บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร? พระสูตรนี้เกิดขึ้นเพราะพระอัธยาศัยของพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ด้วยพระอัธยาศัยของพระองค์. นี้เป็นความย่อในพระสูตรนี้. ส่วนความพิสดารของพระสูตรนี้ จักมีแจ้งในอรรถกถานั่นแล. ในบทเหล่านั้น บทว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้นมีนัยดังได้กล่าวมาแล้ว. บทว่า ปุพฺพาราเม ปุพพาราม คืออารามด้านทิศตะวันออกของกรุงสาวัตถี. ในบทว่า มิคารมาตุ ปาสาเท ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดานี้ มีความว่า นางวิสาขาอุบาสิกา ท่านเรียกว่ามิคารมารดา เพราะมิคารเศรษฐีผู้เป็นพ่อผัวของนางตั้งไว้ในฐานะเป็นมารดา นางวิสาขามิคารมารดานั้น สละเครื่องประดับมหาลดามีค่าเก้าโกฎิสร้างปราสาทมีห้องบนเรือนยอดหนึ่งพันห้อง คือข้างล่าง ๕๐๐ ห้อง ข้างบน ๕๐๐ ห้อง จึงเรียกปราสาทนั้นว่า ปราสาทของมิคารมารดา. บนปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดานั้น. บทว่า เตน โข ปน สมเยน ภควา ความว่า สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยกรุงสาวัตถี บทว่า ตทหุโปสเถ คือ ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ. ท่านเรียกว่าวันอุโบสถ. บทว่า ปณฺณรเส นี้เป็นคำปฏิเสธวันอุโบสถที่เหลือที่มาถึงด้วย อุโปสถศัพท์. บทว่า ปุณฺณาย ปุณฺณมาย รตฺติยา เมื่อราตรีเพ็ญมีพระจันทร์เต็มดวงในวันอุโบสถที่ ๑๕ ค่ำ. ความว่า เมื่อราตรีเพ็ญเพราะเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ โดยการนับวัน เพราะเว้นจากความหมองมัวมีหมอกเป็นต้น เพราะเต็มด้วยคุณสมบัติของราตรี และเพราะมีพระจันทร์เต็มดวง. บทว่า ภิกฺขุสงฺฆปริวุโต คือ อันหมู่ภิกษุแวดล้อมแล้ว. บทว่า อพฺโภกาเส นิสินฺโน โหติ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในอัพโภกาส (กลางแจ้ง). ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ กลางแจ้งอันเป็นบริเวณของรัตนปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา คือ ณ โอกาสที่ไม่มีอะไรปกปิดไว้ข้างบนอันเป็นบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูไว้. บทว่า ตุณฺหีภูตํ ตุณฺหีภูตํ คือ ภิกษุสงฆ์สงบนิ่งแม้กายก็สงบนิ่งจากการ บทว่า ภิกฺขุสงฺฆํ อนุวิโลเกตฺวา ทรงชำเลืองดูภิกษุสงฆ์. ความว่า ทรงมองดูภิกษุสงฆ์ที่นั่งแวดล้อมพระองค์มีภิกษุประมาณหลายพันสงบนิ่งข้างโน้นข้างนี้ เพื่อทรงกำหนดพระธรรมเทศนาเป็นที่สบายว่า ในที่นี้มีพระโสดาบันประมาณเท่านี้ มีพระสกทาคามีประมาณเท่านี้ มีพระอนาคามีประมาณเท่านี้ มีกัลยาณปุถุชนผู้เริ่มวิปัสสนาประมาณเท่านี้ ธรรมเทศนาเช่นไรจึงจะเป็นที่สบายของภิกษุสงฆ์นี้ ดังนี้. บทว่า เย เต ภิกฺขเว กุสลา ธมฺมา ความว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ หรือปริยัติธรรมอันส่องความโพธิปักขิยธรรมนั้น ชื่อว่าเป็นกุศล เพราะอรรถว่า ไม่มีโรค ไม่มีโทษ มีผลน่าปรารถนา เกิดแต่ความฉลาด. บทว่า อริยา นิยฺยานิกา สมฺโพธิคามิโน เป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออกไปให้ถึง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่าจะมีประโยชน์อะไร เพื่อการฟังกุศลธรรมอัน ท่านอธิบายว่า เธอทั้งหลายฟังธรรมเหล่านั้นเพื่ออะไร. บทว่า ยาวเทว ในบทว่า ยาวเทว ทฺวยตานํ ธมฺมานํ ยถาภูตํ ญาณาย เพื่อรู้ธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างตามความเป็นจริง นี้เป็นคำรับรองในการกำหนด. ธรรมชื่อว่า ทฺวยา เพราะมี ๒ อย่าง. ธรรม ๒ อย่างนั้นแลชื่อว่า ทฺวยตา. ธรรม ๒ อย่างเหล่านั้น. ปาฐะว่า ทฺวยานํ ก็มี. บทว่า ยถาภูตํ ญาณาย เพื่อรู้ตามความเป็นจริง คือเพื่อรู้ไม่วิปริต. ท่านอธิบายไว้อย่างไร. อธิบายไว้ว่า การรู้ตามความเป็นจริงอันได้แก่เห็นแจ้งธรรมที่ท่านกำหนดไว้สองอย่างเป็นโลกิยะและโลกุตระเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่การรู้ตามความเป็นจริงนั้น ไม่ยิ่งไปกว่านั้น เพราะเหตุนั้น ธรรมประมาณเท่านี้ย่อมมีด้วยการฟัง การบรรลุคุณวิเศษยิ่งกว่านั้นย่อมมีด้วยการภาวนา. ก็ในบทว่า กิญฺจ ทฺวยตํ วเทถ เธอทั้งหลายกล่าวอะไรว่าเป็นธรรม ๒ อย่างนี้. มีอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากจะมีผู้ถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายกล่าวอะไรว่าเป็นธรรม ๒ อย่าง. มีความว่า ท่านทั้งหลายกล่าวความเป็นธรรม ๒ อย่างคืออะไร. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความเป็นธรรม ๒ อย่าง จึงตรัสคำมีอาทิอย่างนี้ว่า อิทํ ทุกฺขํ นี้ทุกข์. ในบทนั้น ธรรมคืออริยสัจ ๔ เป็นธรรม ๒ ส่วน การพิจารณาเห็นเนืองๆ ด้วยการเห็นทุกข์พร้อมด้วยเหตุอันเป็นส่วนหนึ่งของโลกิยะอย่างนี้ว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นข้อหนึ่ง. การพิจารณาเห็นเนืองๆ ด้วยการเห็นนิโรธ (ความดับทุกข์) พร้อมด้วยอุบายอันเป็นส่วนที่สองของโลกุตระเป็นข้อที่สอง. อนึ่ง ในบทนี้ข้อที่หนึ่งสำเร็จได้ด้วยวิสุทธิที่ ๓ ที่ ๔. ข้อที่สองสำเร็จได้ด้วยวิสุทธิที่ ๕. บทว่า เอวํ สมฺมา ทฺวยตานุปสฺสิโน ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ อย่างนี้. ความว่า ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรมม ๒ อย่างโดยชอบตามนัยที่กล่าวแล้วนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะไม่อยู่ปราศจากสติ เป็นผู้มีความเพียร เพราะมีความเพียรเผากิเลสทางกายและทางจิต เป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยว เพราะหมดความเพ่งเล็งในกายและชีวิต. บทว่า ปาฏิกงฺขํ คือ พึงปรารถนา. บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม อญฺญา ได้แก่ อรหัตผลใน บทว่า สติ วา อุปาทิเสเส อนาคามิตา เมื่อยังมีความยึดมั่นเหลืออยู่เป็นพระอนาคามี. ความว่า ยังมีความยึดมั่นขันธ์เหลืออยู่โดยเกิดอีก ท่านเรียกว่า อุปาทิเสสํ คือยังมีความยึดมั่นเหลืออยู่. ท่านแสดงว่า เมื่อยังมีความยึดมั่นเหลืออยู่นั้น พึงหวังความเป็นพระอนาคามี. ในบทนั้น แม้ผลเบื้องต่ำก็ยังมีแก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างเนืองๆ อย่างนี้ก็จริง ถึงดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะยังความอุตสาหะให้เกิดในผลเบื้องสูง จึงตรัสอย่างนี้. บทว่า อิทมโวจ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสภาษิตนี้แล้วนี้ เป็นคำต้นของพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย. ในบทเหล่านั้นบทว่า อิทํ เป็นคำชี้แจงถึงบทที่พระองค์ตรัสไว้แล้วว่า เย เต ภิกฺขเว ดังนี้. บทว่า เอตํ เป็นบทแสดงคาถาประพันธ์ที่พระองค์พึงกล่าวมีอาทิอย่างนี้ว่า เย ทุกฺขํ ชนเหล่าใดไม่รู้ทุกข์ดังนี้. อนึ่ง คาถาเหล่านี้แสดงเนื้อความดังกล่าวแล้ว เพราะแสดงถึงอริยสัจ ๔ แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ เพราะแสดงถึงผู้ไม่เห็นแจ้งและผู้เห็นแจ้งแล้วแสดงถึงวัฏฏะ วิวัฏฏะ ที่ตัดขาดและยังตัดไม่ขาดของท่านเหล่านั้นว่า ท่านกล่าวแสดงถึงเนื้อความที่ต่างกันเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ชอบใจคาถามาภายหลัง หวังอนุเคราะห์ เพราะไม่สามารถจะรู้มาก่อนได้ และแก่ผู้มีจิตฟุ้งซ่านมาก่อน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคาถานี้เพื่อแสดงเนื้อความต่างกันนั่นเอง. ในคาถาพจน์แม้นอกจากนี้ก็มีนัยนี้. ในบทเหล่านั้น บทว่า ยตฺถ ท่านแสดงถึงนิพพาน. เพราะทุกข์ย่อมดับไปในนิพพานโดยประการทั้งปวง ทุกข์ย่อมดับไปหมดทุกประการ ทุกข์พร้อมด้วยเหตุย่อมดับ ทุกข์ย่อมดับไม่มีส่วนเหลือ. บทว่า ตญฺจ มคฺคํ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ นั้น. ในบทว่า เจโตวิมุตฺติหีนา เต อโถ ปญฺญาวิมุตฺติยา ชนเหล่านั้นเสื่อมแล้วจากเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตตินี้ พึงทราบว่า อรหัตผลสมาธิเป็นเจโตวิมุตติเพราะสำรอกราคะ อรหัตผลปัญญาเป็นปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชา. อีกอย่างหนึ่ง อรหัตผลอันตัณหาจริตบุคคลข่มกิเลสทั้งหลายด้วยผลแห่งอัปปนาฌานแล้วจึงบรรลุ ชื่อว่าเจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะ. อรหัตผลอันทิฏฐิจริตบุคคลยังเพียงอุปจารฌานให้เกิด เห็นแจ้งแล้ว จึงบรรลุชื่อว่าปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชา. อีกอย่างหนึ่ง อนาคามิผลชื่อว่าเจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะคือกามราคะ. อรหัตผลชื่อว่าปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชาโดยอาการทั้งปวง. บทว่า อนฺตกิริยาย คือ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ในวัฏฏะ. บทว่า ชาติชรูปคา ได้แก่ เข้าถึงชาติและชรา หรืออันชาติและชราเข้าถึง ย่อมไม่พ้นจากชาติและชรา พึงทราบอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้. บทที่เหลือในคาถานี้ปรากฎชัดแล้วตั้งแต่ต้น. เมื่อคาถาจบลง ภิกษุประมาณ ๖๐ รูปรับเทศนานั้นแล้วต่างเห็นแจ้ง บรรลุพระอรหัต ณ อาสนะนั้นนั่นเอง. ในวาระทั้งหมดเหมือนในบทนี้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสทวยตานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างเนืองๆ) เป็นอันมากโดยนัยมีอาทิว่า สิยา อญฺเญนาปิ ปริยาเยน จะพึงมีโดยปริยายอื่นบ้างไหมดังนี้. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๒ นั้นต่อไป. บทว่า อุปธิปฺปจฺจยา เพราะอุปธิเป็นปัจจัย คือเพราะกรรมมีอาสวะเป็นปัจจัย. จริงอยู่ กรรมมีอาสวะท่านประสงค์เอา อุปธิ ในที่นี้. บทว่า อเสสวิราคนิโรธา ได้แก่ เพราะอุปธิทั้งหลายดับไปเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ หรือเพราะอุปธิทั้งหลายดับไป กล่าวคือสำรอกโดยไม่เหลือ. บทว่า อุปธินิทานา เพราะอุปธิเป็นเหตุ คือเพราะกรรมเป็นปัจจัย. บทว่า ทุกฺขสฺส ชาติปฺปภวานุปสฺสี ผู้พิจารณาเห็นเหตุเกิดแห่งทุกข์เนืองๆ คือพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า อุปธิเป็นเหตุเกิดแห่งวัฎทุกข์. บทที่เหลือในบทนี้มีความปรากฎชัดทั้งหมดแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอริยสัจ ๔ แล้วตรัสวาระแม้นี้ด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัตด้วยประการฉะนี้แล. วาระทั้งหมดเหมือนวาระนี้. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๓ นั้นต่อไป. บทว่า อวิชฺชาปจฺจยา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย. ความว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น เพราะอวิชชาสะสมกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดเป็นปัจจัย. แต่ทุกข์ในที่ทั้งหมดเป็นวัฏทุกข์เท่านั้น. บทว่า ชาติมรณสํสารํ ชาติมรณะสงสาร. อธิบายว่า ชาติคือความเกิดแห่งขันธ์ มรณะคือความแตกไปแห่งขันธ์ สงสารคือความสืบต่อแห่งขันธ์. บทว่า วชนฺติ ไป คือเข้าถึง. บทว่า อิตฺถภาวญฺญถาภาวํ มีความเป็นอย่างนี้และความเป็นอย่างอื่น คือความเป็น บทว่า คติ คือ ความเป็นปัจจัย. บทว่า อวิชฺชาหยํ ตัดบทเป็น อวิชฺชา หิ อยํ อวิชชานี้. บทว่า วิชฺชาคตา จ เย สตฺตา สัตว์ทั้งหลายผู้ไปด้วยวิชชาเท่านั้น. ความว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ทำลายกิเลสแล้วไปด้วยวิชชา (ปัญญา) ในอรหัตมรรค เป็นสัตว์ที่สิ้นอาสวะแล้ว. บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๔. บทว่า สงฺขารปจฺจยา เพราะสังขารเป็นปัจจัย คือเพราะปุญญาภิสังขาร (สภาพผู้ตกแต่งคือบุญ) อปุญญาภิสังขาร (สภาพผู้ตกแต่งคือบาป) อเนญชาภิสังขาร (สภาพผู้ตกแต่งคือความไม่หวั่นไหว). บทว่า เอตมาทีนวํ ญตฺวา รู้โทษนี้ คือรู้ว่า นี้ทุกข์ นี้โทษ เพราะสังขารเป็นปัจจัย. บทว่า สพฺพสงฺขารสมถา เพราะความสงบแห่งสังขารทั้งหมด คือ ชื่อว่าสงบสังขาร บทว่า สญฺญานํ แห่งสัญญาทั้งหลาย คือเพราะสัญญามีกามสัญญาเป็นต้นดับด้วยมรรคนั่นเอง. บทว่า เอตํ ญตฺวา ยถาตถํ คือรู้ความสิ้นไปแห่งทุกข์นี้โดยไม่วิปริต. บทว่า สมฺมทฺทสา ผู้เห็นชอบ คือเห็นโดยชอบ. บทว่า สมฺมทญฺญาย รู้โดยชอบ คือรู้สังขารธรรมโดยเป็นของไม่เที่ยง และรู้อสังขตธรรมโดยความเป็นของเที่ยง. บทว่า มารสํโยคํ กิเลสเป็นเครื่องประกอบของมาร คือวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓. บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๕ ต่อไป. บทว่า วิญฺญาณปจฺจยา เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย คือเพราะวิญญาณปรุงแต่งให้เกิดร่วมกับกรรมเป็นปัจจัย. บทว่า นิจฺฉาโต เป็นผู้หายหิว คือหมดอยาก. บทว่า ปรินิพฺพุโต ดับรอบแล้ว คือเป็นผู้ดับรอบด้วยการดับกิเลส. บทที่เหลือมีความปรากฎชัดแล้ว. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๖ ต่อไป. บทว่า ผสฺสปจฺจยา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย. อธิบายว่า เพราะผัสสะสัมปยุตด้วยอภิสังขารและวิญญาณเป็นปัจจัย ในที่นี้ท่านกล่าวถึงผัสสะมิได้กล่าวถึงนามรูป สฬายตนะนั้นควรจะกล่าวตามลำดับ เพราะนามรูปและสฬายตนะเหล่านั้น มิได้สัมปยุตด้วยกรรมเท่านั้น เพราะปนกับรูป. อนึ่ง วัฏทุกข์นี้พึงเกิดจากกรรม หรือจากธรรมอันสัมปยุตด้วยกรรม. บทว่า ภวโสตานุสารินํ ผู้แล่นไปตามกระแสแห่งภวตัณหา คือแล่นไปตามตัณหา. บทว่า ปริญฺญาย กำหนดรู้ คือกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓. บทว่า ปญฺญาย คือ รู้ด้วยอรหัตมรรคปัญญา. บทว่า อุปสเม รตา ยินดีแล้วในธรรมเป็นที่เข้าไปสงบ คือยินดีแล้วในนิพพานด้วยผลสมาบัติ. บทว่า ผสฺสาภิสมยา คือ เพราะการดับไปแห่งผัสสะ. บทที่เหลือมีความปรากฎชัดแล้ว. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๗ ต่อไป. บทว่า เวทนาปจฺจยา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย คือเพราะเวทนาสัมปยุตด้วยกรรมเป็นปัจจัย. บทว่า อทุกฺขมสุขํ สห คือพร้อมด้วยอทุกขมสุขเวทนา. บทว่า เอตํ ทุกฺขนฺติ ญตฺวาน รู้ว่านี้ทุกข์ คือรู้ว่าการเสวยอารมณ์ทั้งปวงนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือรู้ว่าทุกข์ เพราะความปรวนแปรไปไม่คงที่ และความเป็นทุกข์เพราะไม่รู้. บทว่า โมสธมฺมํ มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา คือมีความสูญหายไปเป็นธรรมดา. บทว่า ปโลกินํ มีความทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา คือมีความทรุดโทรมไปด้วยชราและมรณะเป็นธรรมดา. บทว่า ผุสฺส ผุสฺส ถูกต้อง ถูกต้อง คือถูกต้อง ถูกต้องแล้วด้วยอุทยัพพยญาณ (ปัญญากำหนดรู้ความเกิดและความเสื่อม). บทว่า วยํ ปสฺสํ เห็นความเสื่อม คือเห็นความแตกทำลายในที่สุดนั่นเอง. บทว่า เอวํ ตตฺถ วิชานติ ย่อมรู้แจ่มแจ้งความเป็นทุกข์ในเวทนานั้นอย่างนี้ คือรู้แจ่มแจ้งเวทนานั้นอย่างนี้ หรือรู้แจ่มแจ้งความเป็นทุกข์ในเวทนานั้น. บทว่า เวทนานํ ขยา เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไป คือเบื้องหน้าแต่นั้น เพราะเวทนาสัมปยุตด้วยกรรมสิ้นไปด้วยมรรคญาณ. บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๘ ต่อไป. บทว่า ตณฺหาปจฺจยา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย คือเพราะตัณหาสะสมกรรมเป็นปัจจัย. บทว่า เอตมาทีนวํ ญตฺวา ตณฺหา ทุกฺขสฺส สมฺภวํ ภิกษุรู้โทษนี้ว่าตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ คือรู้โทษของตัณหานั้นว่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์. บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๙ ต่อไป. บทว่า อุปาทานปฺปจฺจยา เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย คือเพราะอุปาทานสะสมกรรมเป็นปัจจัย. บทว่า ภโว ภพได้แก่มีภพเป็นวิบาก คือความปรากฎแห่งขันธ์. บทว่า ภูโต ทุกฺขํ สัตว์ผู้เกิดแล้วย่อมเข้าถึงทุกข์ คือสัตว์ผู้เกิดแล้วและเป็นแล้วย่อมเข้าถึงวัฏทุกข์. บทว่า ชาตสฺส มรณํ เกิดแล้วต้องตาย. ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงถึงทุกข์เท่านั้นในเมื่อคนพาลทั้งหลายสำคัญว่า เกิดแล้วย่อมเข้าถึงสุข จึงตรัสว่า ชาตสฺส มรณํ โหติ เกิดแล้วต้องตายดังนี้. ในคาถาที่ ๒ โยชนาแก้ว่า บัณฑิตทั้งหลายรู้แล้วโดยชอบ โดยความไม่เที่ยงเป็นต้น รู้ยิ่งนิพพานว่าเป็นความสิ้นชาติ เพราะสิ้นอุปาทานแล้วย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๑๐ ต่อไป. บทว่า อารมฺภปฺปจฺจยา เพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย คือเพราะความเพียรสัมปยุตด้วยกรรมเป็นปัจจัย. บทว่า อนารมฺเภ วิมุตฺติโน ได้แก่น้อมไปในนิพพานที่ไม่มีความริเริ่ม. บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๑๑ ต่อไป. บทว่า อาหารปฺปจฺจยา เพราะอาหารเป็นปัจจัย คือเพราะอาหารสัมปยุตด้วยกรรมเป็นปัจจัย. อาจารย์อีกพวกหนึ่ง กล่าวว่า สัตว์สี่ประเภท คือ รูปูปคา (เข้าถึงรูป) ๑ เวทนูปคา (เข้าถึงเวทนา) ๑ สัญญูปคา (เข้าถึงสัญญา) ๑ สงฺขารูปคา (เข้าถึงสังขาร) ๑. ในสัตว์สี่ประเภทนั้น สัตว์ผู้ข้องอยู่ด้วยกามธาตุ ๑๑ อย่าง ชื่อว่า รูปูปคา เพราะเสพกวฬีการาหาร. สัตว์ผู้ข้องอยู่ด้วยรูปธาตุ เว้นอสัญญีสัตว์ ชื่อว่า เวทนูปคา เพราะเสพผัสสาหาร. สัตว์ผู้ข้องอยู่ด้วยอรูปธาตุ ๓ อย่างเบื้องต่ำชื่อว่า สัญญูปคา เพราะเสพมโนสัญเจตนาหารอันเกิดแต่สัญญา สัตว์ในยอดภูมิ (เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ) ชื่อว่า สังขารูปคา เพราะเสพวิญญาหารอันเกิดแต่สังขาร. พึงทราบว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย. บทว่า อาโรคฺยํ ความไม่มีโรค คือนิพพาน. บทว่า สงฺขาย เสวิ พิจารณาแล้วเสพ. ความว่า พิจารณาปัจจัยแล้วเสพปัจจัย ๔ หรือพิจารณาโลกอย่างนี้ว่าขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ดังนี้ แล้วเสพด้วยญาณว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังนี้. บทว่า ธมฺมฏฺโฐ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมคือตั้งอยู่ในสัจธรรม ๔. บทว่า สงฺขฺยํ โนเปติ ย่อมไม่เข้าถึงการนับ คือไม่เข้าถึงการนับว่าเป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์เป็นต้น. บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๑๒ ต่อไป. บทว่า อิญฺชิตปฺปจฺจยา เพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย คือเพราะในบรรดาความหวั่นไหว คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ กรรมและกิเลส ความหวั่นไหวอย่างใดอย่างหนึ่งสะสมกรรมเป็นปัจจัย. บทว่า เอชํ โวสฺสชฺช สละแล้ว คือสละตัณหา. บทว่า สงฺขาเร อุปรุนฺธิย ดับสังขารทั้งหลายได้แล้ว คือดับกรรมและสังขารสัมปยุตด้วยกรรม. บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๑๓ ต่อไป. บทว่า นิสฺสิตสฺส จลิตํ ความดิ้นรนย่อมมีแก่ผู้อันตัณหามานะและทิฏฐิอาศัยแล้ว คือความดิ้นรนเพราะความกลัว ย่อมมีแก่ผู้อันตัณหามานะและทิฏฐิอาศัยแล้วในขันธ์ ดุจความดิ้นรนเพราะความกลัวย่อมมีแก่เทวดาทั้งหลายในสีหสูตร.๑- ____________________________ ๑- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๕๕ บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๑๔ ต่อไป. บทว่า รูเปหิ กว่ารูปภพทั้งหลาย คือกว่ารูปภพหรือรูปสมาบัติ. บทว่า อารุปฺปา อรูปภพ คืออรูปภพหรืออรูปสมาบัติ. บทว่า นิโรโธ คือ นิพพาน. บทว่า มจฺจุหานิโย เป็นผู้ละมัจจุเสียได้ คือเป็นผู้ละมรณมัจจุ กิเลสมัจจุ และเทวปุตตมัจจุเสียได้. ท่านอธิบายว่า ละมัจจุ ๓ อย่างนั้นไปได้. บทที่เหลือง่ายทั้งนั้น. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๑๕ ต่อไป. บทว่า ยํ ทรงกล่าวหมายถึงนามรูป. เพราะนามรูปนั้นอันชาวโลกเข้าไปเพ่งเล็งเห็นว่า นี้เป็นของจริงด้วยความยั่งยืน งาม เป็นสุข. บทว่า ตทมริยานํ ตัดบทเป็น ตํ อิทํ อริยานํ ลบ บทว่า ปุน ยํ ทรงกล่าวหมายถึงนิพพาน. เพราะนิพพานนั้นอันชาวโลกมองเห็นว่านิพพานนี้เป็นของเท็จ ไม่มีอะไร เพราะไม่มีรูปและเวทนาเป็นต้น. บทว่า ตทมริยานํ เอตํ สจฺจํ พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาว่านิพพาน ความว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นิพพานนั้นเป็นของจริงโดยปรมัตถ์ในการไม่ปราศจากความเป็นสุข คือไม่มีกิเลส ความเป็นสุขอันเป็นปฏิปักษ์แห่งความทุกข์ ความเป็นของเที่ยงอันได้แก่ความสงบโดยส่วนเดียว. บทว่า อนตฺตนิ อตฺตมานี มีความสำคัญในสิ่งมิใช่ตนว่าเป็นตัวตน คือมีความสำคัญในสิ่งมิใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตนโดยสภาพของนามรูปและเวทนาเป็นต้น. บทว่า อิทํ สจฺจนฺติ มญฺญติ ย่อมสำคัญว่านามรูปที่เป็นของจริง คือย่อมสำคัญว่านามรูปนี้เป็นของจริงโดยความเป็นของยั่งยืนเป็นต้น. บทว่า เยน เยน หิ คือ ย่อมสำคัญโดยนัยมีอาทิว่า รูปของเรา เวทนาของเราด้วยรูปหรือเวทนาใดๆ. บทว่า ตโต ตํ คือ นามรูปนั้นย่อมเป็นอย่างอื่นไปจากอาการที่สำคัญนั้น เพราะเหตุไร เพราะนามรูปของผู้นั้นเป็นของเท็จ. อธิบายว่า เพราะนามรูปนั้นเป็นของเท็จจากอาการตามที่สำคัญไว้ ฉะนั้นจึงเป็นอย่างอื่นไป. ก็เพราะเหตุไรจึงเป็นของเท็จเล่า. เพราะนามรูปมีความสูญสิ้นเป็นธรรมดา คือเพราะสิ่งใดปรากฎขึ้นนิดหน่อยย่อมมีความสูญสิ้นเป็นธรรมดา คือมีความย่อยยับไปเป็นธรรมดา และนามรูปก็เป็นเหมือนอย่างนั้น. บทว่า สจฺจาภิสมยา คือ รู้นิพพานนั้นโดยความเป็นจริง. บทที่เหลือง่ายทั้งนั้น. พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๑๖ ต่อไป. บทว่า ยํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ๖ อย่าง. เพราะอารมณ์นั้นอันชาวโลกเล็งเห็นว่า เป็นความสุขดุจตั๊กแตนปลาและลิงเล็งเห็นแสงประทีปและเบ็ดที่เขาล่อไว้ว่าเป็นความสุข. บทว่า ตทมริยานํ เอตํ ทุกฺขํ พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นว่า นั่นเป็นทุกข์. อธิบายว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นทุกข์ โดยนัยมีอาทิว่า๒- จริงอยู่ กามทั้งหลายวิจิตร อร่อย น่ารื่นรมย์ ย่อมย่ำยีจิตให้มีรูปผิดรูปไป. ____________________________ ๒- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๙๖ ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๗๒๒ บทว่า ปุน อิทํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงนิพพานเท่านั้น. เพราะนิพพานนั้นอันชาวโลกเล็งเห็นแล้วว่าเป็นทุกข์ เพราะไม่มีกามคุณ. บทว่า ตทมริยานํ ความว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นแล้วด้วยดีด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่า นิพพานนี้เป็นสุขโดยความเป็นปรมัตถสุข. บทว่า เกวลา คือ ไม่มีเหลือ. บทว่า อิฏฺฐา คือ น่าปรารถนา. บทว่า กนฺตา น่าใคร่ คือน่ารัก. บทว่า มนาปา น่าพอใจ คือน่าทำความเจริญให้แก่ใจ. บทว่า ยาวตตฺถีติ วุจฺจติ โลกกล่าวว่ามีอยู่เท่าใด คือโลกกล่าวว่าอารมณ์ ๖ เหล่านี้มีอยู่เท่าใด. พึงทราบความเฉียบแหลมของถ้อยคำ. บทว่า โว ในบทว่า เอเต โว นี้เป็นเพียงนิบาต แปลว่า อารมณ์ ๖ เหล่านี้. บทว่า สุขนฺติ ทิฏฺฐมริเยหิ สกฺกายสฺสุปโรธนํ ได้แก่ ความดับแห่งเบญจขันธ์อันพระอริยเจ้าเห็นแล้วว่าเป็นความสุข. ท่านอธิบายว่า ได้แก่ นิพพาน. บทว่า ปจฺจนีกมิทํ โหติ คือ ความเห็นขัดแย้งกัน. บทว่า ปสฺสตํ คือ ผู้เห็นอยู่. ท่านอธิบายว่า ได้แก่ บัณฑิตทั้งหลาย. บทว่า ยํ ในบทว่า ยํ ปเร นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงวัตถุกาม. ในบทว่า ปุน ยํ ปุเร นี้หมายถึงนิพพาน. บทว่า ปสฺส จงดู พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกผู้ฟัง. บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ ธรรมคือนิพพาน. บทว่า สมฺปมูฬฺเหตฺถ อวิทฺทสุ คือ คนพาลทั้งหลายผู้ไม่รู้แจ้ง พากันหลงในโลกนี้. พากันหลง เพราะกระทำอะไร? เพราะความมืดตื้อย่อมมีแก่คนพาลทั้งหลายผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้วผู้ไม่เห็นอยู่ เพราะเหตุที่ความมืดทำให้คนพาลทั้งหลายถูกอวิชชาหุ้มห่อท่วมทับเป็นคนบอด ดังนั้น คนพาลทั้งหลายจึงไม่สามารถเห็นธรรมคือนิพพาน. บทว่า สตญฺจ วิวฏํ โหติ อาโลโก ปสฺสตามิว ความว่า ส่วนนิพพานเป็นธรรมชาติเปิดเผยแก่สัตบุรุษทั้งหลาย ผู้เห็นอยู่ด้วยปัญญาทัศนะเหมือนแสงสว่างฉะนั้น. บทว่า สนฺติเก น วิชฺชนฺติ มคา ธมฺมสฺส โกวิทา ชนทั้งหลายเป็นผู้ค้นคว้าไม่ฉลาดต่อธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพานที่มีอยู่ในที่ใกล้. ความว่า ชนทั้งหลายเป็นผู้ค้นคว้า ไม่ฉลาดต่อธรรมอันเป็นทางและมิใช่ทาง หรือต่อธรรมทั้งหมด ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพานนั้น แม้มีอยู่ในที่ใกล้อย่างนี้ เพราะกำหนดเพียงตจปัญจกกรรมฐาน (กรรมฐานมีหนังเป็นที่ห้า) ในร่างกายของตน แล้วพึงบรรลุเป็นลำดับไปเท่านั้น หรือเพราะเพียงดับขันธ์ของตน. พึงทราบโดยประการทั้งปวงว่า ชนทั้งหลายผู้ถูกภวราคะครอบงำแล้ว แล่นไปตามกระแสภวตัณหา ผู้เข้าถึงวัฎฎะอันเป็นบ่วงแห่งมารเนืองๆ ไม่ตรัสรู้ธรรมนี้ได้โดยง่าย. ในบทเหล่านั้นบทว่า มารเธยฺยานุปฺปนฺเนภิ ผู้เข้าถึงวัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมารเนืองๆ คือ เข้าถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓. พึงทราบการเชื่อมความในคาถาหลังว่า ใครหนอ นอกจากพระอริยเจ้า ย่อมควรรู้บทคือนิพพานที่ตรัสรู้ไม่ได้ง่ายนักอย่างนี้. บทนั้นมีอธิบายดังนี้ นอกจากพระอริยเจ้าแล้ว คนอื่นใครหนอ ควรจะรู้บทคือนิพพานอันเป็นบทที่พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีอาสวะตามลำดับ เพราะรู้โดยชอบด้วยอริยมรรคที่ ๔ ย่อมปรินิพพานด้วยการดับกิเลส หรือเป็นผู้ไม่มีอาสวะเพราะรู้โดยชอบ ย่อมปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่สุด. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังเทศนาให้จบลงด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต. บทว่า อตฺตมนา คือมีใจยินดี. บทว่า อภินนฺทุํ คือ ชื่นชม. บทว่า อิมสฺมึ จ ปน เวยฺยากรณสฺมึ คือ ไวยากรณ์ภาษิตที่ ๑๖ นี้. บทว่า ภญฺญมาเน คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส. บทที่เหลือปรากฎชัดแล้ว. ในเพราะไวยากรณ์ภาษิต ๑๖ วาระแม้ทั้งหมดอย่างนี้จิตของภิกษุเก้าร้อยรูป แบ่งเป็นพวกๆ ประมาณหกสิบ หกสิบ เกินกว่าหกสิบ พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น. ก็ในสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัจธรรม ๑๖ ครั้ง ครั้งละ ๔ รวมเป็น ๖๔ ครั้งด้วยไวยากรณ์ภาษิต โดยประการต่างๆ ด้วยประการฉะนี้. จบอรรถกถาทวยตานุปัสสนาที่ ๑๒ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย ชื่อ ปรมัตถโชติกา ----------------------------------------------------- รวมหัวข้อประจำเรื่องในพระสูตรนี้ คือ สัจจะ อุปธิ อวิชชา สังขาร วิญญาณเป็นที่ ๕ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน อารัมภะ อาหาร ความหวั่นไหว ความดิ้นรน รูป และสัจจะ กับทุกข์ รวมเป็น ๑๖ ฯ จบมหาวรรคที่ ๓ ----------------------------------------------------- รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. ปัพพชาสูตร ๒. ปธานสูตร ๓. สุภาษิตสูตร ๔. สุนทริกสูตร ๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร ๗. เสลสูตร ๘. สัลลสูตร ๙. วาเสฏฐสูตร ๑๐. โกกาลิกสูตร ๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร สูตร ๑๒ สูตรเหล่านี้ ท่านเรียกว่า มหาวรรค ดังนี้แล ฯ .. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค ทวยตานุปัสสนาสูตร จบ. |