บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ในบ้านชื่อปัจจลกัปปะ คือในบ้านอันมีชื่ออย่างนั้น. บทว่า เลื่อมใสยิ่ง ได้แก่ เลื่อมใสด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว. ได้ยินว่า นางพราหมณีนั้นเป็นอริยสาวิกาโสดาบัน เป็นภรรยาของพราหมณ์ภารทวาชโคตร. เมื่อก่อนทีเดียว พราหมณ์นั้นเชิญพราหมณ์ทั้งหลายมาแล้วกระทำสักการะแก่พราหมณ์เหล่านั้นเสมอๆ. ตอนทำเอานางพราหมณีนี้มาสู่เรือนแล้วไม่อาจทำจิตให้โกรธต่อนางพราหมณีรูปงามมีตระกูลใหญ่ ไม่อาจทำสักการะแก่พราหมณ์ทั้งหลาย. ครั้งนั้น พราหมณ์ทั้งหลายได้ถากถางพราหมณ์นั้นในที่ที่เห็นทุกแห่งว่า บัดนี้ ท่านไม่ถือลัทธิพราหมณ์ จึงไม่ทำสักการะแม้สักอย่างหนึ่งแก่พวกพราหมณ์. พราหมณ์นั้นกลับมาเรือน บอกเนื้อความนั้นแก่พราหมณี แล้วกล่าวว่า ถ้าเธอจะอาจรักษาหน้าฉันในวันหนึ่ง ฉันก็จะให้ภิกษาแก่พราหมณ์ทั้งหลายในวันหนึ่ง. นางพราหมณีว่า ท่านจงให้ไทยธรรมของท่านในที่ที่ชอบใจเถิด ฉันจะมีประโยชน์อะไรเรื่องนี้. พราหมณ์นั้นได้เชื้อเชิญพราหมณ์ทั้งหลายแล้ว ให้หุงข้าวปายาสน้ำน้อย เชิญให้ขึ้นเรือน ตบแต่งอาสนะแล้วเชิญให้พราหมณ์ทั้งหลายนั่ง. นางพราหมณีนุ่งห่มผ้าสาฎกผืนใหญ่ถือทัพพีเลี้ยงดูอยู่พลาด (สดุด) ที่ชายผ้า ไม่ได้กระทำความสำคัญว่า เรากำลังเลี้ยงหมู่พราหมณ์ ระลึกถึงเฉพาะพระศาสดาเท่านั้น พลันเปล่งอุทานขึ้นด้วยอำนาจความเคยชิน. พราหมณ์ทั้งหลายฟังอุทานแล้วโกรธว่า สหายของพระสมณโคดมผู้นี้เป็นคนสองฝ่าย พวกเราจักไม่รับไทยธรรมของเขา ดังนี้ จึงทิ้งโภชนะทั้งหลายแล้วออกไปเสีย. พราหมณ์กล่าวว่า เราได้พูดกะท่านไว้แต่ทีแรกทีเดียวมิใช่หรือว่า วันนี้ขอให้ท่านรักษาหน้าฉันสักวัน ท่านทำนมสดและข้าวสารเป็นต้น มีประมาณเท่านี้ ให้ฉิบหายเสียแล้ว (เขา) ลุอำนาจความโกรธเป็นอย่างยิ่ง กล่าวว่า ก็หญิงถ่อยคนนี้ กล่าวสรรเสริญสมณโคดมนั้นไม่เลือกที่ อย่างนี้ทีเดียว หญิงถ่อยบัดนี้เราจะยกวาทะต่อศาสดานั้นของเธอ. ทีนั้น นางพราหมณีจึงกล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ไปซิพราหมณ์ ไปซิพราหมณ์ ท่านแม้ไปแล้วจักรู้สึก ดังนี้แล้วกล่าวว่า ท่านพราหมณ์ เราย่อมไม่เห็นบุคคลผู้จะยกวาทะ ฯลฯ ในโลกพร้อมทั้งเทวดา ดังนี้เป็นต้น. พราหมณ์นั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วทูลถามปัญหาว่า ฆ่าอะไรแล้วจึงจะอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรแล้วจึงจะไม่ เศร้าโศก ท่านโคดม ท่านชอบใจการฆ่าธรรมอะไร อันเป็นธรรมเอก. พระศาสดาตรัสตอบปัญหาว่า ฆ่าความโกรธแล้วอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก พราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดอร่อย เพราะฆ่าความโกรธได้แล้ว ย่อมไม่ เศร้าโศก. พราหมณ์นั้นบวชแล้วบรรลุพระอรหัต. น้องชายของพราหมณ์นั่นแหละ ชื่ออักโกสกภารทวาชะได้ฟังข่าวว่า พี่ชายของเราบวชแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแนะนำจึงบวชแล้วบรรลุพระอรหัต. น้องชายเล็กของพราหมณ์นั้น อีกคนหนึ่งชื่อสุนทริกภารทวาชะ. แม้พราหมณ์นั้นก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามปัญหา ได้ฟังแล้วแก้ปัญหาบวชแล้วก็บรรลุพระอรหัต. น้องชายคนเล็กของพราหมณ์นั้น ชื่อปิงคลภารทวาชะ. เขาถามปัญหาในเวลาจบพยากรณ์ปัญหาบวชแล้วก็บรรลุพระอรหัต. คำว่า มาณพชื่อสคารวะ มีความว่า มาณพนี้เป็นผู้อ่อนกว่าพราหมณ์ทั้งหมดของบรรดาพราหมณ์เหล่านั้นในวันนั้น ได้นั่งในโรงอาหารแห่งเดียวกันกับพวกพราหมณ์. บทว่า อวภูตา จ ความว่า เป็นผู้ไม่เจริญ คือเป็นผู้ไม่มีมงคลเลย. บทว่า เป็นผู้เสื่อม คือ เป็นผู้ถึงความพินาศเท่านั้น. บทว่า เมื่อ มีอยู่ คือ ครั้นเมื่อ... มีอยู่. บทว่า ศีลและปัญญา ความว่า ท่านไม่รู้ศีลและญาณ. บทว่า เป็นผู้ถึงบารมีอันเป็นที่สุด เพราะรู้ยิ่งในปัจจุบัน. ความว่า พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวว่า เราทั้งหลายเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งที่สุด บรรลุพระนิพพานอันเป็นคุณสมบัติยิ่งใหญ่แห่งธรรมทั้งปวง กล่าวคือบารมีเพราะรู้ยิ่งในอัตตภาพนี้นั่นแหละ ดังนี้ ชื่อว่าย่อมปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์. บทว่า อาทิพรหมจรรย์ มีอธิบายว่า ย่อมปฏิญาณอย่างนี้ว่า เป็นเบื้องต้น คือเป็นอุปการะ เป็นผู้ทำให้เกิดพรหมจรรย์. บทว่า นักตรึกตรอง คือ เป็นผู้มีปรกติถือเอาด้วยการคาดคะเน. บทว่า มีปรกติใคร่ครวญ ความว่า เป็นผู้ใคร่ครวญ คือ เป็นผู้มีปรกติใช้ปัญญาใคร่ครวญแล้ว กล่าวอย่างนี้. บทว่า บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น เราเป็นความว่า เราเป็นสัมมาสัมพุทธองค์หนึ่ง บรรดาสัมมาสัมพุทธะเหล่านั้น. เชื่อมบทว่า อฏฺฐิตะ ในบทสนธิว่า อฏฺฐิตวตา เข้ากับบท ปธานะ เชื่อมบทสปฺปุริสะ เข้ากับบท ปธานะ ก็เหมือนกัน. มีคำอธิบายนี้ว่า ความเพียรอันไม่หยุดหย่อน ความเพียรของสัตบุรุษหนอ ได้มีแล้วแก่พระโคดมผู้เจริญ. คำว่า เป็นผู้ถูกทูลถามว่า เทวดามีหรือ ความว่า มาณพกล่าวคำนี้ด้วยสำคัญว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงทราบเลย ประกาศ. คำว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ความว่า เมื่อความที่พระองค์ไม่ทรงทราบมีอยู่. คำว่า เป็นถ้อยคำเปล่า เป็นถ้อยคำเท็จ ความว่า ถ้อยคำของพระองค์เป็นถ้อยคำไม่มีผล คือปราศจากผล. มาณพ ชื่อว่าย่อมข่มพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยวาทะว่าพูดเท็จด้วยประการอย่างนี้. บทว่า อันวิญญูชน ได้แก่ อันคนผู้เป็นบัณฑิต. ทรงแสดงว่า ก็ท่านย่อมไม่รู้คำแม้ที่เราพยากรณ์ เพราะความเป็นผู้ไม่รู้. คำว่า เขาสมมติกันด้วยศัพท์สูง คือ เขาสมมติ ได้แก่ปรากฏในโลกด้วยศัพท์ชั้นสูง. คำว่า เทวดามี อธิบายว่า ก็แม้เด็กหนุ่มสาวทั้งหลาย ชื่อว่าเทพก็มี ชื่อว่าเทพีก็มี. ส่วนเทพทั้งหลายชื่อว่า อติเทพ คือ เป็นผู้ยิ่งกว่ามนุษย์ทั้งหลาย ผู้ได้ชื่อว่า เทพ เทพี ในโลก. คำที่เหลือในที่ทุกแห่งง่ายทั้งนั้นแล. จบอรรถกถาสคารวสูตรที่ ๑๐ จบพราหมณวรรคที่ ๕ อรรถกถามัชฌิมปัณณาสกสูตรในอัฏฐกถามัชฌิมนิกาย ชื่อปปัญจสูทนีจบ อรรถกถาประมวลพระสูตร ๕๐ สูตร ประดับด้วย ๕ วรรคจบ. รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. พรหมายุสูตร ๒. เสลสูตร ๓. อัสสลายนสูตร ๔. โฆฏมุขสูตร ๕. จังกีสูตร ๖. เอสุการีสูตร ๗. ธนัญชานิสูตร ๘. วาเสฏฐสูตร ๙. สุภสูตร ๑๐. สคารวสูตร ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค สคารวสูตร จบ. |