บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
พึงทราบวินิจฉัยในมหาปุณณมสูตรนั้น ดังต่อไปนี้. บทว่า ตทหุ แยกเป็น ตสฺมึ อหุ แปลความว่า ในวันนั้น. ชื่อว่าอุโบสถ เพราะอรรถว่าเป็นวันที่เข้าอยู่จำ. บทว่า อุปวสนฺติ ความว่า เข้าไปอยู่จำด้วยศีลหรือด้วยการอดอาหาร. ก็ในที่นี้การขยายความดังต่อไปนี้ ก็การแสดงปาติโมกข์ ชื่อว่าอุโปสถ ในคำเป็นต้นว่า อายามาวุโส กปฺปิน อุโปสถํ คมิสสาม ท่านกัปปินะมาเถิด พวกเราไปยังอุโบสถกัน. ศีลชื่อว่า อุโปสถ ในคำเป็นต้นว่า เอวํ อฏฺฐงฺคสมนฺนาคโต โข วิสาเข อุโปสโถ อุปวุตฺโถ ดูก่อนวิสาขา อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล อันบุคคลเข้าจำแล้วด้วยอาการอย่างนี้. อุปวาส ชื่อว่า อุโปสถ (การจำศีลด้วยการอดอาหาร) ในคำเป็นต้นว่า สุทฺธสฺส สทา ผคฺคุ สุทฺธสฺสุโปสโถ สทา ผัคคุฤกษ์ (คือฤกษ์เดือนผัคคุ) สำหรับผู้หมดจดทุกเมื่อ แต่อุโบสถก็สำหรับผู้หมดจดทุกเมื่อ. ชื่อว่าเป็นบัญญัติ (คือชื่อที่เรียก) ในคำเป็นต้นว่า อุโปสโถ นาม นาคราชา พระยาช้างชื่อว่า อุโบสถ. วันที่ ก็วันที่เข้าอยู่ (จำศีล) นี้นั้น มี ๓ อย่าง โดยวันอัฏฐมี วันจาตุททสีและวันปัณณรสี เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า ปณฺณรเส (ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ) เพื่อจะห้ามบททั้งสองที่เหลือ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชื่อว่าวันอุโบสถ เพราะเป็นวันที่เข้าอยู่ (จำศีล). ชื่อว่า ปุณฺณา เพราะเต็มแล้วคือ เต็มบริบูรณ์ เพราะเป็นวันเต็มเดือน. ท่าน บทว่า เทสํ แปลว่า เหตุการณ์. บทว่า เตนหิ ตฺวํ ภิกฺขุ สเก อาสเน นิสีทิตฺวา ปุจฺฉ ความว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสแก่ภิกษุผู้ที่ยืน รับ ได้ยินว่า ภิกษุนี้เป็นพระสังฆเถระของภิกษุเหล่านั้น เรียนกรรมฐานในสำนักของท่านแล้วพากเพียรพยายามอยู่ กำหนดพิจารณามหาภูตรูป (และ) อุปาทายรูป กำหนดพิจารณาวิปัสสนา มีลักษณะของตนอันมีนามรูปเป็นปัจจัยให้เป็นอารมณ์. ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นมายังที่ปรนนิบัติอาจารย์ในเวลาเย็น ไหว้แล้วนั่งอยู่ พระเถระจึงถามถึงเรื่องกรรมฐานทั้งหลาย มีการกำหนดพิจารณามหาภูตรูปเป็นต้น. ภิกษุเหล่านั้นบอกได้ทั้งหมด. แต่ถูกถามปัญหาในมรรคและผล ไม่อาจบอกได้. ทีนั้น พระเถระจึงคิดว่า ในสำนักเราไม่มีการละเลยการให้โอวาทแก่ภิกษุเหล่านี้ และภิกษุเหล่านี้ก็ปรารภความเพียรอยู่. กิริยาที่ประมาทก็ไม่มีแก่ภิกษุเหล่านั้น แม้มาตรว่า ชั่วเวลาไก่กินน้ำ. แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุเหล่านี้ก็ไม่อาจทำมรรคผลให้เกิดขึ้นได้. เราไม่รู้อัธยาศัยของภิกษุเหล่านี้ ภิกษุเหล่านี้คงจะเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าต้องทรงแนะนำ เราจักพาภิกษุเหล่านั้นไปยังสำนักของพระศาสดา เมื่อเป็นอย่างนั้น พระศาสดาจักทรงแสดงธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับความประพฤติของภิกษุเหล่านั้น (ครั้นคิดแล้ว) จึงพาภิกษุเหล่านั้นมายังสำนักของพระศาสดา. แม้พระศาสดาก็ทรงถือเอาน้ำที่พระอานนท์นำเข้าไปถวายในตอนเย็น ทรงกระทำพระสรีระให้สดชื่นแล้วประทับนั่งบนเสนาสนะอันประเสริฐ ที่เขาปูลาดไว้ในบริเวณ เวลานั้น พระอาทิตย์กำลังอัสดงคต พระจันทร์กำลังขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ ที่ เรื่องทั้งหมดนั้นพึงให้พิสดารโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง. นี้ชื่อว่าพื้นภูมิของการพรรณนาในอธิการนี้ กำลัง (ความสามารถ) ของพระธรรมกถึกเท่านั้นที่อาจกล่าวให้พอควรแก่ประมาณได้ เรื่องที่ควรแก่ประมาณนั้น ควรกล่าวในการพรรณนาพระพุทธรัศมีนั้น. ไม่ควรพูดว่า กล่าวยาก. เมื่อบริษัทประชุมกันอย่างนี้แล้ว พระเถระลุกขึ้น ขอให้พระศาสดาประทานโอกาสเพื่อพยากรณ์ปัญหา. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า ถ้าเมื่อภิกษุนี้ยืนถามปัญหา พวกภิกษุที่เหลือจักลุกขึ้นด้วยคิดกันว่า อาจารย์ของพวกเราลุกขึ้นแล้ว เมื่อเป็นอย่างนั้น จักเป็นอันกระทำความไม่เคารพในพระตถาคต. ถ้าภิกษุเหล่านั้นจักนั่งทูลถาม (ปัญหา) จักเป็นอันกระทำความไม่เคารพในอาจารย์ จักไม่อาจทำจิตให้แน่วแน่รับธรรมเทศนา. แต่เมื่ออาจารย์นั่ง ภิกษุเหล่านั้นจักนั่ง แต่นั้นจักเป็นผู้มีจิตแน่วแน่ อาจรับพระธรรมเทศนาได้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสแก่ภิกษุที่ยืน รับสั่งให้นั่งลง ฉะนี้แล. บทว่า อิเม นุ โข ภนฺเต ความว่า กระทำเหมือนถามด้วยความสงสัย. ก็พระเถระกำหนดพิจารณาความเกิดแห่งเบญจขันธ์แล้ว บรรลุพระอรหัต เป็นพระมหาขีณาสพ. ความสงสัยของพระเถระนี้ย่อมไม่มี. ก็แม้รู้อยู่ทำเป็นเหมือน บทว่า ฉนฺทมูลกา แปลว่า มีตัณหาเป็นมูล. บทว่า เอวํ รูโป สิยํ ความว่า ถ้าประสงค์เป็นคนขาว ย่อมปรารถนาว่า ขอเราจงเป็นคนมีวรรณะเหมือนหรดาล หรือเหมือนมโนศิลา หรือเหมือนทอง. ถ้าประสงค์จะเป็นคนดำก็ปรารถนาว่า ขอเราจงเป็นผู้มีวรรณะเหมือนดอกอุบลเขียว เหมือนดอกอัญชัน หรือเหมือนดอกฝ้าย. บทว่า เอวํเวทโน ได้แก่ ปรารถนาว่า ขอเราจงเป็นผู้มีเวทนาเป็นกุศล หรือเป็นผู้มีเวทนาเป็นสุข. แม้ในสัญญาเป็นต้นก็มีนัยนี้แหละ. ก็เพราะธรรมดาว่า ความปรารถนาในอดีต ย่อมมีไม่ได้ และแม้ถึงจะปรารถนาก็ไม่อาจได้มัน แม้ในปัจจุบันก็ไม่ได้ คนขาวปรารถนาความเป็นคนดำ แล้วจะเป็นคนดำไปในปัจจุบันก็ไม่ได้ คนดำจะเป็นคนขาว คนสูงจะเป็นคนเตี้ย หรือคนเตี้ยจะเป็นคนสูงก็ไม่ได้ แต่เมื่อบุคคลให้ทาน สมาทานศีลแล้วปรารถนาว่า ขอเราจงเป็นกษัตริย์หรือจงเป็นพราหมณ์ในอนาคตกาลเถิด ดังนี้ ความปรารถนาย่อมสำเร็จ ฉะนั้นท่านถือเอาแต่อนาคตเท่านั้น. บทว่า ขนฺธาธิวจนํ ได้แก่ ถามว่า การบัญญัติว่าขันธ์แห่งขันธ์ทั้งหลายย่อมมีได้ด้วยเหตุมีประมาณเท่าใด. บทว่า มหาภูตเหตุ ความว่า ก็เหตุท่านเรียกว่าเหตุ ในคำเป็นต้นว่า กุศลเหตุ ๓ ประการ. อวิชชาชื่อว่า สาธารณเหตุ เพราะเป็นเหตุทั่วไปแก่ปุญญาภิสังขารเป็นต้น. กุศลกรรมและอกุศลกรรมเป็นเหตุสูงสุดในการให้ผลของตนๆ. ในที่นี้ท่านประสงค์เอาปัจจัยเหตุในอธิการว่าด้วยปัจจัยเหตุนั้น มหาภูตรูป คือปฐวีธาตุเป็นเหตุและเป็นปัจจัย เพื่อแสดงการบัญญัติภูตรูป ๓ นอกนี้ และอุปาทายรูป พึงทราบการประกอบความแม้ในบทที่เหลืออย่างนี้. บทว่า ผสฺโส ความว่า ผัสสะ เป็นเหตุและเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติขันธ์ ๓ โดยพระบาลีว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ถูกกระทบย่อมรู้สึก ย่อมจำได้ ย่อมคิด (ปรุงแต่ง) ดังนี้. ในบทว่า วิญฺญณกฺขนฺธสฺส นี้มีความว่า รูป ๓๐ ถ้วนและขันธ์ ๓ ที่สัมปยุตกับวิญญาณ โดยกำหนดอย่างสูง ย่อมเกิดแก่คัพภเสยยกสัตว์ทั้งหลายพร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณก่อน นามรูปนั้นเป็นเหตุและปัจจัยแห่งการบัญญัติปฏิสนธิวิญญาณ. ในจักขุทวาร จักขุปสาทรูปกับรูปารมณ์ จัดเป็นรูปขันธ์ ขันธ์ ๓ ที่สัมปยุตกับวิญญาณ จัดเป็นนาม. นามรูปนั้นเป็นเหตุและเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติจักขุวิญญาณ. ในวิญญาณที่เหลือมีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า กถํ ปน ภนฺเต ความว่า ในที่นี้ (ภิกษุ) เมื่อถามวัฏฏะว่า มีได้ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร จึงกล่าวอย่างนั้น. บทว่า สกฺกายทิฏฺฐิ น โหติ ความว่า เมื่อจะถามวิวัฏฏะนี้ จึงกล่าวอย่างนั้น. ด้วยคำว่า นี้เป็นความชอบใจในรูป นี้ตรัสปริญญาปฏิเวธการแทงตลอดด้วยการกำหนดรู้และทุกขสัจด้วยคำนี้ว่า นี้เป็นโทษในรูป ดังนี้ ตรัสปหานปฏิเวธการแทงตลอดด้วยการละ และสมุทัยสัจด้วยคำนี้ว่า นี้เป็นการสลัดออกในรูป ดังนี้ ตรัสสัจฉิกิริยปฏิเวธ การแทงตลอดด้วยการทำให้แจ้งและนิโรธสัจ. ธรรมทั้งหลายมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นในฐาน ๓ ประการเหล่านี้ นี้เป็นภาวนา ปฏิเวธ การแทงตลอดด้วยภาวนา และเป็นมรรคสัจ. แม้ในบทที่เหลือทั้งหลาย ก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า พหิทฺธา คือ ในกายที่มีวิญญาณของผู้อื่น. ก็ด้วย บทว่า สพฺพนิมิตฺตเตสุ นี้ ทรงสงเคราะห์เอาแม้สิ่งที่ไม่เนื่องกับอินทรีย์. อีกอย่างหนึ่ง ในคำว่า สวิญฺญาเณ กาเย ดังนี้ ถือเอากายทั้งของตนและของคนอื่นด้วยเหมือนกัน. และถือเอาสิ่งที่ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ ด้วยการถือเอานิมิตทุกอย่างในภายนอก. บทว่า อนตฺตกตานิ (ที่อนัตตาทำ) ได้แก่ ตั้งอยู่ในอนัตตากระทำ. บทว่า กตมตฺตานํ ผุสิสฺสนฺติ ความว่า หยั่งลงสู่ความเห็นว่าเที่ยง (สัสสตทิฏฐิ) ว่า ตั้งอยู่ในตน เช่นไรจึงแสดงผลดังนี้ จึงได้กล่าวอย่างนั้น. บทว่า ตณฺหาธิปเตยฺเยน คือ มีตัณหาเป็นใหญ่. บทว่า ตตฺร ตตฺร ได้แก่ ในธรรมทั้งหลายนั้นๆ. บทว่า สฏฺฐิมตฺตานํ ความว่า ภิกษุเหล่านี้ละกรรมฐานตามปกติเสียแล้ว พิจารณากรรมฐานใหม่อย่างอื่น ไม่ทำลายบัลลังก์ บรรลุพระอรหัตในที่นั่งนั่นแล. บทที่เหลือในที่ทุกแห่งง่ายทั้งนั้นแล. จบอรรถกถามหาปุณณมสูตรที่ ๙ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทหวรรค มหาปุณณมสูตร จบ. |