ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 565อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 579อ่านอรรถกถา 14 / 598อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
จูฬกัมมวิภังคสูตร

               อรรถกถาสุภสูตร               
               สุภสูตร๑- มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
____________________________
๑- บาลีว่า จูฬกัมมวิภังคสูตร

               ในสูตรนั้น บทว่า สุโภ ความว่า ได้ยินว่า เขาเป็นคนน่าดู น่าเลื่อมใส. ด้วยเหตุนั้น ญาติทั้งหลายจึงตั้งชื่อเขาว่า สุภะ เพราะความที่เขามีอวัยวะงาม. แต่ได้เรียกเขาว่า มาณพในกาลเป็นหนุ่ม. เขาถูกเรียกโดยโวหารนั้นแล แม้ในกาลเป็นคนแก่.
               บทว่า โตเทยฺยปุตฺโต ได้แก่ บุตรของพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชื่อว่าโตเทยยะ. ได้ยินว่า เขาถึงอันนับว่าโตเทยยะ เพราะเขาเป็นใหญ่แห่งบ้านชื่อว่าตุทิคาม ซึ่งมีอยู่ใกล้กรุงสาวัตถี. ก็เขาเป็นผู้มีทรัพย์มาก มีสมบัติถึง ๘๗ โกฏิ แต่มีความตระหนี่จัด. เมื่อจะให้ก็คิดว่า ขึ้นชื่อว่าความไม่สิ้นเปลืองของโภคะทั้งหลายไม่มี จึงไม่ให้อะไรแก่ใครๆ.
               สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   บัณฑิตเห็นความสิ้นไปแห่งยาหยอดตา
                         ทั้งหลาย การสะสมของตัวปลวกทั้งหลาย และ
                         การรวบรวมของตัวผึ้งทั้งหลายแล้ว พึงอยู่ครอง
                         เรือน.
               เขาให้สำคัญอย่างนี้ ตลอดกาลนานทีเดียว. เขาไม่ให้วัตถุสักว่ายาคูกระบวยหนึ่ง หรือภัตสักทัพพี แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในวิหารใกล้ ทำกาละด้วยความโลภในทรัพย์ ไปเกิดเป็นสุนัขในเรือนนั้นเทียว. สุภะรักสุนัขนั้นมากเหลือเกิน ให้กินภัตที่ตนบริโภคนั้นแหละ ยกขึ้นให้นอนในที่นอนอันประเสริฐ.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลกในสมัยใกล้รุ่ง ทรงเห็นสุนัขนั้นแล้ว ทรงดำริว่า โตเทยยพราหมณ์ตายไปเกิดเป็นสุนัขในเรือนของตนเทียว เพราะความโลภในทรัพย์ วันนี้ เมื่อเราไปสู่เรือนของสุภะ สุนัขเห็นเราแล้ว จักทำการเห่าหอน. ลำดับนั้น เราจักกล่าวคำหนึ่งแก่สุนัขนั้น สุนัขนั้นจะรู้เราว่าเป็นสมณโคดม แล้วไปนอนในที่เตาไฟ เพราะข้อนั้นเป็นเหตุ สุภะจักมีการสนทนาอย่างหนึ่งกับเรา สุภะนั้นฟังธรรมแล้ว จักตั้งอยู่ในสรณะทั้งหลาย ส่วนสุนัขตายไปแล้วจักเกิดในนรก ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ความที่มาณพจะตั้งอยู่ในสรณะทั้งหลายนี้แล้ว ในวันนั้นทรงปฏิบัติพระสรีระ เสด็จไปสู่เรือนนั้นเพื่อทรงบิณฑบาต โดยขณะเดียวกันกับมาณพออกไปสู่บ้าน. สุนัขเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทำการเห่าหอน ไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า. แต่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้กะสุนัขนั้นว่า แน่ะโตเทยยะ เจ้าเคยกล่าวกะเราว่า ผู้เจริญๆ ไปเกิดเป็นสุนัข แม้บัดนี้ ทำการเห่าหอนแล้ว จักไปสู่อเวจี ดังนี้. สุนัขฟังพระดำรัสนั้นแล้ว รู้เราว่าเป็นสมณโคดม มีความเดือดร้อน ก้มคอไปนอนในขี้เถ้า ในระหว่างเตาไฟ. มนุษย์ไม่อาจเพื่อจะยกขึ้นให้นอนบนที่นอนอันประเสริฐได้. สุภะมาแล้วพูดว่า ใครยกสุนัขนี้ลงจากที่นอนเล่า. มนุษย์พูดว่า ไม่มีใคร แล้วบอกเรื่องราวเป็นมานั้น. มาณพฟังแล้วโกรธว่า บิดาของเราไปเกิดในพรหมโลก ไม่มีสุนัขชื่อโตเทยยะ แต่พระสมณโคดมทรงทำบิดาให้เป็นสุนัข พระสมณโคดมนั้นพูดพล่อยๆ ดังนี้ เป็นผู้ใคร่จะข่มพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำเท็จ จึงไปสู่วิหารทูลถามประวัตินั้น.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสอย่างนั้นเทียวแก่สุภมาณพนั้น เพื่อไม่ให้โต้เถียงกัน จึงตรัสว่า ดูก่อนมาณพ ก็ทรัพย์ที่บิดาของเธอไม่ได้บอกไว้มีอยู่หรือ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มีหมวกทองคำราคาหนึ่งแสน รองเท้าทองคำราคาหนึ่งแสน และกหาปณะหนึ่งแสน. เจ้าจงไป จงถามสุนัขนั้นในเวลาให้กินข้าวปายาสมีน้ำน้อย แล้วยกขึ้นในที่นอนก้าวสู่ความหลับนิดหน่อย มันจะบอกทรัพย์ทั้งหมดแก่เจ้า. ลำดับนั้น เจ้าจะพึงรู้สุนัขนั้นว่า มันเป็นบิดาของเรา.
               มาณพดีใจแล้วด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ถ้าจักเป็นความจริง เราจะได้ทรัพย์ ถ้าไม่เป็นความจริง เราจักข่มพระสมณโคดมด้วยคำเท็จดังนี้ แล้วไปทำอย่างนั้น. สุนัขรู้ว่า เราอันมาณพนี้รู้แล้ว ทำเสียงร้อง หุง หุง ไปสู่สถานที่ฝังทรัพย์ ตะกุยแผ่นดินด้วยเท้าแล้วให้สัญญา. มาณพถือเอาทรัพย์แล้ว มีจิตเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ธรรมดาสถานที่ปกปิดทรัพย์ปรากฏเป็นของละเอียด อยู่ในระหว่างปฏิสนธิอย่างนี้ นั่นเป็นสัพพัญญูของพระสมณโคดมแน่แท้ จึงรวบรวมปัญหา ๑๔ ปัญหา.
               นัยว่า มาณพนั้นเป็นนักปาฐกในวิชาทางร่างกาย. ด้วยเหตุนั้น มาณพนั้นจึงมีความคิดว่า เราถือธรรมบรรณาการนี้แล้ว จักทูลถามปัญหากะพระสมณโคดม. โดยการไปครั้งที่สอง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้ปัญหาทั้งหลายที่มาณพนั้นทูลถามแก่เขาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จึงตรัสว่า กมฺมสฺสกา เป็นต้น.
               ในบทนั้น กรรมเป็นของสัตว์เหล่านั้น คือเป็นภัณฑะของตน เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านั้นชื่อว่ามีกรรมเป็นของตน. สัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทแห่งกรรม เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าเป็นทายาทแห่งกรรม. อธิบายว่า กรรมเป็นทายาทคือเป็นภัณฑะของสัตว์เหล่านั้น.
               กรรมเป็นกำเนิดคือเป็นเหตุของสัตว์เหล่านั้น เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านั้นชื่อว่ามีกรรมเป็นกำเนิด. กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ของสัตว์เหล่านั้น เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่ามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์. อธิบายว่า มีกรรมเป็นญาติ.
               กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย คือเป็นที่ตั้งของสัตว์เหล่านั้น เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่ามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย.
               บทว่า ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย ความว่า กรรมนี้ใดจำแนกโดยให้เลวและประณีตอย่างนี้ว่า ท่านเลว ท่านประณีต ท่านมีอายุน้อย ท่านมีอายุยืน ท่านมีปัญญาทราม ท่านมีปัญญา ดังนี้ ใครอื่นไม่ทำกรรมนั้น กรรมนั้นเทียวย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายอย่างนี้.
               มาณพไม่รู้เนื้อความแห่งอุเทศที่ทรงแสดง เป็นเหมือนพันปากของมาณพนั้นด้วยแผ่นผ้าเนื้อหนา แล้ววางของหวานไว้ข้างหน้า. ได้ยินว่า มาณพนั้นอาศัยมานะ ถือตัวว่าเป็นบัณฑิต ย่อมพิจารณาเห็นตน.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงหักมานะของมาณพนั้นว่า มานะนี้ว่า พระสมณโคดมตรัสอะไร เราย่อมรู้สิ่งที่ตรัสนั้นแล อย่าได้มี ดังนี้ จึงตรัสทำให้แทงตลอดได้โดยยากว่า เราจักแสดงทำให้แทงตลอดได้ยากตั้งแต่เบื้องต้นเทียว แต่นั้น มาณพจักขอเราว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้ ขอพระองค์จงทรงแสดงทำให้ปรากฏแก่ข้าพระองค์โดยพิสดาร ลำดับนั้น เราจักแสดงแก่เขาในเวลาร้องขอ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จักเป็นประโยชน์แก่มาณพนั้น ดังนี้.
               บัดนี้ มาณพนั้น เมื่อจะประกาศความที่ตนเป็นผู้ไม่แทงตลอดจึงทูลว่า น โขหํ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า สมตฺเตน ได้แก่ บริบูรณ์.
               บทว่า สมาทินฺเนน ได้แก่ ถือเอาแล้ว คือลูบคลำแล้ว.
               บทว่า อปฺปายุกสํวตฺตนิกา เอสา มาณว ปฏิปทา ยทิทํ ปาณาติปาตี ความว่า กรรมในการยังชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงนี้ใด นั้นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้น.
               ก็ปฏิปทานั้นย่อมทำให้มีอายุสั้นอย่างไร.
               ก็กรรมมี ๔ ประเภทคือ อุปปีฬกกรรม อุปัจเฉทกกรรม ชนกกรรม อุปัตถัมภกกรรม.
               ก็อุปปีฬกกรรมในประวัติที่เกิดด้วยกรรมอันมีกำลัง มาพูดโดยเนื้อความอย่างนี้ว่า ถ้าเราพึงรู้ก่อน ไม่พึงให้กรรมนั้นเกิดในที่นี้ พึงให้มันเกิดในอบายทั้งสี่ จงยกไว้ เจ้าเกิดในที่ใดที่หนึ่ง เราบีบคั้นกรรมที่ชื่อว่า อุปปีฬกกรรมนั้น จักทำให้ปราศจากรสปราศจากยางเหนียวให้ไร้ค่า จำเดิมแต่นั้น จะทำมันให้เป็นเช่นนั้น.
               ทำอย่างไร
               คือนำอันตรายเข้ามา ยังโภคะให้พินาศ. ในเพราะกรรมนั้น จำเดิมแต่กาลที่ทารกเกิดในท้องมารดา มารดาย่อมไม่มีความเบาใจ หรือไม่มีความสุขและความบีบคั้นย่อมเกิดแก่บิดามารดา ย่อมนำอันตรายเข้ามาอย่างนี้.
               ก็จำเดิมแต่กาลที่ทารกเกิดในท้องมารดา โภคะทั้งหลายในเรือนย่อมฉิบหายด้วยอำนาจแห่งราชาเป็นต้น เหมือนเกลือถูกน้ำ. แม่โคทั้งหลายที่รีดนมลงในภาชนะก็ไม่ให้น้ำนม ฝูงโคจะกล้าดุร้าย มีตาบอดเป็นง่อย โรคจะระบาดในคอกโค บริวารชนมีทาสเป็นต้นไม่เชื่อฟัง ข้าวกล้าที่หว่านไว้จะไม่เกิด ข้าวกล้าที่อยู่ในเรือนย่อมพินาศในเรือน ที่อยู่ในป่าก็พินาศในป่า วัตถุสักว่าบำบัดความหิวกระหายก็หาได้ยาก โดยลำดับ. เครื่องบริหารครรภ์ก็ไม่มี. เวลาทารกคลอดแล้ว น้ำนมของมารดาก็จะขาด. ทารกเมื่อไม่ได้บริหารก็ถูกบีบคั้น ปราศจากรส เหี่ยวแห้ง ไร้ค่า นี้ชื่อว่าอุปปีฬกกรรม.
               ส่วนเมื่อบุคคลเกิดแล้ว ด้วยกรรมที่ทำให้มีอายุยืน อุปัจเฉทกกรรมก็มาตัดรอนอายุ เหมือนบุรุษทำการไปสู่วัวผู้แปดตัว ยิงลูกศร อีกคนก็ตีลูกศรนั้นที่สักว่าหลุดออกจากแล่งธนูด้วยไม้ค้อนให้ตกลงในที่นั้นฉันใด อุปัจเฉทกกรรมย่อมตัดรอนอายุของตนที่เกิดแล้วด้วยกรรมที่ทำให้มีอายุยืนฉันนั้น.
               ทำอย่างไร.
               โจรให้บุคคลนั้นเข้าไปสู่ดง ให้ลุยน้ำที่มีปลาร้าย. ก็หรือนำเข้าสู่สถานที่อันตรายอื่น. นี้ชื่อว่า อุปัจเฉทกกรรม. อุปัจเฉทกกรรมนั้นเทียวมีชื่อว่า อุปฆาฏกกรรม. ดังนี้บ้าง.
               ส่วนกรรมที่ให้เกิดปฏิสนธิ ชื่อว่าชนกกรรม.
               กรรมที่อุ้มชูด้วยการทำให้ถึงพร้อมด้วยโภคะเป็นต้นแก่บุคคลผู้เกิดในตระกูลทั้งหลายมีตระกูลมีโภคะน้อยเป็นต้น ชื่อว่าอุปัตถัมภกกรรม.
               ในกรรม ๔ ประเภทนี้ กรรม ๒ ประเภทข้างต้น เป็นอกุศลอย่างเดียว. ในกรรมเหล่านั้น ปาณาติบาตกรรมย่อมเป็นไปเพื่อมีอายุสั้น ด้วยความเป็นอุปัจเฉทกกรรม. หรือกุศลกรรมที่บุคคลมีปกติยังชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ย่อมไม่โอฬาร ย่อมไม่อาจเพื่อยังปฏิสนธิที่มีอายุยืนเกิดขึ้น. ปาณาติบาตย่อมเป็นไปเพื่อให้อายุสั้นด้วยประการฉะนี้. หรือกำหนดปฏิสนธิเท่านั้น ทำให้มีอายุสั้น. หรือย่อมเกิดในนรกด้วยสันนิฏฐานเจตนา. เป็นเหตุให้มีอายุสั้นโดยนัยกล่าวแล้ว ด้วยบุพเจตนาและอปรเจตนา.
               ในบทว่า ทีฆายุกสํวตฺตนิกา เอสา มาณว ปฏิปทา นี้ กรรมที่งดเว้นจากปาณาติบาตอย่างนี้ ในประวัติ ซึ่งเกิดด้วยกรรมนิดหน่อย มากล่าวอย่างนี้โดยเนื้อความว่า ถ้าเรารู้ก่อน ไม่พึงให้เจ้าเกิดในที่นี้ จะพึงให้เจ้าเกิดในเทวโลกเท่านั้น ช่างเถิด เจ้าจะเกิดในที่ใดก็ตาม เราจักทำการอุ้มชู.
               ทำอย่างไร.
               คือยังอันตรายให้พินาศ ยังโภคะทั้งหลายให้เกิดขึ้น. ในเพราะอุปัตถัมภกกรรมนั้น บิดามารดาย่อมมีความสุขอย่างเดียว ย่อมเบาใจอย่างเดียว จำเดิมแต่กาลที่ทารกเกิดในท้องมารดา. อันตรายจากมนุษย์และอมนุษย์โดยปกติแม้เหล่าใด อันตรายเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปปราศ. ย่อมยังอันตรายให้พินาศอย่างนี้. ประมาณแห่งโภคะทั้งหลายในเรือน ย่อมไม่มีจำเดิมแต่กาลที่ทารกเกิดในท้องมารดา. ขุมทรัพย์ทั้งหลายย่อมมารวมอยู่ในเรือน ทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง. บิดามารดาย่อมไปสู่ความพร้อมหน้ากับทรัพย์ที่บุคคลเหล่านั้นนำมาวางไว้. แม่โคนมทั้งหลายย่อมมีน้ำนมมาก. ฝูงโคย่อมอยู่เป็นสุข. ข้าวกล้าทั้งหลายในที่หว่านย่อมสมบูรณ์. บุคคลทั้งหลายที่ไม่มีใครเตือน ย่อมนำทรัพย์ที่ประกอบด้วยความเจริญ หรือทรัพย์ที่เขาให้ชั่วคราวมาให้เองแล. บริวารชนทั้งหลายมีทาสเป็นต้น ก็จะเป็นผู้ว่าง่าย. การงานทั้งหลายก็ไม่เสื่อมเสีย. ทารกย่อมได้บริหารจำเดิมแต่อยู่ในครรภ์. แพทย์เกี่ยวกับเด็กทั้งหลายก็จะมาชุมนุม. ทารกที่เกิดในตระกูลคหบดีจะได้ตำแหน่งเศรษฐี ที่เกิดในตระกูลทั้งหลายมีตระกูลอำมาตย์เป็นต้น ก็จะได้ตำแหน่งทั้งหลายมีตำแหน่งเสนาบดีเป็นต้น. ย่อมให้โภคะทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้. เขาไม่มีอันตรายมีโภคะย่อมมีชีวิตนาน. กรรมคือการไม่ฆ่าสัตว์ ย่อมเป็นไปเพื่อให้มีอายุยืนอย่างนี้. หรือกุศลแม้อื่นอันบุคคลผู้ไม่ฆ่าสัตว์ทำไว้ ย่อมโอฬาร. ย่อมอาจเพื่อยังปฏิสนธิที่ให้มีอายุยืนเกิดขึ้น. ย่อมเป็นไปเพื่อให้มีอายุยืนแม้อย่างนี้. หรือกำหนดปฏิสนธิเท่านั้น ทำให้มีอายุยืน. หรือย่อมเกิดในเทวโลกด้วยสันนิฏฐานเจตนา. ย่อมให้มีอายุยืนโดยนัยกล่าวแล้วด้วยบุพเจตนา.
               พึงทราบเนื้อความในการแก้ปัญหาทั้งปวงโดยนัยนี้.
               ก็กรรมทั้งหลายแม้มีการเบียดเบียนเป็นต้นมาในปวัตตกาลแล้ว เป็นเหมือนกล่าวอย่างนี้ โดยเนื้อความ ย่อมทำกิจทั้งหลายมีความอาพาธมากเป็นต้น ด้วยเหตุทั้งหลายมีการยังโรคให้เกิดขึ้นเป็นต้น แก่บุคคลผู้ถึงความปราศจากโภคะด้วยการบีบคั้น ไม่ได้การปฏิบัติ หรือด้วยความที่กุศลอันบุคคลผู้เบียดเบียนเป็นต้นทำแล้วเป็นธรรมชาติไม่โอฬาร หรือด้วยการกำหนดปฏิสนธิตั้งแต่เบื้องต้นเทียว หรือด้วยอำนาจแห่งบุพเจตนาและอปรเจตนา โดยนัยกล่าวแล้วนั้นเทียว กรรมทั้งหลายมีการไม่เบียดเบียนเป็นต้น ย่อมทำแม้ซึ่งความเป็นผู้มีอาพาธน้อยทั้งหลาย ดุจการไม่ฆ่าสัตว์ฉะนั้น.
               ก็ในบทเหล่านั้น บทว่า อิสฺสามนโก ได้แก่ มีจิตประกอบด้วยความริษยา.
               บทว่า อุปทุสฺสติ ความว่า ด่าด้วยอำนาจแห่งความริษยานั้นเทียวประทุษร้ายอยู่.
               บทว่า อิสฺสํ พนฺธติ ความว่า ย่อมตั้งริษยาไว้เหมือนผูกกำข้าว เหมือนผูกโดยประการไม่ให้เสื่อมเสีย.
               บทว่า อปฺเปสกฺโข ความว่า มีบริวารน้อย คือไม่ปรากฏเหมือนลูกศรที่ยิงในกลางคืน. มีมือสกปรกนั่งแล้ว ย่อมไม่ได้ซึ่งผู้ให้น้ำ.
               บทว่า น ทาตา โหติ ความว่า เป็นผู้ไม่ให้ด้วยอำนาจแห่งความตระหนี่.
               บทว่า เตน กมฺเมน ได้แก่ กรรมคือความตระหนี่นั้น.
               บทว่า อภิวาเทตพฺพํ คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอริยสาวก ผู้สมควรแก่การอภิวาท.
               ในบททั้งหลายแม้มีผู้ควรลุกขึ้นต้อนรับเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน. ไม่ควรถืออุปปีฬกกรรม และอุปัตถัมภกกรรมในการแก้ปัญหานี้. เพราะไม่อาจเพื่อทำแก่ผู้มีตระกูลต่ำ ผู้มีตระกูลสูงในปวัตตกาล. แต่กรรมของผู้เกิดในตระกูลต่ำ กำหนดปฏิสนธิเทียวให้เกิดในตระกูลต่ำ กรรมที่อำนวยให้เกิดในตระกูลสูงย่อมให้เกิดในตระกูลสูง. ย่อมเกิดในนรกด้วยการไม่ได้ไต่ถามในบทนี้ว่า น ปริปุจฺฉิตา โหติ. ก็ผู้ไม่ไต่ถามย่อมไม่รู้ว่า นี้ควรทำ นี้ไม่ควรทำ. เมื่อไม่รู้ย่อมไม่ทำสิ่งที่ควรทำ ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควร ย่อมเกิดในนรกด้วยกรรมนั้น. บุคคลนอกนี้ ย่อมเกิดในสวรรค์.
               บทว่า อิติ โข มาณว ฯเปฯ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย ความว่า พระศาสดาทรงยังเทศนาให้จบตามอนุสนธิ.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาสุภสูตร ที่ ๘               
               จุลลกัมมวิภังคสูตรก็เรียก               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค จูฬกัมมวิภังคสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 565อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 579อ่านอรรถกถา 14 / 598อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=7623&Z=7798
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4555
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4555
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :