ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 314อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 356อ่านอรรถกถา 13 / 367อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
สมณมุณฑิกสูตร เรื่องอุคคาหมานปริพาชก

               ๘. อรรถกถาสมณมุณฑิกสูตร               
               สมณมุณฑิกสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
               ในบรรดาบทเหล่านั้นบทว่า อุคฺคาหมาโน ปริพาชกชื่อว่าอุคคาหมานะ ชื่อเดิมของปริพาชกนั้นว่าสุมนะ แต่เพราะสามารถเรียนวิทยาหลายอย่าง ชนทั้งหลายจึงตั้งชื่อว่า อุคคาหมานะ.
               ชื่อว่า สมยมฺปวาทกํ เพราะเป็นที่ประชุมแสดงลัทธิ.
               นัยว่าในที่นั้น พวกพราหมณ์เริ่มต้นด้วยปกิตารุกขพราหมณ์และโปกขรสาติพราหมณ์ นิครนถ์และพวกบรรพชิตมีอเจลกและปริพาชกเป็นต้น ประชุม ประกาศ สนทนา แสดงลัทธิของตนๆ เพราะฉะนั้นอารามนั้นจึงเรียกว่า สมยัปปวาทกะ ที่ประชุมแสดงลัทธิ. ศาลาชื่อว่า ติณฑุกาจีระ เพราะล้อมด้วยแถวต้นมะพลับ. ก็เพราะ ณ ที่นี้ได้มีศาลาอยู่หลังหนึ่งก่อน. ภายหลังจึงสร้างไว้หลายหลัง เพราะอาศัยโปฏฐปาทปริพาชก ผู้มีบุญมาก. ฉะนั้น จึงเรียกว่า เอกสาลกะ โดยได้ชื่อตามความหมายถึงศาลาหลังหนึ่งนั้นนั่นเอง. เอกสาลกะนั้นเป็นสวนของพระราชเทวีของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระนามว่ามัลลิกา ดาดาษด้วยดอกไม้และผลไม้ เพราะทำเป็นอารามจึงเรียกว่าอารามของพระนางมัลลิกา. อุคคาหมานปริพาชกอาศัยอยู่ในอารามของพระนางมัลลิกา ในตำบลติณฑุกาจีระ อันเป็นที่ประชุมแสดงลัทธินั้น อยู่อย่างสบาย.
               บทว่า ทิวาทิวสฺส เวลาเที่ยง คือเลยเวลาเที่ยงชื่อว่า เวลาเที่ยงวัน.
               อธิบายว่า นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะออกไปในเวลาเที่ยงเลยไป เป็นกลางวันแม้ของวันนั้น.
               บทว่า ปฏิสลฺลีโน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหลีกเร้นอยู่ คือทรงสำรวมจิตจากอารมณ์มีรูปเป็นต้นนั้นๆ หลีกเร้นอยู่ ถึงความเป็นองค์เดียวด้วยทรงยินดีในฌาน.
               บทว่า มโนภาวนียานํ คือ ผู้เจริญทางใจ. ความปราศจากนิวรณ์เพียงความคิดย่อมมีแก่ภิกษุผู้นึกผู้มนสิการอยู่. จิตย่อมฟู คือย่อมเจริญ.
               บทว่า ยาวตา ประมาณเท่าใด.
               บทว่า อยํ เตสํ อญฺญตโร นายช่างไม้ผู้นี้เป็นผู้หนึ่งของบรรดาสาวกเหล่านั้น คือเป็นสาวกผู้หนึ่งในระหว่างสาวกเหล่านั้น.
               บทว่า อปฺเปว นาม คืออุคคาหมานปริพาชกต้องการให้นายช่างไม้เข้าไปใกล้จึงกล่าว. ก็เหตุที่ต้องการ ท่านกล่าวไว้แล้วในสันทกสูตร.
               บทว่า เอตทโวจ อุคคาหมานปริพาชกได้กล่าวกะนายช่างไม้นั้น.
               อุคคาหมานปริพาชกสำคัญว่า คหบดีนี้มีปัญญาอ่อน เราจักสงเคราะห์เขาด้วยธรรมกถาแล้วจักทำให้เป็นสาวกของตน จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า จตูหิ โข ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ปญฺญเปมิ เราบัญญัติ คือเราแสดงตั้งขึ้น.
               บทว่า สมฺปนฺนกุสลํ คือมีกุศลบริบูรณ์.
               บทว่า ปรมกุสลํ มีกุศลอย่างยิ่ง คือมีกุศลอุดม.
               บทว่า อโยชฺฌํ ไม่มีใครรบได้ คือไม่มีใครสามารถจะรบด้วยวาทะให้หวั่นได้เป็นผู้ไม่หวั่นไม่ไหว มั่นคง.
               บทว่า น กโรติ คือ ย่อมกล่าวเพียงไม่ทำเท่านั้น.
               อนึ่ง ในบทนี้อุคคาหมานปริพาชกไม่กล่าวถึงการละด้วยความสำรวมหรือการพิจารณา.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เนว อภินนฺทติ ไม่ยินดี คือนายช่างไม้สำคัญว่า ธรรมดาพวกเดียรถีย์ทั้งหลายรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ก็พูดส่งเดชไป จึงไม่ยินดี.
               บทว่า นปฺปฏิกฺโกสิ ไม่คัดค้าน คือนายช่างไม้สำคัญว่า อุคคาหมานปริพาชกกล่าวดุจคล้อยตามศาสนา ดุจอาการเลื่อมใสศาสนา จึงไม่คัดค้าน.
               บทว่า ยถา อุคฺคาหมานสฺส เหมือนอย่างคำของอุคคาหมานปริพาชก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงว่า เราไม่กล่าวเหมือนอย่างคำของอุคคาหมานปริพาชกนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่จักเป็นสมณะที่ใครรบไม่ได้ จักเป็นสมณะมั่นคงน่ะซิ.
               บทว่า กาโยติปิ น โหติ แม้เพียงจะรู้ว่ากายดังนี้ก็ยังไม่มี คือไม่มีความรู้วิเศษว่ากายของตนหรือกายของผู้อื่น.
               บทว่า อญฺญตฺร ผนฺทิตามตฺตา นอกจากจะมีเพียงอาการดิ้นรน คือย่อมมีเพียงกายดิ้นรนด้วยการสัมผัสเถาวัลย์บนที่นอนหรือถูกเรือดกัด นอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีการทำทางกายอย่างอื่น.
               อนึ่ง กรรมนั้นจะมีก็ด้วยจิตประกอบด้วยกิเลสเท่านั้น.
               บทว่า วาจาติปิ น โหติ แม้แต่จะรู้ว่าวาจาดังนี้ก็ยังไม่มี คือจะรู้ความต่างกันว่า มิจฉาวาจา สัมมาวาจา ก็ไม่มี.
               บทว่า โรทิตมตฺตา นอกจากจะมีเพียงการร้องไห้ คือจะมีเพียงการร้องไห้ของเด็กอ่อนที่หิวและกระหาย แม้กรรมนั้นจะมี ก็ด้วยจิตประกอบด้วยกิเลสเท่านั้น.
               บทว่า สงฺกปฺโป คือจะรู้ความต่างว่ามิจฉาสังกัปปะ สัมมาสังกัปปะก็ไม่มี.
               บทว่า วิกุฏิตมตฺตา นอกจากจะรู้เพียงการร้องไห้และหัวเราะ คือจิตของเด็กอ่อนมีอารมณ์ในอดีตเป็นไป.
               เด็กอ่อนมาจากนรกระลึกถึงทุกข์ในนรกย่อมร้องไห้. มาจากเทวโลกระลึกถึงสมบัติในเทวโลกย่อมหัวเราะ. กรรมแม้นั้นย่อมมีได้ด้วยจิตประกอบด้วยกิเลสเท่านั้น.
               บทว่า อาชีโว จะรู้ความต่างว่ามิจฉาชีพ สัมมาชีพก็ไม่มี.
               บทว่า อญฺญตฺร มาตุกญฺญํ นอกจากน้ำนมของมารดา. เด็กอ่อนเหล่านั้นชื่อว่ายังเป็นทารก เมื่อมารดาให้ดื่มน้ำนมก็ไม่ดื่ม ในเวลาที่มารดาจัดแจงงานอื่นมาข้างหลังจะดื่มน้ำนม. มิจฉาชีพอย่างอื่นพ้นไปจากนี้ก็ไม่มี. ท่านแสดงว่ามิจฉาชีพนี้ย่อมมีด้วยจิตประกอบด้วยกิเลสเท่านั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงปฏิเสธวาทะของปริพาชกอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงวางมาติกาในเสกขภูมิด้วยพระองค์เอง จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า จตูหิ โข อหํ เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการแล.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า สมธิคยฺห ติฏฺฐติ คือตั้งไว้ให้ดี.
               ในบทมีอาทิว่า น กาเยน ปาปํ ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย คือไม่เพียงสักว่าไม่ทำอย่างเดียวเท่านั้น. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติการละด้วยการสังวรและการพิจารณาไว้ในบทนี้ด้วย. ทรงหมายถึงข้อนั้นจึงได้ตรัสไว้.
               ส่วนบทมีอาทิว่า น เจว สมฺปนฺนกุสลํ มิใช่ผู้มีกุศลสมบูรณ์ ตรัสหมายถึงพระขีณาสพ. บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงวางมาติกาในอเสกขภูมิจึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ทสหิ โข อหํ เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ.
               ในบทนั้น อาศัย ๓ บททรงวางจตุกกะ ๑ ไว้ ๒ บท. อาศัยบท ๑ ทรงวางจตุกกะสุดท้ายไว้ ๒ บท. นี้คือมาติกาในอเสกขภูมิ.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงจำแนกมาติกานั้น จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า กตเม จ ถปติ อกุสลา สีลา ดูก่อนนายช่างไม้ ก็ศีลเป็นอกุศลนั้นเป็นไฉน.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า สราคํ มีราคะ คือจิตประกอบด้วยโลภะ ๘ อย่าง.
               บทว่า สโทสํ มีโทสะ คือจิต ๒ ดวง สัมปยุตด้วยปฏิฆะ.
               บทว่า สโมหํ มีโมหะ คือแม้จิต ๒ ดวง ประกอบด้วยวิจิกิจฉาและอุทธัจจะ ก็ควร แม้จิตที่เป็นอกุศลทั้งหมดก็ควร. เพราะท่านกล่าวไว้ว่า โมหะย่อมเกิดในอกุศลทั้งปวง.
               บทว่า อิโตสมุฏฺฐานา ชื่อว่าอิโตสมุฏฐาน เพราะมีสมุฎฐานเกิดแต่จิตมีราคะเป็นต้นนี้.
               บทว่า กุหึ คือศีลที่เป็นอกุศลดับไม่เหลือเพราะบรรลุฐานะไหน.
               บทว่า เอตฺเถเต ในการละทุจริตนี้ คือตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               จริงอยู่ ปาฏิโมกขสังวรศีลย่อมบริบูรณ์ในโสดาปัตติผล. ถึงฐานะนั้นแล้ว ศีลเป็นอกุศลดับไม่เหลือ.
               อนึ่ง บทว่า อกุสลสีลํ นี้พึงทราบว่าเป็นชื่อของบุคคลทุศีลบ้าง เป็นชื่อของธรรมที่เป็นอกุศลบ้าง.
               บทว่า นิโรธาย ปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อความดับ คือปฏิบัติเพื่อความดับตั้งแต่โสดาปัตติมรรค. แต่ศีลที่เป็นอกุศลเหล่านั้นชื่อว่าเป็นอันดับด้วยการบรรลุพระอรหัต. ด้วยบทมีอาทิว่า วีตราคํ เป็นต้น ท่านกล่าวถึงกามาวจรกุศลจิต ๘ อย่าง. ด้วยบทนี้ ศีลที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้น.
               บทว่า สีลวา โหติ เป็นผู้มีศีล คือเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลและสมบูรณ์ด้วยคุณ.
               บทว่า สีลมโย สำเร็จด้วยศีล คือไม่สำเร็จด้วยศีลอย่างนี้ว่า เพียงเท่านี้ก็พอ. ไม่มีสิ่งไรๆ ที่ควรจะทำยิ่งไปกว่านี้.
               บทว่า ยตฺถสฺส เต อันเป็นที่ดับหมดสิ้นแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้นของภิกษุนั้น คือตั้งอยู่ในอรหัตผล. เพราะศีลที่เป็นอกุศลดับไม่เหลือ เพราะบรรลุพระอรหัตผล.
               บทว่า นิโรธาย ปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อดับ คือชื่อว่าปฏิบัติเพื่อดับตั้งแต่อรหัตมรรค. ศีลที่เป็นกุศลเหล่านั้นชื่อว่าเป็นอันดับด้วยการบรรลุผล.
               ใน กามสญฺญา เป็นต้นมีความดังต่อไปนี้.
               บทว่า กามสญฺญา สัญญาในกาม คือสัญญานอกนี้เกิดร่วมกับจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ๘ ดวง สัญญาที่เกิดร่วมกับจิตประกอบด้วยโทมนัส ๒ ดวง.
               บทว่า ปฐมํ ฌานํ ปฐมฌาน คือปฐมฌานอันเป็นอนาคามิผล.
               บทว่า เอตฺเถเต ความดำริเป็นอกุศลเหล่านี้ดับสิ้นไปในปฐมฌาน คือตั้งอยู่ในอนาคามิผล. เพราะความดำริเป็นอกุศล ย่อมไม่เหลือเพราะการบรรลุอนาคามิผล.
               บทว่า นิโรธาย ปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อความดับ คือชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับตั้งแต่อนาคามิมรรค. แต่ความดำริที่เป็นอกุศลเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นอันดับด้วยการบรรลุผล.
               สัญญาแม้ ๓ มีเนกขัมมสัญญาเป็นต้นเป็นสัญญาเกิดร่วมกับกามาวจรกุศล ๘.
               บทว่า เอตฺเถเต ความดำริที่เป็นกุศลเหล่านี้ดับไม่เหลือในทุติยฌานนี้ คือในอรหัตผล เพราะว่าความดำริที่เป็นกุศล ย่อมดับไม่เหลือเพราะการบรรลุอรหัตผลอันประกอบด้วยทุติยฌาน.
               บทว่า นิโรธาย ปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อความดับ คือชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับจนถึงอรหัตมรรค. แต่ความดำริที่เป็นกุศลเหล่านั้นชื่อว่า เป็นอันดับด้วยการบรรลุผล.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้นด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาสมณมุณฑิกสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค สมณมุณฑิกสูตร เรื่องอุคคาหมานปริพาชก จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 314อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 356อ่านอรรถกถา 13 / 367อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=6023&Z=6174
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=4876
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=4876
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :