ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 1อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 9 / 141อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
สามัญญผลสูตร

หน้าต่างที่ ๖ / ๗.

               สนฺโตสกถาวณฺณนา               
               บทว่า สนฺตุฎฺโฐ ในข้อความว่า อิธ มหาราช ภิกฺขุ สนฺตุฎฺโฐ โหติ นี้ ความว่า เป็นผู้ประกอบด้วยความยินดีปัจจัยตามมีตามได้.
               ก็สันโดษนี้นั้น มี ๑๒ อย่าง.
               อะไรบ้าง?
               สันโดษในจีวร ๓ อย่าง คือ ยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ ยถาสารุปปสันโดษ.
               ในบิณฑบาตเป็นต้น ก็อย่างนี้.
               สันโดษ ๑๒ ประเภทนั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้
               ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้จีวรดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม เธอใช้สอยจีวรนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาจีวรอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้เป็นยถาลาภสันโดษในจีวรของเธอ.
               ต่อมาภายหลัง เธอมีกำลังน้อยตามธรรมดาก็ดี ถูกความป่วยไข้ครอบงำก็ดี ถูกชราครอบงำก็ดี เมื่อห่มจีวรหนักย่อมลำบาก เธอเปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุผู้ชอบพอกัน แม้ใช้สอยจีวรเบาอยู่ ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาพลสันโดษในจีวรของเธอ.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้ปัจจัยอย่างประณีต ครั้นเธอได้บาตรและจีวรเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นบาตรจีวรมีค่ามากหรือมีจำนวนมาก เธอถวายด้วยคิดว่า นี้สมควรแก่พระเถระทั้งหลายผู้บวชนาน นี้สมควรแก่ภิกษุพหูสูต นี้สมควรแก่ภิกษุไข้ นี้จงมีแก่ภิกษุผู้มีลาภน้อย ดังนี้ หรือรับเอาจีวรเก่าของภิกษุเหล่านั้น หรือเลือกเก็บผ้าที่ไม่มีชายจากกองหยากเยื่อเป็นต้น แม้เอาผ้าเหล่านี้มาทำเป็นสังฆาฏิครอง ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาสารุปปสันโดษในจีวรของเธอ.
               อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้บิณฑบาตเศร้าหมองหรือประณีต เธอใช้สอยบิณฑบาตนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาบิณฑบาตอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้เป็นยถาลาภสันโดษในบิณฑบาตของเธอ.
               ก็ภิกษุใดได้บิณฑบาตที่ไม่ถูกกับร่างกายปกติ หรือไม่ถูกกับโรคของตน ซึ่งเธอบริโภคแล้วจะไม่สบาย เธอให้บิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน แม้ฉันโภชนะที่สบายแต่มือของภิกษุนั้นทำสมณธรรมอยู่ ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาพลสันโดษในบิณฑบาตของเธอ.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้บิณฑบาตประณีตจำนวนมาก เธอถวายบิณฑบาตนั้นแก่พระเถระผู้บวชนาน แก่ผู้พหูสูต แก่ผู้มีลาภน้อย แก่ภิกษุไข้ เหมือนจีวรนั้น แม้รับเศษอาหารของภิกษุนั้นๆ หรือเที่ยวบิณฑบาตแล้วฉันอาหารที่ปนกัน ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาสารุปสันโดษในบิณฑบาตของเธอ.
               อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้เสนาสนะที่พอใจหรือไม่พอใจ ไม่ดีใจไม่เสียใจเพราะเสนาสนะนั้น ยินดีตามที่ได้เท่านั้น โดยที่สุดแม้เป็นเครื่องปูลาดถักด้วยหญ้า นี้เป็นยถาลาภสันโดษในเสนาสนะของเธอ.
               ก็ภิกษุใดได้เสนาสนะที่ไม่ถูกกับร่างกายปกติ หรือไม่ถูกกับโรคของตน ซึ่งเมื่อเธออยู่จะไม่สบาย เธอให้เสนาสนะนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน แม้อยู่ในเสนาสนะที่สบายซึ่งเป็นของภิกษุนั้น ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาพลสันโดษในเสนาสนะของเธอ.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีบุญมาก ได้เสนาสนะที่ประณีตจำนวนมากมีถ้ำ มณฑป เรือนยอดเป็นต้น เธอให้เสนาสนะเหล่านั้นแก่พระเถระผู้บวชนาน ผู้พหูสูต ผู้มีลาภน้อย และเป็นไข้ เหมือนจีวร แม้อยู่ในเสนาสนะแห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาสารุปสันโดษในเสนาสนะของเธอ.
               ก็ภิกษุใดพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ชื่อว่าเสนาสนะชั้นดีเยี่ยมเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นั่งในเสนาสนะนั้นย่อมง่วงเหงาซบเซาหลับไป เมื่อตื่นขึ้นอีกก็ครุ่นคิดแต่เรื่องกาม แล้วไม่รับเสนาสนะเช่นนั้นแม้ถึงแล้ว เธอห้ามเสนาสนะนั้น แม้อยู่ในที่แจ้งหรือโคนไม้เป็นต้น ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั้นเอง แม้นี้ก้เป็นยถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะ.
               อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เภสัชเศร้าหมองหรือประณีต เธอยินดีตามที่ได้นั้นๆ เท่านั้น ไม่ปรารถนาเภสัชอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้เป็นยถาลาภสันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ.
               ก็ภิกษุใดต้องการน้ำมัน ได้น้ำอ้อย เธอให้น้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน แล้วถือเอาน้ำมันแต่มือของภิกษุนั้น หรือแสวงหาของอื่นนั่นเทียว แม้เมื่อได้เภสัช ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาพลสันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีบุญมาก ได้เภสัชที่ประณีต มีน้ำมัน น้ำอ้อยเป็นต้นจำนวนมาก เธอให้เภสัชนั้นแก่พระเถระผู้บวชนาน ผู้พหูสูต ผู้มีลาภน้อยและผู้เป็นไข้ เหมือนจีวร แล้วเยียวยาอัตตภาพด้วยเภสัชอย่างใดอย่างหนึ่งที่ภิกษุเหล่านั้นนำมา ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง.
               อนึ่ง ภิกษุใดวางสมอแช่เยี่ยวโคไว้ในภาชนะใบหนึ่ง มีคนมาบอกกล่าวถึงของอร่อย ๔ อย่างในภาชนะหนึ่งว่า ถือเอาเถิดท่านเจ้าข้า ถ้าต้องการ ดังนี้ เธอคิดว่า ถ้าโรคของเธอจะหายแม้ด้วยของอร่อยอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างนั้น ถึงอย่างนั้น ชื่อว่าสมอแช่เยี่ยวโค พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญแล้ว ดังนี้ ห้ามของอร่อย ๔ อย่าง ทำเภสัชด้วยสมอแช่เยี่ยวโคเท่านั้น ย่อมเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่งแท้ นี้เป็นยถาสารุปปสันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ.
               ก็บริขาร ๘ คือ ไตรจีวร บาตร มีดตัดไม้ชำระฟัน เข็ม ประคดเอว และผ้ากรองน้ำ ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยความยินดีปัจจัยตามมีตามได้ ๑๒ อย่างนี้.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         ไตรจีวร บาตร มีด เข็ม ประคดเอว
                         รวมทั้งผ้ากรองน้ำ เป็น ๘ เหล่านี้
                         เป็นบริขารของภิกษุผู้ประกอบความเพียร.

               บริขารทั้งหมดเหล่านั้น เป็นเครื่องบริหารกายก็ได้ เป็นเครื่องบริหารท้องก็ได้.
               บริหารอย่างไร?
               จะพูดถึงจีวรก่อน ภิกษุบริหารเลี้ยงดูกายในเวลานุ่งห่มจีวรเที่ยวไป ดังนั้นจีวรจึงชื่อว่าเป็นเครื่องบริหารกาย ภิกษุบริหารเลี้ยงดูท้องในเวลาเอาชายจีวรกรองน้ำแล้วดื่ม และในเวลาเอาจีวรห่อของคบเคี้ยวและผลไม้น้อยใหญ่ ดังนั้น จีวรจึงชื่อว่าเป็นเครื่องบริหารท้อง.
               แม้บาตร ย่อมเป็นเครื่องบริหารกายในเวลาเอาบาตรนั้นตักน้ำอาบ และในเวลาทำประพรมกุฎี ย่อมเป็นเครื่องบริหารท้องในเวลารับอาหารบริโภค.
               แม้มีด ย่อมเป็นเครื่องบริหารกายในเวลาตัดไม้ชำระฟันด้วยมีดนั้น และในเวลาตกแต่งเท้าเตียงและคัดกลด ย่อมเป็นเครื่องบริหารท้องในเวลาตัดอ้อยและปอกมะพร้าวเป็นต้น.
               แม้เข็ม ย่อมเป็นเครื่องบริหารกายในเวลาเย็บจีวร ย่อมเป็นเครื่องบริหารท้องในเวลาจิ้มขนมหรือผลไม้กิน.
               ประคดเอว ย่อมเป็นเครื่องบริหารกายในเวลาพันกายเที่ยวไป เป็นเครื่องบริหารท้องในเวลามัดอ้อยเป็นต้นถือเอา.
               ผ้ากรองน้ำ เป็นเครื่องบริหารกายในเวลาใช้ผ้ากรองน้ำนั้นกรองน้ำอาบ และในเวลาทำการประพรมเสนาสนะ เป็นเครื่องบริหารท้องในเวลากรองน้ำดื่ม และในเวลาใช้ผ้ากรองน้ำนั้นแหละใส่งา ข้าวสารและอาหารแข้นเป็นต้นฉัน.
               พึงทราบความที่บริขาร ๘ เป็นบริขารเท่านี้ก่อน.
               ก็เครื่องปูลาดซึ่งปูไว้ในที่นั้น หรือกุญแจ ย่อมควรแก่ภิกษุผู้มีบริขาร ๙ อย่าง เข้าไปสู่ที่นอน.
               ผ้าปูนั่งหรือท่อนหนัง ย่อมควรแก่ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๐ อย่าง.
               ไม้เท้าหรือหลอดน้ำมัน ย่อมควรแก่ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๑ อย่าง.
               ร่มหรือรองเท้า ย่อมควรแก่ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๒ อย่าง.
               ก็บรรดาภิกษุเหล่านี้ ภิกษุผู้มีบริขาร ๘ เท่านั้น ชื่อว่าผู้สันโดษ นอกนี้ชื่อว่าไม่สันโดษ แต่ไม่ควรเรียกว่า มักมาก เลี้ยงยาก.
               จริงอยู่ ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้มักน้อยเทียว เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นผู้มีความประพฤติเบาพร้อมเทียว แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสพระสูตรนี้สำหรับภิกษุเหล่านั้น ตรัสสำหรับภิกษุผู้มีบริขาร ๘.
               ด้วยว่า ภิกษุผู้มีบริขาร ๘ นั้น เอามีดเล็กและเข็มใส่ในผ้ากรองน้ำ แล้ววางไว้ภายในบาตร คล้องบาตรที่จะงอยบ่า พันกายที่ไตรจีวร หลีกไปสบายตามปรารถนา. ไม่มีสิ่งของที่ชื่อว่าเธอจะต้องกลับมาถือเอา.
               เมื่อจะทรงแสดงความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีความประพฤติเบาพร้อมด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ภิกษุนี้เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเครื่องบริหารกายเป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กายปริหาริเกน ได้แก่ เป็นเพียงเครื่องบริหารกาย.
               บทว่า กุจฺฉิปริหาริเกน ได้แก่ เป็นเพียงเครื่องบริหารท้อง.
               บทว่า สมาทาเยว ปกฺกมติ ความว่า ถือเอาเพียงบริขาร ๙ นั้นทั้งหมดเท่านั้น ทำให้ติดตัวไป. ไม่มีความห่วยใยหรือผูกพันว่า วิหาร บริเวณ อุปัฏฐากของเรา. เธอเหมือนลูกศรที่หลุดจากแล่ง และเหมือนช้างซับมันหลีกออกจากโขลง บริโภคเสนาสนะตามที่ปรารถนา เป็นราวป่า โคนไม้ เงื้อมเขาในป่า รูปเดียวเท่านั้นยืน รูปเดียวเท่านั้นนั่ง รูปเดียวไม่มีเพื่อนในอิริยาบถทั้งปวง ย่อมถึงความเป็นผู้เหมือนนอแรดที่ท่านพรรณนาไว้อย่างนี้ว่า
                         ภิกษุยินดีอยู่ด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ย่อมไปได้ ๔ ทิศ
                         ไม่ติดขัด อดกลั้นต่ออันตรายทั้งหลาย ไม่หวาดหวั่น
                         คนเดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรด
ดังนี้.๑-
____________________________
๑- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๙๖

               บัดนี้ เมื่อจะยังเนื้อความนั้นให้สำเร็จด้วยอุปมา จึงตรัสว่า เสยฺยถาปิ เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปกฺขี สกุโณ ได้แก่ นกมีปีก.
               บทว่า เฑติ ได้แก่ บินไป.
               ก็ความย่อในเรื่องนี้ดังนี้.
               ธรรมดานกทั้งหลายรู้ว่า ที่ประเทศโน้น ต้นไม้มีผลสุกแล้ว มาจากทิศต่างๆ เจาะจิกกินผลของต้นไม้นั้นด้วยกลีบเล็บและจะงอยปากเป็นต้น นกเหล่านั้นมิได้คิดว่า ผลไม้นี้จักมีสำหรับวันนี้ ผลไม้นี้จักมีสำหรับวันพรุ่งนี้ และเมื่อผลไม้สิ้นแล้ว ก็มิได้ตั้งอารักขาต้นไม้เลย มิได้วางปีก เล็บ หรือจะงอยปากไว้ที่ต้นไม้นั้น โดยที่แท้มิได้สนใจในต้นไม้ทั้งหลาย ตัวใดปรารถนาจะไปทิศาภาคใดๆ ตัวนั้นมีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไปตามทิศาภาคนั้นๆ ภิกษุนี้ก็อย่างนั้นเหมือนกัน ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สนใจ เมื่อจะหลีกไปตามความต้องการก็ถือไปได้เอง ดังนี้แล.

               นีวรณปฺปหานกถาวณฺณนา               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอะไร ด้วยคำว่า โส อิมินา จ ดังนี้เป็นต้น.
               ทรงแสดงปัจจัยสมบัติของภิกษุผู้อยู่ป่า.
               ภิกษุใดไม่มีปัจจัย ๔ เหล่านี้ การอยู่ป่าของภิกษุนั้นย่อมไม่สำเร็จ ภิกษุนั้นย่อมจะถูกเปรียบเปรยเท่ากับสัตว์ดิรัจฉานหรือพรานป่า. เทวดาที่สิงสถิตอยู่ในป่า ทำให้ได้ยินเสียงที่น่ากลัวว่า การอยู่ป่าของภิกษุชั่วเช่นนี้ จะมีประโยชน์อะไร เอามือทุบศีรษะแล้วหนีไป. โทษมิใช่ยศ ย่อมระบือไปว่า ภิกษุรูปโน้นเข้าป่า ได้กระทำกรรมชั่วอย่างนี้บ้างอย่างนี้บ้าง.
               แต่ภิกษุใดมีปัจจัย ๔ เหล่านี้ การอยู่ป่าของภิกษุนั้นย่อมสำเร็จ. ด้วยว่า เธอพิจารณาศีลของตนอยู่ เมื่อไม่เห็นด่างพร้อยอะไรๆ ยังปีติให้เกิดขึ้นแล้วพิจารณาปีตินั้นโดยความสิ้นไปเสื่อมไป ย่อมหยั่งลงสู่อริยภูมิ. เทวดาที่สิงสถิตอยู่ในป่ามีความพอใจพากันสรรเสริญ. ยศของภิกษุนี้ย่อมกระฉ่อนไป เหมือนหยาดน้ำมันที่หยดลงในน้ำฉะนั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า วิวิตฺตํ ความว่า ว่าง. อธิบายว่า มีเสียงเงียบคือไม่ค่อยดังนัก.
               จริงอยู่ ในวิภังคปกรณ์ ท่านกล่าวหมายถึงความสงัดนี้ไว้ว่า บทว่า วิวิตฺตํ ความว่า แม้หากว่ามีเสนาสนะอยู่ในที่ใกล้ และเสนาสนะนั้นไม่พลุกพล่านด้วยคฤหัสถ์บ้างบรรพชิตบ้าง เพราะเหตุนั้น เสนานะนั้น ชื่อว่าสงัด.๑-
               ชื่อว่า เสนาสนะ เพราะอรรถว่า เป็นที่นอนด้วย เป็นที่นั่งด้วย. คำนี้เป็นชื่อของเตียงและตั่งเป็นต้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า บทว่า เสนาสนะ ได้แก่ เตียงก็ดี ตั่งก็ดี ฟูกก็ดี หมอนก็ดี วิหารก็ดี เพิงก็ดี ปราสาทก็ดี เรือนโล้นก็ดี ถ้ำก็ดี ป้อมก็ดี โรงกลมก็ดี ที่เร้นก็ดี กอไผ่ก็ดี โค้นไม้ก็ดี มณฑปก็ดี ชื่อว่าเสนาสนะ ก็หรือว่าภิกษุเปลี่ยนอิริยาบถในที่ใด ที่นั้นทั้งหมด ชื่อว่าเสนาสนะ.๑-
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๑๓-๖๑๔

               อีกอย่างหนึ่ง เสนาสนะนี้ คือ วิหาร เพิง ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ ชื่อว่าเสนาสนะประเภทที่อยู่.
               เสนาสนะนี้ คือ เตียง ตั่ง ฟูก หมอน ชื่อว่าเสนาสนะสำหรับเตียงตั่ง.
               เสนาสนะนี้ คือ ปลอกหมอน ท่อนหนัง เครื่องปูลาดที่ถักด้วยหญ้า เครื่องปูลาดที่ทำด้วยใบไม้ ชื่อว่าเสนาสนะเป็นเครื่องลาด.
               เสนาสนะซึ่งเป็นที่เปลี่ยนอิริยาบทของภิกษุทั้งหลายนี้ ชื่อว่าเสนาสนะตามโอกาส.
               เสนาสนะมี ๔ อย่าง ด้วยประการฉะนี้. เสนาสนะทั้งหมดนั้น ท่านสงเคราะห์ด้วยศัพท์ว่าเสนาสนะนั่นเทียว.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงเสนานะที่สมควรแก่ภิกษุผู้ไปใน ๔ ทิศ เหมือนนกนั้น ดังนี้ ตรัสพระพุทธพจน์มีอาทิว่า อรญฺญํ รุกฺขมูลํ ดังนี้.๒-
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อรญฺญํ ได้แก่ ป่าที่อยู่นอกเขตเมือง ทั้งหมดนี้ชื่อว่าป่า ป่านี้สำหรับภิกษุณีทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.
               เสนาสนะที่ตั้งอยู่ที่สุดชั่ว ๕๐๐ ธนู ชื่อว่าป่า๓- ก็เสนาสนะป่านี้สมควรแก่ภิกษุนี้ ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๘๘   ๓- วิ มหาวิ. เล่ม ๒/ข้อ ๑๖๖

               ลักษณะของป่านั้น กล่าวไว้แล้วในธุดงคนิทเทส ในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า รุกฺขมูลํ ได้แก่ โคนไม้ที่สงัด มีร่มเงาสนิทแห่งใดแห่งหนึ่ง.
               บทว่า ปพฺพตํ ได้แก่ ศิลา. ก็เมื่อภิกษุใช้น้ำในบ่อน้ำ ณ ที่นั้นแล้วนั่งที่เงาไม้ร่มเย็น เมื่อทิศต่างๆ ปรากฏ ลมเย็นพัดมา จิตย่อมมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
               ด้วยบทว่า กนฺทรํ ท่านเรียกน้ำว่า ประเทศแห่งภูเขาที่น้ำเซาะ น้ำทำลาย ซึ่งท่านเรียกว่า นทีตุมพะบ้าง นทีกุญชะบ้าง. ก็ในที่นั้น มีทรายเหมือนแผ่นเงิน. ป่าชัฏข้างบนเหมือนเพดานแก้วมณี. น้ำเช่นกับกองแก้วมณีไหลไป. เมื่อภิกษุลงซอกน้ำอย่างนี้ ดื่มน้ำแล้วทำร่างกายให้เย็นก่อทรายขึ้น ปูลาดผ้าบังสุกุล นั่งบำเพ็ญสมณธรรม จิตย่อมมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
               บทว่า คิริคุหํ ได้แก่ ช่องใหญ่ระหว่างภูเขา ๒ ลูก หรือช่องใหญ่เหมือนอุโมงค์ภูเขาลูกหนึ่ง. ลักษณะของป่าช้า กล่าวแล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า วนปตฺถํ ได้แก่ ที่เลยเขตบ้าน มิได้เป็นที่ไถที่หว่านของมนุษย์ทั้งหลาย. เพราะเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงกล่าวว่า คำว่า วนปตฺถํ นี้เป็นชื่อของเสนาสนะที่ไกล๔- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๔- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๑๘

               บทว่า อพฺโภกาสํ ได้แก่ ที่ไม่ได้มุงบัง.
               ก็เมื่อภิกษุประสงค์จะทำกลดอยู่ในที่นี้ก็ได้.
               บทว่า ปลาสปุญฺชํ ได้แก่ กองฟาง.
               ก็ภิกษุดึงฟางออกจากกองฟางใหญ่ ทำที่อยู่อาศัยเหมือนที่เร้นในเงื้อมเขา. บางทีเอาฟางใส่ข้างบนกอไม้พุ่มไม้เป็นต้น นั่งบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ภายใต้ ท่านกล่าวหมายเอาที่นั้น.
               บทว่า ปจฺฉาภตฺตํ ได้แก่ ภายหลังอาหาร.
               บทว่า ปิณฺฑปาตปฏิกฺกนฺโต ได้แก่ กลับจากการแสวงหาบิณฑบาต.
               บทว่า ปลฺลงฺกํ ได้แก่ นั่งขัดสมาธิ.
               บทว่า อาภุชิตฺวา ได้แก่ ประสานไว้.
               บทว่า อุชุ กายํ ปณิธาย ได้แก่ ตั้งกายท่อนบนให้ตรง ให้ที่สุดต่อที่สุดกระดูกสันหลัง ๑๘ ข้อประชิดกัน.
               ด้วยว่า เมื่อนั่งอย่างนี้ หนังเนื้อและเอ็นทั้งหลายไม่ตึง. เมื่อเป็นเช่นนี้ เวทนาที่จะพึงเกิดขึ้นในทุกๆ ระยะ เพราะหนังเนื้อเอ็นตึงเป็นปัจจัย ก็ไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น เมื่อเวทนาเหล่านั้นไม่เกิดขึ้น จิตย่อมมีอารมณ์เป็นหนึ่ง กรรมฐานย่อมไม่ตกถอย ย่อมเข้าถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.
               บทว่า ปริมุขํ สตี อุปฎฺฐเปตฺวา ความว่า ตั้งสติมุ่งตรงต่อกรรมฐาน หรือตั้งกรรมฐานไว้ตรงหน้า. เพราะเหตุนั้นนั่นแล ในวิภังค์จึงกล่าวไว้ว่า สตินี้ย่อมเป็นอันตั้งมั่นจดจ่ออยู่ตรงปลายจมูกหรือแถวๆ หน้า เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ดำรงสติไว้ตรงหน้า๕- ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ในข้อนี้พึงทราบเนื้อความโดยนัยที่กล่าวแล้วในปฏิสัมภิทาอย่างนี้ว่า๖-
               บทว่า ปริ มีอรรถว่า กำหนด.
               บทว่า มุขํ มีอรรถว่านำออก.
               บทว่า สติ มีอรรถว่า เข้าไปตั้งมั่น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า ปริมุขํ สตึ ดังนี้. รวมความในคำนั้นว่า ทำสติให้เป็นที่กำหนด เป็นที่ออกไป.
____________________________
๕- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๒๔   ๖- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๘๘

               ในบทว่า อภิชฺฌํ โลเก นี้ อุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่าโลก ด้วยอรรถว่า สลาย เพราะฉะนั้น ในบทนี้จึงมีเนื้อความดังนี้ว่า ละราคะ คือข่มกามฉันทะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้.
               บทว่า วิคตาภิชฺเฌน ความว่า มีความเพ่งเล็งไปปราศแล้ว เพราะละได้โดยวิกขัมภนปหาน เช่นกับจักษุวิญญาณ.
               บทว่า อภิชฺฌาย จิตฺตํ ปริโสเธติ ความว่า เปลื้องจิตจากความเพ่งเล็ง. อธิบายว่า ความเพ่งเล็งนั้นพ้นไป และครั้งพ้นไปแล้วไม่มาจับจิตอีกได้ด้วยประการใด เธอย่อมทำด้วยประการนั้น.
               แม้ในบทว่า พฺยาปาทปโทสมฺปหาย เป็นต้น ก็นัยนี้แหละ.
               ชื่อว่า พยาปาทะ ด้วยอรรถว่า จิตย่อมพยาบาทด้วยโทสจิตนี้ คือละปกติเดิม เหมือนขนมกุมมาสบูดเป็นต้น.
               ชื่อว่า ปโทสะ ด้วยอรรถว่า ประทุษร้ายถึงพิการ หรือทำผู้อื่นให้เดือดร้อน คือพินาศ.
                         ก็ทั้ง ๒ คำนี้เป็นชื่อของความโกรธนั่นเอง. ความที่
                         จิตเป็นไข้ ชื่อว่า ถีนะ. ความที่เจตสิกเป็นไข้ ชื่อว่า
                         มิทธะ. ถีนะและมิทธะ ชื่อว่าถีนมิทธะ.

               บทว่า อาโลกสญฺญี ความว่า ประกอบด้วยสัญญาอันบริสุทธิ์ ปราศจากนิวรณ์ เพราะสามารถกำหนดรู้แสงสว่างที่เห็นทั้งกลางคืนทั้งกลางวัน.
               บทว่า สโต สมฺปชาโน ได้แก่ประกอบด้วยสติและด้วยญาณ.
               คำทั้ง ๒ นี้ ท่านกล่าวแล้วเพราะเป็นอุปการะแก่อาโลกสัญญา.
               ความฟุ้งซ่านและความรำคาญ ชื่อว่า อุทธัจจกุกกุจจะ.
               บทว่า ติณฺณวิจิกิจฺโฉ ได้แก่ ข้าม คือก้าวล่วงวิจิกิจฉาตั้งอยู่.
               ชื่อว่า ไม่มีความคลางแคลง ด้วยอรรถว่า ไม่เป็นไปอย่างนี้ว่า นี้อย่างไร นี้อย่างไร.
               บทว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ ได้แก่ ในธรรมทั้งหลายที่ไม่มีโทษ. อธิบายว่า ไม่สงสัย คือไม่กังขาอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้หนอแลเป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลได้อย่างไร. นี้เป็นความย่อในข้อนี้. ก็คำใดที่ควรจะกล่าวในนิวรณ์เหล่านี้ โดยจำแนกใจความของคำและลักษณะเป็นต้น คำนั้นทั้งหมดกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               ก็ในอุปมาที่ท่านกล่าวไว้ว่า เสยฺยถาปิ มหาราช นั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า อิณํ อาทาย ได้แก่ ถือเอาทรัพย์เพื่อความเจริญ.
               บทว่า พฺยนฺตีกเรยฺย ความว่า พึงทำหนี้นั้นให้หมดไป คือพึงทำมิให้หนี้เหล่านั้นเหลืออยู่เพียงกากะณึกหนึ่ง. อธิบายว่า พึงใช้ให้หมดเลย.
               บทว่า ตโตนิทานํ ได้แก่ มีความไม่มีหนี้เป็นมูลเหตุ.
               จริงอยู่ เมื่อเขารำพึงอยู่ว่า เราไม่มีหนี้ ย่อมได้ความปราโมทย์ เป็นกำลัง ย่อมได้ความดีใจ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ลเภถ ปาโมชฺชํ อธิคจฺเฉยฺย โสมนสฺสํ ดังนี้.
               ชื่อว่า อาพาธ ด้วยอรรถว่า ตัดอิริยาบถ ๔ เหมือนตัดด้วยเลื่อย เบียดเบียนอยู่เพราะเกิดเวทนาที่เป็นข้าศึก.
               ชื่อว่า อาพาธิก ด้วยอรรถว่า มีอาพาธ.
               ชื่อว่า ถึงความลำบาก เพราะความลำบากซึ่งเกิดแต่อาพาธนั้น.
               บทว่า อธิมตฺตคิลาโน ได้แก่ เจ็บหนัก
               บทว่า นจฺฉาเทยฺย ได้แก่ ไม่พึงชอบใจ เพราะมีพยาธิหนักยิ่งครอบงำอยู่แล้ว.
               บทว่า พลมตฺตา ได้แก่ มีกำลังนั่นเอง. อธิบายว่า เขามีกำลังกาย.
               บทว่า ตโตนิทานํ ได้แก่ มีความไม่มีโรคเป็นต้นเหตุ.
               ก็เมื่อเขารำพึงอยู่ว่า เราไม่มีโรค ทั้งความปราโมทย์และโสมนัสนั้นย่อมมีทั้งคู่. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ลเภถ ปาโมชฺชํ อธิคจฺเฉยฺย โสมนสฺสํ ดังนี้.
               บทว่า น จสฺส กิญฺจิ โภคานํ วโย ความว่า ไม่มีความเสื่อมโภคะแม้เพียงกากะณึกหนึ่ง.
               บทว่า ตโตนิทานํ ได้แก่ มีการไม่พ้นจากเครื่องผูกมัดเป็นต้นเหตุ.
               คำที่เหลือพึงประกอบในบททั้งหมด ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               บทว่า อนตฺตาธีโน ได้แก่ ไม่เป็นที่พึ่งในตน จะทำอะไรๆ ตามความพอใจของตนไม่ได้.
               บทว่า ปราธีโน ได้แก่ ต้องพึ่งคนอื่น เป็นไปตามความพอใจของคนอื่นเท่านั้น.
               บทว่า น กาเยน กามงฺคโม ความว่า เขาประสงค์จะไปโดยทิศาภาคใด ก็ไปโดยทิศาภาคนั้นไม่ได้.
               บทว่า ทาสพฺยา ได้แก่ จากความเป็นทาส.
               บทว่า ภุชิสฺโส ได้แก่ เป็นตัวของตัวเอง.
               บทว่า ตโตนิทานํ ได้แก่ มีความเป็นไทเป็นต้นเหตุ.
               บทว่า กนฺตารทฺธานมคฺคํ ได้แก่ ทางไกลกันดาร. อธิบายว่า ทางไกลไม่มีน้ำ.
               บทว่า ตโตนิทานํ ได้แก่มีพื้นที่ที่ปลอดภัยเป็นต้นเหตุ.
               ในคำว่า อิเม ปญฺจ นิวรเณ อปฺปหีเน นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกามฉันท์ที่ยังละไม่ได้เหมือนหนี้ แสดงนิวรณ์ที่เหลือทำให้เป็นเหมือนโรคเป็นต้น ในข้อนั้นมีอุปมาดังนี้
               ก็ผู้ใดกู้หนี้คนอื่นแล้ว ย่อมพินาศ ผู้นั้นแม้ถูกเจ้าหนี้ทวงว่าจงใช้หนี้ แม้พูดคำหยาบ แม้ถูกจองจำ แม้ถูกฆ่า ก็ไม่อาจจะโต้ตอบอะไรได้ ย่อมอดกลั้นทุกอย่าง ด้วยว่า หนี้ของเขานั้นเป็นเหตุให้อดกลั้น ผู้ที่ติดวัตถุด้วยกามฉันทะก็ฉันนั้น ย่อมยึดวัตถุนั้นด้วยเครื่องยึดคือตัณหา เขาแม้ถูกกล่าวคำหยาบ แม้ถูกจองจำ แม้ถูกฆ่า ย่อมอดกลั้นทุกอย่าง. ด้วยว่า กามฉันทะของเขานั้นเป็นเหตุให้อดกลั้น เหมือนกามฉันทะของหญิงทั้งหลายที่ถูกเจ้าของเรือนฆ่า พึงเห็นกามฉันทะเหมือนหนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
               เหมือนอย่างว่า คนกระสับกระส่ายเพราะโรคดี แม้เมื่อเขาให้น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดเป็นต้น ก็ไม่ได้รสของของหวานเหล่านั้น ย่อมบ่นว่า ขม ขม เท่านั้น เพราะตนกระสับกระส่ายด้วยโรคดีฉันใด ผู้มีจิตพยาบาทก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้อาจารย์และอุปัชฌาย์ผู้หวังดีว่ากล่าวเพียงเล็กน้อย ก็ไม่รับโอวาท กล่าวว่าท่านทั้งหลายวุ่นวายเหลือเกินเป็นต้น ลาสิกขาบทไป เขาไม่ได้รสของพระศาสนาประเภทสุขในฌานเป็นต้น เพราะเป็นผู้กระสับกระส่ายด้วยความโกรธ เหมือนบุรุษนั้นไม่ได้รสของของหวานมีน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดเป็นต้น เพราะเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะโรคดี พึงเห็นความพยาบาทเหมือนโรค ด้วยประการฉะนี้แล.
               เหมือนอย่างคนที่ถูกจองจำในเรือนจำในวันนักขัตฤกษ์ ย่อมไม่เห็นเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของนักขัตฤกษ์เลย ครั้นรุ่งขึ้น เขาพ้นเรือนจำ แม้ได้ฟังคำเป็นต้นว่า โอ เมื่อวานนักขัตฤกษ์น่าพอใจ ฟ้อนรำขับร้องน่าพอใจ ดังนี้ ก็ให้คำตอบไม่ได้.
               เพราะเหตุอะไร?
               เพราะไม่ได้ดูนักษัตรฉันใด ภิกษุถูกถีนมิทธะครอบงำก็ฉันนั้น เมื่อการฟังธรรม แม้มีนัยวิจิตรกำลังดำเนินไป ย่อมไม่รู้เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของธรรมนั้น เธอแม้นั้นเมื่อปรากฏการฟังธรรมขึ้นแล้ว ผู้คนพากันสรรเสริญการฟังธรรมว่า โอ การฟังธรรม โอ เหตุผล โอ อุปมา ถึงฟังก็ให้คำตอบไม่ได้. เพราะเหตุไร. เพราะอำนาจถีนมิทธะทำให้ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง. พึงเห็นถีนมิทธะเหมือนเรือนจำ ด้วยประการฉะนี้.
               เหมือนอย่างทาสแม้เล่นนักษัตรอยู่ นายกล่าวว่า มีงานที่ต้องทำรีบด่วนชื่อนี้ เจ้าจงรีบไปที่นั้น ถ้าไม่ไป เราจะตัดมือและเท้า หรือหูและจมูกของเจ้า เขารีบไปทันที ย่อมไม่ได้ชมเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดของงานนักษัตร.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะมีคนอื่นเป็นที่พึ่งฉันใด ภิกษุผู้ไม่รู้ทั่วถึงพระวินัยก็ฉันนั้น แม้เข้าป่าเพื่อต้องการวิเวก เมื่อเกิดความสำคัญในกัปปิยมังสะอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดว่าเป็นอกัปปิยมังสะ ต้องละวิเวกไปสำนักพระวินัยธรเพื่อชำระศีล ย่อมไม่ได้เสวยสุขอันเกิดแต่วิเวก. เพราะเหตุไร. เพราะถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ พึงเห็นอุทธัจจกุกกุจจะเหมือนความเป็นทาส ด้วยประการฉะนี้แล.
               เหมือนอย่างบุรุษเดินทางไกลที่กันดาร ได้เห็นโอกาสที่มนุษย์ทั้งหลายถูกพวกโจรปล้น และถูกฆ่า พอได้ยินเสียงท่อนไม้ก็ดี เสียงนกก็ดี ย่อมระแวงสงสัยว่า พวกโจรมาแล้ว เดินไปบ้าง ยืนอยู่บ้าง กลับเสียบ้าง ที่ที่มาจากที่ไปแล้วมีมากกว่า เขาย่อมถึงที่ปลอดภัยโดยยากโดยฝืดเคือง หรือไม่ถึงเลยฉันใด คนที่เกิดวิจิกิจฉาในฐานะ ๘ ก็ฉันนั้น สงสัยโดยนัยเป็นต้นว่า พระพุทธเจ้ามีหรือไม่มีหนอ ลังเลแล้วไม่อาจจะยึดถือด้วยศรัทธา เมื่อไม่อาจ ย่อมไม่บรรลุมรรคหรือผลได้. ดังนั้น เหมือนในทางไกลที่กันดาร ย่อมมีความหวาดระแวงบ่อยๆ ว่า พวกโจรมีไม่มี ทำให้จิตไม่เชื่อ มีความหวาดกลัวเกิดขึ้น ย่อมทำอันตรายแก่การถึงมีที่ปลอดภัยฉันใด แม้วิจิกิจฉาก็ฉันนั้น ทำให้เกิดความหวาดระแวงบ่อยๆ โดยนัยว่า พระพุทธเจ้ามีหรือไม่มีหนอ ดังนี้เป็นต้น ไม่มั่นใจ สะดุ้งกลัว ย่อมทำอันตรายแก่การเข้าถึงอริยภูมิ พึงเห็นวิจิกิจฉาเหมือนทางไกลที่กันดาร ด้วยประการฉะนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเปรียบเทียบผู้ที่ละกามฉันทนิวรณ์ได้ว่าเหมือนคนไม่มีหนี้ ผู้ที่ละนิวรณ์ที่เหลือได้ว่าเหมือนคนไม่มีโรคเป็นต้น ในพระบาลีนี้ว่า เสยฺยถาปิ มหาราช อานณฺยํ ดังนี้. ในข้อนั้นมีอุปมาดังนี้.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษกู้หนี้แล้วประกอบการงาน ถึงความร่ำรวย คิดว่า ชื่อว่าหนี้นี้เป็นมูลแห่งความกังวล จึงใช้หนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ย แล้วฉีกหนังสือสัญญากู้เสีย เมื่อเป็นเช่นนั้น ไม่มีใครส่งคนไปทวงเขา ตั้งแต่นั้นมา หนังสือสัญญากู้ก็ไม่มี เขาแม้เห็นเจ้าหนี้ทั้งหลาย ถ้าประสงค์จะต้องรับก็ลุกจากอาสนะ ถ้าไม่ประสงค์ก็ไม่ลุก.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะมิได้ติดต่อมิได้เกี่ยวข้องกับเจ้าหนี้เหล่านั้น ฉันใด
               ภิกษุ (ผู้ปฏิบัติ) ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คิดว่า ชื่อว่ากามฉันทะนี้ เป็นมูลแห่งความกังวล จึงเจริญธรรม ๖ ประการแล้วละกามฉันทนิวรณ์เสีย.
               ก็ธรรม ๖ ประการเหล่านั้น เราจักพรรณนาในมหาสติปัฏฐานสูตร.
               เมื่อภิกษุนั้นละกามฉันทะได้อย่างนี้ ย่อมไม่กลัวไม่สะดุ้ง เหมือนบุรุษผู้ปลดหนี้แล้ว เห็นเจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมไม่กลัวไม่สะดุ้ง ฉันใด ย่อมไม่มีความเกี่ยวข้อง ไม่มีความผูกพันในวัตถุของผู้อื่น ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเห็นรูปแม้เป็นทิพย์ กิเลสก็ไม่กำเริบ. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการละกามฉันทะได้เหมือนความไม่มีหนี้.
               เหมือนอย่างบุรุษผู้กระสับกระส่ายเพราะโรคดีนั้น ทำโรคนั้นให้สงบด้วยการปรุงยา ตั้งแต่นั้นก็ได้รสแห่งน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดเป็นต้น ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน คิดว่า ชื่อว่าพยาบาทนี้ กระทำความพินาศ จึงเจริญธรรม ๖ ประการ ละพยาบาทนิวรณ์ได้.
               เราจักพรรณนาธรรม ๖ ประการในนิวรณ์ทั้งหมดในมหาสติปัฏฐานสูตรนั่นแล. ก็ธรรม ๖ ประการเหล่านั้น มิใช่เจริญเพื่อละถีนมิทธะเป็นต้นอย่างเดียว เราจักพรรณนานิวรณ์เหล่านั้นทั้งหมดในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้นแหละ.
               ภิกษุนั้นละพยาบาทได้อย่างนี้แล้ว รับสิกขาบททั้งหลายมีอาจารบัญญัติเป็นต้นอย่างเต็มใจด้วยเศียรกล้า สนใจศึกษาอยู่ เหมือนบุรุษหายจากโรคดีแล้ว ย่อมรับประทานรสน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดเป็นต้นอย่างเต็มใจ. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการละพยาบาทเหมือนหายโรค.
               บุรุษผู้ถูกขังในเรือนจำในวันนักษัตรนั้น ในวันนักษัตรต่อมา เขาคิดว่า แม้เมื่อก่อนเราถูกจำเพราะโทษที่ประมาท ไม่ได้ชมนักษัตร เพราะเหตุนั้น บัดนี้เราจักไม่ประมาท ดังนี้ เป็นผู้ไม่ประมาทอย่างที่ศัตรูทั้งหลายของเขาไม่ได้โอกาส จึงได้ชมนักษัตรเปล่งอุทานว่า โอ นักษัตร ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น คิดว่า ชื่อว่าถีนมิทธะนี้ทำความพินาศใหญ่ จึงเจริญธรรม ๖ ประการ ย่อมละถีนมิทธนิวรณ์ได้ เธอละถีนมิทธะได้อย่างนี้แล้ว ได้ชมเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดแห่งนักษัตร คือธรรม บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เหมือนอย่างบุรุษที่พ้นจากการจองจำ ได้ชมเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดแห่งนักษัตรทั้ง ๗ วัน. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการละถีนมิทธะได้ ว่าเหมือนพ้นจากจองจำ.
               เหมือนอย่างว่า ทาสเข้าไปอาศัยมิตรบางคน ให้ทรัพย์แก่นายทั้งหลายแล้วทำตนให้เป็นไท ตั้งแต่นั้น ตนปรารถนาสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้นฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน คิดว่า ชื่อว่าอุทธัจจกุกกุจจะนี้ทำความพินาศใหญ่ จึงเจริญธรรม ๖ ประการ ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้. เธอละอุทธัจจกุกกุจจะได้อย่างนี้แล้ว ย่อมดำเนินสู่เนกขัมมปฏิปทาได้ตามสบาย. อุทธัจจกุกกุจจะไม่สามารถให้เธอกลับจากเนกขัมมปฏิปทานั้นได้โดยพลการ. เหมือนอย่างบุรุษผู้เป็นไท ปรารถนาสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใดก็ไม่ทำสิ่งนั้น. ไม่มีใครๆ จะให้เขากลับจากความเป็นไทนั้นโดยพลการนั้น. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการละอุทธัจจกุกกุจจะ ว่าเหมือนความเป็นไท.
               เหมือนอย่างบุรุษมีกำลัง ถือเอาทรัพย์ที่มีสาระติดมือ เตรียมอาวุธพร้อมด้วยบริวารเดินทางกันดาร พวกโจรเห็นเขาแต่ไกล พึงหนีไป. เขาข้ามพ้นทางกันดารนั้นโดยสวัสดี ถึงแดนเกษม มีความร่าเริงยินดีฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน คิดว่า ชื่อว่าวิจิกิจฉานี้ทำความพินาศ จึงเจริญธรรม ๖ ประการ ย่อมละวิกิจฉาได้ เธอละวิจิกิจฉาได้อย่างนี้แล้ว ข้ามกันดารแห่งทุจริตได้ บรรลุพระอมตมหานิพพานอันเป็นภูมิที่เกษมสำราญอย่างยิ่ง เหมือนบุรุษผู้มีกำลัง เตรียมอาวุธพร้อมด้วยบริวาร ปลอดภัย ไม่สนใจพวกโจรเหมือนหญ้า ออกไปถึงภูมิอันเป็นที่ปลอดภัยโดยความสวัสดี. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการละวิจิกิจฉาไว้เหมือนภูมิอันเป็นแดนเกษม.
               บทว่า ปาโมชฺชํ ชายติ ความว่า เกิดอาการยินดี.
               บทว่า ปมุทิตสฺส ปีติ ชายติ ความว่า ปีติเกิดท่วมทั่วสรีระของผู้ที่ยินดี.
               บทว่า ปีติมนสฺส กาโย ปสฺสมฺภติ ความว่า นามกายของบุคคลผู้มีจิตสัมปยุตด้วยปีติ ย่อมสงบ คือปราศจากความกระวนกระวาย.
               บทว่า สุขํ เวเทติ ความว่า ย่อมเสวยสุขทั้งทางกายทางใจ.
               บทว่า จิตฺตํ สมาธิยติ ความว่า จิตของผู้ที่มีสุขด้วยเนกขัมมสุขนี้ ย่อมตั้งมั่นด้วยอำนาจอุปจารฌานก็มี ด้วยอำนาจอัปปนาฌานก็มี.
               ก็คำว่า โส วิวิจฺเจว กาเมหิ ฯเปฯ ปฐมชฺฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ ดังนี้เป็นต้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อแสดงคุณวิเศษเบื้องสูงในเมื่อจิตตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ และเพื่อแสดงประเภทของสมาธินั้น ในเมื่อจิตตั้งมั่นด้วยอัปปนาสมาธิ.
               บทว่า อิมเมว กายํ ได้แก่ กรชกายนี้.
               บทว่า อภิสนฺเทติ ได้แก่ เอิบอาบ ไหลไป คือทำปีติสุขที่เป็นไปในที่ทั้งปวง.
               บทว่า ปริสนฺเทติ ได้แก่ ซ่านไปโดยรอบ.
               บทว่า ปริปูเรติ ได้แก่ เต็มเหมือนสูบด้วยลม.
               บทว่า ปริปฺผรติ ได้แก่ แผ่ไปโดยรอบ.
               บทว่า สพฺพาวโต กายสฺส ความว่า กายของภิกษุ (ผู้ได้ฌาน) นั้นทุกส่วน ไม่มีฐานะที่ตรงไหนเลยในกายที่มีใจครองและยังมีสันตติเป็นไปอยู่แม้สักน้อยหนึ่งตามผิวเนื้อและโลหิตที่ความสุขในปฐมฌานจะไม่ถูกต้อง.
               บทว่า ทกฺโข ได้แก่ ผู้ฉลาดสามารถเพื่อจะทำ เพื่อจะประกอบ เพื่อจะอาบไล้ซึ่งผงสำหรับอาบน้ำ.
               บทว่า กํสถาเล ได้แก่ ในภาชนะที่ทำด้วยโลหะอย่างใดอย่างหนึ่ง. ภาชนะดินเป็นของไม่ทน เมื่อใช้อาบย่อมแตก ฉะนั้น จึงไม่ทรงยกภาชนะดินขึ้นแสดง.
               บทว่า ปริปฺโผสกปริโผสกํ ได้แก่ รดแล้วรดเล่า.
               บทว่า สนฺเนยฺยํ ได้แก่ ถือภาชนะสัมฤทธิ์ด้วยมือซ้าย วักน้ำพอประมาณด้วยมือขวา ลูบตัวอยู่ ทำการวักทีละฟายมือ.
               บทว่า เสฺนหานุคตา ได้แก่ ความเอิบอาบของน้ำแผ่ซ่านไป.
               บทว่า เสฺนหปเรตา ได้แก่ เอิบอาบด้วยความซาบซ่านของน้ำ.
               บทว่า สนฺตรพาหิรา ได้แก่ ความเอิบอาบของน้ำถูกต้อง พร้อมทั้งภายในและภายนอกทุกส่วน.
               บทว่า น จ ปคฺฆรติ ความว่า มิใช่น้ำจะหยดออกทีละหยาดๆ น้ำนั้นอาจวักด้วยมือก็ได้ ด้วยองคุลี ๒-๓ องคุลีก็ได้ แม้ด้วยชายพกก็ทำได้.

               ทุติยชฺฌานกถาวณฺณนา               
               อุปมาความสุขในทุติยฌาน มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า อุพฺภิโตทโก ความว่า น้ำกระจาย. อธิบายว่า ไม่ใช่น้ำที่แตกข้างล่างแล้วพลุ่งขึ้น แต่เป็นน้ำที่เกิดขึ้นในภายในนั่นเอง.
               บทว่า อายมุขํ ได้แก่ ทางเป็นที่มา.
               บทว่า เทโว ได้แก่ เมฆ.
               บทว่า กาเลน กาลํ แปลว่า ทุกๆ เวลา. อธิบายว่า ทุกกึ่งเดือน หรือทุก ๑๐ วัน.
               บทว่า ธารํ แปลว่า สายฝน.
               บทว่า อนุปฺปเวจฺเฉยฺย ความว่า ฝนไม่หลั่ง คือไม่ตก.
               บทว่า สีตา วาริธารา อุพฺภิชฺชิตฺว ความว่า น้ำเย็นทำห้วงน้ำให้เต็มเกิดขึ้น.
               จริงอยู่ น้ำที่พลุ่งขึ้นข้างล่าง ครั้นพลุ่งขึ้นแล้วย่อมทำน้ำที่แตกให้กระเพื่อม. น้ำที่ไหลมาแต่ทิศทั้ง ๔ ย่อมทำน้ำให้กระเพื่อมด้วยใบไม้เก่า หญ้าไม้และท่อนไม้เป็นต้น. น้ำฝนย่อมทำน้ำให้กระเพื่อมด้วยสายน้ำที่ตกลงมาและฟองน้ำ. น้ำที่เกิดขึ้น จมอยู่อย่างนั้นแหละเหมือนเนรมิตด้วยฤทธิ์ แผ่ไปสู่ประเทศนี้ จะว่าไม่แผ่ไปสู่ประเทศนี้ไม่มี. ชื่อว่าโอกาสที่น้ำนั้นไม่ถูกต้องไม่มี ดังนี้แล.
               ในเรื่องนี้นั้น กรชกายเหมือนห้วงน้ำ. สุขในทุติยฌานเหมือนน้ำ.
               คำที่เหลือพึงทราบตามนัยมีในก่อนนั้นแหละ.

               ตติยชฺฌานกถาวณฺณนา               
               อุปมาความสุขในตติยฌาน มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ชื่อว่า อุปฺปลินี ด้วยอรรถว่า เป็นที่มีดอกอุบล
               แม้ในสองบทที่เหลือก็นัยนี้แหละ.
               ก็ในเรื่องอุปมานี้ บรรดาอุบลขาวอุบลแดงและอุบลขาบ อุบลอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอุบลนั่นเอง ดอกบัวที่มีกลีบหย่อนร้อยชื่อบุณฑริก ที่มีกลีบถึงร้อยชื่อปทุม.
               อีกอย่างหนึ่ง เว้นบัวที่กำหนดกลีบเสีย บัวขาวชื่อปทุม บัวแดงชื่อบุณฑริก.
               ในเรื่องบัวนี้มีวินิจฉัยเท่านี้แล.
               บทว่า อุทกานุคฺคตานิ ได้แก่ ยังไม่ขึ้นพ้นน้ำ.
               บทว่า อนฺโตมิมุคฺคโปสินี ความว่า จมอยู่ในพื้นน้ำนั่นเอง อันน้ำเลี้ยงไว้ ยังงอกงามได้
               คำที่เหลือพึงทราบตามนัยมีในก่อนนั้นแหละ.

               จตุตฺถชฺฌานกถาวณฺณนา               
               อุปมาความสุขในจตุตถฌาน มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ในบทว่า ปริสุทฺเธน เจตสา ปริโยทาเตน นี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะอรรถว่าไม่มีอุปกิเลส. ชื่อว่าผ่องแผ้ว เพราะอรรถว่าผ่องใส.
               บทว่า โอทาเตน วตฺเถน นี้ ตรัสหมายความถึงฤดูแผ่ไป.
               จริงอยู่ ความแผ่ไปของฤดู ย่อมไม่มีด้วยผ้าเก่า. ความแผ่ไปของฤดูย่อมมีกำลังด้วยผ้าสะอาดที่ซักในขณะนั้น. ก็ด้วยอุปมานี้ กรชกายเหมือนผ้า ความสุขในจตุตถฌานเหมือนความแผ่ไปของฤดู. เพราะฉะนั้น เมื่อบุรุษอาบน้ำดีแล้ว เอาผ้าสะอาดคลุมตลอดศีรษะ ไออุ่นแต่ศีรษะย่อมแผ่ไปทั่วผ้าทั้งผืนทีเดียว ไม่มีส่วนไรๆ ของผ้าที่ไออุ่นจะไม่ถูกต้องฉันใด กรชกายของภิกษุก็ฉันนั้น ไม่มีส่วนไรๆ ที่ความสุขในจตุตถฌานจะไม่ถูกต้อง ในข้อนี้พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็การพรรณนาตามลำดับบทและนัยแห่งภาวนาของฌาน ๔ เหล่านี้ กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค ฉะนั้น จะไม่กล่าวให้พิสดารในที่นี้.
               ก็ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นผู้ได้รูปฌานเท่านั้น ยังหาได้อรูปฌานไม่. ด้วยว่า เว้นความเป็นผู้ชำนาญในสมาบัติทั้ง ๘ โดยอาการ ๑๔ เสียแล้ว การบรรลุอภิญญาชั้นสูงจะมีไม่ได้ แต่ในพระบาลีมาเฉพาะรูปฌานเท่านั้น จึงควรนำอรูปฌานมากล่าวด้วย.

               วิปสฺสนาญาณกถาวณฺณนา               
               ภิกษุนั้น ในคำว่า โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต อภินีหรติ นี้ คำว่า ญาณทัสสนะ ท่านกล่าวหมายถึงมรรคญาณก็ได้ ผลญาณก็ได้ สัพพัญญุตญาณก็ได้ ปัจจเวกขณญาณก็ได้ วิปัสสนาญาณก็ได้.
               ก็มรรคญาณ ท่านเรียกว่า ญาณทัสสนะ ในพระบาลีนี้ว่า ดูก่อนอาวุโส ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อความบริสุทธิ์แห่งญาณทัสสนะหรือหนอแล.
               ผลญาณ ท่านเรียกว่า ญาณทัสสนะ ในพระบาลีนี้ว่า อุตตริมนุสสธรรมอื่นนี้ คือญาณทัสสนะวิเศษที่ควรแก่พระอริยะ เป็นผาสุวิหารซึ่งเราบรรลุแล้ว.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๙๖   ๒- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๕๘๐

               สัพพัญญุตญาณ ท่านเรียกว่า ญาณทัสสนะ ในพระบาลีนี้ว่า ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแล้วแม้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าแลว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร ทำกาละได้ ๗ วัน.๓-
               ปัจจเวกขณญาณ ท่านเรียกว่า ญาณทัสสนะ ในพระบาลีนี้ว่า ก็ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแล้วแก่เรา วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย.
____________________________
๓- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๐

               แต่คำว่า ญาณทสฺสนายน จิตฺตํ ในที่นี้ท่านกล่าวหมายถึงญาณทัสสนะที่เป็นตัววิปัสสนาญาณ.
               บทว่า อภินีหรติ ความว่า ทำให้น้อมไป ให้โอนไป ให้เงื้อมไป เพื่อเกิดวิปัสสนาญาณ.
               เนื้อความของบทว่า รูปี เป็นต้น ได้กล่าวไว้แล้วทั้งนั้น.
               บทว่า โอทนกุมฺมาสุปจโย ความว่า เติบโตขึ้น เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส.
               บทว่า อนิจจุจฺฉาทนปริมทฺทนเภทนวิทฺธํสนธมฺโม ความว่า มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เพราะอรรถว่ามีแล้วหามีไม่. มีอันต้องขัดสีเป็นธรรมดา เพราะต้องลูบไล้ตัวเพื่อต้องการกำจัดกลิ่นเหม็น. มีอันต้องนวดฟั้นเป็นธรรมดา เพราะต้องนวดเล็กน้อยเพื่อบรรเทาความปวดเมื่อยของอวัยวะน้อยใหญ่ หรือมีอันต้องนวดฟั้นเป็นธรรมดา เพราะในเวลาเป็นเด็ก เขาให้นอนบนขาทั้ง ๒ แล้วหยอดยาตาและบีบนวดเป็นต้น เพื่อให้อวัยวะที่คดมีทรวดทรงไม่ดีนั้นๆ เพราะอยู่ในครรภ์ ให้ได้ทรวดทรง. แม้บริหารอย่างนี้ ก็ยังแตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา ย่อมแตกไป ย่อมกระจายไป ร่างกายมีสภาพอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ในบทว่า รูปี จาตุมฺมหาภูมิโก เป็นต้นนั้น ท่านกล่าวความเกิดขึ้นด้วยบท ๖ บท กล่าวความดับไปด้วยบท ๒ หลังพร้อมด้วยอนิจจบท.
               บทว่า เอตฺถ นิสฺสิตํ เอตฺถ ปฏิพทฺธํ ความว่า อาศัยด้วย ติดเนื่องด้วย ในกายอันประกอบด้วยมหาภูต ๔ นี้.
               บทว่า สุโภ แปลว่า งาม.
               บทว่า ชาติมา ได้แก่ ตั้งขึ้นด้วยอาการอันบริสุทธิ์.
               บทว่า สุปริกมฺมกโต ได้แก่ นายช่างเจียระไนอย่างดี เอาหินและกรวดออกหมด.
               บทว่า อจฺโฉ แปลว่า ผิวบาง.
               บทว่า วิปฺปสนฺโน แปลว่า ใสดี.
               บทว่า สพฺพาการสมฺปนฺโน ความว่า ถึงพร้อมด้วยอาการทุกอย่างมีการล้างเป็นต้น.
               ด้วยบทว่า นีลํ เป็นต้น ท่านแสดงความเพียบพร้อมด้วยสี.
               จริงอยู่ ด้ายที่ร้อยแล้วย่อมปรากฏอยู่เช่นนั้น.
               ในบทว่า เอวเมว โข นี้พึงทราบการเทียบเคียงด้วยอุปมา ดังนี้.
               ก็กรชกายเหมือนแก้วมณี วิปัสสนาญาณเหมือนด้ายที่ร้อยไว้ ภิกษุผู้ได้วิปัสสนาเหมือนบุรุษตาดี เวลาที่กายอันประกอบด้วยมหาภูต ๔ ปรากฏแจ้งแก่ภิกษุผู้นั่งพิจารณาวิปัสสนาญาณ เหมือนเวลาที่แก้วมณีปรากฏแจ้งแก่นายช่างผู้เอาแก้วมณีไว้ในมือพิจารณาอยู่ว่า นี้แลแก้วมณี. เวลาที่หมวด ๕ แห่งผัสสะซึ่งมีวิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์ก็ดี จิตและเจตสิกทั้งปวงก็ดี วิปัสสนาญาณนั่นเองก็ดี ปรากฏแจ้งแก่ภิกษุผู้นั่งพิจารณาวิปัสสนาญาณ เหมือนเวลาที่ด้ายปรากฏแจ้งว่า นี้ด้ายเขาร้อยไว้ในแก้วมณีนั้น.
               วิปัสสนาญาณนี้ อยู่ในลำดับแห่งมรรคญาณ แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะวิปัสสนาญาณนี้ไม่มีอันตราวาระในเมื่อเริ่มอภิญญาวาระแล้ว ฉะนั้น ท่านจึงแสดงในที่นี้ทีเดียว.
               อนึ่ง เพราะเมื่อภิกษุไม่ทำการพิจารณาโดยอนิจจลักษณะเป็นต้น ได้ยินเสียงที่น่ากลัวด้วยทิพโสต ระลึกถึงขันธ์ที่น่ากลัวด้วยบุพเพนิวาสานุสสติ ได้เห็นรูปที่น่ากลัวด้วยทิพยจักษุ ความกลัวและความสะดุ้งย่อมเกิดขึ้น. อาการที่น่ากลัวดังกล่าวนี้ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ทำการพิจารณาโดยอนิจจลักษณะเป็นต้น ฉะนั้น ท่านจึงแสดงวิปัสสนาญาณนี้ในที่นี้ทีเดียว แม้เพื่อแสดงเหตุที่บรรเทาความกลัวของภิกษุผู้บรรลุอภิญญาให้พร้อมมูล.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะขึ้นชื่อว่าความสุขในวิปัสสนานี้ เป็นเครื่องยังสุขในมรรคผลให้พร้อมมูล เป็นของเฉพาะตัว เป็นสามัญญผล ฉะนั้น ท่านจึงแสดงวิปัสสนาญาณนี้ในที่นี้แต่ต้นทีเดียว.

               มโนมยิทฺธิญาณกถา               
               บทว่า มโนมยํ แปลว่า บังเกิดด้วยใจ.
               บทว่า สพฺพงฺคปจฺจงฺคํ แปลว่า ประกอบด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน.
               บทว่า อหีนินฺทฺริยํ ได้แก่ มีอินทรีย์ไม่บกพร่องโดยทรวดทรง.
               จริงอยู่ รูปที่ผู้มีฤทธิ์นิรมิต ถ้าผู้มีฤทธิ์ขาว แม้รูปที่นิรมิตนั้นก็ขาว ถ้าผู้มีฤทธิ์ไม่ได้เจาะหู แม้รูปที่นิรมิตนั้นก็มิได้เจาะหู รูปนิรมิตย่อมเป็นเหมือนผู้นิรมิตนั้นทุกประการทีเดียวอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               จริงอยู่ แม้อุปมา ๓ อย่าง มีชักไส้ออกจากหญ้าปล้องเป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อแสดงความเหมือนกันนั่นเอง. ก็ไส้ภายในหญ้าปล้องนั้นก็เท่ากับหญ้าปล้องนั่นเอง ดาบก็เท่ากับฝักนั่นเอง. ที่ฝักเป็นเกลียว ดาบก็เป็นเกลียวด้วย คนจึงใส่เข้าไปได้ ที่ฝักแบน ดาบก็แบน.
               คำว่า กรณฺฑา แม้นี้ เป็นชื่อของคราบงู ไม่ใช่เป็นชื่อของขวดที่เป็นเกลียว.
               จริงอยู่ คราบงูย่อมเท่ากับตัวงูนั่นเอง.
               ในอุปมานั้น ท่านแสดงว่าเหมือนชักงูจากคราบด้วยมือ บุรุษพึงชักงูออกจากคราบ ดังนี้ ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็พึงทราบว่า ชักรูปนิรมิตนั้นออกด้วยจิตนั่นเอง.
               ก็ชื่อว่างูนี้ดำรงอยู่ในชาติของตน อาศัยระหว่างไม้หรือระหว่างต้นไม้ ลอกคราบเก่าซึ่งเหมือนรัดลำตัวอยู่ ด้วยเรี่ยวแรงกล่าวคือพยายาม ดึงลำตัวออกจากคราบ งูย่อมลอกคราบได้เองด้วยเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้ ไม่อาจลอกคราบได้ด้วยเหตุอื่นจาก ๔ อย่างนั้น เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า คำนี้ท่านกล่าวหมายเอาการลอกด้วยจิต.
               ด้วยประการฉะนี้ สรีระของภิกษุนี้ก็เช่นเดียวกับหญ้าปล้องเป็นต้น รูปนิรมิตก็เช่นเดียวกับไส้หญ้าปล้องเป็นต้น นี้เป็นการเทียบเคียงด้วยอุปมาในข้อนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็วิธีนิรมิตในเรื่องนี้และกถาว่าด้วยอภิญญา ๕ มีอิทธิวิธีเป็นต้น แต่ที่อื่นกล่าวไว้พิสดารในวิสุทธิมรรคโดยอาการทั้งปวง ฉะนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในที่นั้นเถิด. ด้วยว่า เพียงอุปมาเท่านั้นก็เกินไปในที่นี้.
               ในพระบาลีนั้น ภิกษุผู้ได้อิทธิวิธญาณ พึงเห็นเหมือนช่างหม้อผู้ฉลาดเป็นต้น. อิทธิวิธญาณ พึงเห็นเหมือนดินเหนียวที่นวดไว้อย่างดี. การแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ ของภิกษุนั้น พึงเห็นเหมือนการทำภาชนะชนิดต่างๆ ที่ปรารถนาแล้วๆ.

               อุปมาทิพโสตธาตุ               
               มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               เพราะทางไกลที่กันดาร ย่อมเป็นที่รังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า ผู้ที่ไม่ไว้ใจระแวงในทางนั้น ไม่อาจกำหนดได้ว่า นี้เสียงกลอง นี้เสียงตะโพน ฉะนั้น เมื่อจะแสดงทางที่ปลอดภัย จึงกล่าวว่าผู้เดินทางไกล โดยไม่ใช้ศัพท์ว่ากันดาร.
               ก็ทางที่ปลอดภัย คนเอาผ้าคลุมศีรษะค่อยๆ เดินไป ย่อมกำหนดเสียงต่างๆ ดังกล่าวแล้วได้สบาย พึงทราบว่า เวลาที่เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งไกลและใกล้ปรากฏแก่พระโยคี เหมือนเวลาที่เสียงนั้นๆ ปรากฏด้วยอำนาจการกำหนดเสียงได้อย่างสบายนั้น.

               อุปมาเจโตปริยญาณ               
               มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า ทหโร แปลว่า หนุ่ม.
               บทว่า ยุวา ได้แก่ ประกอบด้วยความเป็นหนุ่ม.
               บทว่า มณฺฑนชาติโก ความว่า แม้เป็นคนหนุ่มก็ไม่เกียจคร้าน ไม่ใช่คนมีผ้าและร่างกายมอมแมม มีปรกติตกแต่งจริงๆ อาบน้ำวันละ ๒-๓ ครั้ง มีปรกตินุ่งห่มผ้าสะอาดและตกแต่งอยู่เสมอ.
               บทว่า สกณิกํ ความว่า มีตำหนิอย่างใดอย่างหนึ่งมีไฝดำหน้า เป็นแผลและฝีร้ายเป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น พึงทราบว่า จิต ๑๖ อย่างของผู้อื่น ย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้นั่งโน้มจิตไปด้วยเจโตปริยญาณ เหมือนตำหนิในหน้าย่อมปรากฏแก่หนุ่มสาวที่พิจารณาเงาหน้าฉะนั้น.

               อุปมาบุพเพนิวาสญาณ               
               มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               กิริยาที่ทำในวันนั้น ย่อมปรากฏ ฉะนั้น ๓ บ้านที่ไปในวันนั้นนั่นเทียว เป็นอันกำหนดแล้ว.
               ในพระบาลีนั้น ภิกษุผู้ได้บุพเพนิวาสญาณ พึงเห็นเหมือนบุรุษผู้ไป ๓ บ้าน ภพ ๓ พึงเห็นเหมือนบ้าน ๓ ตำบล ภาวะแห่งกิริยาที่ทำในภพ ๓ ปรากฏแก่ภิกษุผู้นั่งโน้มจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสญาณ พึงเห็นเหมือนความแจ่มแจ้งแห่งกิริยาที่ทำในวันนั้นในบ้านทั้ง ๓ ตำบลของบุรุษนั้น.

               อุปมาทิพยจักษุ               
               มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า วีถึ สญฺจรนฺเต ได้แก่ เทียวไปเทียวมา ปาฐะว่า วีถึ จรนฺเต ก็มี. ความอย่างเดียวกันนี้แหละ.
               ในพระบาลีนั้น กรชกายของภิกษุนี้ พึงเห็นเหมือนปราสาทในทาง ๓ แพร่งท่ามกลางนคร ภิกษุผู้บรรลุทิพยจักษุนี้แหละ พึงเห็นเหมือนคนตาดียืนอยู่บนปราสาท. สัตว์ที่เข้าไปในครรภ์มารดาด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ พึงเห็นเหมือนคนที่เข้าเรือน. สัตว์ที่คลอดจากครรภ์มารดา พึงเห็นเหมือนคนที่ออกจากเรือน. สัตว์ที่สัญจรไปๆ มาๆ พึงเห็นเหมือนคนที่สัญจรไปตามถนนต่างๆ. สัตว์ที่บังเกิดในที่นั้นๆ ในภพทั้ง ๓ พึงเห็นเหมือนคนที่นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่งในท่ามกลางซึ่งเป็นที่โล่งแจ้งข้างหน้า
               เวลาที่เหล่าสัตว์ผู้บังเกิดในภพทั้ง ๓ ปรากฏแจ้งชัดแก่ภิกษุผู้นั่งโน้มจิตไปเพื่อทิพจักษุญาณ พึงเห็นเหมือนเวลาที่มนุษย์เหล่านั้นปรากฏแจ้งชัดแก่บุรุษผู้ยืนอยู่บนพื้นปราสาท.
               ก็การเทียบเคียงนี้ ท่านกล่าวไว้เพื่อเทศนาสะดวกเท่านั้น. แต่ในอรูปฌานไม่มีอารมณ์ของทิพยจักษุ. ในพระบาลีว่า ภิกษุนั้น เมื่อจิตตั้งมั่นอย่างนี้ นี้ พึงทราบว่า จิตในจตุตถฌานซื่งเป็นบาทแห่งวิปัสสนา.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 1อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 9 / 141อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1072&Z=1919
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=3185
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=3185
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :