนี้ลักกระบวยนี้ในที่ไหน?
               ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า เธอลักที่ประเทศคาบฝั่งสมุทร.
               พระเถระถามว่า ที่ประเทศนั้น กระบวยนี้มีค่าเท่าไร? ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ไม่มีค่าอะไรๆ . พระเถระกล่าวว่า ความจริง ที่ประเทศนั้น พวกประชาชนปอกมะพร้าวเคี้ยวกินเยื่อข้างใน แล้วก็ทิ้งกระลาไว้ ก็กระลานั้นกระจายอยู่เพื่อเป็นฟืน (เท่านั้น).
               พระเถระถามต่อไปว่า หัตถกรรมในกระบวยนี้ของภิกษุรูปนี้ มีค่าเท่าไร?
               ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า มีค่าหนึ่งมาสก หรือหย่อนกว่าหนึ่งมาสก.
               พระเถระถามว่า ก็มีในที่ไหนบ้างซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติปาราชิกไว้ เพราะหนึ่งมาสก หรือหย่อนกว่าหนึ่งมาสก?
               เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ได้มีสาธุการเป็นอันเดียวกันว่า ดีละๆ พระคุณท่านกล่าวชอบแล้ว วินิจฉัยถูกต้องดีแล้ว.
               ก็คราวนั้น แม้พระเจ้าภาติยราชก็เสด็จออกจากพระนครเพื่อถวายบังคมพระเจดีย์ ได้สดับเสียงนั้นจึงตรัสถามว่า นี้เรื่องอะไรกัน ครั้นได้สดับเรื่องทั้งหมดตามลำดับแล้ว จึงทรงรับสั่งให้เที่ยวตีกลองประกาศในพระนครว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ อธิกรณ์ของพวกภิกษุบ้าง พวกภิกษุณีบ้าง พวกคฤหัสถ์บ้างที่พระอาภิธรรมิกโคทัตตเถระตัดสินแล้ว เป็นอันตัดสินถูกต้องดี เราจะลงราชอาญาคนผู้ไม่ตั้งอยู่ในคำตัดสินของท่าน.
               พึงสอดส่องถึงประเทศอย่างนี้.

               [พระวินัยธรควรสอดส่องราคาและการใช้สอย]               
               ฐานะว่า ราคา คือ ราคาของ. ด้วยว่า ภัณฑะใหม่ย่อมมีราคา ภายหลังราคาย่อมลดลงได้. เหมือนบาตรที่ระบมใหม่ ย่อมมีราคาถึง ๘ หรือ ๑๐ กหาปณะ, ภายหลัง บาตรนั้นมีช่องทะลุ หรือถูกหมุดและปมทำลาย ย่อมมีราคาน้อย ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น พระวินัยธรไม่พึงตีราคาของด้วยราคาตามปกติเสมอไป ทีเดียวแล.
               พึงสอดส่องถึงราคาอย่างนี้.
               ฐานะว่า การใช้สอย คือ การใช้สอยภัณฑะ. ด้วยว่าราคาของภัณฑะมีมีดเป็นต้น ย่อมลดราคาลง แม้เพราะการใช้สอย. เพราะฉะนั้น พระวินัยธรควรพิจารณาอย่างนี้ คือ ถ้าภิกษุบางรูปลักมีดของใครๆ มา ซึ่งมีราคาได้บาทหนึ่ง. บรรดาเจ้าของและผู้มิใช่เจ้าของมีดเหล่านั้น พระวินัยธรพึงถามเจ้าของมีดว่า ท่านซื้อมีดนี้มาด้วยราคาเท่าไร? เจ้าของมีดเรียนว่า บาทหนึ่งขอรับ!. พระวินัยธรถามว่า ก็ท่านซื้อมาแล้วเก็บไว้ หรือใช้มีดบ้าง. ถ้าเจ้าของมีดเรียนว่า ผมใช้ตัดไม้สีฟันบ้าง สะเก็ดน้ำย้อมบ้าง ฟืนระบมบาตรบ้าง ดังนี้ไซร้.
               คราวนั้น พระวินัยธรพึงทราบว่า มีดนั้นเป็นของเก่ามีราคาตกไป มีดย่อมมีราคาตกไปฉันใด, ยาหยอดตาก็ดี ไม้ป้ายยาหยอดตาก็ดี กุญแจก็ดี ย่อมมีราคาตกไปฉันนั้น แม้เพราะเหตุเพียงถูขัดทำให้สะอาดด้วยใบไม้ แกลบหรือด้วยผงอิฐเพียงครั้งเดียว. ก้อนดีบุกย่อมมีราคาตกไป เพราะการตัดด้วยฟันมังกรบ้าง เพราะเพียงการขัดถูบ้าง. ผ้าอาบน้ำย่อมมีราคาตกไป เพราะการนุ่งห่มเพียงครั้งเดียวบ้าง เพราะเพียงพาดไว้บนจะงอยบ่าบ้างหรือบนศีรษะ โดยมุ่งถึงการใช้สอยบ้าง. วัตถุทั้งหลายมีข้าวสารเป็นต้นย่อมมีราคาตกไป เพราะการฝัดบ้าง เพราะการคัดออกทีละเม็ดหรือสองเม็ดจากข้าวสารเป็นต้นนั้นบ้าง โดยที่สุด เพราะการเก็บก้อนหินและก้อนกรวดทิ้งทีละก้อนบ้าง.
               วัตถุทั้งหลายมีเนยใสและน้ำมันเป็นต้นย่อมมีราคาตกไป เพราะการเปลี่ยนภาชนะอื่นบ้าง โดยที่สุด เพราะเพียงเก็บแมลงวันหรือมดแดง ออกทิ้งจากเนยใสเป็นต้นนั้นบ้าง. งบน้ำอ้อยย่อมมีราคาตกไป แม้เพราะเพียงเอาเล็บเจาะดู เพื่อรู้ความมีรสหวาน แล้วถือเอาโดยอนุมาน.
               เพราะฉะนั้น สิ่งของชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีราคาถึงบาท ซึ่งเจ้าของทำให้มีราคาหย่อนไป เพราะการใช้สอย โดยนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแหละ พระวินัยธรไม่ควรปรับภิกษุผู้ลักภัณฑะนั้นถึงปาราชิก.
               พึงสอดส่องถึงการใช้สอยอย่างนี้.
               พระวินัยธรผู้ฉลาดพึงสอบสวนฐานะ ๕ เหล่านี้ อย่างนี้แล้วพึงทรงไว้ซึ่งอรรถคดี คือพึงตั้งไว้ซึ่งอาบัติ ครุกาบัติหรือลหุกาบัติในสถานที่ควรแล.
               วินิจฉัยบทเหล่านี้ คือ ตู่ ลัก ฉ้อ ให้อิริยาบถกำเริบ               
               ให้เคลื่อนจากฐาน ให้ล่วงเลยเขตกำหนดหมาย จบแล้ว.               

               [อรรถาธิบายทรัพย์ที่ควรแก่ทุติยปาราชิก]               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงจำแนกบทมีว่า ยถารูเป อทินฺนาทาเน เป็นต้น จึงตรัสคำว่า ยถารูปนฺนาม เป็นต้นนี้.
               จะวินิจฉัยในคำว่า ยถารูปํ เป็นต้นนั้น :-
               ทรัพย์มีตามกำเนิด ชื่อว่าทรัพย์เห็นปานใด. ก็ทรัพย์มีตามกำเนิดนั้น ย่อมมีตั้งแต่บาทหนึ่งขึ้นไป เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บาทหนึ่งก็ดี ควรแก่บาทหนึ่งก็ดี เกินกว่าบาทหนึ่งก็ดี.
               ในศัพท์ว่า ปาทเป็นต้นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเฉพาะอกัปปิยภัณฑ์เท่าส่วนที่ ๔ แห่งกหาปณะด้วยปาทศัพท์, ทรงแสดงกัปปิยภัณฑ์ได้ราคาบาทหนึ่ง ด้วยปาทารหศัพท์, ทรงแสดงกัปปิยภัณฑ์และอกัปปิยภัณฑ์แม้ทั้งสองอย่าง ด้วยอติเรกปาทศัพท์. วัตถุพอแก่ทุติยปาราชิกเป็นอันทรงแสดงแล้วโดยอาการทั้งปวง ด้วยศัพท์เพียงเท่านี้.
               พระราชาแห่งปฐพีทั้งสิ้น คือเป็นจักรพรรดิในทวีป เช่นพระเจ้าอโศก ชื่อพระราชาทั่วทั้งแผ่นดิน, ก็หรือว่า ผู้ใดแม้อื่นซึ่งเป็นพระราชาในทวีปอันหนึ่ง เช่นพระราชาสิงหล ผู้นั้นก็ชื่อพระราชาทั่วทั้งแผ่นดิน.
               พระราชาผู้เป็นใหญ่เฉพาะประเทศแห่งทวีปอันหนึ่ง ดังพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าปเสนทิเป็นต้น ชื่อพระราชาเฉพาะประเทศ. ชนเหล่าใดปกครองมณฑลอันหนึ่งๆ แม้ในประเทศแห่งทวีปชนเหล่านั้น ชื่อผู้ครองมณฑล. เจ้าของแห่งบ้านตำบลน้อยๆ ในระหว่างแห่งพระราชาสองพระองค์ ชื่อผู้ครองระหว่างแดน.
               อำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดี ชื่อผู้พิพากษา. ผู้พิพากษาเหล่านั้นนั่งในศาลาธรรมสภา พิพากษาโทษมีตัดมือและเท้าของพวกโจรเป็นต้น ตามสมควรแก่ความผิด.
               ส่วนชนเหล่าใดมีฐานันดรเป็นอำมาตย์หรือราชบุตร เป็นผู้ทำความผิด. ผู้พิพากษาย่อมเสนอชนเหล่านั้นแด่พระราชา หาได้วินิจฉัยคดีที่หนักเองไม่.
               อำมาตย์ผู้ใหญ่ซึ่งได้ฐานันดร ชื่อว่ามหาอำมาตย์. แม้มหาอำมาตย์เหล่านั้นย่อมนั่งทำราชกิจ ในคามหรือในนิคมนั้นๆ.
               ด้วยบทว่า เย วา ปน (นี้) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ชนเหล่าใดแม้อื่น เป็นผู้อาศัยราชสกุล หรืออาศัยความเป็นใหญ่ของตนเอง ย่อมสั่งบังคับการตัดการทำลายได้, ชนเหล่านั้นทั้งหมด จัดเป็นพระราชาในอรรถนี้ (ด้วย).
               บทว่า หเนยฺยํ ได้แก่ พึงโบยและพึงตัด.
               บทว่า ปพฺพาเชยฺยุํ ได้แก่ พึงเนรเทศเสีย. และพึงกล่าวปริภาษอย่างนี้ว่า เจ้าเป็นโจร ดังนี้เป็นต้น. เพราะเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า นั่นเป็นการด่า.
               สองบทว่า ปุริมํ อุปาทาย มีความว่า เล็งถึงบุคคลผู้เสพเมถุนธรรม ต้องอาบัติปาราชิก.
               คำที่เหลือนับว่าแจ่มแจ้งแล้วทั้งนั้น เพราะมีนัยดังกล่าวแล้วในเบื้องต้น และเพราะมีเนื้อความเฉพาะบทตื้นๆ ฉะนี้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกสิกขาบทที่ทรงอุเทศแล้ว ตามลำดับบทอย่างนั้นแล้ว บัดนี้ จึงทรงตั้งมาติกาโดยนัยเป็นต้นว่า ภุมฺมฏฺฐิ ถลฏฺฐิ แล้วตรัสวิภังค์แห่งบทภาชนีย์นั้น โดยนัยมีคำว่า ภิมฺมฏฺฐิ นาม ภณฺฑํ ภูมิยํ นิกฺขิตฺตํ โหติ เป็นต้น เพื่อแสดงภัณฑะที่จะพึงถือเอาซึ่งพระองค์ทรงแสดงการถือเอาโดยสังเขปด้วยหกบทมีบทว่า อาทิเยยฺย เป็นต้นแล้ว ทรงแสดงโดยสังเขปเหมือนกันว่า บาทหนึ่งก็ดี ควรแก่บาทหนึ่งก็ดี เกินกว่าบาทหนึ่งก็ดี โดยพิสดาร โดยอาการที่ภัณฑะนั้นตั้งอยู่ในที่ใดๆ จึงถึงความถือเอาได้ เพื่อปิดโอกาสแห่งเลศของปาปภิกษุทั้งหลายในอนาคต.

               -----------------------------------------------------
               

.. อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 84อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 85อ่านอรรถกถา 1 / 90อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=6283&Z=6335
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=7609
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=7609
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :