ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ 12 ”             ผลการค้นหาพบ  6  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 6
[122] สันโดษ 3 และ 12 (ความยินดี, ความพอใจ, ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรโดยชอบธรรม, ความยินดีด้วยปัจจัยสี่ตามมีตามได้, ความรู้จักอิ่มรู้จักพอ — contentment; satisfaction with whatever is one’s own)
       1. ยถาลาภสันโดษ (ยินดีตามที่ได้, ยินดีตามที่พึงได้ คือ ตนได้สิ่งใดมา หรือ เพียรหาสิ่งใดมาได้ เมื่อเป็นสิ่งที่ตนพึงได้ ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตแค่ไหน ก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้ ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้หรือเกินไปกว่าที่ตนพึงได้โดยถูกต้อง ชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาของที่คนอื่นได้ ไม่ริษยาเขา — contentment with what one gets and deserves to get)
       2. ยถาพลสันโดษ (ยินดีตามกำลัง คือ ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่ยินดีอยากได้เกินกำลัง ตนมีหรือได้สิ่งใดมาอันไม่ถูกกับกำลังร่างกายหรือสุขภาพ เช่น ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตที่แสลงต่อโรคของตน หรือเกินกำลังการบริโภคใช้สอย ก็ไม่หวงแหนเสียดายเก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน ย่อมสละให้แก่ผู้อื่นที่จะใช้ได้ และรับหรือแลกเอาสิ่งที่ถูกโรคกับตน แต่เพียงที่พอแก่กำลังการบริโภคใช้สอยของตน — contentment with what is within one’s strength or capacity)
       3. ยถาสารุปปสันโดษ (ยินดีตามสมควร คือ ยินดีตามที่เหมาะสมกับตน อันสมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุไม่ปรารถนาสิ่งของอันไม่สมควรแก่สมณภาวะ หรือภิกษุบางรูปได้ปัจจัยสี่ที่มีค่ามาก เห็นว่าเป็นสิ่งสมควรแก่ทานผู้ทรงคุณสมบัติน่านับถือ ก็นำไปมอบให้แก่ท่านผู้นั้น ตนเองใช้แต่สิ่งอันพอประมาณ หรือภิกษุบางรูปกำลังประพฤติวัตรขัดเกลาตน ได้ของประณีตมา ก็สละให้แก่เพื่อนภิกษุรูปอื่นๆ ตนเองเลือกหาของปอนๆ มาใช้หรือตนเองมีโอกาสจะได้ลาภอย่างหนึ่ง แต่รู้ว่าสิ่งนั้นเหมาะสมหรือเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อื่นที่เชี่ยวชาญถนัดสามารถด้านนั้น ก็สละให้ลาภถึงแก่ท่านผู้นั้น ตนรับเอาแต่สิ่งที่เหมาะสมกับตน — contentment with what is befitting)

       สันโดษ 3 นี้ เป็นไปในปัจจัย 4 แต่ละอย่าง จึงรวมเรียกว่า สันโดษ 12
       อนึ่ง สันโดษ 3 นี้ เป็นคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งมุ่งแสดงข้อปฏิบัติของพระภิกษุโดยเฉพาะ ปรากฏในอรรถกถาและฎีกามากมายไม่น้อยกว่า 10 แห่ง คฤหัสถ์พึงพิจารณาประพฤติปฏิบัติตามสมควร.

AA.I.45;
KhA.145;
UdA.229;etc.
ที.อ. 1/253;
ม.อ. 2/188;
องฺ.อ. 1/81;
ขุทฺทก.อ. 159;
อุ.อ. 288; ฯลฯ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 6
อติเรกทสกะ - หมวดเกิน 10
Groups of More Than Ten
[338] กรรม 12 (การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาดีก็ตาม ชั่วก็ตาม, ในที่นี้หมายถึงกรรมประเภทต่างๆ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมเหล่านั้น — karma; kamma; action; volitional action)
       หมวดที่ 1 ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล (classification according to the time of ripening or taking effect)
           1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในปัจจุบันคือในภพนี้ — kamma to be experienced here and now; immediately effective kamma)
           2. อุปปัชชเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิดคือในภพหน้า — kamma to be experienced on rebirth; kamma ripening in the next life)
           3. อปราปริยเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพต่อๆไป — kamma to be experienced in some subsequent becoming; indefinitely effective kamma)
           4. อโหสิกรรม (กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก — lapsed or defunct kamma)

       หมวดที่ 2 ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ (classification according to function)
           5. ชนกกรรม (กรรมแต่งให้เกิด, กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด — productive kamma; reproductive kamma)
           6. อุปัตถัมภกกรรม (กรรมสนับสนุน, กรรมที่เข้าช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม — supportive kamma; consolidating kamma)
           7. อุปปีฬกกรรม (กรรมบีบคั้น, กรรมที่มาให้ผล บีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน obstructive kamma; frustrating kamma)
           8. อุปฆาตกกรรม (กรรมตัดรอน, กรรมที่แรง ฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม และอุปัตถัมภกกรรม เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้น ให้ขาดไปเสียทีเดียว เช่น เกิดในตระกูลสูง มั่งคั่ง แต่อายุสั้น เป็นต้น — destructive kamma; supplanting kamma)

       หมวดที่ 3 ว่าโดยปากทานปริยาย คือ จำแนกตามความยักเยื้องหรือลำดับความแรงในการให้ผล (classification according to the order of ripening)
           9. ครุกกรรม (กรรมหนัก ให้ผลก่อน ได้แก่ สมาบัติ 8 หรือ อนันตริยกรรม — weighty kamma)
           10. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม (กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองจากครุกกรรม — habitual kamma)
           11. อาสันนกรรม (กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย คือกรรมทำเมื่อจวนจะตาย จับใจอยู่ใหม่ๆ ถ้าไม่มี 2 ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนอื่น — death threshold kamma; proximate kamma)
           12. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม (กรรมสักว่าทำ, กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผลแล้วกรรมนี้จึงจะให้ผล — reserve kamma; casual act)

       กรรม 12 หรือ กรรมสี่ 3 หมวดนี้ มิได้มีมาในบาลีในรูปเช่นนี้โดยตรง พระอาจารย์สมัยต่อมา เช่น พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น ได้รวบรวมมาจัดเรียงเป็นแบบไว้ภายหลัง.

Vism.601;
Comp.144.
วิสุทธิ. 3/223;
สงฺคห. 28.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 6
[339] จักรวรรดิวัตร 5, 12 (วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ, พระจริยาที่พระจักรพรรดิพึงทรงบำเพ็ญสม่ำเสมอ, ธรรมเนียมการทางบำเพ็ญพระราชกรณีย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ, หน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ — duties of a universal king or a great ruler)
       1. ธรรมาธิปไตย (ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาปิไตย — supremacy of the law of truth and righteousness; rule of the Dhamma; rule of the true law) (1) และ
       2. ธรรมิการักขา (จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม — provision of the right watch, ward an protection)
       ก. อันโตชน (แก่ชนภายใน ตั้งแต่พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด คือ คนในปกครองส่วนตัว ตั้งแต่บุตรธิดาเป็นต้นไป ด้วยให้การบำรุงเลี้ยงอบรมสั่งสอนเป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุข และมีความเคารพนับถือกัน — for one’s own folk) (2)
       ข. พลกาย (แก่กองทัพ คือ ปวงเสนาข้าทหาร, ข้าราชการฝ่ายทหาร — for the army; the arms-forces; military personnel) (3)
       ค. ขัตติยะ (แก่กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ, เจ้าเมืองขึ้น, ปัจจุบันสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย, ข้าราชการฝ่ายปกครอง — for colonial kings; administrative officers) (4)
       ง. อนุยนต์ (แก่ผู้ตามเสด็จ คือ ราชบริพารทั้งหลาย, ปัจจุบันควรสงเคราะห์ข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้าทั้งหมด — for the royal dependants; civil servants) (5)
       จ. พราหมณคฤหบดี (แก่ชนเจ้าพิธี เจ้าตำรา พ่อค้า เจ้าไร่เจ้านา คือ ครูบาอาจารย์ นักวิชาการ หมอ พ่อค้า ผู้ประกอบอาชีพวิชพต่างๆ และเกษตรกร ด้วยช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์เป็นต้น — for brahmins and householders; the professional, traders and the agricultural) (6)
       ฉ. เนคมชานบท (แก่ชาวนิคมชนบท คือ ราษฎรทั้งปวงทุกท้องถิ่นตลอดถึงชายแดนทั่วไปไม่ทอดทิ้ง — for town and country dwellers; townsmen and villagers; upcountry people) (7)
       ช. สมณพราหมณ์ (แก่พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม — for the religious) (8)
       ญ. มิคปักษี (แก่มฤคและปักษี คือ สัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย — for beasts and birds) (9)

       3. อธรรมการนิเสธนา (ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง — to let no wrongdoing prevail in the kingdom) (10)
       4. ธนานุประทาน (ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น — to let wealth be given or distributed to the poor) (11)
       5. ปริปุจฉา (ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย — to go from time to time to see and seek advice from the men of religious life who maintain high moral standards; to have virtuous counsellors and seek after greater virtue) (12)

       จักรวรรดิวัตรนี้ มาใน จักกวัตติสูตร ตามที่มาที่อ้าง ในพระบาลี คือไตรปิฎก ท่านไม่ระบุจำนวนข้อไว้ แต่นับตามที่ตรัสไว้ เป็นหลักการที่ยึดถือหนึ่งข้อ และหลักปฏิบัติ 4 ข้อ จึงรวมเป็น 5 ข้อ อย่างไรก็ดี ข้อย่อยที่แยกออกไปจากข้อ 2 (ธรรมิกรักขา) แต่ละอย่าง ในชั้นอรรถกถาคงเห็นว่ามีความสำคัญมาก และมีรายละเอียดวิธีปฏิบัติจำเพาะต่างกันออกไป จึงจัดเป็นวัตรแต่ละข้อเท่ากันหมด นับได้ 12 ข้อ ตามตัวเลขในวงเล็บข้างหลัง

       แต่ใน อรรถกถาแห่งพระสูตรนี้เอง (ที.อ. 3/46) ท่านจัดต่างออกไปดังนี้
           1. อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ (สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร)
           2. ขตฺติเยสุ (สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย)
           3. อนุยนฺเตสุ (สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ ผู้ตามเสด็จเป็นราชบริพาร)
           4. พฺราหฺมณคหปติเกสุ (คุ้มครองพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย)
           5. เนคมชานปเทสุ (คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย)
           6. สมณพฺราหฺมเณสุ (คุ้มครองเหล่าสมณพราหมณ์)
           7. มิคปกฺขีสุ (คุ้มครองเนื้อนกที่เอาไว้สืบพันธุ์)
           8. อธมฺมการปฏิกฺเขโป (ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม)
           9. อธนานํ ธนานุปฺปทานํ (ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์)
           10. สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ (เข้าไปหาและสอบถามปัญหากะสมณพราหมณ์)
           11. อธมฺมราคสฺส ปหานํ (เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม)
           12. วิสมโลภสฺส ปหานํ (เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร)

       ที่จำกันมาส่วนมาก ก็ถือตามนัยอรรถกถานี้ อย่างไรก็ดี ตามนัยนี้ ท่านไม่นับข้อธรรมาธิปไตย เข้าในจำนวน 12 ข้อ และเพิ่มข้อ 11, 12 เข้ามาใหม่ ซึ่งไม่มีมาในบาลีเดิม สำหรับข้อ 11,12 นี้ โดยเหตุผลน่าจะมีอยู่แล้วในหลักทศพิธราชธรรม

       ดู [326] ราชธรรม 10 ด้วย

D.III.61. ที.ปา. 11/35/65

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 6
[340] ปฏิจจสมุปบาท มีองค์หรือหัวข้อ 12 (การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน, ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมีขึ้น — the Dependent Origination; conditioned arising)
       1/2. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี
           (Dependent on lgnorance arise Kamma-Formations)
       3. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี
           (Dependent on Kamma-Formations arise Consciousness)
       4. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป จึงมี
           (Dependent on Consciousness arise Mind and Matter)
       5. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี
           (Dependent on Mind and Matter arise the Six Sense-Bases.)
       6. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี
           (Dependent on the Six Sense-Bases arises Contact)
       7. ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงมี
           (Dependent on Contact arise Feeling)
       8. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี
           (Dependent on Feeling arise Craving.)
       9. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี
           (Dependent on Craving arises Clinging.)
       10. อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ จึงมี
           (Dependent on Clinging arises Becoming.)
       11. ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ จึงมี
           (Dependent on Becoming arises Birth.)
       12. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี
           (Dependent on Birth arise Decay and Death.)
       โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
       ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม
           (There also arise sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)
       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ.
       ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้
           (Thus arises this whole mass of suffering.)

       แสดงตามลำดับ จากต้นไปหาปลายอย่างนี้ เรียกว่า อนุโลมเทศนา (teaching in forward order) ถ้าแสดงย้อนกลับจากปลายมาหาต้น ว่า ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ สังขาร มีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา (teaching in backward order)

       องค์ (factors) หรือหัวข้อ 12 นั้น มีความหมายโดยสังเขป ดังนี้
       1. อวิชชา ความไม่รู้ คือไม่รู้ในอริยสัจ 4 หรือตามนัยอภิธรรม ว่า อวิชชา 8 ดู [208] อวิชชา 4; [209] อวิชชา 8
       2. สังขาร (Kamma-formations) สภาพที่ปรุงแต่ง ได้แก่ [120] สังขาร 3 หรือ [129] อภิสังขาร 3
       3. วิญญาณ (consciousness) ความรู้แจ้งอารมณ์ ได้แก่ [268] วิญญาณ 6
       4. นามรูป (mind and matter) นามและรูป ได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ หรือตามนัยอภิธรรมว่า นามขันธ์ 3 + รูป ดู [216] ขันธ์ 5 (ข้อ 2, 3, 4); [38] รูป 2, 28; [39] มหาภูต หรือ ภูตรูป 4; [40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24; [41] รูป 2
       5. สฬายตนะ (six sense-bases) อายตนะ 6 ได้แก่ [276] อายตนะภายใน 6
       6. ผัสสะ (contact) ความกระทบ, ความประจวบ ได้แก่ [272] สัมผัส 6
       7. เวทนา (feeling) ความเสวยอารมณ์ ได้แก่ [113] เวทนา 6
       8. ตัณหา (craving) ความทะยานอยาก ได้แก่ ตัณหา 6 มีรูปตัณหา เป็นต้น (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย และในธัมมารมณ์) ดู [74] ตัณหา 3 ด้วย
       9. อุปาทาน (clinging; attachment) ความยึดมั่น ได้แก่ [214] อุปาทาน 4
       10. ภพ (becoming) ภาวะชีวิต ได้แก่ [98] ภพ 3 อีกนัยหนึ่งว่า ได้แก่ กรรมภพ (ภพคือกรรม — active process of becoming ตรงกับ [129] อภิสังขาร 3) กับ อุปปัตติภพ (ภพคือที่อุบัติ — rebirth-process of becoming ตรงกับ [98] ภพ 3)
       11. ชาติ (birth) ความเกิด ได้แก่ ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะ
       12. ชรามรณะ (decay and death) ความแก่และความตาย ได้แก่ ชรา (ความเสื่อมอายุ, ความหง่อมอินทรีย์) กับมรณะ (ความสลายแห่งขันธ์, ความขาดชีวิตินทรีย์)

       ทั้ง 12 ข้อ เป็นปัจจัยต่อเนื่องกันไป หมุนเวียนเป็นวงจร ไม่มีต้นไม่มีปลาย เรียกว่า ภวจักร (วงล้อหรือวงจรแห่งภพ — wheel of existence) และมีข้อควรทราบเกี่ยวกับภวจักรอีกดังนี้
       ก. อัทธา (periods; times) คือ กาล 3 ได้แก่
           1) อดีต = อวิชชา สังขาร
           2) ปัจจุบัน = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ
           3) อนาคต = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

       ข. สังเขป หรือ สังคหะ 4 (sections; divisions) คือ ช่วง หมวด หรือ กลุ่ม 4 ได้แก่
           1) อดีตเหตุ = อวิชชา สังขาร
           2) ปัจจุบันผล = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           3) ปัจจุบันเหตุ = ตัณหา อุปาทาน ภพ
           4) อนาคตผล = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

       ค. สนธิ 3 (links; connection) คือ ขั้วต่อ ระหว่างสังเขปหรือช่วงทั้ง 4 ได้แก่
           1) ระหว่าง อดีตเหตุ กับ ปัจจุบันผล
           2) ระหว่าง ปัจจุบันผล กับ ปัจจุบันเหตุ
           3) ระหว่าง ปัจจุบันเหตุ กับ อนาคตผล

       ง. วัฏฏะ 3 ดู [105] วัฏฏะ 3
       จ. อาการ 20 (modes; spokes; qualities) คือองค์ประกอบแต่ละอย่าง อันเป็นดุจกำของล้อ จำแนกตามส่วนเหตุ (causes) และส่วนผล (effects) ได้แก่
           1) อดีตเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
           2) ปัจจุบันผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           3) ปัจจุบันเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
           4) อนาคตผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
       อาการ 20 นี้ ก็คือ หัวข้อที่กระจายให้เต็ม ในทุกช่วงของสังเขป 4 นั่นเอง

       ฉ. มูล 2 (roots) คือ กิเลสที่เป็นตัวมูลเหตุ ซึ่งกำหนดเป็นจุดเริ่มต้นในวงจรแต่ละช่วง ได้แก่
           1) อวิชชา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงอดีต ส่งผลถึงเวทนาในช่วงปัจจุบัน
           2) ตัณหา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงปัจจุบัน ส่งผลถึงชรามรณะในช่วงอนาคต

       พึงสังเกตด้วยว่า การกล่าวถึงส่วนประกอบของภวจักรตามข้อ ก. ถึง ฉ. นี้ เป็นคำอธิบายในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น

       การแสดงหลักปฏิจจสมุปบาท ให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรมต่างๆ โดยอาศัยปัจจัยสืบทอดกันไปอย่างนี้ เป็น สมุทยวาร คือฝ่ายสมุทัย ใช้เป็นคำอธิบายอริยสัจข้อที่ 2 (สมุทัยสัจ) คือ แสดงให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงแบบนี้ เรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท — direct Dependent Origination)
       การแสดงในทางตรงข้ามกับข้างต้นนี้ เป็น นิโรธวาร คือฝ่ายนิโรธ ใช้อธิบายอริยสัจข้อที่ 3 (นิโรธสัจ) เรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท (reverse Dependent Origination ซึ่งความจริงก็คือ Dependent Extinction นั่นเอง) แสดงให้เห็นความดับไปแห่งทุกข์ ด้วยอาศัยความดับไปแห่งปัจจัยทั้งหลายสืบทอดกันไป ตัวบทของปฏิจจสมุปบาทแบบปฏิโลมนี้ พึงเทียบจากแบบอนุโลมนั่นเอง เช่น
       1/2. อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ
           (Through the total fading away and cessation of lgnorance, cease Kamma-Formations.)
       3. สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
           (Through the cessation of Kamma-Formations. ceases Consciousness.)
       ฯลฯ
       12. ชาตินิโรธา ชรามรณํ เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ)
           (Through the cessation go Birth, cease Decay and Death.)
       โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
       ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
           (Also cease sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)
       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ.
       ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
           (Thus comes about the cessation of this whole mass of suffering.)

       นี้เป็นอนุโลมเทศนาของปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท ส่วนปฏิโลมเทศนา ก็พึงแสดงย้อนว่า ชรามรณะ เป็นต้น ดับ เพราะชาติดับ ชาติดับเพราะภพดับ ฯลฯ สังขารดับเพราะอวิชชาดับ อย่างเดียวกับในอนุโลมปฏิจจสมุปบาท
       ปฏิจจสมุปบาทนี้ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก ที่สำคัญคือ อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย — specific conditionality) ธรรมนิยาม (ความเป็นไปอันแน่นอนแห่งธรรมดา, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; natural law) และ ปัจจยาการ (อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน — mode of conditionality; structure of conditions) เฉพาะชื่อหลังนี้เป็นคำที่นิยมใช้ในคัมภีร์อภิธรรม และคัมภีร์รุ่นอรรถกถา.

Vin.I.1;
S.II.1;
Vbh.135;
Vism.517;
Comp.188.
วินย. 4/1/1;
สํ.นิ. 16/1/1;
อภิ.วิ. 35/274/185;
วิสุทธิ. 3/107;
สงฺคห. 45.

[***] ปัจจยาการ 12 ดู [340] ปฏิจจสมุปบาท
[***] สันโดษ 12 ดู [122] สันโดษ 3, 12

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 6
[341] อายตนะ 12 (สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้, แดนต่อหรือแดนเกิดแห่งความรู้ — sense-fields; sense-spheres)
       1. อายตนะภายใน 6 ดู [276] อายตนะภายใน 6.
       2. อายตนะภายนอก 6 ดู [277] อายตนะภายนอก 6.

Vbh.70. อภิ.วิ. 35/99/85

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 6
[356] จิต 89 หรือ 121 (ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ, วิญญาณ — mind; thought; consciousness; a state of consciousness)
       “จิต” มีไวพจน์ คือ คำที่ต่างเพียงรูป แต่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกัน ใช้แทนกันได้หลายคำ เช่น มโน มานัส หทัย บัณฑร มนายตนะ มนินทรีย์ และ วิญญาณ เป็นต้น (อภิ.สํ. 34/21/10; ฯลฯ) คำเหล่านี้มีความหมายเกยกัน มิใช่ตรงกันโดยสมบูรณ์ ใช้แทนกันได้ในบางโอกาส มิใช่เสมอไป
       เมื่อจัดแบ่งสภาวธรรมทั้งหลายเป็นประเภทๆ ที่เรียกว่า ขันธ์ 5 จิตได้แก่ วิญญาณขันธ์ แต่ในคัมภีร์อภิธรรมยุคต่อมา นิยมประมวลสภาวธรรมเข้าเป็น 4 อย่าง เรียกว่า ปรมัตถธรรม 4 จิต เป็นปรมัตถธรรมอย่างที่ 1; ดู [157] ปรมัตถธรรม 4; [216] ขันธ์ 5.
       คัมภีร์อภิธรรมรุ่นอรรถกถา ประมวลเรื่องจิตที่แสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎกแล้ว แจงนับสภาพจิตทั้งหลายไว้ว่ามีจำนวน 89 หรือโดยพิสดารมี 121 เรียกว่า จิต 89 หรือ 121
       เบื้องต้นนี้ จะประมวลจิตทั้งหมดไว้เป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆ ก่อน เพื่อสะดวกในการศึกษากำหนดจดจำและทบทวนต่อไป ในที่นี้ พึงทราบวิธีจำแนกประเภท 2 แบบ เปรียบเทียบกัน ดังนี้ *
----------------------------------------------
* ท่านเรียบเรียงเป็นคาถาสรุปความไว้ ดังนี้
               ทฺวาทสากุสลาเนว กุสลาเนกวีสติ
               ฉตฺตึเสว วิปากานิ กฺริยาจิตฺตานิ วีสติ ฯ
               จตุปญฺญาสธา กาเม รูเป ปณฺณรสีริเย
               จิตฺตานิ ทฺวาทสารูเป อฏฺฐธานุตฺตเร ตถา ฯ
               อิตฺถเมกูนนวุติปฺ ปเภทํ ปน มานสํ
               เอกวีสสตํ วาถ วิภชนฺติ วิจกฺขณา ฯ

       ก. โดยชาติประเภท
           1. อกุศลจิต 12
               - โลภมูลจิต 8
               - โทสมูลจิต 2
               - โมหมูลจิต 2
           2. กุศลจิต 21 (37)
               - มหากุศลจิต 8
               - รูปาวจรกุศลจิต 5
               - อรูปาวจรกุศลจิต 4
               - โลกุตตรกุศลจิต 4 (20)
           3. วิปากจิต 36 (52)
               - อกุศลวิบากจิต 7
               - กุศลวิบากอเหตุกจิต 8
               - มหาวิบากจิต 8
               - รูปาวจรวิบากจิต 5
               - อรูปาวจรวิบากจิต 4
               - โลกุตตรวิบากจิต 4 (20)
           4. กิริยาจิต 20
               - อเหตุกกิริยาจิต 3
               - มหากิริยาจิต 8
               - รูปาวจรกิริยาจิต 5
               - อรูปาวจรกิริยาจิต 4

       ข. โดยภูมิประเภท
           1. กามาวจรจิต 54
               1) อกุศลจิต 12
                      - โลภมูลจิต 8
                      - โทสมูลจิต 2
                      - โมหมูลจิต 2
               2) อเหตุกจิต 18
                      - อกุศลวิบากจิต 7
                      - กุศลวิบากอเหตุกจิต 8
                      - อเหตุกกิริยาจิต 3
               3) กามาวจรโสภณจิต 24
                      - มหากุศลจิต 8
                      - มหาวิบากจิต 8
                      - มหากิริยาจิต 8
           2. รูปาวจรจิต 15
               1) รูปาวจรกุศลจิต 5
               2) รูปาวจรวิบากจิต 5
               3) รูปาวจรกิริยาจิต 5
           3. อรูปาวจรจิต 12
               1) อรูปาวจรกุศลจิต 4
               2) อรูปาวจรวิบากจิต 4
               3) อรูปาวจรกิริยาจิต 4
           4. โลกุตตรจิต 8 (x ฌาน 5 = 40)
               1) โลกุตตรกุศลจิต 4 (20)
               2) โลกุตตรวิบากจิต 4 (20)

       หมายเหตุ : ตัวเลขในวงเล็บ ( ) หมายถึงจำนวนอย่างพิสดาร เมื่อนับจิตเป็น 121 (พึงสังเกตว่าจำนวนจะเพิ่มเฉพาะ โลกุตตรจิต อย่างเดียว คือ โลกุตตรจิต อย่างย่อมี 8 อย่างพิสดารจำแนกออกไปตามฌานทั้ง 5 เป็น 40)

       ต่อไปจะแสดง จิต 89 [122] ตามแบบภูมิประเภท (แบบชาติประเภทพึงกำหนดเอาจากแบบภูมิประเภทนี้ ตามหัวข้อที่แสดงไว้แล้ว)
       1. กามาวจรจิต 54 (จิตที่เป็นไปในกามภูมิ — consciousness of the Sense-Sphere)
           1) อกุศลจิต 12 (จิตอันเป็นอกุศล — immoral consciousness) อกุศลจิตมีแต่ที่เป็นกามาวจรนี้เท่านั้น คือ
               โลภมูลจิต 8 (จิตมีโลภะเป็นมูล — consc rooted in greed)
                      1. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
                      2. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
                      3. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
                      4. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
                      5. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
                      6. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
                      7. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
                      8. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

                      1. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีการชักนำ
                      2. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ มีการชักนำ
                      3. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีการชักนำ
                      4. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ มีการชักนำ
                      5. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีการชักนำ
                      6. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ มีการชักนำ
                      7. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีการชักนำ
                      8. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ มีการชักนำ

                      1. One consc, acc by joy, asso with wrong view, unprompted.*
* consc = consciousness; acc = accompanied; asso = associated; diss = dissociated; indif = indiffernce.

                      2. One consc, acc by joy, asso with wrong view, prompted.
                      3. One consc, acc by joy, disso from wrong view, unprompted.
                      4. One consc, acc by joy, disso from wrong view, prompted.
                      5. One consc, acc by indif, asso with wrong view, unprompted.
                      6. One consc, acc by indif, asso with wrong view, prompted.
                      7. One consc, acc by indif, disso from wrong view, unprompted.
                      8. One consc, acc by indif, disso from wrong view, prompted.

               โทสมูลจิต 2 (จิตมีโทสะเป็นมูล — consc rooted in hatred)
เรียก ปฏิฆสัมปยุตตจิต ก็ได้.

                      1. โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
                      2. โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

                      1. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโทมนัสสเวทนา ประกอบด้วยปฏิฆะ ไม่มีการชักนำ
                      2. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโทมนัสสเวทนา ประกอบด้วยปฏิฆะ มีการชักนำ

                      1. One consc, acc by grief, asso with resentment, unprompted.
                      2. One consc, acc by grief, asso with resentment, prompted.

               โมหมูลจิต หรือ โมมูหจิต 2 (จิตมีโมหะเป็นมูล — consc rooted in delusion)
                      1. อุเปกฺขาสหคตํ วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ
                      2. อุเปกฺขาสหคตํ อุทฺธจฺจสมฺปยุตฺตํ

                      1. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยวิจิกิจฉา
                      2. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยอุทธัจจะ

                      1. One consc, acc by indif, asso with uncertainty.
                      2. One consc, acc by indif, asso with restlessness.

           2) อเหตุกจิต 18 (จิตอันไม่มีสัมปยุตตเหตุ คือ ไม่ประกอบด้วยเหตุ 6 ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ — rootless consc)
                อกุศลวิบากจิต 7 (จิตที่เป็นผลของอกุศล — rootless resultant-of-immorality consc)
                      1. อุเปกฺขาสหคตํ จกฺขุวิญฺญาณํ
                      2. อุเปกฺขาสหคตํ โสตวิญฺญาณํ
                      3. อุเปกฺขาสหคตํ ฆานวิญฺญาณํ
                      4. อุเปกฺขาสหคตํ ชิวฺหาวิญฺญาณํ
                      5. ทุกฺขสหคตํ กายวิญฺญาณํ
                      6. อุเปกฺขาสหคตํ สมฺปฏิจฺฉนฺนํ
                      7. อุเปกฺขาสหคตํ สนฺตีรณํ

                      1. จักขุวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
                      2. โสตวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
                      3. ฆานวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
                      4. ชิวหาวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
                      5. กายวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยทุกขเวทนา
                      6. สัมปฏิจฉันนจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
                      7. สันตีรณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

                      1. Eye-consc, acc by indif.
                      2. Ear-consc, acc by indif.
                      3. Nose-consc, acc by indif.
                      4. Tongue-consc, acc by indif.
                      5. Body-consc, acc by pain.
                      6. Receiving-consc, acc by indif.
                      7. Investigating-consc, acc by indif.

               กุศลวิบากอเหตุกจิต 8 (จิตที่เป็นผลของกุศล ไม่มีสัมปยุตตเหตุ — rootless resultant-of-morality consc)
                      1. อุเปกฺขาสหคตํ จกฺขุวิญฺญาณํ
                      2. อุเปกฺขาสหคตํ โสตวิญฺญาณํ
                      3. อุเปกฺขาสหคตํ ฆานวิญฺญาณํ
                      4. อุเปกฺขาสหคตํ ชิวฺหาวิญฺญาณํ
                      5. สุขสหคตํ กายวิญฺญาณํ
                      6. อุเปกฺขาสหคตํ สมฺปฏิจฺฉนฺนํ
                      7. โสมนสฺสสหคตํ สนฺตีรณํ
                      8. อุเปกฺขาสหคตํ สนฺตีรณํ

                      1. จักขุวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
                      2. โสตวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
                      3. ฆานวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
                      4. ชิวหาวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
                      5. กายวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยสุขเวทนา
                      6. สัมปฏิจฉันนจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
                      7. สันตีรณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา
                      8. สันตีรณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

                      1. Eye-consc, acc by indif.
                      2. Ear-consc, acc by indif.
                      3. Nose-consc, acc by indif.
                      4. Tongue-consc, acc by indif.
                      5. Body-consc, acc by pleasure.
                      6. Receiving-consc, acc by indif.
                      7. Investigating-consc acc by joy.
                      8. Investigating-consc, acc by indif.

               อเหตุกกริยาจิต 3 (จิตที่เป็นเพียงกิริยา ไม่มีสัมปยุตตเหตุ — rootless functional consc)
                      1. อุเปกฺขาสหคตํ ปญฺจทฺวาราวชฺชนํ
                      2. อุเปกฺขาสหคตํ มโนทฺวาราวชฺชนํ
                      3. โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปฺปาทจิตฺตํ

                      1. ปัญจทวาราวัชชนจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
                      2. มโนทวาราวัชชนจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
                      3. หสิตุปปาทจิต ที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา
----------------------------------------------
จิตที่รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทวารทั้ง 5
จิตที่รำพึงถึงอารมณ์อันมาถึงคลองในมโนทวาร = โวฏฐัพพนะ
จิตที่ทำให้เกิดการแย้มยิ้มของพระอรหันต์

                      1. Five-sense-door adverting consc, acc by indif.
                      2. Mind-door adverting consc, acc by indif.
                      3. Smile-producing consc, acc by joy.

           3) กามาวจรโสภณจิต 24 (จิตดีงามที่เป็นไปในกามภูมิ — Sense-Sphere beautiful consc)
               มหากุศลจิต หรือ สเหตุกกามาวจรกุศลจิต 8 (จิตที่เป็นกุศลยิ่งใหญ่ หรือ กุศลจิตที่เป็นไปในกามภูมิ มีสัมปยุตตเหตุ — moral consc)
                      1. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
                      2. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
                      3. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
                      4. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
                      5. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
                      6. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
                      7. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
                      8. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

                      1. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีการชักนำ
                      2. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา มีการชักนำ
                      3. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีการชักนำ
                      4. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีการชักนำ
                      5. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีการชักนำ
                      6. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยปัญญา มีการชักนำ
                      7. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีการชักนำ
                      8. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีการชักนำ

                      1. One consc, acc by joy, asso with knowledge, unprompted.
                      2. One consc, acc by joy, asso with knowledge, prompted.
                      3. One consc, acc by joy, diss from knowledge, unprompted.
                      4. One consc, acc by joy, diss from knowledge, prompted.
                      5. One consc, acc by indif, asso with knowledge, unprompted.
                      6. One consc, acc by indif, asso with knowledge, prompted.
                      7. One consc, acc by indif, diss from knowledge, unprompted.
                      8. One consc, acc by indif, diss from knowledge, prompted.

               มหาวิบากจิต หรือ สเหตุกกามาวจรวิบากจิต 8 (จิตอันเป็นผลของมหากุศล หรือวิบากจิตที่เป็นไปในกามภูมิ มีสัมปยุตตเหตุ — resultant consc)
                      (เหมือนกับมหากุศลจิตทุกข้อ)

               มหากิริยาจิต หรือ สเหตุกกามาวจรกริยาจิต 8 (จิตอันเป็นกริยาอย่างที่ทำมหากุศล แต่ไม่มีวิบาก ได้แก่การกระทำมหากุศลของพระอรหันต์ หรือกิริยาจิตในกามภูมิ มีสัมปยุตตเหตุ — functional consc)
                      (เหมือนกับมหากุศลจิตทุกข้อ)

       2. รูปาวจรจิต 5 (จิตอันเป็นไปในภูมิ — Form-Sphere consciousness)
           1) รูปาวจรกุศลจิต 5 (กุศลจิตที่เป็นไปในภูมิ ได้แก่จิตของผู้เข้าถึงรูปฌาน — Form-Sphere moral consc)
               1. วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานกุสลจิตฺตํ
               2. วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานกุสลจิตฺตํ
               3. ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานกุสลจิตฺตํ
               4. สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตฺถชฺฌานกุสลจิตฺตํ
               5. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ ปญฺจมชฺฌานกุสลจิตฺตํ

               1. ปฐมฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
               2. ทุติยฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
               3. ตติยฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย ปีติ สุข เอกัคคตา
               4. จตุตถฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย สุข เอกัคคตา
               5. ปัญจมฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย อุเบกขา เอกัคคตา

               1. First Jhana consc with initial application, sustained application, rapture, happiness and one-pointedness.
               2. Second Jhana consc with sustained application, rapture, happiness and one-pointedness.
               3. Third Jhana consc with rapture, happiness and one-pointedness.
               4. Fourth Jhana consc with happiness and one-pointedness.
               5. Fifth Jhana consc with equanimity and one-pointedness.

           2) รูปาวจรวิบากจิต 5 (วิบากจิตที่เป็นไปในรูปภูมิ คือ จิตที่เป็นผลของรูปาวจรกุศล — Form-Sphere resultant consc)
               (เหมือนกับรูปาวจรกุศลจิตทุกข้อ เปลี่ยนแต่คำท้ายเป็น วิปากจิตฺตํ)

           3) รูปาวจรกิริยาจิต 5 (กิริยาจิตที่เป็นไปในรูปภูมิ คือ จิตของพระอรหันต์ผู้กระทำรูปาวจรกุศล — Form-Sphere resultant consc)
               (เหมือนกับรูปาวจรกุศลจิตทุกข้อ เปลี่ยนแต่คำท้ายเป็น กฺริยาจิตฺตํ)

       3. อรูปาวจรจิต 12 (จิตที่เป็นไปในอรูปภูมิ — Formless-Sphere consc)
           1) อรูปาวจรกุศลจิต 4 (กุศลจิตที่เป็นไปในอรูปภูมิ ได้แก่ จิตของผู้เข้าถึงอรูปฌาน — Formless-Sphere moral consc)
               1. อากาสานญฺจายตนกุสลจิตฺตํ
               2. วิญฺญาณญฺจายตนกุสลจิตฺตํ
               3. อากิญฺจญฺญายตนกุสลจิตฺตํ
               4. เนวสญฺญานาสญฺญายตนกุสลจิตฺตํ

               1. กุศลจิตประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌาน
               2. กุศลจิตประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌาน
               3. กุศลจิตประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌาน
               4. กุศลจิตประกอบด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

               1. Moral Jhana consc dwelling on the infinity of space.
               2. Moral Jhana consc dwelling on the infinity of consciousness.
               3. Moral Jhana consc dwelling on nothingness.
               4. Moral Jhana consc wherein perception neither is nor is not.

           2) อรูปาวจรวิบากจิต (วิบากจิตที่เป็นไปในอรูปภูมิ คือ จิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศล — Formless-Sphere resultant consc)
               (เหมือนกับอรูปาวจรกุศลจิตทุกข้อ เปลี่ยนแต่คำท้ายเป็น วิปากจิตฺตํ)

           3) อรูปาวจรกิริยาจิต (กิริยาจิตที่เป็นไปในอรูปภูมิ คือ จิตของพระอรหันต์ ผู้กระทำอรูปาวจรกุศล — Formless-Sphere functional consc)
               (เหมือนกับอรูปาวจรกุศลจิตทุกข้อ เปลี่ยนแต่คำท้ายเป็น กฺริยาจิตฺตํ)

       4. โลกุตตรจิต 8 หรือ 40 (จิตที่เป็นโลกุตตระ — supermundane consc)
           1) โลกุตตรกุศลจิต 4 หรือ 20 (กุศลจิตที่เป็นโลกุตตระ คือ กุศลจิตที่ทำให้ข้ามพ้นอยู่เหนือโลก — moral supermundane consc)
               1. โสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ
               2. สกทาคามิมคฺคจิตฺตํ
               3. อนาคามิมคฺคจิตฺตํ
               4. อรหตฺตมคฺคจิตฺตํ

               1. จิตที่ประกอบด้วยโสตาปัตติมัคคญาณ คือ กุศลจิตที่เป็นทางให้ถึงกระแสอันไหลไปสู่นิพพานธาตุ
               2. จิตที่ประกอบด้วยสกทาคามิมัคคญาณ คือ กุศลจิตที่เป็นทางให้ถึงความเป็นพระสกทาคามี
               3. จิตที่ประกอบด้วยอนาคามิมัคคญาณ คือ กุศลจิตที่เป็นทางให้ถึงความเป็นพระอนาคามี
               4. จิตที่ประกอบด้วยอรหัตตมัคคญาณ คือ กุศลจิตที่เป็นทางให้ถึงความเป็นพระอรหันต์

               1. Consc belonging to the Path of Stream-Entry.
               2. Consc belonging to the Path of Once-Returning.
               3. Consc belonging to the Path of Non-Returning.
               4. Consc belonging to the Path of Arahantship.

           อย่างพิสดาร ให้แจกมัคคจิต 4 นี้ ด้วยฌาน 5 ตามลำดับ ก็จะได้จำนวน 20 ตามตัวอย่างดังนี้
               วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานโสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ ฯลฯ

           2) โลกุตตรวิบากจิต 4 หรือ 20 (วิบากจิตที่เป็นโลกุตตระ คือ จิตที่เป็นผลของโลกุตตรกุศล — resultant supermundane consc)
               1. โสตาปตฺติผลจิตฺตํ
               2. สกทาคามิผลจิตฺตํ
               3. อนาคามิผลจิตฺตํ
               4. อรหตฺตผลจิตฺตํ

               1. จิตที่ประกอบด้วยโสตาปัตติผลญาณ
               2. จิตที่ประกอบด้วยสกทาคามิผลญาณ
               3. จิตที่ประกอบด้วยอนาคามิผลญาณ
               4. จิตที่ประกอบด้วยอรหัตตผลญาณ

               1. Consc belonging to the Fruition of Stream-Entry.
               2. Consc belonging to the Fruition of Once-Returning.
               3. Consc belonging to the Fruition of Non-Returning.
               4. Consc belonging to the Fruition of Arahantship.

           อย่างพิสดาร ให้แจกผลจิต 4 นี้ ด้วยฌาน 5 ตามลำดับ ก็จะได้จำนวน 20 ตามตัวอย่างดังนี้
               วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานโสตาปตฺติผลจิตฺตํ ฯลฯ

Comp.81-93. สงฺคห. 1-6.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=_12
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=_12


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]